โค้ชชิ่ง คือ, mentor คือ

โค้ชชิ่ง คือ อะไร ? สำคัญกับองค์กรยังไง จะเป็นโค้ชที่ดีได้ ต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง มาดูกัน !

ในแวดวงการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเล็กๆ หรือองค์กรใหญ่ๆ เมื่อมีพนักงานใหม่เข้ามาทำงาน หรือพนักงานเก่ามีการโยกย้ายตำแหน่ง ได้เลื่อนขั้น หรือย้ายแผนกการทำงาน ก็จะต้องมีการสอนงานหรือเทรนด์งานให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสายงานนั้นๆ เพื่อที่จะได้ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายได้อย่างไม่มีติดขัด ซึ่งก็จะต้องมีการ โค้ชชิ่ง คือ การสอนงานหรือเทรนด์งานให้กับพนักงานใหม่ ปัจจุบันมีการโค้ชชิ่งในบริษัทอย่างแพร่หลาย และเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ใช้ในการพัฒนาทรัพยากรบุคคล สำหรับใครที่ทำงานในองค์กรและอยากจะรู้ว่า แนวทางการ Coaching มีกระบวนการอย่างไร ผู้ที่เป็นโค้ชจะต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง โค้ชกับเมนเทอร์ต่างกันยังไง แล้วในฐานะที่เป็นพนักงานใหม่ จะมีแนวทางในการปฏิบัติตัวอย่างไรให้เรียนรู้งานได้มากที่สุด ไปอ่านกันเลยค่ะ

โค้ชชิ่ง คือ อะไร ? มีความสำคัญยังไงกับองค์กร

โค้ชชิ่ง คือ, mentor คือ
Image Credit : freepik.com

หากมีการสมัครรับพนักงานใหม่ในบริษัท เมื่อผ่านการคัดเลือกและได้เข้ามาทำงานเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องมีการเทรนด์งานหรือสอนงาน เพื่อให้พนักงานสามารถปฏิบัติงานในตำแหน่งนั้นๆ ได้อย่างถูกต้องตามหน้าที่ ซึ่งคนที่จะมาสอนงานก็คือ โค้ชสอนงานนั่นเอง และกระบวนการสอนงานก็จะเรียกว่า Coaching หรือ การโค้ชชิ่ง คือ การฝึกสอน การสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ที่ถูกโค้ชให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี เพื่อปลอดล็อกศักยภาพของบุคคลนั้นๆ และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้ดียิ่งขึ้นนั่นเองค่ะ

การโค้ชชิ่ง ไม่ได้เป็นเพียงแค่การสอนงานเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้ช่วยและให้การสนับสนุนในการเรียนรู้แก่ผู้ถูกสอน หรือ โค้ชชี่ (Coachee) ให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เพื่อให้เกิดความสนใจในการเรียนรู้งาน รวมถึงการให้ข้อมูลเชิงลึกที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน ทำให้ผู้ถูกสอนมีแรงจูงใจในการเรียนรู้งานใหม่ๆ มากขึ้น มีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น และมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาความสามารถของตนเอง ซึ่งเป็นกุญแจที่จะนำไปสู่การทำงานอย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง

บทบาทหน้าที่ของการโค้ชชิ่ง คืออะไร ? มาทำความเข้าใจให้มากขึ้นกัน

โค้ชชิ่ง คือ, mentor คือ
Image Credit : freepik.com

หากกล่าวโดยรวม การโค้ชชิ่ง คือการสอนงานที่มีบรรยากาศช่วยส่งเสริมแรงจูงใจในการเรียนรู้ และส่งเสริมให้ผู้เรียนไปให้ถึงเป้าหมาย – ความคาดหวังตามที่ผู้เรียนต้องการ หากเป็นในองค์กร ก็คือการช่วยให้พนักงานเกิดการพัฒนาทักษะ ความรู้ ความสามารถ และก้าวไปสู่ความสำเร็จตามที่ต้องการ ผ่านการสนับสนุน ให้ข้อเสนอแนะ ให้คำปรึกษา ให้ข้อมูลต่างๆ เป็นต้น มาดูรายละเอียดของบทบาทหน้าที่การโค้ชชิ่งให้มากขึ้นกันค่ะ

