เช็ก ! 8 Mindsets วิธีพัฒนาตนเอง ที่ยั่งยืนต้องเริ่มปรับจากวิธีคิดอะไรบ้าง ? มาฝึกเป็นคนที่รักตัวเองได้ทุกมิติกัน !
ชวนรู้จัก วิธีพัฒนาตนเอง แบบยั่งยืนด้วยการปรับ 8 Mindset พร้อมวิธีการฝึกที่ใช้ได้จริงที่จะช่วยให้คุณใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขมากขึ้น
ในเดือนพฤศจิกายนนี้ มีวันสำคัญคือ วันคนพิการแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 13 พฤศจิกายนของทุกปี กำหนดขึ้นเพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของผู้พิการ และทำการช่วยเหลือ สนับสนุนให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงอยากจะชวนคุณฐาปนา โพธิรังสิยากร หรือคุณแนน นักศึกษาปริญญาโทจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ผู้ทำวิจัยเกี่ยวกับการท่องเที่ยวของคนพิการ สิทธิประโยชน์ของ คนพิการ คือ อะไรบ้าง การเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ทั้งในแง่ของการท่องเที่ยวและด้านอื่นๆ เป็นแบบไหน สิ่งใดบ้างที่จะมีส่วนช่วยให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ไปพูดคุยกับคุณแนนกันเลยค่ะ
เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนต้องการการมีคุณภาพชีวิตที่ดี และปราถนาที่จะมีความสุขความสบายใจกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นใคร เพศอะไร อายุเท่าไหร่ หรือมีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์หรือไม่ก็ตาม เช่นเดียวกับกลุ่มคนหลากหลายที่เราคุ้นเคยเรียกกันว่า “คนพิการ” ทั้งนี้ พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ได้ระบุเอาไว้ว่า คนพิการ คือ “บุคคลซึ่งมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคม เนื่องจากมีความบกพร่องทางการเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว การสื่อสาร จิตใจ อารมณ์พฤติกรรม สติปัญญา การเรียนรู้หรือความบกพร่องอื่นใด ประกอบกับ มีอุปสรรคในด้านต่าง ๆ และมีความจําเป็นเป็นพิเศษที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือด้านหนึ่งด้านใด เพื่อให้สามารถปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจําวันหรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคมได้อย่างบุคคลทั่วไป” แต่ถึงแม้ว่าจะมีข้อจำกัดในด้านการใช้ชีวิตประจำวัน คนพิการก็มีความต้องการไม่ต่างจากบุคคลทั่วไป รวมไปถึงเรื่องของการท่องเที่ยวและการเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับชีวิตด้วยเช่นกัน
คุณฐาปนา โพธิรังสิยากร หรือคุณแนน ปัจจุบันเธอทำงานด้านการท่องเที่ยว และกำลังจะเรียนจบปริญญาโทจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ คุณแนนมีความสนใจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวของคนพิการ จึงได้ทำการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้อย่างลงลึก เราเชื่อว่าหลายๆ คนก็คงจะสนใจด้วยเช่นกัน และหลายๆ คนก็อาจจะนึกภาพไม่ออกด้วยซ้ำว่า การท่องเที่ยวของคนพิการ คืออะไร เป็นแบบไหน และมีสิ่งใดบ้างที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับคนพิการได้ เราไปพูดคุยกับคุณแนนให้มากขึ้นกันเลยค่ะ
“สวัสดีค่ะ ชื่อฐาปนา โพธิรังสิยากร ชื่อเล่นชื่อแนน ตอนนี้ทำงานตำแหน่ง oversea sale ที่บริษัททัวร์ญี่ปุ่นอยู่ค่ะ ชื่อบริษัท ชินคิคังโค จำกัด แล้วก็เพิ่งเรียนจบปริญญาโทการจัดการมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการการท่องเที่ยวและการบริการแบบบูรณาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ค่ะ” คุณแนนเสริมให้ฟังว่า บริษัท ชินคิคังโค จำกัด (Shinkikanko co.,ltd) ที่เธอทำงานอยู่นั้น มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่โอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ส่วนเธอทำงานเป็นฟรีแลนซ์แบบ Remote Work คือ ไม่ต้องประจำอยู่ที่บริษัท คุณแนนมีหน้าที่ดูแลประสานงานเกี่ยวกับการท่องเที่ยวญี่ปุ่นให้กับบริษัท โดยการประสานงานกับเอเจนท์ทัวร์ประเทศอื่นๆ ทำให้ต้องเดินทางบ่อยๆ เพื่อไปเจอลูกค้าที่เป็นพาร์ทเนอร์ของบริษัทตามประเทศต่างๆ และเพื่อไปเข้าร่วมงานแฟร์ด้านการท่องเที่ยวในหลายๆ ประเทศ และตอนนี้ ใกล้จะเรียนจบปริญญาโทแบบสมบูรณ์ ซึ่งงานวิจัยที่เป็นเล่มจบของเธอนั้น ทำการศึกษาเกี่ยวกับการท่องเที่ยวของคนพิการนั่นเองค่ะ
