ฆราวาสธรรม คือ, สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ

ฆราวาสธรรม คือ อะไร ? รู้จักเข็มทิศนำทางชีวิตท่ามกลางความวุ่นวายของสังคมสมัยใหม่กัน !

ในสังคมปัจจุบันจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามาใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะหลักฆราวาสธรรม เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข และเป็นผู้ที่มี “อริยทรัพย์ 7 ประการ” คือ ผู้ที่มีความสุขอย่างยั่งยืน รวมถึงช่วยให้สามารถปฏิบัติงานได้สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย DIYINSPIRENOW จึงอยากเชิญชวนผู้อ่าน มาเป็นผู้ที่มีความสุข ความสงบ ด้วยการฝึกปฏิบัติตามหลักฆราวาสธรรมกันในบทความนี้ค่ะ

ฆราวาสธรรม คือ อะไร ? แนวทางสู่ความสำเร็จและความสุขในชีวิตประจำวัน

ในโลกที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายและความท้าทาย ผู้คนมักมองหาแนวทางในการดำเนินชีวิตที่มีความสุขและสมดุล ฆราวาสธรรม คือ หลักธรรมสำคัญในพระพุทธศาสนาที่ตอบโจทย์ความต้องการนี้ โดยเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ที่ใช้ชีวิตในสังคมทั่วไป ไม่ได้บวชเป็นพระภิกษุ หลักธรรมนี้ประกอบด้วยหลัก 4 ประการที่ช่วยให้ผู้คนสามารถดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข ประสบความสำเร็จ และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น ฆราวาสธรรมจึงเป็นเสมือนเข็มทิศที่ช่วยนำทางให้เราสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีคุณค่าและมีความหมาย เรามาทำความเข้าใจเรื่องนี้ไปพร้อมๆ กันเลยค่ะ

หนังสือ ชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์

ฆราวาสธรรม คืออะไร ?

Image Credit : canva.com-pro

ฆราวาสธรรม คือ หลักธรรมคำสอนของที่พระพุทธเจ้า เพื่อให้ผู้ครองเรือนได้นำไปเป็นแนวทางในการดำรงชีวิตให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ สำหรับผู้ครองเรือนนั้น หมายถึง บุคคลที่อยู่ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น ครอบครัว เพื่อน รวมถึงผู้ร่วมงานในองค์กร เป็นต้น ซึ่งการอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มนั้นควรมีธรรมะเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติตนต่อกัน จึงจะทำให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขได้ อีกทั้งยังสามารถทำงานให้สำเร็จตามเป้าหมายขององค์กรอีกด้วย ดังนั้นเราจึงสามารถใช้ชีวิตอยู่ในศีลธรรมอันดีงามได้ ถ้าปฏิบัติตามหลักฆราวาสธรรม 4 ประการ ได้แก่ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ เพื่อให้ชีวิตของเราดำเนินต่อไปอย่างสงบสุข รวมไปถึงการทำงานร่วมกับบุคคลในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สำหรับ 4 ประการที่ว่านั้นมีรายละเอียดยังไงบ้าง มาดูกันต่อเลยค่ะ

1. สัจจะ – ความซื่อสัตย์ต่อกัน

สัจจะ หมายถึง ความซื่อสัตย์ จริงใจต่อตนเองและผู้อื่น เป็นการรักษาคำพูดและการกระทำให้ตรงกัน ไม่หลอกลวงหรือบิดเบือนความจริง สัจจะเป็นพื้นฐานของความไว้วางใจและความน่าเชื่อถือในสังคม กล่าวในเชิงปฏิบัติ คือ ตัวเราต้องมีความซื่อสัตย์ ซื่อตรงต่อผู้อื่น อย่าเป็น “คนไม่มีสัจจะวาจา” จนไม่น่าเคารพนับถือ ซึ่งหลักธรรมข้อนี้ ถือว่าเป็นคุณธรรมขั้นพื้นฐานของบุคคลที่อยู่ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น ครอบครัว เพื่อน หรือผู้ร่วมงานในองค์กรต่างๆ ถ้ามีปัญหาอะไร ก็สามารถปรึกษากันด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่ปิดบังกัน และต้องไม่ประพฤติตนเป็นคนหน้าไหว้หลังหลอก ไม่คิดทรยศผู้อื่นในทุกๆ เรื่อง ที่สำคัญผู้ที่มีความซื่อสัตย์ไม่ว่าจะทำอะไรก็ย่อมมีผู้เชื่อใจ และไปที่ไหนก็มีคนช่วยเหลือเกื้อกูลเวลาที่เราลำบากอีกด้วย

