วันสิ่งแวดล้อม, วันสิ่งแวดล้อมไทย

ชวนรู้จัก วันสิ่งแวดล้อม พาสำรวจการจัดการสิ่งแวดล้อมทั้งไทยและเทศ เพื่อตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมกัน !

ในเดือนธันวาคมนี้ มีวันสำคัญอีก 1 วันคือ “วันสิ่งแวดล้อมไทย” ซึ่งก็คือวันที่ 4 ธันวาคม โดยกำหนดขึ้นเพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีพระราชดำรัสถึงสถานการณ์สิ่งแวดล้อมของประเทศไทยและสถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลก และตรัสให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่ใช่แค่ในไทยเท่านั้น แต่เรายังต้องคำนึงถึงสถานการณ์ในระดับโลกด้วย วันสิ่งแวดล้อม มีความสำคัญยังไง ? ทำไมถึงต้องกำหนดขึ้น และเราจะจัดการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของโลกได้อย่างไร ไปดูกันเลยค่ะ

วันสิ่งแวดล้อม วันสำคัญที่คนทั่วโลกต้องตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลก

วันสิ่งแวดล้อม, วันสิ่งแวดล้อมไทย
Image Credit : freepik.com

อย่างที่กล่าวไปว่า วันสิ่งแวดล้อมไทย จะตรงกับวันที่ 4 ธันวาคมของทุกปี และถูกกำหนดขึ้นเพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีพระราชดำรัสถึงสถานการณ์สิ่งแวดล้อมของประเทศไทยและสถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลกเมื่อตอนปี พ.ศ. 2532 โดยมีใจความเกี่ยวกับสถานการณ์สิ่งแวดล้อมของประเทศไทยและของโลกมีความรุนแรงขึ้น และทรงห่วงใยต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ประชาชนชาวไทยกำลังประสบอยู่ และได้มีการตรัสเตือนพสกนิกรให้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง โดยให้ถือเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องปฏิบัติ และไม่ใช่เพื่อสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในไทยเท่านั้น แต่เพื่อสถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลกด้วย ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีในช่วงเวลานั้น จึงได้มีมติ ประกาศให้วันที่ 4 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันสิ่งแวดล้อมไทย

สำหรับวันสิ่งแวดล้อมโลก หรือ World Environment Day จะตรงกับวันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี ซึ่งถูกกำหนดโดยองค์การสหประชาชาติ และก่อตั้งขึ้นเพื่อให้เกิดความตื่นตัวในวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในทั่วโลก ทั้งเหตุการณ์หิมะขั้วโลกเหนือละลาย น้ำท่วม แผ่นดินไหว หรืออุณภูมิโลกร้อนขึ้น ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ล้วนมาจากมนุษย์ทั้งสิ้นที่เป็นผู้ทำลายธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติของโลก จึงได้มีการจัดประชุมขึ้นที่กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ระหว่างวันที่ 5 – 16 มิถุนายน  พ.ศ. 2515  โดยเรียกการประชุมนี้ว่า “การประชุมสหประชาชาติเรื่องสิ่งแวดล้อมของมนุษย์” หรือ “UN Conference on the Human Environment” เพื่อร่วมกันหาหนทางแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ประเทศต่างๆ กำลังเผชิญอยู่ โดยมีเป้าหมายดังนี้

  • สร้างความตื่นตัวในการเรียนรู้เรื่องของสิ่งแวดล้อม และให้การศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของสิ่งแวดล้อมแก่ประชาชนและนักศึกษาทั่วไป 
  • ให้การสนับสนุนทางวิชาการ และเผยแพร่เรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เพื่อกระตุ้นให้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี 
  • เสริมสร้างให้สถาบันและคนในสถาบันตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

[affegg id=4566]

สำหรับคำขวัญวันสิ่งแวดล้อมโลกในปี พ.ศ. 2565 คือ “Living Sustainably in Harmony with Nature” หรือ “วิถีชีวิตที่ยั่งยืน อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสมดุล” ซึ่งอยู่ภายในแนวคิด Only One Earth เพราะโลกมีเพียงใบเดียว และทุกชีวิตต้องอาศัยสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ พืช และสัตว์ก็ตาม และวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมทำให้โลกเกิดภัยพิบัติมากมาย จึงต้องมีการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้มีความยั่งยืน และอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างสมดุล ไม่เบียดเบียนธรรมชาติมากที่สุด เพื่อให้ประชากรโลกรุ่นต่อไปยังคงสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้

กิจกรรม วันสิ่งแวดล้อม ทำอะไรกันบ้างนะ ?

