outward mindset คือ

Outward Mindset คืออะไร ? ยิ่งฝึก ยิ่งสุข จริงหรือ ? อยากราบรื่นทุกความสัมพันธ์ต้องฝึก !

ฉันคิดว่า Mindset หรือวิธีคิด คือรากฐานที่สำคัญต่อการดำเนินชีวิต เพราะว่าวิธีคิดจะจำพาเราไปสู่การตัดสินใจและลงมือทำ ตัวอย่างเช่น สาวๆ ที่อยากประสบความสำเร็จในชีวิตในเรื่องของการทำงาน ก็จะมีวิธีคิดแบบ Growth Mindset นำไปสู่การพัฒนาตัวเองในปัจจัยต่างๆ ที่จะทำให้เกิดทักษะต่างๆ ที่เอื้อต่อการทำงาน และนั่นก็ทำให้เกิดการลงมือขวนขวายสิ่งที่ทำให้มีชีวิตงานที่ก้าวหน้า อย่างเช่น เลือกบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือ หรือเลือกที่จะอยู่ใกล้และทำงานกับคนเก่งๆ เพื่อฝึกวิทยายุทธ์ต่อไปนั่นเอง 🙂

สำหรับใครที่ได้อ่านวิธีพัฒนาตนเองที่เราเขียนถึง 5 mindsets ไปแล้วนั้นก็อาจจะคุ้นตา คุ้นหูเกี่ยวกับ Outward Mindset ว่าคืออะไรกันมาบ้างแล้ว ดังนั้นวันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักเพิ่มเติมขึ้นไปอีกว่า Outward Mindset คืออะไร แล้วทำให้ชีวิตเราดีขึ้นได้ยังไงบ้าง ส่วนใครที่ยังไม่ได้รู้จักกับภาพรวมของ Outward Mindset เราขอแนะนำให้กลับไปอ่านก่อน เพื่อจะได้เข้าใจภาพรวมต่างๆ ของ Mindset ต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้นค่ะ

Outward Mindset คือ ? ฝึกแล้วความสุขเพิ่มขึ้นจริงหรือ ?

Outward Mindset คือ วิธีการคิดที่สำคัญต่อกับทั้งตัวเอง และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นทั้งในแง่ของการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงานร่วมกับผู้อื่น เป็น mindset การทำงานที่ช่วยให้เราราบรื่นขึ้น ถ้ามีแล้วจะทำให้มีความสุข เป็นวิธีคิดที่ฝึกแล้วไม่เสียเปล่า ฝึกแล้วดีกับทุกความสัมพันธ์ และเราอยากให้ทุกคนได้รู้จัก และฝึกกันมากๆ ยิ่งเร็ว ยิ่งดี ดังนั้นในบทความนี้เราก็เลยอยากจะพาทุกคนมาทำความรู้จักให้ลึกขึ้นไปพร้อมๆ กันค่ะ แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น เราอยากให้ทุกคนรู้จักกับคำศัพท์ 2 คำ ที่จะเจอบ่อยๆ ในบทความนี้ก่อน นั่นก็คือ Inward Mindset ซึ่งเป็นคำตรงกันข้ามกับคำว่า Outward Mindset นั่นเอง เอาหล่ะค่ะ ทำหัวโล่งๆ เปิดใจ และมาเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน เพื่อความสัมพันธ์กับผู้คน และความสุขในระยะยาวของเรากันนะคะ

วิธีพาตัวเองออกจากกล่องใบเล็ก

Inward Mindset และ Outward Mindset คืออะไร ?

Inward Mindset คือ วิธีคิดหรือกรอบความคิดที่มุ่งเน้นแต่ผลลัพธ์ของ “ตัวฉัน” เอง โดยมองว่าผู้อื่นเป็นตัวนำพาให้เราไปสู่ผลลัพธ์ที่เราตั้งเป้าหมายเอาไว้ หรือเป็นอุปสรรคที่ฉุดรั้งตัวเราเอาไว้ ซึ่งนั่นก็จะทำให้เราแสดงออกด้วยวิธีคิดที่ว่า เราอยู่เหนือคนอื่น หรืออยู่ต่ำกว่าผู้อื่น ทำให้การตัดสินใจ และการลงมือทำอะไรของเรา ดูเหมือนจะไม่ราบรื่น และรู้สึกเหนื่อย รู้สึกท้อใจนั่นเอง