คุณแนนเป็นคนเชียงใหม่ ในช่วงวัยเด็กนั้น คุณแนนบอกกับเราว่า จะเรียกว่าเธอเป็นเด็กเกเรก็ไม่ใช่ซะทีเดียว แต่จะเป็นเด็กเนิร์ดก็ไม่เชิง “เราเรียนที่โรงเรียนดาราวิทยาลัย เป็นโรงเรียนที่มีเด็กหลากหลายรูปแบบ ทั้งเด็กเกเร เด็กเรียน เด็กกิจกรรม เราก็อยู่ในขั้นก้ำกึ่งระหว่างเด็กเรียบร้อยกับเด็กเกเร คือการเรียนก็ดีใช้ได้ ได้เกรดสามกว่า แต่ก็มีทำผิดกฎของโรงเรียนจนโดนหักคะแนนความประพฤติหมดเลย ทั้งโดดเรียน มาสาย ตัดผมผิดระเบียบ แต่งตัวผิดระเบียบ” เธอเล่าติดตลก คุณแนนเสริมว่า เธอเป็นคนที่มีเพื่อนเยอะมากๆ แล้วก็เอ็นจอยกับชีวิตในโรงเรียนมาก ชอบทำกิจกรรม ชอบอ่านการ์ตูน สนุกกับการทำกิจกรรมในโรงเรียน เช่น เต้น cover กับเพื่อนๆ ด้วยความที่ ม. ปลาย คุณแนนเรียนสายศิลป์ภาษา – เอกภาษาญี่ปุ่น เธอจึงพูดภาษาญี่ปุ่นได้เป็นภาษาที่ 3 แล้วเธอก็ยังชอบวิชาภาษาอังกฤษ ใช้ภาษาอังกฤษได้ดี แล้วก็ชอบวิชาศิลปะอีกด้วย
คุณแนนเล่าต่อว่า ตัวเองเป็นคนที่ชอบเที่ยวตั้งแต่เด็กๆ และที่บ้านมักจะพาไปเที่ยวที่พัทยาช่วงปิดเทอมทุกๆ ปี ซึ่งคุณแนนอยากจะลองไปเที่ยวที่อื่นดูบ้าง แต่คุณแม่ไม่ยอมพาไป “มันอาจจะเป็นความไม่พอใจตอนเด็กๆ ที่เราเป็นคนชอบไปเที่ยว แต่แม่ไม่พาเราไป เลยเป็นเหตุผลที่ว่าเราอยากท่องเที่ยว อยากเดินทาง แล้วก็ทำงานด้านการท่องเที่ยวในตอนนี้ก็ได้” เธอบอกกับเราแบบนั้น
ช่วงที่ต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัย คุณแนนเลือกคณะรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Relations : IR) เป็นอันดับ 1 และเลือกวิทยาลัยสื่อ ศิลปะ และเทคโนโลยี สาขาแอนิเมชั่นเป็นอันดับ 2 ปรากฎว่าเธอสอบเข้าคณะรัฐศาสตร์ผ่านระบบการสอบโควต้าได้ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เราถามถึงสาเหตุที่เธอเลือกเรียนคณะรัฐศาสตร์ เธอบอกกับเราว่า “ตอนจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย เราเลือกคณะที่เกี่ยวกับศิลปะไว้ในในใจ ก็คือการเรียนแอนิเมชั่น แต่ก็เลือกไว้เป็นอันดับ 2 เพื่อที่จะดูว่ามีคณะอื่นที่พอจะเป็นตัวเลือกได้ไหม แล้วช่วงใกล้สอบเราคุยกับเพื่อนสนิทเยอะว่าจะเลือกเรียนอะไรกัน แล้วเพื่อนสนิทเรา 2 คนก็อยากเรียนรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เราก็มองว่ามันน่าสนใจ แล้วก็จะได้ฝึกภาษาอังกฤษด้วย ”
เราถามคุณแนนต่อว่า การเรียนที่คณะรัฐศาสตร์เป็นอย่างไรบ้าง เธอตอบสั้นๆ แต่ได้ใจความว่า “เอาตรงๆ ตอนนั้นรู้สึก Failed มาก” คุณแนนบอกกับเราว่า เธอรู้สึกสนุกแล้วก็เอ็นจอยกับเนื้อหาวิชาที่เรียน มันเป็นสิ่งที่น่าสนใจแล้วก็ใหม่มากสำหรับเธอ เหตุการณ์เกี่ยวกับรัฐศาสตร์ในโลกนี้ดูน่าสนใจไปหมด แต่ด้วยไลฟ์สไตล์ นิสัยของเธอเอง ไม่ได้แมชกับรูปแบบการทำงานในเชิงของการเป็นข้าราชการ สไตล์การทำงานและสิ่งที่เป็น Career Parth ในสายการเมืองการปกครองนั้น ไม่ใช่ตัวตนของเธอเลย
ทั้งนี้ คุณแนนก็บอกว่า สิ่งที่ได้ก็คือภาษาซึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการต่อยอดไปสู่การทำงานในสายอื่นๆ ได้ การเรียนสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้นจะต้องเน้นที่ภาษาอังกฤษอยู่แล้ว และวิชาโทหรือตัวไมเนอร์เธอก็เลือกเรียนภาษาญี่ปุ่น ทำให้เธอได้ฝึกใช้ภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่นไปพร้อมๆ กัน และสามารถนำเอาทักษะความรู้ที่มีมาบูรณาการได้
เราถามต่อว่า คุณแนนมาทำงานในสายการท่องเที่ยวได้อย่างไร เธอบอกว่า ในช่วงที่เรียนปริญญาตรีนั้น เธอทำงานพาร์ทไทม์อยู่หลายงานด้วยกัน จนมาเจองานในบริษัททัวร์แห่งหนึ่งที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งที่นี่เน้นกลุ่มลูกค้าเป็นคนญี่ปุ่น ด้วยความที่ตัวเองอยากฝึกภาษาก็เลยมาทำงานที่นี่ ซึ่งเธอบอกกับเราว่า นี่คือการหาตัวเองเจอในที่สุด เพราะคุณแนนสนุกและมีความสุขกับการทำงานในบริษัททัวร์มาก ตอนช่วงใกล้จบปีสี่เธอก็เลือกฝึกงานที่นี่ และเมื่อเรียนจบก็ทำงานต่อที่นี่โดยที่ไม่ได้ไปสมัครงานที่อื่นเลย
สำหรับคำถามที่ว่า คุณแนนสนใจในเรื่องสิทธิ – คุณภาพชีวิตของคนพิการมาตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรีเลยหรือไม่ เธอบอกกับเราว่า ในตอนที่เรียนปริญญาตรีคณะรัฐศาสตร์ ก็ยังไม่ได้มีความสนใจในเรื่องสิทธิของคนพิการเป็นพิเศษ แต่ว่าเป็นความคุ้นชินกับการที่มีกลุ่มคนหลากหลายอย่างผู้พิการเข้ามาเรียนในคลาสด้วย เพราะมหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้นเปิดโอกาสให้ผู้พิการเข้ามาเรียนกับนักศึกษาคนอื่นๆ ได้ตามปกติ โดยจะมีเพื่อนๆ ในคณะช่วยดูแลให้ความช่วยเหลือและช่วยอำนวยความสะดวกให้กับเพื่อนๆ กลุ่มนี้
