หลักการออมเงิน, ออมเงินแบบไหนดี

ชวนรู้ หลักการออมเงิน เงินเดือนเท่านี้ จะเก็บออมยังไง ออมเงินแบบไหนดี ?

การออมเงินถือเป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะเป็นการวางแผนทางการเงินในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการออมเงินในระยะสั้นหรือระยะยาวก็ตาม ทั้งนี้ ก็เป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับบางคนเช่นกัน เมื่อมีรายรับเข้ามา ก็ต้องทำการบริหารจัดการเงินให้เพียงพอต่อรายจ่ายในแต่ละเดือน ซึ่งบางครั้งก็อาจจะเหลือเก็บไม่มาก หรือไม่เหลือเงินเก็บเลยก็มี โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนที่มีรายจ่ายประจำรออยู่ในทุกๆ เดือน จนมีคำพูดล้อเลียนว่า สิ้นเดือนเหมือนสิ้นใจ เพราะฉะนั้น การออมเงินจากเงินเดือนให้กลายเป็นเงินก้อนได้นั้นจะต้องมีวินัยอย่างต่อเนื่อง และต้องใช้ความพยายามในการบริหารจัดการเงินให้สมดุลกับรายได้ ดังนั้นในบทความนี้ DIYINSPIRENOW จะพามารู้จักกับ หลักการออมเงิน ที่ทุกคนสามารถนำไปปรับใช้ได้ จะได้มีเงินออมเพื่อการใช้จ่ายในอนาคต และเป็นการเก็บเงินในระยะยาว จะทำได้อย่างไร ไปดูพร้อมๆ กันเลยค่ะ

แจก หลักการออมเงิน เงินเดือนของเราเท่านี้ ควรแบ่งเก็บออมเงินเท่าไหร่ดี ?

หลักการออมเงิน, ออมเงินแบบไหนดี
Image Credit : freepik.com

หลายคนคงเคยสงสัยว่า จะต้องมีรายได้เท่าไหร่ ถึงจะมีเงินเหลือเก็บออมได้ การออมเงิน ทำได้เฉพาะคนที่มีเงินเดือนสูงๆ เท่านั้นหรือเปล่า แล้วคนที่มีเงินเดือนตามรายได้พื้นฐานจะออมเงินแบบไหนดี ซึ่งความจริงแล้ว ไม่ว่าจะมีรายได้เท่าไหร่ ก็สามารถออมเงินได้ หากใช้หลักการออมเงินด้วยวิธี  50/30/20 ของ เอลิซาเบธ วอร์เรน ที่เผยแพร่ในหนังสือ  All Your Worth: The Ultimate Lifetime Money Plan ถึงแม้จะมีเงินเดือนเท่าไหร่ ก็สามารถเอาไปปรับใช้เพื่อให้มีเงินออมส่วนตัวที่สอดคล้องกับความสามารถในการหารายได้ และสอดคล้องกับเป้าหมายของการใช้ชีวิต หลักการออมเงินนี้ แบ่งเงินเดือนเป็น 3 ส่วน ได้แก่  50% ของเงินเดือนใช้เป็นค่าครองชีพ 30% ใช้เพื่อความบันเทิงและการใช้ชีวิต และ 20% เป็นเงินออม ซึ่งวิธีนี้ เป็นการบริหารการเงินส่วนบุคคลที่จะทำให้เราสามารถมีเงินเก็บได้มากขึ้นค่ะ