1. การกำหนดทิศทางและเป้าหมายให้กับพนักงาน

การกำหนดทิศทางและเป้าหมายในการทำงานให้กับพนักงานอย่างชัดเจน จะทำให้พนักงานใหม่มองเห็นภาพรวมของตำแหน่งหน้าที่การทำงานของตัวเองได้อย่างกระจ่างแจ้ง และสามารถเชื่อมโยงได้ว่า การทำงานของตนเองจะนำไปสู่ความสำเร็จโดยรวมขององค์กรได้อย่างไร และรู้ว่าควรจะตั้งเป้าหมายยังไงเพื่อที่จะนำไปสู่การปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพและมีทิศทาง โดยคนที่เป็นโค้ช เช่น หัวหน้างานหรือผู้จัดการแผนก ก็จะทำหน้าที่คอยให้คำแนะนำหรือชี้แนะแนวทางในการปฏิบัติงาน ทั้งในเรื่องข้อมูลที่จำเป็น ความรู้ ทักษะต่างๆ ที่จำเป็นในการทำงาน เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายในงานตามที่ได้กำหนดไว้

[affegg id=4221]

2. พัฒนาความสามารถและศักยภาพของพนักงาน

ไม่ว่าองค์ใดๆ ก็ต้องการให้พนักงานซึ่งเป็นทรัพยากรบุคคลภายในองค์กรมีการพัฒนาศักยภาพของตนเอง เพื่อที่จะได้ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และนำพาองค์กรให้เติบโตและก้าวหน้าต่อไปได้ ซึ่งการโค้ชชิ่ง คือการส่งเสริมและสนับสนุนให้พนักงานมีการพัฒนาความรู้ ทักษะ ความสามารถของตนเอง ท่ามกลางบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมต่อการเรียนรู้และฝึกฝนตนเอง ทั้งการประเมินความสามารถของพนักงานในปัจจุบัน และทำการสอนงาน ให้คำแนะนำ เสนอแนวทางที่เอื้อต่อการปรับปรุงความรู้ความสามารถของพนักงาน และไม่ตำหนิหรือกล่าวโทษเมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้น ให้ความผิดพลาดเป็นบทเรียน และความล้มเหลวคือโอกาสในการเติบโต ซึ่งถ้าหากมีการโค้ชชิ่งแบบนี้ ก็จะทำให้พนักงานมีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น กล้าที่จะลงมือทำมากขึ้น และเกิดการพัฒนาความสามารถของตนเองได้

3. เปิดโอกาสเพื่อสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ

โค้ชชิ่ง คือ, mentor คือ
Image Credit : freepik.com

หนึ่งในเป้าหมายของการโค้ชชิ่ง คือ การพัฒนาศักยภาพของพนักงานด้านความสามารถในการแก้ปัญหาและการตัดสินใจ พัฒนา problem solving skill เพื่อให้พนักงานสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยตนเองได้ หรือเสนอทางเลือกใหม่ๆ ในการปรับปรุงแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงการเสนอไอเดียใหม่ๆ ในการทำงานด้วยเช่นกัน โค้ชไม่ควรจำกัดไอเดียหรือตีกรอบการทำงานของพนักงาน และให้พนักงานได้ทดลองเรียนรู้วิธีการใหม่ๆ ด้วยตนเอง เพื่อสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ อันมีประโยชน์ต่อการปฏิบัติงาน พร้อมกับการคอยให้ความช่วยเหลือหรือให้คำแนะนำที่จำเป็นต่อการทำงาน