ทั้งนี้ คุณแนนได้เสริมต่อว่า การเรียนที่โรงเรียนดาราวิทยาลัยก็มีนักเรียนหลายแบบ รวมถึงเด็กพิเศษที่มีการเรียนรู้ช้าหรือมีข้อจำกัดบางอย่าง โดยภายในโรงเรียนนั้นมีความหลากหลายสูงมาก แต่เพื่อนๆ ในโรงเรียนก็ไม่มีการตัดสินกันหรือรังเกียจกันเลย ทุกๆ คนเป็นเพื่อนกัน ไม่มีการแบ่งแยกกัน นั่งเรียนด้วยกัน เล่นด้วยกัน นั่นอาจเป็นจุดหนึ่งที่เธอได้ซึมซับและได้เรียนรู้ถึงความแตกต่างของของผู้คน และอาจทำให้เธอมีความสนใจในเรื่องของผู้คนที่มีความหลากหลายมาตั้งแต่นั้น
หลังจากจบปริญญาตรีแล้ว คุณแนนก็ทำงานที่บริษัททัวร์ในเชียงใหม่มาเรื่อยๆ และอยากจะเก่งภาษาญี่ปุ่นให้มากขึ้นกว่าเดิม จึงขออนุญาตที่ทำงานไปเรียนภาษาญี่ปุ่นเพิ่มเติมที่โยโกฮาม่าเป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งทางบริษัทก็อนุญาต จากนั้นก็กลับมาทำงานที่เดิมอีกประมาณเกือบ 2 ปี แต่คุณแนนก็รู้สึกว่า การใช้ภาษาของตัวเองยังไม่เพอร์เฟค อยากจะไปฝึกภาษาให้มากขึ้น กระทั่งตัดสินใจลาออกและตั้งใจกับตัวเองว่า จะไปอยู่ญี่ปุ่นแล้วก็หางานทำในบริษัทัวร์ประเทศญี่ปุ่นเป็นหลักเป็นแหล่งไปเลย
“เรารู้สึกว่าเราอยากเก่งภาษาญี่ปุ่นให้มากกว่านี้ แม้ว่าเราจะใช้ภาษาญี่ปุ่นได้ดี แต่ก็ยังไม่ลื่นไหลแบบที่เราอยากให้เป็น จึงตัดสินใจลองไปหางานที่โอซาก้า เพราะที่โอซาก้าใช้สำเนียงคันไซ แล้วก็ใช้สำเนียงกลาง เราเองก็อยากจะเข้าใจทั้งสองสำเนียง หางานอยู่สักพักก็ได้งานที่บริษัท ชินคิคังโค บริษัทที่ทำอยู่ ณ ปัจจุบันนี้ค่ะ ใช้ชีวิตแล้วก็ทำงานอยู่ที่โอซาก้ามาประมาณ 5 ปี จนกระทั่งเป็นช่วงโควิด การท่องเที่ยวชะงัก งานของเราหยุดชะงัก ก็เลยตัดสินใจกลับมาอยู่ที่ประเทศไทย แต่ก็ยังไม่ได้ลาออกจากงาน เป็นการทำงานแบบ Remote ในช่วงที่งานหยุดชะงัก เราก็เลยลองหาทุนเรียนต่อปริญญาโทที่ NIDA ดู”
คุณแนนตัดสินใจเลือกเรียนสาขาวิชาการจัดการการท่องเที่ยวและการบริการแบบบูรณาการ ที่ NIDA (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์) เพราะเธอทำงานด้านการท่องเที่ยวมาตั้งแต่เรียนจบปริญญาตรี แต่ไม่ได้เรียนจบท่องเที่ยวมาโดยตรง จึงอยากจะเรียนเพิ่มในสิ่งที่เป็นทฤษฎีและเนื้อหาวิชาการเพื่อที่จะสามารถนำไปต่อยอดด้านการทำงานได้ เธอบอกกับเราว่า งานด้านการท่องเที่ยวนั้นเป็นสิ่งที่ใช่สำหรับเธอจริงๆ เป็นสิ่งที่เธอหาตัวเองเจอ จึงอยากจะสานต่อด้านนี้ เราเลยถามต่อว่า เธอรู้ได้อย่างไรว่างานด้านการท่องเที่ยวมันถึงเป็นสิ่งที่ใช่สำหรับเธอ คุณแนนบอกเราว่า
“เราชอบที่จะได้เจออะไรใหม่ๆ ชอบศึกษาเรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ๆ รู้สึกสนุกที่ได้ออกสำรวจสถานที่ใหม่ๆ แล้วเราก็ชอบที่จะคุยกับคนแปลกหน้าด้วยนะ ทุกครั้งที่ได้คุยกับคนแปลกหน้า เราจะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ แล้วการทำงานด้านการท่องเที่ยวนั้นทำให้เราต้องเดินทางบ่อยๆ การเดินทางบ่อยทำให้เราได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย มีความเป็น International ซึ่งเราชอบที่จะใช้ชีวิตแบบนี้”
เราได้ถามถึงที่มาที่ไปของการเลือกทำวิจัยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวของคนพิการ คุณแนนเล่าให้ฟังว่า เธอได้ไปเจอคลิปวิดีโอคลิปหนึ่งในยูทูปโดยบังเอิญ คลิปวิดีโอนั้นเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการใช้ชีวิตของคนพิการที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นผู้พิการทางสายตา ในคลิปเป็นการบอกเล่าว่า ใน 1 วันนั้นคนพิการทำอะไรบ้างและใช้ชีวิตอย่างไร คุณแนนเล่าว่า
คุณแนนเล่าต่อว่า ในคลิปนั้นมีการสัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า กิจวัตรประจำวันของผู้พิการเป็นยังไง ซึ่งคนในคลิปก็บอกว่าใช้ชีวิตแบบคนทั่วไป มีการไปกินของอร่อยๆ ไปกินบุฟเฟต์ด้วย อย่างชาบู ฮอทพอท ทำให้คุณแนนเกิดความสงสัยเข้าไปอีกว่า สามารถทำได้อย่างไร ในเมื่อมีข้อจำกัดในด้านการมองเห็น ในคลิปนั้นทำให้เธอตระหนักได้ว่า เราไม่ได้มองเลยว่าผู้พิการก็มีความต้องการพื้นฐานไม่ต่างจากคนทั่วไป อย่างความสุขในด้านการกิน การเดินทาง การท่องเที่ยว การทำสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวัน จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณแนนอยากจะศึกษาให้มากขึ้น ทั้งตอบคำถามให้กับตัวเอง ทั้งศึกษาเพื่อเป็นประโยชน์ให้กับกลุ่มคนหลากหลายอย่างผู้พิการ และเพื่อให้คนอื่นๆ ในสังคมได้รับรู้ด้วย
