ออกแบบปฏิทิน ตั้งโต๊ะ ด้วยตัวเองยังไง ? แจกไอเดียทำตามง่าย ใช้ได้จริง !
ชวนมาดูไอเดีย ออกแบบปฏิทิน ตั้งโต๊ะ สวยๆ พร้อม how to ที่ทำตามได้ง่ายๆ ออกแบบเองได้ตามความคิดสร้างสรรค์ และการใช้งาน ใช้เองก็ได้ ให้คนอื่นก็ดี
ในเดือนตุลาคมมีวันสำคัญคือ วันผู้สูงอายุสากล ตรงกับวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี เลยอยากจะชวนคุณฐิติพร หรือคุณยิ้ม นักสังคมสงเคราะห์ที่ทำงานกับผู้สูงอายุมาเป็นเวลานานกว่า 5 ปี มาพูดคุยเจาะลึกถึงบทบาทหน้าที่ที่เธอทำ นัก สังคมสงเคราะห์ อาชีพ นี้ทำงานเกี่ยวกับอะไร มีวิธีการทำงานอย่างไร ? อะไรคือแรงจูงใจที่ทำให้เธอทำงานตรงนี้ การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้สูงอายุนั้นเป็นอย่างไร สถานการณ์ผู้สูงอายุในประเทศไทยเป็นอย่างไรบ้าง และสังคมผู้สูงอายุในอนาคตจะเป็นอย่างไร มาพูดคุยกับเธอให้มากขึ้นกันค่ะ
ถ้าพูดถึงการเป็นนักสังคมสงเคราะห์ ภาพจำของที่หลายๆ คนนึกถึงก็คงจะเป็นการให้ความช่วยเหลือผู้คนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ สตรี ผู้พิการ และคนชรา หน้าที่หลักๆ ของนักสังคมสงเคราะห์คือการให้ความช่วยเหลือ บรรเทา และป้องกันปัญหาทางสังคมที่จะเกิดขึ้น เช่น ปัญหาเด็กถูกทอดทิ้ง ปัญหายาเสพติด ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว รวมถึงปัญหาผู้สูงอายุไม่มีคนดูแลหรือไร้ที่พักพิง ซึ่งคุณยิ้ม ฐิติพร งาสว่าง เป็นนักสังคมสงเคราะห์ อาชีพที่ทำงานร่วมกับผู้สูงอายุมามากกว่า 5 ปี ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ด้วยโครงสร้างประชากรที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตทำให้มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่อัตราการเกิดน้อยลง และคนในวัยแรงงานจะต้องดูแลผู้สุงอายุมากขึ้น ในฐานะนักสังคมสงเคราะห์ คุณยิ้มมองเห็นแนวโน้มสถานการณ์ผู้สูงอายุทั้งในปัจจุบันและในอนาคตเป็นอย่างไร และผู้คนในสังคมจะมีส่วนช่วยเหลือและให้ความร่วมมือเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในสังคมให้ดีขึ้นได้อย่างไร ไปอ่านกันค่ะ
“สวัสดีค่ะ ชื่อฐิติพร งาสว่าง ชื่อเล่นชื่อยิ้ม ตอนนี้ทำงานเป็นนักสงคมสังเคราะห์ที่ทำงานกับผู้สูงอายุโดยตรงค่ะ” คุณยิ้มทำงานที่จังหวัดนครปฐม ในหน่วยงานที่รับดูแลผู้สูงอายุที่ไม่สามารถอยู่ตัวคนเดียวได้ ซึ่งทางหน่วยงานจะทำการดำเนินเรื่องรับผู้สูงอายุเข้ามาดูแลในสถานที่แห่งนี้ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีความปลอดภัย และมีคนคอยดูแลช่วยเหลือให้ผู้สูงอายุมีความเป็นอยู่ที่ดี คุณยิ้มเป็นคนที่ยิ้มแย้มแจ่มใสสมชื่อ ด้วยบุคลิกที่ดูเป็นมิตร มีมนุษยสัมพันธ์ดี คุยเก่ง มีแววตาสดใส แต่ก็ดูมีความน่าเชื่อถือและดูพึ่งพาได้ นั่นอาจเป็นหนึ่งในคุณลักษณะของผู้ที่จะเป็นนักสังคมสงเคราะห์ซึ่งมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือผู้เหลือผู้คนที่หลากหลาย เราแอบคิดกับตัวเองในใจ
คุณยิ้มเล่าให้ฟังว่า ในช่วงวัยเด็กของตัวเองนั้น ก็ยังไม่ได้รู้จักการทำงานในสายสังคมสงเคราะห์หรือมีความสนใจในสายงานนี้แต่อย่างใด แต่เป็นคนที่พูดเก่ง ยิ้มเก่ง ชอบพูดคุยกับผู้อื่น มีความช่างสังเกตว่าบุคลิกของแต่ละคนเป็นแบบไหน เมื่อย้อนกลับไปคิดดูก็มองว่า สิ่งนี้อาจจะเป็บุคลิกภาพพื้นฐานของคนที่ทำงานด้านสังคมสงเคราะห์ เพราะนักสังคมสงเคราะห์เป็นอาชีพที่ต้องพูดคุยกับผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา และเป็นงานที่ต้องทำงานกับคนเป็นหลัก และคนอื่นมักบอกว่าตัวเองเป็นคนจิตใจดี มีจิตใจเมตตา เมื่อเห็นคนที่ลำบากถ้าให้ความช่วยเหลือได้ก็อยากจะช่วยเหลือ ซึ่งลักษณะนิสัยแบบนี้ คุณยิ้มบอกว่าเธอเองเป็นแบบนี้มาตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว
และในช่วง ม.ปลายนั้น คุณยิ้มเลือกเรียนสายวิทย์ – คณิต แล้วก็ได้รู้ตัวเองว่า ไม่ได้ชอบงานทางสายวิทยาศาสตร์ – คณิตศาสตร์เลย ไม่ว่าจะเป็นการทำงานในโรงพยาบาล เป็นแพทย์ เป็นพยาบาล หรือจะเป็นทางวิศวกรรม ก็ไม่ได้มีความสนใจทางด้านนั้นเลย ในช่วงที่จะต้องตัดสินใจว่าเธอจะเลือกเรียนคณะไหนดี คุณยิ้มก็ได้รู้จักงานสายสังคมสงเคราะห์จากคนใกล้ตัวที่รู้จักกันมาตั้งแต่เด็ก เลยรู้ว่ามีอาชีพแบบนี้อยู่ด้วย ซึ่งทำให้เธอสนใจในสายงานนี้มาก เมื่อทำการหาข้อมูลว่าสังคมสงเคราะห์ เรียนเกี่ยวกับอะไร ก็ได้พบว่าเป็นอาชีพที่มีงานรองรับเยอะ ได้ทำงานกับคนที่มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วย ผู้กระทำความผิด ผู้ป่วยในโรงพยาบาล ฯลฯ หรือผู้ที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ ทั้งยังมีหน่วยงานที่ทำเกี่ยวกับงานสังคมสงเคราะห์มากมาย คุณยิ้มจึงตั้งใจเอาไว้ว่า จะเข้าเรียนคณะนี้ในระดับมหาวิทยาลัย เพราะเป็นสายงานที่เธอคิดว่าเหมาะกับตัวเองมากๆ
ตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัยนั้น เธอเลือกคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และก็ได้เรียนที่นี่ตามความตั้งใจ เธอเล่าเกี่ยวกับการเรียนสังคมสงเคราะห์ของตัวเองให้ฟังว่า “การเรียนสังคมสงเคราะห์ค่อนข้างที่จะเหมาะกับบุคลิกภาพของเรา และตอบโจทย์กับความต้องการของตัวเอง ตรงกับความชอบของตัวเอง แล้วก็รู้สึกว่ามันไปได้ดี แล้วเราก็ตั้งธงเอาไว้เลยว่า ถ้าเรียนจบมาก็อยากจะเป็นนักสังคมสงเคราะห์”
บางคนอาจจะสงสัยว่า สังคมสงเคราะห์ เรียนเกี่ยวกับอะไร ? เนื้อหาวิชาของคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์จะเน้นไปที่การพัฒนาคนและสังคมอย่างยั่งยืน ตามหลักความเป็นธรรมในสังคม เคารพสิทธิ ศักดิ์ศรี ความแตกต่างหลากหลายของมนุษย์ คุณค่าของความเป็นมนุษย์ ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมต่างๆ ของผู้คน ความเปลี่ยนแปลงของสังคม สวัสดิการและความมั่นคง เป็นต้น ซึ่งคุณยิ้มก็ตั้งใจมาตลอดว่าเมื่อเรียนจบแล้วจะต้องทำงานด้านสังคมสงเคราะห์หรือเป็นนักสังคมสงเคราะห์ตามที่ได้วางแผนเอาไว้
