ออกแบบปฏิทิน ตั้งโต๊ะ ด้วยตัวเองยังไง ? แจกไอเดียทำตามง่าย ใช้ได้จริง !
ชวนมาดูไอเดีย ออกแบบปฏิทิน ตั้งโต๊ะ สวยๆ พร้อม how to ที่ทำตามได้ง่ายๆ ออกแบบเองได้ตามความคิดสร้างสรรค์ และการใช้งาน ใช้เองก็ได้ ให้คนอื่นก็ดี
เมื่อพูดถึงอาชีพที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีหรือคนที่ทำงานอยู่ฝ่ายไอที แต่ละคนจะคิดถึงอาชีพอะไรบ้างคะ ? โปรแกรมเมอร์ นักเทคนิค คนเขียนโค้ด วิศวกรคอมพิวเตอร์ หรือ White hacker ? แล้วก็เชื่อว่าหลายๆ คนก็คงจะนึกถึงคนทำงานที่เป็นผู้ชายเป็นหลัก มีใครรู้จัก “นักพิสูจน์หลักฐานดิจิทัล” กันมาก่อนไหมคะ ? ในบทสัมภาษณ์นี้ เราอยากจะพาคุณไปรู้จักกับสาวไอทีที่ทำงานเป็นนักพิสูจน์หลักฐานดิจิทัล อาชีพน่าสนใจ ที่บางคนอาจจะยังไม่เคยรู้จัก ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนนี้ มีความเชี่ยวชาญในสายงานที่เธอทำเป็นอย่างยิ่ง พร้อมใบ Certificate กว่า 100 ใบ ด้วยประสบการณ์การทำงานในสาย IT มามากกว่า 6 ปี การค้นหาความจริงทางดิจิทัลคืออะไร การสืบหาหลักฐานทางดิจิทัลทำได้อย่างไร งานของเธอเป็นแบบไหน มาพูดคุยกับเธอกันค่ะ
อาชีพต่างๆ ในโลกนี้ต่างก็ต้องอาศัยทักษะความสามารถเฉพาะทาง และพรสวรรค์ความชอบเฉพาะตัว เรียกได้ว่าแต่ละสายงานอาชีพนั้น เป็นการผสมผสานทั้ง Soft Skill และ Hard Skill เข้าด้วยกัน และถ้าพูดถึงอาชีพที่มีความเฉพาะทางสุดๆ หนึ่งในนั้นก็คืออาชีพในสายเทคโนโลยีที่ต้องอาศัยความรู้ทักษะ และความสามารถเฉพาะตัวสูงมาก ประกอบกับความชอบและความสนใจที่ต้องมีควบคู่ไปด้วยกัน เราเลยอยากจะชวนมาพูดคุยกับคุณชลทิพย์ พฤกษนันท์ หรือคุณหมูแดง นักพิสูจน์หลักฐานดิจิทัล คนรุ่นใหม่ไฟแรงที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและการสืบเสาะหาความจริงทางดิจิทัล งานของเธอเป็นแบบไหน เกี่ยวกับอะไร ถ้าอยากรู้จักอาชีพน่าสนใจอาชีพนี้ให้มากขึ้น ก็ตามมาเลยค่ะ
เราให้คุณหมูแดงแนะนำตัวสั้นๆ ว่าเธอเป็นใคร ตอนนี้ทำอะไรอยู่ “สวัสดีค่ะ ชื่อชลทิพย์ พฤกษนันท์ ชื่อเล่นหมูแดง ตอนนี้เป็นนักพิสูจน์หลักฐานดิจิทัล ตำแหน่ง Digital Forensic Consultant & Investigator ค่ะ” ชื่อตำแหน่งของเธอทำให้เราสงสัยและอยากรู้รายละเอียดกับมันมากขึ้น เลยขอให้คุณหมูแดงช่วยบอกเราคร่าวๆ ก่อนที่จะไปลงลึกว่างานของเธอเป็นแบบไหนกันแน่ เธอบอกกับเราว่า เป็นงานที่เกี่ยวกับการเก็บหลักฐานและพิสูจน์หลักฐานทางดิจิทัล คล้ายๆ กับการเป็นนักสืบ ที่จะสืบหาข้อมูลค้นหาหลักฐานทางไอที ไม่ว่าจะเป็นภาพ ข้อความ เสียง คลิปวิดีโอ หรือข้อมูลในรูปแบบอื่นๆ ที่อยู่ในอุปกรณ์เทคโนโลยีทั้งโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ แท็บเลต เป็นต้น
เมื่อได้ยินเกี่ยวกับงานของเธอคร่าวๆ แล้ว ทำให้เราเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า เป็นงานที่มีความเฉพาะเจาะจงขนาดนี้ คุณหมูแดงจะต้องมีความชอบหรือความสนใจในด้านไอทีมาตั้งแต่เด็กๆ เลยหรือเปล่า เธอเล่าให้ฟังว่า ในช่วงวัยเด็กยังไม่ได้สนใจในเรื่องไอทีมากขนาดนั้น แต่เธอเป็นคนที่ชอบเล่นเกมมาตั้งแต่เด็กๆ โดยเฉพาะเกมคอมพิวเตอร์ นั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นแรกๆ ที่ทำให้เธอคุ้นเคยกับอุปกรณ์ไอที ประกอบกับการ์ตูนเรื่องโปรดของเธอคือ ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน เธอชอบโคนันมาก และชอบเรื่องราวเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวน การไขคดี ค้นหาคำตอบ และด้วยนิสัยของคุณหมูแดงเองก็เป็นคนชอบค้นหาคำตอบ หรือลงมือทำเพื่อที่จะค้นคว้าวิธีการ – คำตอบด้วยตัวเอง นั่นเป็นคุณสมบัติที่อยู่ในตัวเธอมาตั้งแต่เด็กๆ เลยก็ว่าได้