เราจึงถามคุณแนนต่อว่า แล้วการท่องเที่ยวของคนพิการเป็นอย่างไร คุณแนนให้คำตอบที่เรียบง่ายแต่ทำให้เราเข้าใจได้อย่างกระจ่างแจ้ง คุณแนนบอกกับเราว่า “อย่างที่กล่าวไปว่ากลุ่มคนพิการ คือคนที่มีความต้องการเช่นเดียวกับคนทั่วๆ ไป ซึ่งเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน อยากจะสนุก อยากมีความสุข อยากไปกินอาหารอร่อยๆ อยากไปฟังเพลงเพราะๆ อยากได้ยินเสียงทะเล อยากไปเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ อยากทำกิจกรรมต่างๆ เท่าที่จะทำได้ อยากทำทุกอย่างไม่ต่างจากคนทั่วไปเลย”
มนุษย์เรามีสิ่งที่เรียกว่า ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง และการสัมผัส ในคนที่มีร่างกายสมบูรณ์ก็สามารถใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้อย่างครบถ้วน คุณแนนอธิบายว่า สำหรับผู้พิการแล้ว ประสาทสัมผัสบางอย่างอาจจะไม่สามารถใช้งานได้ เช่น ในผู้พิการทางสายตาไม่สามารถมองเห็นได้ ก็อาจจะใช้ประสาทสัมผัสด้านอื่นๆ ที่มีเพื่อการท่องเที่ยวเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ เช่น หากเป็นการเสพงานศิลปะ ในคนทั่วไปก็อาจจะใช้ตามอง แต่ถ้าเป็นผู้พิการทางสายตาก็อาจจะเสพผลงานศิลปะด้วยการสัมผัสเพื่อรับรู้ถึงรูปร่างรูปทรงแทนการมองเห็น เป็นต้น
คุณแนนยกตัวอย่างต่อว่า อย่างการท่องเที่ยวของผู้พิการทางสายตาก็จะมีตั้งแต่การทำบุญไหว้พระ การไปฟังธรรม การได้ไปสนทนาธรรมกับพระสงฆ์ เป็นต้น ในบางคนก็พึงพอใจกับการท่องเที่ยวแบบนี้แล้ว ทั้งนี้ โรงเรียนสำหรับผู้พิการทางสายตาก็มีการจัดทริปให้กับนักเรียนอยู่ด้วยเหมือนกัน กิจกรรมต่างๆ ในการท่องเที่ยวนั้น เป็นสิ่งที่ถูกเลือกมาแล้วว่ามีความปลอดภัย หากจะต้องมีคนดูแลเป็นพิเศษ ทางสถานที่ท่องเที่ยวหรือทางบริษัททัวร์บางแห่งก็จะเป็นคนดูแลอำนวยความสะดวกให้เท่าที่จะสามารถทำได้ เช่น ในไทยก็มีเอเจนท์ทัวร์ที่ชื่อว่า Nutty’s Adventures ที่มีบริการจัดทัวร์สำหรับกลุ่มคนหลากหลายอย่างผู้พิการด้วย หรืออาจจะเป็นอาสาสมัคร เป็นคุณครูที่จะเป็นฝ่ายดูแล ในกรณีที่โรงเรียนมีการจัดทริปให้ เป็นต้น
คุณแนนเสริมต่อว่า โดยส่วนใหญ่แล้วความกังวลของคนพิการ คือ เรื่องอาหารการกิน อย่างผู้พิการทางสายตาที่ไม่สามารถมองเห็นได้ ก็จะมีความกังวลกับอาหารที่รับประทานเข้าไปเป็นพิเศษ เพราะด้วยข้อจำกัดทางกายภาพ การเข้าห้องน้ำอาจจะลำบากกว่าคนปกติทั่วไป จึงดูแลในเรื่องการกินของตัวเองเป็นพิเศษและระมัดระวังการกิน ส่วนใหญ่จะเน้นอาหารการกินที่สะอาด ปลอดภัย ไม่เสี่ยงต่อการเกิดอาการท้องร่วงท้องเสียในระหว่างการท่องเที่ยว เป็นต้น
และเมื่อคุณแนนพูดถึงเรื่องการกิน เราจึงถามต่อด้วยความสงสัยว่า แล้วผู้พิการทางสายตานั้นสามารถมองเห็นได้อย่างไรว่าช้อนส้อมอยู่ตรงไหน แก้วน้ำวางไว้ในตำแหน่งใด คุณแนนให้ข้อมูลว่า มีกฎเกณฑ์ที่เป็นสากลสำหรับผู้พิการทางสายตาว่า จะมีกฎสำหรับการวางช้อนส้อมแก้วน้ำให้กับผู้พิการโดยเฉพาะ ทั้งการวางแก้วน้ำที่ตำแหน่งใด วางจาน ชาม ช้อนส้อมที่ตำแหน่งใด เพื่อให้สามารถหยิบจับได้ถูกต้องแม้ว่าจะมองไม่เห็น โดยสถานที่ท่องเที่ยวหรือร้านอาหารในบางแห่งจะมีการเทรนด์ไกด์หรือเทรนด์พนักงานเพื่อดูแลลูกค้ากลุ่มนี้โดยเฉพาะ
แม้ว่าความต้องการในเรื่องของการท่องเที่ยวสำหรับคนพิการและคนทั่วไปจะเหมือนกัน แต่สิ่งอำนวยความสะดวกนั้นต่างกัน ในการทำวิจัยของคุณแนนนั้น คุณแนนทำการศึกษาเก็บข้อมูลกับผู้พิการทางสายตาเป็นหลัก และพบว่า
“สิ่งอำนวยความสะดวกที่มีอยู่นั้นไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้พิการเลย ทั้งทางเดินสาธารณะที่อันตรายและไม่เอื้อต่อผู้พิการทางสายตา อย่างฟุตบาทข้างถนนที่แคบ ขรุขระและมีการชำรุด ที่แม้แต่คนทั่วไปยังสามารถเดินสะดุดหรือเดินตกท่อได้หากไม่ระวังให้ดี หรือจะเป็นสถานที่สาธารณะต่างๆ ที่ยังไม่เอื้อต่อความสะดวกสบายได้อย่างเต็มที่และมีความปลอดภัยต่ำ ไม่มีอักษรเบรลล์ในลิฟต์สำหรบผู้พิการทางสายตา อะไรแบบนี้”