เมื่อเรียนจบแล้ว ก่อนที่คุณยิ้มจะมาทำงานเป็นนักสังคมสงเคราะห์ที่ทำงานร่วมกับผู้สูงอายุนั้น เริ่มแรกเธอทำงานเป็นนักสังคมสงเคราะห์ที่ทำงานในศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งมาก่อน เราขอให้คุณยิ้มอธิบายงานในส่วนนี้อีกสักนิด เธอบอกว่า “ตอนนั้นเป็นนักสังคมสงเคราะห์ที่ทำงานกับคนไร้ที่พึ่ง เป็นงานหน้าด่านที่ต้องลงพื้นที่และได้เจอเคสที่เป็นกลุ่มคนไร้ที่พึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้พิการ คนเร่ร่อน ฯลฯ ที่มีปัญหาและต้องการความช่วยเหลือ โดยทำการให้คำปรึกษาและวางแผนว่าจะให้ความช่วยเหลืออย่างไร รวมถึงสอบถามว่าต้องการให้ความช่วยเหลืออย่างไรบ้าง เช่น พากลับภูมิลำเนา ต้องการที่อยู่อาศัย หรือต้องการหารายได้ เป็นต้น โดยจะแยกย่อยเป็นกลุ่มๆ ซึ่งแต่ละกลุ่มต้องการความช่วยเหลือที่แตกต่างกัน เราก็จะมาประเมินดูว่าสามารถประสานงานไปยังหน่วยงานไหนได้บ้างเพื่อให้ความช่วยเหลือต่อไป อะไรแบบนี้ค่ะ” ในส่วนของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งนั้น มีอยู่ทุกจังหวัด ซึ่งประชาชนสามารถติดต่อไปยังศูนย์เพื่อขอความช่วยเหลือได้เช่นกัน ทั้งนี้ คุณยิ้มทำงานกับกลุ่มคนไร้ที่พึ่งได้ประมาณ 3 ปี จากนั้นเธอก็เปลี่ยนมาทำงานกับกลุ่มผู้สูงอายุเป็นหลัก
เธอบอกว่า ในช่วงที่เธอเรียนระดับปริญญาตรีนั้น ยังมีคนเรียนสังคมสงเคราะห์ในจำนวนที่น้อย และตอนนั้นก็เปิดสอนแค่ 2 สถาบันเท่านั้นคือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติที่มีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์โดยเฉพาะ อาจด้วยเพราะคนยังไม่เข้าใจว่าสังคมสงเคราะห์ เรียนเกี่ยวกับอะไร หรือยังไม่ได้เปิดกว้างและให้ความสำคัญมากเท่าไหร่นักถึงได้รับความนิยมน้อย แต่ปัจจุบันมีเพิ่มอีกหลายสถาบัน เช่น มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรราชวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยสงขลานครินริทร์ วิทยาเขตปัตตานี, มหาวิทยาลัยบูรพา, มหาวิทยาลัยทักษิณ, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, มหาวิทยาลัยพะเยา และมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม เป็นต้น
และในประเทศไทยนั้น หน่วยงานที่ทำด้านสังคมสงเคราะห์สามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วนก็คือ หน่วยงานรัฐบาล และหน่วยงานเอกชน สำหรับรัฐบาลนั้น ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงยุติธรรม กระทรวงกลาโหม และในสังกัดคณะกรรมการอุดมศึกษา สำหรับหน่วยงานเอกชนนั้น มีมากกว่า 10,000 แห่งเลยทีเดียว ทั้งมูลนิธิและสมาคมต่างๆ (ข้อมูลจากมูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน) การเป็นนัก สังคมสงเคราะห์ อาชีพ นี้ ไม่จำเป็นจะต้องทำงานกับหน่วยงานของรัฐเพียงอย่างเดียว แต่สามารถทำในหน่วยงานเอกชน อย่างมูลนิธิ สมาคม หรือศูนย์ให้ความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ ด้วยก็ได้เช่นกัน
สำหรับงานด้านสังคมสงเคราะห์ในระดับ Global นั้น เราได้ไปหาข้อมูลมาเพิ่มเติม และพบว่า การสังคมสงเคราะห์นั้นมีต้นแบบมาจากการปฏิบัติงานในประเทศอังกฤษ โดยได้มีการสงเคราะห์คนยากจนที่มีผลเนื่องจากการเลิกระบบทาส ซึ่งก็ได้มีการพัฒนามาเรื่อยๆ จนมีการจัดการที่ดี จากนั้นก็ได้มีการทำด้านเกี่ยวกับการสังคมสงเคราะห์ที่อเมริกาเป็นลำดับต่อมา โดยประเทศสหรัฐอเมริกาได้ตรากฎหมายว่าด้วยความมั่นคงทางสังคม อันเป็นกฎหมายที่ครอบคลุมถึงบริการที่จัดให้กับคนประเภทต่างๆ ได้แก่ การประกันสังคม ซึ่งมีการประกันการว่างงาน การประกันการชราภาพและการประกันเมื่อถึงแก่กรรม และการสาธารณูปการ เป็นการให้ความช่วยเหลือคนตาบอด คนไร้ที่พึ่ง และคนชราที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ นอกจากนั้นยังมีบริการต่างๆ ที่ให้กับเด็กพิการ รวมทั้งบริการการดูแลสุขภาพมารดาและทารกอีกด้วย
คุณยิ้มอธิบายงานสังคมสงเคราะห์ด้วยประโยคสั้นๆ ว่า “เป็นการทำงานกับปัญหาของคนหลากหลายรูปแบบ” และถ้าเป็นตามหลักทฤษฎีแล้ว ลำดับขั้นตอนการปฏิบัติงานของนักสังคมสงเคราะห์ จะแบ่งออกเป็น 5 ขั้นตอนด้วยกันคือ
สำหรับการทำงานเป็นนักสังคมสงเคราะห์ อาชีพที่ต้องทำงานกับผู้สูงอายุ ณ ตอนนี้ การทำงานของคุณยิ้มก็คือ มีการลงพื้นที่เพื่อทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าผู้สูงอายุมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการช่วยเหลือจริงหรือไม่ เมื่อประเมินวินิจฉัยแล้วพบว่า แนวทางในการให้ความช่วยเหลือที่ดีที่สุดสำหรับตัวผู้สูงอายุคือการนำผู้สูงอายุเข้ามาอยู่ในสถานพักพิงเพื่อการมีชีวิตที่ดีของตัวผู้สูงอายุเอง ก็จะดำเนินเรื่องรับผู้สูงอายุเข้ามาดูแล ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือแบบปลายทางนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม คุณยิ้มเสริมว่า การทำงานของนักสังคมสงเคราะห์ในแต่ละส่วนนั้นก็ต่างกัน ขึ้นอยู่กับแต่ละบริบทของงานด้วย อย่างบางคนทำงานเชิงรุก เป็นในส่วนของต้นทาง เช่น ลงพื้นที่สำรวจ ตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงว่าคนๆ นั้นต้องการได้รับความช่วยเหลือหรือไม่อย่างไร สามารถประสานงานไปยังส่วนใดบ้าง หรือบางคนอาจจะเป็นในส่วนของปลายทาง อย่างที่คุณยิ้มทำอยู่ก็คือ เป็นนักสังคมสงเคราะห์ในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นปลายทางสุดท้ายของการให้ความช่วยเหลือนั่นเอง
