วิธีนั่ง mrt, สายรถไฟฟ้า mrt

ชวนรู้จัก วิธีนั่ง MRT สายรถไฟฟ้าต่างๆ ที่คนเดินทางด้วยรถไฟฟ้าต้องรู้ !

นอกจากรถไฟฟ้า BTS แล้ว อีกหนึ่งบริการขนส่งสาธารณะที่ต้องมาคู่กันคือ รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ซึ่งมีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน เพราะเดินทางได้ง่าย สะดวกสบาย มีหลายสถานีให้บริการ ใครที่นั่งรถไฟฟ้าเป็นประจำอยู่แล้วก็คงจะไม่มีปัญหาอะไร แต่สำหรับคนที่ไม่ค่อยได้ใช้บริการ MRT ก็อาจจะไม่มั่นใจในการเดินทางบ้าง เพราะกังวลว่าจะไปไม่ถูก ขึ้นลงผิดสถานี หรือไปผิดสาย แต่ไม่ต้องกังวลไปค่ะ เรามี วิธีนั่ง MRT มาฝากกัน ให้คนที่อยากจะเดินทางด้วยรถไฟฟ้าได้หายกังวล และสามารถเดินทางได้คล่องตัวมากขึ้น แล้ว MRT มีกี่สาย ? มีสถานีอะไรบ้าง ? ซื้อบัตรยังไง ? ไปดูพร้อมๆ เลยค่ะ

ชวนดู ! วิธีนั่ง MRT รถไฟฟ้า MRT มีกี่สายกันนะ ?

วิธีนั่ง mrt, สายรถไฟฟ้า mrt
Image Credit : metro.bemplc.co.th

นอกจากรถไฟฟ้าสาย BTS ทั้งหมดแล้ว ก็ยังมีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT หรือรถไฟฟ้ามหานคร ที่สามารถใช้เดินทางภายในกรุงเทพมหานครได้ด้วยเหมือนกัน ซึ่งสายรถไฟฟ้า MRT จะมีอยู่ทั้งหมด 2 สายด้วยกันคือ สายสีน้ำเงิน (โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล) และสายสีม่วง (โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม) เรามาดูกันเลยดีกว่าว่า แต่ละสายนั้น มีสถานีอะไรบ้าง และสามารถไปไหนได้บ้าง จะได้ขึ้นรถไฟฟ้าให้ถูกสายกันนะคะ

1. สายสีน้ำเงิน

รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สายเฉลิมรัชมงคล ครอบคลุมตั้งแต่บริเวณบางแค หัวลำโพง และท่าพระ ระยะทางรวมทั้งหมด 48 กิโลเมตร มีทั้งหมด 38 สถานี ตามนี้

  • BL 38 สถานีหลักสอง
  • BL 37 สถานีบางแค
  • BL 36 สถานีภาษีเจริญ (สามารถเดินทางไปท่าเรือวัดรางบัว และท่าเรือเพชรเกษม 35 ได้ )
  • BL 35 สถานีเพชรเกษม 48
  • BL 34 สถานีบางหว้า (สามารถเปลี่ยนเส้นทางไป BTS บางหว้าและท่าเรือบางหว้าได้)
  • BL 33 สถานีบางไผ่
  • BL 32 สถานีอิสรภาพ (สามารถไปยังท่าเรือเจริญพาศน์ได้)
  • BL 31 สถานีนามไชย
  • BL 30 สถานีสามยอด
  • BL 29 สถานีวัดมังกร
  • BL 28 สถานีหัวลำโพง (สามารถเดินทางไปสถานีรถไฟกรุงเทพ และท่าเรือหัวลำโพงได้)
  • BL 27 สถานีสามย่าน
  • BL 26 สถานีสีลม (สามารถเปลี่ยนเส้นทางไป BTS ศาลาแดงได้)
  • BL 25 สถานีลุมพินี
  • BL 24 สถานีคลองเตย
  • BL 23 สถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
  • BL 22 สถานีสุขุมวิท (สามารถเปลี่ยนเส้นทางไป BTS อโศกได้)
  • BL 21 สถานีเพชรบุรี (สามารถเปลี่ยนเส้นทางไปยัง Airport Rail Link มักกะสัน ท่าเรืออโศก และสถานีรถไฟอโศกได้)
  • BL 20 สถานีพระราม 9
  • BL 19 สถานีศูนย์วัมนธรรมแห่งประเทศไทย
  • BL 18 สถานีห้วยขวาง
  • BL 17 สถานีสุทธิสาร
  • BL 16 สถานีรัชดาภิเษก
  • BL 15 สถานีลาดพร้าว 
  • BL 14 สถานีพหลโยธิน (สามารถเปลี่ยนเส้นทางไปสถานีรถไฟฟ้า BTS ห้าแยกลาดพร้าวได้) 
  • BL 13 สถานีสวนจตุจักร (สามารถเปลี่ยนเส้นทางไปสถานีรถไฟฟ้า BTS หมอชิตได้)
  • BL 12 สถานีกำแพงเพชร
  • BL 11 สถานีบางซื่อ (สามารถเดินทางไปสถานีกลางบางซื่อได้)
  • BL 10 สถานีเตาปูน
  • BL 09 สถานีบางโพ (สามารถเดินทางไปท่าเรือบางโพได้)
  • BL 08 สถานีบางอ้อ
  • BL 07 สถานีบางพลัด
  • BL 06 สถานีสิรินธร (สามารถเดินทางไปท่าเรือสะพานกรุงธนได้)
  • BL 05 สถานีบางยี่ขัน
  • BL 04 สถานีบางขุนนนท์ (สามารถเดินทางไปสถานีรถไฟจรัญสนิทวงศ์ได้)
  • BL 03 สถานีไฟฉาย
  • BL 02 สถานีจรัญฯ 13 
  • BL 01 สถานีท่าพระ

