ประวัติพระปฐมเจดีย์, พระปฐมเจดีย์ ประวัติ

ประวัติพระปฐมเจดีย์ มีที่มายังไง ? ชวนย้อนเวลา ดูประวัติ ทำความรู้จักกว่าจะเป็นองค์พระปฐมเจดีย์ที่เราเห็น !

หากพูดถึงจังหวัดนครปฐม นอกจากส้มโอนครปฐมที่ขึ้นชื่อในเรื่องของความอร่อยแล้ว หลายๆ คนจะต้องนึกถึงสถานที่สำคัญและศักดิ์สิทธิ์อย่างองค์พระปฐมเจดีย์ที่ตั้งอยู่ในวัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหารอย่างแน่นอน ตามคำขวัญของจังหวัดนครปฐมที่กล่าวว่า “ส้มโอหวาน ข้าวสารขาว ลูกสาวงาม ข้าวหลามหวานมัน สนามจันทร์งามล้น พุทธมณฑลคู่ธานี พระปฐมเจดีย์เสียดฟ้า สวยงามตาแม่น้ำท่าจีน” พระปฐมเจดีย์นั้นถือเป็นปูชนียสถานสำคัญซึ่งถูกกล่าวถึงในคำขวัญประจำจังหวัด ทั้งยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวใกล้กรุงเทพฯ ที่นิยมไปไหว้พระขอพรปีใหม่ แล้วพระปฐมเจดีย์ที่เป็นเจดีย์คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดนครปฐมนี้ มีความเป็นมาอย่างไร ? ถูกสร้างขึ้นในสมัยใด? มาดู ประวัติพระปฐมเจดีย์ ไปพร้อมๆ กันเลยค่ะ

ย้อนเวลาดู ประวัติพระปฐมเจดีย์ ความเป็นมาของมหาเจดีย์คู่บ้านคู่เมืองนครปฐม

ประวัติพระปฐมเจดีย์, พระปฐมเจดีย์ ประวัติ
Image Credit : npt.onab.go.th

องค์พระปฐมเจดีย์ เป็นปูชนียสถานสำคัญของประเทศไทย โดดเด่นเป็นสง่า ณ ใจกลางเมืองนครปฐม ตั้งอยู่ในวัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร เชื่อว่าเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุขององค์พระโคตมพุทธเจ้า มีลักษณะเจดีย์เป็นรูประฆังคว่ำ ปากใหญ่มหึมา เป็นทรงลังกาแบบสุโขทัย โครงสร้างเจดีย์เป็นไม้ซุงรัดด้วยโซ่เส้นใหญ่ยักษ์และก่ออิฐโบกปูนทับ ประดับด้วยกระเบื้อง มีวิหารอยู่ 4 ทิศด้วยกัน มีกำแพงแก้ว 2 ชั้น ทั้งนี้ องค์พระปฐมเจดีย์ได้ชื่อว่าเป็นเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย โดยมีความสูงถึง 120. 45 เมตร ซึ่งพระปฐมเจดีย์แห่งนี้ เป็นที่เคารพสักการะบูชาของบรรดาพุทธศาสนิกชนทั่วโลก ในทุกๆ ปี ทางวัดจะมีการจัดเทศกาลนมัสการพระปฐมเจดีย์ ในวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 12 ไปจนถึงแรม 5 ค่ำ เดือน 12 รวมทั้งสิ้น 9 วัน 9 คืน ให้ประชาชนได้มากราบไหว้สักการะบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล และได้ชมความงดงามขององค์พระปฐมเจดีย์กันอย่างทั่วถึง