หรือแม้กระทั่งผู้ที่สามารถมองเห็นได้ ไม่ได้พิการทางสายตาแต่นั่งวิลแชร์ก็ยังใช้ชีวิตได้ลำบาก เนื่องจากที่ทางไม่เอื้ออำนวย อย่างทางลาดที่มีความชันจนเกินไปจนอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ และก็ไม่ได้มีทุกสถานที่ หรือสถานที่ราชการบางแห่งไม่มีลิฟต์สำหรับผู้ที่ใช้รถเข็น หรือแม้แต่ในห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ ที่บางแห่งก็ไม่เอื้อความสะดวกต่อผู้พิการ อย่างการไม่มีทางลาดชันสำหรับใช้รถเข็น หรือไม่ปลอดภัยสำหรับผู้พิการทางสายตาที่ใช้ชีวิตเอง เป็นต้น
คุณแนนบอกกับเราว่า “ความต้องการของคนกลุ่มหลากหลายอย่างคนพิการ คือ ต้องการสิ่งที่เหมาะสมกับตนเอง เพื่อสามารถตอบสนองต่อความต้องการด้านการดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นปกติมากที่สุด” อันเป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนสมควรจะได้รับ แต่ในประเทศไทยนั้นยังไม่สามารถสนับสุนได้อย่างเพียงพอ และยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับตรงนี้เท่าที่ควรอีกด้วย นอกจากนี้ เธอยังเสริมต่อว่า แม้แต่คนทั่วไปเองก็อาจจะไม่ได้มีการตระหนักว่าสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้มีความจำเป็นและมีความสำคัญต่อผู้พิการที่ถือว่าก็เป็นประชาชนในสังคมเช่นเดียวกัน จึงไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควรจะเป็น ทั้งๆ ที่มันเป็นสิ่งที่กลุ่มคนพิการต้องการเป็นอย่างยิ่ง
ในขณะที่ Facility หรือสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มคนหลากหลายยังไม่สามารถตอบโจทย์กับความต้องการได้ทั้งหมด เราเลยถามถึงศักยภาพในการท่องเที่ยวของคนพิการว่าเป็นอย่างไร คนพิการสามารถท่องเที่ยวได้ในรูปแบบไหนบ้าง คุณแนนบอกว่า
“ต้องดูก่อนว่า คนพิการมีกี่ประเภท ซึ่งคนพิการก็มีหลายแบบ มีทั้งผู้พิการทางการมองเห็น ผู้พิการทางการพูดและการได้ยิน ผู้พิการที่นั่งวิลแชร์ และอื่นๆ ซึ่งมีข้อจำกัดแตกต่างกัน ศักยภาพในการท่องเที่ยวจึงต่างกัน ทั้งการเดินทางหรือการทำกิจกรรมต่างๆ และก็ขึ้นอยู่กับผู้ดูแลด้วยว่าสามารถดูแลช่วยเหลือกลุ่มคนพิการได้มากน้อยแค่ไหนในเรื่องของการท่องเที่ยว ทั้งนี้ ยังขึ้นอยู่กับความต้องการเฉพาะทางของแต่ละคนด้วย อย่างเราทำการศึกษาเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในผู้พิการทางสายตา แล้วรู้เลยว่า สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในประเทศไทยนั้น ยังไม่เพียงพอที่จะสามารถสนับสนุนช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสม ศักยภาพในการท่องเที่ยวของผู้พิการก็อาจจะยังมีไม่มาก”
ทั้งนี้ คุณแนนให้มุมมองที่น่าสนใจว่า “ถ้ามองโดยรวมแล้ว แน่นอนว่ากลุ่มผู้พิการสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และบางคนก็ไม่อยากให้คนนอกมองว่าเค้าเป็นผู้พิการหรือว่าไปสงสารเค้า เค้าก็เป็นคนปกติทั่วไป เพียงแต่ว่า สิ่งที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการขั้นพื้นฐานสำหรับเค้ามีไม่เพียงพอ ก็เลยทำให้มีข้อจำกัดในด้านการเดินทางหรือการทำสิ่งต่างๆ หากมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น ศักยภาพในการท่องเที่ยวของผู้พิการก็จะมีมากขึ้น”
ในส่วนของคนดูแลนั้น คุณแนนบอกว่า ขึ้นอยู่กับแต่ละคน ต้องคำนึงว่า คนพิการมีกี่ประเภท บางคนก็สามารถใช้ชีวิตได้เองตามปกติทั่วไป แต่บางคนก็ต้องมีคนดูแลหรือต้องได้รับการช่วยเหลือ ซึ่งมีความหลากหลายและมีรายละเอียดมากมาย เช่น ผู้พิการทางสายตาที่อาจจะต้องมีคนดูแลในระหว่างทริปเพื่ออำนวยความสะดวกต่างๆ ให้ เป็นต้น
เราถามถึงสิ่งที่จะช่วยซับพอร์ตการท่องเที่ยวของคนพิการให้มีความสะดวกสบายมากขึ้น เพราะในเรื่องของการท่องเที่ยวนั้น ไม่ใช่แค่นักท่องเที่ยวชาวไทย แต่ยังรวมถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่อาจเป็นกลุ่มคนหลากหลายอย่างผู้พิการอีกด้วย แล้วประเทศไทยเองมีนโยบายหรือมีการเตรียมพร้อมอย่างไรบ้าง ในฐานะที่คุณแนนทำงานเกี่ยวกับด้านการท่องเที่ยวมาหลายปี เธอบอกกับเราว่า มีนโยบายเพื่อพัฒนาส่งเสริมเศรษฐกิจในเรื่องของการท่องเที่ยวอยู่เสมอ เพราะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในไทยนั้น นับว่าเป็นแหล่งรายได้ของประเทศและเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเลยก็ว่าได้ โดยมีนโยบายที่จะพัฒนา Facitily หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อกลุ่มคนหลากหลาย ที่ไม่ใช่เฉพาะผู้พิการเท่านั้นแต่ยังรวมถึงผู้สูงอายุอีกด้วย ดังนี้