outward mindset คือ

Outward Mindset คือ วิธีคิดที่มุ่งเน้นผลลัพธ์ของ “ตัวเราและผู้อื่น” เป็นการให้ความสำคัญกับวัตถุประสงค์ของคนอื่นๆ ที่เราเกี่ยวข้องด้วย ให้ความสำคัญในแง่ที่ว่าเราทุกคนล้วนมี N.O.C หรือ Need Objective Challenge ในการขับเคลื่อนชีวิตตัวเองทั้งนั้น ดังนั้นเราจึงควรเปิดใจ รับฟัง เข้าใจความต้องการของผู้อื่น และหาทางร่วมมือกันเพื่อไปยังเป้าหมายหรือผลลัพธ์ที่เราตั้งใจไว้ และวิธีคิดแบบนี้หล่ะค่ะ ที่ทำให้เราเกิดไอเดีย เกิดความรู้สึกอยากจะพัฒนาตัวเองยิ่งๆ ขึ้นไป

ทีนี้ทุกคนพอจะเข้าใจคอนเซปต์ของ outward mindset ว่าสามารถดึงตัวเราขึ้นไป และพัฒนาตัวเองได้ยังไงกันแล้วหรือยังคะ ? ถ้ายังไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ ตามมาดูตัวอย่างของพฤติกรรมทั้ง 2 Mindsets เพิ่มเติมกันสักหน่อยดีกว่า 🙂

ตัวอย่างพฤติกรรม Mindset ทั้งสองแบบ

Image Credit : canva.com/pro

Inward Mindset : พฤติกรรมของวิธีคิดที่เน้นที่ตัวเองเป็นหลัก และคิดว่าคนอื่นเป็นวัตถุทำให้เกิดพฤติกรรม 2 แบบ ทั้งแบบ

  • แบบ hard หรือ แข็งกร้าว เช่น การควบคุม, การดูแล, การเข้ามาจัดการ (แบบวุ่นวาย), การวิพากษ์วิจารณ์, การดูถูกคนอื่น, การโทษผู้อื่น เป็นต้น ส่วนอีกแบบคือการแสดงออก
  • แบบ soft หรือ นุ่มนวล เช่น การรับสภาพ, การหลีกเลี่ยง, หนีออกจากเหตุการณ์หรือสภาวะนั้นๆ หรือการมีส่วนร่วมพอเป็นพิธี เป็นต้น

Outward Mindset : พฤติกรรมของวิธีคิดที่เน้นที่ตัวเราและผู้อื่น และคิดว่าผู้อื่นก็เป็นคนเหมือนๆ กันกับเรา ก็ทำให้เราแสดงพฤติกรรมในแบบ hard และแบบ soft เช่นเดียวกัน แต่การแสดงออกจะเป็นในทิศทางตรงกันข้ามกับ inward เช่น ถ้าเป็น

  • แบบ hard ก็จะมีพฤติกรรมแบบแสดงความรับผิดชอบ, ให้ feedback อย่างตรงไปตรงมา, ตักเตือนเพื่อให้ฝ่ายตรงข้ามแก้ไข, ชอบความท้าทาย, คาดหวังสูง หรือการกล้าพูดในเรื่องที่ยากๆ หรือลำบากใจ เป็นต้น
  • แบบ soft นั้น ก็จะเป็นพฤติกรรมที่เป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน, การรับฟังและพร้อมที่จะเรียนรู้, ยินดีรับ feedback และยอมรับในความผิดพลาด รวมถึงการให้คำชมอย่างจริงใจ เป็นต้น

ตัวอย่างสถานการณ์ของ Mindset ทั้ง 2 แบบ

ตัวอย่างที่ 1 : สถานการณ์การทำงานในร้านอาหารแห่งหนึ่ง

คุณเป็นพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารที่มีชื่อเสียง วันนี้เป็นวันศุกร์ที่ร้านมีลูกค้าเยอะมาก เพื่อนร่วมงานของคุณชื่อแอนเพิ่งเริ่มงาน และดูเหมือนจะกำลังมีปัญหารับมือกับลูกค้าจำนวนมาก