หนังสือ The Psychology of Money จิตวิทยาว่าด้วยเงิน

เจาะลึกทฤษฎี 50/30/20 ทำได้จริงยังไง ไปดูวิธีกัน

หลักการออมเงิน, ออมเงินแบบไหนดี
Image Credit : vecteezy.com

1. ออมก่อนใช้ ด้วย 20% แรกของเงินเดือน

กฎเหล็กของหลักการออมเงิน คือ ต้องเก็บเงินก่อนเป็นอันดับแรก เมื่อเหลือจากการเก็บค่อยเอาไปใช้ โดยให้ถือว่าการออมนั้นก็เป็นรายจ่ายประจำเดือนเช่นกัน การทำแบบนี้จะช่วยให้เรามีเงินออมอย่างสม่ำเสมอ แถมยังช่วยสร้างวินัยการออมเงินให้ดีขึ้นด้วย แล้วจะออมเงินแบบไหนดี ก็แล้วแต่ความสามรถในการหารายได้ ความจำเป็น และเป้าหมายการออมของแต่ละคน ทั้งนี้ หลักการออมเงินที่สำคัญมากอีกส่วนหนึ่งคือ จะต้องมีบัญชีเงินฉุกเฉินเตรียมไว้สำหรับค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิด ซึ่งอย่างน้อยควรมีเท่ากับเงินเดือน  3 เดือน เผื่อกรณีเกิดเหตุไม่คาดฝันทำให้ขาดรายได้ เช่น เจ็บป่วย ตกงาน จะได้มีเงินสำรองในการใช้จ่าย และทำให้เงินออมระยะยาวในส่วนอื่นๆ ปลอดภัย ดังนั้นเงินออมก้อนแรกควรเป็นเงินออมที่เอาไว้ใช้สำหรับกรณีฉุกเฉิน ทำได้โดยการทยอยเก็บเงินส่วนนี้ให้เพียงพอ อาจไปเปิดบัญชีแยกต่างหาก  ที่อยู่ในรูปแบบบัญชีออมทรัพย์ หรือสินทรัพย์สภาพคล่องอื่นๆ ก็ได้

หลังจากที่ออมเงินฉุกเฉินเรียบร้อยแล้ว ให้มุ่งเน้นไปที่การออมเพื่อการเกษียณอายุและเป้าหมายทางการเงินอื่นๆ ที่ต้องการ เช่น ทุนการศึกษาบุตร เงินออมเพื่อแต่งงาน เพื่อท่องเที่ยว ทำได้โดยการหักเงินเข้าแผนการออมตามสวัสดิการพนักงาน การลงทุนแบบ DCA ลงทุนในกองทุนรวม ออมในทองคำ หรือสินทรัพย์อื่นๆ ทั้งนี้ การออมเงินยังรวมไปถึงการชำระหนี้เพิ่มเติมจากการจ่ายขั้นต่ำกรณีที่มีหนี้สิน เพื่อเป็นการลดจำนวนเงินต้นและดอกเบี้ย ซึ่งจะช่วยให้เหลือเงินในระยะยาวเพิ่มขึ้น

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น มาดูตัวอย่างการแบ่งเงินออมกันค่ะ

การออมเงินของคุณนิดหน่อย ข้าราชการ เงินเดือน 15,000 บาท คุณนิดหน่อย มีเป้าหมายการออมที่ 20% และมีรายได้ 15,000 บาท ซึ่งการออม 20% จะเท่ากับ 3,000  บาทต่อเดือน โดยคุณนิดหน่อยมีแผนการออม ดังนี้

    • หักเงินเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เพิ่มจากภาคบังคับ 3% เป็น 5% ของเงินเดือน คิดเป็นเงิน 750 บาท (ด้วยวิธีนี้คุณนิดหน่อยจะมีเงินเก็บระยะยาวที่นอกจากเงินออมตัวเอง และยังได้ผลประโยชน์จากเงินสมทบโดยรัฐบาลเพิ่มเติมด้วย ซึ่งคาดว่าจะมีเงินสะสมเมื่อเกษียณประมาณ  3 ล้านบาท ) และสำหรับพนักงานเอกชน สามารถออมเงินผ่านกองทุนประกันสังคม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ PVD ก็ได้เช่นกัน
    • ออมเงินเพื่อกรณีฉุกเฉิน เนื่องจากคุณนิดหน่อยยังไม่มีเงินเก็บฉุกเฉิน จึงเปิดบัญชีออมทรัพย์พิเศษแยกอีกบัญชีที่กำหนดให้หักเงินจากบัญชีเงินเดือน เพื่อฝากเงินเดือนละ 1000 บาท ในกรณีของคุณนิดหน่อยที่เป็นข้าราชการ สามารถสอบถามสหกรณ์ออมทรัพย์ที่เป็นสมาชิกอยู่ และออมในบัญชีนี้ได้ เนื่องจากบัญชีออมทรัพย์ประเภทนี้ที่ให้ดอกเบี้ยสูง จ่ายดอกเบี้ยรายเดือน และสามารถเบิกถอนได้เหมือนบัญชีธนาคาร หรืออาจเก็บในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องอื่นๆ ก็ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม เราสามารถออมเงินฉุกเฉินด้วยการซื้อประกันชีวิตในส่วนของค่ารักษาพยาบาล ค่าชดเชยกรณีเจ็บป่วย หรือทุพพลภาพ ถ้าเกิดเหตุเหล่านี้ขึ้น ประกันเหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงจากการสูญเสียเงินเก็บได้ ซึ่งเป็นหลักการออมเงินขั้นพื้นฐานที่คนส่วนใหญ่มองข้าม 
    • ออมทอง นอกจากการเกิบเงินในรูปแบบเงินสดแล้ว ก็สามารถออมเงินด้วยวิธีออมทอง ได้ด้วยเช่นกัน โดยคุณนิดหน่อยเลือกออมทองประจำเดือนด้วยเงิน 250 บาท  
    • ออมในกรมธรรม์ประกันชีวิตควบการลงทุน อีก 1000 บาท คุณนิดหน่อยเลือกออมในกรรมธรรม์ unit link ซึ่งเป็นประกันชีวิตควบการลงทุน เพราะมองว่า นอกจากจะได้กระจายการลงทุนผ่านกองทุนรวมแล้ว ยังมีประกันชีวิตที่ช่วยให้คุณนิดหน่อยมีหลักประกันเป็นเงินก้อนใหญ่ให้กับครอบครัวด้วย
    หนังสือ พ่อรวยสอนลูก โดย ROBERT T.KIYOSAKI

