ปรัชญาญี่ปุ่น Kaizen เป็นยังไง ? ชวนรู้จักปรัชญาแบบไคเซ็น เพื่อการพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นในทุกวัน

ปรัชญาญี่ปุ่น Kaizen เป็นยังไง ? ชวนรู้จักปรัชญาแบบไคเซ็น เพื่อการพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นในทุกวัน

ถ้าพูดถึงญี่ปุ่น บางคนก็อาจจะนึกถึงสถานที่ท่องเที่ยว สวนซากุระ ภูเขาไฟฟูจิ นึกถึงอาหารญี่ปุ่น มังงะญี่ปุ่น หรือพิธีชงชาญี่ปุ่น ซึ่งนอกจากสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว เอกลักษณ์ความเป็นญี่ปุ่นอีกอย่างหนึ่งที่แสดงถึงความเป็นชาวดินแดนอาทิตย์อุทัยก็คือ ปรัชญาญี่ปุ่น นั่นเองค่ะ โดยเราจะรู้จักกันดีก็คือ Ikigai (อิคิไก) Wabi Sabi (วาบิซาบิ) Kintsugi (คินสึงิ) Kaizen (ไคเซ็น) และอื่นๆ ซึ่งปรัชญาของญี่ปุ่นก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราได้รู้จักและสัมผัสกับความเป็นญี่ปุ่นอย่างถ่องแท้ ในบทความนี้ เราจะพาไปรู้จักกับปรัชญาไคเซ็น และการนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันกันค่ะ

ปรัชญาญี่ปุ่น “ไคเซ็น” คืออะไร เป็นอย่างไร มารู้จักให้มากขึ้นกัน !

ปรัชญาญี่ปุ่น, kaizen คืออะไร
Image Credit : freepik.com

บางคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า ปรัชญาไคเซ็นกันมาบ้าง แต่ยังไม่แน่ใจว่า แท้จริงแล้วมันหมายถึงอะไร Kaizen คืออะไร ? คำว่า “ไคเซ็น” มาจากศัพท์ 2 คำคือ คำว่า ไค (Kai) ที่หมายถึงการเปลี่ยนแปลง และ เซ็น (Zen) แปลว่า ดี หรือดีขึ้น เพราะฉะนั้น “ไคเซ็น” จึงเป็นแนวคิดที่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น หรือการปรับปรุงให้ดีขึ้นนั่นเอง ปัจจุบันหลายๆ องค์กรมีการนำเอาปรัชญาญี่ปุ่นไคเซ็นมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการองค์กรเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น อันเป็นการปรับปรุงระบบการทำงานเพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น เป็นการปรับปรุงทีละส่วนและมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของพนักงานในองค์กร เพื่อพัฒนาการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หัวใจของปรัชญาไคเซ็นก็คือ การปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง หรือ Continuous Improvement นั่นเองค่ะ

[affegg id=4661]

จุดกำเนิดปรัชญาญี่ปุ่นแบบไคเซ็น มาจากไหน ?

ปรัชญาญี่ปุ่น, kaizen คืออะไร
Image Credit : freepik.com

แนวคิดแบบไคเซ็นมีจุดกำเนิดมาจากฝ่ายงานการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมญี่ปุ่นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อราวปี พ.ศ. 2494  ซึ่งเกิดขึ้นที่บริษัทโตโยต้า โดยฝ่ายงานผลิตส่วนนี้มุ่งเน้นที่จะป้องกันข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงาน และนำมาสู่แนวทางในการปฏิบัติงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด กล่าวคือ มีการปรับลดกระบวนการที่ไม่จำเป็นหรือสิ้นเปลืองออก ลดการเก็บสินค้าไว้ในสต๊อก ไม่ผลิตมากจนเกินไป แต่เป็นการผลิตสินค้าออกมาหลายรูปแบบ หลายรุ่นมากขึ้น แต่ในจำนวนที่น้อยลง เพื่อเพิ่มความหลากหลายและเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค ซึ่งวิธีการบริหารจัดการธุรกิจแบบนี้ ทำให้โตโยต้าประสบความสำเร็จอย่างมาก อันส่งผลให้แนวคิดแบบไคเซ็นเป็นที่รู้จักมากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม การนำหลักไคเซ็นไปใช้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยพื้นฐานดังนี้

  1. การสร้างมาตรฐานงาน (Standardise) เมื่อทุกครั้งที่ได้ผลลัพธ์ที่ดี และมั่นใจว่าผลลัพธ์ที่ได้นั้นมาจากกระบวนการที่ดี องค์กรจะนำมาสร้างเป็นมาตรฐาน เพื่อให้พนักงานในองค์กรสามารถสร้างผลลัพธ์แบบเดียวกันได้ 
  2. ปรับปรุงมาตรฐานให้ดีขึ้น (Kaizen or Continuous Improvement) มากกว่าการทำให้เป็นมาตรฐานก็คือ การทำให้มาตรฐานนั้นดีขึ้น อันเป็นหัวใจของการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องนั่นเอง
  3. นำเสนอและลงมือทำโดยพนักงาน (Bottom Up) การนำเอาปรัชญาญี่ปุ่นแบบไคเซ็นมาใช้ในการทำงานในองค์กร ต้องเกิดจากความสมัครใจของพนักงานผู้ซึ่งเป็นคนปฏิบัติงานเอง ทั้งยังเป็นคนที่เข้าใจระบบการปฏิบัติงานมากที่สุดและได้รับผลกระทบจากการปรับปรุงวิธีการทำงานมากที่สุดด้วย

