วันศิลปินแห่งชาติ, ศิลปินแห่งชาติ

วันศิลปินแห่งชาติ คืออะไร ? สำคัญยังไง ?! มารู้จักวันนี้ให้มากขึ้นกัน

ศิลปะอยู่คู่กับมนุษย์มาอย่างยาวนาน เริ่มตั้งแต่ภาพวาดบนผนังถ้ำยุคก่อนประวัติศาสตร์ มีมาก่อนเกิดอารยธรรมมนุษย์ มนุษย์เรามีวิธีการบอกเล่าเรื่องราวผ่านทางการเขียนภาพก่อนที่จะมีการคิดค้นภาษาขึ้นมาด้วยซ้ำ สำหรับผลงานศิลปะ นอกจากจะเป็นสิ่งที่แสดงความสวยงามหรือบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ผ่านทางชิ้นงานที่ได้สร้างขึ้นแล้ว ยังเป็นมรดกตกทอดของภูมิปัญญาและวัฒนธรรมอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นภาพเขียน กวี บทเพลง บทละคร การแสดง และอื่นๆ ความสำคัญของศิลปะนั้น มีอิทธิพลและสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้เช่นกัน และผู้ที่รังสรรค์ผลงานขึ้นมา ก็คือศิลปินนั่นเอง สำหรับในประเทศไทย เพื่อเป็นการยกย่องผลงานและเชิดชูเกียรติของศิลปิน จึงได้กำหนด วันศิลปินแห่งชาติ ขึ้น เรามารู้จักวันสำคัญนี้ให้มากขึ้นกันค่ะ

วันศิลปินแห่งชาติ คืออะไร สำคัญยังไง ชวนมารู้จักให้มากขึ้นกัน

วันศิลปินแห่งชาติ, ศิลปินแห่งชาติ
Image Credit : facebook.com/ThaiMCulture

วันศิลปินแห่งชาติ ถูกกำหนดให้เป็นวันที่  24 กุมภาพันธ์ของทุกปี เนื่องจากตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี ผู้ทรงเป็นพระปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยเพราะทรงมีพระปรีชาสามารถในด้านศิลปกรรมแขนงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านกวีนิพนธ์ ด้านประติมากรรม และด้านดนตรี ผลงานที่เรารู้จักกันดีก็ได้แก่ ไกรทอง สังข์ทอง พระไชยเชษฐ์ และหลวิชัยคาวี ด้วยพระปรีชาสามารถทางด้านศิลปะ ทำให้พระองค์ได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกสาขาวรรณกรรมจากองค์การ UNESCO อีกด้วย

เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 ประกาศให้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันศิลปินแห่งชาติ โดยจะมีการประกาศเกียรติคุณแก่ศิลปินที่มีผลงานดีเด่นจนได้รับการยกย่องและเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางให้เป็น “ศิลปินแห่งชาติ” ตามเกณฑ์การพิจารณาของโครงการศิลปินแห่งชาติ หากเริ่มนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 จนถึงปี พ.ศ. 2564 มีจำนวนศิลปินที่ได้รับการยกย่องทั้งสิ้น 343 ท่าน เสียชีวิตแล้ว 169 ท่าน และมีชีวิตอยู่ 174 ท่าน

[affegg id=4584]

ความสำคัญของวันศิลปินแห่งชาติ ทำไมถึงจะต้องกำหนดขึ้นมา ?

วันศิลปินแห่งชาติ, ศิลปินแห่งชาติ
Image Credit : arit.kpru.ac.th

สาเหตุที่มีการการหนดวันสำคัญวันนี้ขึ้นมาก็เพราะว่า ศิลปินที่ได้รับการยกย่องนั้น เป็นศิลปินคนสำคัญแห่งชาติ นับเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าและมีความสำคัญทางด้านศิลปะ ซึ่งได้สืบทอดและสืบสานงานศิลปะของชาติจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน เป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้และภูมิปัญญาของบรรพบุรุษในอดีต ให้มีความก้าวหน้ารุ่งเรืองต่อไปในอนาคต ทั้งยังเป็นการให้สำคัญกับศิลปิน ผู้รังสรรค์ผลงานศิลปะทั้งด้านทัศนศิลป์ ศิลปะการแสดง และวรรณศิลป์ให้แก่ประเทศชาติ ทำให้ประเทศไทยได้รับการยกย่องจากนานาชาติว่า มีวัฒนธรรมอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของชาติ จึงสมควรแก่การยกย่องเชิดชูเกียรติ สนับสนุน และให้กำลังใจศิลปินในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ อันเป็นภูมิปัญญาและเป็นมรดกตกทอดทางด้านวัฒนธรรมจากศิลปินรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง เพื่อเป็นการรักษามรดกทางวัฒนธรรมให้คงอยู่ และมีการสืบทอดต่อไป