    2. วางแผนงบประมาณครัวเรือน จำนวน 50%

    หลักการออมเงิน, ออมเงินแบบไหนดี
    Image Credit : vecteezy.com

    เมื่อเราแบ่งเงินออมเป็นสัดส่วน 20% แล้ว ก็จะเหลือเงินจากรายรับอีก 80% โดยสามารถแบ่งเป็นรายจ่ายจำเป็นประจำครัวเรือนอีก 50% หรือครึ่งหนึ่งของเงินเดือน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ เป็นรายจ่ายจำเป็นเพื่อการอยู่รอด อาจเรียกว่าเป็น Fixed Cost ซึ่งรวมถึงค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนบ้าน ค่างวดรถ ค่าประกัน ค่าเดินทาง ค่าชำระหนี้ขั้นต่ำ ค่าสาธารณูปโภค อาหาร น้ำ ไฟ โทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต เป็นต้น โดยหมวดหมู่นี้ไม่รวมรายการที่เป็นบริการพิเศษ เช่น ค่าสมาชิกคลับออกกำลังกาย ค่าสมาชิก Netflix ค่าบัตร Starbucks และการสังสรรค์หลังเลิกงาน ซึ่งจะถูกจัดเป็นรายจ่ายอื่นๆ ในหมวดถัดไป

    ถ้ารวมค่าใช้จ่ายในหมวดนี้ทุกบิลแล้วมีจำนวนรายจ่ายเกินกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ ให้ถามตัวเองว่าจะลดค่าใช้จ่ายส่วนไหนได้บ้าง ลองลดความต้องการหรือพยายามลดขนาดวิถีชีวิตของตัวเองลง เช่น ทำกับข้าวกินในบ้านมากกว่าการออกไปกินข้าวนอกบ้านที่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่า ใช้บริการขนส่งสาธารณะไปทำงานแทนการขับรถยนต์ส่วนตัว ประหยัดน้ำประหยัดไฟมากขึ้น เปลี่ยนมาใช้ไฟระบบโซลาร์เซลให้มากขึ้น ใช้แพกเกจอินเทอร์เน็ตที่มีราคาถูกลง ฯลฯ ก็อาจเป็นทางออกให้งบประมาณลงตัวได้

    3. แบ่งเงินเพื่อความบันเทิง และการใช้ชีวิต 30%

    หลักการออมเงิน, ออมเงินแบบไหนดี
    Image Credit : vecteezy.com

    หลักการออมเงินนั้น ไม่ได้ให้เราเก็บเงินเพียงอย่างเดียว เราสามารถแบ่งเงินส่วนหนึ่งมาใช้สำหรับการสร้างความสุข และการบันเทิงให้กับตัวเองได้ เมื่อเราหาเงินมาได้ เราก็ควรที่จะได้ใช้จ่ายเพื่อตัวเองด้วย เพื่อเป็นรางวัลให้ตัวเองและมีกำลังใจที่จะทำงานเก็บเงินต่อไป สมมติว่าเราจัดงบในส่วนของเงินออมและค่าใช้จ่ายจำเป็นสำเร็จ เราก็จะมีเงินมาใช้จ่ายในส่วนของไลฟ์สไตล์ ซึ่งบิลค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ผ่านมา จะทำให้เห็นพฤติกรรมการใช้จ่ายของตัวเอง เช่น การออกไปสังสรรค์ การออกไปเที่ยว การช็อปปิ้ง และการดูแลตนเอง ลองมองย้อนกลับไปหลายๆ เดือนเพื่อดูว่าเราใช้จ่ายไปกับส่วนนี้โดยเฉลี่ยต่อเดือนเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ และเปรียบเทียบกับรายได้ว่าเป็นอย่างไร หากเกิน 30% ก็อาจจะต้องพิจารณาว่ารายจ่ายส่วนนี้กำลังลดทอนการออมของเราอยู่หรือเปล่า และมาดูว่าพฤติกรรมการใช้จ่ายของเราเป็นอย่างไร เช่น ซื้อของที่ไม่จำเป็นหรือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยมากเกินไป หรือจำกัดการใช้เงินของตัวเองจนเครียดและไม่มีความสุข ซึ่งถ้าหากหาสมดุลในส่วนนี้ได้ ก็จะทำให้เรามีความสุขกับการบริหารจัดการเงินส่วนตัวมากขึ้นค่ะ

