การแสดงมโนราห์, มรดกโลก ไทย

ชวนศิลปินแห่งชาติ มาคุยเรื่อง “การแสดงโนรา ศิลปะการแสดงของคนใต้” สู่มรดกโลกที่น่าภูมิใจของไทย

Guest : ผศ.ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ [โนราธรรมนิตย์ ดำรงค์ศิลป์ (สงวนศิลป์) ศ.สาโรช] ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง “โนรา” ประจำปีพุทธศักราช 2565 และเป็นผู้คลุกคลีอยู่กับแวดวง การแสดงโนรามามากกว่า 40 ปี

ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา คิดว่าหลายคนคงจะได้ยินเรื่องของการแสดงโนราที่ได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกกันมาบ้างแล้วใช่ไหมคะ เราก็เลยติดต่อขอสัมภาษณ์ศิลปินแห่งชาติประจำปีนี้ ผศ.ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาศิลปะการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ จังหวัดสงขลา ผู้มีความรู้ความสามารถในด้านศิลปะการแสดง “โนรา” โดยมีผลงานและรางวัลการันตีมากมาย

การแสดงมโนราห์, มรดกโลก ไทย

มาชวนอาจารย์คุยเรื่องการแสดงโนรากันดูว่า เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2564 ที่ผ่านมาที่ UNESCO ได้ประกาศขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการ ให้การแสดง “โนรา” ศิลปะการแสดงพื้นบ้านของคนใต้ ให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทย ลำดับที่ 3 ต่อจาก โขน ปี 2561 และนวดไทย ปี 2562 นั้นเป็นยังไงกันบ้าง

การแสดงมโนราห์, มรดกโลก ไทย
ยาวไป ? เลือกอ่านได้นะ !

1. อยากให้อาจารย์ช่วยแนะนำตัวให้ทุกคนรู้จักว่าเกี่ยวข้องกับการแสดงโนราในแง่มุมไหน และชื่นชอบการแสดงโนราได้อย่างไร

“ผม ผศ.ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ ครับ เป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่ ม.ทักษิณ ปัจจุบันอายุ 63  ปี นอกจากสอนที่นี่แล้ว ผมยังเป็นครูสอนโนราให้กับเยาวชน ตั้งแต่ระดับประถม ถึง อุดมศึกษา หรือจะคนต่างชาติ และประชาชนทั่วไปที่สนใจมาตั้งแต่ปี 2528 จนปัจจุบัน โดยสอนศาสตร์โนราที่ได้รับการสืบทอดมาจากสาย “ท่านขุนอุปถัมภ์นรากร” หรือโนราพุ่ม เทวา ซึ่งเป็นศิลปินโนราที่มีชื่อเสียงของจังหวัดพัทลุง และภาคใต้ ท่านยังได้รับการยกย่องให้เป็นปรมาจารย์ทางการแสดงโนราแบบฉบับโบราณอีกด้วย”

อาจารย์เล่าต่อว่า “เหตุผลที่ผมชอบการแสดงโนรา คงเพราะตั้งแต่เด็กๆ เป็นคนที่ชอบในการร้องรำตามนิสัยของตัวเอง และในอดีตแม่ผมชอบพาไปดูการแสดงโนราโรงครู ที่เป็นการทรงบรรพบุรุษของโนรา บวกกับมีคุณลุงที่เป็นญาติสนิทกัน เป็นคนทรงโนราประจำตระกูล พอไปดูบ่อยๆ ก็ทำให้มีความใกล้ชิด และรู้สึกชอบโนรามากขึ้นไปอีก ชีวิตผมจึงผูกพันและได้เห็นโนรามาตั้งแต่เล็กๆ แต่ตอนนั้นเรายังรำโนราไม่เป็น พอโตขึ้นมาอีกหน่อย เราได้รู้ข้อมูลจากเพื่อนของพี่สาวว่ามีการสอนรำโนราที่วิทยาลัยฝึกหัดครูสงขลา ก็เลยยิ่งมีความหวังว่าสักว่าเราจะต้องไปเรียนที่นั่นเพื่อฝึกรำโนรา  พอโตขึ้นมาอีกหน่อยได้เห็น อ.สาโรช นาคะวิโรจน์ รำโนราออกรายการช่อง 10 หาดใหญ่ ซึ่งท่านเป็นโนราที่มีชื่อเสียง แล้วยังเป็นโนราลูกศิษย์ท่านขุนอุปถัมภ์นรากร และสอนโนราอยู่ที่วิทยาลัยครูสงขลาอีกด้วย เราก็ยิ่งเกิดแรงบันดาล ดังนั้นพอจบ ม.ศ.3 ก็เลยไปเรียนต่อที่นั่น เพื่อจะไปเรียนรำโนราอย่างที่ตั้งใจ และก็ได้เรียนจริงๆ กับ อ.สาโรช นั่นคือการได้เริ่มเรียนรำโนราจริงจังเป็นครั้งแรก ก็รู้สึกตื่นเต้นดีใจ และตื่นเต้นที่ได้เจอ อ.สาโรช ตัวจริงๆ ด้วย ซึ่งท่านก็ได้ช่วยถ่ายทอดความรู้ด้านโนราให้เราอย่างเต็มที่สม่ำเสมอ”

