วิธีปฏิเสธสัมภาษณ์งาน, ปฏิเสธสัมภาษณ์งาน, ปฏิเสธสัมภาษณ์งาน ตัวอย่าง

ปฏิเสธสัมภาษณ์งานยังไง ? ให้ดูมีมารยาทอย่างมืออาชีพ (พร้อมตัวอย่างปฏิเสธสัมภาษณ์ และ Tips ให้ได้งานอย่างที่หวัง !)

ปฏิเสธสัมภาษณ์งาน, ปฏิเสธสัมภาษณ์งาน ตัวอย่าง

อาจมีบางครั้งที่เรามีโอกาสสัมภาษณ์ตำแหน่งงานไปแล้ว แต่รู้สึกว่าไม่เหมาะกับเรา ทั้งเรื่องตัวงานที่ต้องทำ หรือวัฒนธรรมองค์กรที่รู้สึกว่าไม่ใช่ในแบบที่เราต้องการ ซึ่งหากว่าเราไม่ได้สนใจในตำแหน่งที่ได้รับการเสนอตามที่สัมภาษณ์ไปนั้น สิ่งที่เราควรทำไม่ใช่การเพิกเฉยไปเลย แต่เราควรจะต้องบอกปฏิเสธคำเชิญอย่างสุภาพค่ะ หากเรารู้สึกว่าไม่ได้เหมาะกับเราก็อย่าทิ้งเวลานานจนเกินไปนะคะ และในบทความนี้ DIYINSPIRENOW จะพาไปดูว่าการปฏิเสธสัมภาษณ์งานแบบมืออาชีพนั้นต้องทำยังไง พร้อมตัวอย่างการปฏิเสธสัมภาษณ์งาน และมีแถมเคล็ดลับสัมภาษณ์งานให้ได้งานอย่างที่หวังให้ด้วยค่ะ เอาหล่ะ พร้อมกันแล้วหรือยังคะ ? ถ้าพร้อมแล้ว เราไปดูพร้อมๆ กันเลย !

ปฏิเสธสัมภาษณ์งานยังไง ? ให้ดูเป็นมืออาชีพ พร้อมตัวอย่างการปฏิเสธแบบไม่เสียมารยาท !

วิธีปฏิเสธสัมภาษณ์งาน, ปฏิเสธสัมภาษณ์งาน, ปฏิเสธสัมภาษณ์งาน ตัวอย่าง
Image Credit : unsplash.com

การปฏิเสธการสัมภาษณ์งาน ไม่ใช่เรื่องเสียหายแต่อย่างใด ถ้าเรารู้ตัวเองดีแล้วว่าตัวเองไม่เหมาะกับตำแหน่งงานนั้นๆ หรือองค์กรนั้นๆ เพราะอาจจะมีหลายอย่างที่ไม่เข้ากับเรา หรือเราคิดว่าวัฒนธรรมองค์กรแบบนี้ไม่ใช่สไตล์ของเราเท่าไหร่ ซึ่งถ้าตกลงสัมภาษณ์งานต่อไป ก็อาจจะเป็นการเสียเวลาทั้งสองฝ่าย เพราะตัวเราเองก็ไม่ได้อยากได้งานนั้นจริงๆ และยังเป็นการเบียดบังโอกาสให้กับผู้สมัครท่านอื่นๆ ที่มีความเหมาะสมกับงานและองค์กรนั้นๆ มากกว่าอีกด้วย นอกจากนี้ยังเป็นการปิดโอกาสของตัวเองที่จะได้สัมภาษณ์งานในองค์กรที่เราคิดว่ามีความเหมาะสมกับเรามากกว่าอีกด้วย ดังนั้น การปฎิเสธสัมภาษณ์งานจึงเป็นการช่วยให้องค์กรได้ตัดตัวเลือกที่ไม่ใช่ออกไป และเพิ่มโอกาสให้กับองค์กรได้คัดเลือกผู้สมัครที่มีความเหมาะสมกับองค์กรมากที่สุด และสำหรับตัวเราเองนั้นก็จะได้มีโอกาสเข้าสัมภาษณ์งานกับในองค์กรอื่นๆ ที่ตรงกับความต้องการของเรามากกว่านั่นเองค่ะ แล้วเราจะปฏิเสธสัมภาษณ์งานอย่างไรให้มีความเป็นมืออาชีพและดูไม่เสียมารยาท เกิดความสบายใจกันทั้งสองฝ่าย มาดูกันต่อเลยค่ะ