“ตอนเด็กเราอาจจะยังไม่ได้สนใจเรื่องไอทีมากขนาดนั้น แต่เรารู้แค่ว่าเราชอบเล่นเกม เราเล่มเกมเยอะมากจนเราอยากจะเป็นนักสร้างเกม ก็เลยอยากจะทำอาชีพอะไรที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์หรือเกี่ยวกับเกมที่เราชอบ แต่มีเรื่องตลกสมัยตอน ม.ต้นก็คือ ตอนนั้นคุณครูถามว่า โตขึ้นเราอยากเป็นอะไร แล้วเพื่อนคนก่อนหน้าเราตอบไปแล้วว่าอยากเป็นนักสร้างเกม ซึ่งเราไม่อยากซ้ำกับเพื่อน เราก็เลยตอบไปว่า เราอยากเป็นนักสืบ เพราะเราชอบดูโคนัน” เธอตอบพร้อมหัวเราะน้อยๆ ซึ่งเธอเองก็ไม่ได้คิดมาก่อนว่า ในตอนนี้เธอจะได้เป็นนักสืบทางดิจิทัลจริงๆ
คุณหมูแดงใช้ชีวิตอยู่ในนิวซีแลนด์ตั้งแต่อายุ 11 ปี เมื่ออยู่ในช่วง ม. ปลาย ซึ่งเป็นช่วงที่จะต้องเลือกว่าอยากเรียนคณะอะไร เธอก็มีความตั้งใจว่าอยากมาสายไอทีหรือสายคอมพิวเตอร์ ด้วยเพราะความชอบส่วนตัวและความฝันที่อยากจะเป็นนักสร้างเกมมาตั้งแต่เด็กๆ ประกอบกับเธอเป็นคนที่พูดไม่เก่ง ไม่ค่อยชอบอยู่กับคนจำนวนมากๆ เท่าไหร่ จึงคิดว่าสายไอทีน่าจะเป็นงานที่เข้ากับตัวเธอ แล้วก็น่าจะหางานได้ง่ายอีกด้วย
“ตอนแรกเราตั้งใจจะเข้าคณะวิศวะฯ สาขาคอมพิวเตอร์ แต่ที่นิวซีแลนด์การเข้ามหาวิทยาลัยนั้น เราสามารถยื่นคะแนนหรือยื่นเกรดในวิชาที่มันเกี่ยวข้องกับคณะนั้นๆ ได้โดยที่ไม่ต้องสอบเข้า แล้วก็มีการเก็บคะแนนสำหรับการยื่นเข้ามหาวิทยาลัยมาตั้งแต่ ม.ต้น แต่เราเป็นคนที่ไม่ถนัดวิชาเลขหรือวิชาคณิตศาสตร์เท่าไหร่ แล้วก็ไม่ค่อยชอบวิชาเลขด้วย ซึ่งคณะวิศวะฯ ต้องใช้คะแนนคณิตศาสตร์เยอะมาก เราก็เลยไปเลือกอีกคณะหนึ่งซึ่งในตอนนั้นกำลังเปิดใหม่ ก็คือ Creative Technologies” เธอเข้าเรียนในคณะ Creative Technologies มหาวิทยาลัย Auckland University of Technology, New Zealand โดยจะเป็นการเรียนการสอนที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งเธอได้ลองยื่นคะแนนไป และได้รับการตอบรับ จึงได้เข้าเรียนที่นี่
เราถามเธอต่อว่า ตอนเรียนในคณะนี้เป็นยังไงบ้าง เธอสนุกกับมันไหม ? คุณหมูแดงตอบกับเราทันทีว่า เธอสนุกกับมันมาก เพราะได้ลองทำอะไรหลายๆ อย่างมากมายเกี่ยวกับสาย Tech ที่ไม่ได้เรียนแค่สาขาใดสาขาหนึ่งเท่านั้น แต่จะมีการสอนในทุกสาขาที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วงประมาณปี 1 เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนหลายๆ อย่างแล้วรู้ว่าตัวเองถนัดอะไร ส่วนใหญ่แล้วการเรียนการสอนจะไม่ใช่การนั่งแลกเชอร์หรือนั่งเรียนกับอาจารย์เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการทำโปรเจกต์ต่างๆ หรือทำโครงงานที่อาจารย์จะให้นักศึกษาจับกลุ่มแล้วไปคิดมาว่าอยากลองทำอะไร โดยอาจารย์จะเป็นผู้ให้คำแนะนำหรือเป็นที่ปรึกษาให้ และให้นักศึกษาไปค้นคว้าหาความรู้ ไปค้นหาวิธีการด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นการเรียนการสอนที่เน้นการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ในแต่ละโปรเจกต์นั้นก็ใช้เวลาประมาณเกือบครึ่งเทอม หรือบางครั้งก็ 1 เทอมเลยทีเดียว
“เราสนุกกับการเรียนมากเพราะเราได้ลองทำอะไรหลายๆ อย่างในแต่ละโปรเจกต์ การฟอร์มทีมทำให้เราได้ทำงานกับคนที่หลากหลายซึ่งมีความถนัดคนละแบบ แต่ละคนในคลาสมีความรู้คนละเรื่องที่สามารถเอามาใช้ในโปรเจกต์ได้ แล้วก็ได้เห็นการทำงานที่หลากหลายรูปแบบ อย่างการมอบหมายหน้าที่ให้สมาชิกกลุ่มแต่ละคนนี่ก็มีความสำคัญมาก เพราะแต่ละคนถนัดไม่เหมือนกัน มันเกี่ยวกับวางแผนการทำงานและการเลือกใช้คนให้เป็นด้วยนะ” เธอเล่าให้เราฟังเกี่ยวกับการทำโปรเจกต์ต่างๆ ในช่วงเรียนปี 1 ปี 2 ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการทดลองทำสิ่งต่างๆ ทั้งสิ่งประดิษฐ์อย่างการทำหุ่นยนต์ การเขียนโปรแกรม การทำโมเดล 3 มิติ การทำเกม เป็นต้น
