อริยทรัพย์ 7 ประการ, อริยทรัพย์ คือ

อริยทรัพย์ 7 ประการ คืออะไร ? มารู้จักทรัพยอันประเสริฐเพื่อชีวิตที่มีความสุขกัน !

หากเราพูดถึงทรัพย์ เราคงจะนึกถึงทรัพย์สินเงินทอง และทรัพย์สมบัติต่างๆ แต่ถ้าเราหมายถึงทรัพย์ที่เป็นของมีค่าในทางธรรมและทางจิตใจนั้น เราจะเรียกสิ่งนั้นว่า อริยทรัพย์ 7 ประการ ที่จะทำให้เรามีความสุขและยั่งยืนได้มากกว่าทรัพย์ในทางโลก เพราะเป็นทรัพย์ที่อยู่ภายในไม่ใช่ของมีค่านอกกาย และยิ่งเรามีมากเท่าไหร่ เราก็จะมีความสุขมากเท่านั้น และในบทความนี้ DIYINSPIRENOW จะมาชวนคนที่อยากสุขสงบจากภายในมารู้จักกับ อริยทรัพย์ ว่าคืออะไร ? และเราสามารถฝึกและนำไปใช้ในชีวิตประจำวันของเราได้อย่างไรบ้างถึงจะเพิ่มความสุขให้กับชีวิตค่ะ

รู้จัก อริยทรัพย์ 7 ประการ ทรัพย์อันประเสริฐที่จะทำให้ใจเรามีความสุข 

อริยทรัพย์ เป็นหลักธรรมในพระพุทธศาสนาที่แสดงถึงทรัพย์อันประเสริฐของอริยบุคคล ประกอบด้วยศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ พาหุสัจจะ จาคะ และ ปัญญา ทรัพย์เหล่านี้มีค่ายิ่งกว่าทรัพย์ภายนอก เพราะเป็นคุณธรรมที่ช่วยพัฒนาจิตใจและปัญญา นำพาชีวิตไปสู่ความสุขและความเจริญที่แท้จริง ผู้ที่บำเพ็ญหลักธรรมนี้ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้มั่งคั่งด้วยทรัพย์อันประเสริฐ สามารถดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม

หนังสือ สู่จุดสูงสุดของชีวิตด้วย “พีระมิดสามสุข”

อริยทรัพย์ 7 ประการ คืออะไร ? มีอะไรบ้าง ?

อริยทรัพย์ 7 ประการ เป็นหลักธรรมสำคัญในพระพุทธศาสนาที่กล่าวถึงทรัพย์อันประเสริฐของอริยบุคคล หมายถึงคุณธรรมภายในจิตใจที่มีค่าเหนือกว่าทรัพย์สินภายนอกทั้งปวง เป็นทรัพย์ที่ไม่สูญหายและติดตามตัวไปได้ทุกภพทุกชาติ อริยทรัพย์นี้เป็นเครื่องชี้วัดความมั่งคั่งทางจิตใจและปัญญา ซึ่งนำพาผู้ปฏิบัติไปสู่ความเจริญงอกงามในชีวิต และเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาตนเองสู่ความเป็นอริยบุคคล มีทั้งหมด 7 ข้อ ดังนี้

1. ศรัทธา

ความเชื่อที่มีเหตุผล มั่นใจในหลักที่ถือ และมั่นใจในความดีที่ทำ เป็นความเชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ แม้ว่าเราเชื่อแต่ต้องมีเหตุผล เข้าใจ และรู้จักความเป็นมา ความเป็นอยู่ และความเป็นไปของเหตุนั้นด้วย อย่างการไหว้หิ้งพระในบ้านก็คือความศรัทธาเช่นกัน หรือตัวอย่างเช่น เชื่อมั่นและศรัทธาในความดีที่เราทำ และต้องมั่นใจแล้วว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดีและมีประโยชน์จริงๆ ซึ่งการมีศรัทธานั้นถือว่าเป็นทรัพย์สินทางธรรม เปรียบเสมือนทรัพย์สมบัติที่จะอยู่ติดตัวเราไป เป็นอริยทรัพย์ 7 ประการที่ก่อให้เกิดอานิสงส์ได้