คุณยิ้มบอกกับเราว่า การทำงานเป็นนักสังคมสงเคราะห์นั้น ต้องพบเจอกับปัญหาอยู่แล้วในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเล็กน้อยหรือปัญหาใหญ่ แต่เธอบอกว่า ปัญหาใหญ่ และเป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในตอนนี้มากขึ้นคือ มีผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งมากขึ้น และได้รับการติดต่อให้รับผู้สูงอายุเข้ามาดูแลเพิ่มมากขึ้น เธอเสริมว่า จากเมื่อก่อนที่รับโทรศัพท์วันละ 2 – 3 สาย ในตอนนี้บางวันมีโทรติดต่อเข้ามาตลอดทั้งวันเลยทีเดียว เราขอให้เธอเล่าให้ฟังอีกหน่อย คุณยิ้มบอกกับเราว่า
“ปัญหาที่พบในตอนนี้ก็คือ ความต้องการที่จะให้ผู้สูงอายุเข้ามายังศูนย์ดูแลมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน และศูนย์ดูแลผู้สูงอายุไม่สามารถรองรับผู้สูงอายุได้ทั้งหมด ปัจจุบันมีผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้งมากขึ้น และไม่สามารถรับเข้ามาดูแลได้อย่างครบถ้วนเพราะมีข้อจำกัดในด้านจำนวนบุคลากรและด้านสถานที่ โดยส่วนใหญ่แล้ว จะเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีใครดูแล ไม่มีลูกหลานดูแล อยู่ตัวคนเดียว มีฐานะยากจน ไม่มีคนมาอุปการะ ก็จะมีการติดต่อมายังศูนย์ดูแลผู้สูงอายุเพื่อให้เราเป็นฝ่ายรับดูแลผู้สูงอายุต่อไป ” ซึ่งมีทั้งกรณีที่ติดต่อเข้ามายังศูนย์เอง หรือศูนย์ได้รับแจ้งจากชุมชน เทศบาล รวมถึงการลงพื้นที่สำรวจเองด้วย
มีเคสที่น่าสนใจที่คุณยิ้มเล่าให้ฟังก็คือ ผู้สูงอายุบางคนป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมและมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ทางญาติเช่นลูกหลานก็จะโทรเข้ามายังศูนย์ว่าให้มารับตัวผู้สูงอายุไปดูแลแทนเพราะไม่สามารถอยู่ร่วมกับผู้สูงอายุได้ ซึ่งหน่วยงานที่คุณยิ้มทำงานอยู่นั้น ไม่ได้เป็นศูนย์ดูแลผู้สูงอายุสมองเสื่อมโดยตรง แต่มีหน่วยงานที่พร้อมดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมและลูกหลานไม่สามารถดูแลได้โดยเฉพาะ ซึ่งก็คือบ้านกึ่งวิถี ที่จังหวัดปทุมธานี ที่เป็นโครงการจัดตั้งสถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการ รวมถึงผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมด้วย แต่ความเข้าใจของคนส่วนใหญ่แล้วจะมองว่าศูนย์ดูแลผู้สูงอายุเป็นสถานที่รองรับผู้สูงอายุได้ทุกประเภท ซึ่งในความจริงแล้วไม่ใช่แบบนั้น คุณยิ้มเล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า
“ในเคสที่ผู้สูงอายุป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมและมีอาการหนักนั้น ความจริงแล้วหากสังเกตุอาการของผู้สูงอายุที่บ้านสักนิด ว่าถ้ามีอาการหลงๆ ลืมๆ บ่อยๆ หรือมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป ถามซ้ำบ่อยขึ้น การพาผู้สูงอายุไปตรวจเช็กกับแพทย์โดยเร็วนั้น ก็จะช่วยชะลออาการุนแรงได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วลูกหลานมักจะคิดว่าเป็นปกติของผู้สูงอายุและไม่พาผู้สูงอายุไปหาหมอจนอาการสมองเสื่อมรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และไม่สามารถอยู่ร่วมกับผู้สูงอายุได้ จึงแก้ไขปัญหาด้วยการส่งตัวผู้สูงอายุให้หน่วยงานอื่นๆ เป็นคนดูแลแทน ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็ไม่ได้มีศักยภาพในการรองรับดูแลผู้สูงอายุได้หมดทุกเคส เพราะผู้สูงอายุมีจำนวนมากเกินกว่าที่บุคลากรจะดูแลได้อย่างทั่วถึง”
เรามองว่า การหมั่นสังเกตและใส่ใจผู้สูงอายุที่บ้านนั้นมีความสำคัญมาก เป็นเรื่องปกติที่เมื่อร่างกายเข้าสู่วัยชราก็จะเกิดความเปลี่ยนแปลงต่างๆ โดยเฉพาะทั้งทางกายภาพ สุขภาพก็ไม่แข็งแรงเหมือนเคย และอาจมีเจ็บป่วยต่างๆ เกิดขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเจ็บป่วยทางกายหรือทางสุขภาพจิต หากนำผู้สูงอายุไปพบแพทย์โดยเร็ว ก็จะได้รู้วิธีป้องกันรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ และช่วยประคับประคองอาการและชะลอการดำเนินของโรคได้
คุณยิ้มเล่าให้เราฟังว่า “ผู้สูงอายุที่เรารับเข้ามาอยู่ในสถานดูแลผู้สูงอายุนั้นมีอยู่หลายกรณีด้วยกัน ทั้งกลุ่มที่อยู่ตัวคนเดียวมานาน ไม่มีครอบครัว มีฐานะยากจน ไม่มีคู่สมรสหรือไม่มีบุตรหลานคอยดูแล ไม่มีญาติพี่น้องให้พึ่งพิง หรือในบางกรณีถึงแม้จะมีลูกหลานแต่ก็ไม่ได้มีความสนิทสนมชิดเชื้อ ลูกหลานก็ไม่รับอุปการะ หรือในกรณีที่ถึงแม้ว่าจะมีลูกหลาน ลูกหลานก็มีฐานะยากจน หาเช้ากินค่ำ ไม่สามารถดูแลผู้สูงอายุได้ และตัวผู้สูงอายุเองก็ไม่สามารถอยู่ตัวคนเดียวได้ ทั้งในเรื่องของความปลอดภัยและการไม่มีรายได้เลี้ยงชีพ เราก็จะเป็นเหมือนปลายทางในการรับผู้สูงอายุเข้ามาดูแล เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถดำรงชีพต่อไปได้”
การดูแลผู้สูงอายุในหน่วยงานที่คุณยิ้มทำงานอยู่นั้น ก็จะดูแลให้การสนับสนุนเรื่องปัจจัย 4 เป็นพื้นฐาน ได้แก่ อาหาร 3 มื้อ มีเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ให้ที่อยู่อาศัย และรักษาพยาบาลเมื่อยามเจ็บป่วย มีการพาผู้สูงอายุไปโรงพยาบาลเมื่อป่วยไม่สบายหนัก มีนักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์คอยให้คำปรึกษาแก่ผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นการจัดบริการโดยที่ไม่มีค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม ต้องประเมินการรับผู้สูงอายุเข้ามาดูแลโดยประเมินตามเกณฑ์ของศูนย์ฯ เท่านั้น ไม่สามารถรับผู้สูงอายุเข้ามาดูแลทุกเคสได้ และในปัจจุบันก็ไม่สามารถรองรับผู้อายุได้เพียงพอต่อความต้องการอีกด้วย
