วิกฤตวัยกลางคน, Midlife Crisis คือ

วิกฤตวัยกลางคน หรือ Midlife Crisis คืออะไร ? ทำไมถึงน่ากลัว ?

วิกฤตวัยกลางคน หรือ Midlife Crisis คืออะไร ? ทำไมถึงน่ากลัว ?

เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยผู้ใหญ่อย่างเต็มตัว หรือเรียกกันว่าช่วงวัยกลางคน เป็นธรรมดาที่จะต้องมีหน้าที่ความรับผิดชอบมากขึ้น ทั้งเรื่องหน้าที่การงาน เรื่องครอบครัว ต้องดูแลคู่รัก ดูแลคุณพ่อคุณแม่ ดูแลลูกๆ อีกทั้งจะต้องบริหารเรื่องการเงินให้เตรียมพร้อมเข้าสู่วัยเกษียณแต่เนิ่นๆ เมื่อใช้ชีวิตมาช่วงระยะหนึ่ง ก็อาจก่อให้เกิดความเครียด ความกดดัน หรือก่อให้เกิดคำถามในใจขึ้นว่า ชีวิตนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป ? ได้อยู่ในเส้นทางที่วาดหวังไว้แล้วหรือยัง ?  มีความมั่นคงแล้วหรือไม่ ? หรือในบางคนก็อาจจะวิตกกังวลในเรื่องของสุขภาพร่างกายที่เริ่มเสื่อมลงตามวัย ความเครียด ความกดดัน ความคิดมาก ความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นในช่วงวัยกลางคนอาจก่อให้เกิด วิกฤตวัยกลางคน หรือ Midlife Crisis ได้ มาเจาะลึกกันให้มากขึ้นว่า วิกฤตในช่วงวัยกลางคนคืออะไร คนที่เข้าสู่วัยกลางคนทุกคนจะต้องเผชิญกับสิ่งนี้หรือไม่ ? และสามารถรับมือได้อย่างไร ไปดูกันเลยค่ะ

วิกฤตวัยกลางคน คืออะไร ทำไมถึงน่ากลัว ?

วิกฤตวัยกลางคน, Midlife Crisis คือ
Image Credit : pexels.com

วิกฤตวัยกลางคน หรือ Midlife Crisis คือภาวะทางจิตใจของบุคคลในวัยกลางคนตั้งแต่ช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป โดยบุคคลจะเริ่มมีความเป็นกังวลเกี่ยวกับชีวิตของตนเอง มีความคิดมาก ทบทวนถึงชีวิตของตนเองที่ผ่านมา และรู้สึกท้อแท้กับสิ่งที่เป็นอยู่ เริ่มคิดว่าตนเองไม่มีความก้าวหน้า ชีวิตไม่เป็นไปอย่างที่หวัง รู้สึกว่าเริ่มแก่ และเหลือเวลาใช้ชีวิตอีกไม่มาก อาจทำให้เกิดอารมณ์หุนหันพลันแล่น อยากมีความเปลี่ยนแปลงในชีวิต หรือมีความน้อยใจ วิตกกังวลกับชีวิต เครียด คิดมาก รู้สึกท้อแท้เหนื่อยหน่าย ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะทางสุขภาพจิต มีปัญหาในชวิต เช่น เปลี่ยนงาน ลาออกจากงานกะทันหัน หรือมีปัญหาด้านความสัมพันธ์ตามมาได้

[affegg id=4445]

สาเหตุในการเกิด Midlife Crisis คืออะไร ?

สาเหตุของการเกิดวิกฤตวัยกลางคน แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ สาเหตุทางด้านร่างกาย กับสาเหตุด้านปัจจัยสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

  • สาเหตุที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายคือ มีความเสื่อมของร่างการเกิดขึ้น ซึ่งเมื่อบุคคลอายุ 40 ปีขึ้นไป ร่างกายมักจะมีการเปลี่ยนแปลงถดถอยไป เช่น สายตามองเห็นไม่ชัด เส้นผมหลุดร่วง มีผมหงอก น้ำหนักขึ้น หรือมีโรคประจำตัวตามมา และในเฉพาะผู้หญิง จะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน และเข้าสู่ช่วงวัยหมดประจำเดือน จึงทำให้ร่างกายเปลี่ยนแปลงไป และอาจส่งผลต่ออารมณ์ ทำให้อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
  • ปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก เช่น คุณพ่อคุณแม่สามี ภรรยา โดยที่ไม่ได้มีการคาดคิดหรือเตรียมใจไว้ล่วงหน้า ซึ่งทำให้ไม่สามารถยอมรับกับเหตุการณ์นั้นได้ และทำให้เกิดวิกฤตด้านอารมณ์ความรู้สึก อีกประการหนึ่งคือ มีความรู้สึกว่าชีวิตไม่ได้เป็นตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ เช่น สถานะทางการเงินไม่เป็นไปตามที่หวัง เกิดปัญหาในครอบครัว มีการหย่าร้าง หรือไม่มีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน มีการเปรียบเทียบตนเองกับบุคคลในวัยเดียวกัน และทำให้รู้สึกว่าตนเองไม่ก้าวหน้า ไม่พัฒนา ก่อให้เกิดความเครียด กังวลใจ