4. ช่วยกำจัดอุปสรรคในการทำงาน

เมื่อเกิดปัญหาในการทำงานขึ้น และพนักงานไม่สามารถแก้ไขปัญหานั้นๆ ได้ด้วยตัวเอง ก็เป็นหน้าที่ของโค้ชที่จะต้องช่วยเหลือพนักงานและช่วยกำจัดอุปสรรคในการทำงาน เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานต่อไปได้ ทั้งนี้ พนักงานก็จะเกิดการเรียนรู้จากตัวโค้ชเองด้วยว่าควรแก้ไขปัญหานั้นๆ อย่างไร การได้รับความช่วยเหลือจะทำให้พนักงานรู้สึกว่าได้รับการสนับสนุนในที่ทำงาน เป็นการสร้างบรรยากาศการทำงานที่ให้ความอุ่นใจและเกิดความรู้สึกมั่นคงทางจิตใจ ไม่รู้สึกว่าตัวเองโดดเดี่ยว ซึ่งจะช่วยให้พนักงานมีทัศนคติที่ดีต่อการทำงานและองค์กรได้

[affegg id=4222]

คุณสมบัติของโค้ชที่ดี มีอะไรบ้าง ?

โค้ชชิ่ง คือ, mentor คือ
Image Credit : freepik.com

ตอนนี้ก็ได้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้นแล้วว่าโค้ชชิ่ง คืออะไร และมีความสำคัญยังไงกับองค์กร มีบทบาทหน้าที่สำคัญๆ อะไรบ้าง ทีนี้เรามาดูกันว่า การเป็นโค้ชที่ดีควรมีคุณสมบัติอย่างไร เพื่อที่จะได้สามารถสอนงานและสนับสนุนพนักงานให้มีการปรับปรุงพัฒนาตนเองได้ ไปดูกันเลยค่ะ

1. มีความน่าเชื่อถือ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเป็นโค้ชหรือเป็นผู้สอนงานที่ดีจะต้องมีความน่าเชื่อถือ และมีความเชี่ยวชาญในสายงานนั้นๆ มีประสบการณ์ในการทำงานอย่างเพียงพอที่จะสามารถถ่ายทอดความรู้ทักษะในการทำงานให้กับพนักงานใหม่ได้ ทั้งยังต้องประเมินการทำงานและชี้แนะแนวทางการทำงานให้กับพนักงาน รวมถึงสร้างความไว้วางใจให้กับพนักงานว่าสามารถเป็นที่พึ่งพาในการเทรนด์งานได้อีกด้วย

2. มีทักษะการฟังที่ดี

ทักษะการฟัง หมายถึง การฟังอย่างมีประสิทธิภาพ ฟังเพื่อเข้าใจสารที่อีกฝ่ายต้องการจะสื่อออกมาโดยเข้าใจความหมายอย่างแท้จริง และเข้าใจว่าอีกฝ่ายต้องการอะไร ทักษะการฟังที่ดีจะช่วยให้การสื่อสารระหว่างโค้ชสอนงานกับพนักงานเป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้นและเข้าใจกันมากขึ้น ถ้าหากโค้ชไม่มีทักษะการฟังที่ดี ก็อาจจะทำให้การสื่อสารมีความคลาดเคลื่อน ส่งผลให้เข้าใจความหมายผิดไปได้ และถ้าหากไม่รับฟังพนักงานเลย ก็จะทำให้บรรยากาศในการสอนงานมีความอึดอัด พนักงานมีความไม่สบายใจที่จะต้องพูดหรือแสดงความคิดเห็นออกไป ไม่กล้าบอกถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการปฏิบัติงานได้