จากสถิติปี 2566 ปัจจุบันมีผู้สูงอายุรวมทั้งสิ้นจำนวน 12.8 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งสิ้น 66 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 19.40 (สถิติจากกรมกิจการผู้สูงอายุ) ทั้งนี้ ในปี 2566 ยังเป็นปีที่ที่สังคมไทยเริ่มสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ด้วยจำนวนประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปี จำนวนมากเกือบ 20% ของประชากรทั้งหมด และยังมีแนวโน้มว่าจำนวนประชากรผู้สูงอายุจะมีมากขึ้นทุกปีอีกด้วย ในขณะที่อัตราการเกิดลดลง ในฐานะที่คุณยิ้มทำงานเกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุโดยตรง เธอให้ความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ผู้สูงอายุในปัจจุบันเอาไว้ว่า
“ปัจจุบันมีคนโสดเพิ่มมากขึ้น รวมถึงคนที่ยังไม่ได้แต่งงานสร้างครอบครัว และมีลูกกันน้อยลงด้วย ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ด้วยโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป คนกลุ่มวัยแรงงาน ณ ปัจจุบันจะกลายเป็นผู้สูงอายุที่จะไม่มีคนดูแลในอนาคต และมีความต้องการที่จะเข้ามายังศูนย์ดูแลเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอนหากรัฐบาลยังไม่เล็งเห็นถึงปัญหาเหล่านี้ ทั้งๆ ที่ปัญหามันเกิดขึ้นแล้ว และเป็นปัญหาใหญ่ที่จ่ออยู่หน้าประตู ที่สำคัญคือ หน่วยงานหรือศูนย์ดูแลผู้สูงอายุต่างๆ โดยเฉพาะในส่วนของรัฐอย่างสถานสงเคราะห์คนชราก็ไม่สามารถรองรับผู้สูงอายุได้อย่างเพียงพอ ปัจจุบันยังมีผู้สูงอายุอีกจำนวนมากที่ประสบปัญหา ทั้งทางด้านกายภาพ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ถูกทอดทิ้ง ไม่มีคนดูแล หรือจะเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ ครอบครัวไม่มีรายได้เพียงพอที่จะดูแลผู้สูงอายุได้”
คุณยิ้มยังเสริมอีกว่า ปัญหาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุที่ทางศูนย์ให้ความดูแลช่วยเหลือก็คือ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเก็บเงินเพื่ออนาคต ไม่มีการวางแผนเกษียณ และไม่ได้ให้ความสำคัญกับการวางแผนด้านการเงินสำหรับใช้จ่ายในวัยสูงอายุ จึงทำให้ไม่มีรายได้สำหรับเลี้ยงชีพ และไม่สามารถดูแลตัวเองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้หรือสามารถดำรงชีพในสังคมได้ด้วยตัวเอง ซึ่งประเด็นนี้เป็นสิ่งที่เธอมองว่าสำคัญมาก แต่มีการรณรงค์เรื่องการวางแผนด้านการเงินสำหรับในวัยชราน้อยมากๆ ทำให้กลายเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุในปัจจุบัน ถ้ามีการรณรงค์ในเรื่องของการวางแผนด้านการเงินเพื่ออนาคตมากขึ้น ก็จะทำให้คนเกิดการตระหนักและมีการเตรียมพร้อมเพื่อตัวเองมากขึ้น และอาจจะช่วยลดปัญหาในเรื่องของผู้สูงอายุไม่สามารถดูแลตัวเองได้ในยามแก่เฒ่า
สำหรับคนที่จะก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุ คุณยิ้มมองว่าต้องเตรียมตัวให้พร้อมก่อนที่จะก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุจริงๆ เช่น มีการวางแผนเกษียณ มีการวางแผนเรื่องการเงินในยามชรา ควรวางแผนเอาไว้เลยว่าจะมีรายรับจากทางไหนได้บ้างเพื่อที่จะสามารถดำรงชีพอยู่ได้แม้ไม่ได้ทำงาน หรือวางแผนที่จะทำงานหารายได้ตามความสามารถและศักยภาพของตน ซึ่งเธอมองว่า การวางแผนการเงินและการวางแผนเกษียณควรมีการให้ความรู้ตั้งแต่ในรั้วโรงเรียนหรือในระดับมหาวิทยาลัยเลยทีเดียว
นอกจากในเรื่องการเงินแล้ว ผู้ที่จะก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุควรวางแผนในเรื่องของสุขภาพด้วยการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และดูแลตัวเองให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ มีประกันสุขภาพที่สามารถซับพอร์ตในเรื่องค่าใช้จ่ายเมื่อไปยังโรงพยาบาล รวมถึงวางแผนในการออกแบบที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับการอยู่อาศัยในวัยสูงอายุ เช่น ควรเป็นบ้านชั้นเดียว บันไดไม่ลาดชัน พื้นไม่ลื่น หรือในกรณีที่มีผู้สูงอายุอยู่ในบ้าน ก็ควรเตรียมพร้อมติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ราวจับทั้งในห้องน้ำและตามทางเดิน มีกริ่งฉุกเฉิน มีไฟที่ทำให้เห็นทางเดินชัดเจนเพื่อป้องกันผู้สูงอายุหกล้ม มีทางลาดเอาไว้ในบ้าน มีออดฉุกเฉิน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้สูงอายุนั่นเอง และสำหรับคนที่อาศัยอยู่กับผู้สูงอายุและต้องดูแลผู้สูงอายุ คุณยิ้มให้ความเห็นเอาไว้ว่า
“สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่กับผู้สูงอายุ ก็มีสื่อการเรียนรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุที่สามารถค้นหาได้ตามอินเทอร์เน็ตทั่วไป หรือเข้าคลาสอบรมการดูแลผู้สูงอายุก็ได้ เรามองว่า จะดูแลผู้สูงอายุได้ดีก็ต่อเมื่อเราเข้าใจเขา ทั้งเข้าใจโรคที่ผู้สูงอายุเป็น เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของผู้สูงอายุในด้านต่างๆ ที่สำคัญคือ เปิดใจที่จะเรียนรู้วิธีการดูแลผู้สูงอายุและปรับตัวให้เข้ากับผู้สูงอายุ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข”
คุณยิ้มเล่าให้ฟังว่า เคสที่เธอเจอบ่อยก็คือ การที่ลูกๆ หลานๆ หรือผู้ที่อยู่ร่วมกับผู้สูงอายุมองว่าผู้สูงอายุเป็นปัญหาและพยายามจะผลักปัญหาออกจากตัว เช่น ในกรณีที่ผู้สูงอายุเจ็บป่วยและช่วยเหลือตัวเองได้ไม่มากก็จะทำการติดต่อมายังศูนย์เพื่อให้มารับตัวผู้สูงอายุไป ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วสามารถช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุได้หากรู้วิธีการที่ถูกต้อง เช่น การอาบน้ำ ป้อนข้าว ช่วยแต่งตัว หรือวิธีการพยุงตัวให้ผู้สูงอายุลุกขึ้นได้ ฯลฯ รวมถึงวิธีการอยู่ร่วมกับผู้สูงอายุที่มีอาการสมองเสื่อมที่ถ้าหากเข้าใจโรคของผู้สูงอายุก็จะมีวิธีการปรับตัวและปรับวิถีชีวิตให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้สูงอายุได้ หรือมีวิธีการพูดคุยกับผู้สูงอายุอย่างมีชั้นเชิงเพื่อให้เกิดความประนีประนอมต่อกัน
