Quiet Quitting คือ, Quiet Quitting

Quiet Quitting คือ อะไร ? ไม่ทุ่มเทกับงาน แต่ก็ไม่อยากลาออก ทำงานแบบไม่มีใจ เราเป็นอยู่หรือเปล่า ?!

Quiet Quitting คือ อะไร ? ไม่ทุ่มเทกับงาน แต่ก็ไม่อยากลาออก ทำงานแบบไม่มีใจ เราเป็นอยู่หรือเปล่า ?!

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา การทำงานก่อให้เกิดรายได้ ทำให้เรารู้สึกมีคุณค่า ได้พัฒนาศักยภาพของตัวเองให้มีความรู้ความสามารถมากกว่าเดิม แต่ชีวิตการทำงานนั้นอาจไม่ได้ราบรื่นและสะดวกสบายเสมอไป ย่อมต้องเจอกับปัญหาอุปสรรคต่างๆ บางครั้งก็รู้สึกว่า ไม่ได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมกับสิ่งที่พยายามทุ่มเทไป แต่ก็ไม่พร้อมที่จะลาออกหรือสมัครงานใหม่ จึงทำงานไปแบบหมดใจ ไม่ทุ่มเทให้กับงานอีกต่อไป เรียกกันว่า Quiet Quitting คือ การลาออกทางใจ แต่ตัวยังอยู่ การทำงานแบบนี้ส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง มาเจาะลึกกันค่ะ

Quiet Quitting คือ อะไร ? เมื่อการทุ่มเททำงานหนักไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป

Quiet Quitting คือ, Quiet Quitting
Image Credit : freepik.com

ถ้าแปลตรงตัวแล้ว คำว่า Quitting หมายถึงการลาออก แต่คำว่า Quiet Quitting ไม่ได้หมายถึงการที่พนักงานลาออกไปเงียบๆ แบบไม่บอกใครหรือไม่มีใครรู้ แต่เป็นวิถีการทำงานที่พนักงานจะทำงานเฉพาะตามหน้าที่ของตัวเองเท่านั้น และไม่ทุ่มเทให้กับงานแบบสุดตัว อย่างการทำงานอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือจากหน้าที่ความรับผิดชอบของตัวเอง หรือทำงานหนักจนเกินเวลา ไม่มีการทำงานในวันหยุดอย่างเด็ดขาด และทำงานตามเวลางานที่กำหนดไว้เท่านั้น  Quiet Quitting คือการทำงานให้เสร็จไปวันๆ โดยที่ไม่ได้มีแรงจูงใจอยากจะพัฒนาตัวเองหรืออยากทุ่มเทในงานเพื่อให้องค์กรเห็นค่าแต่อย่างใด มีการศึกษาว่า การทำงานแบบนี้ มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในกลุ่มเจนเนอเรชั่น Y และ เจนเนอเรชั่น Z ที่ไม่เชื่อว่าการทำงานหนักจะทำให้ตนเองมีความเติบโตก้าวหน้าอีกต่อไป 

Image Not Found

หนังสือพัฒนาตนเอง เพราะมองออกนอก คุณถึงเห็นข้างใน (The Outward Mindset) วีเลิร์น

ที่มาของการทำงานแบบ  Quiet Quitting คืออะไร ?

Quiet Quitting คือ, Quiet Quitting
Image Credit : freepik.com

จากการแพร่ระบาดของ COVID – 19 ที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานในอุตสาหกรรมแรงงาน พนักงานต้องทำงานหนักด้วยการทำงานแบบ Work from Home ที่บางคนก็ไม่ได้รับค่าตอบแทนอย่างเหมาะสม ทั้งยังเกิดความเครียดจากการทำงานทั้งวันทั้งคืนที่บ้านและสูญเสีย Work life Balance ไป และไม่เห็นว่าผู้บังคับบัญชาหรือองค์กรเห็นคุณค่าของพนักงานแม้ว่าพวกเขาจะทุ่มเทให้กับงานมากแค่ไหนก็ตาม เมื่อสถานการณ์โรคระบาดดีขึ้น จึงเกิดสิ่งที่เรียกว่า “The Great Resignation” หรือกระแสการลาออกครั้งใหญ่ เนื่องจากในช่วงการระบาดของโรคนั้น พนักงานได้พบเจอกับความเปลี่ยนแปลงในการทำงานครั้งใหญ่ จึงได้มีการทบทวนตัวเองว่า บริษัทที่ตนเองทำงานอยู่นั้นตอบโจทย์กับความต้องการและวิถีชีวิตของตนเองอยู่หรือไม่ นำไปสู่การตัดสินใจลาออกในที่สุด

