เมื่อถึงช่วงวัยหนึ่งของผู้หญิงที่ประจำเดือนหมด มักจะมีอาการบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งทางร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ หรือที่เราเรียกว่าว่า อาการวัยทองผู้หญิง ซึ่งวัยหมดประจำเดือนนั้นเป็นจุดสิ้นสุดของรอบเดือนและภาวะเจริญพันธุ์ของผู้หญิง เกิดขึ้นจากการที่รังไข่ไม่สร้างเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนอีกต่อไป และฮอร์โมนเพศสองชนิดนี้จำเป็นสำหรับภาวะเจริญพันธุ์ของสตรี ทำให้ประจำเดือนหยุดลงหรือหมดไปเป็นเวลา 1 ปี ก็จะเรียกว่าเข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือน แต่ต้องหมั่นสังเกตด้วยว่าอาการประจำเดือนหมดนั้นไม่ใช่เพราะการใช้ยาเลื่อนประจำเดือนผลข้างเคียงที่ทำให้ประเดือนขาด แต่หากมั่นใจแล้วว่าประจำเดือนหมดไปเป็นเวลา 1 ปีแล้วนั้น เพื่อการรับมืออาการวัยทองก่อนวัย รวมถึงการดูแลตัวเองเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน เรามาเช็คลิสต์กันก่อนค่ะว่า อาการวัยหมดประจำเดือน นั้นมีอะไรบ้าง
อาการวัยหมดประจำเดือนที่สาวๆ ควรรู้ มีอะไรบ้าง อาการเป็นยังไง พร้อมวิธีดูแลตนเอง
วัยหมดประจำเดือนเกิดขึ้นเมื่อผู้หญิงไม่มีประจำเดือนเป็นเวลา 12 เดือนติดต่อกันและไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ตามธรรมชาติอีกต่อไป โดยแนะนำให้ใช้แอพเช็คประจำเดือน เพื่อสังเกตว่าประจำเดือนเราไม่มีมานานแค่ไหนแล้ว โดยปกติจะเริ่มระหว่างอายุ 45 ถึง 55 ปี แต่สามารถพัฒนาได้ก่อนหรือหลังช่วงอายุนี้ ที่เรียกว่าอาการวัยทองก่อนวัย ผู้หญิงหลายคนจะประสบกับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและอารมณ์ที่ส่งผลต่อชีวิตประจำวันในช่วงวัยหมดประจำเดือนซึ่ง อาการวัยหมดประจำเดือน นั้นก็มีหลายอาการด้วยกัน เรามาเช็คกันดีกว่าว่าคุณสาวๆ กำลังเข้าข่ายอาการวัยทองกันหรือไม่ค่ะ
-
มีอาการร้อนวูบวาบและเหงื่อออกตอนกลางคืน
หนึ่งในอาการวัยทองผู้หญิงที่พบได้บ่อยที่สุดคือ มีอาการร้อนวูบวาบโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งผิวอาจจะแดงขึ้น และหัวใจเต้นเร็ว รวมถึงรู้สึกหนาว มีเหงื่อออกตอนกลางคืนและรู้สึกวูบวาบระหว่างการนอนหลับ และอาจรุนแรงจนปลุกให้ตื่นกลางดึก อาการเหล่านี้อาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน สามารถอยู่ได้นาน 1 นาที หรือ 5 นาที และอาจเกิดขึ้นในเวลาหลายชั่วโมง สัปดาห์ละครั้ง หรือไม่มีอาการเลยก็ได้เช่นกัน
-
มีปัญหาในการนอน
การตื่นกลางดึกหรือมีปัญหาในการนอนหลับอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่หากปกติแล้วคุณไม่มีปัญหาในการนอน อาจเป็นสัญญาณว่านี่คืออาการวัยหมดประจำเดือนของคุณ แต่หากปัญหาการนอนหลับยังคงอยู่ชั่วขณะหนึ่ง และไม่สามารถระบุสาเหตุได้ อาจต้องทำการเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุอื่นๆ ต่อไป
-
อารมณ์เสียบ่อย