แต่โดยส่วนใหญ่ที่คุณยิ้มจะเจอก็คือ การมองว่าศูนย์ดูแลเป็นวิธีแก้ไขปัญหาวิธีเดียวที่มี และต่างก็ผลักภาระในการดูแลผู้สูงอายุมาให้กับทางศูนย์เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเธอก็ได้ย้ำอีกครั้งว่า ทางศูนย์เองก็ไม่ได้มีศักยภาพมากพอที่จะรองรับผู้สูงอายุได้ทุกเคส การเริ่มต้นแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองก่อนจึงเป็นสิ่งสำคัญมากๆ ซึ่งทางศูนย์ยินดีให้ข้อมูลและยินดีให้คำปรึกษาวิธีการดูแลผู้สูงอายุเพื่อที่จะสามารถนำไปปรับใช้ในการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านของตัวเองได้
ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาตินั้น ได้มีการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานในการดูแลผู้สูงอายุ หรือแนวทางการดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทย เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งนี้ คุณยิ้มมองว่า แนวทางการดูแลผู้สูงอายุอย่างยั่งยืนนั้น คือนโยบายการสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง โดยให้ผู้คนในชุมชนช่วยกันดูแลผู้สูงอายุในชุมชนของตัวเอง ซึ่งจะลดการผลักผู้สูงอายุออกจากสังคม และผู้สูงอายุยังสามารถใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนของตัวเองได้โดยที่ไม่ต้องเข้ามาอยู่ในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุต่างๆ ซึ่งคุณยิ้มได้อธิบายเพิ่มเติมในส่วนนี้เอาไว้ว่า
“การสร้างชุมชนให้เข้มแข็งจะช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ในสังคมและลดการผลักสูงอายุออกจากชุมชนเพื่อไปอยู่ในศูนย์ดูแลต่างๆ ปัจจุบันมีคนโสดเพิ่มมากขึ้น คนมีลูกน้อยลง สังคมไทยในอนาคตจะต้องเป็นสังคมที่มีจำนวนผู้สูงอายุมากกว่าคนวัยแรงงานอย่างแน่นอน และคนวัยทำงานก็ไม่สามารถแบบรักภาระดูแลผู้สูงอายุได้ทั้งหมดอยู่แล้ว เรามองว่า หากทุกชุมชน หรือทุกหมู่บ้านมีศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในช่วงกลางวันที่อยู่ในชุมชนของตนเอง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบล ที่สามารถพาผู้สูงอายุที่บ้านมาฝากเอาไว้ที่นี่ได้ในช่วงระหว่างที่ลูกหลานไปทำงาน ก็จะเป็นการแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุไม่มีคนดูแล โดยบุคลากรที่รับหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุก็อาจจะเป็นจิตอาสา อาสาสมัครในชุมชน อสม. หรือนักศึกษาพยาบาล นักศึกษากายภาพบำบัด นักจิตวิทยาที่ต้องการฝึกงานหรือเก็บชั่วโมงก็สามารถมาฝึกงานที่นี่ได้” คุณยิ้มบอกว่า ปัจจุบันศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทยที่เป็นส่วนของรัฐบาลนั้น ในอนาคตไม่สามารถรองรับผู้สูงอายุได้ทั้งหมดอย่างแน่นอน การกำหนดนโยบายให้คนในชุมชนช่วยกันดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ของตนเองโดยได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐ ก็อาจช่วยลดปัญหาผู้สูงอายุไม่มีใครดูแลและถูกทอดทิ้งได้
นอกจากนี้ เธอยังเสริมอีกว่า แนวทางที่มีความเป็นไปได้อีกอย่างก็คือ การกำหนดนโยบายให้รัฐวิสาหกิจหรือองค์กรเอกชนร่วมมือกันช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุในสังคม เป็นการทำโครงการ CSR (กิจกรรมเพื่อสังคม) เช่น จัดตั้งศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในแต่ละพื้นที่ ก็จะเป็นการลดปัญหาในเรื่องของศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่เป็นของรัฐไม่สามารถรองรับจำนวนผู้สูงอายุได้อย่างเพียงพอ “ผู้สูงอายุแต่ละคนก็อยากจะอยู่ในชุมชนของตัวเอง ไม่มีใครอยากจากบ้านไปอยู่ที่อื่น ถ้าชุมชนมีความเข้มแข็ง มีการประสานงานจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือหน่วยงานสาธารณสุขต่างๆ ก็จะเป็นแนวทางในการดูแลผู้สูงอายุที่ดีที่สุด ทั้งดีต่อตัวผู้สูงอายุเองและดีต่อชุมชนด้วย และยังเป็นวิธีแก้ไขปัญหาสถานดูแลผู้สูงอายุไม่สามารถรองรับผู้สูงอายุได้ทั้งหมดในอนาคตอีกด้วย” ซึ่งคุณยิ้มมองว่าการสร้างชุมชนให้เข้มแข็งเป็นวิธีการที่น่าจะมีความเป็นไปได้มากที่สุด และเป็นแนวทางที่ดีที่สุดทั้งกับผู้สูงอายุเองและกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้
ถ้าใครที่มีผู้สูงอายุอยู่ที่บ้านหรือได้มีโอกาสดูแลผู้สุงอายุ เชื่อว่าจะต้องเจอกับสถานการณ์ที่ขัดแย้งกับผู้สูงอายุบ้าง หรือไม่เข้าใจในการกระทำของผู้สูงอายุ เราจึงถามคุณยิ้มว่า ในฐานะที่คุณยิ้มดูแลผู้สูงอายุโดยตรงและมีประสบกาณ์ดูแลผู้สูงอายุในสถานดูแลมามากกว่า 5 ปี คุณยิ้มเจอกับสถานการณ์ไหนบ้าง และมีวิธีแก้ปัญหาอย่างไร เธอให้คำตอบที่น่าสนใจว่า “ผู้สูงอายุแต่ละคนมีความแตกต่างกัน มีปัญหาที่หลากหลายมาก แต่ทุกปัญหาสามารถแก้ไขได้ด้วยการรับฟังเขา ผู้สูงอายุต้องการคนที่รับฟังเขาโดยไม่ปฏิเสธหรือไม่ค้านเขาไปก่อน วิธีแก้ปัญหานั้น ไม่ได้มีวิธีการตายตัว แค่รับฟังว่าผู้สูงอายุต้องการอะไร และหาข้อตกลงร่วมกัน”
