อาการนิ้วชา, ท่าบริหารมือชา

อาการนิ้วชาบอกอะไรบ้าง ? รู้จักให้ดีพร้อมวิธีดูแลตัวเอง !

อาการชา หมายถึง การสูญเสียความรู้สึกบางส่วนหรือทั้งหมด อาจเป็นอาการของระบบประสาททำงานผิดปกติ ผู้ที่มีอาการชาอาจไม่รู้สึกในบริเวณนั้นเมื่อเกิดสัมผัสเบาๆ ไม่รู้สึกถึงความเจ็บปวด อุณหภูมิ หรือการสั่นสะเทือน ทำให้มีปัญหาในเรื่องของการใช้งานและประสานงานต่างๆ ของร่างกาย เพราะฉะนั้นวันนี้เราจะมาพาทุกคนไปรู้จักกับ อาการนิ้วชา ว่าเป็นสัญญาณบอกอะไรกับร่างกายได้บ้าง เพราะเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้บ่อยพอๆ กับอาการตาล้า โดยเฉพาะในคนที่ต้องนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆด้วยท่าทางเดิมๆ เรามารู้จักอาการนี้ให้ดีขึ้น พร้อมวิธีดูแลตัวเองและท่าบริหารมือชาที่เราจะเอามาแนะนำกันค่ะ

อาการนิ้วชา สัญญาณบอกโรค รู้ก่อน ดูแลตัวเองก่อน

อาการนิ้วชา, ท่าบริหารมือชา

อาการนิ้วชา หรือชาที่มือ มักเกิดจากสภาวะที่ส่งผลต่อเส้นประสาทหรือหลอดเลือด และเกี่ยวข้องกับการรู้สึกเสียวซ่า หรือรู้สึกเหมือนมีเข็มแหลมๆ ทิ่มตลอดเวลา อาการเหล่านี้เรียกว่า อาการชาของนิ้วมือ จะแตกต่างจากอาการนิ้วล็อก เพราะนิ้วล็อกเกิดจากความผิดปกติของมือที่ไม่สามารถเหยียดหรืองอได้อย่างปกติ ส่วนสาเหตุของนิ้วชานั้นอาจมาจากหลายๆ อย่าง ทั้งเกิดจากความผิดปกติของระบบประสาท หรือเกิดจากภาวะโรคต่างๆ ที่เป็นอยู่ เช่น เบาหวาน ไมเกรน โรคหลอดเลือดสมอง รวมถึงยังเกิดจากการนั่งหรือยืนในท่าเดิมเป็นเวลานานๆ และเกิดจากร่างกายขาดวิตามินบางชนิดก็ได้เช่นกัน ซึ่งหากเกิดขึ้นบ่อยครั้งและรู้สึกชาเลยข้อมือขึ้นไปจนถึงข้อศอก อาจเป็นสัญญาณอันตรายได้ และอาการนิ้วชาแบบไหนบอกอะไรเราได้บ้าง ? มารู้จัก 5 โรคที่เกี่ยวข้องกับอาการชาที่ปลายนิ้วกันค่ะ

  1. โรคปลายเส้นประสาทอักเสบ

อาการนิ้วชาที่พบนั้นอาจมาจากโรคระบบประสาทส่วนปลาย ที่เป็นความเสียหายต่อเส้นประสาทของแขนขาซึ่งมักส่งผลให้เกิดอาการชาหรือรู้สึกเสียวซ่า และอาจไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อส่วนนั้นได้

  1. โรคเบาหวาน

หากคุณเป็นโรคเบาหวาน น้ำตาลในเลือดสูงสามารถทำลายเส้นประสาทของคุณได้ และเมื่อเวลาผ่านไปก็จะเกิดอาการที่เรียกว่าเส้นประสาทส่วนปลาย และทำให้มีอาการชาที่ปลายนิ้ว นิ้วมือ หรือนิ้วเท้า โดยปกติจะมีอาการชาที่เท้าก่อน

  1. โรคเรย์นอด

โรค Raynaud ทำให้หลอดเลือดแดงเล็กๆ ในนิ้วมือของเรากระตุกหรือเปิดและปิดเร็วมาก จึงอาจทำให้เกิดอาการนิ้วชาและส่งผลต่อการไหลเวียนเลือด ทำให้เลือดไปเลี้ยงปลายนิ้วไม่ได้นั่นเอง

  1. ข้ออักเสบรูมาตอยด์

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นโรคภูมิต้านตนเองที่ทำให้เกิดอาการบวมและปวดในข้อต่อ ภาวะนี้ยังสามารถนำไปสู่การรู้สึกเสียวซ่า ชา และการเผาไหม้ในมือได้อีกด้วย

  1. โรคพังผืดทับเส้นประสาทที่ข้อมือ

เป็นโรคในกลุ่มที่มีการกดทับของเส้นประสาทที่บริเวณข้อมือ ส่งผลให้มีอาการปวดและชาตามนิ้วมือได้ เนื่องจากเส้นประสาทถูกกดทับอยู่นั่นเอง รวมถึงเส้นประสาทที่บาดเจ็บก็อาจทำให้นิ้วชาได้เช่นกัน