การแสดงมโนราห์, มรดกโลก ไทย

2. อยากให้อาจารย์แนะนำ คนไทยภาคอื่นๆ หรือเยาวชนรุ่นใหม่ให้รู้จักกับการแสดงโนรามากขึ้น ทั้งในแง่ข้อมูลประวัติศาสตร์ รูปแบบการแสดง หรือ อื่นๆ

โนราเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านของคนภาคใต้ และส่วนใหญ่นักแสดงมโนราห์ก็จะเป็นชาวบ้านทั่วไปที่ใช้เวลาว่างเว้นจากการทำนาทำไร่ ทำสวนมาฝึกหัดโนรา ที่ได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันมาจากครูโนราหรือบรรพบุรุษ สำหรับรูปแบบการแสดงโนรา อันดับ 1 ก็จะเป็นการแสดงโนราประกอบพิธีกรรม หรือเรียกว่าโนราโรงครูนั่นเอง ซึ่งเป็นการแสดงโนราเพื่อบูชาและแสดงความกตัญญูกตเวที ต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ทั้งที่เป็นโนราหรือไม่เป็นโนราก็ตาม โดยมีพิธีกรรมเชิญดวงวิญญาณบรรพบุรุษมาประทับทรงในตัวแสดงโนราคนใดคนหนึ่ง เพื่อให้ลูกหลานได้กราบไหว้ บูชา เคารพโดยใช้วิธีการปลูกโรงแสดง เป็นโรงพิธีกรรมที่ปลูกติดกับพื้นดิน จะมี 2 แบบ คือ โนราโรงครูใหญ่ และโนราโรงครูเล็ก ปกติโนราโรงครูใหญ่ก็จะจัดประมาณ 3 วัน 2 คืน ส่วนโนราโรงครูเล็ก หรือ โนราโรงค้ำครู ก็จะจัดแค่คืนเดียว วันเดียว  โนราโรงครูนี้มักจะนิยมจัดในช่วงเดือน พฤษภาคม-สิงหาคม อาจจะมีเดือนเมษายน หรือ เดือนธันวาคมบ้าง ก็ขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างเจ้าภาพ ผู้จัดงาน และก็คณะโนรา แต่ก็จะอยู่ในช่วงเวลาที่ทุกคนว่างเว้นจากการทำนา ทำไร่แล้ว 

ต่อมาก็คือ การแสดงโนราเพื่อความบันเทิง ซึ่งได้มีการดัดแปลงพัฒนาขึ้นมา อาจจะจัด 1 วัน 2 วัน ก็ขึ้นอยู่กับเจ้าภาพจัดหางาน เวทีก็จะแตกต่างจากโนราโรงครู  คือ จะเป็นลักษณะยกพื้นขึ้นมามีหลังคา คล้ายกับโรงลิเก จะเป็นการแสดงเพื่อความสนุกสนาน และมีหลากหลายชุดผสมผสานกัน ซึ่งโนราเพื่อความบันเทิงที่เห็นในปัจจุบัน มีการลดทอนพิธีกรรมลงมาจากโนราโรงครูแล้วทั้งสิ้น และต่อมาก็มีการแสดงที่ดัดแปลงพัฒนาอีกรูปแบบนึง เรียกว่า โนราประยุกต์ ซึ่งจะเป็นการแสดงโนราที่ผสมผสานกับการแสดงวงดนตรี ประกอบการขับร้องเพลงลูกทุ่งต่างๆ ปัจจุบันเมื่อมีหน่วยงานทางการศึกษาต่างๆ เข้ามา ก็มีการหยิบเอาการแสดงโนราที่เป็นชุดสั้นๆ มาเป็นโชว์ในรูปแบบต่างๆ ในเวลา 5 นาที 10 นาที ถือเป็นโนราบันเทิงอีกรูปแบบหนึ่งครับ