สำหรับประวัติพระปฐมเจดีย์นั้น กล่าวกันว่า องค์พระปฐมเจดีย์ปัจจุบันนี้ สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โดยสร้างครอบเจดีย์เดิมสององค์ ได้แก่ เจดีย์ทรงสถูปสาญจีตามแบบอินเดียยุคพระเจ้าอโศกมหาราช และเจดีย์ทรงขอมโบราณ ซึ่งองค์รัชกาลที่ 4 ได้มีพระราชวินิจฉัยเกี่ยวกับที่มาขององค์เจดีย์ไว้ว่า ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ได้มีการส่งสมณทูตมาเผยแพร่ศาสนา เพื่อมาประกาศฆราวาสธรรมและหลักธรรมคำสอนที่จังหวัดนครปฐมเป็นครั้งแรกในพุทธศตวรรษที่ 3 และได้สร้างพระเจดีย์ทรงบาตรคว่ำแบบเจดีย์สาญจิในอินเดียไว้ที่นี่ด้วย อย่างไรก็ตาม องค์พระเจดีย์องค์นี้มียอดเป็นแบบปรางค์ พระองค์ ฯ จึงมีพระราชวินิจฉัยต่อว่า อาจจะมีเจ้านายพระองค์ใดมาบูรณะไว้ก็เป็นได้ ซึ่งข้อนิษฐานของพระปฐมเจดีย์ ประวัติความเป็นมาในส่วนนี้ ตรงกับข้อความในศิลาจารึกหลักที่ 2 ของพระมหาเถรศรีศรัทธา อันได้กล่าวไว้ว่า พระมหาเถรศรีศรัทธาฯ ทรงได้แวะมาบูรณะองค์พระเจดีย์องค์นี้ ก่อนที่ท่านจะเดินทางกลับเมืองราด เมื่อคราวเสด็จกลับจากการศึกษาศาสนาพุทธในประเทศศรีลังกา

ประวัติพระปฐมเจดีย์, พระปฐมเจดีย์ ประวัติ
Image Credit : cbtthailand.dasta.or.th

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลาผนวชและได้ขึ้นครองราชสมบัติในปี พ.ศ. 2396 จึงทรงโปรดให้ก่อพระเจดีย์ใหม่ห่อหุ้มองค์เดิมไว้ โดยสร้างให้มีความสูงถึง 120 เมตร กับอีก 45 เซนติเมตร พร้อมกับสร้างวิหารคต 2 ชั้นทั้ง 4 และระเบียงรอบทิศ และได้พระราชทานนามใหม่ว่า “พระปฐมเจดีย์” ซึ่งแต่เดิมนั้น พระปฐมเจดีย์มีชื่อว่า พระประธม /พระธม บ้างชาวบ้านก็เรียกว่า “พระธาตุหลวง”ตามที่ปรากฎหลักฐานในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 2 ที่จารึกในวัดศรีชุม ทั้งนี้ คำว่า “ธม” เป็นภาษาเขมร แปลว่าใหญ่ จึงเรียกกันว่าพระธมที่หมายถึงพระธาตุองค์ใหญ่โตมโหฬาร แต่อาจจะมีการเรียกเพี้ยนจากพระธม เป็น ประธม หรือ “ประทม” สืบมาจนถึงยุครัตนโกสินทร์จนกระทั่งถูกเปลี่ยนชื่อโดยรัชกาลที่ 4 ทั้งนี้ บางความเชื่อก็บอกว่า สาเหตุที่ชื่อพระประธมนั้น ก็เพราะว่าพระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาบรรทม ณ ที่แห่งนี้ ซึ่งได้มีนิราศเรื่องหนึ่งที่สุนทรภู่แต่งไว้ มีชื่อว่า “นิราศพระประธม” ซึ่งบรรยายตอนหนึ่งไว้ว่า

“ครั้นถึงพระประธมบรมธาตุ 

สูงทายาดอยู่สันโดษบนโขดเขิน

แลทมึนทึนเทิ่งดังเชิงเทิน

เป็นโขดเขินสูงเสริมเขาเพิ่มพูน”