2. ศีล

การรักษากายวาจาใจให้สุจริต และประพฤติถูกต้องดีงาม ไม่เบียดเบียนผู้อื่น คือสิ่งที่ทำให้เรายึดถือและปฏิบัติให้อยู่ในศีลในธรรม และไม่ปฏิบัติในสิ่งที่ไม่ควรทำ หากเราไม่มีศีลและไม่ปฏิบัติตามศีล ก็จะเกิดความวุ่นวาย แต่หากเรามีศีลและตั้งมั่นอยู่ในศีล พยายามให้ใจมีศีลเป็นกรอบ รักษาเอาไว้ให้เป็นปกติให้เรียบร้อย จิตใจของเราก็จะเป็นปกติไม่ทุกข์ร้อน ไม่สะดุ้งกลัว และไม่เกิดความไม่สบายกายไม่สบายใจ เราสามารถนำไปปรับใช้ได้ แค่เพียงตั้งมั่นในศีล ไม่ไปล่วงล้ำสิทธิคนอื่น ไม่ไปล่วงละเมิดสิ่งอื่น ไม่ไปทำร้ายคนอื่น และไม่เอาเปรียบ และทำแต่สิ่งที่ตัวเราเองปรารถนาให้ผู้อื่นทำกับเรา สิ่งนี้จะเป็นหัวใจของศีล

3. หิริ

ความละอายต่อบาป ละอายต่อการทำชั่ว ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง เราควรมีหิริรวมถึงโอตตัปปะเป็นเครื่องรักษาใจ ถ้าเรารักษาหิริไว้เป็นสมบัติของตัวเองหรืออริยทรัพย์ 7 ประการได้แล้ว โลกนี้ก็จะร่มเย็นเป็นสุข เพราะเป็นธรรมที่คุ้มครองโลก เพราะหากเราไม่ละอายต่อความทำชั่ว ไม่กลัวต่อการทำผิด ก็จะเกิดความทุกข์ร้อนทั้งต่อตนเองและผู้อื่น การฝึกให้มีหิรินั้นเป็นสิ่งที่เราทำได้ไม่ยาก แค่ไม่ทำสิ่งที่ไม่ดีต่อผู้อื่นทั้งต่อหน้าและลับหลังเท่านั้น และหากจิตใจเราว้าวุ่นลองใช้วิธีนั่งสมาธิให้จิตนิ่งดูนะคะ

4. โอตตัปปะ

โอตตัปปะ คือ ความเกรงกลัวผลของการทำชั่ว เกรงกลัวต่อผลของบาป หากเรามีหิริ ที่เป็นการละอายในการทำชั่วเพียงอย่างเดียว แต่ไม่มีความเกรงกลัวต่อบาป มีแต่ความละอายก็แปลว่ายังสามารถทำความชั่วหรือสิ่งไม่ดีได้ แต่ถ้าเราเกรงกลัวต่อผลของมันด้วยจะช่วยให้เรายับยั้งชั่งใจในการทำความชั่วได้ยิ่งขึ้น นอกจากฝึกให้ตนเองมีหิริแล้วควรฝึกให้มีโอตตัปปะควบคู่กันด้วย เพราะหิริโอตตัปปะในใจของเราจะคอยเตือนเราให้เราเชื่อฟังและหยุดที่จะคิดทำชั่วใดๆ ผลที่ได้คือใจของเราจะเป็นใจที่เที่ยงธรรม ไม่คดโกง และไม่ทำอะไรที่เรารู้ว่าเป็นบาป

หนังสือ วิธีฝึกใจให้แกร่ง รับมือได้ทุกปัญหา

5. พาหุสัจจะ

อริยทรัพย์ 7 ประการข้อต่อไปคือ พาหุสัจจะ หรือความเป็นคนคงแก่เรียน การหมั่นศึกษาหาความรู้ เพื่อให้เข้าใจและรอบรู้อย่างลึกซึ้งในสิ่งที่ทำก็เป็นทรัพย์สินติดตัวเราเช่นกัน เมื่อสิ่งที่เรารู้มาอย่างลึกซึ้งและได้นำไปสอนหรือบอกคนอื่น ก็จะกลับมาเป็นหลักสอนใจเราโดยอัตโนมัติจนกลายเป็นปัญญา เราสามารถฝึกฝนสิ่งนี้ได้ด้วยการหมั่นศึกษาหาความรู้ รู้ให้จริง รู้ให้ลึกซึ้งและถูกต้อง ก็จะสามารถนำไปใช้และเหมาะที่จะเอามาดำเนินชีวิตของเรา ด้วยการทำอยู่เสมอให้คล่องจนกลายเป็นปัญญาในที่สุด และปัญญานี้ก็จะติดตัวเราไปจนตาย