เธอเล่าให้ฟังต่อว่า ในช่วงปี 3 ซึ่งเป็นช่วงปีสุดท้าย (มหาวิทยาลัยที่นิวซีแลนด์เรียน 3 ปี) เธอได้ทำโปรเจกต์ใหญ่ก็คือ การทดลองสร้างเกมจริงๆ ซึ่งจะต้องมีการวาดภาพออกแบบตัวละครในเกม ทำการปั้นโมเดล 3 มิติในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และเขียนโค้ดสร้างเกม ซึ่งการทำโปรเจกต์สร้างเกมตอนเรียนปีสุดท้าย ทำให้เธอได้รู้ว่า อาชีพนักสร้างเกมที่เธอใฝ่ฝันอาจไม่ใช่สิ่งที่เธอถนัดมากนัก “การสร้างเกมมีสิ่งที่จะต้องทำคือ การปั้นโมเดล ออกแบบตัวละคร แล้วก็เขียนโค้ด ซึ่งเราไม่ถนัดเท่าไหร่ อย่างการปั้นโมเดลก็ต้องเป็นคนที่มีทักษะด้านศิลปะ ซึ่งเราก็ไม่ได้มีความถนัดขนาดนั้น การเขียนโค้ดทำเกมก็ต้องมีความถนัดเรื่องเลข ซึ่งเราก็ไม่ถนัด แต่อย่างน้อยเราก็ได้ลองทำ ตอนทำโปรเจกต์เราก็สนุกกับมันนะ แต่มันไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ดีจนจะทำเป็นอาชีพได้ เราไม่ได้ถนัดขนาดนั้น”
เมื่อเธอได้คำตอบกับตัวเองว่า นักทำเกมอาจไม่ใช่เส้นทางอาชีพที่ใช่ในอนาคตอีกต่อไป เธอเลยมาวางแผนกับตัวเองต่อว่าจะทำอย่างไรดี ซึ่งความชอบและความสนใจในเรื่องของไอทีและเทคโนโลยีของเธอยังคงมีอยู่ คุณหมูแดงจึงไปเรียนเพิ่มเติมเป็นหลักสูตร Diploma ในด้าน IT Support เพื่อเป็นการต่อยอดทางด้านสาย Tech (Level 5 Diploma in PC Support, Techtorium NZIIT, New Zealand) “เรียกง่ายๆ ว่าเป็นสาย Technician หรือเรียนเป็นช่างเทคนิคก็แล้วกัน เกี่ยวกับการซ่อมแล้วก็ดูแลอุปกรณ์เทคโนโลยีเป็นหลัก ทั้งดูแล Server/ Hardware/Software ตั้งแต่การแกะคอม ซ่อมคอม ไปจนถึงดูแลระบบ Server ซึ่งตอนนั้นครูก็ชมเราตลอดว่าเราทำได้ดี แล้วก็เรียนรู้ได้เร็ว เรียนเพิ่มอีกประมาณ 1 ปี” เราถามว่า เรียกว่าตัวเองมีความเชี่ยวชาญด้านอุปกรณ์เทคโนโลยีได้ไหม คุณหมูแดงบอกว่า เรียกว่าเธอเชี่ยวชาญในระดับหนึ่งก็แล้วกัน เพราะเธอก็ซ่อมมาเยอะทั้งคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ส่วนตัวหรือคอมพิวเตอร์ในองค์กร โทรศัพท์มือถือ แล้วก็อุปกรณ์ไอทีอื่นๆ อีกหลายอย่าง
หลังจากที่เรียนจบในระดับ Diploma จบแล้ว คุณหมูแดงมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพซึ่งจะต้องมาทำการรักษาที่ประเทศไทย และใช้เวลารักษามากกว่า 2 ปี ในระหว่างที่ย้ายมาอยู่เมืองไทยนั้น ทำให้เธอได้มีโอกาสหางานในประเทศไทยด้วย ซึ่งงานแรกของเธอก็คือ ตำแหน่ง IT – Support Techonogy เรียกได้ว่าเป็นช่างเทคนิคแบบเต็มตัว เพราะเธอทำหน้าที่เป็นช่างซ่อม IT – Server เป็นหลัก พร้อมกับการดูแลซ่อมบำรุงอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ ภายในบริษัท ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดกลาง เธอเล่าให้เราฟังว่า เธอซ่อมตั้งแต่คอมพิวเตอร์ของพนักงานในบริษัท ซ่อมปริ้นเตอร์ ซ่อมสายแลน เปลี่ยน Wifi Router เรียกได้ว่าซ่อมและดูแลทุกอย่างที่เป็น IT เลยก็ว่าได้ เมื่อทำไปได้เกือบๆ 3 ปี เธอก็รู้สึกอิ่มตัวกับงานที่ทำอยู่ในที่สุด
“ถามว่ามันสนุกมั้ย มันสนุกนะ ข้อดีคือมันไม่ค่อยมีความเครียดความกดดันอะไรมาก เพราะเราไม่ต้องคิดอะไรมาก เน้นการลงมือปฏิบัติเป็นหลัก” ประกอบกับสุขภาพของเธอแข็งแรงดีแล้ว จึงตัดสินใจลาออกและกลับไปนิวซีแลนด์ แต่ปรากฎว่างานสายเทคโนโลยีที่นิวซีแลนด์หายากกว่าที่คิด ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่จะจ้างคนต่างชาติเข้ามาดูแลระบบ หรือเป็น Outsource ซะส่วนใหญ่ เธอพยายามหางานที่นู่นถึง 9 เดือนด้วยกัน แต่ก็ไม่ได้งานเลย คุณหมูแดงจึงตัดสินใจบินกลับมายังประเทศไทย เพื่อเริ่มต้นหางานที่นี่อีกครั้ง ซึ่งตำแหน่งที่เธอสมัครในตอนนั้นก็คือ Digital Forensics Technician และได้กลายมาเป็นงานของเธอในทุกวันนี้
“ในตอนแรกเราก็ไม่รู้หรอกว่าตำแหน่งนี้คืออะไร เพราะเราไม่เคยได้ยินชื่องานนี้มาก่อนเลย เพียงแต่ว่าเราอ่านใน Job Discribtion แล้วเรามีคุณสมบัติตรงตามที่เขาอยากได้ ตอนไปสัมภาษณ์งานเราก็ยังไม่แน่ใจว่างานนี้ต้องทำอะไรกันแน่ แต่เรามีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับงาน ก็เลยได้มาทำในตำแหน่งนี้” นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอก้าวเข้าสู่บทบาทการเป็นนักพิสูจน์หลักฐานทางดิจิทัล ในแบบที่เธอเองก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า จุดเริ่มต้นนี้ จะพาเธอไปยังเส้นทางแบบใดกันแน่ เพียงแต่ว่า เธอคิดว่าเธอน่าจะทำได้ และเป็น อาชีพน่าสนใจ ก็เลยลองดู
