การฟัง คือความสามารถในการรับสารผ่านการได้ยิน และตีความได้อย่างถูกต้อง การฟังเป็นหัวใจของการสื่อสารที่มีคุณภาพ หากไม่มี ทักษะการฟังที่หมายถึง ความสามารถในการฟังได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็อาจจะทำให้เกิดความผิดพลาดในการสื่อสาร เกิดความเข้าใจผิดกัน และส่งผลเสียตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการทำงาน หรือในชีวิตส่วนตัวก็ตาม เพียงแค่การฟังอย่างตั้งใจ หรือเปิดใจรับฟังสิ่งต่างๆ อย่างลงลึกมากขึ้น ก็อาจทำให้มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นได้ การฟังที่ดีเป็นหนึ่งใน Outward Mindset คือ วิธีคิดที่มุ่งเน้นผลลัพธ์ของ “ตัวเราและผู้อื่น” เป็นการฟังเพื่อประโยชน์ต่อตัวเราและผู้อื่น และไม่ได้ยึดเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ถ้าใครอยากจะพัฒนาทักษะการฟังของตนเอง หรือสงสัยว่า การฟังนั้น มีความสำคัญอย่างไร ? และเพราะเหตุใดเราถึงต้องมีทักษะการฟังที่ดี ในบทความนี้ DIYINSPIRENOW มีคำตอบให้คุณค่ะ
ชวนฝึกทักษะการฟัง ฟังได้ดี คุณภาพชีวิตก็ดีตามไปด้วย !
Image Credit : freepik.com
การฟัง ไม่เหมือนกับการได้ยิน การได้ยิน คือการที่หูของเราได้ยินเสียงที่อยู่รอบข้าง เป็นการทำงานของร่างกายและระบบประสาทสัมผัสโดยอัตโนมัติ แต่การฟัง หมายถึง การให้ความสำคัญและมุ่งความสนใจไปยังสิ่งที่ได้ยินนั่นเอง ซึ่งมีความลึกซึ้งมากกว่าการได้ยินเสียงทั่วๆ ไป และการฟังก่อให้เกิดการรับรู้ ประมวลผล มีอารมณ์ความรู้สึกเกิดขึ้น บางครั้งอาจรับรู้ไปถึงความคิด จิตใจของผู้พูดเลยทีเดียว
หนังสือ ศิลปะการฟังเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต
ความหมายของทักษะการฟัง
ทักษะการฟัง หมายถึง ความสามารถในการฟังที่มีประสิทธิภาพ ฟังด้วยความตั้งใจ และให้ความสนใจกับผู้พูด ไม่เพียงแต่การโฟกัสกับเรื่องราวที่ถูกเล่าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงวิธีการเล่า การใช้ภาษา น้ำเสียง ท่าทาง ภาษากายของผู้พูด ทำให้สามารถรับรู้ เข้าใจในสิ่งที่ผู้พูดต้องการจะสื่อสาร อีกทั้งยังเป็นการฟังที่ไม่ตัดสิน และมีการตอบสนอง มีอารมณ์ร่วมไปกับผู้พูด รับรู้ถึงความต้องการที่แท้จริงที่อีกฝ่ายต้องการจะสื่อสารมา และสามารถให้คำปรึกษา หรือให้คำแนะนำได้อย่างตรงประเด็น การฟังแบบนี้ เป็นการฟังอย่างมีคุณภาพ ทำให้เราเป็นทั้งผู้ฟังที่ดี และเป็นผู้ให้คำปรึกษาที่ดีด้วยค่ะ
การมีทักษะการฟัง สำคัญยังไง ?