ทั้งนี้ แต่ละองค์กรก็คาดหวังให้พนักงานทำงานหนักและมีประสิทธิภาพ สามารถทำกำไรหรือสร้างเม็ดเงินให้กับองค์กรได้ และทำให้องค์กรคงอยู่ต่อไปได้ แต่ในขณะเดียวกัน ค่านิยมในการทำงานหนักนั้น อาจใช้ไม่ได้อีกต่อไปในยุคปัจจุบัน เพราะพนักงานต่างเล็งเห็นว่า การทำงานหนักนั้นไม่ได้รับสิ่งตอบแทนอย่างเหมาะสม ไม่ได้รับการถูกชื่นชม ไม่ได้รับความสนใจจากนายจ้างเท่าที่ควร ทั้งยังได้ค่าตอบแทนไม่เพียงพอ ไม่มีความก้าวหน้า ไม่มีความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน ประกอบกับการทำงานหนักยังทำให้เกิดความเครียด ส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต ทำให้ทำงานอย่างไม่มีความสุข ซึ่งสุดท้ายแล้ว พนักงานก็จะลาออกจากงานนั่นเอง แต่ในปัจจุบัน ด้วยภาวะทางเศรษฐกิจการเมืองที่ยังไม่มีความเสถียร การลาออกอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด จึงเกิดวิถึการทำงานแบบ  Quiet Quitting คือการลาออกทางใจ ทำงานไปอย่างนั้นเท่าที่จำเป็น ทำเฉพาะหน้าที่ของตนเองและไม่ทุ่มเทให้กับงานจนส่งผลเสียกับตัวเอง

Image Not Found

หนังสือ พลังแห่ง “เมื่อไหร่” : The Power of When

ลักษณะการทำงานแบบ Quiet Quitting

  • ทำงานเฉพาะหน้าที่ที่กำหนดไว้ใน Job Description
  • ทำงานที่อยู่ในขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบของตัวเองเท่านั้น ไม่รับอาสาทำงานอื่นๆ นอกเหนือหน้าที่ตัวเอง
  • ไม่มีการทุ่มเททำงานเป็นพิเศษเพื่อสร้างความประทับใจให้กับองค์กรหรือหัวหน้างาน
  • ไม่ทำงานเกินเวลาโดยที่ไม่ได้รับค่าตอบแทน
  • ปลีกตัวและไม่มีส่วนร่วมในงานต่างๆ ต่อเนื่องยาวนาน
  • หลีกเลี่ยงการเข้าร่วมวงสนทนา กิจกรรม หรืองานอื่นๆ ที่ไม่จำเป็น
  • ทำงานให้ได้ตามมาตรฐานขั้นต่ำเท่านั้น แต่งานยังถือว่ามีคุณภาพ 
  • เข้าร่วมประชุม แต่ไม่เสนอความคิดเห็นหรืออาสาทำงานต่างๆ นอกเหนือจากภาระหน้าที่ความรับผิดชอบของตัวเอง
Image Not Found

หนังสือ ศิลปะของการเลือก-รับ-รู้ : The power of input

สาเหตุของการเกิด Quiet Quitting คืออะไร ?

Quiet Quitting คือ, Quiet Quitting
Image Credit : freepik.com

หากมองในมุมมองขององค์กร อาจมองว่าพนักงานที่ทำงานแบบ Quiet Quitting คือพนักงานที่ไม่สู้งาน ไม่เอาจริงเอาจังกับงาน ไม่มีความอดทน และไม่ทุ่มเทให้กับองค์กร แต่ในทางกลับกันนั้น การที่พนักงานมีรูปแบบการทำงานดังกล่าว อาจมีสาเหตุมาจากตัวงานและตัวองค์กรเอง และอาจเป็นการปรับตัวในการทำงานเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต สาเหตุของการทำงานแบบ Quiet Quitting มีดังนี้