คุณยิ้มยกตัวอย่างว่า หากผู้สูงอายุไม่กินข้าว หรือกินน้อย ก็ลองถามผู้สูงอายุดูก่อนว่าอาหารไม่อร่อยหรือเปล่า หรือไม่สบายหรือเปล่า เพราะเหตุผลที่ผู้สูงอายุกินข้าวได้น้อยอาจเป็นเพราะว่าปวดฟัน หรืออาหารที่เราเตรียมให้แข็งเกินไป เคี้ยวไม่สะดวก แต่ไม่กล้าบอกเรา หรือในกรณีที่ผู้สูงอายุไม่พูด ไม่ยอมบอกในสิ่งที่ตัวเองคิด ไม่ยอมพูดในสิ่งที่ตัวเองต้องการ นั่นอาจเป็นเพราะว่าผู้สูงอายุกลัวว่าเราจะไม่เข้าใจ หรือวิตกกังวล กลัวว่าจะถูกลูกหลานมองไม่ดี กลัวลูกหลานจะรำคาญ คุณยิ้มบอกกับเราว่า ถ้าเป็นในกรณีนี้ ให้สร้างความเชื่อใจกับผู้สูงอายุโดยการไม่บังคับให้ท่านพูด แต่เข้าไปพูดคุยแสดงเจตนาดีว่าเราอยากจะช่วยเหลือท่าน เราหวังดีต่อท่านจริงๆ และบอกกับผู้สูงอายุว่า ถ้าอยากคุยปรึกษาอะไรกับเรา ก็สามารถพูดคุยได้เลย ซึ่งคุณยิ้มบอกว่า อาจจะต้องใช้เวลาให้ผู้สูงอายุรู้สึกสบายใจที่จะพูดคุยกับเราก่อน และแสดงเจตนาว่าเราไม่ได้จะตำหนิหรือต่อว่าแต่อย่างใด จากนั้นลองคาดเดาปัญหาหรือสิ่งที่ผู้สูงอายุต้องการ และถามดูด้วยน้ำเสียงที่เป็นมิตร หากผู้สูงอายุพร้อมที่จะพูดคุยกับเราแล้ว ก็จะเป็นฝ่ายเข้ามาพูดกับเราเอง
หรือถ้าเป็นในกรณีที่ผู้สูงอายุโวยวายไม่พอใจ คุณยิ้มก็เสนอวิธีแก้ไขสถานการณ์ว่า ให้พาผู้สูงอายุออกจากสิ่งเร้าที่ทำให้ผู้สูงอายุโมโห โวยวาย หรือแสดงอาการไม่พอใจ โดยการพาผู้สูงอายุออกจากสถานการณ์นั้นๆ ไปสงบสติอารมณ์หรือพูดให้ผู้สูงอายุใจเย็นๆ สูดลมหายใจเข้าลึกๆ ก่อน จากนั้นค่อยถามด้วยน้ำเสียงที่เป็นมิตรว่าเพราะอะไรถึงโวยวายหรือโมโห โดยห้ามตำหนิหรือแสดงอาการไม่พอใจใส่ผู้สูงอายุ เพราะอาจจะทำให้สถานการณ์แย่ลงได้ และรับฟังเหตุผลของผู้สูงอายุโดยที่ไม่ตำหนิหรือตัดสินผู้สูงอายุ คุณยิ้มบอกว่า ควรฟังจนท่านพูดจบก่อน ไม่ควรพูดขัดเพราะจะยิ่งทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกหงุดหงิด และเมื่อท่านอารมณ์เย็นลงแล้ว จึงพูดกับผู้สูงอายุอย่างเป็นเหตุเป็นผลว่าสิ่งที่ผู้สูงอายุทำนั้น ควรทำหรือไม่ หรือเสนอวิธีแก้ไขปัญหาอื่นๆ ที่ทำให้ผู้สูงอายุเห็นว่าเป็นวิธีที่ดีกว่าการโวยวาย ก็อาจจะทำให้ผู้สูงอายุแสดงพฤติกรรมนี้น้อยลง
ทั้งนี้ คุณยิ้มย้ำว่า ควรฟังผู้สูงอายุก่อนว่าท่านมีปัญหาอะไร ติดขัดตรงไหน จากนั้นจึงหาข้อเสนอหรือวิธีแก้ปัญหาให้ผู้สูงอายุ พูดคุยโดยใช้วิธีละมุนละม่อม ค่อยๆ พูด ค่อยๆ ให้คำแนะนำกับผู้สูงอายุ และเข้าใจธรรมชาติของผู้สูงอายุ ต้องอาศัยความใจเย็น มีทักษะการฟังที่ดีและฟังโดยไม่ตัดสินไปก่อน ซึ่งจะทำให้การดูแลผู้สูงอายุนั้นราบรื่นมากขึ้น
คุณยิ้มบอกกับเราว่า สิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สูงอายุมีอยู่หลายอย่างด้วยกัน แต่มีจุดประสงค์เดียวกันคือ ทำให้ผู้สูงอายุปลอดภัยและสามารถดำรงชีวิตได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นราวจับในห้องน้ำ กริ่งฉุกเฉินที่สามารถกดขอความช่วยเหลือได้ มีพื้นกันลื่นที่จะช่วยป้องกันผู้สูงอายุหกล้ม มีทางลาดสำหรับรถเข็น หรือมีลิฟต์สำหรับผู้สูงอายุในที่สาธารณะต่างๆ มีที่จอดรถสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่ต้องเดินไกล เป็นต้น ซึ่งสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ นี้ ควรมีอยู่ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ราชการ ห้างสรรพสินค้า บริเวณสถานีรถไฟฟ้า บริเวณสถานีขนส่ง ฯลฯ ที่สำคัญคือ ในกรณีที่ผู้สูงอายุไม่มีผู้ดูแล หากมีการออกแบบอาคารสถานที่ให้ผู้สูงอายุสามารถเดินทางได้เองหรือเดินเหินได้สะดวก ก็จะช่วยให้ผู้สูงอายุมีความปลอดภัยมากขึ้น
มีสิ่งที่เรียกว่าการออกแบบเชิงอารยสถาปัตย์ หรือ Universal Design เป็นการออกแบบอาคารสถานที่เพื่อให้ทุกคนได้ใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบาย สามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ได้โดยไม่เกิดอุปสรรคในการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเพศใดหรือวัยใด รวมไปถึงคนที่ทุพพลภาพ ซึ่งหัวใจสำคัญของการออกแบบคือ ความเท่าเทียมในการใช้งานได้ของทุกคน หากไม่มีการออกแบบที่สามารถรองรับความสะดวกสบายให้กับผู้สูงอายุได้ ก็จะเกิดปัญหาตามมาอย่างแน่นอน ทั้งในเรื่องอุปสรรคในการเดินทาง การสร้างความลำบากให้กับทั้งผู้ดูแลและตัวผู้สูงอายุเอง โดยเฉพาะในเรื่องของความปลอดภัยที่อาจเกิดอุบัติเหตุกับผู้สูงอายุและส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บตามมาได้
คุณยิ้มให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีแหล่งข้อมูลความรู้ที่บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้หลากหลายช่องทาง ทั้งการอบรมการดูแลผู้สูงอายุในรูปแบบออนไลน์ที่สามารถเข้าอบรมได้ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เช่น ทางเว็บไซต์ ThaiMOOC ที่มีคอร์สเรียนเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุซึ่งสามารถลงทะเบียนเรียนได้ฟรี นอกจากนี้ ยังมีเอกสารที่เผยแพร่ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุที่จัดทำโดยหน่วยงานราชการหรือโรงพยาบาลที่สามารถดาวน์โหลดได้เลย เช่น จาก สสส. จากกรมสุขภาพจิต จากกรมกิจการผู้สูงอายุ ฯลฯ ทั้งยังมีบทความในอินเทอร์เน็ตที่เขียนโดยแพทย์หรือหน่วยงานสาธารณสุขต่างๆ ที่สามารถเชื่อถือได้และนำเอาแนวทางการดูแลผู้สูงอายุไปปฏิบัติได้จริง ทั้งในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงในวัยสูงอายุ โรคของผู้สูงอายุ สุขภาพจิตของผู้สูงอายุ และอื่นๆ ซึ่งก็คงจะเป็นการดีที่สมาชิกในบ้านมีความรู้ความเข้าใจในตัวผู้สูงอายุมากขึ้น อันจะทำให้สามารถดูแลผู้สูงอายุได้ดีขึ้นด้วย
จากที่คุยกันมาสักพัก เราพอจับสังเกตได้ว่า งานนัก สังคมสงเคราะห์ อาชีพ ที่คุณยิ้มทำอยู่นั้น ไม่ใช่ว่าทุกคนจะทำได้ ต้องเป็นคนที่มีความใจเย็น มีความเห็นอกเห็นใจสูง ใจดีและอยากช่วยเหลือผู้อื่น เราเลยถามคุณยิ้มว่า ความสุขในการทำงานนี้คืออะไร เธอบอกว่า ความสุขและเสน่ห์ในการทำงานตรงนี้ก็คือ ได้พบเจอกับความท้าทายใหม่ๆ ในทุกวัน การทำงานตรงนี้ เป็นการทำงานกับปัญหาในรูปแบบต่างๆ เธอบอกกับเราแบบนั้น