การแสดงมโนราห์, มรดกโลก ไทย

สำหรับการแสดงโนราทุกประเภทต้องประกอบไปด้วยการรำ การร้อง มีการแสดงเป็นเรื่อง มีการประกอบพิธีกรรม 4 สิ่งนี้จะปรากฎอยู่ในทุกรูปแบบการแสดงโนรา แต่ในการแสดงโนราโรงครูอาจจะมีรายละเอียด ขั้นตอน พิธีกรรมที่ครบมากที่สุด ส่วนโนราประเภทอื่นๆ ก็อาจจะลดรายละเอียดลงไป

ในอดีตตัวแสดงในคณะโนราหนึ่งๆ อาจจะมีไม่เกิน 15 คน เป็นนักดนตรีประมาณ 4 คน ที่เหลือจะเป็นหัวหน้าคณะ เป็นนักแสดง นางรำ นางรำผู้ช่วยรำ หรือนายพรานแล้วก็หมอประจำคณะ  ก็จะวนเวียนกันแสดงเป็นตัวนั้นตัวนี้สลับกันไป สมัยก่อนโนราอาจจะใช้ผู้ชายแสดงเกือบทั้งหมด แต่ต่อมาก็มีโนราผู้หญิงด้วยและเก่งไม่แพ้กัน สำหรับการแสดงโนราที่เป็นเรื่องส่วนใหญ่นำมาจากวรรณกรรมพื้นบ้าน คล้ายๆ กับการแสดงของภาคกลาง แต่จะเอามาเป็นตอนสั้นๆ เช่น จากเรื่องพระสุธน มโนราห์, สังข์ทอง, ไกรทอง, หรือ ลักษณาวงศ์ เป็นต้น

การแสดงมโนราห์, มรดกโลก ไทย

สำหรับคำเรียก “โนรา” หรือ “มโนราห์” นั้น นักวิชาการหลายท่าน เช่น ศ.สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์, รศ.ภิญโญ จิตธรรม, รศ.อุดม หนูทอง และก็ ผศ.สาโรช, รศ.วิเชียร เป็นต้น ได้ร่วมกันวิเคราะห์ ปรับปรุง และสรุปนิยามศัพท์จนได้ออกมาเป็นหนังสือสาราณุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ และก็พจนานุกรมภาษาไทยถิ่นใต้ ให้ใช้คำว่า “โนรา” ที่หมายถึงศิลปะการแสดงพื้นบ้านภาคใต้ ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ ประกอบไปด้วยการรำ การร้อง มีทั้งการแสดงเป็นเรื่อง การประกอบพิธีกรรม ตามวิถีชีวิตของชาวชุมชนภาคใต้ ส่วนคำว่ามโนราห์ นั้นเป็นชื่อนิทานจากปัญญาสชาดก ที่กล่าวถึงพระสุธน กับนางมโนราห์ เพราะฉะนั้น “โนรา”คือ บัญญัติศัพท์ที่ถูกหลักวิชาการ ที่ได้เผยแพร่ให้ผู้คนได้รู้จักและที่เสนอกับทางยูเนสโกด้วยครับ

3. อยากให้อาจารย์แนะนำการฝึกฝนการแสดงโนราว่าต้องเริ่มต้นอย่างไร ถึงจะสามารถเป็นศิลปินโนราได้ รวมไปถึงการร้องกลอนโนรา และดนตรีประกอบโนราด้วย

อาจารย์เล่าว่า “การฝึกโนรานั้น ถ้าสนใจก็สามารถฝึกได้ตั้งแต่เด็กๆ เลย  7-8 ขวบก็เริ่มฝึกได้แล้ว หนึ่งอาจจะไปฝากเนื้อฝากตัวกับครูโนราที่บ้านเลย  สองก็ไปเรียนตามโรงเรียน หรือ ตามสถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนโนราแบบเป็นหลักสูตร หรืออาจจะเป็นวัดต่างๆ ที่มีการสอนโนรา หรือ อบรมโนราอยู่อย่างสม่ำเสมอ โดยให้ศิลปินโนราในท้องถิ่นมาช่วยสอน แต่สำหรับผู้ที่สนใจ ควรต้องเรียนโนราอย่างต่อเนื่องถึงจะเกิดประโยชน์ ถ้าหากเรียนไม่ต่อเนื่อง ก็จะไม่ปะติดปะต่อ องค์ความรู้ก็จะไม่ครบถ้วน”