อย่างไรก็ตาม องค์รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชศรัทธาเลื่อมใสว่า เป็นมหาเจดีย์ใหญ่กว่าพระเจดีย์ในสยามประเทศทุกๆ แห่ง ทั้งทรงเลื่อมใสว่าเป็นของเก่าที่มีมาช้านาน จึงทรงชื่อเรียกชื่อว่า “พระปฐมเจดีย์” และมีการเรียกแบบนี้มาจนถึงปัจจุบัน

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดปฏิสังขรณ์จัดสร้างหอระฆังและประดับกระเบื้องจนสำเร็จ เมื่อถึงคราวรัชสมัยรัชกาลที่ 6 ก็ได้มีการปฏิสังขรณ์พระวิหารหลวง พร้อมกับเขียนภาพพระเจดีย์องค์เดิมและภาพต่างๆ ไว้ที่ผนัง และรื้อมุขวิหารด้าทิศเหนือและสร้างใหม่ เพื่อประดิษฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ และในรัชกาลที่ 7 ก็ทรงโปรดให้สร้างอุโบสถใหม่อีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ หลังจากรัชสมัยของรัชกาลที่ 7 ก็ไม่ได้ทำการบูรณะอีก จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2509 ทางวัดพบว่าตัวองค์พระปฐมเจดีย์มีการแตกร้าวหลายแห่ง กระเบื้องที่ประดับองค์เจดีย์ก็หลุดร่วงลงมา จึงได้ทำการบูรณะใหม่อีกครั้ง และใช้เวลาในการบูรณะถึง 8 ปี เรียกได้ประวัติพระปฐมเจดีย์ มีช่วงเวลาการสร้างและบูรณะตั้งแต่รัชกาลที่ 4 มาจนถึงปัจจุบันเลยทีเดียว

นอกจากจะเป็นปูชนียสถานสำคัญของจังหวัดนครปฐมแล้ว วัดพระปฐมเจดีย์ยังเป็นที่เก็บพระบรมราชสีรรางคาร (ขี้เถ้า) ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสรีรางคารพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีในรัชกาลที่ 6 และพระสรีรางคารสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณวดี ซึ่งได้บรรจุไว้ที่ผนังเบื้องหลังพระร่วงโรจนฤทธิ์ ที่พระวิหารทิศเหนือขององค์ประปฐมเจดีย์อีกด้วย

[affegg id=4221]

เปิดตำนานการสร้างพระปฐมเจดีย์ กับเรื่องเล่าของพญากงและพญาพาน

ประวัติพระปฐมเจดีย์, พระปฐมเจดีย์ ประวัติ
Image Credit : mgronline.com

นอกจากประวัติการสร้างพระปฐมเจดีย์ในข้างต้นแล้ว ยังมีตำนานที่เล่าขานสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น โดยมีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาอย่างแพร่หลายในแถบจังหวัดนครปฐมและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณนครไชยศรี เมืองคูบัว และเมืองอู่ทอง อันมีสถานที่เชื่อมโยงกับตำนานนี้อยู่ ซึ่งเชื่อกันว่าพญาพานเป็นผู้สร้างเจดีย์แห่งนี้ขึ้นในคราแรกสุด โดยมีเรื่องเล่าดังนี้