เมื่อเราได้ยินว่า คุณหมูแดงก้าวเข้าสู่ตำแหน่งนักพิสูจน์หลักฐานดิจิทัลโดยที่ตัวเธอเองก็ไม่เคยมีประสบการณ์การกับสิ่งนี้มาก่อน และยังไม่รู้แน่ชัดด้วยว่า ตำแหน่งนี้ต้องทำอะไรบ้าง เราเลยอยากถามเธอว่า เธอต้องเรียนรู้อะไรใหม่ๆ เพิ่มเติมบ้างไหม เธอตอบเราในทันทีว่า ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เยอะมากๆ ซึ่งงานนี้ มันเป็นการเปิดโลกของเธอเลยก็ว่าได้
“เราต้องเรียนรู้สิ่งใหม่เยอะมาก (ลากเสียงยาว) เกี่ยวกับงานสาย Digital Forensics ซึ่งเป็นการสืบค้นข้อมูล เก็บหลักฐานทางดิจิทัล แล้วนำมาวิเคราะห์ว่า สิ่งนี้เป็นหลักฐานเอาผิดได้หรือไม่ สามารถใช้เป็นหลักฐานในทางกฎหมายได้หรือไม่ ซึ่งมันจะมีเรื่องกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เป็นการผสมผสานระหว่างงานนักสืบ งาน IT และกฎหมาย” โดยคุณหมูแดงได้เรียนรู้และทำความรู้จักกับตำแหน่งงานนี้ด้วยตัวเอง เนื่องจากช่วงนั้นมีการระบาดของ COVID – 19 พอดี และต้องทำงานแบบ Work from Home ซึ่งเธอก็ยังไม่ได้มีโอกาสลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลหลักฐานจริงๆ ทำให้เธอต้องศึกษาเนื้องานผ่านการเรียนในคอร์สออนไลน์ที่บริษัทส่งมาให้เธอเรียนบ้าง หรือตัวเธอเองก็ไปหาเรียนคอร์สอื่นๆ ด้วยตัวเองบ้าง เธอบอกกับเราว่า โชคดีที่เธอได้เปรียบทางด้านภาษา เพราะส่วนใหญ่แล้วคอร์สเรียนฟรีจะเป็นภาษาอังกฤษ ช่วงเวลานั้น ทำให้เธอได้มีเวลาศึกษา ทำความรู้จัก และเรียนรู้สายงานนี้อย่างเต็มที่
“เมื่อได้ลองศึกษาเรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านการเรียนคอร์สออนไลน์ต่างๆ ก็รู้สึกว่างานนี้เป็นอาชีพน่าสนใจ แล้วเราก็เข้าใจเนื้องานได้เป็นอย่างดี คิดว่าตัวเองน่าจะทำได้” ในครั้งที่เธอได้ลงมือปฏิบัติงานจริงๆ ก็มีหัวหน้างานที่ช่วยสอนและไกด์ไลน์ให้เธออีกแรงหนึ่ง เธอบอกกับเราว่า ด้วยเพราะเธอเป็นคนที่เรียนรู้สิ่งใหม่ได้รวดเร็ว ทำให้เธอใช้เวลาไม่น่านก็ทำความเข้าใจกับมันได้
เราขอให้คุณหมูแดงอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับเนื้องานของเธอแบบลงลึกหน่อยว่า นักพิสูจน์หลักฐานทางดิจิทัล คืออะไร เนื้องานของเธอเป็นแบบไหนกันแน่ เพราะถ้าเทียบกับอาชีพสายไอทีอื่นๆ อย่างโปรแกรมเมอร์ นักเขียนโค้ด หรือนักเทคนิคที่เธอเคยทำ นักสูจน์หลักฐานทางดิจิทัลไม่ใช่อาชีพที่คนส่วนใหญ่รู้จักอย่างแน่นอน บางคนอาจจะมองว่าเป็นอาชีพแปลกๆในไทยเลยก็ได้
คุณหมูแดงอธิบายให้เราฟังว่า งานของเธอคล้ายๆ กับการเป็นนักสืบ แต่เป็นนักสืบที่ไปเก็บข้อมูล สืบค้นหลักฐานทางดิจิทัลที่อยู่ในอุปกรณ์ไอทีต่างๆ เช่นคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ รวมถึงอีเมล โซเชียลมีเดีย ไฟล์ที่ถูกลบ ไฟล์ที่ถูกซ่อน รูปภาพ ข้อมูลทางการเงิน แชทสนทนาทางธุรกิจ การจดบันทึก ฯลฯ ที่สามารถใช้เป็นหลักฐานเอาผิดผู้กระทำความผิดได้ อ่านมาถึงตรงนี้บางคนอาจจะกังวลว่า จะถูกสืบค้นข้อมูลส่วนตัวหรือเปล่า ซึ่งต้องบอกก่อนว่า งานพิสูจน์หลักฐานทางดิจิทัลที่คุณหมูแดงทำอยู่นั้น เป็นการสืบค้นข้อมูลเพื่อเป็นหลักฐานที่บริษัทต่างๆ ได้มาขอใช้บริการ ในกรณีที่สงสัยว่าพนักงานในบริษัทมีการช่อโกงหรือยักยอกเงินบริษัท หรือทำผิดกฎของบริษัท และอุปกรณ์ที่ถูกสืบค้นนั้น จะต้องเป็นอุปกรณ์หรือเป็นทรัพย์สินของบริษัทที่บริษัทมีสิทธิ์สืบค้นได้ เช่น คอมพิวเตอร์ของบริษัท โทรศัพท์มือถือของบริษัท หรืออุปกรณ์เทคโนโลยีของบริษัท เป็นต้น ทั้งนี้ การสืบค้นข้อมูลนั้น ไม่สามารถทำได้กับอุปกรณ์ส่วนตัวของผู้อื่น การสืบค้นข้อมูลจากอุปกรณ์ไอทีส่วนตัว จะต้องได้รับการเซ็นชื่อยินยอมก่อน ถึงจะสามารถทำได้
