hyper independence, แบกรับภาระ

Hyper Independence คืออะไร ชวนรู้จักภาวะแบกรับมากเกินไป จนทำให้เหนื่อยล้าทั้งกายใจ

สำหรับใครที่กำลังก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่และอยู่ในวัยทำงาน กำลังสร้างครอบครัว หรือเป็นเสาหลักของบ้าน ในบางคนแล้ว นอกจากจะเจอกับปัญหาวิกฤตวัยกลางคน ที่ทำให้เกิดความเครียดความวิตกกังวลกับชีวิต หลายๆ คนก็ยังเผชิญกับภาวะ Hyper Independence หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็น “ตัวแบก” ของทุกอย่าง ทั้งเรื่องงาน เรื่องครอบครัว เรื่องความสัมพันธ์ ที่พยายามจะแบกรับทุกอย่างไว้กับตัวเองและพึ่งพาคนอื่นให้น้อยที่สุด เพราะเชื่อว่าไม่มีใครช่วยเหลือเราได้นอกจากตัวเอง ซึ่งอาจทำให้เกิดความเหนื่อยล้าทั้งกายใจ และส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายสุขภาพใจได้ เรากำลังเป็นแบบนี้อยู่หรือเปล่า ? มาดูกันต่อเลยค่ะ

Hyper Independence คืออะไร ? เราแบกรับทุกอย่างมากเกินไป จนส่งผลเสียกับตัวเองหรือเปล่า ?

สำหรับบางคนมีความเชื่อว่า การพึ่งพาตัวเองนั้นดีที่สุด และตนเป็นที่พึ่งแห่งตนเสมอ ซึ่งความจริงแล้วก็ไม่ผิด การที่เราสามารถช่วยเหลือตัวเองได้และดูแลตัวเองได้นั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็มีอีกหลายๆ คนที่กำลังแบกรับภาระเกินขีดจำกัดของตัวเอง ซึ่งนอกจากจะต้องดูแลตัวเองให้ได้แล้ว ยังต้องดูแลลูกน้องที่ทำงาน รับหน้าที่เป็นหัวเรือใหญ่ในที่ทำงาน และเป็นเสาหลักของบ้านไปด้วย ต้องดูแลสมาชิกในครอบครัว ดูแลคนรัก และก็คิดว่านี่เป็นความรับผิดชอบของตัวเองโดยที่พยายามจะไม่พึ่งพาใครและหลีกเลี่ยงการขอความช่วยเหลือจากคนอื่นให้ได้มากที่สุด แม้ว่าตัวเองจะเหนื่อยล้าแค่ไหนก็ตาม การกระทำแบบนี้เรียกว่า Hyper Independence หมายถึงการพึ่งพาตัวเองมากเกินไปอย่างสุดโต่ง พยายามจะทำทุกอย่างด้วยตัวเอง พึ่งพาคนอื่นให้น้อยที่สุด ไม่ร้องขอความช่วยเหลือจากใครแม้ว่าตัวเองจะลำบากแค่ไหน และในบางครั้งก็ยังรับปัญหาของคนอื่นเอามาเป็นปัญหาของตัวเองอีกด้วย ก่อเกิดเป็นความเครียด ความวิตกกังวล รู้สึกเหนื่อยล้าหมดแรงกับการใช้ชีวิต ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจอย่างแน่นอน ข้อสังเกตของคนที่มีภาวะแบกรับทุกอย่างมากเกินไป มีดังนี้ค่ะ

นายอินทร์ หนังสือ ใช้ความคิดเอาชนะโชคชะตา mindset

1. พยายามพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุดและขอความช่วยเหลือน้อยมาก

คนที่มีภาวะ Hyper Independence ส่วนใหญ่แล้ว จะเป็นคนที่พยายามช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุดและไม่เอ่ยปากขอความช่วยเหลือจากใคร อาจด้วยเพราะคิดว่าการพึ่งพาตนเองนั้นดีที่สุด คนอื่นช่วยอะไรตัวเองไม่ได้ หรือไม่อยากเป็นภาระของใคร ในบางคนอาจเกิดความละอายใจที่จะขอความช่วยเหลือจากใครจึงแบกรับภาระและแบกรับปัญหาทุกอย่างเอาไว้กับตัวเอง ปฏิเสธความช่วยเหลือจากคนอื่นและหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่จะต้องพึ่งพาคนอื่นอยู่เสมอ