ทั้งนี้ วิกฤตวัยกลางคนอาจเกิดได้จากแรงกดดันทางสังคม ที่มีบรรทัดฐานว่า เมื่ออายุเท่านี้ควรจะมีชีวิตเป็นอย่างไร ต้องประสบความสำเร็จแค่ไหน ต่องมีความก้าวหน้าในตำแหน่งอาชีพการงานอย่างไรบ้าง รวมถึงความรับผิดชอบที่มากขึ้น ก็อาจสร้างแรงกดดันให้กับบุคคลที่อยู่ในช่วงวัยกลางคนได้เช่นกัน

สัญญาณเตือน ! คุณอาจกำลังเข้าสู่ภาวะ วิกฤติวัยกลางคน

วิกฤตวัยกลางคน, Midlife Crisis คือ
Image Credit : pexels.com

มาดูกันค่ะว่า สัญญาณอะไรบ้างที่บ่งบอกได้ว่า คุณอาจกำลังเข้าสู่ภาวะ Midlife Crisis จะได้เช็กและสังเกตตัวเอง และดูแลตัวเองไม่ให้มีความเครียดหรือความวิตกกังวลเกิดขึ้นมากเกินไป ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพได้

  • รู้สึกเบื่องาน หมดไฟในการทำงาน เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า งานที่ทำอยู่นั้นตอบโจทย์ชีวิตจริงๆ หรือไม่ อยากเปลี่ยนงาน แต่ก็ยังไม่มั่นใจว่าจะเปลี่ยนไปทำงานอะไร
  • ไม่มีความรู้สึกอยากพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น หากทำงานก็ทำตามหน้าที่ ทำให้เสร็จๆ ไป ไม่มีความกระตือรือร้นอยากเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
  • เบื่อหน่าย เหนื่อยล้า ไม่พึงพอใจในชีวิต รู้สึกว่าชีวิตไม่มีความหมาย 
  • รู้สึกว่าไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต รู้สึกว่าชีวิตไม่เป็นไปตามที่หวังไว้ รู้สึกว่าตัวเองไม่มีความก้าวหน้าในชีวิต
  • อยากหลีกหนีจากหน้าที่ความรับผิดชอบของตนเอง
  • สับสนในตัวเอง ต้องการการเปลี่ยนแปลงในชีวิต  
  • เริ่มพึ่งพาสารเสพติด เช่น แอลกอฮอล์ บุหรี่ เพื่อให้รู้สึกสบายใจมากขึ้น
  • มีพฤติกรรมการนอนและการกินที่เปลี่ยนไป เช่น กินมากเกินผิดปกติ หรือรู้สึกเบื่ออาหาร น้ำหนักขึ้นหรือลงอย่างรวดเร็ว 
  • มีความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของตนเอง หรือวิตกกังวลในเรื่องสุขภาพ

และถ้าหากมีอาการดังต่อไปนี้ ให้เริ่มมองหาที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญอย่างนักจิตวิทยา เพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจ ซึ่งอาจพัฒนาไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้าได้ อาการดังกล่าวคือ

  • มีปัญหาด้านการนอนหลับ นอนไม่หลับ หรือต้องใช้ยานอนหลับติดต่อกันเป็นเวลานาน 
  • ไม่มีสมาธิในการทำงาน ไม่สามารถทำงานได้ ไปอยากไปทำงาน จนต้องลางานบ่อยๆ
  • เครียด วิตกกังวลจนกระทบต่อความสัมพันธ์ เช่น ทะเลาะเบาะแว้งกับคู่รัก สามีภรรยา หรือทะเลาะกับคุณพ่อคุณแม่ พี่น้อง
  • ไม่มีแรงบันดาลใจหรือแรงจูงใจในชีวิต หมดความสนใจในงานอดิเรกหรือการทำกิจกรรมยามว่าง
  • มีความคิดหรือมีความรู้สึกอยากเปลี่ยนแปลงสิ่งสำคัญในชีวิต เช่น ลาออกจากงาน หย่าร้างหรือต้องการย้ายถิ่นฐานที่อยู่

วิกฤตวัยกลางคน เกิดขึ้นกับทุกคนหรือไม่ ?

