ควรแก้ปีชงตอนไหน, แก้ปีชง

แก้ปีชง ที่ไหน ? เมื่อไหร่ ถึงจะดี ? ชวนรู้เรื่องปีชง พร้อมคำแนะนำให้เฮงตลอดทั้งปี !

หนึ่งในธรรมเนียมที่สายมูอย่างเราต้องทำทุกครั้งเมื่อเข้าสู่ปีใหม่ในยุคสมัยนี้ นอกจากการเปลี่ยนวอลเปเปอร์ภาพมงคลในมือถือให้ดึงดูดแต่สิ่งดีๆ เข้ามาในชีวิต และเฮงๆ ปังๆ ตลอดทั้งปีแล้ว ยังต้องเช็กด้วยว่าปีนี้นักษัตรของเราเป็น “ปีชง” หรือไม่ หากชงแล้ว ควรทำอย่างไร ? ควรแก้ปีชงตอนไหน ? เพื่อความสบายใจ และให้เกิดสิริมงคลตลอดทั้งปี ในบทความนี้ DIYINSPIRENOW ได้นำเกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับปีชง พร้อมสถานที่แก้ชงแนะนำ ตามมาดูกันเลยค่ะ

ปีนี้ชงมั้ย ? แก้ปีชงยังไง ? ที่ไหน ? บทความนี้มีคำตอบ !

เมื่อพูดถึงปีชง ก็ต้องนึกถึง ไท้ส่วยเอี๊ยะ หรือ เทพไท้ส่วย (Tai Sui) เป็นเทพเจ้าผู้ดูแลดวงชะตาประจำปีตามความเชื่อของจีน โดยในแต่ละปีจะมีเทพไท้ส่วยองค์ใหม่มาประจำการ รวมทั้งหมด 60 องค์ หมุนเวียนกันไปตามวัฏจักร 60 ปี ซึ่งสอดคล้องกับระบบปฏิทินจันทรคติของจีน ซึ่งปีชงเกิดขึ้นเมื่อปีเกิดของบุคคลนั้นอยู่ในตำแหน่งที่ขัดแย้งกับตำแหน่งของเทพไท้ส่วยประจำปี โดยมีทั้งการชงตรง (ปีเกิดตรงข้ามกับเทพไท้ส่วย) และชงเฉียง (ปีเกิดทำมุมพิเศษกับเทพไท้ส่วย) ซึ่งความเชื่อนี้ระบุว่าผู้ที่อยู่ในปีชงอาจพบกับอุปสรรคหรือการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในชีวิต

ปฏิทินจีน 2568

2568 ปีนักษัตรไหน “ชง” บ้าง ?

ควรแก้ปีชงตอนไหน, แก้ปีชง
Image Credit : freepik.com

ความเชื่อในเรื่องของปีชงนั้น เป็นความเชื่อทางโหราศาสตร์ของจีน โดยคำว่า “ชง” ในภาษาจีน มีความหมายว่า การปะทะ ดังนั้น ปีชงอาจเป็นปีที่ดวงชะตามีการปะทะกันหรือมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ตามปกติแล้วในแต่ละปีจะมีราศีนักษัตรที่ “ชง” หรือเป็นปีที่มีโอกาสเกิดการปะทะหรือมีความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตมากกว่าปีนักษัตรอื่นๆ สำหรับปี 2568 ก็จะมีปีที่ชง 100%  คือ ปีกุน (ปีหมู) หรือผู้ที่เกิดในปี พ.ศ.2466, 2478, 2490, 2502, 2514, 2526, 2538, 2550, 2562 นอกจากนี้ ยังมีปีชงร่วม ได้แก่ ผู้ที่เกิดในปันักษัตร มะเส็ง (งูเล็ก) ขาล (เสือ) และวอก (ลิง) ซึ่งก็จะได้รับผลกระทบในเรื่องต่างๆ แตกต่างกันไป แต่น้อยกว่าปีชง 100% นั่นเองค่ะ

และตอนนี้ก็คงทราบกันเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า สำหรับปี 2568 นี้ เป็นชงของเราหรือเปล่า ซึ่งถ้าใครเป็นปีชงก็ไม่ต้องกังวลใจไป เพราะมีวิธีแก้ปีชงเพื่อที่จะทำให้บรรเทาเคราะห์กรรมในปีชงให้เบาบางลงได้ ซึ่งเราควรแก้ปีชงตอนไหน ? แก้ปีชงได้ที่ไหนบ้าง ? ทำอย่างไร เรามีคำตอบมาให้แล้วค่ะ

คำแนะนำสำหรับคนปีชง พร้อมตอบข้อสงสัย ควรแก้ปีชงตอนไหน ถึงจะดี ?