วิธีนั่ง MRT สำหรับสายสีน้ำเงินนี้ เส้นทางไปไหนบ้าง มีสถานีไหนบ้าง และแต่ละสถานีสามารถเปลี่ยนเส้นทางไปไหนได้บ้าง ก็น่าจะคลายข้อสงสัยกันได้มากขึ้นแล้วนะคะ จะได้วางแผนการเดินทางถูกว่าควรขึ้น – ลงสถานีไหน จะได้ไปถึงที่หมายได้โดยไม่หลงทาง เรามาต่อกันที่สายรถไฟฟ้าสีม่วงกันเลยค่ะ

2. สายสีม่วง

วิธีนั่ง mrt, สายรถไฟฟ้า mrt
Image Credit : freepik.com

รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สายฉลองรัชธรรม (สถานีคลองบางไผ่ – สถานีเตาปูน) มีเส้นทางการเดินรถรวมระยะทาง 23 กิโลเมตร ทั้งหมด 16 สถานี โดยจะเริ่มจากบริเวณคลองบางไผ่ เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนรัตนาธิเบศร์ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้สะพานพระนั่งเกล้า เลี้ยวขวาไปตามถนนติวานนท์ เสี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนกรุงเทพ – นนทบุรี จนถึงบริเวณแยกเตาปูน โดยมีสถานีเตาปูนเป็นสถานีเชื่อมต่อสายรถไฟฟ้าสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย จะมีสถานีอะไรบ้าง จะได้รู้วิธีนั่ง MRT สายนี้ให้ถูก มาดูกันค่ะ

  • PP 16 สถานีเตาปูน (สามารถเปลี่ยนเส้นทางไปรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินได้)
  • PP 15 สถานีบางซ่อน (สามารถเดินทางไปสถานีรถไฟบางซ่อนได้ )
  • PP 14 สถานีวงศ์สว่าง
  • PP 13 สถานีแยกติวานนท์
  • PP 12 สถานีกระทรวงสาธารณสุข
  • PP 11 สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี
  • PP 10 สถานีบางกระสอ
  • PP 09 สถานีแยกนนทบุรี
  • PP 08 สถานีสะพานพระนั่งเกล้า (สามารถเดินทางไปท่าเรือพระนั่งเกล้าได้)
  • PP 07 สถานีไทรม้า
  • PP 06 สถานีบางรักน้อยท่าอิฐ
  • PP 05 สถานีบางรักใหญ่
  • PP 04 สถานีบางพลู
  • PP 03 สถานีสามแยกบางใหญ่
  • PP 02 สถานีตลาดบางใหญ่
  • PP 01 สถานีคลองบางไผ่

สำหรับสายรถไฟฟ้า MRT สีม่วง จะครอบคลุมในบริเวณคลองบางไผ่ มาจนถึงบริเวณแยกเตาปูน ถ้าใครจะเดินไปยังจุดหมายในบริเวณนั้นๆ ก็ต้องนั่งรถไฟฟ้าสายสีม่วงไปนะคะ และบางสถานีก็มีจุดเชื่อมต่อต่างๆ ทั้งท่าเรือ และสถานีรถไฟ และสามารถเปลี่ยนเส้นทางไปสายรถไฟฟ้า MRT สีน้ำเงินที่สถานีเตาปูนได้ ถ้าศึกษาเส้นทางดีๆ รู้วิธีนั่ง MRT รับรองไม่มีหลงค่ะ

สถานีรถไฟฟ้า MRT มีห้องน้ำมั้ย ?