Image Credit : freepik.com
ตอนนี้เราน่าจะพอเข้าใจแล้วว่า ทักษะการฟังที่ดี เป็นหนึ่งในคุณสมบัติของ Soft Skill คือทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานและการใช้ชีวิต เรามาดูกันว่า สกิลการฟังนั้น มีความสำคัญอย่างไร แล้วทำไมถึงจะต้องมีด้วย
- เพื่อรับรู้ได้ถึงใจความสำคัญหรือประเด็นที่ผู้พูดต้องการจะสื่อสารออกมา
- เพื่อให้เข้าใจอย่างถูกต้องครบถ้วนในมุมมองของผู้พูด
- เพื่อประเมินสิ่งที่กำลังฟังได้อย่างมีวิจารณญาณ
- เพื่อแสดงความใส่ใจ เข้าใจ และห่วงใยผู้พูดอย่างแท้จริง
- เพื่อส่งเสริมให้มีการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา เปิดเผย อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้องตรงประเด็น
- เพื่อให้มีความเข้าใจตรงกันและหาทางออกร่วมกันได้ มีการยอมรับมุมมอง ทัศนคติ และความคิดเห็นร่วมกันทั้งผู้พูดและผู้ฟัง ซึ่งในแง่ของการทำงานหรือการเป็นหัวหน้างานนั้น หากไม่มีทักษะด้านการฟังที่ดี อาจหมายถึง การเป็นผู้นำที่ไม่ดีได้ด้วยเหมือนกัน
- นำไปสู่การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง การฟังที่ดีจะทำให้เข้าใจถึงความต้องการของผู้พูดอย่างแท้จริง และสามารถหาจุดตรงกลางได้กับทุกฝ่าย
รู้จัก ทักษะการฟัง 4 ระดับ ฟังอย่างเข้าใจผู้พูดอย่างแท้จริง
Image Credit : freepik.com
ทักษะการฟังอย่างมีคุณภาพนั้น ประกอบไปด้วยการฟัง 4 ระดับ คือ ฟังเพื่อการรับรู้ ฟังเพื่อความเข้าใจ ฟังเพื่อการประมวลผล และ ฟังเพื่อการตอบสนอง โดยในแต่ระดับ มีรายละเอียดตามนี้ค่ะ
1. ฟังเพื่อการรับรู้ (Receiving)
การฟังเพื่อการรับรู้ หมายถึง รับรู้เนื้อสารและสิ่งที่ผู้พูดต้องการจะสื่อสารออกมา เป็นทักษะการฟังในระดับเริ่มต้นของการฟังอย่างมีคุณภาพ เคยไหมคะ เวลาเราระบายความรูสึกหรือพูดอะไรบางอย่างกับใครบางคน และก็เหมือนอีกฝ่ายกำลังฟังเราพูดอยู่ แต่ไม่สามารถจับใจความในสิ่งที่เราพูดได้ หรือแม้กระทั่งตัวเราเองที่อาจจะฟังอย่างผ่านๆ พยักหน้ารับรู้ แต่ไม่ได้ตั้งใจฟังอย่างแท้จริง และไม่ได้เข้าใจเรื่องราวทั้งหมดที่ผู้พูดพยายามจะสื่อสารออกมา ซึ่งทักษะการฟัง หมายถึง การฟังที่สามารถจับใจความที่ผู้พูดต้องการจะสื่อสารออกมาได้ เรียกง่ายๆ ว่า “ตั้งใจฟัง” และให้ความสนใจ แสดงความใส่ใจในการฟังอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม การฟังในระดับเริ่มต้นนี้ แม้เราจะตั้งใจฟังก็ตาม แต่ก็อาจเกิดความขัดแย้งหรือไม่เห็นด้วยกับผู้พูดได้ หรือเกิดการตัดสินผู้พูดอยู่ในใจ ทางที่ดีคือ ควรฟังผู้พูดพูดให้จบก่อน และไม่แสดงท่าทีที่ไม่พอใจ ต่อต้าน ไม่อยากฟัง กล่าวตำหนิ หรือรีบให้คำแนะนำโดยที่ยังฟังไม่จบ ซึ่งการฟังที่ดีนั้น จะต้องฟังโดยไม่ตัดสินจากค่านิยม ความเชื่อ หรือทัศนคติของตัวเอง
2. ฟังเพื่อเข้าใจ (Understanding)
