ประเภทของประกันชีวิต, ประเภทของประกันภัย

ประเภทของประกันชีวิต มีกี่แบบ ? มารู้จักประกันประเภทต่างๆ เพื่อวางแผนการเงินกัน !

ถ้าพูดถึงประกันชีวิต คนที่เคยทำประกันชีวิตมาแล้วก็อาจจะพอรู้เกี่ยวกับ ประเภทของประกันชีวิต ต่างๆ มาบ้าง แต่สำหรับคนที่ยังไม่เคยทำประกันชีวิตมาก่อน และกำลังสนใจเกี่ยวกับการทำประกัน อาจจะกำลังสงสัยอยู่ว่า ประกันมีทั้งหมดกี่แบบ ? และมีประกันชนิดใดบ้าง ถ้าจะหาข้อมูลเองก็กลัวจะสับสนและไม่เข้าใจ จะติดต่อตัวแทนประกันชีวิตโดยตรง บางคนก็อาจจะไม่สะดวกใจเพราะกลัวว่าจะถูกโน้มน้าวใจให้ทำประกันทั้งที่ตัวเองยังไม่มีความเข้าใจดี ในบทความนี้ จะพาไปรู้จักกับประกันชีวิตชนิดต่างๆ รวมถึงประกันภัยอื่นๆ ด้วย เพื่อที่จะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประกันมากขึ้น และเลือกทำประกันที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุดค่ะ

ชวนรู้จัก ประเภทของประกันชีวิต และประกันแบบอื่นๆ ก่อนจะทำประกันต้องรู้ !

ประเภทของประกันชีวิต, ประเภทของประกันภัย
Image Credit : freepik.com

ตามหลักวิชาการวิชาการประกันภัย ได้แบ่งประเภทของประกันภัยออกเป็น 3 ประเภทคือ 1) การประกันภัยบุคคล (Insurance of the person) ซึ่งเป็นการประกันภัยเกี่ยวกับภัยที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคล ได้แก่ ประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ และประกันสุขภาพ 2) การประกันภัยทรัพย์สิน (Property Insurance) ได้แก่ การประกันอัคคีภัย การประกันภัยทางทะเลและขนส่ง การประกันภัยรถยนต์ และการประกันภัยเบ็ดเตล็ด 3) การประกันภัยที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบตามกฎหมาย (Liability Insurance) เช่น การประกันภัยความรับผิดต่อสาธารณะ การประกันภัยความรับผิดจากผลิตภัณฑ์ และการประกันภัยความรับผิดจากวิชาชีพ ซึ่งคนส่วนใหญ่จะรู้จักการประกันภัยบุคคลและการประกันภัยทรัพย์สินเป็นส่วนใหญ่ เรามาเจาะลึกกันว่า ประเภทของประกันภัยบุคคลนั้น มีอะไรบ้าง จะได้รู้และเข้าใจเกี่ยวกับประกันแต่ละชนิดให้มากขึ้น และเลือกทำประกันให้เหมาะสมกับตัวเอง เพื่อที่จะได้มีความคุ้มครองนะคะ

ประกันชีวิต มีกี่แบบ ? แต่ละแบบต่างกันอย่างไร มาดูกัน !

การทำประกันชีวิตนั้น เรียกได้ว่ามีความจำเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการชดเชยรายได้ที่ต้องสูญเสียไปอันเนื่องมาจากการเสียชีวิต ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง หรือชราภาพ โดยบริษัทประกันชีวิตจะเป็นผู้จ่ายเงินตามจำนวนที่ระบุเอาไว้ในสัญญาการทำประกันชีวิตที่เรียกว่ากรมธรรม์ประกันชีวิตนั่นเอง แล้วถ้าคิดจะทำประกันชีวิตสักเล่มหนึ่ง ควรจะเลือกทำแบบไหนดี ? ประเภทของประกันชีวิตมีอะไรบ้าง ? มาดูกันค่ะ

1. ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ (Whole Life Insurance)

ประเภทของประกันชีวิต, ประเภทของประกันภัย
Image Credit : freepik.com

ประเภทของประกันชีวิตแบบตลอดชีพ คือประกันชีวิตที่ให้ความคุ้มครองตลอดชีวิตของผู้เอาประกัน ซึ่งทางบริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินให้แก่ผู้รับประโยชน์ถ้าผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตในขณะที่กรมธรรม์ยังมีผลบังคับ ซึ่งประกันชีวิตชนิดนี้ทำไว้เพื่อเป็นการเตรียมเงินทุนสำหรับจุนเจือครอบครัวหรือจุนเจือบุคคลที่อยู่ในความดูแลของผู้เอาประกันภัยเมื่อผู้เอาประกันได้เสียชีวิตลง หรืออาจใช้เป็นเงินทุนสำหรับการเจ็บป่วยครั้งสุดท้าย และเป็นค่าฌาปณกิจ หรือใช้สำหรับชำระหนี้ เพื่อที่หนี้จะได้ไม่ตกเป็นของทายาทนั่นเอง