ทั้งนี้ กระบวนการของ Kaizen คืออะไรที่ต้องใช้ความรู้ ทักษะ ความสามารถของพนักงานมาคิดปรับปรุงงาน โดยไม่จำเป็นที่จะต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล แต่เป็นการปรับปรุงทีละเล็กน้อยที่ค่อยๆ เพิ่มพูนอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าองค์กรจะมีสถานะทางการเงินแบบใด หรืออยู่ในสภาวะเศรษฐกิจแบบใด ก็สามารถใช้แนวคิดตามหลักไคเซ็นเพื่อปรับปรุงองค์กรของตนเองได้ แนวคิดอื่นๆ ที่มีแก่นหลักเป็นการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องก็ได้แก่ PDCA/ 5ส/ Problem Solving Method/ QCC/TQM เป็นต้น

หลักปรัชญาญี่ปุ่นแบบไคเซ็น 10 ประการ

ปรัชญาญี่ปุ่น, kaizen คืออะไร
Image Credit : freepik.com

แม้ว่าปรัชญาไคเซ็นจะมีจุดกำเนิดมาจากการทำงานในองค์กร แต่เราก็สามารถนำเอาแนวคิดแบบไคเซ็นมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งแกนหลักของปรัชญาไคเซ็น 10 ประการ มีดังนี้

  1. ไม่ยึดติดกับสมมติฐานที่มีอยู่
  2. แก้ปัญหาในเชิงรุก
  3. ไม่ยอมรับกับสภาพที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน
  4. ไม่สนใจความเป็น Perfectionism ละทิ้งความสมบูรณ์แบบ แต่ยึดมั่นในแนวคิดการเปลี่ยนแปลงซ้ำแล้วซ้ำเล่า
  5. เมื่อพบข้อผิดพลาด ให้มองหาวิธีแก้ไขทันที
  6. สร้างสภาพแวดล้อมที่ทุกคนอยากมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงเพื่อไปสู่สิ่งที่ดีกว่า 
  7. ถามคำถามให้ลงลึก เพื่อให้รู้ถึงปัญหาที่แท้จริง 
  8. รวบรวมข้อมูล มุมมอง และความคิดเห็นจากคนจำนวนมาก หากต้องการทราบถึงแนวทางในการพัฒนา
  9. ใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดการปรับปรุงพัฒนาเล็กๆ น้อยๆ โดยที่ไม่ต้องลงทุนมาก
  10. อย่าหยุดที่จะพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น

[affegg id=4662]

การนำเอาปรัชญาไคเซ็นไปประยุกต์ใช้ในชีวิต เพื่อการพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น

1. ใช้หลักการ “ตัดสิ่งที่ไม่จำเป็น” ออกไป เพื่อบริหารจัดการเวลาในชีวิตได้ดีขึ้น

หนึ่งในวิธีการปฏิบัติงานตามหลักปรัชญาญี่ปุ่นแบบไคเซ็นก็คือ การตัดขั้นตอนการทำงานที่ไม่จำเป็นออกไป เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งเราสามารถเอาเทคนิคนี้มาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ ด้วยการทำ “Not to Do list” กล่าวคือ ตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องทำออกไปในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะช่วยให้เราบริหารจัดการเวลาในชีวิตได้ดีกว่าเดิมมาก อาทิ ไม่เล่นโทรศัพท์มือถือก่อนนอนเพราะจะทำให้นอนไม่หลับ และส่งผลเสียต่อสุขภาพ หรือตัดขั้นตอนบางอย่างในการทำงานบ้านออกไป เพื่อให้ทำความสะอาดบ้านได้เร็วขึ้น ไม่นั่งจับกลุ่มพูดคุยเรื่องของคนอื่นที่ไม่เกิดประโยชน์แก่ตนเอง และทำให้เสียเวลาการทำงาน เป็นต้น

2. จัดพื้นที่บ้าน – พื้นที่ทำงานที่เอื้อประโยชน์ต่อการใช้งาน

ตามหลักปรัชญาไคเซ็นแล้ว การออกแบบสถานที่ทำงานให้เอื้อต่อการทำงาน ก็จะช่วยให้ปฏิบัติงานได้ดียิ่งขึ้น ในทำนองเดียวกัน การจัดระเบียบบ้าน หรือการจัดระเบียบโต๊ะทำงานนั้น ก็จะช่วยให้เราจัดสรรพื้นที่ใช้สอยได้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย และทำให้ชีวิตง่ายขึ้น สมมติว่าห้องเราไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย เราก็จะหาของไม่เจอ เมื่อถึงคราวต้องใช้สิ่งๆ นั้นก็ต้องเสียเวลาหา หรือแม้กระทั่งการปล่อยให้โต๊ะทำงานรกไม่เป็นระเบียบ เมื่อคราวต้องหาเอกสารสำคัญ ก็อาจทำให้เกิดความล่าช้าในการทำงานได้