“ปัจจุบันถ้าไม่ได้มีโอกาสฝึกฝนตั้งแต่เด็กจริงๆ หรือเจอครูโนราจริงๆ  ก็จะมีสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ให้ได้ดูศึกษาค้นคว้าศาสตร์โนราที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นยูทูป ในเพจ ใน FB ต่างๆ เราก็เรียนรู้เบื้องต้น และฝึกฝนตามได้ ถ้าดูบ่อยๆ ก็จะเข้าใจ และเห็นความหลากหลายของโนรา ถ้าเราดูโนราเก่ง เราก็จะรู้ว่าคนนั้นรำอย่างไร คนโน้นร้องอย่างไร เราก็สามารถเอาทดลองฝึกฝนเองได้ แต่ถ้าอยากฝึกฝนจริงจังก็ขอแนะนำว่าให้ไปหาครู หรือ ศิลปินโนราตัวจริงเพื่อเรียนรู้ฝึกฝน เราก็จะได้ความรู้ที่แท้จริงและถูกต้อง”

การแสดงมโนราห์, มรดกโลก ไทย

เวลามาฝึกกับ ครูโนรา หรือ โรงเรียน ก็จะดูสรีระร่างกายเด็กก่อน จากนั้นก็จะให้ ฝึกดัดตัว ตัดมือ ดัดแขน ขาให้เป็นรูปทรงของโนราก่อน เตรียมร่างกายให้มีความพร้อม มีความแข็งแรง รวมถึงทดสอบการใช้เสียง เช่น ให้วิ่งแล้วทดลองปล่อยเสียงออกมา ดูว่าเสียงจะสั่นเครือไหม หรือว่าการทดลองตีกลองโนรา ตอนฝึกมีสมาธิไหม มีปฏิภาณไหวพริบไหมในเรื่องของจังหวะไหม เพราะโนรา จังหวะถือเป็นเรื่องสำคัญ และที่สำคัญคือ ต้องฝึกความอดทนทำซ้ำๆ โดยโนราจะมีการฝึกท่ารำเบื้องต้นเช่น รำบทครูสอน รำบทสอนรำ รำบทปฐม ต้องฝึก 3 อย่างนี้ให้เชี่ยวชาญก่อน เพราะจะมีพัฒนการของการรำตามลำดับ แล้วจะมีบทร้องโดยเฉพาะ มีท่ารำโดยเฉพาะจากง่ายไปหายาก และจะมีการสอดแทรกการรำ 12 ท่า การเดินของโนราอยู่ในกระบวนการนี้ด้วย และก็จะมีการรำประสมท่าด้วย คือ ต้องฝึกเบื้องต้นให้เชี่ยวชาญชำนาญก่อน เพื่อเอาไปฝึกหรือไปรำในขั้นต่อไป หลังจากรำแล้วก็จะฝึกการร้อง โดยครูจะเขียนคำกลอนให้ก่อน ไปท่องให้จำ แล้วร้องตาม เมื่อฝึกร้องชำนาญแล้วก็จะลองให้ร้องร่วมกัน 2-3 คนเพื่อแลกเปลี่ยนกัน  เกิดความมั่นใจ แล้วจึงมาฝึกการต่อกลอน  ฝึกปฏิภาณไหวพริบ เรียกว่าฝึกการด้นสดนั่นเอง และก็จะค่อยๆ ศึกษาเรื่องพิธีกรรมต่างๆ จากครู เรียกว่าเป็นการเรียนรู้จริง ในโรงพิธี เป็นประสบการณ์ตรง