ในการทำงานของคุณหมูแดง เธอจะเข้าไปเก็บข้อมูลจากอุปกรณ์ไอทีของบริษัทด้วยอุปกรณ์เฉพาะ หรือทางบริษัทสสามารถส่งอุปกรณ์นั้นๆ มาในแล็ปเพื่อทำการสืบค้นข้อมูลก็ได้เช่นกัน เมื่อทำการเก็บข้อมูลเรียบร้อยแล้ว จะนำไปเข้าโปรแกรมวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาหลักฐาน และนำมาวิเคราะห์อีกครั้งหนึ่งว่าข้อมูลหลักฐานที่ได้นั้น สามารถใช้เป็นหลักฐานทางกฎหมายได้หรือไม่ ซึ่งการเก็บข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลนั้น คุณหมูแดงบอกว่า จะต้องใช้เทคนิคเฉพาะทางวิชาชีพในสายงาน Forensics ที่ต้องได้รับการฝึกฝนอบรมมาโดยเฉพาะเท่านั้นจึงจะสามารถทำได้ ไม่ใช่การค้นไฟล์ รูปภาพ หรือข้อมูลต่างๆ ในเครื่องคอมพิวเตอร์แบบที่คนทั่วไปทำกัน
“งานของเราเป็นแบบ B2B หรือ Business – To – Business ซึ่งรับทำให้กับบริษัทโดยเฉพาะเท่านั้น ในกรณีที่เจ้าของบริษัทได้รับเบาะแส หรือมีความสงสัยว่า เกิดการทุจริตในบริษัท หรือมีการฉ้อโกงในบริษัทเกิดขึ้นหรือเปล่า ถ้าบริษัทอยากเอาผิดพนักงานหรือต้องการหาหลักฐานมาพิสูจน์ว่า พนักงานคนนี้มีพฤติกรรมฉ้อโกงหรือไม่ เราก็จะให้บริการไปเก็บข้อมูลเพื่อนำมาหลักฐานต่อไป ซึ่งเราไม่รับทำให้กับบุคคลเนื่องจากมีกฎหมายคุ้มครองในเรื่องข้อมูลส่วนตัวอยู่ เราไม่มีสิทธิ์ไปค้นอุปกรณ์เทคโนโลยีส่วนตัวของใครโดยที่ไม่ได้รับการอนุญาตจากเจ้าของก่อน เพราะมันผิดกฎหมาย แต่ในนามของบริษัทแล้ว การสืบค้นข้อมูลจากอุปกรณ์ที่เป็นของบริษัท บริษัทย่อมสามารถทำได้” เธออธิบายเกี่ยวกับงานให้กระจ่างแจ้งมากขึ้น
เราถามคุณหมูแดงเพิ่มเติมว่า ถ้าอยากเป็นนักพิสูจน์หลักฐานดิจิทัลต้องเรียนเฉพาะทางไหม ต้องเรียนด้านไหนมาบ้าง เธอบอกกับเราว่า อย่างน้อยควรจะมีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องเทคโนโลยีในระดับหนึ่ง อาจเป็นคนที่เคยทำงานในสาย Tech มาก่อน หรือรู้ระบบการทำงานของคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์เทคโนโลยีอื่นๆ เพราะต้องทำงานกับอุปกรณ์เหล่านี้โดยตรง ส่วนทักษะความรู้เฉพาะของวิชาชีพนั้น สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้ เพราะตัวเธอเองก็ไม่ได้เรียนเกี่ยวกับ Digital Forensics มาก่อนที่จะทำงานนี้ เธอมองว่า สามารถไปอบรมเพิ่มเติมหรือเรียนรู้เพิ่มเติมด้วยตัวเองได้ สามารถฝึกฝนได้ แต่อย่างน้อยต้องมีทักษะความรู้ในเรื่องของอุปกรณ์เทคโนโลยีมาในระดับหนึ่ง คุณหมูแดงเสริมว่า ในประเทศไทยก็มีคณะที่สอนด้านนี้เฉพาะอยู่เหมือนกัน ที่เธอรู้จักก็มีที่มหาวิทยาลัยมหิดล หรือในประเทศอังกฤษ ก็มีคณะที่เกี่ยวกับสายงานนี้อยู่เหมือนกัน
เราถามถึงเคสที่เธอจะต้องไปทำการเก็บข้อมูลบ่อยๆ ว่า ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเคสแบบไหน คุณหมูแดงเล่าให้ฟังว่า ส่วนมากที่เจอก็จะเป็นการโกงบริษัท (เธอแอบย้ำกับเราว่า เจอบ่อยมากๆ เลย กับการโกงบริษัท) แล้วก็จะเป็นกรณีที่เจ้าของบริษัทได้เบาะแสมาว่า มีการฉ้อฉลทุจริตเกิดขึ้นภายในบริษัทแล้วมีมูลค่าความเสียหายสูงก็จะมาว่าจ้างให้มีการสืบค้นข้อมูลหลักฐาน เนื่องจากการใช้บริการพิสูจน์หลักฐานดิจิทัลนั้นก็มีค่าใช้จ่ายสูงเหมือนกัน อย่างการสืบค้นข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ ค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่เครื่องละ 80,000 บาท โทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ตอยู่ที่เครื่องละ 40,000 บาท หรือการออกไปเก็บข้อมูลนอกสถานที่ ค่าบริการจะอยู่ที่ชั่วโมงละ 5,000 บาท (ค่าบริการขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัท) นอกจากจะต้องใช้เทคนิคทางวิชาชีพโดยเฉพาะแล้ว ยังมีค่าบริการอื่นๆ อีกมากมาย และหลังจากที่ได้ข้อมูลหลักฐานมาแล้ว นักพิสูจน์หลักฐานดิจิทัลก็จะเขียนรีพอร์ตให้กับบริษัทที่ว่าจ้างว่าข้อมูลที่ได้มานั้น ตรงกับเบาะแสที่มีอยู่หรือไม่ สามารถใช้เป็นหลักฐานในการเอาผิดได้หรือไม่ หรือใช้เป็นหลักฐานทางกฎหมายได้หรือไม่ เป็นต้น