    สิ่งที่สำคัญที่สุดของหลักการออมเงิน คือ รู้ว่าเราใช้เงินไปกับส่วนไหนบ้าง ลองรวบรวมค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนแล้วนำมาจัดหมวดหมู่ตามค่าใช้จ่ายในส่วนต่างๆ ซึ่งจะทำให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจนว่า เราควรพิจารณาตัดทอน และลดเพิ่มรายการแต่ละอย่างอย่างไรให้ได้สัดส่วนตามความเหมาะสม เมื่อเริ่มต้นใหม่ๆ อาจเป็นไปไม่ได้ที่จะได้ตัวเลขในสัดส่วนลงตัว ตัวอย่างเช่น ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ก็กินค่าใช้จ่ายเกือบ  50% ไปแล้ว ซึ่งก็อาจจะต้องใช้เงินในส่วน 30% ของความบันเทิงมาเติมในส่วนค่าใช้จ่ายจำเป็นเพื่อความอยู่รอด และในระหว่างการออมเงิน ก็อาจมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เช่น เปลี่ยนอาชีพ แต่งงาน คลอดบุตร ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้แผนการออมเงินของเราสะดุดได้ อย่างไรก็ตาม การยึดหลัก 50/30/20 เป็นพื้นฐาน ก็จะทำให้เรามีวินัยทางการเงินและสามารถบริหารรายรับรายจ่ายได้อย่างเหมาะสม ในทำนองเดียวกัน เมื่อหมดภาระค่าใช้จ่ายบางส่วนแล้ว เราสามารถเพิ่มอัตราการออมให้สูงกว่า 20% ได้ เพื่อสร้างทรัพย์สินให้เพิ่มพูน และเป็นการสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับตัวเอง ซึ่งวันหนึ่งในอนาคต เราอาจจะขอบคุณตัวเองที่มีวินัยในการออมได้อย่างดีเยี่ยมก็ได้นะคะ  

    หนังสือ สุดยอดคัมภีร์การเงินจากฮาร์วาร์ด ฉบับปรับปรุง

    Inspire Now ! : ไอเดียดีๆ สำหรับวิธีออมเงินมนุษย์เงินเดือน ก็คือ “ออมก่อนใช้” ด้วยการหักเงินออมจากเงินเดือนเพื่อเก็บสะสมเอาไว้ก่อน ทำให้เราไม่มีโอกาสแตะต้องเงินจำนวนนั้น เช่น กองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ซึ่งเป็นตัวช่วยในการออมเงินที่ดีมาก เพราะนอกจากจะเป็นการบังคับตัวเองให้มีวินัยในการออมแล้ว ยังได้รับเงินสมทบจากนายจ้างด้วย ทำให้สามารถสร้างเงินออมระยะยาวให้งอกเงยเพิ่มพูนได้ นอกจากนี้ ในบางบริษัหรือบางหน่วยงานก็สนับสนุนให้มีการออมเงิน มีสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือส่งเสริมการออมในรูปแบบอื่นๆ ทั้งผ่านกองทุน ผ่านการทำประกันชีวิต ที่มีข้อเสนอให้สามารถหักเงินส่วนนี้ผ่านเงินเดือนได้เลย ซึ่งก็เป็นวิธีออมเงินได้อีกทางหนึ่ง ดังนั้น อย่าลืมสำรวจสวัสดิการต่างๆ ของที่ทำงาน เพื่อการวางแผนว่าจะออมเงินแบบไหนดี จะได้ใช้สวัสดิการเหล่านั้นให้ได้เต็มที่ และมีเงินออมในระยะยาวค่ะ

    DIYINSPIRENOW ทำให้ฉันได้ไอเดียในการค้นหาตัวเองใช้ไหม ? มาเริ่มฝึกการออมเงินด้วยการใช้สัดส่วนบริหารจัดการเงินกันค่ะ ♡

    อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : thaipvd.com, setinvestnow.com, kuvera.in, investopedia.com

    Facebook Comments

    แพทย์เวชศาสตร์ความงาม ผู้หลงไหลการพัฒนาตัวเอง ชอบแบ่งปันประสบการณ์ รักการอ่านและการท่องเที่ยว