2. ทมะ – การข่มใจ

ทมะ คือ การรู้จักควบคุมตนเอง ฝึกฝนจิตใจ และพฤติกรรมให้อยู่ในกรอบที่ดีงาม รวมถึงการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เช่น การควบคุมอารมณ์ การละเว้นจากสิ่งไม่ดี และการฝึกฝนทักษะใหม่ บังคับควบคุมตัวเองให้ได้ทุกสถานการณ์ ไม่เป็นคนเจ้าอารมณ์ไร้เหตุผล ไม่เป็นคนโกรธง่าย เมื่อผู้อื่นปฏิบัติตัว หรือพูดไม่ถูกใจเรา และต้องรู้จักการให้อภัยซึ่งกันและกัน ที่สำคัญต้องรู้จักปรับปรุงตัวเองให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป ในด้านความประพฤติ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข

3. ขันติ – ความอดทน

ขันติ หมายถึง ความอดทนอดกลั้นต่อความยากลำบาก ความเจ็บใจ และสิ่งยั่วยุต่างๆ เป็นความสามารถในการรับมือกับปัญหาและอุปสรรคโดยไม่ย่อท้อ รวมถึงการอดทนต่อความแตกต่างของผู้อื่น ส่งผลให้เป็นคนมีความกล้าที่จะเสี่ยง และไม่หลบเลี่ยงงานที่ได้รับมอบหมาย จนสามารถทำงานสำเร็จบรรลุตามเป้าหมายขององค์กร จะเห็นได้ว่าคนที่มีความอดทนมักจะประสบความสำเร็จในทุกๆ เรื่อง ดังนั้นเราสามารถประสบความสำเร็จได้ เพียงแค่มีความอดทนมากพอค่ะ

4. จาคะ – ความเสียสละ

จาคะ คือ การรู้จักสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม การแบ่งปัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และมีน้ำใจต่อผู้อื่น ไม่เพียงแต่การให้วัตถุสิ่งของ แต่รวมถึงการให้ความรู้ กำลังใจ และการช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ ต้องรู้จักการเสียสละ มีน้ำใจต่อผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็น เพื่อน คู่ครอง ครอบครัว และเพื่อนร่วมงาน โดยปฏิบัติต่อผู้อื่นให้เหมือนกับปฏิบัติต่อตัวเอง เพราะการเสียสละผลประโยชน์ส่วนตัวให้แก่ส่วนรวมนั้น จะทำให้เราได้รับความรัก และความเคารพนับถือจากคนรอบข้าง ไม่ว่าเราจะทำงานอะไร ก็มักจะมีคนเข้ามาช่วยเหลือเกื้อกูลเราอยู่เสมอ นอกจากนี้ หากเรารู้จักเสียละ และแบ่งปันน้ำใจต่อคนรอบข้าง รับรองว่า ชีวิตมีความสุขแน่นอนค่ะ

    หลักธรรมทั้ง 4 ประการนี้เมื่อนำมาปฏิบัติร่วมกัน จะช่วยให้ฆราวาสสามารถดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น และสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมโดยรวมได้นั่นเองค่ะ

    หนังสือ เทคนิคเลิกคิดเยอะแล้วทำทันที

    ประโยชน์ที่ได้จากฆราวาสธรรม มีอะไรบ้าง ?

    Image Credit : canva.com-pro

      การนำหลักฆราวาสธรรมมาปฏิบัติจึงไม่เพียงแต่ส่งผลดีต่อตัวเราเอง แต่ยังช่วยสร้างสังคมที่น่าอยู่และมีความสุขร่วมกัน ซึ่งประโยชน์ที่ได้จากการปฏิบัติตามหลักฆราวาสธรรมมีมากมาย ทั้งต่อตนเองและสังคม ลองมาดูกันค่ะว่ามีอะไรบ้าง

      1. สร้างความน่าเชื่อถือและไว้วางใจ : การยึดมั่นในสัจจะทำให้เป็นที่เชื่อถือของผู้อื่น ส่งผลดีต่อความสัมพันธ์และการทำงาน
      2. พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง : ทมะช่วยให้เราควบคุมตนเอง และพัฒนาทักษะใหม่ๆ อยู่เสมอ
      3. เพิ่มความสามารถในการจัดการปัญหา : ขันติช่วยให้เรารับมือกับความท้าทายและอุปสรรคได้ดีขึ้น
      4. สร้างสังคมที่น่าอยู่ : จาคะส่งเสริมการแบ่งปันและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทำให้สังคมมีความเอื้ออาทร
      5. ความสัมพันธ์ที่ดีมากขึ้น : ทั้ง 4 หลักธรรมช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว ที่ทำงาน และในสังคม
      6. ลดความขัดแย้ง : การปฏิบัติตามหลักฆราวาสธรรมช่วยลดความขัดแย้งและสร้างความเข้าใจระหว่างกัน
      7. เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน : ความซื่อสัตย์ การควบคุมตนเอง ความอดทน และการเสียสละ ล้วนส่งผลดีต่อการทำงาน
      8. สร้างความสมดุลในชีวิต : ช่วยให้เราจัดการกับความต้องการส่วนตัวและความรับผิดชอบต่อสังคมได้อย่างสมดุล
      9. เสริมสร้างสุขภาพจิตที่ดี : การปฏิบัติตามหลักธรรมช่วยลดความเครียดและสร้างความสุขภายในจิตใจ
      10. นำไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน : การยึดมั่นในหลักฆราวาสธรรมช่วยสร้างรากฐานที่มั่นคงสำหรับความสำเร็จในระยะยาว

      เราจะปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ยังไงบ้าง ?