“มีนโยบาย Tourism For All เป็นนโยบายเพื่อการอำนวยความสะดวกต่อนักท่องเที่ยวผู้พิการ ซึ่งองค์กรส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยหรือ ททท. ก็ได้สนับสนุนนโยบาย Tourism For All ด้วยเช่นกัน เป็นนโยบายที่ชื่อว่า เมืองไทยใคร ๆ ก็เที่ยวได้”
คุณแนนให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นโยบาย Tourism For All มาจาก Tourism For All Promoting Universal Accessibility หรือการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างเท่าเทียมให้สามารถเข้าถึงได้ทุกคน โดยไม่ขึ้นอยู่กับ เพศ ศาสนา เชื้อชาติ ความพิการทางร่างกาย ซึ่งเป็นนโยบายขององค์การการท่องเที่ยวโลก หรือ UNTWO และทางองค์กรส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ก็ได้เอามาปรับใช้เพื่อการท่องเที่ยวในประเทศไทยด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ยังมีแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติที่กำหนดวิสัยทัศน์เอาไว้ว่า ให้คนพิการเข้าถึงสิทธิได้จริง ดำรงชีวิตอิสระในสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันอย่างยั่งยืน ภายใต้ยุทธศาสตร์แห่งความเท่าเทียม และส่งเสริมเครือข่ายเพื่อคนพิการ โดยต้องช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการได้อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม คุณแนนให้ความเห็นเอาไว้ว่า ในฐานะที่เธอทำการศึกษาเกี่ยวกับการท่องเที่ยวของคนพิการ ก็พบว่าผู้พิการยังไม่สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ได้มากเท่าที่ควรจะเป็น สิ่งอำนวยความสะดวกที่มีอยู่ก็ยังไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการขั้นพื้นฐานของคนพิการได้ และนโยบายบางอย่างก็ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม
เราถามถึงปัญหาอุปสรรคสำคัญในการท่องเที่ยวของคนพิการ นอกจากการมีสิ่งอำนวยความสะดวกไม่เพียงพอแล้ว มีปัญหาอุปสรรคอะไรอีกบ้าง ตามที่คุณแนนได้ทำการสำรวจเก็บข้อมูลมาจากการทำวิจัย คุณแนนให้คำตอบที่น่าสนใจมากๆ เอาไว้ว่า “ปัญหาอุปสรรคหลักๆ เลยก็คือ ผู้คนไม่ได้มีการตระหนักว่า คนพิการ คือคนที่อยากไปเที่ยวเหมือนกันนะ มีความต้องการเช่นเดียวกับคนปกติทั่วๆ ไป และมันเป็นความต้องการพื้นฐาน คนพิการต้องการท่องเที่ยว ต้องการไปกินอาหารอร่อยๆ ต้องการเดินทาง อยากไปไหว้พระ อยากจะไปเยี่ยมญาติ ต้องไปทำธุระ ต้องไปทำสิ่งต่างๆ แต่ด้วยข้อจำกัดทางด้านกายภาพบางอย่าง จึงต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของคนพิการได้อย่างเหมาะสม”
คุณแนนเสริมว่า “ถ้าผู้คนในสังคมไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เข้าใจในเรื่องของความหลากหลายของผู้คนในสังคม และมองเห็นความต้องการของคนพิการและสร้างบริการที่สามารถสนับสนุน ช่วยเหลือ และตอบสนองต่อความต้องการของคนพิการได้ รวมถึงการมี Symphaty และ Emphaty ก็จะพยายามทำสิ่งที่สามารถให้บริการแก่กลุ่มคนพิการและช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้” อันจะทำให้ปัญหาเรื่องความไม่สะดวกสบายในการท่องเที่ยวหรือใช้ชีวิตประจำวันก็จะลดน้อยลงตามไปด้วย
เราถามว่า แล้วความสุขในการท่องเที่ยวของคนพิการ คืออะไร คนพิการมีความต้องการอย่างไรบ้าง คุณแนนบอกกับเราว่า “อย่างที่บอกไปว่า ความต้องการของผู้พิการก็ไม่ต่างจากคนทั่วๆ ไป ความสุขก็เหมือนกับคนทั่วไปเหมือนกัน แต่อาจเป็นในรูปแบบที่แตกต่างกัน ตามแต่ศักยภาพของแต่ละคน ตามที่เราได้ไปสัมภาษณ์แหล่งข้อมูลคนหนึ่งที่เป็นผู้พิการทางสายตา เค้าบอกว่า เค้ามีความสุขกับการได้ไปไหว้พระ ได้ไปวัด ได้ไปกินอาหารอร่อยๆ แล้วก็อยากให้ทุกคนเข้าใจว่า เค้าก็มีความต้องการเหมือนคนทั่วไปไม่ต่างกันเลย การมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้ออำนวยต่อคนพิการในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ก็จะทำให้คนพิการมีความสะดวกสบายมากขึ้นได้”