วิกฤตวัยกลางคน, Midlife Crisis คือ
Image Credit : pexels.com

หลายๆ คนอาจจะสงสัยว่า แล้วบุคคลที่กำลังเข้าสู่ช่วงวัย 40 จำเป็นจะต้องเกิดวิกฤตวัยกลางคนในทุกคนหรือไม่ ทั้งนี้ วิกฤตวัยกลางคน ไม่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นกับทุกคนเสมอไป และจากการศึกษาพบว่า แนวคิดเกี่ยวกับ Midlife Crisis คือสิ่งที่มาจากโครงสร้างทางสังคม ที่ทำให้ผู้คนในสังคมเชื่อว่าควรจะประสบความสำเร็จขนาดไหน หรือควรจะมีชีวิตอย่างไรตามกรอบที่สังคมวางไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหน้าที่การงาน สถานะทางการเงิน สถานะทางสังคม การสร้างครอบครัว ซึ่งเมื่อไม่เป็นไปตามบรรทัดฐานของสังคมแล้ว บุคคลนั้นก็จะเกิดความคิดความรู้สึกว่า ตนเองล้มเหลว ทำให้เกิดเป็น Midlife Crisis นั่นเอง

[affegg id=4446]

รับมือกับวิกฤตวัยกลางคนอย่างไร ให้ใจเป็นสุข

หากใครที่คิดว่าตนเองตนเองกำลังเผชิญกับภาวะวิกฤตวัยกลางคน และเกิดความเครียด ความวิตกกังวลใจเมื่อสู่วัย 40 วิธีเหล่านี้ จะช่วยให้คุณสามารถรับมือกับสถานการณ์นี้ได้มากขึ้น และอาจทำให้รู้สึกสบายใจมากขึ้น เป็นกังวลน้อยลง และมีความสุขกับชีวิตมากขึ้นได้ ซึ่งมีวิธีดังนี้

1. เติมพลังให้กับตัวเองบ้าง

วิกฤตวัยกลางคน, Midlife Crisis คือ
Image Credit : pexels.com

เป็นเรื่องปกติที่คนวัยกลางคนจะมีภาวะหมดไฟ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการหมดไฟในการทำงาน หรือหมดไฟในชีวิต เนื่องจากอาจจะต้องทำงานหนัก มีความเครียดจากการดูแลลูกๆ หรือต้องดูแลคุณพ่อคุณแม่ที่เริ่มอายุมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึง ต้องพยายามบริหารการเงินให้สมดุล ซึ่งหน้าที่ความรับผิดชอบต่างๆ อาจทำให้รู้สึกเหนื่อยล้าและหมดพลังได้ ดังนั้น ไม่ใช่เรื่องผิดเลยหากจะหยุดพักและเติมพลังให้กับตัวเองบ้าง ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพจิตกล่าวว่า การให้ความสำคัญกับตัวเองนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งสามารถทำได้โดยการหาเวลาพักผ่อน ไม่ว่าจะเป็นการออกไปนั่งจิบกาแฟอร่อยๆ ตามคาเฟ่ต่างๆ หรือนั่งพักตามสวนสาธารณะ คิดอะไรเงียบๆ คนเดียว ออกไปทำสปา นวดผ่อนคลาย เป็นต้น ซึ่งอาจจะเป็นการเติมพลังให้กับตนเอง และทำให้ความรู้สึกเหนื่อยล้าจางหายไป

2. เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

สำหรับบางคนที่รู้สึกว่าหมดไฟ ไร้พลัง ชีวิตไม่มีความก้าวหน้าหรือไม่มีการพัฒนา การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จะทำให้รู้สึกกระตือรือร้น กระปรี้กระเปร่ามากขึ้น และอาจสร้างความน่าตื่นเต้น สร้างแรงจูงใจใหม่ๆ ให้กับชีวิตได้ คนเรามีการเรียนรู้ตลอดชีวิต คือไม่มีใครแก่เกินเรียน ไม่ว่าอายุเท่าไหร่ก็ยังสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ ซึ่งการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ นั้น ไม่จำเป็นจะต้องเป็นในเรื่องที่เกี่ยวกับวิชาการก็ได้ อาจจะเป็นการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เช่น การทำงานฝีมือ การวาดรูป การเล่นดนตรี หรืออะไรก็ตามที่คุณรู้สึกสนใจ