วันสิ่งแวดล้อม, วันสิ่งแวดล้อมไทย
Image Credit : freepik.com

มาดูกันว่า หลักๆ แล้ว กิจกรรมในวันสิ่งแวดล้อม เค้าทำอะไรกันบ้าง ซึ่งไม่ใช่แค่กิจกรรมที่ทำเฉพาะในวันนั้นเพียงวันเดียว แต่เป็นสิ่งที่สามารถนำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน เพื่อเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมได้ด้วย

  1. สร้างความตื่นตัวในการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องของสิ่งแวดล้อม โดยชี้ให้เห็นถึงปัญหาและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากน้ำมือมนุษย์
  2. สร้างการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด และใช้เท่าที่จำเป็น เพื่อให้มีทรัพยากรไว้ใช้ได้นานและเกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่ามากที่สุด โดยการนำกลับมาใช้ซ้ำ หรือนำไปรีไซเคิล เป็นต้น 
  3. การบูรณะซ่อมแซมสิ่งของบางอย่าง เพื่อยืดอายุการใช้งาน ลดการสร้างขยะ รวมถึงการบำบัดและการฟื้นฟูทรัพยากร เพื่อช่วยลดความเสื่อมโทรมของทรัพยกรด้วย
  4. การใช้สิ่งอื่นทดแทน เช่น การใช้ถุงผ้าแทนการใช้ถุงพลาสติก การใช้วัสดุจากธรรมชาติแทนกล่องโฟมหรือกล่องพลาสติก การใช้พลังงานแสงแดดแทนแร่เชื้อเพลิง การใช้ปุ๋ยชีวภาพแทนปุ๋ยเคมี ซึ่งสามารถทำได้ในครัวเรือนโดยการใช้ถังกำจัดเศษอาหารในบ้าน เพื่อให้กลายเป็นปุ๋ยตอไป เป็นต้น

ซึ่งเราทุกคน สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมได้ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันให้มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น ร่วมกันปลูกต้นไม้ แม้จะเป็นต้นไม้ในบ้าน ก็ยังถือว่าเป็นการช่วยเพิ่มออกซิเจนและลดคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ รวมถึงการคัดแยกขยะให้ถูกวิธี ถูกประเภท ลดการใช้พลาสติก หรือนำกลับมาใช้ซ้ำแทนการใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ใช้วัสดุที่มาจากธรรมชาติและย่อยสลายได้ในธรรมชาติ ปิดไฟดวงที่ไม่ใช้ ไม่เปิดน้ำทิ้งไว้ เป็นต้น แม้จะเป็นเพียงแค่การกระทำเล็กๆ น้อยๆ แต่ถ้าร่วมมือร่วมใจกันหลายๆ คน ในระดับชุมชน หรือในระดับประเทศ ก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับโลกได้

[affegg id=4567]

การจัดการด้านปัญหาสิ่งแวดล้อมในไทยและเทศที่น่าชื่นชม มีอะไรบ้าง ไปดูกัน !

เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ทั่วโลกทั้งไทยและต่างประเทศจึงได้มีวิธีการจัดการเกี่ยวกับในเรื่องของสิ่งแวดล้อมด้วยวิธีการต่างๆ อันจะทำให้สถานการณ์สิ่งแวดล้อมโดยรวมดีขึ้น มาดูกันว่า แต่ละประเทศ มีการจัดการในเรื่องของสิ่งแวดล้อมอย่างไรกันบ้าง

1. ประเทศไทย

วันสิ่งแวดล้อม, วันสิ่งแวดล้อมไทย
Image Credit : freepik.com
  1. โรงไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน ที่โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา ซึ่งเป็นการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจากกังหันลม และแปรสภาพมาเป็นการกักเก็บพลังงานในรูปของก๊าซไฮโดรเจน เดิมทีเรารู้ว่า กังหันลมสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ แต่มีความไม่เสถียร ดังนั้น ทาง กฟผ. จึงได้มีการต่อยอดพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมและนำมากักเก็บในรูปแบบของก๊าซไฮโดรเจน ทำให้สามารถจ่ายไฟฟ้าได้อย่างเสถียร และยังเป็นการกักเก็บพลังงานหมุนเวียน เป็นการสร้างพลังงานไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่มีการใช้สารเคมี ไม่มีการปล่อยมลพิษทางอากาศหรือทางน้ำ เพื่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมนั่นเอง
  2. กระบวนการไพโรไลซิส สำหรับการเปลี่ยนขยะเป็นเชื้อเพลิง ปัจจุบันมนุษย์เราสร้างขยะเป็นจำนวนมาก ซึ่งการเผา การฝังกลบ อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน นอกจากการนำเอาขยะไปรีไซเคิลแล้ว อีกหนึ่งวิธีการกำจัดขยะคือ กระบวนการไพโรไลซิส คือการใช้ความร้อนที่อุณหภูมิประมาณ 500 – 800 องศาเซลเซียสในสภาวะที่ไม่มีออกซิเจน เพื่อเปลี่ยนขยะชีวมวล พลาสติก และยางที่ใช้แล้วเป็นเชื้อเพลิงต่อไป โดยจะได้ออกมาเป็นถ่าน น้ำมัน และก๊าชไม่กลั่นตัว และนำไปใช้ประโยชน์ในแง่ต่างๆ กล่าวคือ ถ่าน นำเอาไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตความร้อน ไอน้ำ และไฟฟ้า สำหรับน้ำมัน สามารถนำเอาไปเป็นเชื้อเพลิงได้หลากหลาย และสำหรับก๊าชไม่กลั่นตัว จะนำกลับมาเผาไหม้เพื่อให้ความร้อนในกระบวนการอื่นๆ หรือส่งไปผลิตความร้อนและไฟฟ้าต่อไป