      Image Credit : canva.com-pro

      ลองมาดูวิธีที่เราจะนำหลักฆราวาสธรรม มาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไรบ้าง มาดูแล้วปรับใช้กันนะคะ

      1. ฝึกพูดความจริง และรักษาคำพูด (สัจจะ)

      เริ่มจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น หากนัดใครไว้ ให้ตรงเวลาเสมอ หรือถ้าสัญญาว่าจะทำอะไร ก็ต้องทำให้ได้ หากมีเหตุขัดข้อง ให้แจ้งล่วงหน้าและขอโทษ ฝึกพูดความจริงแม้ในสถานการณ์ที่ยาก เช่น ยอมรับความผิดพลาดของตนเองเมื่อทำผิด

      2. ตั้งเป้าหมายการพัฒนาตนเอง และติดตามความก้าวหน้า (ทมะ)

      กำหนดเป้าหมายการพัฒนาตนเองทั้งระยะสั้นและระยะยาว เช่น การฝึกทักษะใหม่ การลดนิสัยไม่ดี หรือการควบคุมอารมณ์ จดบันทึกความก้าวหน้าทุกวันหรือทุกสัปดาห์ และให้รางวัลตัวเองเมื่อทำได้ตามเป้า

      3. ฝึกความอดทนในสถานการณ์ต่างๆ (ขันติ)

      เมื่อเจอสถานการณ์ที่ทำให้หงุดหงิด เช่น รถติด หรือต้องรอคิวนาน ให้ฝึกหายใจลึกๆ และนับถึง 10 ก่อนตอบสนอง ฝึกมองหาข้อดีในสถานการณ์ที่ยากลำบาก เช่น มองว่าเป็นโอกาสในการฝึกความอดทน หรือใช้เวลารอทำสิ่งที่เป็นประโยชน์

      4. ทำกิจกรรมจิตอาสาหรือบริจาคอย่างสม่ำเสมอ (จาคะ)

      กำหนดวันในแต่ละเดือนสำหรับทำกิจกรรมจิตอาสา เช่น ช่วยเหลือผู้สูงอายุในชุมชน หรือร่วมกิจกรรมทำความสะอาดสิ่งแวดล้อม ตั้งงบประมาณสำหรับการบริจาคประจำเดือน แม้จะเป็นจำนวนเล็กน้อย และบริจาคอย่างสม่ำเสมอ

      5. ฝึกปฏิบัติหลักฆราวาสธรรมในที่ทำงาน

      นำหลักสัจจะมาใช้โดยการรายงานความก้าวหน้าของงานอย่างตรงไปตรงมา ใช้ทมะในการพัฒนาทักษะการทำงานอย่างต่อเนื่อง ฝึกขันติเมื่อต้องทำงานร่วมกับคนที่มีความคิดต่าง และแสดงจาคะด้วยการช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานโดยไม่หวังผลตอบแทน

        การเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ เหล่านี้และทำอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้เราสามารถนำหลักฆราวาสธรรมมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะส่งผลดีต่อตัวเราเองและคนรอบข้างในระยะยาวค่ะ

        หนังสือ แค่โอบกอดตัวเองให้เป็น

        Inspire Now ! : การปฏิบัติตนตามหลักฆราวาสธรรม 4 นอกจากจะทำให้ชีวิตของเรามีความสงบสุขแล้ว ยังทำให้คนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็น ครอบครัว คู่สมรส หรือเพื่อนร่วมงาน มีความเคารพนับถือ ซื่อสัตย์ จริงใจ และช่วยเหลือเกื้อกูลในยามที่เราลำบากอีกด้วย และที่สำคัญหากทุกคนนำหลักฆราวาสธรรม 4 ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน จะทำให้คนในสังคมเกิดความสงบเรียบร้อย ไม่มีความวุ่นวายเกิดขึ้น และสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขทั้งกาย และใจค่ะ

        DIYINSPIRENOW ทำให้ฉันมีความสุขหรือเปล่า ? มีใครฝึกพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นโดยใช้หลักฆราสธรรมในชีวิตประจำวันกันอยู่บ้าง ? ได้ผลยังไง มาคอมเมนต์แบ่งปันประสบการณ์กันนะคะ ♡

        Facebook Comments

        หาข้อมูล-ลงมือเขียนและเรียบเรียงโดยทีมกองบรรณาธิการเว็บไซต์ DIY INSPIRE NOW