วิธีพาตัวเองออกจากกล่องใบเล็ก

วิธีปฏิเสธสัมภาษณ์งานแบบมืออาชีพ

การปฏิเสธสัมภาษณ์งานอย่างมืออาชีพเป็นทักษะสำคัญที่สามารถช่วยรักษาความสัมพันธ์และโอกาสในอนาคตได้ ซึ่งไม่เพียงแต่จะรักษาความสัมพันธ์ที่ดีไว้ แต่ยังสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับคุณในฐานะมืออาชีพที่มีความรับผิดชอบ และให้เกียรติผู้อื่นอีกด้วยค่ะ เราลองมาดูวิธีกันนะคะ

1. คิดให้ดีก่อนที่จะตอบปฏิเสธ และตอบกลับให้เร็วที่สุด

อย่างแรกเลยให้ลองคิดให้ดีก่อนค่ะ คิดในเชิงที่เป็นกลางที่สุด ไม่หลอกตัวเองนะคะ คิดให้ถี่ถ้วนว่าทำไมเราถึงอยากปฏิเสธสัมภาษณ์งานครั้งนี้ ถ้าเราตอบรับ เราจะได้เรียนรู้อะไร ถ้าเราตอบปฏิเสธ เราจะเสียโอกาสยังไงบ้าง ตั้งคำถามที่ challenge ให้เยอะๆ และเมื่อได้คำตอบแล้วให้รีบตอบกลับให้เร็วที่สุด เพื่อที่บริษัทจะได้ดำเนินงานติดต่อผู้สมัครท่านอื่นได้นั่นเองค่ะ

2. ใช้คำพูดที่สุภาพ มีมารยาท และตรวจสอบการสะกดคำ

การปฏิเสธสัมภาษณ์งานที่ไม่ว่าจะตอบปฏิเสธทางอีเมลหรือโทรศัพท์ ก็ควรใช้คำที่สุภาพ มีมารยาท และเป็นทางการ เลือกใช้คำว่า ดิฉัน สำหรับผู้หญิง อย่าใช้คำว่า ฉัน เรา หรือหนู หากเป็นการตอบอีเมล ควรมีคำขึ้นต้น และลงท้ายที่สุภาพ เช่น เรียนฝ่ายบุคคล และลงท้ายด้วย ขอแสดงความนับถือ เป็นต้น นอกจากนี้หากคุณส่งอีเมลก็ควรตรวจสอบการสะกดคำต่างๆ ให้ถูกต้อง เช่น การใช้ค่ะ หรือ คะ เพื่อให้ดูเป็นมืออาชีพมากขึ้นค่ะ แต่หากเป็นการพูดคุยทางโทรศัพท์ ให้ใช้น้ำเสียงที่นุ่มนวล ใช้ถ้อยคำที่สุภาพ และกล่าวขอบคุณสำหรับโอกาส รวมถึงขอบคุณก่อนวางสายด้วย