2. ค่อนข้างเก็บตัวและเปิดรับความสัมพันธ์ใหม่ยาก

hyper independence, แบกรับภาระ
Image Credit : freepik.com

คนที่มีภาวะ Hyper Independence จะเป็นคนที่ค่อนข้างเก็บตัว ชอบอยู่คนเดียว รักสันโดษ และมีเพื่อนสนิทน้อยมากๆ ทั้งยังหลีกเลี่ยงการทำความรู้จักกับใครใหม่ๆ หลีกเลี่ยงการมีปฏิสัมพันธ์กับคนใหม่ๆ เพราะไม่อยากรับผิดชอบในความสัมพันธ์ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีความคิดที่ว่า ตนเองจะต้องเป็นฝ่ายแบกรับความสัมพันธ์ไว้เพียงคนเดียว ถ้าหากมีปัญหาในความสัมพันธ์ ตนเองก็จะต้องเป็นฝ่ายแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง จึงหลีกเลี่ยงที่จะมีความสัมพันธ์ใหม่ๆ นั่นเองค่ะ

นายอินทร์ หนังสือ Mini Habits นิสัยจิ๋ว ของคนที่ประสบความสำเร็จ

3. ไว้ใจคนอื่นยาก

คนที่มีภาวะแบกรับทุกอย่างมากเกินไป จะเป็นคนที่ไว้ใจคนอื่นยากและไม่เชื่อใจใครง่ายๆ นั่นจึงส่งผลให้ไม่เชื่อว่าคนอื่นจะสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ จึงหลีกเลี่ยงการของความช่วยเหลือจากคนอื่น แบกรับภาระทุกอย่างไว้กับตัวเอง ไม่กล้าเล่าความทุกข์ให้คนอื่นฟัง ลังเลที่จะแบ่งปันเรื่องส่วนตัวกับคนอื่น ในบางคนอาจกลัวการถูกตัดสิน หรือกลัวถูกมองว่าเป็นคนอ่อนแอ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เป็นภาระของคนอื่น จึงเลือกที่จะเก็บความทุกข์และปัญหาต่างๆ ไว้กับตัวเองคนเดียว ต่อให้เป็นคนใกล้ชิดหรือเป็นคนสนิทก็ยากที่จะเอ่ยปากขอความช่วยเหลือจากใคร

4. นิยมความสมบูรณ์แบบ

hyper independence, แบกรับภาระ
Image Credit : freepik.com

คนที่เรียกได้ว่าเป็น “ผู้แบกรับ” นั้น หลายๆ คนมีความเป็น Perfectionism สูง เป็นคนรักความสมบูรณ์แบบ และคิดว่าทุกอย่างจะสมบูรณ์แบบได้ก็ด้วยฝีมือของตัวเองเท่านั้น ทั้งยังมุ่งมั่นที่จะประสบความสำเร็จ ต้องทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ในบางครั้งอาจพบว่าคนเหล่านี้มีปัญหาเรื่องการกระจายงานในทีมและมักจะทำงานทุกอย่างด้วยตัวเอง เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่าตนเองสามารถรับผิดชอบสิ่งต่างๆ ได้ และไม่เชื่อมือคนอื่นว่าจะทำได้ดีพอ ซึ่งอาจนำมาสู่ความเหนื่อยล้า มีความเครียด กดดันสูง และไม่มีความสุขกับงานที่ทำอยู่

5. รู้สึกเครียดได้ง่ายและหมดไฟได้ง่าย

คนที่มีภาวะ Hyper Independenceจะรู้สึกเครียดได้ง่าย เพราะกดดันสูง ซึ่งมักจะเกิดจากการกดดันตัวเองว่าจะต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด หลีกเลี่ยงการขอความช่วยเหลือจากคนอื่น รู้สึกว่าไม่มีใครช่วยเหลือตัวเองได้นอกจากตนเอง ไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากใครได้ ไว้ใจใครไม่ได้ ต้องแบกรับทุกอย่างเอาไว้กับตัวเองและเกิดเป็นความเหนื่อยล้า รู้สึกหมดพลัง หมดไฟในการทำงาน และอาจถึงขั้นหมดไฟในการใช้ชีวิตเลยทีเดียว

บี มีเดีย (BeeMedia) Miracle Morning ทุกสิ่งในชีวิตจะดีขึ้น เมื่อตื่นเช้า หนังสือพัฒนาตนเอง

สาเหตุของการเกิดภาวะ Hyper Independence คืออะไร ?

