สังคมผู้สูงอายุ คือ

สังคมผู้สูงอายุ คือ อะไร ? ต้องเตรียมตัวยังไง เมื่อประเทศต่างๆ ในโลกกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ?!

องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้วันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันผู้สูงอายุสากล หรือ International Day of Older Persons ซึ่งได้กำหนดเป็นครั้งแรกในวันที่ 1 ตุลาคม ปี 1991 สำหรับประเทศไทย เริ่มให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุเมื่อสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยได้มีการกำหนดนโยบายที่จะส่งเสริมให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี มีชีวิตที่มีคุณภาพ และดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข และมอบหมายให้กรมประชาสงเคราะห์จัดตั้งสถานสงเคราะห์คนชราขี้นในปี พ.ศ. 2496 เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีความทุกข์ยาก ปัจจุบัน ทั่วโลกกำลังก้าวสู่การเป็น สังคมผู้สูงอายุ คือ มีจำนวนประชากรผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ และเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรขึ้น อัตราการเกิดลดลง ในขณะที่ผู้สูงอายุมีชีวิตยืนยาวขึ้น และสัดส่วนประชากรวัยแรงงานกับผู้สูงอายุมีมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในหลายๆ ประเทศได้มีการเตรียมให้สังคมสามารถรองรับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุได้อย่างมีคุณภาพ มาดูกันว่า สถานการณ์ผู้สูงอายุในประเทศไทยเป็นอย่างไร และประเทศไทย มีการเตรียมพร้อมเพื่อก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเอาไว้อย่างไรบ้าง

ผู้สูงอายุ และ สังคมผู้สูงอายุ คือ อะไร ?

สังคมผู้สูงอายุ คือ, วันผู้สูงอายุสากล
Image Credit : Freepik

ก่อนที่จะอธิบายถึงสังคมผู้สูงอายุ เรามาเข้าใจความหมายของผู้สูงอายุกันก่อนว่า เป็นกลุ่มคนช่วงวัยใด ซึ่งความหมายของผู้สูงอายุ มีความแตกต่างกันไปในระดับสากล ในประเทศที่พัฒนาแล้วฝั่งตะวันตกได้ให้นิยามของผู้สูงอายุว่า เป็นกลุ่มคนที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป สำหรับประเทศไทย ในพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 มาตรา 3 ได้บัญญัติว่า “ผู้สูงอายุ หมายถึง บุคคลซึ่งมีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป”

นอกจากนี้ ยังมีการแบ่งการสูงอายุออกเป็นกลุ่มๆ ทั้งแบ่งด้วยเกณฑ์อายุ ประกอบด้วย ผู้สูงอายุ ซึ่งมีอายุระหว่าง 60 – 74 ปี  คนชรา มีอายุระหว่าง 75 – 90 ปี และ คนชรามาก มีอายุ 90 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ ยังมีการแบ่งกลุ่มผู้สูงอายุตามความสามารถ ได้แก่ กลุ่มที่ช่วยเหลือตัวเองได้ดี กลุ่มที่ช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง และกลุ่มที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เนื่องจากมีปัญหาสุขภาพ มีความพิการ เหตุที่มีการแบ่งกลุ่มผู้สูงอายุ ก็เพื่อการจัดสวัสดิการให้แก่ผู้สูงอายุอย่างเหมาะสมต่อความต้องการแต่ละกลุ่มนั่นเอง

สังคมผู้สูงอายุ คืออะไร ?

จากข้อมูลของ United Nations World Population Ageing กล่าวว่า สังคมผู้สูงอายุ คือ สังคมที่มีสัดส่วนของผู้สูงอายุ หรือประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่สัดส่วนของอัตราเกิด และจำนวนประชากรวัยแรงงานลดน้อยลง ซึ่งสามารถแบ่งประเภทสังคมผู้สูงอายุได้ ดังนี้

  • สังคมกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) หมายถึง สังคมนั้นมีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งถือเป็นผู้สูงอายุ อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเทศเวียดนาม 
  • สังคมผู้สูงอายุ (Aged Society) คือสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เกินกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ หรือเป็นสังคมที่มีประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เกินกว่าร้อยละ  7 ของประชากรทั้งหมด ได้แก่ ประเทศเกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา ประเทศจีน ประเทศสิงคโปร์ ประเทศไทย เป็นต้น
  • สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Completely Aged Society) หมายถึง สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเกินกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ หรือเป็นสังคมที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป เกินกว่าร้อยละ 14 ของประชากรทั้งหมด ได้แก่ ประเทศสวีเดน ประเทศเยอรมนี ประเทศอิตาลี ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นต้น
  • สังคมสูงอายุระดับสุดยอด (Super – Aged Society) หมายถึง สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เกินกว่าร้อยละ 28 ของประชากรทั้งประเทศ หรือเป็นสังคมที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป เกินกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น

ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติได้คาดการณ์ว่า ในช่วงปี 2001 – 2100 จะเป็นศตวรรษแห่งผู้สูงอายุ โลกกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สุงอายุ ซึ่งแต่ละประเทศก็จะก้าวสู่สังคมผู้สุงอายุแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมของแต่ละประเทศ เช่น ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาทางด้านการแพทย์ การโภชนาการ เป็นต้น การกำหนดวันผู้สูงอายุสากลขึ้น จะทำให้ประชาชนและรัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของผู้สูงอายุและการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เพื่อที่จะได้มีการเตรียมตัวรองรับกับสถานการณ์ผู้สูงอายุในประเทศได้อย่างมีคุณภาพ

สถานการณ์ผู้สูงอายุในประเทศไทย

สังคมผู้สูงอายุ คือ, วันผู้สูงอายุสากล
Image Credit : Freepik

ประเทศไทย ได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คือ ช่วง Aged Society เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สถิติในปี พ.ศ. 2565 พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนประชากรที่อายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็นจำนวนร้อยละ 18.3 ของจำนวนประชากรทั้งหมด  หรือมีจำนวน 12,116,199 คน ในขณะที่อัตราเกิดกลับลดลง สถานการณ์เด็กเกิดใหม่ของประเทศไทยขณะนี้ต่ำกว่า 600,000 คนต่อปี และในปี พ.ศ. 2565 มีอัตราเกิดน้อยกว่า 0.5% โดยอยู่ที่ 0.18%

ทั้งนี้ ได้มีการคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ หรือ Completely Aged Society ในปี พ.ศ. 2567 – 2568 และคาดว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุประมาณ 1 ใน 3 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ นั่นคือการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด หรือ Super – Aged Society นั่นเอง

ทำไมถึงต้องเตรียมตัวเพื่อก้าวเข้าสู่สังคมผู้สุงอายุ

  • อายุของคนไทยจะยืนยาวขึ้น ปัจจุบันคนไทยมีอายุเฉลี่ย 75 ปี แต่ในปี พ.ศ. 2568 คนไทยจะมีอายุเฉลี่ยที่ 85 ปี ซึ่งการมีอายุมากขึ้น ก็ต้องเตรียมความพร้อมเรื่องเงินมากขึ้นด้วย
  • ค่ารักษาพยาบาลจะสูงขึ้น โดยจะเพิ่มขึ้นปีละ 5 – 8% ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้กระทบต่อเงินเก็บของผู้สูงอายุมากที่สุด หากไม่มีการเตรียมพร้อมที่ดี ก็อาจจะนำมาสู่ปัญหาเรื่องการเงินได้ 
  • โครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลง มีอัตราการเกิดน้อยลง จำนวนประชากรวัยทำงานมีจำนวนลดลง ทำให้เศรษฐกิจเติบโตช้าลง ส่งผลให้มีการพัฒนาประเทศช้าลงด้วย
  • สัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยตอนนี้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นอันดับ 3 ของโลก (ข้อมูลจาก กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์)
  • เมื่ออายุมากขึ้น ก็จะมีโอกาสเกิดโรคได้มากขึ้นด้วย เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคเส้นเลือดในสมองแตก โรคอัลไซเมอร์ เป็นต้น ซึ่งถ้าไม่มีการเตรียมการในด้านนี้ ก็จะเกิดวิกฤตด้านสุขภาพของประชากรผู้สูงอายุอย่างแน่นอน 

วิธีรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ

สังคมผู้สูงอายุ คือ, วันผู้สูงอายุสากล
Image Credit : Freepik

เมื่อประเทศกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านประชากร ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสภาพทางสังคม รวมถึงตัวผู้สูงอายุหรือคนที่กำลังจะก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุเองด้วย ดังนั้น จะมีวิธีเตรียมความพร้อมอย่างไร ให้สามารถรองรับกับสถานการณ์ผู้สูงอายุที่จะเกิดขึ้นได้