“ความสุขในการทำงานตรงนี้คือ มันเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งที่เราจะต้องแก้ปัญหาให้ได้ และถ้าเราสามารถช่วยเหลือให้คนๆ นั้นก้าวข้ามปัญหาไปได้ หรือเรามีส่วนช่วยในการคลี่คลายปัญหานั้นๆ ก็จะรู้สึกมีความสุข การทำงานตรงนี้ทำให้เรามองเห็นว่าปัญหามันเป็นเรื่องปกติ และเป็นแค่อีกเรื่องหนึ่งที่เราต้องแก้ไข การคิดแบบนี้จะทำให้เราไม่จมอยู่กับปัญหาและสามารถวางมันลงได้ง่ายๆ การที่จะต้องเจอกับปัญหาในทุกๆ วันนั้นเป็นความเครียดอย่างแน่นอน แต่ก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนด้วยว่าจะมองอย่างไร ซึ่งเราเป็นคนที่ไม่เก็บเอามาคิดและสามารถวางมันลงได้เมื่อหมดเวลางาน”
อีกสิ่งหนึ่งที่คุณยิ้มบอกกับเราว่า ตัวเองได้ตกตะกอนจากการทำงานในส่วนนี้ก็คือ การเห็นสัจธรรมของชีวิต และทำให้เห็นว่าเราควรทำทุกวันให้ดีที่สุดเพื่อที่จะได้ไม่ต้องมาเสียใจอะไร ด้วยเพราะทำงานกับผู้สูงอายุที่อาจเรียกได้ว่าเป็นไม้ใกล้ฝั่งและจะต้องโรยราไปตามอายุขัย เธอบอกว่า ตัวเองเห็นเรื่องความแก่ ความเจ็บ ความตายในทุกๆ วันจนมองว่ามันเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ ทำให้เธอมองเห็นว่าความตายเป็นเรื่องใกล้ตัวมากๆ “การที่เรามองเห็นว่าความตายเป็นเรื่องใกล้ตัว ทำให้เราวางแผนชีวิตของตัวเองได้ดีขึ้น เตรียมความพร้อมให้กับคนข้างหลังในวันที่เราจากไป และทำทุกอย่างโดยคิดว่าแค่ทำวันนี้ให้ดีที่สุด ไม่ต้องคิดเสียใจว่ายังไม่ได้ทำอะไร ไม่กลัวความตายอีกต่อไปและเตรียมพร้อมสำหรับความตายที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกวัน ทุกเวลา”
มาถึงตรงนี้ ก็คงจะรู้กันแล้วว่า นี่คือสายงานที่คุณยิ้มอยากทำและมีความตั้งใจที่จะอยู่ในสายงานนี้ตั้งแต่สอบเข้าในระดับมหาวิทยาลัย และในขณะที่เรียนอยู่ เธอก็พบว่า มันยิ่งเป็นงานที่ใช่สำหรับเธอ คุณยิ้มมีการตั้งธงเอาไว่แล้วว่านี่คือสิ่งที่เธออยากจะทำ เธอบอกกับเราว่า “การทำงานตรงนี้เป็นสิ่งที่เราได้วางแผนเอาไว้แล้ว มันเป็นงานที่เราเคยคิดเอาไว้มาก่อนหน้านี้ และก็อยากจะทำตรงนี้ต่อไปในอนาคต เป็นอาชีพที่ทำให้เราเห็นคุณค่าของงาน และเห็นคุณค่าในตัวเอง เรารู้สึกว่าเรามีความสุขที่ได้ทำตรงนี้ แล้วเราก็มีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับนักสังคมสงเคราะห์ อาชีพที่ต้องอาศัย Mindset อย่างการไม่ตัดสินคนอื่น ไม่มองว่าใครถูกใครผิด การทำใจให้เป็นกลางมากๆ เป็นผู้ฟังที่ดี แล้วตัวเราเองก็มีความสามารถที่จะทำตรงนี้ได้ ถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำ เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะทำได้ ”
สำหรับเส้นทางอาชีพในอนาคต คุณยิ้มวางแผนไว้ว่าตนเองก็คงจะเติบโตตาม Career Path ในสายงานตามลำดับ และเธอก็จะทำหน้าที่ของเธอในตอนนี้ให้ดีที่สุดในทุกวัน เพราะการทำงานนี้ การได้ช่วยเหลือผู้สูงอายุ เป็นสิ่งที่ทำให้เธอเห็นคุณค่าในตัวเอง ทั้งยังเป็นความสุขของเธอที่ได้ช่วยเหลือและช่วยแก้ไขปัญหาให้กับผู้สูงอายุในแต่ละวันอีกด้วย
จากที่คุณยิ้มทำงานกับผู้สูงอายุมาหลากหลายคน และมีประสบการณ์ในการทำงานตรงนี้มามากกว่า 5 ปี เราเลยอยากถามในมุมมองของคุณยิ้มว่า แท้จริงแล้วความสุขของผู้สูงอายุนั้นคืออะไร ในวัยที่เรียกได้ว่าเป็นช่วงสุดท้ายของชีวิต อะไรคือความสุขของพวกเขา คุณยิ้มบอกว่า นิยามความสุขของผู้สูงอายุในแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน เช่นเดียวกับคนช่วงวัยอื่นทั่วๆ ไป บางคนมีความสุขกับการได้พบเจอกับคนเยอะๆ ได้พูดคุยกับคนอื่นๆ ได้ทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่นๆ ก็มีความสุขแล้ว แต่สำหรับผู้สูงอายุบางท่าน แค่ได้นั่งดูทีวีก็มีความสุข มีความพอใจแล้ว คุณยิ้มบอกกับเราว่า
“ความสุขของผู้สูงอายุไม่ได้ตายตัวว่าจะต้องเป็นแบบไหน แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้สูงอายุต้องการ และเรียกว่าเป็นความสุขของผู้สูงอายุแทบจะทุกคนก็คือ ความเข้าใจและการรับฟัง ซึ่งสิ่งนี้เป็นพื้นฐานความสุขของผู้สูงอายุทุกคน ผู้สูงอายุไม่ได้มีเป้าหมายในเรื่องความสุขที่ยิ่งใหญ่ขนาดนั้น ท้ายที่สุดแล้วล้วนเป็นความสบายใจ ความสบายใจคือเป้าหมายของผู้สูงอายุทุกคนที่เลือกจะมาอยู่ในศูนย์ดูแลแห่งนี้ การมีคนดูแลให้ความช่วยเหลือ มีการสนับสนุนในเรื่องของปัจจัย 4 แม้ในวาระสุดท้ายของชีวิตผู้สูงอายุก็สบายใจได้ว่าจะมีคนทำเรื่องให้ สิ่งเหล่านี้เป็นความมั่นคงปลอดภัยในบั้นปลายชีวิต ซึ่งความมั่นคงปลอดภัยเป็นเป้าหมายและความต้องการของผู้สูงอายุทุกคนที่เลือกมาอยู่ในศูนย์ดูแลแห่งนี้ ”
สำหรับคำถามที่ว่าผู้ดูแลหรือคนในครอบครัวของผู้สูงอายุ มีความสำคัญต่อผู้สูงอายุมากน้อยแค่ไหน คุณยิ้มตอบทันทีเลยว่า ครอบครัวคือสิ่งสำคัญของผู้สูงอายุมากที่สุด มีความสำคัญเป็นอันดับ1 และเชื่อว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ก็ปราถนาที่จะอาศัยอยู่กับคนในครอบครัว และปัจจัยที่จะทำให้ผู้สูงอายุมีความสุขหรือไม่นั้น ก็คือครอบครัวนั่นเอง ซึ่งความแก่ชราที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั้น ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน ทั้งทางร่างกาย ความคิด จิตใจ ลักษณะนิสัย ถ้าคนในครอบครัวไม่เข้าใจในธรรมชาติของผู้สูงอายุ และไม่หาวิธีประนีประนอมให้อยู่ร่วมกับผู้สูงอายุอย่างมีความสุขทั้งสองฝ่าย ก็ยากที่ผู้สูงอายุจะมีความสุขได้