แม้ว่าปกติทั่วไปจะมีเรื่องให้เราหัวเสียและอารมณ์เสียได้ตลอดเวลาก็ตาม แต่การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่เกิดขึ้นในช่วงวัยหมดประจำเดือน ก็คือหนึ่งในอาการวัยทองผู้หญิง คุณจะรู้สึกหงุดหงิดตลอดเวลาแม้กับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่คุณเคยมองข้ามหรือไม่ใส่ใจ แต่เมื่อฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงอารมณ์ก็เปลี่ยนตาม แต่ต้องแยกให้ออกระหว่างอาการหงุดหงิดที่เกิดขึ้นในช่วง PMS ในคนที่ยังมีประจำเดือนอยู่ ซึ่งบางคนอาจมีอาการปวดท้องร่วมด้วย แนะนำยาแก้ปวดประจำเดือนช่วยบรรเทาอาการ เพื่อลดความหงุดหงิดจากอาการปวดท้องได้ ส่วนคนที่หงุดหงิดเพราะหมดประจำเดือนนั่นหมายถึง ประจำเดือนของคุณจะต้องขาดหายไปนานราว 12 เดือนด้วย และหากคุณเคยมีความวิตกกังวลหรือซึมเศร้ามาก่อน อาการของคุณอาจแย่ลงในช่วงวัยหมดประจำเดือนด้วยค่ะ
-
หลงลืมบ่อย
ทั้งชายและหญิงอาจมีความจำเสื่อมเล็กน้อยในช่วงวัยกลางคน เช่น ทำกุญแจรถหาย ลืมโทรศัพท์มือถือ ซึ่งปกติก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร การหลงลืมไม่เพียงแต่เป็นอาการของคนวัยทองเท่านั้น แต่อาจเกิดจากความเครียดได้ด้วย แต่หากว่าคุณมีอาการหลงลืมสิ่งต่างๆ มากกว่าปกติ นี่อาจเป็นสาเหตุของวัยหมดประจำเดือน
-
มีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ
คุณอาจสังเกตเห็นว่าผมและผิวหนังของคุณแห้งและบางลง ผู้หญิงหลายคนมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นระหว่างช่วงวัยหมดประจำเดือนและหลังวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากระบบเผาผลาญทำงานช้าลง ร่างกายอาจเปลี่ยนแปลงไป มีไขมันรอบเอวมากขึ้น มีการเคลื่อนไหวยากขึ้นเล็กน้อยด้วยข้อต่อแข็งหรือข้อต่อที่เจ็บ การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายเหล่านี้ล้วนเป็นอาการของคนวัยทอง
ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน
มีหลายวิธีในการลดอาการวัยหมดประจำเดือน ที่สามารถทำได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต และการรักษาทางเลือก โดยสามารถทำได้ ดังนี้
-
ทำร่างกายให้เย็นสบายอยู่เสมอ
แต่งกายด้วยเสื้อผ้าหลวมๆ โดยเฉพาะในช่วงกลางคืนและในช่วงที่อากาศร้อน จะสามารถช่วยจัดการกับอาการร้อนวูบวาบได้ พยายามหลีกเลี่ยงผ้าห่มหนาๆ ในตอนกลางคืน เพื่อช่วยลดโอกาสที่เหงื่อออกตอนกลางคืนได้ หรือหากต้องออกนอกบ้าน ลองพกพัดลมแบบพกพาเพื่อช่วยให้ร่างกายเย็นลงได้หากคุณรู้สึกร้อนวูบวาบ
-
ออกกำลังกายและจัดการน้ำหนัก
สำหรับคนที่มีน้ำหนักตัวขึ้น หรืออ้วนขึ้นจากเดิมนั้น ให้ลดปริมาณแคลอรี่ที่ได้รับในแต่ละวันลง 400-600 แคลอรี่เพื่อช่วยควบคุมน้ำหนัก รวมถึงควรออกกำลังกายในระดับปานกลางเป็นเวลา 20-30 นาทีต่อวัน การออกกำลังกายนอกจากช่วยในเรื่องของน้ำหนักแล้ว ยังช่วยเพิ่มพลังงาน ส่งเสริมการนอนหลับที่ดีขึ้น และช่วยปรับปรุงอารมณ์ได้