ปัจจุบันมีคอร์สเรียนออนไลน์เปิดสอนมากมาย ถ้าหากไม่มีเวลาหรือไม่สะดวกเดินทาง ก็สามารถลงสมัครเรียนแบบออนไลน์ และเข้าเรียนเมื่อมีเวลาว่างก็ได้ค่ะ หรือการออกไปเรียนตามสถาบันหรือสถานที่สอน ก็อาจจะทำให้ได้สังคมใหม่ๆ และได้รู้จักเพื่อนใหม่ด้วยเช่นกัน

3. ลงมือทำในสิ่งที่หลงใหล

สัญญาณวิกฤตในวัยกลางคนที่เห็นได้ชัดคือ รู้สึกหมดไฟ เหนื่อยหน่ายในชีวิต หรือเกิดคำถามกับตัวเองว่า กำลังอยู่ในเส้นทางที่ต้องการแล้วจริงๆ หรือเปล่า ? ดังนั้น วิธีจัดการความรู้สึกเหล่านี้ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Midlife Crisis เห็นพ้องต้องกันว่า การลงมือทำในสิ่งที่หลงใหลหรือเคยหลงใหลมาตลอดในวัยช่วงกลางคน เป็นช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสม เพราะก่อให้เกิดการทำงสิ่งใหม่ๆ อีกทั้งยังเป็นการเติมเต็มในด้านความปราถนาในใจ อาทิ ในบางคนอาจต้องการเขียนหนังสือหรือเขียนนิยายมาตลอด แต่ก็ไม่มีโอกาสทำเนื่องจากทำงานอีกสายหนึ่ง หรือในบางคนอาจจะอยากมีธุรกิจส่วนตัวเป็นของตนเอง ซึ่งอาจไม่ต้องถึงขั้นลาออกจากงานเพื่อมาทำสิ่งนั้น แต่อาจทำเป็นงานอดิเรก เป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้อีกช่องทางหนึ่งก็ได้ การได้ทำในสิ่งที่ชอบและหลงใหลจะทำให้เรามีพลังใจมากขึ้นได้

4. ติดต่อกับเพื่อนๆ หรือคนในครอบครัวบ้าง

วิกฤตวัยกลางคน, Midlife Crisis คือ
Image Credit : pexels.com

นักบำบัดและนักวิจัยแนะนำว่า การเชื่อมโยงทางสังคมมีความสำคัญต่อสุขภาพจิตเป็นอย่างมาก ซึ่งการแบ่งปันช่วงเวลาดีๆ ร่วมกับคนสนิทหรือคนที่เรารักนั้น สามารถทำให้เรามีความสุขมากขึ้นอย่างแน่นอน บางครั้งการทำงานหนักหรือการมีหน้าที่รับผิดชอบต่างๆ อาจทำให้เราหลงลืมคนใกล้ตัวไป ลองโทรหาเพื่อนๆ และชวนไปทำกิจกรรมด้วยกัน หรืออาจจะลาพักร้อนกลับบ้านไปหาคุณพ่อคุณแม่ที่อยู่ต่างจังหวัดบ้าง ก็อาจจะทำให้เราได้กำลังใจ หรือได้ความรู้สึกดีๆ กลับมาก็ได้ค่ะ

5. อย่าลืมให้เวลากับคู่รักหรือคู่สมรสของคุณด้วย

ในบางคู่ที่อาจจะแต่งงานกันมานาน ทำให้รู้สึกว่าชีวิตคู่ดูจืดชืด เย็นชาห่างเหิน ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายก็อาจทำให้ส่งผลกระทบต่อสมรรถภาพทางเพศได้ด้วย และอาจเป็นปัญหาในชีวิตคู่ได้ นักจิตวิทยาครอบครัวแนะนำให้คุณพูดคุยกับคู่ของคุณโดยตรงว่า ต้องการอะไร หรือไม่ต้องการอะไร และจับมือกันแก้ไข ก้าวผ่านวิกฤตไปด้วยกัน เช่น อาจเติมความหวานในชีวิตคู่โดยการออกไปทำกิจกรรมร่วมกัน ออกไปเที่ยวต่างจังหวัด ออกไปกินข้าวนอกบ้านเหมือนตอนกำลังเดทกัน และดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ ดูแลจิตใจและความรู้สึกกันและกันให้มากขึ้น ซึ่งสามารถนำไปสู่ชีวิตรักในวัยกลางคนที่มีความสุขได้