“นอกจากการเขียนรายงานโดยละเอียดแล้ว ถ้ามีการฟ้องร้องเกิดขึ้นในชั้นศาล นักพิสูจน์หลักฐานดิจิทัลก็ต้องไปเป็นพยานในชั้นศาลด้วย ในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิค และจะต้องตอบคำถามหรือให้การกับศาลเกี่ยวกับข้อมูลหลักฐานทางดิจิทัลต่างๆ ซึ่งทนายฝ่ายตรงข้ามก็อาจถามคำถามหรือแย้งในคำให้การที่สามารถทำลายความหน้าเชื่อถือของเราได้เหมือนกัน ซึ่งเราจะต้องตอบคำถามให้ได้ การฝึกอบรมเยอะๆ โดยมีใบประกาศนียบัตรหรือมีหลักฐานมายืนยันว่าเราเชี่ยวชาญในสายงานนี้จริงๆ ก็จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับเราได้” คุณหมูแดงเสริมเพิ่มเติม
คุยกันมาได้สักพัก เราก็เริ่มมองเห็นภาพการทำงานของอาชีพน่าสนใจอาชีพนี้ได้ชัดเจนแจ่มแจ้งมากขึ้น เลยอยากจะรู้ว่า ด้วยเนื้องานแบบนี้ มีปัญหาอุปสรรคและความท้าทายในรูปแบบไหนบ้าง คุณหมูแดงบอกกับเราว่า ความท้าทายของงานนี้ก็คือ เธอต้องเรียนรู้อยู่เรื่อยๆ ต้องอัพเดททักษะความรู้อยู่เสมอ ด้วยเพราะทำงานกับอุปกรณ์เทคโนโลยี ซึ่งมีการอัพเดทรุ่นใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ทั้งระบบคอมพิวเตอร์ Harddisk แต่ละรุ่น หรือระบบในอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ – อุปกรณ์ IT ต่างๆ อย่างคอมพิวเตอร์แต่ละรุ่น โทรศัพท์มือถือแต่ละรุ่นแต่ละแบรนด์ ก็มีการทำงานที่ต่างกัน มีวิธีเก็บข้อมูลที่ต่างกัน และเธอก็ต้องเรียนรู้การทำงานของเครื่อง เรียนรู้ระบบของอุปกรณ์ไอทีแต่ละรุ่นที่หลากหลาย ยังไม่รวมถึงแอปพลิเคชั่นใหม่ๆ ที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการทุจริตหรือฉ้อโกงได้ อย่างเช่น แอปต่างๆ ที่ใช้สนทนาติดต่อสื่อสาร เป็นต้น ซึ่งคุณหมูแดงบอกกับเราว่า มันมีรายละเอียดยิบย่อยเยอะมาก
“ถ้าคนที่ทำความผิดมีความรู้เรื่องเทคโนโลยีด้วยก็จะทำให้เก็บข้อมูลหลักฐานได้ยากมากขึ้น เพราะอาจจะทำการปลอมแปลงข้อมูล หรือมีวิธีการโกงรูปแบบใหม่ หรือมีการโกงที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งเราก็จะต้องเรียนรู้และอัพเดททักษะความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ” เธอบอกกับเรา
ถ้าเป็นศิลปิน ก็ต้องมีทักษะทางศิลปะ มีความคิดสร้างสรรค์ หรือถ้าเป็นครูอาจารย์ ก็ต้องมีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ให้ผู้เรียนเข้าใจได้ เราเลยสงสัยว่า ถ้าเป็นอาชีพแปลกๆในไทยอย่างนักพิสูจน์หลักฐานดิจิทัล คุณสมบัติที่สำคัญที่สุดนอกเหนือจากความรู้ความสามารถในเรื่องเทคโนโลยี คืออะไร คุณหมูแดงตอบเราว่า คุณสมบัติสำคัญของอาชีพนี้ก็คือ Investigation Mindset “ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายก็คือ ต้องมี mindset ด้านการสืบสวน สือเสาะข้อมูล มีความอยากรู้อยากเห็น เพราะเรียกว่าเป็นนักสืบทางดิจิทัลก็ได้อยู่เหมือนกัน ก็เลยต้องมีสกิลในการสืบสวน การสืบค้นข้อมูล ต้องมีความสงสัยใคร่รู้ แล้วก็ต้องเป็นคนช่างสังเกต ใส่ใจรายละเอียดมากๆ ต้องคิดสมมติสถานการณ์ คิดดูว่าคนทำผิดจะโกงแบบไหน โกงยังไง พลิกแพลงแบบไหนได้บ้าง มองหาความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น และพยายามหาข้อมูลหลักฐานมาสนับสนุน” และคุณหมูแดงเองก็เป็นคนที่ชอบค้นหาคำตอบในสิ่งที่ตัวเองสงสัยมาตั้งแต่เด็กๆ ทั้งยังชอบในเรื่องของการสืบสวนสอบสวนด้วยเพราะเป็นแฟนการ์ตูนโคนันตัวยง เราได้ยินแบบนั้นก็เกิดความรู้สึกประหลาดใจขึ้นมา ไม่น่าเชื่อว่าสิ่งที่เธอชอบในสมัยเด็กๆ นั้น จะกลายมาเป็นวิชาชีพของเธอในตอนโตเป็นผู้ใหญ่ได้