6. จาคะ

จาคะ คือ ความเสียสละ และการแบ่งปัน จาคะเป็นอริยทรัพย์ที่จะเจริญความเป็นมหานิยม เพื่อให้คนรักและนับถือเรา เพราะการเสียสละ มีน้ำใจ รู้จักแบ่งปันและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อคนอื่นนั้น ไม่เพียงแต่ทำให้ใจของเราร่มเย็นเป็นสุข แต่ทำให้เกิดกำลังเมตตาอีกด้วย ถ้าทุกคนมีจาคะ มีน้ำใจให้แก่กัน ก็จะเกิดความเมตตา เมื่อเมตตาแล้วก็รู้จักการให้อภัย ก็จะทำให้เกิดความสุขทั้งผู้ให้และผู้รับ เราสามารถฝึกได้ง่ายๆ แค่รู้จักการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม ตัวอย่างเช่น ช่วยเหลือเพื่อนที่กำลังเดือดร้อน หรือมีน้ำใจต่อเพื่อนร่วมงาน เป็นต้น เพียงเท่านี้ใจเราก็จะเป็นสุขแล้วค่ะ

7. ปัญญา

ความฉลาดรู้บาปบุญคุณโทษ รู้จักคิด และมีเหตุมีผล รู้ถูกผิด รู้พิจารณา และใช้ชีวิตตามความจริงไม่หลงไปตามอารมณ์หรือสิ่งเย้ายวนรอบตัว เมื่อเรามีความรู้ซึ้งประจักษ์แจ้งเห็นจริงแท้ในธรรม ก็จะเกิดปัญญาตามที่พระพุทธองค์บอก โดยใช้หลัก สุ.จิ.ปุ.ลิ (ฟัง คิด ถาม เขียน) เราสามารถฝึกและพัฒนาปัญญาของเราได้ นอกจากการเรียนรู้ให้ประจักษ์แล้ว ต้องฝึกฝนต้องหมั่นกระทำเพื่อให้เรารู้ซึ้งขึ้นเรื่อยๆ หรือสามารถใช้การฝึกวิปัสสนาภาวนา คือการฝึกจิตใจด้วยศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริง เพราะปัญญาเป็นทรัพย์ทำให้เราเดินทางได้ถูกต้อง รู้จักวิเคราะห์และเข้าใจอย่างถ่องแท้ ไม่เดินในทางที่ผิด และกระทำสิ่งใดด้วยการไตร่ตรอง ทำให้ความผิดพลาดน้อยลง

คำแนะนำในการฝึกหลักธรรมนี้ มีอะไรบ้าง ?

ได้รู้กันไปแล้วว่า หลักธรรมนี้มีรายละเอียดอะไรบ้าง ทีนี้ลองมาดูคำแนะนำในการฝึกตามแต่ละข้อกันบ้างดีกว่าค่ะ

  1. ศรัทธา : พัฒนาความเชื่อมั่นที่ถูกต้องในพระรัตนตรัย และกฎแห่งกรรม โดยศึกษาพระธรรมคำสอน ฟังธรรม และพิจารณาเหตุผลอย่างถ่องแท้
  2. ศีล : รักษาศีล 5 ให้บริสุทธิ์ ฝึกควบคุมกาย วาจา ใจ ให้เรียบร้อย และดำเนินชีวิตอย่างสุจริต
  3. หิริ : พิจารณาถึงฐานะของตน และผลเสียของการทำชั่ว ฝึกยับยั้งชั่งใจก่อนทำสิ่งไม่ดี
  4. โอตตัปปะ : สร้างความเกรงกลัวต่อบาป โดยคำนึงถึงผลกระทบของการกระทำชั่วต่อตนเองและผู้อื่น
  5. พาหุสัจจะ : หมั่นศึกษาหาความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมอย่างสม่ำเสมอ ทำความเข้าใจให้ลึกซึ้ง นำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน และแบ่งปันความรู้แก่ผู้อื่น
  6. จาคะ : ฝึกการให้ทาน เสียสละ แบ่งปัน ทั้งวัตถุสิ่งของและความรู้ ช่วยเหลือผู้อื่นตามกำลังความสามารถ
  7. ปัญญา : พัฒนาความรู้ความเข้าใจในสัจธรรม ฝึกวิปัสสนากรรมฐาน พิจารณาสภาวธรรมตามความเป็นจริง