พญากง เป็นกษัตริย์แห่งเมืองศรีวิชัย มีโอรสองค์หนึ่งชื่อ พญาพาน ที่ได้ชื่อนี้ก็เพราะขณะประสูติ พระพี่เลี้ยงได้เอาพานทองมารองรับ และขอบพานกระแทกหน้าผากจนเป็นแผลเป็นติดตัวไปตลอด ในวันคลอด โหรได้ผูกดวงทำนายพระกุมารว่าเป็นผู้มีบุญญาธิการสูง จะได้เป็นกษัตริย์ต่อไปในภายภาคหน้า แต่ทว่าจะทำความผิดร้ายแรงถึงขั้นปิตุฆาต (ฆ่าบิดาของตัวเอง) พญากงจึงสั่งให้นำพระกุมารไปฆ่าเสีย มหาดเล็กได้นำพระกุมารไปทิ้งไว้ที่ป่าไผ่ เนื่องจากไม่กล้าฆ่าพระโอรส ต่อมา ยายหอม ชาวบ้านในละแวกนั้นเป็นคนมาเจอพระโอรสจึงเก็บไปเลี้ยงดูด้วยความรักจนกระทั่งเติบใหญ่เป็นหนุ่มรูปงาม วันหนึ่งพระกุมารเดินทางท่องเที่ยวไปยังเมืองสุโขทัย พบช้างเชือกหนึ่งตกมันอาละวาด ด้วยบุญบารมีที่มีมาแต่กำเนิด พระกุมารจึงทำให้ช้างตกมันกลับเชื่องได้ ความทราบไปถึงพระเจ้ากรุงสุโขทัย จึงทรงชุบเลี้ยงพระกุมารเป็นราชบุตรบุญธรรมนับตั้งแต่นั้น

วันหนึ่งพระเจ้ากรุงสุโขทัยได้มอบหมายให้โอรสบุญธรรมนำกองทัพไปตีเมืองศรีวิชัย และพญากงเป็นผู้ออกมารับศึก จึงถูกพญาพานฆ่าตายโดยที่ไม่รู้ว่าพญากงนั้นเป็นพ่อแท้ๆ ของตัวเอง ซึ่งตามธรรมเนียมแล้ว เมื่อพญาพานเข้ายึดเมืองศรีวิชัย ทรัพย์สมบัติของพญากงก็จะตกเป็นของพญาพานทั้งหมด รวมทั้งมเหสีซึ่งเป็นแม่แท้ๆ ของพญาพานเองด้วย แต่ในขณะที่พญาพานกำลังจะเสด็จขึ้นไปตำหนักพระมเหสี เทพยดาก็แปลงกายลงมาเป็นแมวแม่ลูกอ่อนนอนขวางบันได แล้วส่งเสียงปรามลูกแมวที่กำลังอ้อนจะกินนมให้พญาพานได้ยินว่า “อย่าเอ็ดไป คอยดูลูกจะเข้าหาแม่” พญาพานแปลกใจ แต่พอก้าวขึ้นบันไดก็ได้ยินซ้ำอีก จึงตั้งจิตอธิษฐานว่า ถ้าพระมเหสีเป็นแม่แท้ๆ ของตัวเอง ก็ขอให้มีน้ำนมไหลออกมาจากทรวงอกของนาง จากนั้นก็เกิดเหตุอัศจรรย์ มีน้ำนมหลั่งออกมาจริงๆ พระมเหสีเองก็สังหรณ์ใจในแผลเป็นที่หน้าผากของพญาพาน เมื่อแม่ลูกได้คุยกันจึงรู้ความจริงทั้งหมด พญาพานโกรธที่ยายหอมปกปิดเรื่องนี้จนต้องทำบาปปิตุฆาต สังหารพระบิดาของตัวเอง จึงสั่งให้จับยายหอมไปฆ่าเสีย

ต่อมาพญาพานสำนึกบาปที่ได้ฆ่าผู้มีพระคุณไปถึง 2 คน จึงได้สร้างพระเจดีย์สูงเท่านกเขาเหินเป็นการไถ่บาปให้เบาลง ตามคำแนะนำของสมณะชีพราหมณ์ องค์หนึ่งคือพระปฐมเจดีย์ เพื่อไถ่บาปให้พระบิดา และอีกองค์หนึ่งคือพระประโทน เพื่อไถ่บาปที่ได้ฆ่ายายหอมผู้เลี้ยงดูตัวเองมาตั้งแต่เล็ก ซึ่งองค์พระปฐมเจดีย์เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ส่วนพระประโทนเป็นที่บรรจุเรือนศิลาสำหรับเก็บทะนานทองที่ตวงพระบรมสารีริกธาตุ ต่อมามีผู้ขโมยทะนานทองไป จึงเหลือแต่เรือนศิลาเท่านั้น