ควรแก้ปีชงตอนไหน, แก้ปีชง
Image Credit : freepik.com

สำหรับผู้ที่อยู่ในปีชงนั้น มีข้อห้ามบางอย่างที่เป็นความเชื่อสืบต่อกันมาก็คือ ให้ระวังในเรื่องของการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางใกล้ไกล ไม่ควรประมาท และไม่ควรไปร่วมงานศพหรืองานอวมงคลทั้งหลาย เพราะอาจได้รับพลังงานลบหรือสิ่งไม่ดีติดตัวมาด้วย แต่ด้วยความที่เราใช้ชีวิตอยู่ในปัจจุบันการหลีกเลี่ยงอาจเป็นไปได้ยาก ดังนั้นหากเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ก็ควรนำกิ่งทับทิมติดตัวไปด้วย หลังจากกลับจากงานศพแล้ว ก่อนเข้าบ้านให้นำกิ่งทับทิมไปแช่น้ำสะอาดและปัดให้ทั่วตัว นอกจากนี้ควรละเว้นการไปส่งศพ อยู่ร่วมในพิธีฝังหรือพิธีนำหีบศพลงหลุมด้วยนะคะ เพราะเชื่อว่าจะส่งผลต่อดวงชะตาของเราให้ได้รับเคราะห์ง่ายขึ้น

ส่วนคำถามที่ว่าควรแก้ปีชงตอนไหนนั้น ต้องย้อนไปที่ต้นกำเนิดความเชื่อ “ปีชง” ซึ่งก็คือความเชื่อตามหลักโหราศาสตร์จีนที่ว่า การแก้ชงหรือการไปฝากดวงกับเทพเจ้าจีนนั้น ควรเริ่มทำหลังวันส่งเจ้าขึ้นสวรรค์ หรือช่วงประมาณวันตรุษจีน เพราะถือเป็นเวลาเข้าสู่ปีใหม่ของจีนอย่างสมบูรณ์ และเป็นเวลาที่เหมาะสมกับการไปฝากดวง แก้ปีชงกับเทพเจ้า “ไท้ส่วยเอี๊ยะ” การไปทำพิธีแก้ชงตอนช่วงต้นปีก็จะดีที่สุด เพราะเป็นการช่วยปัดเป่าเคราะห์ร้ายให้กลายเป็นดี และเพื่อเป็นสิริมงคลตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งในปัจจุบันวัดจีนหลายแห่งก็ได้มีการจำหน่ายชุดไหว้เจ้าแก้ชงกันตั้งแต่เดือนมกราคม ทั้งนี้ก็เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ต้องการไปแก้ชงแต่ไม่สะดวกไปช่วงก่อนตรุษจีนนั่นเองค่ะ

แต่ว่าบ้างก็เชื่อว่า การแก้ชงก็ไม่ได้เป็นการขจัดโชคร้ายทั้งหมด แต่เป็นการแสดงความเคารพต่อเทพเจ้าและเตรียมใจรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งความเชื่อเรื่องไท้ส่วยเอี๊ยะและปีชงนี้ยังคงมีอิทธิพลในสังคมจีนและประเทศที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมจีนจวบจนปัจจุบัน

วิธีแก้ชง ให้สบายใจ ปลอดภัยตลอดทั้งปี

ควรแก้ปีชงตอนไหน, แก้ปีชง
Image Credit : freepik.com
  1. ไหว้เทพเจ้าไท้ส่วยเอี้ย ขอพรให้ช่วยคุ้มครองดวงชะตา บรรเทาเคราะห์กรรม หรือที่เรียกว่าการฝากดวงกับเทพเจ้านั่นเอง แนะนำว่าคนปีชงควรจะต้องไปไหว้อย่างยิ่ง เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์และเสริมศิริมงคลให้กับตัวเอง สามารถไปไหว้ได้ที่วัดจีน โดยแต่ละแห่งจะมีชุดไหว้แก้ชงจำหน่ายพร้อมมีการแนะนำวิธีไหว้อยู่แล้ว ไม่ต้องกลัวว่าเป็นมือใหม่แล้วจะไหว้ไม่เป็นนะคะ
  2. ทำบุญไถ่ชีวิตสัตว์ใหญ่ เช่น โค กระบือ หรือจะใช้วิธีปล่อยนกปล่อยปลาในแหล่งที่เหมาะสมก็ได้
  3. ทำบุญ ทำทาน ช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ บริจาคโลหิต หรือทำบุญบริจาคโลงศพ บริจาคผ้าห่อศพ
  4. เตรียมของทำบุญไหว้พระ 9 วัด ถวายผ้าไตร ถวายหลอดไฟ เติมน้ำมันตะเกียง นั่งสมาธิ สวดมนต์ ปฏิบัติธรรม และหมั่นสำรวมกาย วาจา ใจ ให้พูดดีคิดดีทำดีในทุกวัน

ไปแก้ชงที่ไหนดี ?

1. วัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่)

ควรแก้ปีชงตอนไหน, แก้ปีชง
Image Credit : FB/Wat.Mangkonkamalawat.Temple

พิกัดวัดสำหรับแก้ชงแห่งแรกที่เราขอแนะนำก็คือวัดมังกรที่หลายคนคุ้นเคยกันดี วัดมังกรกมลาวาสหรือวัดเล่งเน่ยยี่เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย ออกแบบวางแปลนตามแบบวัดหลวง ภายในอุโบสถประดิษฐานพระโคตมพุทธเจ้า พระอมิตาภพุทธะ และพระไภษัชยคุรุพุทธะ อีกทั้งยังเป็นที่ประดิษฐานเทพเจ้าอีกหลายองค์ ทั้งเทพเจ้าคุ้มครองดวงชะตา ไท้ส่วยเอี๊ยะ เทพเจ้าแห่งยาหั่วท้อเซียงซือกง และเทพเจ้าแห่งโชคลาภไฉ่ซิ้งเอี๊ยะ เป็นวัดที่คนนิยมเดินทางมาแก้ชงเป็นอย่างมาก

เวลาเปิด – ปิด : ทุกวัน เวลา 08.00 – 16.00 น.

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : FB/Wat.Mangkonkamalawat.Temple

แผนที่ :

2. วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์

ควรแก้ปีชงตอนไหน, แก้ปีชง
Image Credit : FB/Wat.Boromracha.Temple

วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ หรือ วัดเล่งเน่ยยี่ 2 เป็นอีกหนึ่งสถานที่สำหรับไหว้แก้ชง เดิมทีเคยเป็นโรงเจขนาดเล็กที่ชาวบ้านบางบัวทองให้ความศรัทธามาช้านาน ต่อมาคณะสงฆ์จีนนิกายมีปณิธานจะพัฒนาที่ส่วนนี้ให้เป็นวัดที่สมบูรณ์ เพื่อตั้งเป็นพุทธสถานให้พุทธศาสนิกชนได้ปฏิบัติธรรมและประกอบพิธีกรรมต่างๆ รวมถึงสามารถมาไหว้แก้ชงได้ด้วย ในทุกเทศกาลที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อตามวัฒนธรรมของชาวไทยเชื้อสายจีน เช่น ตรุษจีน เทศกาลถือศีลกินเจ วัดแห่งนี้ก้จะมีผู้คนมาร่วมทำบุญตามประเพณีความเชื่อเป็นจำนวนมาก

เวลาเปิด – ปิด : จันทร์ – อาทิตย์ (หยุดวันหยุดนักขัตฤกษ์) เวลา 08.00 – 17.00 น.

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : FB/Wat.Boromracha.Temple

แผนที่ :

3. ศาลเจ้าพ่อเสือ (เสาชิงช้า)

ควรแก้ปีชงตอนไหน, แก้ปีชง
Image Credit : FB/bkktigershrine

ศาลเจ้าพ่อเสือ เป็นอีกหนึ่งสถานที่ขึ้นชื่อสำหรับการมาไหว้แก้ชง ศาลเจ้าพ่อเสือ เป็นศาลจีนเก่าแก่อยู่บริเวณเสาชิงช้า ผู้คนนิยมเดินทางมาทำพิธีแก้ชงและกราบไหว้เทพเจ้าประจำศาล ซึ่งก็คือ เสียนเทียนซั่งตี้หรือเจ้าพ่อเสื้อนั่นเอง เพื่อเป็นการเสริมอำนาจบารมี บรรเทาปีชงให้หนักกลายเป็นเบา ซึ่งของที่ต้องเตรียมไหว้ก็คือ ธูป 18 ดอก เทียนแดงคู่ พวงมาลัย 1 พวง และเครื่องเซ่นไหว้คือ เช่น ไข่สด หมูสามชั้น และข้าวเหนียวหวาน ซึ่งสามารถเตรียมมาสักการะได้เลยค่ะ