  1. หลีกเลี่ยงการหมดไฟในงาน การทำงานหนักมากเกินไปหรือทุ่มเทในงานมากเกินไปอาจนำมาสู่การ Burnout หรือหมดไฟในการทำงานได้ จึงพยายามจัดการเรื่องงานและชีวิตส่วนตัวให้มีความสมดุลกันและแยกออกจากกันอย่างชัดเจน
  2. พนักงานไม่เชื่อมั่นในองค์กร กล่าวคือ องค์กรอาจไม่มีเป้าหมาย วิสัยทัศน์ และพันธกิจในการทำงานอย่างชัดเจน ไม่มีทิศทางในการดำเนินงาน หรือปฏิบัติต่อพนักงานอย่างไม่เหมาะสม ไม่สนใจพนักงาน พนักงานจึงทำงานแบบไม่มีแรงจูงใจหรือทำไปอย่างนั้น
  3. ไม่รู้สึกผูกพันกับองค์กร โดยเฉพาะการทำงานแบบ Work from Home หรือการทำงานแบบออนไลน์ที่ทำให้เกิดการสื่อสารระหว่างพนักงานกับหัวหน้างานเฉพาะเรื่องที่เป็นทางการอย่างเรื่องงานเท่านั้น ไม่ได้เกิดการพูดคุยเรื่องทั่วไป ไม่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันแบบตัวต่อตัว พนักงานไม่ได้ไปที่ออฟฟิต จึงไม่รู้สึกผูกพันกับที่ทำงาน
  4. ค่าตอบแทนที่ไม่เหมาะสมกับความทุ่มเทในงาน พนักงานบางคนทุ่มเทในงานมาก ทำงานหนักและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ได้รับค่าตอบแทนที่ไม่เหมาะสมกับการทุ่มเทในงานของตน ไม่มีความเจริญก้าวหน้าในงาน ไม่ได้รับโบนัสหรือสวัสดิการที่ดี แต่พนักงานอาจมีเหตุผลที่ยังไม่สามารถลาออกจากงานได้ จึงเลือกที่จะทำงานแบบ Quiet Quitting คือ ทำงานตามมาตรฐานขั้นต่ำเท่านั้น และทำงานตามเวลาที่กำหนดและไม่ทุ่มเทในงานจนเกินไป 
  5. เป็นการจัดการ Work life Balance ของตัวเอง การทำงานแบบ Quiet Quitting อาจเป็นการจัดสรรเวลาของตัวเองในรูปแบบหนึ่ง เพื่อให้ชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวมีเส้นแบ่งจากกันอย่างชัดเจน ในบางคนที่ทำงานหนักจนไม่มีสมดุลในชีวิตและการทำงาน หากทำงานหนักและทุ่มเทให้กับงานมากเกินขีดจำกัดของตัวเองก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตได้เช่นกัน
Image Not Found

Have a Nice Life : 12 นิสัยเปลี่ยนชีวิต (ฉบับปกอ่อน)

วิธีป้องกันไม่ให้พนักงานมีพฤติกรรมการทำงานแบบ Quiet Quitting

Quiet Quitting คือ, Quiet Quitting
Image Credit : freepik.com

จะเห็นได้ว่าการทำงานแบบ Quiet Quitting นั้น มีสาเหตุอยู่หลายปัจจัยเช่นกัน ในบางองค์กรที่ต้องการขับเคลื่อนธุรกิจของตัวเองให้เติบโตก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง วิถีการทำงานดังกล่าวก็อาจทำให้องค์กรเติบโตได้ช้าหรือไม่สามารถเอาชนะคู่แข่งทางธุรกิจได้ เพื่อป้องกันไม่ให้พนักงานทำงานแบบหมดใจซึ่งอาจส่งผลเสียต่อองค์กรได้ องค์กรควรทำอย่างไร มาดูกันเลยค่ะ