เราอยากให้คุณหมูแดงพูดถึงเสน่ห์ของอาชีพน่าสนใจอาชีพนี้สักหน่อย เธอบอกกับเราว่า เสน่ห์ของงานนี้คงจะเป็นความเฉพาะตัวสูง โดยส่วนตัวแล้ว เธอรู้สึกว่ามันเท่ และน้อยคนจะรู้ว่ามีอาชีพนี้อยู่ หรือรู้ว่าอาชีพนี้ทำอะไรกันแน่ แล้วก็เป็นอาชีพที่ต้องให้ทักษะความสามารถเฉพาะตัวสูงมาก ทำให้เธอรู้สึกว่ามันมีความพิเศษอยู่ในตัว และเธอเองก็สนุกกับมัน เพราะได้เรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เรื่อยๆ ส่วนความสุขของการทำงานนี้ก็คือ เธอบอกว่ามันเป็นการ Combine สิ่งที่เธอชอบทั้งสองอย่างเข้าด้วยกัน แล้วมันก็อยู่ในจุดที่พอดีในระดับหนึ่ง “อย่างที่เล่าไปคือ เราเป็นคนชอบหาคำตอบ แล้วก็ชอบเทคโนโลยี ซึ่งงานพิสูจน์หลักฐานดิจิทัลมันคือการรวมเอาสองสิ่งนี้มาไว้ด้วยกัน ก่อนที่จะมาทำงานนี้ เราก็ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีอาชีพแบบนี้ด้วย พอได้ลองทำดูก็พบว่า มันคืองานที่รวมสิ่งที่เราชอบและอยากทำมาตั้งแต่เด็กๆ เข้าด้วยกัน ความสนุกที่เกิดขึ้นคือ เราเพลิดเพลินกับการได้สืบเสาะหาข้อมูล แล้วก็ได้ทำงานทางด้านไอทีที่เราชอบด้วย”
ในฐานะที่เธอทำงานเกี่ยวกับข้อมูลหลักฐาน ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็น Fact หรือเป็นความจริง ทั้งยังต้องพิสูจน์หาความจริงในทางกฎหมายด้วย เราเลยอยากชวนคุยเกี่ยวกับประเด็นที่ว่า ข้อมูลความจริงนั้น มีความสำคัญกับเธอมากขนาดไหน “ถ้าเป็นในเรื่องการทำงานนั้น มีความสำคัญมาก เพราะข้อมูลความจริงที่เราได้มา เป็นสิ่งที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า มีการทำความผิดจริงหรือไม่ ซึ่งจะมีผลในทางกฎหมายต่อไปหากมีการฟ้องร้องเอาความผิดกัน หลักฐานคือสิ่งที่เป็นความจริง สามารถมองเห็นได้เป็นรูปธรรม หากเรารู้ความจริงก็จะสามารถไขคดีหรือจบเคสได้แบบกระจ่างแจ้ง และได้คำตอบในที่สุด ใขณะเดียวกัน หากนายจ้างหรือบริษัทที่เป็นลูกค้าของเราให้ข้อมูลไม่หมดหรือพูดความจริงไม่หมด หรือให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง ก็อาจจะทำให้ทำงานยากมากขึ้น เช่น บอกข้อมูลที่ไม่ตรงกับหลักฐานที่เราไปเก็บมา ก็จะทำให้พิสูจน์หลักฐานยากขึ้น”
สำหรับในเรื่องของการใช้ชีวิตประจำวัน คุณหมูแดงได้ให้คำตอบสั้นๆ แต่กระชับตรงใจว่า “แล้วทำไมต้องโกหกล่ะ ? ก็คล้ายๆ กับงาน ความจริงมันอยู่ตรงนั้นอยู่แล้ว ยิ่งคุณโกหกมากขนาดไหน สักวันหนึ่งความจริงก็ต้องปรากฏออกมา เพราะความจริงมันอยู่ตรงนั้น” ความจริงเป็นสิ่งที่ไม่ตาย ความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว และสุดท้ายความจริงจะปรากฎ อาจไม่ใช่เรื่องที่กล่าวเกินจริงเลยก็ได้ เห็นด้วยไหมคะ ?
คุณหมูแดงบอกกับเราว่า ในปัจจุบันนี้ งานที่เธอทำอยู่ เป็นการ Combine สิ่งที่เธอชอบและถนัดทั้งสองอย่างเข้าด้วยกัน และอยู่ในจุดที่พอดีในระดับหนึ่งแล้ว จากตำแหน่งเริ่มต้นคือ Digital Forensics Technician สู่การเป็น Digital Forensics Consultant & Investigator ที่เรียกได้ว่าอยู่ในระดับผู้เชี่ยวชาญ เราอยากรู้ว่า เธอมองตัวเธอเองนับต่อจากนี้ไปอย่างไร “แม้จะอยู่ในระดับผู้เชี่ยวชาญแล้ว ก็อยากจะเก่งมากขึ้น หรือเก่งในระดับที่ลงลึกกว่านี้ มีความเชี่ยวชาญมากกว่านี้ อาจจะอยู่ในตำแหน่งหัวหน้าทีม หรือ Expert ในสายงานนี้ไปเลย ในตอนนี้เราเรียกว่าตัวเองเป็น Worker หรืออยู่ในฝ่ายปฏิบัติงานเป็นหลัก ซึ่งอยากจะทำให้ส่วนของ Leader หรือ Consultant เป็นหัวหน้าทีมและเป็นที่ปรึกษาทีมดูบ้าง ซึ่งจะเน้นไปที่การบริหารจัดการทีมเป็นหลัก การวางแผนกลยุทธ์ การคุมทีม หรือติดต่อประสานงานกับลูกค้า อะไรแบบนั้น” เธอบอกว่า เธอก็ยังสนุกกับการลงมือปฏิบัติงาน แต่ก็อยากลองทำในสายงานการวางแผนหรือการเป็นที่ปรึกษาดูเหมือนกัน ซึ่งเรามองว่า นอกจากเธอจะเป็นคนที่ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แล้ว เธอยังเป็นคนที่มี Growth Mindset อีกด้วย