ประวัติพระปฐมเจดีย์, พระปฐมเจดีย์ ประวัติ
Image Credit : mgronline.com

และในสมัยกรุงศรีอยุธยา แม่น้ำเกิดเปลี่ยนทางเดิน ทำให้เมืองศรีวิชัยกลายเป็นเมืองกันดาร ขาดแคลนน้ำ ซ้ำยังมีโรคระบาดเกิดขึ้นเรื่อยๆ ต่อมาในสมัยสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิจึงโปรดฯ ให้ตั้งเมืองใหม่ขึ้นที่ตำบลท่านา ริมแม่น้ำนครไชยศรี ทางตะวันออกของเมืองศรีวิชัยเดิม ผู้คนจึงอพยพไปอยู่ที่นั่น จนศรีวิชัยกลายเป็นเมืองร้าง ทำให้พระปฐมเจดีย์และพระประโทนถูกทอดทิ้งไว้ในป่าเป็นเวลาหลายร้อยปี จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ขณะที่พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชอยู่ และได้ธุดงค์ไปพบเข้า ต่อมาเมื่อพระองค์ครองราชย์เป็นกษัตริย์ จึงได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ โปรดให้สร้างองค์เจดีย์ทรงลังกามาครอบเจดีย์เดิมซึ่งมีพุทธบัลลังก์เป็นฐาน เป็นองค์พระปฐมเจดีย์ที่เราเห็นกันในปัจจุบันนั่นเอง พร้อมกับโปรดให้ย้ายเมืองนครไชยศรีจากตำบลท่านามาอยู่บริเวณพระปฐมเจดีย์ โดยวางผังเมืองใหม่และสร้างอาคารต่างๆ ขึ้น มีการตัดถนนหลายสาย สร้างตลาด ทำให้ผู้คนอพยพเข้ามาอยู่เป็นจำนวนมาก และกลายเป็นชุมชนที่อยู่โดยรอบพระปฐมเจดีย์มาจนถึงปัจจุบัน

[affegg id=4222]

ชวนรู้จักพระโรจนฤทธิ์ หลวงพ่อที่เป็นที่เคารพบูชาของชาวนครปฐม

ประวัติพระปฐมเจดีย์, พระปฐมเจดีย์ ประวัติ
Image Credit : www.facebook.com/วัดพระปฐมเจดีย์-ราชวรมหาวิหาร

หากใครได้ไปเที่ยววัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหารแล้ว จะต้องห้ามพลาดการไปกราบนมัสการพระร่วงโรจนฤทธิ์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญในประวัติพระปฐมเจดีย์ องค์พระร่วงโรจนฤทธิ์ มีชื่อเต็มว่า พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ ธรรโมภาส มหาวชิราวุธ ราชปูชนียบพิตร ซึ่งประชาชนทั่วไปมักจะเรียกว่า “หลวงพ่อพระร่วง” หรือ “พระร่วงโรจนฤทธิ์” โดยมีประวัติความเป็นมาคือ เมื่อปี พ.ศ. 2451 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสยามมงกุฎราชกุมาร พระองค์ได้เสด็จประพาสหัวเมืองเหนือ และทรงได้ทอดพระเนตรพระพุทธรูปโบราณเป็นจำนวนมาก แต่มีพระพุทธรูปองค์หนึ่งที่จังหวัดสุโขทัย มีลักษณะงดงามเป็นที่ต้องพระราชหฤทัย แต่ชำรุดอยู่มาก เหลืออยู่แต่พระเศียร พระหัตถ์และพระบาท จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญลงมายังกรุงเทพฯ แล้วให้ช่างปั้นสถาปนาขึ้นมาบริบูรณ์เต็มพระองค์ และโปรดเกล้า ฯ ให้จัดการพระราชพิธีเททองหล่อขึ้นเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2456 ณ วัดเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร ต่อมาได้มีการอัญเชิญพระร่วงโรจนฤทธิ์มาไว้ที่จังหวัดนครปฐมเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2457