Inward Mindset :
คุณคิดว่า “นี่ไม่ใช่ปัญหาของฉัน ฉันทำงานที่นี่มานานกว่า ทำไมฉันต้องช่วยคนใหม่ด้วย” คุณจึงมุ่งทำงานในส่วนของตัวเองเท่านั้น แม้จะเห็นว่าแอนกำลังวุ่นวายกับการจัดการออเดอร์ คุณก็ไม่เสนอความช่วยเหลือ เมื่อลูกค้าบ่นเรื่องการบริการล่าช้า คุณรีบบอกว่าเป็นความผิดของพนักงานใหม่ คุณคิดแต่เพียงว่าจะทำอย่างไรให้ได้ทิปมากที่สุดสำหรับตัวเอง โดยไม่สนใจว่าร้านจะวุ่นวายแค่ไหน

Outward Mindset :
คุณสังเกตเห็นว่าแอนกำลังมีปัญหา คุณเข้าไปถามว่า “แอน เธอต้องการความช่วยเหลืออะไรไหม?” คุณช่วยแอนจัดการกับออเดอร์ที่ซับซ้อน และแนะนำเทคนิคในการจดจำรายการอาหารอย่างรวดเร็ว คุณช่วยรับออเดอร์จากโต๊ะอื่นๆ เพื่อแบ่งเบาภาระของแอน และคอยสังเกตว่ามีโต๊ะไหนต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม เมื่อผู้จัดการถามถึงสถานการณ์ คุณอธิบายว่าทุกคนกำลังทำงานอย่างเต็มที่และเสนอไอเดียในการปรับปรุงระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในช่วงเวลาเร่งด่วน

ในสถานการณ์นี้ Inward Mindset มุ่งเน้นที่ประโยชน์ส่วนตัวและไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อทีมหรือร้านอาหาร ในขณะที่ Outward Mindset มองเห็นภาพรวมและพยายามช่วยเหลือเพื่อให้ทั้งทีมและร้านประสบความสำเร็จร่วมกัน

อยู่แต่ใน “กล่อง” คุณจะไปเห็นอะไร (THE ANATOMY OF PEACE)

ตัวอย่างที่ 2 : สถานการณ์การทำงานในทีมการตลาดของบริษัทเครื่องสำอาง

คุณเป็นสมาชิกในทีมการตลาดของบริษัทเครื่องสำอางชั้นนำ ทีมของคุณกำลังเตรียมแคมเปญใหญ่สำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะเปิดตัวในอีกสองสัปดาห์ ทันใดนั้น หัวหน้าทีมประกาศว่าลูกค้าต้องการเปลี่ยนแปลงคอนเซ็ปต์บางส่วน ซึ่งจะต้องปรับเปลี่ยนงานที่ทำไปแล้วอย่างมาก

Inward Mindset :
คุณรู้สึกหงุดหงิดและคิดว่า “ทำไมลูกค้าถึงเปลี่ยนใจตอนนี้? ฉันทำงานหนักมาตลอดสัปดาห์” คุณบ่นกับเพื่อนร่วมงานว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ยุติธรรมและไม่จำเป็น คุณพยายามหาทางรักษางานเดิมของคุณไว้ให้มากที่สุด แม้จะไม่ตรงกับคอนเซ็ปต์ใหม่ เพราะคุณไม่อยากเสียเวลาทำงานใหม่ทั้งหมด ในที่ประชุมทีม คุณแสดงความไม่พอใจอย่างชัดเจนและพยายามโน้มน้าวให้ทีมคัดค้านการเปลี่ยนแปลง คุณคิดแต่เพียงว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะทำให้คุณต้องทำงานหนักขึ้นและอาจส่งผลต่อแผนวันหยุดของคุณ

Outward Mindset :
แม้จะรู้สึกผิดหวังแต่คุณพยายามเข้าใจเหตุผลของการเปลี่ยนแปลง คุณคิดว่า “นี่อาจเป็นโอกาสที่จะทำให้แคมเปญดียิ่งขึ้น” คุณเสนอตัวที่จะนำการประชุมระดมความคิดเพื่อปรับแผนให้เข้ากับคอนเซ็ปต์ใหม่ คุณกระตุ้นให้เพื่อนร่วมทีมมองหาวิธีที่จะใช้ประโยชน์จากงานที่ทำไปแล้วให้มากที่สุด แต่ก็เปิดใจรับไอเดียใหม่ๆ คุณอาสาที่จะทำงานล่วงเวลาเพื่อให้แน่ใจว่าทีมจะสามารถส่งมอบงานได้ทันเวลา และคุณเสนอวิธีการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