3. ให้ feedback ที่มีประโยชน์ มีความชัดเจน และพนักงานสามารถนำไปปรับปรุงได้

การให้คำแนะนำหรือให้ feedback ที่ไม่ชัดเจน มีความคลุมเครือ อาจทำให้พนักงานเกิดความสับสนและไม่รู้ว่าจะต้องปรับปรุงการทำงานในส่วนใด รวมถึงการตำหนิที่ไม่ก่อให้เกิดการพัฒนา เช่น การดุด่า ก็อาจจะทำให้พนักงานรู้สึกไม่ดีและเสียกำลังใจในการทำงานได้ การให้ feedback ที่เป็นคำแนะนำและเสนอแนวทางในการปฏิบัติงานที่ให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า จะทำให้พนักงานมีแรงจูงใจที่จะพัฒนาตนเองและปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มากกว่าการให้ feedback ในเชิงลบที่อาจทำให้พนักงานหมดกำลังใจในการทำงานได้

4. มี Empathy ต่อพนักงาน

การมี  Empathy หรือมีความเข้าอกเข้าใจพนักงานใหม่ จะช่วยให้โค้ชปฏิบัติต่อพนักงานอย่างมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ไม่เข้มงวดจนเกินไป การมีความเห็นใจพนักงานใหม่ที่อาจจะมีข้อผิดพลาดบ้างหรือยังไม่สามารถปฏิบัติงานให้ตรงกับเป้าหมายที่วางเอาไว้ได้ ก็จะทำให้พนักงานไม่รู้สึกกดดันและเครียดต่อการทำงานจนเกินไป เพราะการมีความกดดันมากเกินไปหรือเครียดมากเกินไป ก็อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานได้ และยังส่งผลต่อบรรยากาศการทำงานให้มีแต่ความเคร่งเครียดอีกด้วย การสร้างบรรยากาศการทำงานที่มีความยืดหยุ่น มีความเป็นกันเอง ก็จะทำให้พนักงานผ่อนคลายมากขึ้นและปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

5. มีทักษะในการบริหารจัดการ

การโค้ชชิ่ง คือการเทรนด์งานให้พนักงานมีทักษะ ความรู้ ความสามารถที่มากขึ้น เพื่อประโยชน์ทั้งต่อตัวพนักงานและต่อองค์กร ซึ่งจะต้องมีกระบวนการสอนงาน ทดลองทำงานต่างๆ ผู้ที่เป็นโค้ชจะต้องมีการบริหารจัดการในการออกแบบการสอนงานให้กับพนักงานว่าควรมีการชี้แนะแนวทางอย่างไร มีการประเมินผลการทำงานอย่างไร มีการติดตามผลอย่างไร และควรพัฒนาพนักงานให้เป็นไปในทิศทางใด ถ้าหากมีการวางแผนบริการจัดการที่ดีและมีประสิทธิภาพ ก็จะทำให้การโค้ชชิ่งมีประสิทธิภาพตามไปด้วย

ไขข้อสงสัย Coaching และ Mentoring ต่างกันอย่างไร

โค้ชชิ่ง คือ, mentor คือ
Image Credit : freepik.com

บางคนอาจจะสับสนว่า การเป็นโค้ชกับการเป็นเมนเทอร์มีลักษณะการทำงานที่ใกล้เคียงกัน แต่ความจริงแล้วมีความแตกต่างกัน การโค้ชชิ่ง คือการสอนงานโดยการชี้แนะแนวทางหรือเป็นการแนะนำโดยส่วนใหญ่ โดยตั้งเป้าให้พนักงานเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองมากกว่า เพื่อให้พนักงานดึงเอาศักยภาพของตนเองออกมาได้อย่างเต็มที่ เน้นการให้โจทย์หรือการถามคำถามเพื่อให้เกิดการคิดวิเคราะห์ การมอบหมายงานที่จะทำให้พนักงานเกิดการเรียนรู้ ฝึกฝนพัฒนาตนเอง และตระหนักรู้ถึงความสามารถของตนเอง โดยที่ตัวโค้ชเองจะให้การสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือในกรณีที่เกิดปัญหาอุปสรรคขึ้น ซึ่งการโค้ชชิ่งอาจเป็นการสอนงานแบบกลุ่ม หรือมีโค้ชเพียงคนเดียว แต่มีพนักงานหลายคน และเน้นให้พนักงานแต่ละคนมีการพัฒนาตนเองและปลดล็อกศักยภาพของตัวเองตามแบบฉบับของแต่ละคน