พระร่วงโรจนฤทธิ์ มีขนาดความสูงเมื่อวัดจากพระบาทถึงพระเกศ 7.42 เมตร เป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติ ศิลปะแบบสุโขทัย ประทับยืนอยู่บนฐานทองเหลืองลายบัวคว่ำบัวหงาย ห่มจีวรบางคลุมแนบติดพระวรกาย บ่ายพระพักตรสู่ทิศเหนือ ทำด้วยโลหะทองเหลืองหนัก 100 หาบ หรือประมาณ 6,000 กิโลกรัม ถ้าหากกล่าวถึงองค์พระปฐมเจดีย์ ประวัติของพระร่วงโรจนฤทธิ์ ก็ต้องถูกกล่าวถึงด้วยเช่นกัน เนื่องจากเป็นพระพุทธรูปคู่วัดที่มีพุทธศาสนิกชนมาไหว้สักการะกันอย่างไม่ขาดสาย

นอกจากประวัติพระปฐมเจดีย์และความเป็นมาของพระร่วงโรจนฤทธิ์ที่มีความน่าสนใจแล้ว ในวัดพระพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหารยังมีศาลเจ้าพ่อปราสาททอง พระพุธไสยาศน์ และพระศิลาขาวให้กราบไหว้บูชาอีกด้วย หากมาพระปฐมเจดีย์ สิ่งที่ผู้คนมักจะนิยมทำกันคือ การเดินรอบพระอารามชั้นนอกหรือชั้นในให้ครบ 3 รอบ เพื่ออธิษฐานจิตขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้สมปราถนา และเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต สำหรับใครที่ต้องการขอพรเรื่องการเรียนและการสอบติดที่ต่างๆ แนะนำให้มาขอพรกับพระศิลาขาว พระพุทธรูปโบราณที่มีอายุมากกว่าพันปี ชาวนครปฐมเชื่อกันว่าพระศิลาขาวจะให้พรแก่นักเรียนนักศึกษาที่ตั้งใจเรียน ให้ได้เรียนในสถานศึกษาที่ตั้งใจไว้

สิ่งที่ห้ามพลาด เมื่อได้มาสักการะองค์พระปฐมเจดีย์ นครปฐม

ประวัติพระปฐมเจดีย์, พระปฐมเจดีย์ ประวัติ
Image Credit : cbtthailand.dasta.or.th

ตอนนี้เราก็ได้ทราบเรื่องราวเกี่ยวกับพระปฐมเจดีย์ ประวัติความเป็นมาที่มีมาอย่างยาวนานเรียบร้อยแล้ว รู้หรือไม่ว่า นอกจากองค์พระปฐมเจดีย์และพระพุทธรูปองค์สำคัญต่างๆ แล้ว ในวัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหารยังมีสิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ ทั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์และประวัติศาสตร์อื่นๆ อีกมากมาย ถ้าไปแล้วก็จะได้ไม่เสียเที่ยว จะมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลยค่ะ