ในสถานการณ์นี้ Inward Mindset มุ่งเน้นที่ความไม่สะดวกและผลกระทบต่อตนเอง ในขณะที่ Outward Mindset มองเห็นโอกาสในการพัฒนาและมุ่งเน้นที่เป้าหมายรวมของทีมและความพึงพอใจของลูกค้า ซึ่งในระยะยาวจะส่งผลดีต่อทั้งบริษัทและตัวคุณเอง

ตัวอย่างที่ 3 : สถานการณ์การเตรียมงานฉลองวันเกิดคุณยายอายุ 80 ปี

คุณเป็นหลานคนหนึ่งในครอบครัว และครอบครัวของคุณกำลังวางแผนจัดงานฉลองวันเกิดให้คุณยายที่กำลังจะมีอายุครบ 80 ปี คุณแม่ของคุณขอให้ทุกคนในครอบครัวมีส่วนร่วมในการเตรียมงานครั้งนี้

Inward Mindset :
คุณรู้สึกหงุดหงิดทันทีที่ได้ยินเรื่องการจัดงาน คิดว่า “ทำไมต้องจัดงานใหญ่โตด้วย? นี่มันจะทำให้ฉันเสียแผนไปเที่ยวกับเพื่อนๆ แน่เลย” คุณพยายามหาข้ออ้างเพื่อไม่ต้องช่วยเตรียมงาน โดยบอกว่ามีงานที่ทำค้างอยู่เยอะ คุณเลือกที่จะรับหน้าที่ง่ายๆ เช่น ซื้อการ์ดอวยพร เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเสียเวลามาก ในวันงาน คุณมาถึงช้าและพยายามหาโอกาสกลับเร็ว โดยให้เหตุผลว่ามีนัดสำคัญ คุณไม่ได้ใส่ใจกับความรู้สึกของคุณยายหรือสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ ว่าพวกเขาต้องการให้คุณมีส่วนร่วมแค่ไหน

Outward Mindset :
คุณรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้เฉลิมฉลองช่วงเวลาสำคัญของคุณยาย คิดว่า “นี่เป็นโอกาสพิเศษที่ครอบครัวจะได้มารวมตัวกันและแสดงความรักต่อคุณยาย” คุณอาสาช่วยวางแผนงาน โดยเสนอไอเดียที่จะทำให้งานพิเศษสำหรับคุณยาย เช่น การทำวิดีโอรวมความทรงจำจากทุกคนในครอบครัว คุณติดต่อญาติที่อยู่ไกลเพื่อดูว่าพวกเขาจะสามารถมาร่วมงานได้หรือไม่ หรืออย่างน้อยก็ส่งข้อความอวยพรมาได้ คุณสละเวลาช่วยเตรียมงาน และพยายามประสานงานกับสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ เพื่อให้แน่ใจว่าทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่น ในวันงาน คุณมาถึงแต่เช้าเพื่อช่วยจัดเตรียมสถานที่ และอยู่จนงานเสร็จเพื่อช่วยทำความสะอาด

ในสถานการณ์นี้ Inward Mindset มุ่งเน้นที่ความไม่สะดวกและผลกระทบต่อแผนส่วนตัว โดยไม่คำนึงถึงความสำคัญของงานสำหรับคุณยายและครอบครัว ในขณะที่ Outward Mindset มองเห็นคุณค่าของการรวมตัวครอบครัวและความสุขของคุณยาย โดยเต็มใจที่จะทุ่มเทเวลาและความพยายามเพื่อให้งานประสบความสำเร็จและมีความหมายสำหรับทุกคน

เราจะเปลี่ยน Inward Mindset เป็น Outward Mindset ได้ยังไงบ้าง ?

Image Credit : canva.com-pro

ที่ดีที่สุดคือทั้งสองฝ่ายควรปรับเข้าหากัน แต่นั่นอาจไม่ใช่เรื่องง่ายใช่มั้ยคะ? ไม่ต้องกังวลใจไปค่ะ เราอาจจะเริ่มจากการปรับที่ตัวเราก่อนก็ได้ เพราะธรรมชาติของคนเรา คนที่เราสื่อสารด้วยมักจะสังเกตความเปลี่ยนแปลงของตัวเราได้อยู่แล้ว ดังนั้น การเริ่มปรับและเริ่มเปลี่ยนจากตัวเราจึงเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด 🙂