วิธีนั่ง mrt, สายรถไฟฟ้า mrt
Image Credit : freepik.com

สำหรับใครที่กังวลว่า ในสถานี MRT จะมีห้องน้ำมั้ย ? เผื่อเกิดเหตุสุดวิสัย อยากเข้าห้องน้ำขึ้นมากะทันหัน ซึ่งใน MRT ในบางสถานี ก็มีห้องน้ำให้บริการ ดังนี้ค่ะ

สาย MRT สีน้ำเงิน

  • สถานีบางหว้า สถานีนี้จะเชื่อมต่อกับ BTS บางหว้า สามารถเข้าห้องน้ำได้ที่ทางออกที่ 4 ของ BTS บางหว้า 
  • สถานีท่าพระ เป็นห้องน้ำของพนักงานในสถานี สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อขอใช้บริการได้ 
  • สถานีอิสรภาพ เป็นห้องน้ำของพนักงานในสถานี สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อขอใช้บริการได้ 
  • สถานีสนามไชย เป็นห้องน้ำของพนักงานในสถานี สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อขอใช้บริการได้ 
  • สถานีหัวลำโพง ห้องน้ำอยู่ในสถานี แต่ต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ก่อนเข้าไปใช้ 
  • สถานีสีลม ห้องน้ำอยู่บริเวณทางออกที่ 1 เปิดให้บริการ 10.30 – 21.30 น.
  • สถานีคลองเตย ห้องน้ำอยู่บริเวณทางออกที่ 1 และ 2 เป็นห้องน้ำภายในสถานีที่อยู่ใน Metro Mall
  • สถานีศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ห้องน้ำอยู่บริเวณทางออกที่ 3 เปิดให้บริการ 09.00 – 21.00 น.
  • สถานีสุขุมวิท ห้องน้ำอยู่บริเวณทางออกที่ 1 อยู่ใน Metro Mall เปิดให้บริการ 7.00 – 22.00 น. 
  • สถานีเพชรบุรี ห้องน้ำอยู่ตรงทางออกที่ 3 บริเวณ  Metro Mall เปิดให้บริการ 7.00 – 22.00 น. 
  • สถานีพระราม 9 ห้องน้ำอยู่ตรงทางออกที่ 3 บริเวณ Metro Mall เปิดให้บริการ 7.00 – 22.00 น.
  • สถานีลาดพร้าว ห้องน้ำอยู่ทางออกที่ 4 ชั้น Metro Mall เปิดให้บริการ 06.00 – 22.00 น.
  • สถานีพหลโยธิน ห้องน้ำอยู่ตรงทางออกที่ 1 ก่อนถึง Metro Mall เปิดให้บริการ 7.00 – 22.00 น. 
  • สถานีสวนจตุจักร ห้องน้ำอยู่ตรงทางออกที่ 1 อยู่ชั้นใต้ดินก่อนชั้นออกบัตรโดยสาร เปิดให้บริการ 7.00 – 22.00 น.
  • สถานีกำแพงเพชร มีห้องน้ำภายในสถานี เปิดบริการ 05.30 – 24.00 น. ต้องติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอใช้ห้องน้ำ

สาย MRT สีม่วง

สำหรับ MRT สายสีม่วง แต่ละสถานี จะมีจุดบริการห้องน้ำที่คล้ายๆ กัน ตามสถานีต่างๆ ได้แก่ สถานีคลองบางไผ่ สถานีตลาดบางใหญ่ สถานีสามแยกบางใหญ่ สถานีบางพลู สถานีบางรักใหญ่ สถานีบางรักน้อยท่าอิฐ สถานีไทรม้า สถานีแยกนนทบุรี 1 สถานีบางกระสอ สถานีสะพานพระนั่งเกล้า สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี สถานีกระทรวงสาธารณสุข และสถานีแยกติวานนท์ จะมีห้องน้ำภายในสถานี ระหว่างทางออกที่ 1,4 และระหว่างทางออกที่ 2,3 โดยจะต้องติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอใช้ห้องน้ำ เปิดบริการเวลา 05.30 – 24.00 น.

