เมื่อพูดถึงผู้นำ หลายๆ คนอาจคิดถึงการเป็นบุคคลสำคัญที่มีอำนาจสั่งการ เป็นผู้ตัดสินใจ เป็นผู้กำหนดทิศทางและเป้าหมายของทีม เป็นผู้มีอิทธิพลสูงสุด หรือเป็นหัวเรือใหญ่ของกลุ่ม และนำพากลุ่มไปให้ถึงเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็น ผู้นำในกลุ่มเพื่อน ผู้นำทีม ผู้นำในองค์กร หรือแม้กระทั่ง ผู้นำประเทศ ถ้าพูดถึง ประเภทของผู้นำ หลายๆ คนคงคิดถึงการเป็นผู้นำที่ดี และการเป็นผู้นำที่ไม่ดี แต่ทราบหรือไม่ว่า ผู้นำมีกี่ประเภท ? แล้วแบ่งได้อย่างไรบ้าง
Image Credit : freepik.com
ได้มีการแบ่งประเภทของผู้นำออกเป็น 8 ประเภทด้วยกัน ซึ่งเห็นได้ชัดจากสังคมการทำงานที่จะต้องมีทั้งหัวหน้าทีม หัวหน้าฝ่าย หัวหน้าองค์กร เจ้าของบริษัท การที่เรารู้ว่า หัวหน้าหรือผู้นำของเราจัดอยู่ในกลุ่มใดนั้น ก็อาจจะทำให้เราเข้าใจรูปแบบการทำงานของผู้นำทีมเรามากขึ้น และสามารถปรับตัวหรือปรับวิธีการทำงานให้สอดคล้องกันได้ และถ้าคุณกำลังอยู่ในตำแหน่งผู้นำเสียเอง ก็เป็นโอกาสดีที่จะรู้จักสไตล์การทำงานหรือการนำทีมของตัวเอง เพื่อพัฒนาจุดแข็ง ปรับปรุงจุดอ่อนที่มี และทำให้การทำงานมีความสุข มีความสนุก และมีประสิทธิภาพมากขึ้นค่ะ
ทำความรู้จัก ประเภทของผู้นำ ทั้ง 8 ประเภท เพื่อการทำงานที่ดีขึ้น !
หากเรารู้ว่า ผู้นำมีกี่ประเภท และสามารถจับจุดการทำงานของผู้นำใกล้ตัวเราได้ รวมถึงสังเกตตัวเราเองหากอยู่ในฐานะผู้นำ ถ้าเราเข้าใจการทำงานของผู้นำแต่ละแบบ ก็จะทำให้การทำงานร่วมกันมีความราบรื่นมากขึ้น ผู้นำแบบไหนที่คนอยากทำงานด้วย และผู้นำแบบไหนที่ไม่น่าเหมาะกับเรา หรือควรหลีกเลี่ยงหากสัมผัสได้ว่ามีความ Toxic (สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ว่า Tocxic คืออะไร) มาทำความรู้จักว่าผู้นำมีกี่ประเภทกันเถอะ !
หนังสือ วิธีฝึกใจให้แกร่ง รับมือได้ทุกปัญหา
1. ผู้นำแบบประชาธิปไตย (Democratic Leadership)
เป็นประเภทของผู้นำแบบเน้นการทำงานร่วมกันและเน้นการมีส่วนร่วมของกลุ่ม ให้ความสำคัญกับความคิดเห็นและข้อมูลจากสมาชิกกลุ่มอย่างเท่าเทียม ซึ่งนับว่าเป็นหนึ่งในลักษณะผู้นำที่มีประสิทธิภาพ
จุดแข็ง : สนับสนุนให้สมาชิกกลุ่มมีส่วนร่วมและกล้าแสดงออก กระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์หรือแนวทางใหม่ๆ
จุดอ่อน : บางครั้งการหามติตรงกลางอาจยืดเยื้อและใช้เวลา ทำให้งานเสียหายและขาดประสิทธิภาพ
2. ผู้นำแบบเผด็จการ (Autocratic Leadership)
ประเภทของผู้นำที่เชื่อว่าตนเองมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการตัดสินใจแทนสมาชิกในทีม ไม่เปิดโอกาสให้ผู้อื่นแสดงความคิดเห็นหรือมีข้อโต้แย้งใดๆ มักตัดสินใจด้วยตัวเองเป็นหลัก
จุดแข็ง : สามารถตัดสินใจอย่างมีกลยุทธ์ได้รวดเร็วและเด็ดขาด
จุดอ่อน : สมาชิกกลุ่มรู้สึกว่าถูกมองข้าม และถูกจำกัดความคิดเห็น
3. ผู้นำแบบเสรีนิยม (Laissez-Faire Leadership)