2. แบบชั่วระยะเวลา (Term Insurance)

ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา เป็นประเภทของประกันชีวิตที่บริษัทจะจ่ายเงินประกันให้แก่ผู้รับประโยชน์เมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตภายในระยะเวลาที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เช่น มีความคุ้มครอง 1,000,000 บาท ในระยะเวลา 3 ปี และถ้าผู้เอาประกันเกิดเสียชีวิตภายในระยะเวลา 3 ปี ผู้รับประโยชน์ก็จะได้เงินประกันไป แต่ถ้าครบกำหนด 3 ปีแล้ว ผู้เอาประกันยังมีชีวิตอยู่ ก็จะไม่ได้รับเงินใดๆ ซึ่งประกันชนิดนี้จะเป็นแบบจ่ายเบี้ยทิ้ง ทำให้เบี้ยประกันจะค่อนข้างถูกกว่าประกันชนิดอื่นๆ

[affegg id=4593]

3. แบบสะสมทรัพย์ (Endowment Insurance)

ประเภทของประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ เป็นประกันชีวิตที่บริษัทประกันจะจ่ายเงินให้แก่ผู้เอาประกันภัยเมื่อมีชีวิตอยู่จนครบสัญญา หรือจ่ายเงินประกันให้กับผู้รับประโยชน์ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตลงภายในระยะเวลาที่ยังระบุอยู่ในสัญญา ซึ่งประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์จะเป็นประกันที่ทั้งคุ้มครองชีวิตและมีการสะสมทรัพย์ในระยะเวลาพร้อมๆ กัน และจะได้เงินคืนเมื่อถึงเวลาที่ครบกำหนด นอกจากจะออมเงินไว้ในธนาคารเพื่อรับดอกเบี้ยแล้ว (อ่านเพิ่มเติม ธนาคารไหน ดอกเบี้ยเงินฝากสูง) การทำประกันแบบสะสมทรัพย์ ก็เป็นการออมเงินอีกรูปแบบหนึ่งได้เช่นกันค่ะ

4. ประกันชีวิตแบบบำนาญ (Annuities Insurance)

ประเภทของประกันชีวิต, ประเภทของประกันภัย
Image Credit : freepik.com

ประกันชีวิตแบบบำนาญ เป็นประเภทของประกันชีวิตที่บริษัทประกันจะจ่ายเงินจำนวนหนึ่งเท่าๆ กันอย่างสม่ำเสมอให้แก่ผู้เอาประกันภัยทุกๆ เดือนหรือทุกปี ตามสัญญาที่ระบุไว้ นับตั้งแต่ผู้เอาประกันภัยเกษียณอายุ หรือมีอายุครบ 55 ปี/ 60 ปีเป็นต้นไป เหมาะสำหรับคนที่ต้องการออมเงินเพื่อเกษียณในอนาคต ซึ่งสามารถทำประกันประเภทนี้ได้ตั้งแต่วัยทำงาน เพื่อที่จะเป็นการออมเงินระยะยาวและเตรียมไว้ใช้ในยามเกษียณค่ะ

5. ประกันชีวิตแบบควบการลงทุน (Unit Linked)

ประกันชีวิตแบบควบการลงทุน เป็นประกันชีวิตที่บริษัทจะเอาเบี้ยประกันไปบริหารความเสี่ยงโดยการเอาไปลงทุนในกองทุนรวมต่างๆ ที่ดูแลโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน (บลจ.) เพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะเดียวกันก็ให้ความคุ้มครองชีวิตไปด้วย และยังมีความยืดหยุ่นที่สามารถปรับเปลี่ยนกรมธรรม์ เช่น เพิ่มหรือลดทุนประกันให้สอดคล้องกับความจำเป็นในชีวิต ณ ขณะนั้นได้ อย่างไรก็ตาม ประเภทของประกันชีวิตแบบ Unit Linked จะไม่การันตีผลตอบแทน และเหมาะสำหรับผู้ที่เข้าใจในการลงทุนระดับหนึ่ง ซึ่งผู้ที่สนใจการทำประกันชีวิตประเภทนี้ จะต้องศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการลงทุนเพิ่มเติมโดยละเอียด เพื่อประโยชน์ของผู้เอาประกันเองนะคะ