3. ชี้แจงด้วยเหตุผลที่ดี อย่างจริงใจ

การปฏิเสธสัมภาษณ์งานที่สุภาพนั้น นอกจากการใช้คำที่ดีแล้วนั้น ยังควรให้เหตุผลที่ดีเพื่อให้เกียรติบริษัทที่เสนองานให้คุณด้วย แม้ว่าคุณจะไม่สะดวกใจในการรับโอกาสนั้น แต่การบอกปฏิเสธอย่างสมเหตุสมผลและใช้คำพูดที่สุภาพ และจริงใจนั้น จะทำให้คุณดูเป็นมืออาชีพและไม่เสียมารยาทกับทางบริษัท ไม่ควรเสียมารยาทด้วยการตอบกลับแบบห้วนๆ หรือให้เหตุผลที่ฟังแล้วรู้สึกไม่ดี เช่น บอกว่าตอนนี้คุณมีงานที่มั่นคงทำอยู่แล้ว หรือคุณยังไม่มีแผนที่จะเปลี่ยนงานใหม่ หรือหากคุณกำลังหางานอาจจะตอบไปว่า คุณอยากลองหาโอกาสในการแสวงหางานอื่นๆ ที่ตรงกับความต้องการและความสามารถของคุณมากที่สุดก่อน หรืออาจะบอกไปว่า คุณคิดว่าตัวเองยังไม่เหมาะสมกับตำแหน่งนั้นๆ และอาจจะมีคนอื่นที่เหมาะสมกับตำแหน่งนี้มากกว่า และอวยพรให้ทางบริษัทพบผู้สมัครงานที่เหมาะสม อย่าลืมปิดท้ายด้วยคำขอบคุณอย่างจริงใจด้วยนะคะ

วิธีปฏิเสธสัมภาษณ์งาน, ปฏิเสธสัมภาษณ์งาน, ปฏิเสธสัมภาษณ์งาน ตัวอย่าง
Image Credit : unsplash.com

4. ควรตอบกลับด้วยวิธีเดียวกัน

อีกหนึ่งวิธีปฏิเสธสัมภาษณ์งานอย่างมีมารยาทและให้เกียรติอีกฝ่ายคือ การตอบกลับด้วยวิธีเดียวกับที่บริษัทติดต่อมา เช่น หากมีการติดต่อสัมภาษณ์งานมาทางอีเมล ก็ควรตอบกลับทางอีเมล หรือหากมีการติดต่อมาทางโทรศัพท์ ก็ควรโทรกลับไปแจ้งปฏิเสธสัมภาษณ์งานเช่นเดียวกัน ไม่ควรใช้วิธีที่แตกต่าง เช่น เลือกจะอีเมลไปแทนเพื่อเลี่ยงการพูดคุยทางโทรศัพท์ วิธีปฏิเสธงานแบบนี้เป็นวิธีที่ไม่เหมาะสมและอาจดูเสียมารยาทด้วยค่ะ

5. ตอบให้สั้น สุภาพ และเรียบง่าย

การเขียนอีเมลที่กระชับและจริงใจซึ่งแสดงความเสียใจและขออภัยสำหรับความไม่สะดวกที่อาจเกิดขึ้นจากการตัดสินใจของคุณ เป็นวิธีปฏิเสธสัมภาษณ์งานที่ดี อาจให้เหตุผลในการปฏิเสธการสัมภาษณ์งานแบบที่ไม่ต้องเฉพาะเจาะจงนัก และควรหลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์บริษัท หรือพูดถึงวิธีการทำงานของบริษัทที่คุณไม่ปลื้ม หรืออะไรก็ตามที่เป็นข้อเสียข้อด้อย เพราะจะทำให้เกิดความรู้สึกในแง่ลบได้ ควรเน้นการตอบให้กระชับและเรียบง่ายแบบไม่ต้องลงรายละเอียดจะดีกว่าค่ะ