  • ศาลเจ้าพ่อปราสาททอง เป็นศาลเจ้าจีน ประดับด้วยเครื่องบูชาเพื่ออานิสงส์การถวายดอกบัวและธงชัย อยู่บริเวณด้านนอกพระระเบียงคด
  • ศาลเจ้าพ่อเสือ ที่วัดแห่งนี้ก็มีศาลเจ้าพ่อเสือด้วยเช่นกัน ตั้งอยู่ด้านนอกพระระเบียงคด บริเวณใกล้กับศาลเจ้าพ่อปราสาททอง
  • พระแม่อุมาเทวี อยู่บริเวณใกล้กับศาลเจ้าพ่อปราสาททองและเจ้าพ่อเสือ สามารถเข้าไปกราบไหว้ขอพรกันได้ 
  • ถ้ำมหาโชค เป็นที่ประดิษฐานของเจ้าแม่ตะเคียนทอง
  • พิพิธภัณฑ์วัดพระปฐมเจดีย์ มีวัตถุโบราณต่างๆ ที่เก็บรักษาและจัดแสดงไว้ ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังเป็นที่เก็บหีบศพของย่าเหลซึ่งเป็นสุนัขที่รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดปรานด้วย
  • สถูปจำลองพระปฐมเจดีย์องค์เก่า เพื่อให้ได้เห็นถึงรูปทรงของเจดีย์ในยุคก่อนๆ ก่อนที่จะมาเป็นลักษณะองค์เจดีย์ในยุคปัจจุบัน

หากได้ไปสักการะองค์พระปฐมเจดีย์และพระพุทธรูปองค์สำคัญเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อย่าลืมแวะตลาดนัดของกินตรงบริเวณวัด ซึ่งจะเปิดช่วงเย็นของทุกวัน โดยจะมีอาหารหลากหลายชนิดวางขาย ไม่ว่าจะเป็นก๋วยเตี๋ยวราดหน้าโกยซีหมี่ ก๋วยเตี๋ยวไก่ ผัดไท หอยทอด และยังมีขนมของหวานอีกหลายร้าน ทั้งบัวลอย ขนมครกชาววัง และไอศกรีมลอยฟ้าที่จัดว่าเป็นไฮไลท์ เรียกได้ว่าอิ่มทั้งบุญและอิ่มท้องกันถ้วนหน้าเลยค่ะ

[affegg id=4223]

Inspire Now ! : สำหรับการไปวัดหรือไปเที่ยวสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ – สถานที่สำคัญทางศาสนาต่างๆ หากเราได้รู้ประวัติความเป็นมาของสถานที่แห่งนั้น ก็จะทำให้เราทราบถึงที่มาที่ไปและความสำคัญของสถานที่แห่งนั้นมากขึ้น เช่นเดียวกับการทราบประวัติพระปฐมเจดีย์ ถ้าใครได้มีโอกาสได้ไปไหว้สักการะองค์พระเจดีย์ที่วัด ก็จะได้ไม่พลาดการไปนมัสการสักการะองค์พระรูปองค์สำคัญต่างๆ อันเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ความเป็นมาของวัดด้วย ซึ่งสถานที่สำคัญทางศาสนาแต่ละแห่งก็มีประวัติความเป็นมาและมีธรรมเนียมปฏิบัติในการสักการะบูชาแตกต่างกันไป หากใครต้องการจะไปทำบุญโดยเฉพาะ ก็อยาลืมเตรียมของทำบุญให้พร้อม แต่งกายให้สุภาพถูกกาลเทศะ และปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ทางวัดได้แจ้งเอาไว้ เพียงเท่านี้ก็ทำบุญได้อย่างสบายใจ และอิ่มเอมใจกันถ้วนหน้าแน่นอน

DIY INSPIRE NOW คือแรงบันดาลใจของฉันใช่ไหม ? ได้รู้ประวัติองค์พระปฐมเจดีย์แล้ว ถ้ามีโอกาสไปจังหวัดนครปฐม ก็อย่าลืมไปไหว้สักการะกันด้วยนะคะ หรือถ้าใครอยากไหว้พระขอคู่ ก็ไปตามอ่านกันได้เลย ♡

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : silpa-mag.com, museumthailand.com, npt.onab.go.th, nakhonpathom.go.th, mgronline.com

Featured Image Credit : sangha14.org

Facebook Comments

หาข้อมูล-ลงมือเขียนและเรียบเรียงโดยทีมกองบรรณาธิการเว็บไซต์ DIY INSPIRE NOW