-
ฝึกเทคนิคการผ่อนคลาย
การฝึกเทคนิคการผ่อนคลายและการหายใจ เช่น เล่นโยคะ หรือการทำสมาธิ นอกจากจะช่วยผ่อนคลายอารมณ์ความหงุดหงิดได้แล้ว ยังช่วยจัดการปัญหาการนอนไม่หลับได้อีกด้วย แต่หากว่าคุณมีปัญหาในการนอนหลับเป็นประจำ และการนั่งสมาธิไม่สามารถช่วยผ่อนคลายได้ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อรับยาที่จะช่วยจัดการการนอนหลับพักผ่อนได้ดีขึ้น
-
กินอาหารเสริม
การเสริมอาหารจะช่วยลดอาการวัยหมดประจำเดือนได้ ลองกินอาหารเสริมอย่างแคลเซียม วิตามินดี และแมกนีเซียม จะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน ปรับปรุงระดับพลังงานและการนอนหลับ ทั้งยังช่วยให้สุขภาพของคุณดีขึ้นด้วย นอกจากนี้สารอาหารจากธรรมชาติก็ลดอาการวัยทองได้ดี เช่น ถั่วเหลือง และเมล็ดแฟลกซ์
วิธีดูแลคนในครอบครัวเมื่ออยู่ในวัยหมดประจำเดือน
การดูแลคนในครอบครัวที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือนนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะจะช่วยให้การอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขและเข้าใจ เนื่องจากคนที่อยู่ในวัยทองจะมีอารมณ์ที่แปรปรวนง่าย หากเราไม่ทำความเข้าใจก็อาจทำให้เกิดการทะเลาะกันได้ในครอบครัว การจะอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขนั้น ลองหากิจกรรมให้ทำ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกันเพื่อเสริมสร้างความรักความเข้าใจ หรือกิจกรรมคลายเครียดที่บ้านก็ได้ จะได้มีจิตใจสงบ เบิกบาน ช่วยลดอาการฉุนเฉียวลงได้ นอกจากนี้อย่าลืมช่วยดูแลเรื่องสุขภาพ อาหารการกิน เพื่อช่วยส่งเสริมสุขภาพ และเสริมสร้างฮอร์โมนให้สมดุล เช่น ข้าวกล้อง ข้าวสาลี ธัญพืช ปลาแซลมอน ไข่ กล้วย น้ำมะพร้าว น้ำเต้าหู้ และอาหารจำพวกแคลเซียมเพื่อช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มคาเฟอีน และแอลกอฮอล์ด้วยค่ะ
Inspire Now ! : ผู้หญิงส่วนใหญ่มีภาวะหมดประจำเดือนเมื่ออายุเฉลี่ยประมาณ 52 ปี แต่ความเสียหายของกระดูกเชิงกรานหรือรังไข่ รวมถึงพันธุกรรมหรือภาวะแวดล้อม อาจนำไปสู่การหมดประจำเดือนก่อนวัยได้ และอาการต่างๆ สามารถดำเนินต่อไปได้สี่ปีหรือมากกว่าหลังวัยหมดประจำเดือน หากอาการของคุณรุนแรงหรือส่งผลต่อคุณภาพชีวิต อาจต้องใช้การรักษาด้วยฮอร์โมน แต่โดยทั่วไปอาการวัยหมดประจำเดือนสามารถจัดการหรือลดอาการได้โดยใช้การใช้ธรรมชาติเยียวยา และการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตนั่นเองค่ะ |
DIY INSPIRE NOW ทำให้ฉันดูแลสุขภาพได้ดีขึ้นใช่ไหม ? สาวๆ ลองเช็คตนเองดูนะคะว่า เรามีอาการเหล่านี้ที่เข้าสู่วัยทองแล้วหรือยัง หรือสังเกตคนในครอบครัวหากเข้าสู่วัยทอง เพื่อการดูแลและอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขค่ะ ♡
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : mayoclinic.org, webmd.com, healthline.com