hyper independence, แบกรับภาระ
Image Credit : freepik.com

สาเหตุที่ทำให้คนเรามีภาวะHyper Independence อาจเกิดจากปัจจัยหลายอย่างด้วยกัน ในบางคนอาจเติบโตมาจากการพึ่งพาตนเองตั้งแต่เด็ก หรือถูกผู้ปกครองเลี้ยงดูแบบละเลย หรือถูกทอดทิ้ง บางคนอาจเติบโตมาจากการทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง ไม่มีคนดูแล หรือต้องกลายเป็นเสาหลักของบ้านตั้งแต่ยังอายุน้อยๆ จึงต้องดูแลตัวเองและดูแลคนอื่นไปพร้อมๆ กัน เลยต้องพยายามพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด หรือในบางคนอาจเคยขอความช่วยเหลือจากคนอื่นแล้วถูกปฏิเสธ ถูกทำให้ผิดหวังเสียใจจากการขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น กลายเป็นความฝังใจว่าไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากใครได้ จึงเลือกที่จะพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด ในบางคนอาจถูกหักหลังจากการไว้ใจคนอื่น จึงกลายเป็นความฝังใจที่จะไม่เชื่อใจใครง่ายๆ และไม่กล้าที่จะขอความช่วยเหลือจากใคร ไม่กล้าแบ่งปันความทุกข์กับผู้อื่นเพราะกลัวว่าจะถูกหักหลังหรือถูกซ้ำเติม จึงจำต้องแบกรับภาระและความทุกข์ไว้กับตัวเองคนเดียว

นายอินทร์ หนังสือ ใช้คลื่นพลังบวกดึงดูดพลังสุข

การแบกรับทุกอย่างมากเกินไป ส่งผลเสียกับเราอย่างไรบ้าง ?

  • ทำให้เหนื่อยล้าในแต่ละวัน : การแบกรับภาระทุกอย่างไว้กับตัวเองโดยที่มีความคิดว่าไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากใครได้ ย่อมทำให้เกิดความรู้สึกเหนื่อยล้าในแต่ละวันอย่างแน่นอน ทั้งเหนื่อยกาย เหนื่อยใจ ก่อให้เกิดความเครียดความวิตกกังวล และกดดันอีกด้วย 
  • ทำให้รู้สึกโดดเดี่ยว : ด้วยความรู้สึกที่ว่า ตนเองไม่สามารถพึ่งพาใครได้ ไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากใครได้ ไม่ไว้ใจใครง่ายๆ และไม่เชื่อใจใคร ย่อมทำให้เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว เพราะรู้ว่าตนเองต้องทำทุกอย่างด้วยตนเองโดยปราศจากการได้รับการสนับสนุนจากใคร 
  • หมดไฟในชีวิต : ความเหนื่อยล้าในแต่ละวันที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานหรือเรื่องส่วนตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่คนมีภาวะ Hyper Independence คิดว่าเป็นความรับผิดชอบของตัวเองทั้งหมด ย่อมทำให้รู้สึกหมดไฟในชีวิตตามมา ทั้งยังหมดกำลังใจและไร้แรงจูงใจที่จะทำสิ่งต่างๆ อีกด้วย เพราะคิดว่านั่นคือภาระและความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง    
  • มีปัญหาด้านความสัมพันธ์ :  การพึ่งพาตนเองสูง ไว้ใจคนอื่นยากและไม่เชื่อใจใครง่ายๆ อาจนำมาสู่ปัญหาในความสัมพันธ์เชิงโรแมนติกได้ ซึ่งพบว่า คนที่แบกรับทุกอย่างอาจมีความสัมพันธ์แบบ Avoidant Attachment ตามทฤษฏีความผูกพันหรือ Attachment Theory กล่าวคือ หลีกเลี่ยงที่จะมีความสัมพันธ์ หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้อื่น มีกำแพงในใจ และต้องการพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด แม้มีความรัก ก็ยังต้องการอิสระและพื้นที่ส่วนตัวสูง บางครั้งอาจถึงขั้นเย็นชาและไม่ใส่ใจคนรักเลยทีเดียว
  • ส่งผลต่อสุขภาพจิต : ทั้งความเครียด ความวิตกกังวล ความกดดัน ความรู้สึกโดดเดี่ยวไร้ที่พึ่งพา และความเหนื่อยล้าที่เกิดขึ้นกับผู้ที่มีภาวะ Hyper Independence นั้น ย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตอย่างแน่นอน ซึ่งถ้าเกิดความรู้สึกลบๆ ขึ้นบ่อยๆ ก็อาจนำมาสู่โรคเครียดเรื้อรัง มีความเหนื่อยหน่ายทางอารมณ์ (Emotional Exhaustion) และอาจมีภาวะซึม
นายอินทร์ หนังสือ ATOMIC HABITS เพราะชีวิตดีได้กว่าที่เป็น