สำหรับคนที่เป็น Mentor คือ พี่เลี้ยงสอนงาน จะมีความใกล้ชิดกับพนักงานมากกว่าโค้ช อาจเป็นการสอนงานตัวต่อตัว และมุ่งเน้นในการให้ข้อมูลความรู้ตามประสบการณ์ของเมนเทอร์เอง ทั้งยังให้ความช่วยเหลือในการทำงาน และเป็นที่ปรึกษาในด้านการทำงานโดยเฉพาะ อาจกล่าวได้ว่า Mentor คือต้นแบบในการทำงานของพนักงาน ที่เน้นการถ่ายทอดทักษะ ความสามารถ และวิธีการทำงานตามแบบฉบับของเมนเทอร์เอง เพื่อให้พนักงานสามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องตามบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ทั้งนี้ ผู้ที่เป็นเมนเทอร์ไม่จำเป็นจะต้องอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าเสมอไป อาจจะเป็นพนักงานที่อยู่ในตำแหน่งเดียวกันแต่มีประสบการณ์ในการทำงานมากกว่า ก็สามารถเป็นพี่เลี้ยงสอนงานให้กับพนักงานใหม่ได้ เพื่อให้พนักงานใหม่สามารถปฏิบัติงานตามบทบาทหน้าที่ได้ดียิ่งขึ้น

การเป็น Coachee และ Mentee ที่ดี ควรปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อให้การเรียนรู้งานใหม่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

โค้ชชิ่ง คือ, mentor คือ
Image Credit : freepik.com

เราได้พูดถึงคุณสมบัติของการเป็นโค้ชที่ดีไปแล้ว คราวนี้มาพูดถึงการเป็นผู้เรียนที่ดีกันบ้างค่ะ ถ้าตัวเราเองเป็นพนักงานใหม่ หรือได้รับการเลื่อนตำแหน่งใหม่ ย้ายแผนกทำงานใหม่ และจะต้องไปเรียนรู้งานใหม่ๆ เราควรปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อให้การเรียนรู้งานเป็นไปอย่างราบรื่นและก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