6. หันมาดูแลสุขภาพให้มากขึ้น

เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายก็เสื่อมไปตามวัย และบางคนก็อาจจะมีโรคประจำตัวเกิดขึ้นในช่วงวัยกลางคน เช่น ความดัน เบาหวาน โรคหัวใจ ดังนั้น การเปลี่ยนตัวเองให้หันมาดูแลสุขภาพก็จะทำให้สามารถเผชิญกับวิฤตวัยกลางคนในเรื่องของสุขภาพได้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการหันมาออกกำลังกายอย่างจริงจัง การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ลดหรืองดสารเสพติดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่หรือแอลกอฮอล์ ลดหวาน มัน เค็ม ซึ่งการมีสุขภาพที่ดีนั้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นดีๆ ที่จะทำให้ชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีได้ค่ะ

7. ปรึกษานักจิตวิทยาหรือนักบำบัด

การพูดคุยกับนักจิตวิทยาหรือนักบำบัดไม่จำเป็นว่าจะต้องมีปัญหาในด้านสุขภาพจิตหรือถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคทางจิตเวชเสมอไป เพียงแค่มีเรื่องไม่สบายใจ มีความเครียดกังวลใจ วิตกคิดมาก ก็สามารถพูดคุยกับนักจิตวิทยาได้ เช่น นักจิตวิทยาการปรึกษา ซึ่งยินดีให้คำปรึกษาและพูดคุยกับคุณเมื่อคุณมีเรื่องไม่สบายใจ ทำให้เราสามารถจัดการกับความเครียด และเข้าใจตัวเองได้มากขึ้น เกิดการตกตะกอนและตระหนักรู้ในตนเองว่าต้องการอะไร ต้องการจะไปในทิศทางใด หรือค้นพบวิธีแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วง Midlife Crisis ได้ ปัจจุบันมีบริการให้คำปรึกษามากมาย เช่น การพูดคุยกับนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ผ่านการปรึกษาออนไลน์ ซึ่งสะดวกสบาย ปลอดภัย และเป็นส่วนตัวอีกด้วย

[affegg id=4447]

Inspire Now ! : แม้ไม่สามารถจะเปลี่ยนอายุหรือหยุดอายุเอาไว้ได้ แต่คนเราสามารถเปลี่ยน Mindset หรือเปลี่ยนความคิดที่มีต่อสถานการณ์นั้นๆ ได้ การที่เราอายุมากขึ้น หมายถึงเรามีประสบการณ์ในชีวิตมากขึ้น มีความเชี่ยวชาญในการทำงานอาชีพนั้นๆ มากขึ้น และมีบทบาทที่เพิ่มมากขึ้น เช่น การเป็นพ่อแม่ หรือเป็นหัวหน้างาน ซึ่งสามารถนำเอาความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ที่สั่งสมมาตลอดทั้งชีวิตนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ที่เยาว์วัยกว่า ทั้งการสอนงานพนักงาน ให้คำแนะนำในการทำงานซึ่งเราเคยมีประสบการณ์มาก่อน หรือสอนลูกๆ ให้เติบโตในทางที่ดี ทั้งนี้ เมื่อเข้าสู่วัยกลางคนก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นวิกฤตเสมอไป ตราบใดที่ยังรู้สึกสนุกและมีความสุขในการใช้ชีวิตค่ะ

DIY INSPIRE NOW ทำให้ฉันเป็นคนใหม่ที่มีความสุขใช่ไหม ? ใครที่กำลังกังวลเรื่องวิกฤตวัยกลางคน หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ให้กับคุณไม่มากก็น้อยนะคะ อายุมากขึ้นก็ไม่เป็นไร เป็นวัยกลางคนแล้วก็ยังสามารถมีความสุข สนุกกับการใช้ชีวิตได้อยู่ ขอให้ทุกคนใช้ชีวิตอย่างมีความสุข มีจิตใจเบิกบาน และมีสุขภาพแข็งแรงกันนะคะ ♡

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : petcharavejhospital.com, verywellmind.com, healthline.com

Featured Image Credit : pexels.com/Liza Summer

Facebook Comments

ฝันอยากเดินทางท่องโลกให้ได้มากที่สุด สนใจเรียนรู้เกี่ยวกับจิตวิทยา รักการอ่านหนังสือ ชอบถ่ายรูป หลงใหลแมวและกาแฟ