ก่อนจะไปถึงคำถามสุดท้าย เราถามคุณยิ้มว่า อยากขอบคุณตัวเองในเรื่องอะไรบ้างไหม เธอบอกว่า มีสิ่งที่เธออยากขอบคุณตัวเองเยอะมาก คุณยิ้มได้บอกกับเราว่า “การจะเป็นนักสังคมสงเคราะห์ได้ เราต้องมีจิตใจที่เข้มแข็งมาก เลยอยากขอบคุณตัวเองที่มีจิตใจที่เข้มแข็งและแข็งแกร่ง และมีพลังใจล้นเหลือที่จะส่งต่อให้กับผู้อื่นได้ ขอบคุณตัวเองที่เลือกเรียนและเลือกทำงานเป็นนักสังคมสงเคราะห์ อาชีพที่ทำให้เห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้น เราสามารถแก้ไขได้เสมอ ทำให้เข้าใจชีวิตได้มากขึ้น และอยากขอบคุณทุกช่วงเวลาของชีวิตที่ทำให้เราได้เติบโต ถ้าเราย้อนกลับไปมองชีวิตของตัวเองที่ผ่านมา ก็อยากจะบอกกับตัวเองว่า ขอบคุณนะที่เติบโตมาด้วยกันขนาดนี้ และทุกครั้งที่มีปัญหาเข้ามา ก็อยากขอบคุณตัวเองที่มีสติและก้าวข้ามปัญหาทุกอย่างมาได้ แล้วทำให้ตกตะกอนกับตัวเองว่า ปัญหาทุกอย่างเราแก้ได้ ไม่มีปัญหาไหนที่เราแก้มันไม่ได้ เราจะแก้ปัญหาได้เสมอ”
คำขอบคุณตัวเองของคุณยิ้ม เป็นการขอบคุณตัวเองที่ทำให้เรารู้สึกว่ามันประทับหนักแน่นในใจของคนฟัง โดยเฉพาะคำขอบคุณที่ว่า “ขอบคุณตัวเองที่เติบโตมาด้วยกันขนาดนี้” เชื่อว่าทุกๆ คนนั้นมีเรื่องราวที่หลากหลาย และชีวิตก็ผ่านอะไรมามากมาย ทั้งปัญหาอุปสรรคและความยินดีต่างๆ สิ่งสำคัญคือ การมองเห็นว่าตัวเองได้เติบโตมามากขนาดไหนและภาคภูมิใจในตัวเอง ภาคภูมิใจที่เราเป็นเราในทุกวันนี้ นั่นเป็นความงดงามอย่างหนึ่งของการเป็นมนุษย์ที่เรารู้สึกว่ามันสวยงามและมีคุณค่ามากจริงๆ
ก่อนจากกันไป เราอยากให้คุณยิ้มฝากอะไรกับคนอ่านสักหน่อย คุณยิ้มบอกกับเราว่า ด้วยความที่ตัวเองที่เป็นนักสังคมสงเคราะห์ที่คลุกคลีกับผู้สูงอายุมาหลากหลายรูปแบบ ถ้าใครมีผู้สูงอายุในบ้าน ก็อยากให้เปิดใจและรับฟังพวกท่าน ให้ความสนใจ และหันไปมองพวกท่านสักหน่อย คอยสังเกตว่าผู้สูงอายุมีอะไรเปลี่ยนไปจากเดิมหรือไม่ ทั้งในด้านสุขภาพ อารมณ์ สังคม แล้วคอยดูว่าเราสามารถทำอะไรที่จะ Support พวกท่านได้หรือไม่ เพราะอย่างน้อยๆ พวกท่านก็เป็นพ่อแม่ที่เคยเลี้ยงดูเรามา อยากให้รับฟังท่านเหมือนกับที่ท่านเคยรับฟังเราตอนเด็กๆ ซึ่งนี่คือสิ่งที่คุณยิ้มอยากจะฝากถึงคนที่มีผู้สูงอายุอยู่ในบ้าน
นอกจากนี้ คุณยิ้มยังฝากไว้อีกด้วยว่า “อยากให้ลองถามตัวเองดูว่า ตัวเราเองอยากจะเป็นผู้สูงอายุแบบไหน อยากมีบั้นปลายชีวิตอย่างไร แล้วเราได้วางแผนหรือเตรียมการเอาไว้แล้วหรือยัง เราได้พยายามลงมือทำแล้วหรือยัง ทั้งเรื่องการเงิน เรื่องที่อยู่อาศัย เรื่องคุณภาพชีวิตของตัวเอง ไม่อยากให้ทุกคนบอกกับตัวเองว่า ถ้ารู้แบบนี้…ในวันที่มันสายไปแล้ว เพราะเวลามันย้อนคืนมาไม่ได้ ” เธอบอกว่า ถ้าเราไม่ตั้งคำถามกับตัวเองตั้งแต่วันนี้ ท้ายที่สุดแล้วเราอาจจะกลายเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพชีวิตไม่ดีในอนาคตก็ได้ ดังนั้น การเตรียมตัวไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ และวางแผนเป็นผู้สูงอายุในแบบที่ตัวเองอยากจะเป็น แล้วทำตามนั้น ก็ไม่ใช่สิ่งไกลตัวแต่อย่างใด
และสำหรับคนที่ทำงานเป็นนัก สังคมสงเคราะห์ อาชีพ ที่ให้ความช่วยเหลือกับกลุ่มคนต่างๆ เธอกล่าวทิ้งท้ายเอาไว้ว่า “อยากบอกว่าพวกเราเป็นผู้ที่มีพลังวิเศษมากๆ ทั้งในการรับฟังปัญหาคนอื่นและแก้ปัญหาได้อย่างเหลือเชื่อ แม้ว่าจะจบปัญหาได้อย่างสวยงามบ้าง ไม่สวยงามบ้าง แต่เราก็ทำเต็มที่แล้ว อาจจะไม่สามารถช่วยเหลือได้ทุกเคส แต่คุณก็ทำเต็มที่แล้ว คุณทำดีที่สุดแล้ว อย่าได้ไปเสียใจกับมัน” ซึ่งคุณยิ้มบอกว่า อยากจะให้กำลังใจคนที่ทำงานด้านสังคมสงเคราะห์เหมือนกัน ว่าคุณทำดีที่สุดแล้ว และจงทำต่อไป
Inspire Now ! : นักสังคมสงเคราะห์ เป็นอาชีพที่ต้องอาศัยทั้งแรงกาย แรงใจในการทำงาน ที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ การมี Enphaty ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญที่สุดในอาชีพนี้เลยก็ว่าได้ อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์และจะมีผู้สูงอายุในสังคมเป็นจำนวนมาก อาจจะต้องทำใจเอาไว้เลยว่า ในอนาคตเราอาจจะเป็นผู้สูงอายุที่ต้องดูแลตัวเองและพึ่งพิงตัวเอง หากไม่เตรียมตัวตั้งแต่เนิ่นๆ ก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาได้ในอนาคต แม้จะมีนักสังคมสงเคราะห์ อาชีพที่ให้ความช่วยเหลือผู้คนกลุ่มต่างๆ อยู่ก็ตาม แต่การคิดหวังพึ่งผู้อื่นโดยที่ไม่วางแผนเพื่อตัวเองก่อนคงไม่ใช่ความคิดที่ดีนัก ซึ่งจะต้องมีการร่วมมือกันในทุกๆ ฝ่าย ทั้งในภาคประชาชน ชุมชน รัฐบาล และเอกชน นอกจากนี้ แม้เราจะยังไม่ได้อยู่ในวัยสูงอายุ แต่การเข้าอกเข้าใจผู้สูงอายุและให้การช่วยเหลือสนับสนุนผู้สูงอายุด้วยวิธีการต่างๆ และดูแลผู้สูงอายุในบ้านของตัวเองให้ดีที่สุด ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะทำให้สังคมของเราเป็นสังคมที่เป็นมิตรต่อผู้สูงอายุ และทำให้ผู้สูงอายุได้มีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างที่ควรจะเป็น |
---|
DIY INSPIRE NOW คือแรงบันดาลใจของฉันใช่ไหม ? ได้รู้เกี่ยวกับการทำงานด้านสังคมสงเคราะห์กับผู้สูงอายุและสถานการณ์ผู้สูงอายุในปัจจุบันแล้วคิดเห็นอย่างไรบ้างคะ ? คิดว่าตัวเองจะมีวิธีการเตรียมตัวเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพได้อย่างไรบ้าง หรือมีวิธีการดูแลผู้สูงอายุในบ้านอย่างไรบ้าง มาคอมเมนต์บอกกันได้นะคะ ♡
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : mbu.ac.th, m-society.go.th, dop.go.th, saranukromthai.or.th, nxpo.or.th
Featured Image Credit : Titiporn Ngasawang
ชวนมาดูไอเดีย ออกแบบปฏิทิน ตั้งโต๊ะ สวยๆ พร้อม how to ที่ทำตามได้ง่ายๆ ออกแบบเองได้ตามความคิดสร้างสรรค์ และการใช้งาน ใช้เองก็ได้ ให้คนอื่นก็ดี
เกษียณแล้ว ทำอะไรดี แนะนำ อาชีพหลังเกษียณ พร้อมคำแนะนำในการเลือก ให้คุณได้ใช้ชีวิตทุกวันอย่างมีความสุข และรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง
ชวนดูวิธี โสดอย่างมีความสุข เอาใจสาวโสดทั้งที่ตั้งใจ และไม่ได้ตั้งใจ พร้อมแชร์นิยาม โสด หมายถึง อะไร พร้อมวิธีพัฬฒนาตัวเองที่ทำได้จริง