ประโยชน์ของประกันชีวิตนั้น หลักๆ ก็คือให้ความคุ้มครอง และช่วยสนับสนุนในเรื่องการเงินหรือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นของครอบครัว เช่น หนี้สิน อันเนื่องมาจากการเสียชีวิตของผู้เอาประกัน ซึ่งบางคนนั้นอาจจะเป็นหัวหน้าครอบครัวและเป็นผู้หารายได้ให้กับครอบครัว เมื่อบุคคลนั้นเสียชีวิตไป ทำให้คนในครอบครัวขาดเสาหลักของบ้าน การทำประกันชีวิตจะทำให้มีเงินทุนสำรองเพื่อให้คนในครอบครัวสามารถตั้งหลักได้ นอกจากนี้ ประกันชีวิตบางประเภทก็เป็นการออมทรัพย์ไปในตัว ประเภทของประกันชีวิตในลักษณะนี้จะเป็นการบังคับให้จ่ายเบี้ยอย่างสม่ำเสมอ และถ้าหากครบสัญญาก็จะได้รับเงินคืน ซึ่งสามารถใช้เป็นวิธีออมเงินเพื่อเกษียณได้ หรือออมเงินเพื่อการศึกษาของบุตรหลานก็ได้เช่นกัน ทั้งนี้ ยังสามารถนำเอาเบี้ยประกันชีวิตมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ด้วย ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่จะต้องจ่ายภาษีเป็นจำนวนมากในแต่ละปี เพราะนอกจากจะเอาเบี้ยประกันชีวิตมาลดหย่อนภาษีได้แล้ว ยังเป็นการได้รับความคุ้มครองอีกด้วยนะคะ

ประกันอุบัติเหตุ คืออะไร ? มีความสำคัญอย่างไร ?

ได้รู้จักประเภทของประกันชีวิตชนิดต่างๆ กันไปแล้ว เรามาดูประกันชนิดอื่นๆ กันบ้าง เริ่มกันที่ ประกันอุบัติเหตุ โดยประกันอุบัติเหตุจะคุ้มครองในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยเกิดอุบัติเหตุขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุในรูปแบบใดก็ตาม เช่น อุบัติเหตุทางรถยนต์ อุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ อุบัติเหตุจากการเล่นกีฬา มีดบาด สะดุดหกล้ม น้ำร้อนลวก ฯลฯ ซึ่งประกันจะคุ้มครองตามวงเงินที่ระบุไว้ในสัญญา ทั้งในส่วนของค่าใช้จ่ายในการรักษาตัวในโรงพยาบาล การสูญเสียอวัยวะ หรือเกิดทุพพลภาพขึ้น ซึ่งก็แล้วแต่สัญญาในกรมธรรม์แต่ละบริษัท โดยทั่วไปแล้ว เบี้ยประกันอุบัติเหตุจะมีราคาไม่สูงมาก แต่ให้ความคุ้มครองสูง และเป็นเบี้ยจ่ายทิ้งแบบปีต่อปี ทั้งนี้ จะคุ้มครองในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุเท่านั้นค่ะ

[affegg id=4594]

ประกันสุขภาพ เป็นอย่างไร ? จำเป็นหรือไม่

ประเภทของประกันชีวิต, ประเภทของประกันภัย
Image Credit : freepik.com

ประกันสุขภาพ ก็เป็นประเภทของประกันภัยบุคคลอีกชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยม ซึ่งประกันชนิดนี้ จะคุ้มครองผู้เอาประกันในกรณีเกิดเจ็บป่วยไม่สบายด้วยโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ และมีความจำเป็นที่จะต้องไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล หากมีประกันสุขภาพก็สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ตามวงเงินในสัญญาที่กำหนดไว้ในกรรมธรรม์ โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นวงเงินหลักแสนไปจนถึงหลักหลายล้านบาท ใครที่ไม่มีสิทธิค่ารักษาพยาบาลอื่นๆ เช่น บัตรทอง (อ่านเพิ่มเติม บัตรทองคืออะไร) การทำประกัน สุขภาพจะทำให้เราอุ่นใจและมั่นใจได้ว่า เราจะมีเงินรักษาตัวเมื่อยามเจ็บป่วย และไม่ต้องเบียดเบียนเงินในส่วนอื่นๆ ของชีวิต เช่น เงินเก็บส่วนตัว เงินลงทุน เป็นต้น ทั้งนี้ ประกันสุขภาพก็เป็นการจ่ายเบี้ยแบบปีต่อปีเช่นกัน

ประกันโรคร้ายแรง คืออะไร ? ใครที่ควรทำบ้าง ?

