Toxic Positivity คือ อะไร ? เราคิดบวกเกินไปจนใจเป็นพิษหรือเปล่า ?!

เมื่อเจอสถานการณ์เลวร้ายต่างๆ เราต่างก็เคยได้ยินมาว่า ให้หัดมองในมุมบวกดูบ้าง หรือฝึกมองโลกในแง่บวกให้มากขึ้น เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเครียดหรือเป็นทุกข์กับเรื่องนั้นๆ มากเกินไป และอาจจะมีเรื่องดีๆ ซ่อนอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายก็เป็นได้ ซึ่งบางครั้งก็เป็นความจริง แต่บางครั้งก็อาจไม่ถูกต้องนัก เพราะการมองโลกในแง่บวกไปเสียหมดจนไม่ขึ้นอยู่กับความเป็นจริงนั้น อาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งกว่าเดิม เรียกว่า Toxic Positivity คือ การคิดบวกมากเกินไปจนทำให้ใจเป็นทุกข์ เรียกอีกอย่างว่าคิดบวกจนเป็นพิษนั่นเอง เรากำลังเป็นแบบนี้อยู่รึเปล่า มาดูกันเลยค่ะ

Toxic Positivity คือ อะไร ? เรากำลังคิดบวกมากเกินไปอยู่หรือเปล่า ?!

ในเชิงจิตวิทยาแล้ว การคิดบวก คือการปรับเปลี่ยนมุมมองและทัศนคติที่เรามีต่อสถานการณ์นั้นๆ ต่างออกไป ช่วยให้เรารู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น วิตกกังวลน้อยลง และเห็นถึงแง่มุมด้านบวกของสิ่งนั้นๆ อันจะทำให้เราขจัดความเครียดออกไปได้ ทำให้เรามีความเข้มแข็งทางจิตใจ สามารถจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกเชิงลบที่เกิดขึ้นได้ และมีกำลังใจที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาอุปสรรคต่างๆ ซึ่งต่างจากการคิดลบที่ทวีคูณความเครียดความวิตกกังวลให้มีมากขึ้นกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม การคิดบวกกับทุกอย่างก็ไม่ได้ส่งผลดีกับเราเสมอไป เพราะการคิดบวกจนเกินความพอดีนั้น ก็อาจทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Toxic Positivity คือ ภาวะที่เราคิดบวกมากเกินไปจนไม่ขึ้นอยู่กับความเป็นจริง และอาจทำให้เราเสียสมดุลในการใช้ชีวิตได้เลยทีเดียว

นักจิตวิทยาจากสถาบัน Gallaher Edge นามว่า Laura Gallagher ได้ให้คำนิยามของภาวะ Toxic Positivity เอาไว้ว่า เป็นสภาวะที่คนๆ หนึ่งพยายามกดอารมณ์ความรู้สึกในเชิงลบเอาไว้ด้วยมุมมองเชิงบวกแบบสุดโต่ง และบางครั้งก็ไม่ตรงกับความเป็นจริงจนทำให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง เช่น ถูกทำร้ายจิตใจซ้ำแล้วซ้ำเล่าในความสัมพันธ์ ถูกเอารัดเอาเปรียบจากคนรอบข้าง หรือเก็บกดอารมณ์ความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเองเอาไว้จนอาจนำไปสู่ความเจ็บป่วยทางใจได้

Amarinbooks หนังสือ ชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์

ชวนเช็ก เรากำลังมีภาวะคิดบวกจนเป็นพิษอยู่หรือไม่ ?

toxic positivity คือ, คิดบวก คือ
Image Credit : freepik.com

การมองโลกในแง่ดีนั้นเป็นเรื่องที่ดีค่ะ เพราะทำให้เรามีมุมมองเชิงบวกต่อสิ่งต่างๆ มากขึ้น เมื่อเรามองในมุมที่ต่างออกไป เราอาจสามารถแก้ไขเรื่องร้ายให้กลับกลายมาเป็นดีได้  ทั้งยังส่งพลังงานเชิงบวกไปให้กับคนรอบข้างอีกด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็มีสิ่งที่ต้องระวังคือ การคิดบวกมากเกินไปจนไม่ขึ้นอยู่กับความจริง หรือมองทุกอย่างในแง่บวกแบบสุดโต่งจนส่งผลเสียตามมาได้ เรากำลังมีภาวะ Toxic Positivity อยู่หรือเปล่า ? มาเช็กตัวเองกันค่ะ