การแสดงมโนราห์, มรดกโลก ไทย

นอกจากนั้นเมื่อมีเวลาว่างครูก็อาจจะสอนเรื่องการทำดอกไม้ เตรียมของไหว้ครู หรือ ปักชุด ซ่อมชุด ซ่อมลูกปัดในชุด เป็นต้น เรียกว่าคนที่สนใจโนราจริงๆ จะต้องคลุกคลีใกล้ชิดกับครู ก็จะได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ครบทุกด้านของศาสตร์โนราที่แท้จริง นี่เป็นสิ่งที่คนรำโนรา เมื่อฝึกฝนจนเข้าถึงแล้ว ก็จะรู้สึกมีความสุข เกิดประโยชน์ แต่สิ่งสำคัญในการฝึกโนรา ต้องฝึกกิริยามารยาท การมอบตนให้กับครู รู้จักกตัญญูกตเวทีต่อครูเสมอ ที่เล่ามาทั้งหมดนี้อาจจะต้องฝึกฝนและสั่งสมประสบการณ์อย่างน้อยๆ 4-5 ปี ก็จะทำได้แบบนี้”

4. ที่โดดเด่นไม่แพ้การรำและการร้องของโนราก็คือ เรื่องชุดของโนราที่สวยงาม อยากให้อาจารย์ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยค่ะ ว่าชุดโนราประกอบไปด้วยอะไร และต้องทำอย่างไร ?

อาจารย์เล่าว่า “ผู้รำโนราจะสวมเครื่องแต่งกายที่ทำด้วยลูกปัดหลากสี สวมปีกหางคล้ายนก เทริดทรงสูง ต่อเล็บยาวที่ทำด้วยโลหะที่สวยงามมาก  ในอดีตนั้นชุดโนราอาจจะครบสมบูรณ์ หรือ อาจจะไม่ครบสมบูรณ์ ตามฐานะของแต่ละคณะ แต่ส่วนใหญ่นายโรง หรือ เจ้าของคณะจะใส่ชุดครบสมบูรณ์ แต่สิ่งสำคัญคือ เสื้อผ้าของโนรานั้นจะต้องร้อยด้วยลูกปัดหลากสีทีละเม็ดๆ ซึ่งเครื่องแต่งกายของโนรานั้นประกอบไปด้วยทั้งหมด 14 ชิ้น อาทิ  สังวาลย์ สร้อย ปีกนกแอ่น ทับทรวง เครื่องเงินประกอบ เครื่องแต่งปลายแขน ยุคต่อมาศิลปินโนราก็มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นไปหาแหล่งลูกปัดมาได้ ก็เอามาร้อยเป็นชายโครง ประดับที่ไหล่เพิ่มขึ้น ก็ยิ่งเพิ่มความสวยงาม ส่วนด้านล่างก็จะมีการนุ่งสนับเพลา มีผ้าจีบโจง และม้วนหางแบน มีผ้าห้อยหน้า ห้อยข้าง ซึ่งเป็นการนุ่งผ้าตามศิลปะของโนราที่ถ่ายทอดต่อกันมาที่จะต้องมีความคล่องตัวสะดวกสบายในการยกแข้งขา ตามท่าทางรำของโนรา ส่วนการร้อยลูกปัดตกแต่งนั้น ปัจจุบันลูกปัดหาง่ายขึ้น มีสีสันมากขึ้น ชุดของโนราจึงยิ่งสวยงาม แต่ในการทำขึ้นมาแต่ละอย่างต้องผ่านขั้นตอนที่ซับซ้อนขึ้นอยู่กับครูโนราถ่ายทอด ซึ่งศิลปะการทำชุดนี้ ก็เป็นการทำที่สืบทอดมาจากอดีต คณะโนราสมัยก่อนและปัจจุบัน ก็จะตัดชุดเอง ร้อยลูกปัดเอง มีการออกแบบ มีเทคนิค ลวดลายต่างๆ และเตรียมเครื่องประดับต่างๆ เอง เพื่อให้คงความงามและประณีตเหมือนอย่างที่ควรจะเป็น เรียกว่าการแสดงโนรานั้นมีการพัฒนาสอดแทรก ศิลปะเข้าไปในทุกๆ เรื่องจริงๆ”

การแสดงมโนราห์, มรดกโลก ไทย

หรืออย่างเทริด (อ่านว่า เซิด) ก็จะเป็นงานของช่างฝีมือพื้นบ้าน คนที่ทำเทริดส่วนใหญ่เป็นช่างผู้ชาย ที่มีฝีมือทางด้านแกะสลักพระอุโบสถของวัด ซึ่งเป็นช่างแกะกนกลายต่างๆ หรืองานปั้น งานปะติดกระจก หรือจักสานต่างๆ และรักในด้านนี้ก็จะทำเทริดได้ ซึ่งเทริดของโนราต้องใช้เวลาทำนานมาก และช่างฝีมือก็มีน้อย 