ประเภทของผู้นำที่ให้อิสระในการทำงานแก่สมาชิกกลุ่มอย่างเต็มที่ โดยคนในทีมสามารถตัดสินใจ แก้ไขปัญหา และทำงานให้สำเร็จได้ด้วยตัวเอง และไม่ต้องคอยกังวลว่าจะถูกจับตามองหรือถูกจับผิด โดยผู้นำจะเข้ามามีส่วนร่วมสำคัญสองครั้งเท่านั้นคือ ตอนเริ่มงาน และตอนงานสำเร็จ
จุดแข็ง : สมาชิกในทีมได้รับความไว้วางใจและมีอิสระในการทำงาน ซึ่งจะกระตุ้นให้ทีมพัฒนาความสามารถ มีความคิดสร้างสรรค์ และมีแรงจูงใจในการทำงานจากตนเอง
จุดอ่อน : อาจเกิดความวุ่นวาย ทีมไม่มีระเบียบแบบแผน ไม่มีเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน และเกิดความสับสนในทีมได้
Image Credit : pixabay.com
4. ผู้นำแบบมีกลยุทธ์ (Strategic Leadership)
ผู้นำกลุ่มนี้ สามารถบริหารจัดการทีมได้อย่างมีแบบแผน บริหารจัดการระหว่างการดำเนินงานภายในทีมและโอกาสในการก้าวหน้าขององค์กร ดูแลสมาชิกในทีมให้ทำงานอย่างมีความสุขและมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นประเภทของผู้นำที่หลายๆ บริษัทต้องการ
จุดแข็ง : สนับสนุนการทำงานของสมาชิกในทีมให้มีประสิทธิภาพ ให้ความสำคัญกับพนักงาน มีความสามารถในการบริหารจัดการ
จุดอ่อน : อาจเกิดความเหนื่อยล้าเนื่องจากต้องบริหารจัดการทั้งภายในทีมและภายนอกองค์กร มีภาระงานที่มากเกินขีดจำกัด
5. ผู้นำความเปลี่ยนแปลง (Transformational Leadership)
มีลักษณะคือ พร้อมเปลี่ยนแปลงเพื่อไปสู่สิ่งที่ดีกว่า มักค้นหาวิธีการและแนวทางการทำงานใหม่ๆ ที่สามารถพัฒนาศักยภาพของทีมได้ ไม่ติดอยู่ใน Comfort Zone เป็นประเภทของผู้นำที่เหมาะกับองค์กรที่มุ่งมั่นเติบโตอย่างต่อเนื่อง
จุดแข็ง : สนับสนุนให้สมาชิกในทีมคิดนอกกรอบ ก้าวออกจากรูปแบบเดิมๆ กระตุ้นให้พนักงานดึงศักยภาพของตัวเองออกมา
จุดอ่อน : ไม่เหมาะกับสมาชิกในทีมที่ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานอยู่บ่อยๆ อาจทำให้พนักงานไม่มีความเชี่ยวชาญหรือไม่สามารถพัฒนาทักษะอย่างใดอย่างหนึ่งได้อย่างลงลึก
หนังสือ วันไหนที่ใจแข็งแรง ดอกไม้จะผลิบาน THE ENCHANTED GARDEN
6. ผู้นำแบบผู้รับใช้ (Servant Leadership)
เป็นประเภทของผู้นำที่ให้ความสำคัญกับความพึงพอใจของสมาชิกในทีมเป็นหลัก ไม่ใช้อำนาจ และมุ่งพัฒนาศักยภาพสมาชิกในทีม ยินดีให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ และต้องการนำพาให้สมาชิกในทีมบรรลุเป้าหมายของตนได้สำเร็จ
จุดแข็ง : สมาชิกในทีมมีขวัญกำลังใจในการทำงานและไว้วางใจผู้นำเป็นอย่างมาก มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างหัวหน้าทีมและสมาชิกในทีม และวัฒนธรรมองค์กรโดยภาพรวมเป็นไปในทิศทางที่ดี
จุดอ่อน : ผู้นำมีความท้าทายสูงมากในการรักษาสมดุลระหว่างการให้ความสำคัญกับสมาชิกในทีมเป็นหลักกับการทำตามความต้องการและเป้าหมายของตัวเอง
Image Credit : pixabay.com
7. ผู้นำแบบราชการ (Bureaucratic Leadership)