1. ทุกอย่างเรียบร้อยดี นี่เป็นเรื่องปกติ

ถ้าเจอสถานการณ์ร้ายๆ ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ เช่น ถูกทำร้ายจิตใจในความสัมพันธ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า หรือกำลังอยู่ในความสัมพันธ์แบบ Abusive Relationship ในบางคนอาจจะมานั่งวิเคราะห์สถานการณ์หรือมานั่งถามตัวเองว่า นี่ใช่สิ่งที่ฉันสมควรได้รับหรือเปล่า ? เราสมควรได้รับการปฏิบัติเช่นนี้มั้ย ? นี่คือความสัมพันธ์ที่ Toxic หรือเปล่า ? แต่คนที่มีภาวะ Toxic Positivity คือ จะคิดว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องปกติ เป็นธรรมดาที่คู่รักจะมีปัญหากันหรือกระทบกระทั่งกัน ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ควรจะเป็นแบบนั้น เช่น ถูกนอกใจซ้ำแล้วซ้ำเล่าและตัวเองก็เสียใจ แต่ก็ยังคิดว่าเป็นเรื่องปกติในความสัมพันธ์ ความรักยังราบรื่นดีอยู่ อะไรแบบนี้ค่ะ

2. คนอื่นมองโลกในแง่ลบเกินไป

ผู้ที่มีภาวะ Toxic Positivity บางคนอาจมองว่าคนอื่นต่างหากที่คิดลบเกินไป ยังมีด้านดีอยู่อีกมาก แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในบางสถานการณ์ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมองโลกในแง่บวกเลย เช่น ถูกเอารัดเอาเปรียบในที่ทำงานหรือโดนเจ้านายดุด่าด้วยคำพูดที่รุนแรงซึ่งไม่ใช่สิ่งที่สมควรทำ หรือโดนแย่งงาน โดนโยนงาน เมื่อมีคนอื่นมาบอกว่า สถานการณ์นี้ผิดปกติและไม่ถูกต้อง ก็จะบอกว่า คนๆ นั้นมองโลกในแง่ลบมากเกินไป ที่ต้องทำงานหนักก็เพราะว่าบริษัทมีพนักงานน้อย ต้องช่วยเหลือกัน ต้องทำงานล่วงเวลาแม้จะไม่ได้ค่า OT ก็ตาม และมองว่ามันไม่ได้แย่ขนาดนั้น ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วตัวเองก็รู้สึกแย่ แต่พยายามมองในแง่บวกและมองว่าคนอื่นมองโลกในแง่ลบมากเกินไป ทั้งยังไม่คิดจะแก้ไขหรือป้องกันปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นด้วย

นายอินทร์ หนังสือ Mini Habits นิสัยจิ๋ว ของคนที่ประสบความสำเร็จ

3. มีสิ่งอื่นที่แย่กว่านี้

toxic positivity คือ, คิดบวก คือ
Image Credit : freepik.com

การคิดบวก คือการหามุมมองที่ต่างออกไป เพื่อให้เราสามารถรับมือกับอารมณ์ความรู้สึกเชิงลบที่เกิดขึ้นได้ และมีกำลังใจในการคลี่คลายปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นตรงหน้า แต่การคิดบวกจนเป็นพิษ หรือ Toxic Positivity คือการมองว่าอาจมีสิ่งที่แย่กว่านี้ และสิ่งที่กำลังเป็นอยู่คือสิ่งที่ดีอยู่แล้ว อาทิ แม้ถูกกลั่นแกล้งในที่ทำงาน ก็บอกว่า “ที่อื่นอาจจะแย่กว่านี้ก็ได้ ดีแค่ไหนแล้วที่ยังมีงานทำ” ทั้งๆ ที่การถูกเอาเปรียบในที่ทำงานนั้นอาจนำมาซึ่งปัญหาทางสุขภาพใจในอนาคต หรือถูกคนรักทำร้าย แม้ว่าจะเป็นทั้งร่างกายและจิตใจ ก็คิดว่า “คนอื่นอาจจะเจอแย่กว่านี้ ดีแค่ไหนแล้วที่เรากับแฟนยังอยู่ด้วยกัน” ซึ่งมันไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเลย

4. เพิกเฉยต่อสิ่งรอบตัว ขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

คนที่มีภาวะคิดบวกจนเป็นพิษมักจะมองปัญหาของตัวเองว่าเป็น “เรื่องแค่นี้เอง ไม่ต้องไปซีเรียสกับมัน” และทำให้มองปัญหาของผู้อื่นว่าเป็น “เป็นเรื่องแค่นี้เอง” ตามไปด้วย ซึ่งทำให้ขาดความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่นและเพิกเฉยต่อปัญหารอบๆ ตัวได้ เช่น เวลามีคนมาปรึกษาปัญหาชีวิตต่างๆ ก็จะบอกว่า “เรื่องแค่นี้เอง คนอื่นเจอเรื่องแย่ๆ กว่าเธอเยอะ” ซึ่งการพูดแบบนี้ นอกจากจะไม่ช่วยแก้ปัญหาใดๆ แล้ว อาจทำให้คนฟังรู้สึกแย่มากขึ้นกว่าเดิมด้วย