จะดูแลตัวอย่างไร หากเรากำลังตกอยู่ในภาวะแบกรับทุกอย่างมากเกินไป

hyper independence, แบกรับภาระ
Image Credit : freepik.com

ถ้าใครสังเกตตัวเองได้ว่า เรากำลังมีภาวะHyper Independence อยู่ละก็ อาจถึงเวลาแล้วที่เราต้องดูแลทั้งกายและใจของตัวเองให้มากขึ้น การพึ่งพาตนเองนั้นเป็นเรื่องดีเสมอค่ะ แต่การแบกรับทุกอย่างมากเกินไปนั้นย่อมไม่ส่งผลดีกับตัวเราแน่นอน อยากให้ลองในมุมกลับดูว่า หากคนที่เรารักรู้ว่าเราจะต้องเป็นฝ่ายแบกรับทุกอย่างไว้กับตัวเองและถูกมองว่าไม่สามารถให้ความช่วยเหลือใดๆ กับเราได้ ไม่ว่าจะเป็นการซัพพอร์ตทางกายหรือทางใจก็ตาม คนๆ นั้นก็คงรู้สึกแย่ไม่แพ้กัน เราลองมาปรับเปลี่ยนมุมมองดูใหม่และดูแลกายใจตัวเองให้มากขึ้นดีไหมคะ ? จะทำได้อย่างไร ไปดูกันเลยค่ะ

1. หยุดพักเสียบ้าง

ถ้ารู้สึกเหนื่อยนักก็หยุดพักเสียบ้าง วางทุกอย่างที่กำลังแบกเอาไว้และสูดลมหายใจลึกๆ เพื่อผ่อนคลายตัวเอง ในบางคนอาจมุ่งมั่นทำทุกอย่างด้วยตัวเองโดยที่ไม่หยุดพักเพราะคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างคือความรับผิดชอบของตัวเองทั้งหมด ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกเหนื่อยล้าและเหนื่อยหน่าย ลองหยุดพักจริงๆ จังๆ และหันไปทำกิจกรรมผ่อนคลายต่างๆ ดูบ้าง อาจทำให้เรามีพลังมากขึ้นก็ได้นะคะ

2. ไม่ปฏิเสธความช่วยเหลือจากคนอื่น

ถ้าการขอความช่วยเหลือมันยากเกินไปสำหรับเรา ก็ลองหัดไม่ปฏิเสธความช่วยเหลือจากคนอื่นดูบ้างค่ะ แล้วเราจะมองเห็นว่ามีคนยินดีให้ความช่วยเหลือจริงๆ ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องแย่อะไรเลย แน่นอนว่าเราสามารถทำทุกสิ่งทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง แต่จะดีกว่าไหมถ้ามีคนมาแบ่งเบาด้วยความเต็มใจ ลองอนุญาตให้ตัวเองได้รับความช่วยเหลือจากคนอื่นบ้างนะคะ

นายอินทร์ หนังสือ TALKING TO STRANGERS ศิลปะแห่งการอ่านคน

3. อ่อนแอบ้างก็ได้

hyper independence, แบกรับภาระ
Image Credit : freepik.com

อนุญาตให้ตัวเองอ่อนแอบ้างก็ได้ เราเองก็เป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ใช่ซุปเปอร์ฮีโร่ที่เจ็บไม่ได้ ร้องไห้ไม่เป็น และจะต้องรับหน้าที่กู้โลกไว้เพียงคนเดียว การมองว่าทุกอย่างเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของตนเองและตัวเองจะต้องลงมือทำอยู่ฝ่ายเดียวนั้นไม่ได้ส่งผลดีอะไร ทั้งยังทำให้เรารู้สึกกดดันมากขึ้น การขอความช่วยเหลือจากคนอื่นนั้นไม่ใช่เรื่องแย่อะไรเลย และเราก็ไม่จำเป็นต้องแข็งแกร่งอยู่เสมอ การยอมรับว่าตนเองก็อ่อนแอในบางครั้งก็นับเป็นความกล้าหาญอย่างหนึ่งเหมือนกันนะคะ