  1. เริ่มแกะตัวเองออกจากกล่อง และทำความเข้าใจผู้อื่นบ้าง เริ่มต้นจากการที่ฟังเค้ามากขึ้น เข้าใจความต้องการหรือจุดประสงค์ของเค้ามากขึ้น ด้วยการเริ่มฟังอย่างตั้งใจ ฟังแบบไม่เอาความคิด ทัศนคติ หรือประสบการณ์ของเรามาตัดสิน ฟังแบบ deep listening ฟังว่าเค้าคิด เค้ารู้สึกอย่างไรจริงๆ
  2. ค่อยๆ ปรับวิธีคิดจาก inward เป็น outward แรกๆ อาจจะยากหน่อย แต่จากการที่เราฝึกมาระยะหนึ่ง มันเกิดการเปลี่ยนแปลงมากจริงๆ ค่ะ อย่างน้อยก็เรื่อง “สติ” นั่นหล่ะ เมื่อเราพยายามเบรกตัวเอง สติเราก็จะค่อยๆ เกิด และนั่นทำให้เมื่อเจอสถานกาณ์อึดอัดที่อยู่ตรงหน้า เราก็จะมีสติและจัดการพฤติกรรมการแสดงออกของเราได้ดีขึ้นเช่นกัน (เราลองมาแล้ว ทุกคนทำได้จริงๆ 🙂 )
  3. รอดูผลลัพธ์และความเปลี่ยนแปลง ข้อนี้เราต้องใจแข็งๆ นิดนึง ต้องมีความกล้าและยอมรับกับสิ่งที่ตัวเองได้ทำลงไป ถ้าเมื่อก่อนเป็นคนโมโหเก่ง ก็ต้องยอมรับว่าการตอบสนองจากคนที่อยู่รอบตัวเราอาจจะประหลาดๆ ไปบ้างเมื่อเราปรับ Outward Mindset ของเราแล้ว แต่ทั้งหมดก็เป็นเรื่องดีไม่ใช่หรอคะ แค่ปรับวันละนิดละหน่อย เราก็เป็นคนใหม่ที่ดีกว่าได้แล้ว 🙂
เพราะมองออกนอก คุณถึงเห็นข้างใน (The Outward Mindset)

Inspire Now ! : Outward Mindset คือการเน้นการมองออกไปนอกตัวเอง ให้ความสำคัญกับผลกระทบที่เรามีต่อผู้อื่นและสิ่งรอบตัว เน้นการเห็นคุณค่าและความต้องการของคนอื่น ไม่ใช่แค่เป้าหมายของตัวเอง แนวคิดนี้ส่งเสริมการร่วมมือและสนับสนุนซึ่งกันและกัน แทนที่จะแข่งขันหรือเอาชนะ เมื่อเกิดปัญหา เราจะรับผิดชอบร่วมกันและหาทางแก้ไข แทนที่จะโทษผู้อื่น ทำให้เกิดบรรยากาศการทำงาน และความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นในระยะยาว สำหรับใครที่อยากจะทำความเข้าใจให้มากขึ้นอีก เราเคยทำสัมภาษณ์อาจารย์สอน Outward Mindset ไว้ ลองเข้าไปอ่านเพิ่มเติม ดูวิธีที่จะประยุกต์ Outward Mindset มาใช้กับชีวิตประจำวันกันนะคะ ส่วนใครที่อยากจะศึกษาเรื่อง Mindsets เพิ่มเติม ขอแนะนำ Arbinger ตัวตึง ตัวจริงเรื่อง Mindset และการพัฒนาศักยภาพของคน เค้าเขียนบล็อกดีๆ ไว้เยอะเลยค่ะ ลองไปตามอ่านกันดูนะคะ

DIYINSPIRENOW ทำให้ฉันเป็นคนใหม่ที่ดีกว่าจริงมั้ย ? ใครเคยฝึก Mindset โดยเฉพาะ Outward Mindset กันมาแล้วแล้ว หรืออยากเริ่มที่จะฝึก ได้ผลยังไง มาคอมเมนต์คุยกันได้เลยนะคะ ขอให้ทุกคนมีความสุขค่ะ ♡ 

Facebook Comments

คนชอบเขียนที่ไม่ค่อยอยู่นิ่ง หลงรักดอกไม้ โดยเฉพาะไฮเดรนเยีย สนใจการพัฒนาตัวเองและใจเต้นทุกครั้งเมื่อได้ออกเดินทาง