5. บิดเบือนความจริง

Toxic Positivity คือ การมองโลกที่บิดเบือนความจริง หรือมองโลกในแง่บวกแบบสุดโต่ง เมื่อผู้ที่มีภาวะคิดบวกจนเป็นพิษเจอกับสถานการณ์เลวร้ายต่างๆ ก็จะปลอบใจตัวเองด้วยการบิดเบือนสถานการณ์ต่างๆ ให้เป็นในเชิงบวกมากขึ้น เช่น เมื่อมีโจรงัดห้องพักตัวเองก็จะบอกว่า “ก็แค่ของหาย อย่างน้อยตัวเราเองก็ไม่เป็นอะไร” และปล่อยให้ปัญหายังคงอยู่โดยที่ไม่คิดจะแก้ไขหรือป้องกันอะไร เช่น ไม่มีการติดตั้งกล้องวงจรปิด ไม่ไปแจ้งตำรวจ ไม่ไปติดต่อกับนิติฯ คอนโดเพื่อถามถึงมาตรการรักษาความปลอดภัย ซึ่งการคิดแบบนี้อาจทำให้รู้สึกดีขึ้นจริง แต่ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ตรงหน้าดีขึ้น และอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินมากขึ้นอีกด้วย

สู่จุดสูงสุดของชีวิตด้วย “พีระมิดสามสุข”

ผลกระทบของ Toxic Positivity คืออะไร ?

toxic positivity คือ, คิดบวก คือ
Image Credit : freepik.com
  • ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข และอาจทำให้สถานการณ์แย่ลง : การคิดบวกที่ไม่ขึ้นอยู่กับความเป็นจริงนั้น ไม่ได้ช่วยให้ปัญหาตรงหน้าคลี่คลายลงแต่อย่างใด เพราะเหมือนการมองข้ามปัญหาและปล่อยไว้แบบนั้น ทั้งยังพยายามมองด้วยมุมมองเชิงบวกที่อาจจะทำให้เราสบายใจขึ้น แต่ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น และหลายๆ ครั้งก็อาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงกว่าเดิมเพราะปล่อยให้ปัญหายังคงอยู่แบบนั้น 
  • ทำให้เราไม่เข้าใจตัวเอง : ในบางคนพยายามมองโลกในแง่บวกอยู่เสมอจนเกิดเป็นความชิน เวลามีปัญหาเกิดขึ้นก็จะบังคับให้ตัวเองมองโลกในแง่บวกไว้ก่อน จนไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วตัวเองรู้สึกอย่างไรหรือคิดเห็นกับสถานการณ์นั้นๆ ยังไงกันแน่ นำมาซึ่งความรู้สึกสับสนในตัวเองและไม่เข้าใจตัวเองได้
  • มีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับคนรอบข้าง : ผลของการมีความคิดแบบ Toxic Positivity คือ ทำให้เรามีความเฉยชาต่อปัญหาทุกๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาของตัวเองหรือปัญหาของคนอื่น ทำให้ขาดความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น มองเห็นความทุกข์ยากของผู้อื่นเป็น “เรื่องแค่นี้” จึงทำให้คนรอบข้างเห็นว่าเราเป็นคนจิตใจเย็นชาได้
  • ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ : การเก็บกดความรู้สึกเชิงลบไว้กับตัวเองและพยายามแทนที่ด้วยมุมมองเชิงบวกนั้น อาจทำให้เราเกิดความเครียดโดยไม่รู้ตัว อย่างการบังคับให้ตัวเองมองทุกอย่างในแง่บวกโดยที่เก็บความเจ็บปวดเอาไว้ อาจทำให้จิตใต้สำนึกของเราแสดงอารมณ์เชิงลบออกมาในรูปแบบของการฝันร้าย มีภาวะนอนไม่หลับ หรือรู้สึกไม่สบายตัว ปวดหัว ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดท้อง เป็นโรคกระเพาะ อันเนื่องมาจากฮอร์โมนความเครียด เป็นต้น
นายอินทร์ หนังสือ ใช้คลื่นพลังบวกดึงดูดพลังสุข

จะแก้ไขการมองโลกแบบ Toxic Positivity ได้อย่างไร ?