การฟังในระดับต่อมาคือ ฟังเพื่อเข้าใจ หลังจากที่ฟังเพื่อรับรู้เนื้อสาร และจับใจความในสิ่งที่ผู้พูดต้องการจะสื่อสารได้แล้ว กุญแจสำคัญของทักษะการฟัง หมายถึง การรับฟังอย่างเข้าใจ เข้าใจในที่นี้ หมายถึง เข้าไปนั่งในใจของผู้พูด สามารถตีความผ่านทางน้ำเสียง ลักษณะท่าทาง สีหน้า และอารมณ์ที่ผู้พูดแสดงออกมา และสามารถเข้าใจได้ว่า ผู้พูดมีความรู้สึกอย่างไร หรือคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องราวนั้นๆ
ซึ่งเราสามารถมีส่วนร่วมในการฟังได้โดยการ พูดทวนสิ่งที่ผู้พูดพูดออกมา หรือถอดความหมายและถามกลับไปว่าเราเข้าใจถูกต้องหรือไม่ เช่น “คุณรู้สึกแบบนี้ใช่ไหม” “เรื่องราวมันเป็นแบบนี้ใช่ไหม” “นั่นคือสิ่งที่คุณต้องการจะบอกฉันใช่หรือเปล่า” การถามกลับแบบนี้ จะทำให้ผู้พูดรู้สึกว่าเราตั้งใจฟังจริงๆ และยังเป็นการสะท้อนความคิดความรู้สึกของผู้พูดด้วยว่า ตนเองกำลังรู้สึกแบบไหนอยู่ ซึ่งทักษะการฟังในระดับนี้ เป็นสิ่งที่มักจะใช้ในกระบวนการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาด้วยค่ะ หนึ่งในคุณสมบัติของผู้ให้คำปรึกษาที่จำเป็นจะต้องมีก็คือ การมีทักษะการฟังที่ดีนั่นเอง
Marshall Minor IV black หูฟังบลูทูธ หูฟังไร้สาย
3. ฟังเพื่อประมวลผล (Evaluating)
ทักษะการฟังในระดับต่อมา คือ ฟังเพื่อประมวลผล เมื่อเราเข้าใจผู้พูดอย่างถ่องแท้แล้ว เราก็จะสามารถรับรู้ถึงแรงจูงใจ เป้าหมาย ความคิด ทัศนคติ หรือสาเหตุของเรื่องราวต่างๆ ได้ การฟังระดับนี้เป็นการฟังที่ต้องใช้ทักษะอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งสามารถฝึกได้จากการสังเกต จับใจความ การอ่านภาษากาย และที่สำคัญคือ การเอาใจเขามาใส่ใจเรา หรือการมี Empathy ต่อผู้ฟังนั่นเอง ซึ่งจะทำให้เรารับรู้ความรู้สึกและมองในมุมของผู้พูดได้อย่างไม่ตัดสิน และเข้าใจอย่างแท้จริง เช่น มีเพื่อนมาระบายให้เราฟังว่าโกรธที่แม่บ่นว่ายังไม่โตเป็นผู้ใหญ่เสียที ถ้าฟังเผินๆ ก็อาจจะมองว่า เพื่อนโกรธที่แม่ดุตัวเอง แต่การฟังเพื่อประมวลผล จะทำให้เราเข้าใจได้ว่า สาเหตุที่เพื่อนโกรธคือ เพื่อนน้อยใจที่แม่ไม่เชื่อในตัวเพื่อนว่า เพื่อนโตเป็นผู้ใหญ่แล้วและสามารถดูแลตัวเองได้ ความรู้สึกแท้จริงที่เกิดขึ้นคือ เพื่อนอยากให้แม่เชื่อมั่นในตัวเพื่อนมากกว่านี้ อะไรแบบนี้เป็นต้น
การที่จะฟังไปถึงระดับนี้ได้ ต้องไม่ลืมว่า สิ่งสำคัญของการฟัง คือการฟังอย่างตั้งใจและใส่ใจอย่างแท้จริง หากเราช่างสังเกตและไม่เอาความคิด ทัศนคติตัวเองมาตัดสินผู้พูด และเป็นผู้ฟังที่ดี ไม่พูดขัดพูดแทรก หรือรีบแนะนำก่อนที่จะฟังเรื่องราวจนจบ ก็จะทำให้เราฟังอย่างมีคุณภาพได้
4. ฟังเพื่อการตอบสนอง (Responding)
ทักษะการฟังในระดับที่ 4 คือ การฟังเพื่อตอบสนอง การตอบสนองในที่นี้ คือการให้คำแนะนำ คำปรึกษา หรือการหาทางออก แก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างผู้พูดและผู้ฟัง เป้าหมายของการฟัง คือการตอบสนองต่อสิ่งที่ผู้พูดต้องการได้อย่างตรงประเด็นมากที่สุด และสามารถแก้ไขปัญหา คลี่คลายสถานการณ์ และหาทางออกร่วมกันได้ สมมติในกรณีที่เพื่อนมาปรึกษาปัญหาชีวิตกับเรา ถ้าเราฟังเพียงขั้นตอนแรกคือ จับใจความได้ รู้ว่าเพื่อนมีปัญหาอะไร แต่ไม่ได้เข้าใจว่าเพื่อนรู้สึกอย่างไร หรือเพื่อนต้องการอะไร ก็อาจจะรีบให้คำแนะนำในมุมมองของเรา หรือจากประสบการณ์ของตัวเอง ซึ่งอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เพื่อนต้องการ และไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง ซ้ำเพื่อนอาจจะรู้สึกว่าเราไม่สนใจที่จะฟังจริงๆ แต่รีบให้คำแนะนำให้จบๆ ไปก็ได้