2. ต่างประเทศ

วันสิ่งแวดล้อม, วันสิ่งแวดล้อมไทย
Image Credit : freepik.com
  1. นโยบายเก็บภาษีขยะในสวิตเซอร์แลนด์ โดยรัฐบาลท้องถิ่นส่วนใหญ่ในสวิตเซอร์แลนด์ มีนโยบายเก็บภาษีขยะแบบต่อถุง ซึ่งกระตุ้นให้ประชาชนในประเทศหาวิธีลดปริมาณขยะที่จะทิ้งให้เหลือน้อยที่สุด โดยการคัดแยกขยะที่สามารถรีไซเคิลได้เพื่อนำกลับมาใช้อีกครั้ง และยังมีนโยบายให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่ม จะต้องรีไซเคิลขยะบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มพลาสติกคุณภาพสูงชนิด PET ไม่ต่ำกว่า 75% ปัจจุบัน มีขยะพลาสติกถูกนำไปรีไซเคิลประมาณ 8 แสนตันต่อปี โดยคิดเป็น 25% ของจำนวนขยะพลาสติกทั้งหมด ส่วนจำนวนที่เหลือ ถูกนำไปดผาเพื่อผลิตเป็นพลังงานต่อไป 
  2. ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้มีการใช้เครื่องมือสร้างม่านฟองอากาศกำจัดขยะในทางไหลของน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ถูกสร้างโดยบริษัท start up ที่ชื่อ Great Bubble Barrier ที่จะช่วยป้องกันไม่ให้ขยะไหลลงสู่ท้องทะเลด้วยการสร้างม่านฟองอากาศเพื่อดักจับขยะพลาสติกและสิ่งปฏิกูลอื่นๆ ที่ไหลผ่านเข้ามาแล้วถูกดันขึ้นสู่ผิวน้ำ โดยมีการวางท่อเป่าลมที่ก้นคลองเพื่อสร้างม่านฟองอากาศ และใช้การไหลโดยธรรมชาติของน้ำเพื่อดันขยะไปยังพื้นที่รองรับด้านข้างสำหรับเก็บขยะ และสามารถกำจัดขยะจากทางไหลของน้ำได้มากถึง 86% โดยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำและการจราจรทางน้ำ ซึ่งได้มีการใช้อุปกรณ์นี้ในเมืองอัมส์เตอร์ดัม และเมืองอื่นๆ ในเนอเธอร์แลนด์อีกมากมาย
  3. มาตรการ Climate Protection Policy Package ในประเทศเยอรมนี ที่เป็นนโยบายครอบคลุมการจัดการในเรื่องของสิ่งแวดล้อมและการใช้พลังงาน โดยการออกมาตรการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และกำหนดให้สถานประกอบการ ธุรกิจขนส่ง และเจ้าของอาคารที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต้องซื้อใบขออนุญาตจากกองทุนของรัฐ และนำเงินที่ได้ไปอุดหนุนการผลิต Renewable Energy หรือพลังงานหมุนเวียน ทําให้ราคาพลังงานหมุนเวียนถูกลง ซึ่งจะทำให้ภาคการขนส่งและการทําความร้อนหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น

[affegg id=4568]

Inspire Now ! : ทั้งวันแวดล้อมไทยและวันสิ่งแวดล้อมโลก ได้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตในโลก ทั้งมนุษย์ พืช สัตว์ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และเกิดภัยพิบัติต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ไฟป่า ภัยแล้งต่างๆ เป็นต้น และเป็นเรื่องจริงที่ว่า เราทุกคนต่างมีโลกอยู่เพียงใบเดียว เรามีบ้านของเราแค่เพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น และทุกคนก็คงอยากจะรักษาบ้านของตัวเองให้อยู่ได้ไปนานๆ การร่วมมือช่วยกันด้วยวิธีการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ตามความถนัดของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นการแยกขยะ ลดการสร้างขยะ การ reuse ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ รวมถึงการประหยัดน้ำ ประหยัดไฟ แม้แต่เรื่องง่ายๆ อย่างกินข้าวหมดจาน กินน้ำให้หมดแก้ว ก็ถือเป็นวิธีการรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรของโลกได้ทั้งสิ้น หากคนทั้งโลกร่วมมือกัน เราก็จะสามารถรักษาบ้านของเราเอาไว้ได้ค่ะ

DIY INSPIRE NOW คือแรงบันดาลใจของฉันใช่ไหม ? โลกดีขึ้นได้ด้วยสองมือเรา ไม่ใช่เรื่องเกินจริงแต่อย่างใด แค่ทุกคนช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมเล็กๆ น้อยๆ ก็นับว่าช่วยทำให้โลกของเราน่าอยู่มากขึ้นแล้วค่ะ ♡

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : onep.go.th, forest.go.th, thairath.co.th, globthailand.com, deqp.go.th, worldenvironmentday.global

Featured Image Credit : freepik.com

Facebook Comments

หาข้อมูล-ลงมือเขียนและเรียบเรียงโดยทีมกองบรรณาธิการเว็บไซต์ DIY INSPIRE NOW