ส่วนเล็บของโนราก็ทำจากโลหะ จะใส่แค่ 4 นิ้วโดยไม่ใส่ที่นิ้วหัวแม่มือ เพราะในการรำจะไม่สะดวก การตีท่าต่างๆ ก็จะไม่สวยงาม เพราะจะสะดุดเวลาในการเคลื่อนย้ายมือต่างๆ อดีตเล็บนี้ทำด้วยเงิน ต่อมาเงินหายาก ก็เปลี่ยนมาเป็นเหล็ก หรือ สแตนเลสที่ราคาถูกกว่าหาง่ายกว่า

5. ปัจจุบันการแสดงโนรา ยังได้รับความสนใจเข้าชมจากคนทั่วไป มากน้อยเพียงใด อย่างไร หาดูได้ที่ไหน คนทั่วไปจะเข้าถึงการเเสดงนี้ได้ที่ไหน อย่างไร ?

การแสดงโนราทั้ง 3-4 รูปแบบที่เล่าไปตอนต้น ยังมีแสดงให้เห็นปรากฎอยู่ในชุมชนของคนภาคใต้ทุกๆที่ ตามฤดูกาล เทศกาล หรือ อย่างเช่นงานกาชาด ก็จะมีการแสดงโนราประยุกต์ที่ยังมีคนดูเยอะมาก เพราะมีทั้งโนรา ตลก วงดนตรีลูกทุ่ง ที่อาจจะเน้นเรื่องความสนุกสนาน มากกว่าการรำที่สวยงาม แต่ยังมีดนตรีโนรา สำเนียงโนราที่ถูกปรับประยุกต์เข้ามาด้วยกันแล้ว  ส่วนโนราเพื่อความบันเทิง ก็ยังหาดูได้ตามงานต่างๆ เช่น งานศพ งานแต่งงาน หรือไปชมในงานประจำปีประจำจังหวัดต่างๆ ทางภาคใต้ หรืองานวัด งานทอดกฐิน ทอดผ้าป่า วัดไหนที่มีความพร้อมก็จะมีการเชิญคณะโนรามาแสดง ส่วนวัดที่มีงานประจำปีก็อย่างเช่นวัดที่มีชื่อเสียง

การแสดงมโนราห์, มรดกโลก ไทย
  1. วัดยางใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช
  2. วัดท่าแค จ.พัทลุง 
  3. วัดท่าคุระ จ.สงขลา 
  4. วัดยางทอง จ.ตรัง เป็นต้น
การแสดงมโนราห์, มรดกโลก ไทย

ส่วนโนราโรงครูก็ยังมีให้เห็น และปรากฎอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ หลากหลายชุมชน ของคนที่ยังนับถือบรรพบุรุษโนรา หรือ บรรพบุรุษของตนเอง หรือจะหาชมได้จากงานวิชาการต่างๆ แต่อาจจะเป็นชุดการแสดงสั้นๆ ที่ตัดตอนเอามาแสดงให้ได้รับชม หรืองานประกวดประชันที่หน่วยงานจัดขึ้น เรียกว่าในเกือบทุกจังหวัดภาคใต้ก็ยังหาสามารถชมการแสดงโนราได้ทุกที่ และคนก็ยังให้ความสนใจรับชม หรือเด็กรุ่นใหม่ที่อยากฝึกฝนโนราก็มีไม่น้อยเลยครับ

6. การแสดง “โนรา” เพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ จากยูเนสโก เมื่อ 15 ธันวาคม 2564 อาจาย์คิดว่าเพราะอะไร อย่างไร ?

สำหรับผมคิดว่า หนึ่งเพราะโนราเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านอันเป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้ที่มีภูมิปัญญา มีองค์ความรู้ ที่ทุกคนสามารถนำเอาไปใช้ ในการสร้างชีวิตให้มีความสุขได้ และทุกคนก็สามารถเข้าถึงโนราได้โดยง่าย โดยไม่มีใครหวงห้าม หรือ ติดขัดเรื่องประโยชน์ของลิขสิทธิ์ ข้อจำกัด หรือ ข้อแบ่งแยกใดใด  เรียกว่าเรียบง่ายในการเข้าถึงองค์ความรู้เหล่านี้  สองโนรานั้นมีการสืบทอดส่งต่อกันมายาวนานแล้ว โดยชาวบ้านเป็นผู้ส่งต่อสืบทอดกันเองโดยไม่ต้องมีใครมาคอยบังคับ ควบคุมดูแล