6. ปฏิเสธการสัมภาษณ์ครั้งที่สอง

ในกรณีที่คุณผ่านการสัมภาษณ์รอบแรกแล้ว และคุณรู้สึกไม่เห็นด้วยกับบริษัทและตำแหน่งงาน หรือคําถามสอบสัมภาษณ์งานมีทัศนคติที่ไม่ตรงกัน รวมถึงได้พิจารณาข้อมูลทั้งหมดที่มีอย่างรอบคอบแล้วว่านี่ไม่ใช่โอกาสที่เหมาะสมสำหรับคุณ เมื่อแน่ใจ 100% ว่าต้องการปฏิเสธการสัมภาษณ์ครั้งที่สองควรรีบปฏิเสธในทันที และทำการติดต่อบริษัทด้วยอีเมลหรือติดต่อทางโทรศัพท์โดยเร็ว อย่าเพิกเฉยหรือปล่อยไปโดยไม่สนใจที่จะแจ้งกับบริษัทนั้นๆ เพราะหากคุณแจ้งว่าคุณรู้สึกว่างานนี้อาจยังไม่เหมาะสำหรับคุณจริงๆ ทางบริษัทจะได้ให้โอกาสผู้สมัครสำรองคนอื่นต่อไป และยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้สมัครคนอื่นๆ ได้เข้ารอบการสอบสัมภาษณ์งาน ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการอย่างแท้จริงก็ได้นะคะ

7. แนะนำผู้สมัครคนอื่น

การปฏิเสธสัมภาษณ์งานที่ดีและยังแสดงถึงความคิดริเริ่มและคำนึงถึงบริษัท คือการแนะนำผู้สมัครอื่นที่เหมาะสมสำหรับงานนี้ หากคุณมีคนในใจที่มั่นใจว่าความสามารถของคนนั้นจะเหมาะสมกับงานนี้ ให้คุณลองคุยกับพวกเขาล่วงหน้าก่อนเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาสนใจในโอกาสนั้นเช่นกัน คุณสามารถใส่ชื่อและข้อมูลติดต่อของพวกเขาในอีเมลตอบปฏิเสธงานของคุณได้ค่ะ ซึ่งนอกจากจะเป็นการเสนอโอกาสให้กับคนรู้จักในเรื่องหน้าที่การงานแล้ว ยังเป็นการช่วยเสนอตัวเลือกให้กับบริษัทนั้นๆ ด้วย เรียกได้ว่าได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่ายเลยทีเดียว

ปฏิเสธสัมภาษณ์งาน ตัวอย่าง 3 แบบ

เราได้รู้วิธีการกันไปแล้ว ทีนี้ลองมาดูตัวอย่างกันบ้างนะคะ ซึ่งคุณสามารถปรับเปลี่ยนข้อความให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของคุณได้ สิ่งสำคัญคือต้องแสดงความขอบคุณ ให้เหตุผลสั้นๆ ในการปฏิเสธ ด้วยความสุภาพ จริงใจ ลองมาดูสัก 3 ตัวอย่าง กันนะคะ

ตัวอย่างที่ 1 : ได้งานที่อื่นแล้ว

“เรียน [ชื่อผู้ติดต่อ],

ขอบคุณสำหรับโอกาสในการสัมภาษณ์สำหรับตำแหน่ง [ชื่อตำแหน่ง] ที่ [ชื่อบริษัท] ดิฉัน / กระผม รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับการพิจารณา

อย่างไรก็ตาม หลังจากพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว ดิฉัน / กระผม ขอปฏิเสธโอกาสนี้ เนื่องจากในขณะนี้ได้ตัดสินใจรับข้อเสนองานจากบริษัทอื่นแล้ว

ดิฉัน / กระผม ขอขอบคุณอีกครั้งสำหรับการพิจารณาและเวลาอันมีค่าของคุณ ดิฉัน / กระผมหวังว่าบริษัทของคุณจะเจอผู้สมัครท่านอื่นที่มีความสามารถเหมาะสมกับบริษัท และประสบความสำเร็จยิ่งๆ ขึ้นไป

ขอแสดงความนับถือ,
[ชื่อของคุณ]”

ตัวอย่างที่ 2 : รู้สึกว่างานนี้ไม่เหมาะกับเรา

“เรียน [ชื่อผู้ติดต่อ],

ขอบคุณสำหรับโอกาสในการสัมภาษณ์สำหรับตำแหน่ง….ที่บริษัท…..

หลังจากพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งงานอย่างละเอียดแล้ว ดิฉัน / กระผมรู้สึกว่าความสามารถและประสบการณ์ของดิฉัน / กระผม อาจไม่ตรงกับความต้องการของบริษัทในขณะนี้ ด้วยเหตุนี้ จึงขอถอนตัวจากกระบวนการการสัมภาษณ์ในครั้งนี้

ดิฉัน / กระผมขอขอบคุณอย่างจริงใจสำหรับการพิจารณาและเวลาของคุณ ผมหวังว่าคุณจะพบผู้สมัครที่เหมาะสมกับตำแหน่งนี้

ขอแสดงความนับถือ,
[ชื่อของคุณ]”

ตัวอย่างที่ 3 : รู้สึกว่าไม่ค่อยถูกใจกับวัฒนธรรมองค์กร

“เรียน [ชื่อผู้ติดต่อ],

ขอบคุณสำหรับโอกาสในการเข้าสัมภาษณ์สำหรับตำแหน่ง…. ที่บริษัท…. ดิฉัน/ กระผมขอขอบคุณสำหรับเวลาและข้อมูลที่คุณนะนำเกี่ยวกับบริษัทและตำแหน่งงาน

หลังจากทบทวนอย่างรอบคอบแล้ว ดิฉัน / กระผมกำลังมองหาสภาพแวดล้อมการทำงานที่สอดคล้องกับค่านิยมและรูปแบบการทำงานของดิฉัน / กระผมมากกว่า ด้วยเหตุนี้ ดิฉัน / กระผมจึงขอถอนตัวจากกระบวนเข้าสัมภาษณ์ในครั้งนี้

ดิฉัน / กระผมซาบซึ้งในความเป็นมืออาชีพที่บริษัทของคุณแสดงออกตลอดกระบวนการนี้ และเชื่อเหลือเกินว่าบริษัทจะได้ผู้สมัครที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมองค์กรของคุณ

ขอบคุณอีกครั้งสำหรับการพิจารณา และดิฉัน / กระผมขอให้คุณและบริษัทประสบความสำเร็จยิ่งๆ ขึ้นไป

ขอแสดงความนับถือ,
[ชื่อของคุณ]”

ในตัวอย่างนี้ คุณจะสังเกตได้ว่า :

  1. เรายังคงแสดงความขอบคุณและให้เกียรติต่อเวลาของบริษัท
  2. เราให้เหตุผลที่ตรงไปตรงมาแต่สุภาพ โดยไม่วิจารณ์หรือตำหนิวัฒนธรรมองค์กรของพวกเขาโดยตรง
  3. เราเน้นย้ำว่าเป็นเรื่องของความเข้ากันได้ส่วนบุคคล ไม่ใช่การตัดสินว่าใครถูกใครผิด
  4. เรายังคงรักษาโทนเชิงบวก และมืออาชีพตลอดทั้งข้อความ
  5. เราจบด้วยการอวยพรให้บริษัทประสบความสำเร็จ ซึ่งแสดงถึงความเป็นมืออาชีพและการไม่แสดงความรู้สึกในแง่ลบ

การใช้ภาษาแบบนี้จะช่วยให้คุณสามารถปฏิเสธการสัมภาษณ์ได้อย่างสุภาพ โดยไม่ทำลายความสัมพันธ์ และยังรักษาภาพลักษณ์ที่ดีของคุณในวงการอาชีพไว้ได้นั่นเองค่ะ

แค่โอบกอดตัวเองให้เป็น

แนะนำ Tips วิธีเตรียมตัวการสัมภาษณ์งาน เมื่อเจองานที่ใช่สำหรับเรา !