ในวันศิลปินแห่งชาติทุกๆ ปี ทางราชการจะมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับศิลปินที่ได้รับการยกย่อง รวมถึงจัดนิทรรศการศิลปะพื้นบ้านขึ้นทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดที่มีศิลปินสังกัดอยู่ ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ จัดเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 จนถึงปัจจุบัน

หลักเกณฑ์การคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ คัดเลือกอย่างไร ?

วันศิลปินแห่งชาติ, ศิลปินแห่งชาติ
Image Credit : cuartculture.chula.ac.th

การคัดเลือกศิลปินแห่งชาตินั้น จะทำการคัดเลือกโดยกระทรวงวัฒนธรรม สำหรับหลักเกณฑ์การคัดเลือกศิลปินจะประกอบด้วย 3 หลักเกณฑ์ใหญ่ๆ ด้วยกัน ดังนี้

1. คุณสมบัติของศิลปินแห่งชาติ ซึ่งมีอยู่ 6 ประการคือ

  • เป็นผู้มีสัญชาติไทยและยังมีชีวิตอยู่ในวันตัดสิน 
  • เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานดีเด่นเป็นที่ยอมรับของวงการศิลปะแขนงนั้น
  • เป็นผู้สร้างสรรค์และพัฒนาศิลปะแขนงนั้นๆ 
  • เป็นผู้ผดุง ถ่ายทอด หรือเป็นต้นแบบศิลปะแขนงนั้น
  • เป็นผู้มีคุณธรรม และมีความรักในงานศิลปะของตน
  • เป็นผู้ที่มีผลงานที่ยังมีประโยชน์ต่อสังคมและมนุษยชาติ

2. คุณค่ามาตรฐานผลงานศิลปะของศิลปิน

ผลงานของศิลปินต้องสื่อให้เห็นถึงคุณค่าความดี ความงาม คุณค่าทางอารมณ์ สะท้อนความเป็นธรรมชาติ หรือสถานภาพทางสังคม และวัฒนธรรมแห่งยุคสมัย ค่านิยม จริยธรรม เอกลักษณ์ของท้องถิ่นและเอกลักษณ์ของชาติ เป็นผลงานที่สร้างสรรค์อย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตน ไม่ลอกเลียนแบบจากผู้อื่น หรือมีกลวิธีเชิงสร้างสรรค์ เป็นต้น

3. การเผยแพร่และยอมรับคุณค่าผลงานของศิลปินแห่งชาติ

ผู้ที่อยู่ในเกณฑ์การคัดเลือก จะต้องมีผลงานที่ได้รับการจัดแสดงหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง มีหลักฐานอ้างอิง โดยเป็นผลงานที่แสดงให้เห็นถึงแนวคิด พัฒนาการทางงานศิลปินอย่างเด่นชัด หรือมีผลงานได้รับรางวัลหรือเกียรติคุณระดับท้องถิ่น ระดับชาติ หรือระดับนานาชาติ ซึ่งมีกระบวนการพิจารณาเป็นมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ

[affegg id=4585]

การคัดเลือกศิลปิน ในวันศิลปินแห่งชาติ มีสาขาใดบ้าง

วันศิลปินแห่งชาติ, ศิลปินแห่งชาติ
Image Credit : bangkokbiznews.com

การคัดเลือกศิลปินแห่งชาติในไทย จะคัดเลือกใน 4 สาขา ดังนี้

1. สาขาทัศนศิลป์ (Visual Art)

หมายถึง ศิลปะที่มองเห็นได้ด้วยตา ทั้งสองมิติและสามมิติ ได้แก่ สาขาจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ สื่อผสม และภาพถ่าย สำหรับศิลปินแห่งชาติสาขานี้ที่รู้จักกันดีก็ได้แก่ ดร.ถวัลย์ ดัชนี (สาขาจิตรกรรม) นายยรรยง โอฬาระชิน (ภาพถ่าย) นายเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ (จิตรกรรม) รองศาสตราจารย์ เข็มรัตน์ กองสุข (ประติมากรรม) นายสมชาย แก้วทอง (ไข่ บูติก – การออกแบบแฟชั่น) นางวรรณี ชัชวาลทิพากร (ภาพถ่าย) เป็นต้น

2. สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (Architecture)

หมายถึง งานออกแบบ หรืองานออกแบบและงานก่อสร้างอาคารสวยงาม มีคุณค่าทางศิลปะ และมีวิทยาการ ซึ่งแสดงภูมิปัญญาของผู้ออกแบบอย่างโดดเด่น ประกอบด้วย สถาปัตยกรรมไทยและสถาปัตยกรรมร่วมสมัย โดยศิลปินแห่งชาติสาขานี้ ได้แก่ ดร. สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา (สถาปัตยกรรมแบบร่วมสมัย) นางสาววนิดา พึ่งสุนทร (สถาปัตยกรรมไทยแบบประเพณี) รองศาสตราจารย์ สมถวิล อุรัสยะนันทน์ (ออกแบบอุตสาหกรรม) ศาสตราจารย์เกียรติคุณ อรศิริ ปาณินท์ (สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น) เป็นต้น

3. สาขาวรรณศิลป์ (Literature)

หมายถึง บทประพันธ์ที่แต่งอย่างมีศิลปะ ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง มีองค์ประกอบที่สำคัญคือ ความรู้สึกสะเทือนใจ ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการและกลวิธีเสนอเรื่องที่น่าสนใจ ตัวอย่างศิลปินแห่งชาติสาขานี้คือ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช นางสุภา สิริสิงห์ (นามปากกา โบตั๋น) นายสุรชัย จันทิมาธร (หงา คาราวาน ผลงานเรื่องสั้น สารคดี กวีนิพนธ์) คุณหญิงวิมล ศิริไพบูรย์ (นามปากกา ทมยันตี) นายเจริญ มาลาโรจน์ (นามปากกา มาลา คำจันทร์) เป็นต้น

4. สาขาศิลปะการแสดง (Performing Art)

หมายถึง ศิลปะที่มีการแสดง ซึ่งเป็นได้ทั้งวิจิตรศิลป์ ประยุกต์ศิลป์ รวมทั้งศิลปะพื้นบ้าน การแสดงต่างๆ สามารถแบ่งแยกย่อยได้ดังนี้

  • การละคร ประกอบด้วย ละครรำ เช่น การแสดงโนรา ละครร้อง โขน ลิเก ระบำ ฟ้อน เซิ้ง หุ่นละครเล็ก หุ่นกระบอก หนังใหญ่ หนังตะลุง การเขียนบทละครรำ 
  • การดนตรี แบ่งออกเป็นดนตรีไทยและดนตรีสากล ทั้งนักดนตรี นักร้อง นักประพันธ์เพลง ผู้อำนวยเพลง ผู้ผลิตเครื่องดนตรี
  • การแสดงพื้นบ้าน ประกอบด้วย ลำตัด หมอลำ ซอ เพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงบอก เป็นต้น

สำหรับศิลปินแห่งชาติสาขานี้ที่รู้จักกันดีคือ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล (ผู้สร้างภาพยนตร์ – ผู้กำกับการแสดง) ชรินทร์ นันทนาคร (เพลงไทยสากล – ขับร้อง) นางพิศมัย วิไลศักดิ์ (ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ – นักแสดง) นายยืนยง โอภากุล (แอ๊ด คาราบาว – นักประพันธ์และนักร้องเพลงไทยสากล) นายบุญฉลอง ภักดีวิจิตร ( ผู้สร้าง-ผู้กำกับภาพยนตร์และละครโทรทัศน์) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ (โนรา) นายสลา คุณวุฒิ (ดนตรีไทยสากล – ประพันธ์เพลงไทยลูกทุ่ง) นายนพพล โกมารชุน (ภาพยนตร์และละคร) เป็นต้น

ทั้งนี้ เมื่อทำการคัดเลือกรายชื่อศิลปินแห่งชาติและได้รับการพิจารณาเห็นชอบจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว ศิลปินแห่งชาติที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจะเข้ารับพระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติ ซึ่งเข็มเชิดชูเกียรติดังกล่าวมีความหมายว่า “ความเป็นปราชญ์ในความรู้ความสามารถของศิลปินที่ได้อุตสาหะอุทิศตนสร้างสรรค์ผลงานในด้านศิลปะไว้มากมาย จนเป็นมรดกอันล้ำค่าทางวัฒนธรรมของชาติทั้งในสาขาวรรณศิลป์ ทัศนศิลป์และศิลปะการแสดง”