การแสดงมโนราห์, มรดกโลก ไทย

โนราสามารถยืนหยัดด้วยศิลปินโนราที่เป็นชาวบ้านด้วยกันเองและเป็นไปโดยธรรมชาติ จึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและสามารถพึ่งพาตัวเองได้ สามในการแสดงโนรานั้น มีศิลปะ รวมกันอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการรำ การร้อง ดนตรี ชุด เครื่องประดับ ความเชื่อ พิธีกรรม วิถีชีวิต ทุกคนจึงสามารถหยิบยืมเอามาต่อยอด หรือ สร้างสรรค์ได้ โนราจึงเป็นศิลปะที่มีคุณค่าต่อมวลมนุษยชาติ ควรค่าแก่การได้รับการยกย่องมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ จากยูเนสโก สำหรับผม ผมภูมิใจมากที่สุดในชีวิตเลยครับ ว่าสิ่งที่ปฏิบัติสืบทอดต่อๆ กันมามันมีคุณค่า จนคนทั่วโลกเห็นคุณค่า ทำให้ศิลปะพื้นบ้านของไทยขยายไปสู่สากล และได้รับการยอมรับ ชื่นชอบจากสากลมากขึ้นขนาดนี้

การแสดงมโนราห์, มรดกโลก ไทย

7. คนไทยภาคอื่นๆ ที่อาจจะฟังภาษาใต้ไม่ออก  จะสามารถชมการแสดงโนราให้บันเทิงใจได้อย่างไร มีคำแนะนำหรือไม่ ?

สำหรับคนภาคอื่นๆ หรือคนทั่วโลก อันดับแรกตอนนี้สามารถหาชมโนราได้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่จะดูตอนไหนเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะฉะนั้นผมอยากให้ทุกคนลองเปิดใจ ชมการแสดงโนราผ่านสื่อทุกประเภทดูซักหน หรือ หากมีโอกาสไปออกท่องเที่ยวไทย เที่ยวภาคใต้ อยากให้ไปชมการแสดงจริงๆ ในชุมชนซักครั้งนะครับ อย่างแรกอยากให้ลองซึบซับความสวยงามของเครื่องแต่งกายของโนราก่อน และต่อมาก็ค่อยชื่นชมท่ารำของโนราที่อ่อนช้อย สวยงามแต่แข็งแรง ก่อนก็ได้ ส่วนที่ฟังภาษาใต้ไม่เข้าใจ ก็ให้ชมท่าทาง ความสนุกตลก ขบขัน ทะลึงตึงตัง ที่เราสามารถรับรู้ได้ง่ายๆ หรือ ทดลองฟังสำเนียงภาษาใต้ หางเสียงที่ไพเราะของโนรา ความก้องกังวาล ก็ช่วยให้การชมโนรามีอรรถรสมากขึ้น ต่างๆ เหล่านี้ ท่านก็จะได้เห็นความมีคุณค่าของศิลปะการแสดงโนรา แม้อาจจะจะฟังคำร้องภาษาใต้ไม่ออก แต่ได้ชมการรำที่สวยงาม จังหวะดนตรีที่สนุกสนาน รวมถึงได้ชมชุด เห็นเครื่องประดับ หรือ ได้เห็นพิธีกรรมต่างๆ ของโนรา ทุกท่านก็สามารถมีความสุข อิ่มเอมใจได้แล้ว แต่ถ้าดูผ่านสื่อออนไลน์บ่อยๆ หรือไปชมการแสดงจริงๆ บ่อยๆ ทุกท่านก็จะค่อยๆ เข้าใจโนรามากขึ้น และจะยิ่งมีความสุข สนุกในการรับชมโนราอย่างแน่นอนครับ

การแสดงมโนราห์, มรดกโลก ไทย

8. นอกจากคำถามทั้งหมดนี้แล้ว ในฐานะศิลปินแห่งชาติประจำปีนี้ อาจารย์มีแง่มุมอื่นๆ ที่อยากฝากเพิ่มเติมอีกหรือไม่ อย่างไร ?