ประกันโรคร้ายแรง เป็นประเภทของประกันภัยบุคคลอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งบริษัทประกันจะจ่ายผลประโยชน์เมื่อผู้เอาประกันตรวจเจอโรคร้ายแรงชนิดต่างๆ ที่ระบุไว้ในสัญญากรมธรรม์ ประกันชนิดนี้ อาจจะคุ้นหูกันในชื่อ ประกันโรคมะเร็ง แต่ความจริงแล้ว ประกันโรคร้ายแรงยังคุ้มครองโรคร้ายแรงชนิดอื่นๆ นอกเหนือจากโรคมะเร็งด้วย เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมอง โรคทางสมอง ภาวะติดเชื้อรุนแรง ภาวทุพพลภาพ เป็นต้น โดยหลักๆ แล้ว การทำงานของประกันชนิดนี้ก็คือ เมื่อผู้เอาประกันตรวจเจอโรคร้ายแรงชนิดต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ ก็จะได้รับเงินประกันตามจำนวนวงเงินที่ทำเอาไว้ ซึ่งมีตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลักล้านบาท ปัจจุบันนั้นสถิติการตรวจเจอโรคร้ายแรงชนิดต่างๆ โดยเฉพาะโรคมะเร็งนั้น มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และการทำประกันโรคร้ายแรงก็จะทำให้เราอุ่นใจได้ว่า เมื่อเกิดโรคร้ายแรงขึ้นกับตัวเอง จะมีเงินก้อนเอาไว้รักษาตัวให้มีสุขภาพแข็งแรงและไม่รบกวนค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและไม่ลำบากขัดสนในเรื่องของการเงิน ทั้งนี้ ประกันโรคร้ายแรงเป็นเบี้ยที่ต้องจ่ายทิ้งแบบปีต่อปี เช่นเดียวกับประกันอุบัติเหตุ และประกันสุขภาพค่ะ

ในตอนนี้ก็ได้รู้จักประเภทของประกันชีวิตชนิดต่างๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมถึงประเภทของประกันภัยบุคคลชนิดอื่นๆ ทั้งประกันอุบัติเหตุ ประกันสุขภาพ และประกันโรคร้ายแรง เพื่อที่จะได้เข้าใจการทำงานและเงื่อนไขประกันรูปแบบต่างๆ มากขึ้น และเลือกทำประกันชีวิตให้เหมาะกับตนเองมากที่สุด อันเป็นการสร้างความคุ้มครองให้กับตัวเอง และเป็นการวางแผนทางการเงินในกรณีที่เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น จะได้มีเงินทุนมาใช้จ่ายในส่วนต่างๆ และไม่เดือดร้อนเรื่องการเงินนะคะ

[affegg id=4595]

Inspire Now ! : การเลือกทำประกันชีวิตให้กับตัวเองนั้น หลักๆ แล้ว ควรพิจารณาจากความจำเป็นในชีวิตและความต้องการในชีวิตว่า เราต้องการที่จะคุ้มครองในเรื่องใดบ้าง เช่น อยากจะคุ้มครองเรื่องรายได้เพราะตัวเองเป็นเสาหลักของบ้าน เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น ครอบครัวจะได้มีเงินทุนสำรองเอาไว้ตั้งตัวในวันที่ไม่มีเราอยู่ ก็ควรเลือกประกันชีวิตแบบคุ้มครองตลอดชีพ หรือถ้าต้องการจะออมเงิน ก็สามรถเลือกแบบสะสมทรัพย์หรือแบบควบการลงทุนได้ และถ้าขับรถยนต์เป็นประจำ นอกจากจะทำประกันรถยนต์แล้ว ก็ต้องทำประกันอุบัติเหตุให้กับตัวเองด้วยเช่นกัน หรือถ้าใครกังวลในเรื่องของสุขภาพ เจ็บป่วยบ่อยๆ และไม่มีประกันสังคม มาตราต่างๆ การทำประกันสุขภาพเอาไว้ก็จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนของค่ารักษาพยาบาลได้ หรือถ้าใครมีสมาชิกในครอบครัวมีประวัติเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง การทำประกันโรคร้ายแรงเอาไว้ก่อนก็จะช่วยสร้างความอุ่นใจให้กับตัวเองได้ว่าวันใดวันหนึ่งหากเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงขึ้นมา ก็จะได้มีเงินทุนไว้สำหรับรักษาตัวโดยที่ไม่เดือดร้อนเรื่องการเงินนั่นเองค่ะ

DIY INSPIRE NOW ทำให้ฉันเป็นคนที่ดีกว่าเดิมใช่ไหม ? ได้รู้จักประกันแต่ละชนิดกันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะได้เลือกทำประกันให้ตรงกับความต้องการของเรามากที่สุด และยังเป็นการวางแผนการเงินเพื่ออนาคตด้วยนะคะ ♡

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : oic.or.th, 1213.or.th

Featured Image Credit : vecteezy.com/elenauve

Facebook Comments

ฝันอยากเดินทางท่องโลกให้ได้มากที่สุด สนใจเรียนรู้เกี่ยวกับจิตวิทยา รักการอ่านหนังสือ ชอบถ่ายรูป หลงใหลแมวและกาแฟ