วิธีปฏิเสธสัมภาษณ์งาน, ปฏิเสธสัมภาษณ์งาน, ปฏิเสธสัมภาษณ์งาน ตัวอย่าง
Image Credit : freepik.com

ในข้างต้นเราก็ได้นำเสนอวิธีปฏิเสธสัมภาษณ์งาน ในกรณีที่ยังไม่เจองานที่ใช่ หรือพิจารณาแล้วว่าเราไม่เหมาะสมกับงานหรือองค์กรนั้นจริงๆ แล้วถ้าเจองานที่ใช่และคิดว่าเหมาะสมกับเราแล้ว ประกอบกับทางบริษัทได้เสนอโอกาสในการสัมภาษณ์งานมาให้กับเราด้วย เราจะมีวิธีการเตรียมตัวสัมภาษณ์งานอย่างไรดี เพื่อที่จะได้มีโอกาสได้งานนั้นๆ ตามที่ได้ตั้งใจไว้ ไปดูกันเลยค่ะ

1. ศึกษาลักษณะงาน และตำแหน่งงานที่สมัครอย่างถี่ถ้วน

เพื่อที่จะได้เป็นการวิเคราะห์ตัวเองว่าเหมาะกับตำแหน่งงานนั้นๆ จริงหรือไม่ เรามีทักษะความสามารถที่สอดคล้องกับตำแหน่งงานนั้นๆ มากน้อยเพียงใด ซึ่งในข้อนี้บางคนอาจจะนำมาพิจารณาตั้งแต่ขั้นตอนวิธีหางานให้เหมาะกับตัวเอง และการศึกษาข้อมูลในส่วนนี้มาเป็นอย่างดีก็จะทำให้เรามีความมั่นใจมากขึ้นและตอบคำถามเกี่ยวกับลักษณะงานได้ดีขึ้นค่ะ ทั้งนี้ เราก็ควรเตรียมตัวเกี่ยวกับคำตอบในเรื่องจุดแข็งที่เรามีอันเป็นคุณลักษณะที่สอดคล้องกับเนื้องานนั้นๆ ด้วย เพื่อที่จะได้ตอบคำถามได้อย่างฉะฉานและมั่นใจนั่นเอง

2. ศึกษาข้อมูลของบริษัท

เราควรศึกษาข้อมูลบริษัทเบื้องต้นก่อนว่าเป็นบริษัททำธุรกิจประเภทใดหรือทำงานในสายงานใด รายละเอียดขององค์กรมีอะไรบ้าง เพื่อที่จะได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวตนขององค์กรนั้นๆ ในเบื้องต้น เพราะอาจจะเจอคำถามสัมภาษณ์ประมาณว่า “เพราะเหตุใดถึงคิดว่าตัวเองเหมาะกับองค์กรนี้” “เพราะอะไรเราถึงต้องเลือกคุณ” จะได้ตอบคำถามได้ว่าเราเหมาะกับองค์กรอย่างไรค่ะ

3. ฝึกตอบคำถาม

ถ้าใครมีประสบการณ์ในการสัมภาษณ์งานมาก่อนก็อาจจะพอรู้แนวทางการสัมภาษณ์งานว่าคำถามจะเป็นในลักษณะประมาณไหน แต่สำหรับน้องๆ นักศึกษาที่เพิ่งเรียนจบก็อาจจะรู้สึกตื่นเต้นกับการสัมภาษณ์งานเป็นครั้งแรก แนะนำว่าให้ฝึกตอบคำถามต่างๆ มาก่อนล่วงหน้าก็จะเป็นการดีค่ะ เราอาจหาข้อมูลตัวอย่างคำถามสัมภาษณ์งานมาจากเว็บไซต์ต่างๆ หรือถามผู้มีประสบการณ์มาก่อนก็ได้ และนำมาฝึกถามตอบกับตัวเอง ก็จะช่วยให้ไม่ตื่นเต้นเวลาเจอคำถามต่างๆ จากทางบริษัทและทำให้การสัมภาษณ์เป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้นได้