จะมีลักษณะคือ ทำตามตำราหรือมักปฏิบัติตามแผนที่วางเอาไว้อย่างเคร่งครัด และจะปฏิเสธทันทีหากมีสิ่งที่ขัดต่อนโยบายขององค์กร มีกฎระเบียบที่ชัดเจน เป็นประเภทของผู้นำที่มักไม่เห็นด้วยกับวิธีการหรือไอเดียใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน
จุดแข็ง : มีความเสถียร มีระบบระเบียบแบบแผน มีขั้นตอนการทำงานที่ชัดเจน
จุดอ่อน : มักไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงหรือวิธีการใหม่ๆ ยึดถือความสำเร็จแบบเดิมๆ
8. ผู้นำที่ชอบสอนงาน (Coach-Style Leadership)
เป็นประเภทของผู้นำที่มุ่งพัฒนาศักยภาพของสมาชิกในทีมรายบุคคล โดยเน้นพัฒนาทักษะเด่นของสมาชิกในทีม เพื่อให้ทีมมีความแข็งแกร่ง นอกจากนี้ ยังมองไปถึงการต่อยอดทักษะที่มีอยู่ของพนักงานอีกด้วย โดยการมอบหมายงานที่มีความท้าทายพร้อมให้คำปรึกษาและชี้แนะแนวทางให้กับสมาชิกในทีม
จุดแข็ง : มุ่งพัฒนาศักยภาพเป็นรายบุคคล พนักงานมีโอกาสในการพัฒนาตนเอง ได้เรียนรู้และต่อยอดทักษะความสามารถของตัวเอง
จุดอ่อน : หากสมาชิกในทีมมีจำนวนมาก อาจทำให้สอนงานได้ไม่ทั่วถึง หรือไม่สามารถพัฒนาศักยภาพเป็นรายบุคคลได้
ตอนนี้เราก็รู้แล้วว่า ผู้นำมีกี่ประเภท การทำความเข้าใจลักษณะของผู้นำที่แตกต่างกันไป จะช่วยให้เราทำงานร่วมกับทีมได้ราบรื่นมากขึ้น ทั้งในฐานะสมาชิกของทีมและฐานะการเป็นผู้นำ ซึ่งบางคนก็เหมาะกับการทำงานร่วมกับผู้นำในแต่ละประเภทต่างกันไปด้วยเช่นกัน เช่นเดียวกันกับบุคคลประเภท introvert extrovert ที่มีบุคลิกภาพต่างกัน นอกจากนี้ วิธีการสื่อสารหรือการทำงานร่วมกันก็มีสไตล์ที่ไม่เหมือนกัน การรู้ถึงจุดแข็ง – จุดอ่อนของผู้นำแต่ละประเภทนั้น ทำให้สามารถพัฒนาข้อดีที่มีอยู่ และปรับปรุงข้อเสีย เพื่อให้การทำงานและการนำทีมออกมาอย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพมากที่สุด
Image Credit : freepik.com
หนังสือ สู่จุดสูงสุดของชีวิตด้วย “พีระมิดสามสุข”
Inspire Now ! : ประเภทผู้นำมีอยู่หลายแบบด้วยกัน และไม่จำเป็นว่าจะต้องมีแนวทางการนำทีมที่ตายตัว หรือจะต้องแบบเดียวเท่านั้น ผู้นำสามารถพัฒนาตัวเองโดยการนำเอาสไตล์ผู้นำแต่ละแบบมาปรับใช้กับตนเอง เพื่อการนำทีมที่ดียิ่งขึ้น และสมาชิกในทีมก็สามารถปรับวิธีการทำงานหรือปรับตัวให้เข้ากับแนวทางการทำงานของผู้นำด้วย สิ่งสำคัญคือ ต้องมีการสื่อสารระหว่างกัน พูดคุยเพื่อให้เข้าใจตรงกัน และมีเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกันค่ะ |
---|
DIY INSPIRE NOW ทำให้ฉันเป็นคนใหม่ที่ดีกว่าใช่ไหม ? การทำความเข้าใจลักษณะของผู้นำที่แตกต่างกันไป จะช่วยให้เราทำงานร่วมกับทีมได้ราบรื่นมากขึ้น พัฒนาจุดแข็ง และปรับปรุงจุดอ่อนของตัวเอง ถ้าเข้าใจรูปแบบการนำทีมมากขึ้นแล้ว การบริหารทีมของคุณดีขึ้นหรือไม่ มาคอมเมนต์บอกเราด้วยนะคะ ♡
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : masterclass.com, emeritus.org, themuse.com
Featured Image Credit : freepik.com/8photo