เวลาเปิด – ปิด : จันทร์ – จันทร์ – อาทิตย์ เวลา 06.00 – 17.00 น.

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : FB/bkktigershrine

แผนที่ : 

4. วัดทิพยวารีวิหาร (วัดกัมโล่วยี่)

ควรแก้ปีชงตอนไหน, แก้ปีชง
Image Credit : FB/วัดทิพยวารีวิหาร-กัมโล่วยี่ / 敕賜甘露禪寺

อีกหนึ่งวัดจีนสังกัดคณะสงฆ์จีนนิกาย แต่เดิมมีชื่อว่าวัดกัมโล่วยี่ที่แปลว่าวัดน้ำทิพย์เพราะภายในวัดมีบ่อน้ำมนต์ที่เป็นตาน้ำอยู่คู่วัดมาตั้งแต่โบราณ เป็นวัดที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเทพเจ้าหลายองค์ ทั้ง หมออูโต๋ว เทพแห่งความรัก เทพขุนพลเอี่ยยิ่ม เทพ 3 ตา และพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่นิยมมาไหว้แก้ชงอีกเช่นเดียวกัน

เวลาเปิด – ปิด : จันทร์ – อาทิตย์ เวลา 06.00 – 17.00 น.

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : FB/WatDibayaVariVihara

แผนที่ :

5. วัดโพธิ์แมนคุณาราม (วัดโพวมิ้งปออึงยี่)

ควรแก้ปีชงตอนไหน, แก้ปีชง
Image Credit : FB/bhomantemple

สุดท้ายคือวัดพุทธนิกายมหายานที่สืบทอดหลักคำสอนจากนิกายเซน สร้างขึ้นตามหลักฮวงจุ้ยแบบม้าลากรถ มีซุ้มประตู 5 ประตูเปรียบดั่งม้า 5 ตัว ภายในอุโบสถประดิษฐานพระศรีศากยมุนีพุทธเจ้าเป็นประธาน ออกแบบและก่อสร้างตามศิลปะไทย จีน ทิเบต อีกทั้งยังเป็นที่เก็บรักษาพระคัมภีร์ของวัชรยานของนิกายมนตรายานอันล้ำค่า เนื่องจากวัดแห่งนี้เป็นที่เดียวในโลกเท่านั้นที่มีคัมภีร์สมบูรณ์ที่สุดค่ะ

เวลาเปิด – ปิด : จันทร์ – อาทิตย์ เวลา 07.00-19.00 น.

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : FB/bhomantemple

แผนที่ :

Inspire Now ! : รู้กันไปแล้วว่าควรแก้ปีชงตอนไหน ก็อย่าลืมเลือกเวลาให้เหมาะสมสำหรับการไปไหว้เทพเจ้า ฝากดวงแก้ชงกันนะคะ ส่วนการไปไหว้เทพเจ้าเพื่อขอพร เสริมดวงชะตาชีวิต เพื่อความสบายใจและรับพลังงานดีๆ นั้น เราสามารถเดินทางไปไหว้ได้ตลอดทั้งปี นอกจากนี้ ยังสามารถไปไหว้เทพแห่งโชภลาภ เพื่อขอพรให้ชีวิตเฮงๆ ปังๆ มั่งคั่งรุ่งเรืองทั้งปีได้อีกด้วยนะคะ

DIYINSPIRENOW คือแรงบันดาลใจของฉันใช่ไหม ? ถ้าปีนี้เป็นปีชงของใครบ้าง ไปไหว้ขอพร แก้ชงกันที่ไหนบ้าง มาแบ่งปันประสบการณ์กับเรากันบ้างนะคะ ♡

Facebook Comments

หาข้อมูล-ลงมือเขียนและเรียบเรียงโดยทีมกองบรรณาธิการเว็บไซต์ DIY INSPIRE NOW