สำหรับสถานีวงศ์สว่าง จะมีห้องน้ำภายในสถานี ระหว่างทางออกที่ 1 และ 2 ซึ่งจะต้องติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอใช้ห้องน้ำ เปิดบริการ 05.30 – 24.00 น. สถานีบางซ่อน ห้องน้ำจะอยู่ในสถานีระหว่างทางออกที่ 1,4,5 และระหว่างทางออกที่ 2,3 ซึ่งจะต้องติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอใช้ห้องน้ำ เปิดบริการ 05.30 – 24.00 น และสถานีสุดท้ายคือ สถานีเตาปูน ห้องน้ำจะอยู่บริเวณทางออกที่ 3,4 ซึ่งเป็นห้องน้ำภายในสถานที่ ที่จะต้องติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอใช้ห้องน้ำ เปิดบริการ 05.30 – 24.00 น. เช่นกันค่ะ

วิธีซื้อบัตรโดยสาร MRT ซื้อยังไง

สำหรับวิธีนั่ง MRTและการซื้อตั๋วโดยสาร MRT นั้น จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ ซื้อบัตรประเภทบัตรโดยสารประจำ ชนิดเติมเงิน และเป็นเหรียญโดยสารที่ใช้แต่ละครั้ง โดยมีรายละเอียดตามนี้

1. บัตรโดยสาร ชนิดเติมเงิน

บัตรโดยสาร MRT และ MRT Plus ใช้เดินทางในระบบรถไฟฟ้า MRT ทั้งสายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง โดยสามารถสะสมมูลค่าในบัตรเพื่อใช้สำหรับเดินทางหลายเที่ยวได้ สำหรับบัตรโดยสาร MRT สามารถออกบัตรได้ที่ช่องบริการจำหน่ายตั๋วในสถานี MRT สีน้ำเงินเท่านั้น และบัตรโดยสาร MRT plus สามารถออกบัตรได้ที่ช่องบริการจำหน่ายตั๋วในสถานี MRT สายสีม่วงเท่านั้น โดยมีมูลค่าการออกบัตรครั้งแรก 180 บาท เป็นมูลค่าในการเดินทาง 100 บาท ค่ามัดจำบัตร 50 บาท และค่าธรรมเนียมออกบัตร 30 บาท แบ่งออกเป็น 4 แบบด้วยกัน คือ

  • บัตรโดยสารบุคคลทั่วไป ใช้สำหรับบุคคลทั่วไป และคิดอัตราค่าโดยสารปกติตามระยะทาง
  • บัตรนักเรียน/ นักศึกษา สำหรับนักเรียนและนักศึกษาที่มีอายุไม่เกิน 23 ปี โดยจะลดอัตราค่าโดยสาร 10% จากราคาปกติทุกเที่ยวการเดินทาง ทั้งนี้ ต้องแสดงบัตรนักเรียน นักศึกษา ควบคู่กับบัตรประชาชน เมื่อได้รับการร้องขอดูบัตร 
  • บัตรผู้สูงอายุ สำหรับผู้สูงอายุที่อายุ 60 ปีขึ้นไป โดยจะลดอัตราค่าโดยสาร 50% จากราคาปกติ และผู้ถือบัตรจะต้องแสดงบัตรประชาชน หรือบัตรอื่นๆ ที่ทางราชการออกให้เมื่อได้รับการร้องขอจากเจ้าหน้าที่ 
  • บัตรเด็ก สำหรับเด็กที่อายุไม่เกิน 14 ปี และมีความสูงไม่เกิน 91 – 120 ซม.โดยจะลดอัตราค่าโดยสาร 50% จากราคาปกติ และสำหรับเด็กที่มีอายุไม่เกิน 14 ปี และมีความสูงไม่เกิน 90 ซม. จะได้รับการยกเว้นค่าโดยสาร

ทั้งนี้ บัตร MRT และ MRT plus สามารถเติมเงินผ่าน ShopeePay ได้ ถ้าใครมีแอปฯ Shopee อยู่แล้ว และเดินทางด้วย MRT เป็นประจำ การซื้อบัตรเอาไว้ ก้จะทำให้สะดวกสบายในการเดินทางมากขึ้นค่ะ