วิธีปฏิเสธสัมภาษณ์งาน, ปฏิเสธสัมภาษณ์งาน, ปฏิเสธสัมภาษณ์งาน ตัวอย่าง
Image Credit : freepik.com

4. เตรียมเสื้อผ้าให้พร้อม

การแต่งกายให้ถูกกาลเทศะนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เราควรเตรียมเสื้อผ้าสำหรับวันสัมภาษณ์งานไว้ล่วงหน้าอย่างน้อย 1 วันและควรศึกษาธรรมชาติขององค์กรว่าเป็นหน่วยงานประเภทใดและควรแต่งตัวอย่างไรเพื่อให้เหมาะสมกับบริษัท เพราะในบางองค์กรนั้นอาจจะไม่ได้เคร่งครัดในเรื่องการแต่งกายมากนัก เช่น ผู้หญิงสามารถสวมกางเกงสแล็คแทนการสวมกระโปรงได้ หรือในบางองค์กรเคร่งครัดว่าผู้หญิงต้องสวมกระโปรงเท่านั้น และผู้ชายจะต้องใส่สูทพร้อมกับผูกเนคไทด์ให้ครบ อะไรแบบนี้เป็นต้น การแต่งตัวให้ถูกกาละเทศะนั้น สามารถสร้าง first Impression หรือความประทับใจแรกได้เป็นอย่างดีค่ะ

5. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

เป็นธรรมดาที่คืนก่อนสัมภาษณ์งาน บางคนอาจจะตื่นเต้นจนนอนไม่หลับ ซึ่งเราควรเข้านอนให้ไวขึ้นกว่าปกติและนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อที่จะได้ไม่ตื่นสายและไปสัมภาษณ์งานได้ทันเวลา และการนอนหลับอย่างเต็มอิ่มก็จะทำให้เราตื่นขึ้นมาอย่างสดชื่นแจ่มใส สมองปลอดโปร่ง เตรียมพร้อมสำหรับการไปสัมภาษณ์งานอย่างกระปรี้กระเปร่านั่นเองค่ะ

6. ตรงต่อเวลา

การตรงต่อเวลาเป็นการแสดงออกถึงการให้เกียรติซึ่งกันและกันค่ะ หากเรามาสาย ไม่ว่าจะไปที่บริษัท หรือว่าประชุมออนไลน์ แล้วให้ผู้สัมภาษณ์มานั่งรอเรา ก็คงจะสร้างประสบการณ์ที่ไม่ประทับใจให้ต่อกันตั้งแต่เริ่มต้นได้ เพราะฉะนั้นการใส่ใจกับการรักษาเวลาเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการสัมภาษณ์งาน หรือว่าเรื่องไหนๆ ของชีวิตก็ตามค่ะ

7. เป็นตัวของตัวเอง

และทั้งหมดทั้งมวลที่เตรียมมาจะไม่สร้างความประทับใจให้กับคู่สนทนาเลย ถ้าคุณไม่มีความเป็นตัวของตัวเองเลย ดังนั้นให้คุณคิดว่า หากคุณเตรียมตัวตามคำแนะนำข้างต้นมาเป็นอย่างดีแล้ว ก็ให้แสดงความเป็นตัวของตัวเองไปเลยค่ะ เพราะอย่าลืมนะคะว่า ถ้าเราได้งานนี้ เราก็ต้องอยู่ทำงานที่นี่ เพราะฉะนั้น ถ้าคุณแอ๊บไว้ตอนนี้ ตอนทำงานด้วยกันจริงๆ ก็อาจไม่แฮปปี้ทั้งสองฝ่ายก็ได้ ดังนั้นแสดงความเป็นตัวเองไปเลยค่ะ ทำให้เต็มที่ แล้วรอผลลัพธ์ด้วยใจที่เบาสบายกันนะคะ