สำหรับผมที่มีองค์ความรู้เรื่องโนรา ผมก็ตั้งใจว่าจะรำโนราสืบทอดและถ่ายทอด ส่งต่อความรู้ทุกๆ ด้านของศาสตร์โนราให้กับคนรุ่นต่อๆ ไป อย่างสุดกำลังความสามารถ เพราะผมเชื่อว่าผมได้ทำสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับชีวิตผมแล้ว ผมมีความสุขที่สุดแล้วครับ ถ้าเราสามารถส่งต่อความสุขนี้ให้กับลูกศิษย์ได้ เค้าก็จะมีพลังในการสืบทอดการแสดงโนรา เพราะเห็นเราปฏิบัติเป็นแบบอย่าง ซึ่งเราเองก็ได้มาจากครูบาอาจารย์ศิลปินโนรา ที่ตั้งใจถ่ายทอดให้เราเต็มที่เช่นกัน  คนรุ่นใหม่ก็จะได้อนุรักษ์สืบต่อโนราไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

การแสดงมโนราห์, มรดกโลก ไทย

และอยากให้ทุกคนได้ลองรับชมโนราสักครั้งในชีวิต เพราะการแสดงโนรา เป็นทั้งมรดกไทย และมรดกโลกที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลแล้วโดยอาจจะเลือกชมการแสดงโนราที่รำสวยที่สุด ร้องเพราะที่สุด ชุดที่สวยที่สุด หรือสนุกที่สุด เพื่อให้เกิดความประทับใจ หรือ จะเลือกชมโนราประยุกต์เพื่อให้เข้าถึงง่ายเข้าใจง่ายก่อนก็ได้ เชื่อแน่นอนว่าทุกคนจะต้องชื่นชอบ ประทับใจ และภูมิใจกับมรดกอันล้ำค่าของคนไทย สุดท้ายถ้าคนภาคใต้ยังมีความเชื่อเรื่องของบรรพบุรุษ ยังมีความเชื่อเรื่องของการแก้บน การแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ โนราก็ยังจะคงอยู่และไม่มีวันหายไปจากวิถีชีวิตคนภาคใต้อย่างแน่นอน

หลังจากได้อ่านเรื่องราวความรู้รอบตัวสนุกๆ ใหม่ๆ  และยังเป็นข้อมูลความรู้อันลำค่าของศิลปะการแสดง “โนรา” มรดกโลก มรดกไทย จากผศ.ธรรมนิตย์กันแล้ว เชื่อแน่นอนว่า คุณผู้อ่านคงจะรู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นไทย และในมรดกทางวัฒนธรรมของไทยที่ล้ำค่าอย่าง “โนรา” ด้วยกันอย่างแน่นอนใช่ไหมคะ ?

การแสดงมโนราห์, มรดกโลก ไทย
Inspire Now ! : ได้อ่านบทสัมภาษณ์ อ.ผศ.ธรรมนิตย์ กันแล้ว เชื่อว่าสาวๆ หลายคนคงได้รับพลังใจ และแรงบันดาลใจเต็มเปี่ยมจากท่านศิลปินแห่งชาติ ผศ.ธรรมนิตย์ ซึ่งท่านตั้งใจเป็นครูโนราที่จะถ่ายทอด สืบต่อ รักษาการแสดง “โนรา” นี้ให้อยู่คู่กับคนใต้ คนไทย และให้เป็นที่ยอมรับระดับโลกแบบนี้ตลอดไปใช่ไหมคะ ?

DIY INSPIRE NOW ทำให้ฉันอยากเป็นคนที่ดีกว่าใช่ไหม? ได้ความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับ การแสดงโนราในแง่มุมต่างๆ จาก อ.ผศ.ธรรมนิตย์กันแล้ว ทำให้ทุกคนอยากเรียนรู้ความเป็นไทย หรือ ต่อยอดเรื่องราววัฒนธรรมไทยที่ล้ำค่ากันบ้างไหม ? มาแบ่งปัน มาพูดคุยกับเราได้นะคะ ♡

Facebook Comments

NANA NART เป็นคนชอบการบันทึก ทั้งภาพถ่าย ภาพวาดและตัวหนังสือ ที่มันช่วยบันทึกความสุข ความทรงจำและประสบการณ์ชีวิต จึงรักหนังสือ กระดาษ ดินสอ ปากกา กล้องและการเดินทาง การใช้ชีวิตของตัวเองมากๆ