3. ทำความสะอาด “ความคิดจิตใจ”

ปรัชญาญี่ปุ่น, kaizen คืออะไร
Image Credit : freepik.com

หากเป็นในองค์กร การนำหลักปรัชญาไคเซ็นมาใช้ จะมีสิ่งที่เรียกว่า “Seiso” กล่าวคือ การทำให้พื้นที่ทำงานมีความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่เสมอ แต่ในที่นี้ เราสามารถนำเอาแนวคิดข้อนี้มาใช้ในการ “ทำความสะอาดจิตใจของตนเอง” อย่างการเคลียร์สมองก่อนนอนด้วยการนั่งสมาธิหรือทำสมาธิสั้นๆ เพื่อที่จะได้สามารถนอนหลับได้อย่างสบายใจ และปราศจากความกังวลใดๆ เพื่อให้การนอนหลับมีคุณภาพมากขึ้น หรือใช้วิธีผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีต่างๆ อันเป็นการกำจัดขยะความคิดออกไป เพื่อให้สมองปลอดโปร่งมากขึ้น

4. การตั้งมาตรฐานของตัวเอง

อย่างที่กล่าวไปในข้างต้นว่า วิธีการปฏิบัติงานตามแนวคิดแบบไคเซ็นคือ การกำหนดมาตรฐานขององค์กรเอง ซึ่งเราสามารถกำหนดมาตรฐานในการดำเนินชีวิตของตัวเองได้เช่นกัน โดยเฉพาะในเรื่องความสัมพันธ์กับผู้คน เป็นการตั้งขอบเขตของตัวเองว่า เราควรได้รับการปฏิบัติแบบไหนจากผู้คนรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นในแง่มุมของความสัมพันธ์แบบเพื่อน แบบคนรัก คนในครอบครัว คนในที่ทำงาน หรือในแวดวงสังคมอื่นๆ รอบตัว เพื่อที่จะสามารถหลีกเลี่ยงความสัมพันธ์ที่ Toxic อันทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพใจของเราได้

5. การรักษาระเบียบวินัยเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

หัวใจของหลักปรัชญา Kaizen คืออะไรที่เป็นการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แม้จะเป็นการพัฒนาจุดเล็กๆ ก็ตาม ซึ่งก็ถือว่าเป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ที่จะประกอบสร้างเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ สิ่งที่สำคัญคือ การมีระเบียบวินัยในตนเอง การทำอย่างสม่ำเสมอและไม่ผัดวันประกันพรุ่ง เช่น การออกกำลังกายแม้เพียงวันละ 30 นาที แต่ทำต่อเนื่องเป็นประจำทุกวัน ก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสุขภาพร่างกายได้อย่างชัดเจน หรือการอ่านหนังสือเล่มหนาวันละ 10 หน้า หากทำเป็นประจำทุกวัน ก็สามารถอ่านจนจบได้ ปรัชญาไคเซ็นทำให้เรามีระเบียบวินัยในการใช้ชีวิต ทำให้เราสามารถตั้งเป้าหมายที่สามารถทำสำเร็จได้ และรู้ถึงวิธีการที่จะไปให้ถึงเป้าหมายนั้นๆ ซึ่งก็คือการทำอย่างสม่ำเสมอนั่นเองค่ะ

[affegg id=4663]

Inspire Now ! : หัวใจของปรัชญาญี่ปุ่นแบบไคเซ็นก็คือ การปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แม้เป็นการปรับปรุงในส่วนเล็กน้อย ก็สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ หากมีวินัยในการลงมือทำและทำอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ เพียงแค่มีใจตั้งมั่นว่าจะไม่หยุดพัฒนาตนเอง อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่ควรกดดันตัวเองมากเกินไป และไม่ควรเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น การเป็นตัวเราเองในวันนี้ ที่เป็นคนที่ดีขึ้นกว่าเมื่อวาน หรือแค่มีความตั้งใจว่าวันพรุ่งนี้จะทำให้ดีกว่าเดิม จะปรับปรุงตัวเองให้ดีกว่าเดิม ก็ถือว่าเป็นการพัฒนาตัวเองแล้วนะคะ

DIY INSPIRE NOW ทำให้ฉันเป็นคนใหม่ที่ดีกว่าเดิมใช่ไหม ? คิดว่าตัวเองจะเอาหลักปรัชญาไคเซ็นไปประยุกต์ใช้ได้อย่างไรบ้าง คอมเมนต์แบ่งปันไอเดียกันได้เลยนะคะ ♡

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : toyota.co.th, techtarget.com, medium.com

Featured Image Credit : freepik.com/wirestock

Facebook Comments

ฝันอยากเดินทางท่องโลกให้ได้มากที่สุด สนใจเรียนรู้เกี่ยวกับจิตวิทยา รักการอ่านหนังสือ ชอบถ่ายรูป หลงใหลแมวและกาแฟ