นอกจากทั้งหมดที่เล่าไปแล้วข้างต้น ยังมีในส่วนของการเตรียมเอกสารให้พร้อม ซึ่งเราสามารถสอบถามฝ่ายบุคคลหรือผู้ที่ติดต่อเรามาได้ว่าต้องการให้เตรียมเอกสารอะไรบ้าง จะได้เตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า รวมไปถึงศึกษาเส้นทางและการเดินทางไปยังสถานที่ที่จะสัมภาษณ์ด้วย จะไม่ไปเป็นการเสียเวลาหรือหลงทาง ทำให้ไปสัมภาษณ์งานสาย และควรไปถึงก่อนเวลาอย่างน้อย 10 นาที เพื่อที่จะได้มีเวลาเตรียมตัว และในระหว่างการสัมภาษณ์งาน หากทางบริษัทเปิดโอกาสให้ถามคำถาม เราก็ควรจะถามเพิ่มเติมในเรื่องที่ต้องการทราบอย่างเช่นเรื่องรายละเอียดเนื้องานเพิ่มเติม เพื่อเป็นการแสดงความสนใจว่า เราสนใจงานนี้จริงๆ หรืออาจจะถามเกี่ยวกับกฎระเบียบของบริษัท เพื่อที่จะได้เอามาวิเคราะห์ว่า องค์กรนั้นๆ เหมาะสมกับเราหรือไม่ ก็จะทำให้การสัมภาษณ์งานเกิดประโยชน์กับทั้งสองฝ่ายนั่นเองค่ะ

กล้าที่จะถูกเกลียด (嫌われる勇気)
Inspire Now ! : เหตุผลในการปฏิเสธการสัมภาษณ์งานนั้นมีหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น เราคิดว่าบริษัทหรือตำแหน่งงานนั้นไม่เหมาะสมกับเราด้วยประการทั้งปวง มีการเปลี่ยนแปลงในชีวิตส่วนตัวบางอย่างทำให้ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนงานในเวลานี้ ได้รับการเสนองานที่ยอดเยี่ยมจากบริษัทอื่นไปก่อนหน้าแล้ว หรือแม้แต่บริษัทนั้นๆ อาจมีคุณสมบัติบางอย่างที่เราประเมินแล้วว่ายังไม่เหมาะที่จะเข้าทำงานด้วย ซึ่งไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม หากคุณไม่ต้องการเข้ารับตำแหน่งงานนั้นๆ และต้องการปฏิเสธสัมภาษณ์งานเพื่อไม่ให้เสียเวลาทั้งสองฝ่าย ก็ลองนำวิธีการปฏิเสธสัมภาษณ์งานที่เราแนะนำไปใช้กันนะคะ ขอให้ทุกคนโชคดี และสนุกกับการเรียนรู้ไปตามขั้นตอนของชีวิตกันนะคะ

DIYINSPIRENOW ทำให้ฉันเป็นคนใหม่ที่ดีกว่าเดิมใช่ไหม ? การปฏิเสธสัมภาษณ์งานอย่างเหมาะสมและให้เกียรติองค์กรจะทำให้เราดูมีความเป็นมืออาชีพและไม่ทำให้เกิดความรู้สึกลบๆ ทั้งสองฝ่าย เพราะทั้งบริษัท และตัวเราต่างก็ต้องการหาคนที่ใช่ และงานที่ใช่กันทั้งนั้น ดังนั้นอย่าลังเลที่จะปฏิเสธ แต่ต้องทำให้ถูกต้อง และให้เกียรติกันนะคะ ใครคิดเห็นยังไง มาคอมเมนต์คุนกันนะคะ ♡

Facebook Comments

หาข้อมูล-ลงมือเขียนและเรียบเรียงโดยทีมกองบรรณาธิการเว็บไซต์ DIY INSPIRE NOW