2. เหรียญโดยสารปกติ

สำหรับเหรียญโดยสารนั้น ใช้สำหรับการเดินทางเที่ยวเดียว และต้องคืนเหรียญโดยสารให้กับทางสถานีขณะออกจากสถานี โดยสามารถซื้อเหรียญได้ที่เครื่องออกเหรียญโดยสารอัตโนมัติในสถานี และห้องออกบัตรโดยสารที่มีเจ้าหน้าที่บริการ แบ่งเป็น 2 ชนิดคือ

  • เหรียญบุคคลทั่วไป สำหรับบุคคลทั่วไป คิดค่าโดยสารตามปกติ
  • เหรียญสำหรับเด็ก / ผู้สูงอายุ จะลดอัตราค่าโดยสาร 50% จากราคาปกติ

สำหรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT ปัจจุบันจะอยู่ที่ 17 – 43 บาท ทั้งสองสายคือ สีน้ำเงินและสีม่วง โดยสามารถคำนวณอัตราค่าโดยสารตามระยะทางได้ที่ metro.bemplc.co.th

เวลาให้บริการสายรถไฟฟ้า MRT

วิธีนั่ง mrt, สายรถไฟฟ้า mrt
Image Credit : freepik.com

สำหรับเวลาให้บริการของรถไฟฟ้า MRT ทั้งสองสายนั้น จะเปิดให้บริการในเวลาที่ต่างกัน ดังนี้

  • สายรถไฟฟ้าสีน้ำเงิน เปิดให้บริการทุกวัน ไม่มีวันหยุด ตั้งแต่เวลา 06.00 – 24.00 น
  • สายรถไฟฟ้าสีม่วง เปิดให้บริการวันจันทร์ – ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 05.30 – 24.00 น และวันเสาร์ – อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 06.00 – 24.00 น

โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการข้อมูลรถไฟฟ้า MRT โทร 02 2624 5200 ในวันจันทร์ – ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 07.00 – 20.00 น และวันเสาร์ – อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น.

และนี่ก็เป็นข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางรถไฟฟ้า MRT ทั้งสองสาย รวมถึงวิธีนั่ง MRT เพื่อไปยังจุดหลายปลายทางของแต่ละคน ใครที่ไม่ค่อยได้นั่งรถไฟฟ้า MRT แล้วกลัวจะหลงทางหรือขึ้นรถไฟฟ้าผิดสาย ก็น่าจะรู้สึกกังวลน้อยลง และเลือกเดินทางโดยรถไฟฟ้ามากขึ้นนะคะ เพราะทั้งสะดวก ปลอดภัย แล้วก็ประหยัดทั้งเวลา ทั้งค่าน้ำมัน  และประหยัดค่าที่จอดรถด้วย ถ้าจุดหมายไหนสามารถนั่งรถไฟฟ้าไปได้ การใช้รถไฟฟ้า ก็จะช่วยให้เราประหยัดเวลาและประหยัดค่าเดินทางด้วยการนั่งแท็กซี่หรือขับรถยนต์ส่วนตัวไปได้ค่ะ

Inspire Now ! : การเดินทางด้วยรถไฟฟ้า MRT เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพมหานครที่ไม่มีรถส่วนตัว และไม่อยากเจอรถติดจากการนั่งรถเมล์และรถแท็กซี่ การเดินทางด้วยรถไฟฟ้า ก็เป็นวิธีที่สะดวกรวดเร็ว และก็ปลอดภัย สามารถไปถึงที่หมายได้โดยไม่ต้องกลัวหลง เพียงแค่รู้วิธีนั่ง MRT ให้ถูกสาย ขึ้นลงรถไฟฟ้าให้ถูกสถานี เพียงเท่านี้ การเดินทางในเมืองกรุง ก็ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอีกต่อไป

DIY INSPIRE NOW ทำให้ฉันอยากออกเดินทางใช่ไหม ? ถ้าใครที่ไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯ แต่ต้องมาทำธุระที่นี่ ก็ลองนั่งรถไฟฟ้าดูนะคะ เพราะเดินทางง่าย สะดวกสบายมากๆ และสำหรับคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ อยู่แล้ว การนั่งรถไฟฟ้า ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคนที่ไม่อยากเจอรถติด แถมยังประหยัดค่าน้ำมันด้วยค่ะ ♡

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : thairath.co.th, metro.bemplc.co.th, mrta.co.th, bemplc.co.th

Featured Image Credit : unsplash.com/ThaimaaOpas

Facebook Comments

หาข้อมูล-ลงมือเขียนและเรียบเรียงโดยทีมกองบรรณาธิการเว็บไซต์ DIY INSPIRE NOW