  1. หัวหน้างานควรเอาใจใส่พนักงานอย่างเต็มที่ และหมั่นสังเกตพฤติกรรมของพนักงานว่า พนักงานมีปัญหาในการทำงานหรือไม่ หรือมีเรื่องใดที่พนักงานเคยเสนอแล้วยังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งปัญหาในการทำงานที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอาจทำให้พนักงานรู้สึกห่อเหี่ยว รู้สึกว่าไม่ได้รับการใส่ใจ ไม่มีแรงจูงใจในการทำงาน และทำงานแบบไม่มีใจได้ 
  2. มอบหมายงานอย่างเหมาะสม และหลีกเลี่ยงการให้พนักงานทำงานนอกเหนือจากหน้าที่ของตัวเอง การทำงานที่อยู่นอกเหนือหน้าที่บ่อยครั้งอาจทำให้พนักงานเกิดความเหนื่อยหน่าย รู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรม และหมดใจในการทำงานได้ 
  3. หลีกเลี่ยงการคุยงานนอกเวลาหรือการทำงานในวันหยุด เพราะอาจสร้างความกดดันและสร้างความเครียดให้กับพนักงาน พนักงานไม่ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่หรือเกิดความรู้สึกว่าไม่มีสมดุลในชีวิตและการทำงาน 
  4. เน้นไปที่คุณภาพของงานมากกว่าเวลาการทำงาน โดยเฉพาะการทำงานแบบ Work from Home ที่ควรมีเวลาการทำงานแบบยืดหยุ่นและให้ความสำคัญกับผลงานมากกว่าชั่วโมงการทำงาน 
  5. แสดงความขอบคุณและชื่นชมพนักงานบ้าง เพื่อให้พนักงานรู้สึกว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นมีคุณค่าและองค์กรเห็นคุณค่าในตัวของพนักงานจริงๆ เพื่อสร้างความภาคภูมิใจและสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้กับพนักงาน
  6. ให้ค่าตอบแทนอย่างเหมาะสมกับความสามารถและศักยภาพของพนักงาน พนักงานบางคนทำงานหนักและทุ่มเทให้กับงานมาก แต่กลับได้ค่าตอบแทนที่ไม่เหมาะสมกับความสามารถของตนเอง แม้จะทำให้องค์กรพอใจหรือได้เติบโตก้าวหน้า พนักงานก็ยังได้ค่าตอบแทนตามเดิม สิ่งนี้อาจทำให้พนักงานรู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับความยุติธรรมและไม่ทุ่มเทในการทำงานอีกต่อไป เพราะทำมากเท่าไหร่ก็ได้เท่าเดิม
Image Not Found

นายอินทร์ หนังสือ คนฉลาด เจรจาเป็น

Inspire Now ! : หากเป็นมุมมองของพนักงานเอง แม้การทำงานแบบ Quiet Quitting จะทำให้เราสามารถบริหารจัดการเวลาได้ดีขึ้น มีสมดุลในชีวิตและการทำงานมากขึ้น และอาจทำให้เกิดความเครียดน้อยลงด้วย แต่อย่างไรก็ตาม การทำงานแบบหมดใจและไร้ซึ่งแรงจูงใจในระยะยาวนั้น อาจทำให้เราไม่มีความสุขในการทำงานและไม่มีแรงจูงใจที่จะพัฒนาศักยภาพของตนเอง ทำให้เราไม่มีการเติบโตก้าวหน้าได้ การหางานที่ใช่และเหมาะกับเราจริงๆ อาจดูเป็นเรื่องยาก แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ เพราะอย่างไรแล้ว การทำงานก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะฉะนั้น การทำงานที่มีความสุขและยังสามารถสร้างสมดุลได้ พร้อมมีรายรับที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต อาจจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดก็ได้นะคะ

DIY INSPIRE NOW ทำให้ฉันเป็นคนใหม่ที่ดีกว่าเดิมใช่ไหม ? การทำงานอย่างมีความสุขนั้นยังคงเป็นเป้าหมายสำหรับคนส่วนใหญ่ คิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับการทำงานแบบ Quiet Quitting มาคอมเมนต์บอกกันได้นะคะ ♡

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : bangkokbanksme.com, bbc.com, washingtonpost.com, investopedia.com

Featured Image Credit : freepik.com/DCStudio

Facebook Comments

ฝันอยากเดินทางท่องโลกให้ได้มากที่สุด สนใจเรียนรู้เกี่ยวกับจิตวิทยา รักการอ่านหนังสือ ชอบถ่ายรูป หลงใหลแมวและกาแฟ