นอกจากนี้การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเป็นเวลานานสามารถนำไปสู่ความเสียหายของเส้นประสาทชนิดหนึ่งที่เรียกว่าโรคโพลีนิวโรแพดจากแอลกอฮอล์ จะทำให้เกิดอาการชาที่นิ้วได้ หากเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็จะสามารถหยุดความเสียหายของเส้นประสาทไม่ให้แย่ลงได้ ในขณะที่อาการชาที่นิ้วจากโรคดังกล่าวข้างต้นนั้น การรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุของเส้นประสาทที่ถูกกดทับและความรุนแรงของโรค ในบางกรณีแพทย์อาจต้องทำการผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมเส้นประสาท แต่หากต้องการดูแลและป้องกัน เรามีท่าบริหารมือชามาฝากกันค่ะ

3 ท่าบริหาร อาการนิ้วชา ทำง่ายๆ ช่วยบริหารนิ้วและมือ

อาการนิ้วชา, ท่าบริหารมือชา

การออกกำลังกายด้วยมือและนิ้วนั้นสามารถช่วยให้มือและนิ้วแข็งแรง เพิ่มระยะการเคลื่อนไหว และบรรเทาอาการปวดได้ เรามาเริ่มต้นด้วยการยืดเส้นยืดสายง่ายๆ ดังต่อไปนี้

  • ท่าที่ 1

อาการ นิ้วชา, ท่าบริหารมือชา

Image Credit : webmd.com

  1. กำมือเบาๆ วางนิ้วโป้งไว้ด้านบน
  2. กดค้างไว้ 30-60 วินาที จากนั้นปล่อยและกางนิ้วให้กว้าง
  3. ทำซ้ำด้วยมือทั้งสองข้างอย่างน้อย 4-5 ครั้ง
  • ท่าที่ 2

อาการ นิ้วชา, ท่าบริหารมือชา

Image Credit : webmd.com

  1. วางมือราบลงบนโต๊ะหรือพื้นผิวอื่นๆ
  2. ค่อยๆ ยกนิ้วขึ้นทีละนิ้วจากโต๊ะแล้ววางลง
  3. ยกนิ้วไล่ไปจนครบทั้ง 5 นิ้ว
  4. ทำซ้ำ 8-12 ครั้ง ทั้งสองข้าง
  • ท่าที่ 3

อาการ นิ้วชา, ท่าบริหารมือชา

Image Credit : webmd.com

  1. กางมือขึ้นที่ด้านหน้าของเรา
  2. งอนิ้วโป้งพาดลงบนฝ่ามือเพื่อให้แตะโคนนิ้วก้อย
  3. กดค้างไว้ 30-60 วินาที
  4. ทำซ้ำอย่างน้อย 4-5 ครั้ง ทั้งสองข้าง

Inspire Now ! : เราสามารถป้องกันอาการชาที่นิ้วได้ด้วยการหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บจากการเคลื่อนไหวซ้ำๆ เพราะอาจทำให้ระคายเคืองหรือทำลายเส้นประสาทและทำให้ชาได้ ดังนี้

  1. ฝึกท่าทางและการวางมือที่ดีเมื่อใช้แป้นพิมพ์ หรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่อาจส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บจากการเคลื่อนไหวซ้ำๆ
  2. หยุดพักจากกิจกรรมที่ทำทุกๆ 30-60 นาที
  3. ใช้อุปกรณ์ตามหลักสรีรศาสตร์เพื่อสนับสนุนการทำงานของมือ เช่น สายรัดข้อมือ หรือที่พักข้อมือสำหรับแป้นพิมพ์
  4. การยืดกล้ามเนื้อที่แนะนำไปด้านบน เพื่อลดความตึงเครียดของปลายประสาท

ทั้งนี้ อาการนิ้วชาหากรู้สึกว่าไม่เป็นอันตรายและหายไปเองได้ ก็สามารถบริหารมือและนิ้วเพื่อป้องกันได้ และหากมีอาการร่วมกับปวดหลัง แนะนำให้ทำท่าโยคะแก้ปวดหลังไหล่ รวมถึงการกินอาหารเสริม ได้แก่ วิตามินอี บี1 โฟเลต และวิตามินบี12 ก็จะช่วยบำรุงปลายประสาทได้อีกด้วยค่ะ

DIY INSPIRE NOW ทำให้ฉันได้ไอเดียสุขภาพใช่ไหม ? ใครที่มีปัญหามือชา นิ้วชา อย่าลืมเอาท่าบริหารเหล่านี้ไปฝึกทำกันนะคะ ♡

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : webmd.com, petcharavejhospital.com, webmd.com, healthline.com

Facebook Comments

หาข้อมูล-ลงมือเขียนและเรียบเรียงโดยทีมกองบรรณาธิการเว็บไซต์ DIY INSPIRE NOW