toxic positivity คือ, คิดบวก คือ
Image Credit : vecteezy.com
  • ซื่อสัตย์กับความรู้สึกของตัวเอง : เริ่มจากการซื่อสัตย์กับตัวเองให้มากขึ้น ยอมรับกับตัวเองว่าเราคิดเห็นอย่างไร และกำลังรู้สึกอะไรอยู่ แม้ว่าบางครั้งจะเป็นความคิดความรู้สึกลบๆ ก็ตาม และก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรเลยถ้าเราจะรู้สึกโกรธ เสียใจ หงุดหงิด รู้สึกไม่พอใจ เพราะเราก็เป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่งที่มีอารมณ์ความรู้สึกซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติมากๆ
  • จัดการอารมณ์เชิงลบอย่างเหมาะสม : หากเราโกรธก็ให้รู้ตัวว่ากำลังโกรธอยู่ แต่โกรธแล้วจะทำอย่างไรต่อ จะแสดงความโกรธออกมา หรือจะจัดการปัญหาด้วยสติและเหตุผล ซึ่งเราสามารถเลือกได้ค่ะ สิ่งที่เราจะต้องกังวลไม่ใช่อารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง แต่เป็นวิธีการแสดงอารมณ์ความรู้สึกออกมาอย่างเหมาะสมต่างหาก ยิ่งเราจัดการกับมันได้ดี เราก็จะมีวุฒิภาวะทางอารมณ์สูงขึ้น และเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นด้วย 
  • ฝึกการทบทวนตัวเองให้มากขึ้น : การทบทวนตัวเองหรือการทำ Self Reflection จะทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น ทำให้เกิดการตระหนักรู้ในตัวเอง และรู้ว่าแท้จริงแล้วตัวเองรู้สึกอย่างไร คิดเห็นอย่างไร ทำไมถึงมีมุมมองแบบนี้ มีความรู้สึกแบบนี้ แล้วอยากให้สถานการณ์เป็นไปในทิศทางไหน เราต้องการอะไรกันแน่ อันจะนำมาสู่การลงมือแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้องเหมาะสม 
  • มองโลกตามความเป็นจริง : การมองโลกตามความเป็นจริง มองสถานการณ์ตามที่มันเป็น จะทำให้เรามองทุกอย่างด้วยความเป็นเหตุเป็นผล และแก้ไขปัญหาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพราะจะทำให้เรามองออกว่า ปัญหามันเกิดจากอะไร สาเหตุคืออะไร แล้วจะต้องแก้ไขอย่างไร และทำให้ปัญหาได้รับการแก้ไข ช่วยให้คลี่คลายสถานการณ์ไปได้ ต่างจากการมองโลกในแง่บวกจนเกินไปที่บิดเบือนความจริง ทั้งยังไม่ได้แก้ไขในสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจนำมาสู่การเกิดปัญหาในระยะยาวได้
บี มีเดีย (BeeMedia) Miracle Morning ทุกสิ่งในชีวิตจะดีขึ้น เมื่อตื่นเช้า หนังสือพัฒนาตนเอง
Inspire Now ! : การคิดบวก คือการมองในแง่มุมใหม่ๆ ที่ต่างออกไป เพื่อให้เราสามารถแก้ไขปัญหาและคลี่คลายสถานการณ์ได้ แต่การคิดบวกจนเป็นพิษนั้น เป็นการมองโลกในแง่บวกที่ไม่อยู่กับความเป็นจริง คล้ายกับการเก็บกดความรู้สึกที่แท้จริงของเราเอาไว้ แล้วมองผ่านแว่นที่มีเลนส์เคลือบให้ทุกอย่างดูสวยงามสดใส ทั้งที่ความจริงแล้วมีแต่ปัญหาอยู่ตรงหน้า แล้วเราก็จำเป็นที่จะต้องแก้ไขโดยไว การคิดบวกจนเป็นพิษนั้นก่อให้เกิดผลเสียอยู่หลายด้านด้วยกัน ดังนั้นแล้ว การมองทุกอย่างตามความเป็นจริง มองด้วยใจที่เป็นกลาง และรับมือกับมันอย่างมีสติ อาจจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดก็ได้นะคะ

DIY INSPIRE NOW ทำให้ฉันเป็นเป็นคนใหม่ที่ดีกว่าเดิมใช่ไหม ? เรากำลังอยู่ในภาวะ Toxic Positivity อยู่หรือเปล่า ? มาคอมเมนต์บอกกันได้นะคะ ♡

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : verywellmind.com, betterup.com, psychologytoday.com

Featured Image Credit : freepik.com

Facebook Comments

ฝันอยากเดินทางท่องโลกให้ได้มากที่สุด สนใจเรียนรู้เกี่ยวกับจิตวิทยา รักการอ่านหนังสือ ชอบถ่ายรูป หลงใหลแมวและกาแฟ