การฝึกอริยทรัพย์ทั้ง 7 นี้ ควรทำอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง โดยนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เพื่อพัฒนาจิตใจและปัญญาให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้น

หลักธรรมอะไรบ้าง ? ที่ช่วยส่งเสริมการฝึก อริยทรัพย์

  1. ไตรสิกขา : เป็นหลักธรรมที่ส่งเสริมการพัฒนาตนอย่างเป็นระบบ ประกอบด้วยศีล สมาธิ และปัญญา การฝึกศีลช่วยควบคุมพฤติกรรมภายนอก สมาธิฝึกจิตให้มั่นคง และปัญญานำไปสู่ความเข้าใจสัจธรรม การฝึกไตรสิกขาอย่างต่อเนื่องจะช่วยยกระดับจิตใจและสติปัญญา ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาอริยทรัพย์ทั้ง 7 ประการ
  2. สติปัฏฐาน 4 : เป็นวิธีเจริญสติโดยการพิจารณากาย เวทนา จิต และธรรม การฝึกสติปัฏฐานช่วยพัฒนาสติและปัญญา ทำให้เข้าใจธรรมชาติของกายและจิตอย่างลึกซึ้ง นำไปสู่การละความยึดมั่นถือมั่น การฝึกนี้สนับสนุนการพัฒนาอริยทรัพย์โดยเฉพาะในด้านปัญญาและพาหุสัจจะ
  3. พรหมวิหาร 4 : ประกอบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา เป็นหลักธรรมที่ช่วยพัฒนาคุณธรรมและความสัมพันธ์กับผู้อื่น การเจริญพรหมวิหารช่วยลดความเห็นแก่ตัว เพิ่มความเมตตากรุณา และพัฒนาจิตใจให้สูงขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาอริยทรัพย์ โดยเฉพาะในด้านจาคะและศีล
  4. อิทธิบาท 4 : เป็นหลักธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จ ประกอบด้วยฉันทะ วิริยะ จิตตะ และวิมังสา การฝึกอิทธิบาทช่วยสร้างแรงจูงใจ ความเพียร สมาธิ และการใช้ปัญญาในการทำงานหรือฝึกฝนตนเอง ซึ่งสนับสนุนการพัฒนาอริยทรัพย์ทุกข้อ โดยเฉพาะด้านพาหุสัจจะและปัญญา
  5. สังคหวัตถุ 4 : เป็นหลักธรรมที่ช่วยให้อยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข ประกอบด้วยทาน ปิยวาจา อัตถจริยา และสมานัตตตา การปฏิบัติตามหลักสังคหวัตถุช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น ส่งเสริมการเสียสละและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาอริยทรัพย์ โดยเฉพาะในด้านจาคะและศีล
หนังสือ วันไหนที่ใจแข็งแรง ดอกไม้จะผลิบาน THE ENCHANTED GARDEN

Inspire Now ! : การมีอริยทรัพย์ 7 ประการก็เหมือนการมีคุณธรรมประจำใจ เพราะอริยทรัพย์ คือ ทรัพย์ภายใน ไม่ใช่ทรัพย์ภายนอกอย่างเช่นทรัพย์สินเงินทอง ที่จะเป็นทรัพย์ติดตัวเราไม่สามารถมีใครมาขโมยไปได้ นอกจากจะทำให้เรามีความสุขปราศจากความทุกข์ได้แล้วนั้น หากเราขยันหมั่นฝึกฝนและรักษาทรัพย์ภายในอันประเสริฐทั้ง 7 ประการนี้ไว้ได้ ก็จะเกิดประโยชน์และความสุขต่อตนเองและส่วนรวมอีกด้วย

DIYINSPIRENOW ทำให้ฉันเป็นคนใหม่ที่ดีกว่าใช่ไหม ? มีใครฝึกอยู่บ้าง ฝึกแล้วเป็นยังไง ชีวิตมีความสุขมากแค่ไหน มาคอมเมนต์บอกเรากันบ้างนะคะ ♡

Facebook Comments

หาข้อมูล-ลงมือเขียนและเรียบเรียงโดยทีมกองบรรณาธิการเว็บไซต์ DIY INSPIRE NOW