4. ปล่อยวางให้มากขึ้น

การแบกรับทุกอย่างเอาไว้เองทั้งหมดนั้นทำให้เราเหนื่อยล้าทั้งกายและใจ และบางเรื่องก็ไม่จำเป็นที่จะต้องแบกรับเอาไว้กับตัวด้วยซ้ำ เช่น ปัญหาของคนอื่น การดึงรั้งทุกอย่างเอาไว้ด้วยมือของตัวเองอาจทำให้เราหมดแรง และบางครั้งเชือกที่ตึงเกินไปก็อาจจะขาดผึงได้สักวัน ลองปล่อยวางให้มากขึ้น มองทุกอย่างในมุมของคนนอกว่าเราจำเป็นจะต้องรับผิดชอบเรื่องนี้หรือไม่ เรามีส่วนเกี่ยวข้องมากน้อยแค่ไหน การมองแบบนี้จะทำให้เราแบกรับทุกอย่างน้อยลง ซึ่งส่งผลดีต่อตัวเราอย่างแน่นอนค่ะ

5. หาพื้นที่ความสบายใจของตัวเองให้เจอ

มนุษย์ทุกคนแสวงหาความรู้สึกปลอดภัยและความสบายใจ แม้ว่าจะเป็นคนที่แข็งแกร่งและเข้มแข็งแค่ไหนก็ต้องมีที่พักใจเป็นของตัวเอง หรือเรียกง่ายๆ ว่า Safe Zone นั่นเองค่ะ ซึ่งเป็นได้ทั้งผู้คน สถานที่ และอาจจะเป็นสัตว์เลี้ยงของเราก็ได้ สำหรับคนที่มีภาวะแบกรับมากเกินไปนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีพื้นที่แห่งความสบายใจ เพื่อเป็นที่พักใจในยามที่เรารู้สึกว่าทุกอย่างมันท่วมท้นเกินจะรับมือไหว การบอกเล่าความทุกข์ความเหนื่อยล้าให้คนอื่นฟังไม่ได้หมายความว่าเราเอาปัญหาไปให้กับเขา แต่เราแค่วางทุกอย่างลงสักครู่เพื่อพักให้หายเหนื่อย และอาจจะได้กำลังใจ ได้พลังดีๆ จากคนๆ นั้นด้วยก็ได้นะคะ

bookscape หนังสือ ฮุกกะ ปรัชญาความสุขฉบับเดนมาร์ก Hugge
Inspire Now ! : การพึ่งพาตัวเองได้เป็นสิ่งที่ดี แต่การพึ่งพาตนเองมากเกินไปและแบกรับทุกอย่างไว้กับตนเองจนทำให้เกิดความเหนื่อยล้าทั้งกายใจนั้นย่อมไม่ส่งผลดีกับตัวเองอย่างแน่นอน โปรดจำไว้ว่าเราไม่ได้อยู่บนโลกใบนี้เพียงลำพัง และยังมีคนที่ยินดีจะให้ความช่วยเหลือเราอย่างเต็มใจ การเปิดโอกาสให้ตนเองได้รับการดูแลช่วยเหลือจากคนรอบข้างบ้างก็ไม่ใช่เรื่องแย่อะไรเลย ทั้งยังเป็นเรื่องที่ดีเสียด้วยซ้ำ เพราะนั่นทำให้เราได้รู้ว่า มีคนรักและห่วงใยเรามากกว่าที่เราคิดค่ะ

DIY INSPIRE NOW ทำให้ฉันเป็นคนใหม่ที่ดีกว่าเดิมใช่ไหม ? ใครที่กำลังรู้สึกว่าตนเองแบกรับทุกอย่างมากเกินไป ลองกลับมาดูแลหัวใจตัวเองให้มากขึ้นกว่าที่เคยนะคะ แล้วเราจะดูแลตัวเองอย่างไรได้บ้าง มาคอมเมนต์แลกเปลี่ยนความเห็นกันได้เลยค่ะ ♡

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : sandstonecare.com, manhattanmentalhealthcounseling.com, verywellmind.com

Featured Image Credit : freepik.com/jcomp

Facebook Comments

ฝันอยากเดินทางท่องโลกให้ได้มากที่สุด สนใจเรียนรู้เกี่ยวกับจิตวิทยา รักการอ่านหนังสือ ชอบถ่ายรูป หลงใหลแมวและกาแฟ