หรือในกรณีที่เราเป็นหัวหน้างาน หากพนักงานมาปรึกษาเกี่ยวกับการทำงาน ถ้าไม่ได้ฟังให้จบก่อนหรือเอามุมมองและประสบการณ์ของตัวเองมาตัดสิน ไม่ได้ฟังไปจนถึงรับรู้ความต้องการของพนักงานอย่างแท้จริง และยังไม่รู้ว่าปัญหาที่แท้จริงนั้นคืออะไร แต่รีบให้คำแนะนำไป ก็อาจจะไม่ใช่คำแนะนำที่สามารถแก้ไขปัญหาให้กับพนักงานได้อย่างตรงจุด และไม่อาจทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นหรือได้รับการแก้ไขได้อย่างถูกต้อง
อีกประการหนึ่งคือ บางครั้งผู้พูดก็ไม่ได้ต้องการสิ่งใดเลย ทั้งคำแนะนำ วิธีการแก้ไขปัญหา หรือคำปลอบใจ แต่ต้องการเพียงแค่ “คนรับฟัง” เท่านั้น ถ้าเป็นแบบนี้ เพียงแค่เราตั้งใจฟัง พยักหน้าตาม สบตาผู้พูด หรือบีบมือเป็นเชิงให้กำลังใจ เพียงเท่านี้ ก็ทำให้ผู้พูดสบายใจมากขึ้น และเป็นการตอบสนองที่เพียงพอแล้วค่ะ
พัฒนาทักษะการฟังยังไง ? ให้ฟังได้อย่างมีคุณภาพ !
Image Credit : freepik.com
ในตอนนี้เราก็รู้แล้วว่า ทักษะการฟัง หมายถึงอะไร มีความสำคัญอย่างไร และการฟังนั้น มีกี่ระดับด้วยกัน แม้จะดูยากซับซ้อนเหลือเกินในการที่จะเป็นผู้ฟังที่ดี หรือฟังให้ได้ครบ 4 ระดับ แต่อย่าเพิ่งกังวลไปค่ะ เราไม่จำเป็นต้องรีบทำให้ได้ครบทั้งหมด หรือมีสกิลการฟังให้ครบทั้ง 4 ระดับ ขอแค่อยากจะพัฒนาทักษะการฟังของตัวเอง และอยากจะเป็นผู้ฟังที่ดี เพียงเท่านี้ก็ถือว่ามาถูกทางแล้ว เรามีวิธีพัฒนาสกิลการฟังมาฝาก จะทำได้อย่างไร ไปดูกันเลย
- จุดเริ่มต้นของทักษะการฟัง คือการฟังอย่างตั้งใจค่ะ อันดับแรก ต้องตั้งใจฟังและใส่ใจให้มากขึ้น มีการสบตากับผู้พูด พยักหน้าตามเป็นพักๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเรากำลังฟังอยู่ ไม่ฟังไปโดยที่ทำอย่างอื่นไปด้วย เช่น เล่นโทรศัพท์มือถือ หรือดูคลิปวิดีโอต่างๆ ให้มองในมุมกลับว่า ถ้าเราอยากปรึกษาใครคนหนึ่ง คนนั้นทำท่าเหมือนจะฟังเรา แต่พอเราถามความคิดเห็น ก็บอกว่า “เมื่อกี้พูดว่าอะไรนะ” “เล่าใหม่อีกทีสิ ” “ไม่ทันได้ฟัง ขอใหม่อีกรอบ” แบบนี้ เราก็ไม่อยากพูดต่อแล้วใช่ไหมคะ เพราะรับรู้ได้ว่าเขาไม่ตั้งใจฟังในสิ่งที่เราพูดเลย
- มีการทวนข้อความ สรุปเรื่องราวกับผู้พูด การทำแบบนี้ เป็นการมีส่วนร่วมกับผู้พูดโดยที่ไม่ได้เสียมารยาทหรือพูดแทรกอะไร แต่เป็นการทวนข้อความ ทวนประโยค หรือสรุปเรื่องราวของผู้พูดว่าเราเข้าใจถูกต้องหรือเปล่า เช่น “เธอรู้สึกแบบนี้ใช่ไหม” “เรื่องราวเป็นแบบนี้ถูกต้องไหม” สิ่งนี้จะทำให้ผู้พูดรู้สึกว่าเราตั้งใจฟังจริงๆ