  • เปิดใจที่จะรับข้อมูลหรือองค์ความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ แม้จะมีประสบการณ์การทำงานนั้นๆ มาก่อนหรือไม่ก็ตาม ในฐานะผู้เรียน การเปิดกว้างและเปิดใจยอมรับข้อมูลความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ใหม่ๆ จะทำให้เรามีการพัฒนาตนเองมากขึ้น โดยเฉพาะการมี mindset ที่ว่า การเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด ให้เราเปรียบตัวเองเป็นน้ำครึ่งแก้วอยู่เสมอ และผู้ที่เป็น coach หรือเป็น mentor คือผู้จะมาเติมเต็มแก้วน้ำของเราให้มีความสมบูรณ์มากขึ้นนั่นเองค่ะ 
  • ไม่อายที่จะซักถามและยินดีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน หากไม่เข้าใจตรงไหนหรือมีข้อสงสัยในส่วนใด การสอบถามในสิ่งที่ตนเองสงสัยหรือชวนพูดคุยในข้อคิดเห็นที่แตกต่างออกไป ก็ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้เช่นกัน ซึ่งการสอบถามออกไปตรงๆ และได้คำตอบที่ชัดเจนจะทำให้เราคลายความสงสัยออกไปได้และไม่ติดค้างอยู่ในใจ ซึ่งการเก็บความสงสัยและความไม่เข้าใจเอาไว้ อาจส่งผลต่อการเรียนรู้งานในส่วนอื่นๆ ได้ 
  • กล้าที่จะลงมือทำ การเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการลงมือปฏิบัติจริง เพราะจะทำให้เรามีประสบการณ์ในการทำงานมากขึ้น และได้เรียนรู้การทำงานจริงๆ หากไม่ลงมือทำก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าเรามีความสามารถมากน้อยเพียงใด ต้องแก้ไขปรับปรุงในส่วนใดบ้าง ซึ่งถ้าทำผิดไป คนที่เป็นโค้ชหรือเป็นเมนเทอร์ก้จะชี้แนะแนวทางให้กับเราเองค่ะ 
  • ทบทวนตนเองอยู่เสมอ การเรียนรู้งานใหม่ในแต่ละวัน หากมีการทบทวนตนเองว่าได้พัฒนาส่วนใดไปบ้างแล้ว และต้องปรับปรุงในส่วนไหนบ้าง ก็จะทำให้เราสามารถประเมินตนเองเบื้องต้นได้ และรู้ว่าควรจะต้องเน้นในจุดไหนเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และรักษามาตรฐานการทำงานในส่วนใดบ้างเพื่อให้งานมีคุณภาพคงเดิม ซึ่งส่งผลดีต่อการพัฒนาศักยภาพตนเอง และส่งผลดีต่อองค์กรของเราด้วยค่ะ 
  • รับฟัง feedback อย่างไม่มีอคติ เพราะคำแนะนำหรือคำชี้แนะที่ได้จากโค้ชหรือเมนเมอร์นั้น คือสิ่งที่บ่งบอกว่า เราสามารถปรับปรุงพัฒนาในจุดนั้นๆ ได้อีก และทำให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้ ในการทำงานนั้น บางครั้งก็อาจมีจุดบกพร่องหรือมีสิ่งที่ต้องแก้ไขอยู่บ้าง ซึ่งการได้รับ feedback ที่เป็นคำแนะนำที่ดี ก็จะช่วยให้เราได้แก้ไขจุดบกพร่องของตัวเอง และปรับปรุงคุณภาพของงานให้ดีกว่าเดิม

[affegg id=4223]

Inspire Now ! : ทั้งการ Coaching และ Mentoring เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ใช้เพื่อการพัฒนาศักยภาพของพนักงานในองค์กรให้มี Performance ที่ดีขึ้น มีการพัฒนาตนเองมากขึ้นทั้งในด้านความรู้ ทักษะ ความสามารถ อาจรวมไปถึงทัศนคติที่มีต่อการทำงานด้วย ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งองค์กรและตัวพนักงานเอง เพราะการที่พนักงานมีความรู้ความสามารถมากขึ้นก็จะทำให้ปฏิบัติงานได้อย่างราบรื่น และสามารถจัดการกับปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นได้โดยที่ไม่รู้สึกกดดันหรือก่อให้เกิดความเครียดมากเกินไป ทั้งยังส่งผลต่อความก้าวหน้าในการทำงาน นอกจากนี้ หากพนักงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ส่งผลให้องค์กรมีการเติบโตพัฒนา และมีความก้าวหน้าด้วยเช่นกัน

DIY INSPIRE NOW ทำให้ฉันเป็นคนใหม่ที่ดีกว่าเดิมใช่ไหม ? ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะโค้ช เมนเทอร์ หรือผู้เรียนรู้งาน ถ้ามีความตั้งใจและมีความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาศักยภาพของตัวเอง ก็สามารถไปให้ถึงเป้าหมายตามที่ตัวเองต้องการได้อย่างแน่นอนค่ะ ♡

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : webportal.bangkok.go.th, linkedin.com, indeed.com, skillsyouneed.com, hr.mit.edu

Featured Image Credit : freepik.com/Lifestylememory

Facebook Comments

ฝันอยากเดินทางท่องโลกให้ได้มากที่สุด สนใจเรียนรู้เกี่ยวกับจิตวิทยา รักการอ่านหนังสือ ชอบถ่ายรูป หลงใหลแมวและกาแฟ