ความต้องการของคนพิการ คือ การมีสวัสดิการอย่างเหมาะสมและการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อประโยชน์ต่อคนพิการจริงๆ คุณแนนเล่าให้ฟังว่า “เคยถามผู้พิการทางสายตาคนหนึ่ง เขาอยากให้รัฐบาลแจกไม้เท้าคุณภาพดีที่มีความทนทาน เพื่อที่เขาจะได้เอามาใช้ในชีวิตประจำวัน ไม้เท้าที่ใช้อยู่ทั่วไปนั้นไม่ทนทาน หักได้ง่าย อยากให้รัฐมีสวัสดิการด้านนี้ ซึ่งมันก็เป็นสิทธิประโยชน์อย่างหนึ่งที่ผู้พิการสมควรจะได้รับ”
คุณแนนกล่าวเสริมว่า เนื่องจากผู้พิการมีอยู่หลายประเภทด้วยกัน อย่างผู้พิการแต่กำเนิด เทียบกับผู้พิการจากการเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุ ก็มีความต้องการที่แตกต่างกันแล้ว ยังไม่รวมถึงความพิการในแต่ละรูปแบบที่มีข้อจำกัดทางด้านร่างกายที่แตกต่างกัน ซึ่งค่อนข้างมีความละเอียดอ่อนมาก ต้องให้ความใส่ใจในประเด็นที่ว่า คนพิการมีกี่ประเภท แล้วมีการจัดสวัสดิการให้เหมาะสมกับคนพิการแต่ละแบบ มองเห็นถึงความแตกต่างและให้ความสำคัญกับสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงมีอย่างเท่าเทียมกัน ก็จะทำให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
คุณแนนบอกกับเราว่า อยากให้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการท่องเที่ยวของคนพิการให้มากขึ้น มีการศึกษาอย่างกว้างขวางมากขึ้น ทำการเก็บข้อมูลกับกลุ่มคนพิการแต่ละประเภทเพื่อที่จะหาแนวทางให้การสนับสนุนช่วยเหลือ หรือสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกที่สอดคล้องกับความต้องการได้อย่างเหมาะสม เพราะในปัจจุบันยังมีการศึกษาเกี่ยวกับประเด็นนี้น้อยมาก หากมีการศึกษาเกี่ยวกับการท่องเที่ยวของคนพิการอย่างแพร่หลายมากขึ้นอาจทำให้ผู้คนในสังคมได้มีการตระหนักรู้แล้วก็เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น นอกจากนี้ การศึกษาวิจัยในวงกว้างอาจทำให้รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญกับสถานการณ์นี้มากขึ้น และมีการลงมือปฏิบัติทำให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น คุณแนนกล่าวว่า “แม้ว่าจะไม่ได้เป็นวาระเร่งด่วน แต่ก็ยังดีกว่าการที่เราเพิกเฉยไม่ทำอะไรเลย และไม่ได้มีการพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น”
และในฐานะที่คุณแนนทำงานเกี่ยวกับด้านการท่องเที่ยวด้วย จึงเสริมว่า อยากให้คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เช่น ผู้ประกอบการ เจ้าของสถานที่ท่องเที่ยว เจ้าของร้านอาหาร ผู้ให้บริการลูกค้า ฯลฯ มีความเข้าใจแล้วก็สามารถสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวให้แก่ผู้พิการได้มากขึ้น เช่นการดูแลในเรื่องของความปลอดภัย การให้ความช่วยเหลือในระหว่างทริป เป็นต้น ซึ่งจะทำให้การท่องเที่ยวในประเทศไทยพัฒนาขึ้นไปในอีกระดับหนึ่งเลยทีเดียว
คุยกันมาพอประมาณ เราจึงถามคุณแนนเกี่ยวกับตัวเองบ้างว่า แล้วชีวิตตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง คุณแนนบอกว่า “ตอนนี้ชีวิตค่อนข้างลงตัวมาก ทั้งในส่วนของ Career Parth ด้านการทำงาน และการมี Work Life Balance ที่โอเคมาก เมื่อเทียบกับการทำงานที่ญี่ปุ่นที่มีความเครียดสูงมากจริงๆ ตอนนี้ทั้งเรื่องงานและชีวิตส่วนตัวก็ลงตัวทุกอย่าง การกลับมาทำงานที่ไทยรู้สึกว่าชีวิตลงตัวมากขึ้น แล้วก็ยังสามารถทำงานตำแหน่งเดิมได้ เป็นการทำงานที่บ้านแบบ 100% ก็รู้สึกแฮปปี้มาก แล้วก็ได้เรียนจบปริญญาโทด้านการท่องเที่ยวตามที่ได้ตั้งใจไว้” แม้ว่าคุณแนนจะทำงานที่ไทยเป็นหลัก แต่เธอเองก็ยังต้องเดินทางไปต่างประเทศบ่อยๆ เพื่อไปพบกับพาร์ทเนอร์ของบริษัทในแต่ละประเทศ เราย้อนนึกถึงคำที่คุณแนนบอกว่า “เราชอบใช้ชีวิตแบบนี้” บางทีแล้ว ชีวิตที่ลงตัวทั้งเรื่องงานและไลฟ์สไตล์ อาจขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้ชีวิตตามแบบที่เราชอบก็ได้
ส่วนในเรื่องของงานวิจัยนั้น คุณแนนเสริมว่า “สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำวิจัยในหัวข้อนี้ก็คือ เราไม่เคยเข้าใจและไม่เคยตระหนักมาก่อนเลยว่า คนพิการก็อยากจะท่องเที่ยวเหมือนกับเรา และมีความต้องการในสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานเหมือนกับคนทั่วไป ต้องการจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข แต่ผู้พิการในประเทศไทยได้รับสวัสดิการและได้รับสิทธิประโยชน์น้อยมาก หลายๆ อย่างยังไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการได้อย่างเหมาะสม ไม่สามารถเอื้อประโยชน์และใช้งานได้จริง”