  • จัดการทำแผนแผนค่ารัษาพยาบาลหลังเกษียณ เช่น จัดทำแผนสรุปสวัสดิการสุขภาพหลังเกษียณ หรือแผนสวัสดิการสุขภาพตลอดชีวิต (Long Term Health Plan) โดยการทำประกันสุขภาพที่ครอบคลุมถึงอายุไขที่ได้คาดการณ์ไว้ 
  • เร่งมูลค่าของเงินให้ชนะเงินเฟ้อ โดยการลงทุนในกองทุนรวมระยะยาว กองทุนเพื่อการเกษียณ เป็นต้น (อ่านเพิ่มเติม กองทุนรวมฉบับมือใหม่)
  • เพิ่มทักษะและการจัดหางานให้เหมาะสมกับแรงงานผู้สูงอายุ และเพิ่มความสามารถในการหารายได้หลังเกษียณ ซึ่งทำได้ทั้งการศึกษาในระบบและนอกระบบตลอดช่วงอายุ 
  • การยกระดับคุณภาพชีวิต โดยการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ รวมถึงการวางแผนรายรับรายจ่ายอย่างสมดุล หรือมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
  • สร้างการตระหนักรู้การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุให้กับประชาชนในทุกช่วงวัย เพื่อการร่วมมือกันดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวและในชุมชน รวมถึงสำหรับคนที่อยู่ในวัยทำงานเพื่อเตรียมตัวให้เข้าสู่วัยสูงอายุอย่างมีคุณภาพ หรือแม้กระทั่งตัวผู้สูงอายุเองเพื่อการเตรียมพร้อมดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรง และมีการวางแผนจัดการชีวิตเพื่อให้ดำรงชีวิตต่อไปในสังคมได้อย่างไม่ยากลำบาก

ประเทศที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สุงอายุ ที่มีสังคมผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ

สังคมผู้สูงอายุ คือ, วันผู้สูงอายุสากล
Image Credit : Freepik

1. เนเธอร์แลนด์

เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศอันดับ 1 ของโลกในการจัดการดูแลผู้สูงอายุได้ดีที่สุด ปัจจุบันอายุเกษียณของประชาชนเนเธอร์แลนด์อยู่ที่ 66 ปี 4 เดือน และจะได้เงินบำนาญ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 3 แบบคือ ระบบเงินบำนาญแห่งรัฐ ระบบบำนาญแบบส่วนร่วมหรือบำนาญจากอาชีพหรือบริษัท และระบบบำนาญส่วนบุคคล

นอกจากนี้ ยังมีสวัสดิการ Home Care Service ซึ่งประกอบไปด้วย บริการหมอประจำบ้าน พยาบาลดูแลประจำตัวตามบ้าน บริการดูแลรับผิดชอบเรื่องสุขอนามัยส่วนบุคคล บริการดูแลช่วยเหลือเรื่องงานบ้าน ซื้อของเข้าบ้าน ทำอาหาร ที่ผู้สูงอายุไม่สามารถทำเองได้ บริการพาไปโรงพยาบาล และมีบริการช่วยเหลือในแผนกจิตวิทยา ให้คำปรึกษาและดูแลปัญหาสุขภาพจิตให้กับผู้สูงอายุ

2. ญี่ปุ่น

ญึ่ปุ่นก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์มาตั้งแต่ปี 2006 ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุตลอดมา ทั้งเรื่องประกันสุขภาพ โครงการบำนาญ และการปรับปรุงสถานพยาบาลและสุขอนามัย และให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของครอบครัวในการดูแลผู้สูงอายุ โดยเฉพาะบทบาทของสมาชิกในครอบครัวในฐานะการเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ

นอกจากนี้ ยังให้ผู้คนในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนด้วยกันเอง เช่น มีอาสาสมัครในชุมชนมาช่วยดูแลผู้สูงอายุที่สถานพักพิงผู้สูงอายุหรือบ้านพักคนชราในชุมชน เป็นต้น และสำหรับผู้สูงอายุที่ยังคงมีสุขภาพแข็งแรง ก็ยังสามารถประกอบอาชีพได้ กล่าวคือ ผู้สูงอายุในวัย 60 – 69 ปีร้อยละ 70 ยังคงมีงานทำ และผู้สูงอายุวัย 70 ปีขึ้นไปร้อยละ 50 ยังคงทำงานในบริษัท หรือเป็นอาสาสมัครในโครงการสาธารณะ เป็นต้น

3. เกาหลีใต้

ประเทศเกาหลีใต้ มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุแบบ Super Aging Socirty ภายในปี พ.ศ. 2569 ซึ่งรัฐบาลเกาหลีใต้ ได้มีการออกพระราชบัญญัติส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ ในปี 2549 โดยมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมคุณภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชากรผู้สูงอายุและการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศที่ดีขึ้น ผ่านการสนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อผู้สูงอายุ โดยการวางรากฐานสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าว

นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการของประเทศเกาหลี ได้จัดตั้งสถาบันพัฒนาแรงงานผู้สูงวัยเกาหลี ในปี พ.ศ.2548 ซึ่งเป็นองค์กรกลางของรัฐในการจัดหางานให้แก่ผู้สูงอายุ เพื่อก่อให้เกิดสวัสดิการที่ดี และทางกระทรวงฯ ยังได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสุขภาพแห่งเกาหลี หรือ Korea Health Industry Development Institute (KHIDI) เป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อผู้สูงอายุ ปัจจุบัน ทางรัฐบาลให้ความสนใจทางด้านบริการต่างๆ อาทิ การรักษาพยาบาล และการพัฒนาสุขภาพของประชาชน ตลอดจนเวลาว่างในชีวิตประจำวัน ซึ่งหมายรวมถึงงานอดิเรก โดยบริการเหล่านี้ได้แก่ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ศูนย์ดูแลประชาชนที่เกษียณอายุ และศูนย์บริการด้านสุขภาพสำหรับผู้สูงวัย เป็นต้น

ความพร้อมของประเทศไทยในการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สุงอายุ

สังคมผู้สูงอายุ คือ, วันผู้สูงอายุสากล
Image Credit : Freepik

สำหรับประเทศไทย ได้มีการเตรียมพร้อมสำหรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คือมาตรการ ดังนี้

  • รัฐบาลได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์ โดยกำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับ “การพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต” โดยเฉพาะช่วงวัยสูงอายุ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเป็นพลังในการขับเคลื่อนประเทศ ส่งเสริมให้มีการทำงานหลังเกษียณ ผ่านการเสริมสร้างทักษะการดำรงชีวิต ทักษะอาชีพในการหารายได้ มีงานทำที่เหมาะสมกับศักยภาพของตัวเอง มีการสร้างเสริมสุขภาพ ฟื้นฟูสุขภาพ การป้องกันโรคให้ผู้สูงอายุ และมีหลักประกันทางสังคมที่สอดคล้องกับความจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต
  • สำหรับบุคลากรภาครัฐ ได้มีการกำหนดให้มีการขายอายุเกษียณราชการจาก 60 ปี เป็น 63 ปี โดยทยอยปรับอายุเกษียณทุก 2 ปี เพิ่มขึ้น 1 ปี และมีการระบุว่า จะต้องมีการศึกษาความเหมาะสมของตำแหน่งที่จะมีการขยายอายุเกษียณ ในขณะเดียวกันก็ต้องมีการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยบำเน็จบำนาญให้สอดคล้องกัน
  • ภาครัฐได้เริ่มจัดตั้งศูนย์บริการจัดหางานผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีงานทำและมีรายได้เพิ่ม หรือมีอาชีพอาชีพหลังเกษียณ 
  • มีการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทที่จ้างงานผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป ซึ่งต้องมีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท อย่างไรก็ตาม แรงงานผู้สูงอายุกลุ่มนี้มีเพียง 3 แสนคน หรือร้อยละ 2.9 ของผู้สูงอายุทั้งประเทศ 
  • รัฐบาลได้กำหนดแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566 – 2580) โดยมีวิสัยทัศน์คือ “ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีหลังประกันมั่นคง เป็นพลังพัฒนาสังคม” โดยการเตรียมความพร้อมของประชากรก่อนวัยสูงอายุ ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุทุกมิติอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ปฏิรูปและบูรณาการระบบบริหารเพื่อรองรับสังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ และเพิ่มศักยภาพการวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมรองรับสังคมสูงวัย

สิ่งที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของนโยบายจากทางภาครัฐบาลในการกำหนดยุทธศาสตร์ประเทศเพื่อให้เตรียมพร้อมกับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตาม การเตรียมพร้อมให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คือ จะต้องได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงประชาชนมีการเตรียมความพร้อมของตัวเองให้ก้าวเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพด้ว  ยเช่นกัน

ควรเตรียมตัวอย่างไร เพื่อที่จะได้เป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ

สังคมผู้สูงอายุ คือ, วันผู้สูงอายุสากล
Image Credit : Freepik
  • สำหรับผู้ที่อยู่ในวัยแรงงาน ให้เตรียมตัวรับมือกับการก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมด้านการเงิน หรือในเรื่องของสุขภาพ ซึ่งค่าใช้จ่ายที่สูญเสียไปมากที่สุดเมื่อเข้าสู้วัยสูงอายุคือ ค่าใช้จ่ายในเรื่องของสุขภาพและค่ารักษาพยาบาล ดังนั้น หากมีการเตรียมการเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ เช่น ซื้อประกันสุขภาพ รวมถึงดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ก็จะเป็นการป้องกันการเกิดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้ 
  • หมั่นศึกษาหาความรู้อยู่เป็นประจำ เพื่อให้มีทักษะอื่นๆ สำหรับการประกอบอาชีพในวัยเกษียณปัจจุบันแม้ผู้สูงอายุจะมีอายุ 60 ปีขึ้นไปก็ตาม แต่ก็ยังคงมีสุขภาพแข็งแรง ดูอ่อนกว่าวัย และสามารถทำงานหาเลี้ยงชีพตนเองได้ ดังนั้น หากมีการศึกษาช่องทางการสร้างรายได้อื่นๆ ก็จะช่วยให้มีสภาพคล่องทางการเงิน และยังสามารถพึ่งพาตนเองได้แม้อยู่ในวัยเกษียณแล้วก็ตาม 
  • รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และเหมาะสมกับวัยสูงอายุ และเหมาะสมกับโรคประจำตัว อาทิ ความดันโลหิต เบาหวาน งดสูบบุหรี่และงดดื่มแอลกอฮอล์ หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ และไปพบแพทย์ตามนัด รับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง เพื่อที่จะได้มีสุขภาพแข็งแรง สามารถเคลื่อนไหวช่วยเหลือตัวเองได้ และไม่เป็นภาระของสมาชิกในครอบครัว  
  • สำหรับคนในครอบครัว ให้ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับแนวทางการดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวและในชุมชน เช่น การออกแบบปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้สอดรับกับสภาพร่างกายของผู้สูงอายุซึ่งมีความเสื่อมไปตามวัย เช่น มีพื้นกันลื่นในห้องน้ำ มีราวจับตามทางเดิน เพื่อป้องกันผู้สูงอายุลื่นล้มในบ้านซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ตามมาได้ เช่น กระดูกหักจนไม่สามารถเดินได้เป็นปกติ นอกจากนี้ ควรดูแลเรื่องอาหารการกินของผู้สูงอายุ ให้มีโภชนาการที่เหมาะสมกับวัย เพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพแข็งแรงและไม่เจ็บป่วยได้ง่าย

ทั้งนี้ หากผู้สูงอายุเกิดปัญหาขึ้น เช่น ถูกทอดทิ้ง อาศัยอยู่ตัวคนเดียวแล้วไม่มีบุตรหลานคอยดูแล เจ็บป่วยไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ก่อให้เกิดความยากลำบากในการใช้ชีวิต สามารถของความช่วยเหลือจากชุมชน เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานสงเคราะห์คนชรา หน่วยงานสังคมสงเคราะห์ในเครือกรมกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เพื่อการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ และการให้บริการสวัสดิการสังคมแก่คนไร้ที่พึ่ง ซึ่งเป็นสวัสดิการจากทางภาครัฐ ในการช่วยเหลือผู้สูงอายุในสังคมต่อไปตามความเหมาะสม

Inspire Now ! : วันผู้สูงอายุสากล เกิดขึ้นเพื่อให้สังคมได้ตระหนักถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ และมีมาตรการรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ โดยร่วมมือกันดูแลผู้สูงอายุในสังคมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และไม่ผลักผู้สูงอายุออกจากการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ในหลายๆ ครอบครัว ผู้สูงอายุถือเป็นที่พึ่งทางใจ เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้กับลูกหลาน เนื่องจากผู้สูงอายุแม้จะมีอายุมากแล้วก็ตาม ก็ยังมีความรู้ความสามารถ และยังสามารถถ่ายถอดทั้งองค์ความรู้ วิชา ภูมิปัญญา และประสบการณ์ ให้กับผู้ที่อายุน้อยกว่าเพื่อนำความรู้และประสบการณ์เหล่านั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์  รวมถึงตัวผู้สูงอายุเองก็ได้ตระหนักว่า ตนยังเป็นบุคคลที่มีคุณค่าต่อสังคม และมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมให้เติบโตก้าวไปข้างหน้าได้เช่นเดียวกัน

DIY INSPIRE NOW ทำให้ฉันมีความสุขใช่ไหม ? การเตรียมตัวสำหรับการก้าวเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ ทั้งจากทางรัฐบาลและจากตัวประชาชนเอง ก็จะทำให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่มีคุณภาพได้ ♡

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : stat.bora.dopa.go.th, ocsc.go.th, dop.go.th

Featured Image Credit : freepik.com/Lifestylememory

Facebook Comments

หาข้อมูล-ลงมือเขียนและเรียบเรียงโดยทีมกองบรรณาธิการเว็บไซต์ DIY INSPIRE NOW