“ถ้าถามว่าตอนนี้มันตรงกับเป้าหมายหรือความฝันของเราแล้วหรือยัง มันก็ตรงนะ ทั้งความเป็นนักสืบและการทำงานสาย IT จะเรียกว่าโชคดีก็ได้ ในตอนนี้ก็ถือว่าเป็นทางที่ใช่แล้ว จากตอนแรกที่ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับตำแหน่งนี้เลย จนมาอยู่ในระดับผู้เชี่ยวชาญภายในระยะเวลา 3 ปี และถ้าเทียบจากงานแรกที่เป็นคนซ่อมคอม ตอนนี้กลายมาเป็นนักสืบดิจิทัล ก็พูดได้ว่าตัวเองมาไกลเหมือนกัน เราก็ภูมิใจในตัวเองนะ อาจเป็นข้อดีของเราที่เป็นคนเรียนรู้ได้เร็ว และสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ แล้วก็ได้ทำอะไรใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ ได้ทำงานที่น้อยคนนักจะรู้จัก และเรารู้สึกว่ามันมีความเฉพาะตัวมากๆ”
“ขอบคุณที่ตัวเองชอบลองทำอะไรใหม่ๆ แล้วก็ขอบคุณตัวเองที่เป็นคนชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ เวลาเจอกับสิ่งใหม่ๆ เราก็ชอบเอาตัวเองเข้าไปเรีนรู้ การเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ทำให้เราได้เจอสิ่งที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ถ้าเราไม่ลองเรียนรู้สิ่งนี้ ก็คงไม่รู้ว่ามีอาชีพน่าสนใจแบบนี้อยู่ ซึ่งมันเป็นงานที่ตรงกับความสนใจและความถนัดของเรา แล้วก็อยากขอบคุณความพยายามที่จะเรียนรู้ด้วยตัวเอง ถึงแม้เราจะสนใจ แต่ไม่พยายามลงมือทำหรือหาคำตอบ มันก็หยุดอยู่แค่นั้น” คุณหมูแดงบอกว่าเธอเป็นคนที่เน้นการลงมือทำ เพื่อเป็นการหาคำตอบว่าเธอทำสิ่งนี้ได้หรือไม่ เรียนรู้สิ่งนี้ได้หรือไม่ เธอชอบมันไหม มันเหมาะกับเธอไหม เธอเลยเลือกที่จะลงมือปฏิบัติก่อน ส่วนในเรื่องของทฤษฎีก็สามารถเรียนเพิ่มประกอบกันได้ เธอบอกกับเราแบบนั้น
คุยกันมาถึงช่วงสุดท้ายแล้ว ก่อนจากกันเราเลยขอให้เธอฝากอะไรถึงคนอ่านนิดหน่อย เธอบอกว่า “ก็อยากบอกว่า ปล่อยให้ตัวเองได้ลองสิ่งใหม่ๆ บ้าง อย่าไปจำกัดตัวเอง มันอาจจะมีสิ่งที่ใช่กว่าก็ได้ อย่างในสายอาชีพที่เราทำอยู่ เราอาจจะยังไม่รู้ว่ามันมีอะไรอื่นๆ อีกมากมาย ถ้าลองทำไปก่อน เราอาจจะเจองานที่ใช่กับตัวเองมากกว่า” อย่างในสายอาชีพของเธอ เริ่มแรกการเป็นช่างเทคนิคนั้นก็ตอบโจทย์ในเรื่องของความชอบความถนัดในด้านเทคโนโลยีแล้ว แต่ถ้าเธอไม่เปิดโอกาสให้กับตัวเองและลองสิ่งใหม่ๆ ดูบ้าง แม้จะเป็นสิ่งที่เธอไม่เคยรู้จักมันมาก่อน เธอก็อาจจะไม่ได้มาทำงานในตำแหน่งนี้ ที่มันตอบโจทย์ความชอบของเธอมากกว่าเดิมก็เป็นได้
Inspire Now ! : ไม่ว่าความจริงจะถูกซ่อนอยู่ที่ไหน ทั้งในโลกออฟไลน์หรือออนไลน์ ทั้งในโลกดิจิทัลหรือโลกแห่งความจริง สุดท้ายแล้วความจริงจะถูกค้นพบจนได้ เพราะจะมีคนที่คอยทำหน้าที่ค้นหาความจริงอยู่เสมอ อย่างเช่นนักพิสูจน์หลักฐานทางดิจิทัล อาชีพที่อาจจะยังไม่รู้จักแพร่หลายมากนัก แต่ก็ถือว่ามีความสำคัญในโลกยุคปัจจุบันที่มีข้อมูลดิจิทัลอย่างมหาศาล การคุยกับคุณหมูแดงในครั้งนี้ นอกจากจะได้รู้จักสายงานอาชีพนี้มากขึ้นแล้ว อาจทำให้หลายๆ คนมีความหวังขึ้นมาด้วยว่า จะพบทางที่ใช่และเหมาะกับตัวเองเข้าสักวัน เหมือนกับที่คุณหมูแดงได้พบสิ่งที่ผสมผสานความชอบของตัวเองได้อย่างลงตัว สิ่งสำคัญคือเราต้องไม่ปิดกั้นตัวเองและเปิดโอกาสให้ตัวเองได้เรียนรู้ ได้ลองทำสิ่งใหม่ๆ เพราะบางครั้งสิ่งที่ใช่ ก็อาจเป็นสิ่งที่เราไม่เคยรู้จักมันมาก่อนเลยในชีวิตก็ได้นะคะ |
---|
DIY INSPIRE NOW คือแรงบันดาลใจของฉันใช่ไหม ? การเปิดใจกับสิ่งใหม่ๆ หรือการมองหาความจริงใหม่ๆ อาจทำให้เราได้เจอกับทางที่ใช่ก็ได้ คิดเหมือนกันมั้ยคะ ? มีอาชีพแปลกๆในไทยอะไรอีกบ้างที่คนยังรู้จักไม่มากนัก คอมเมนต์บอกกันได้เลยนะคะ ♡
Featured Image Credit : Chonthip Pruksanunt
ชวนมาดูไอเดีย ออกแบบปฏิทิน ตั้งโต๊ะ สวยๆ พร้อม how to ที่ทำตามได้ง่ายๆ ออกแบบเองได้ตามความคิดสร้างสรรค์ และการใช้งาน ใช้เองก็ได้ ให้คนอื่นก็ดี
เกษียณแล้ว ทำอะไรดี แนะนำ อาชีพหลังเกษียณ พร้อมคำแนะนำในการเลือก ให้คุณได้ใช้ชีวิตทุกวันอย่างมีความสุข และรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง
ชวนดูวิธี โสดอย่างมีความสุข เอาใจสาวโสดทั้งที่ตั้งใจ และไม่ได้ตั้งใจ พร้อมแชร์นิยาม โสด หมายถึง อะไร พร้อมวิธีพัฬฒนาตัวเองที่ทำได้จริง