และด้วยความที่คุณแนนทำงานด้านการท่องเที่ยวโดยตรง เธอบอกว่าอยากจะเผยแพร่ในสิ่งที่ตัวเองได้ศึกษาวิจัยมาให้กับคนอื่นๆ ได้รู้ อยากไปคุยกับคนอื่นๆ ในวงกว้างรวมถึงคนที่ทำงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเหมือนกัน เพื่อที่จะได้พัฒนาด้านการท่องเที่ยวให้ดีขึ้นกว่าเดิม คุณแนนบอกกับเราว่า ในสายตาของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ทุกคนอยากจะมาเยือน นับว่าเป็น Gateway of Asia เลยก็ว่าได้ ประเทศไทยมีศักยภาพในด้านการท่องเที่ยวมากๆ และเราสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทยให้ดีขึ้นกว่านี้ได้ ในฐานะที่ตัวเองก็อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ คุณแนนก็อยากจะเป็นอีกคนหนึ่งที่สามารถต่อยอดความรู้จากการร่ำเรียนศึกษามาเพื่อให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวในเอเชียให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าเดิม
ใกล้จะถึงช่วงท้ายของการคุยกันแล้ว เราอยากให้คุณแนนขอบคุณตัวเองสักหน่อย หรือบอกอะไรกับตัวเองก็ได้ คุณแนนบอกว่า “เราเป็นคนที่ค่อนข้างจะเข้าใจตัวเองมาตั้งแต่เด็ก เราชอบคุยกับตัวเองหรือมี Self Talk กับตัวเองบ่อยๆ มีการวิเคราะห์ตัวเองตลอด ซึ่งเราก็ชอบตัวเองในส่วนนี้มากๆ ก็อยากจะขอบคุณตัวเองที่มีการวิเคราะห์ตัวเองอยู่เสมอ ทำให้เรารู้ว่าเราต้องการอะไรและอยากจะทำอะไร จะทำอย่างไรให้ได้สิ่งนั้นมา ขอบคุณที่ตัวเองเป็นคนมุ่งมั่น มีเป้าหมายชัดเจนและโฟกัสอยู่ที่เป้าหมายจนทำสำเร็จ แม้ในตอนเด็กๆ จะเสียเวลาไปกับเรื่องไร้สาระบ้างแต่ก็เป็นสีสันของชีวิต จนมาถึงตอนนี้ก็คิดว่าได้ใช้ชีวิตได้อย่างคุ้มค่าพอสมควร และได้ทำทุกอย่างที่อยากทำแล้ว”
ก่อนจากกันไป เราอยากให้คุณแนนฝากอะไรถึงคนอ่านในประเด็นการให้ความช่วยเหลือกับกลุ่มคนพิการสักหน่อย คุณแนนบอกว่า “ก็คงจะเป็นเรื่องของความเข้าใจความแตกต่างในเรื่องของข้อจำกัดการทางด้านกายภาพของคนพิการ และตระหนักถึงความต้องการของคนพิการที่ไม่ต่างจากคนทั่วๆ ไป ตามที่ได้พูดไปแล้วในข้างต้น แต่ถ้ามีใครสนใจเกี่ยวกับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายและมีความพิเศษ เช่นกลุ่มคนพิการและอยากจะเรียนรู้เพิ่มเติม ก็สาารถเข้าไปอ่านบทความในเว็บไซต์ของหน่วยงานที่ชื่อว่า thisAble.me ได้ ซึ่งมีเรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มคนหลากหลายมากมายที่มีความน่าสนใจมากๆ และเป็นพื้นที่ที่ช่วยเรียกร้องสิทธิพื้นฐานให้กับคนพิการด้วย ซึ่งจะทำให้เราได้เข้าใจและตระหนักถึงสิทธิประโยชน์และความต้องการของพวกเค้ามากขึ้น”
Inspire Now ! : กุญแจสำคัญที่จะทำให้ผู้พิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ก็คือ การมองเห็นและเข้าใจถึงความแตกต่างของข้อจำกัดทางด้านกายภาพ แต่ไม่ละเลยเพราะตระหนักรู้ได้ว่า ผู้พิการก็เป็นประชาชนคนหนึ่งในสังคมที่ควรจะได้รับสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงมี การเข้าใจว่าคนพิการก็มีความต้องการไม่ต่างจากบุคคลทั่วๆ ไป และต้องดำรงชีวิตประจำวันเช่นเดียวกับคนทั่วไป จะทำให้เราให้ความสำคัญกับสวัสดิการ ความปลอดภัย และการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของคนพิการมากขึ้น อีกประการหนึ่งคือ การมีความเห็นอกเห็นใจกัน การเอาใจเขามาใส่ใจเรา และการมีน้ำใจช่วยเหลือกันและเคารพกันในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง ก็จะทำให้คนพิการสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการท่องเที่ยวหรือการทำสิ่งใดก็ตาม |
---|
DIY INSPIRE NOW คือแรงบันดาลใจของฉันใช่ไหม ? เราสามารถให้ความช่วยเหลือดูแลกลุ่มคนหลากหลายอย่างคนพิการได้อย่างไรบ้าง คอมเมนต์มาบอกกันได้นะคะ ♡
ชวนรู้จัก วิธีพัฒนาตนเอง แบบยั่งยืนด้วยการปรับ 8 Mindset พร้อมวิธีการฝึกที่ใช้ได้จริงที่จะช่วยให้คุณใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขมากขึ้น
ชวนมารู้จักกับการ Self Compassion คือ การเมตตาต่อตัวเอง ฝึกแล้วดีกับชีวิตยังไง อยากมีความสุขได้ด้วยตัวเองต้องทำยังไง มาเข้าใจและฝึกไปด้วยกัน
วิธีออมเงิน มนุษย์เงินเดือน ที่น่าสนใจ และยังใช้ได้จริงในยุคปัจจุบัน มีอะไรบ้าง คนทำงานประจำ อยากมีอิสรภาพทางการเงิน มีเงินใช้ไม่ติดขัด ต้องทำยังไง มาเช็กกัน