วันศิลปินนานาชาติ วันยกย่องศิลปินทั่วโลก

วันศิลปินแห่งชาติ, ศิลปินแห่งชาติ
Image Credit : vecteezy.com

นอกจากในประเทศไทยจะมีวันศิลปินแห่งชาติแล้ว ในระดับสากล ก็มีวันศิลปินนานาชาติ หรือ International Artist Day ด้วยเช่นกัน โดยกำหนดให้เป็นวันที่ 25 ตุลาคมของทุกปี ซึ่งวันศิลปินนานาชาติ ก่อตั้งโดย Chris MacClure ศิลปินชาวแคนาดาที่มีความเชี่ยวชาญในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะแนว Romantic Realism ทั้งยังเป็นหนึ่งในศิลปินที่สำคัญที่สุดของแคนาดาอีกด้วย โดยได้กำหนดให้มีวันศิลปินนานาชาติขึ้น ก็เพื่อให้ศิลปะเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และเพื่อเป็นเกียรติแก่ศิลปินในการรังสรรค์ผลงานที่นำมาสู่การจรรโลงใจแก่ผู้ชมอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นจิตรกร ช่างภาพ ประติมากร นักดนตรี นักเต้น นักเขียน นักแสดง ศิลปินดิจิทัล และอื่นๆ ซึ่งผลงานศิลปะ และแนวคิดของศิลปินนั้น สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงโลกและสังคมให้เป็นในทิศทางที่ดีขึ้นได้ ทั้งนี้ เราสามารถร่วมสนับสนุนศิลปินรายย่อย หรือศิลปินท้องถิ่นของตนเองได้ ด้วยการอุดหนุนผลงานของศิลปินแขนงต่างๆ เพื่อเป็นการสร้างกำลังใจและสร้างความภาคภูมิใจให้กับศิลปินในการทำผลงานต่อไป

[affegg id=4586]

Inspire Now ! : ผลงานศิลปะแขนงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพวาด งานวรรณกรรม ดนตรี และอื่นๆ เป็นสิ่งที่จรรโลงใจมนุษย์มาอย่างยาวนาน นอกจากจะเป็นผลงานที่มีคุณค่าด้านความสวยงามแล้ว ยังเป็นสิ่งที่ถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น เป็นมรดกทางวัฒธรรมที่สืบสานกันมาอย่างยาวนาน และควรค่าที่จะรักษาเอาไว้อย่างยิ่ง ทั้งยังสามารถต่อยอด พัฒนา เพื่อก่อเกิดเป็นผลงานศิลปะสมัยใหม่ที่มีความสร้างสรรค์และมีความแปลกใหม่ ไม่ว่าจะเป็นศิลปะไทย หรือศิลปะของชนชาติอื่นๆ ก็ตาม ตัวศิลปินเองนั้น ก็สมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติไม่ต่างจากสายงานอื่นๆ ที่ทำประโยชน์ให้กับสังคมได้เช่นเดียวกัน จึงได้กำหนดวันศิลปินแห่งชาติขึ้น เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของศิลปิน ผู้สร้างสรรค์ผลงานที่ยิ่งใหญ่และมีคุณค่าต่อสังคมมากมาย

DIY INSPIRE NOW คือแรงบันดาลใจของฉันไหม ? จะเป็นงานสายไหนๆ ก็มีความสำคัญ และให้คุณค่าต่อสังคมด้วยกันทั้งนั้น รวมถึงผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะแขนงต่างๆ ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นศิลปินอิสระ ศิลปินตัวเล็กหรือมีชื่อเสียง ก็สามารถสร้างผลงานที่จรรโลงใจและมีคุณค่าได้ทั้งนั้น ♡

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : arit.kpru.ac.th, culture.go.th, pptvhd36.com, nationaldaycalendar.com, art.culture.go.th

Featured Image Credit : vecteezy.com/sunan wongsa-ng

Facebook Comments

หาข้อมูล-ลงมือเขียนและเรียบเรียงโดยทีมกองบรรณาธิการเว็บไซต์ DIY INSPIRE NOW