- ไม่พูดแทรก หรือโต้แย้งผู้พูดโดยทันที หรือเล่าเรื่องราวของตัวเอง ซึ่งนั่นจะเป็นการโฟกัสที่ตัวเอง และไม่ได้ให้ความสนใจผู้พูด เช่น “เรื่องนี้เราไม่เห็นด้วยเพราะ…” “เรื่องนี้เคยเกิดขึ้นกับเรา เป็นเรื่องราว…” หรือ “เรารู้แล้วว่าคุณจะพูดอะไร” ซึ่งการใช้คำพูดแบบนี้ จะดูเหมือนเป็นการตัดบทและไม่ก่อให้เกิดประโยชน์จากการฟังอย่างแท้จริง
- ให้ความสำคัญกับความรู้สึก หรือภาษากายของผู้พูดด้วย เช่น น้ำเสียง สีหน้า ท่าทาง ระดับความดังที่พูด ซึ่งนั่นอาจเป็นสัญญาณหรือเบาะแสเกี่ยวกับสิ่งที่ผู้พูดคิดและรู้สึกได้ ทำให้เราเข้าใจได้มากขึ้นและรับรู้ความต้องการของผู้พูดได้ การมีสกิลการฟังที่ดี นอกจากการฟังอย่างตั้งใจแล้ว จะต้องมีการสังเกตที่ดีด้วย
- ถามเพิ่มเติมถ้าไม่เข้าใจ ในกรณีที่เราเป็นหัวหน้างานแล้วมีพนักงานมาขอคำปรึกษา ถ้าเรายังไม่เข้าใจปัญหาของพนักงานจริงๆ ก็สามารถถามได้ โดยใช่คำถามเชิงบวก เช่น “ช่วยเล่าเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นนี้หน่อยได้ไหม” หรือ “มีอะไรที่สามารถช่วยได้หรือเปล่า” ก็จะทำให้เราเข้าใจปัญหาได้อย่างถ่องแท้ และหาทางออกร่วมกันได้ค่ะ
การเป็นผู้ฟังที่ดี คือการมีทักษะการฟัง หมายถึง ฟังอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถรับรู้ เข้าใจ จับประเด็น และมีการตอบสนองต่อสารที่รับฟังมาอย่างเหมาะสม การฟังเป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่ผู้ฟังจะต้องใช้ทักษะ ไหวพริบ การประมวลผล และความตั้งใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถฝึกได้ การมีสกิลการฟังที่ดีจะช่วยให้เราเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้อย่างถ่องแท้มากยิ่งขึ้น สามารถเข้าใจความหมาย ความต้องการ และจุดประสงค์ในการสื่อสารจากผู้พูดได้อย่างตรงจุด และสามารถพูดคุย ให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำได้อย่างเหมาะสม และในกรณีที่เป็นการพูดคุย ถกเถียงในประเด็นต่างๆ การฟังอย่างตั้งใจเพื่อรับรู้ความต้องการของแต่ละฝ่าย ก็จะทำให้สามารถแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งหาจุดตรงกลาง และหาทางออกร่วมกันได้อย่างแฮปปี้กับทุกคนค่ะ
JBL Flip 6 ลำโพงบลูทูธแบบพกพา ระบบเสียง 2 ทิศทาง กันน้ำได้ ใช้งานได้สูงสุด 12 ชั่วโมง
Inspire Now ! : ทักษะการฟัง สำคัญในทุกๆ บทบาทและความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นในการทำงาน ในครอบครัว ในความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน หรือคนรัก การมีทักษะการฟัง หมายถึง การเปิดใจยอมรับอีกฝ่ายโดยไม่ตัดสิน และไม่ยึดเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง แต่ยินยอมที่จะรับฟังและเปิดใจรับรู้ความรู้สึก ความต้องการของอีกฝ่าย การฟังอย่างมีคุณภาพ จะช่วยให้เราแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในทุกสถานการณ์ได้ การเป็นผู้ฟังที่ดี แสดงถึงความใส่ใจ เข้าใจ และมี Emphaty กับอีกฝ่าย ขอเพียงให้เรายอมเปิดใจรับฟังกันอย่างเข้าใจ และรับฟังกันด้วยหัวใจค่ะ |
---|
DIYINSPIRENOW ทำให้ฉันเป็นคนใหม่ที่ดีกว่าเดิมใช่ไหม ? คุณคิดว่า ทักษะการฟังสำคัญกับชีวิตของคุณแค่ไหน ? คอมเมนต์มาคุยกันนะคะ ♡