อยาก เลิกขี้เกียจ ต้องทำยังไง ? ชวนดู 7 วิธี เอาชนะความขี้เกียจของตัวเอง ให้มีไฟลุกขึ้นมาทำงานได้ทันที
เราทุกคนต่างก็มีช่วงเวลาที่หมดพลังงาน ไม่อยากจะทำอะไร ไม่กระฉับกระเฉง และไม่อยากทำงาน เรียกง่ายๆ ว่ากำลังขี้เกียจอยู่นั่นเองค่ะ ซึ่งความขี้เกียจก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เพราะบางครั้งเราก็หมดแรงจะทำงานจริงๆ หรือรู้สึกอิดออดไม่อยากทำงานที่ไม่ชอบ รู้สึกเหนื่อยใจเพราะภาระหน้าที่ล้นมือเหลือเกิน เป็นต้น แต่ไม่ว่าจะขี้เกียจด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้วก็ต้องมีความรับผิดชอบกับงาน มีความรับผิดชอบกับตัวเอง จะขี้เกียจไปตลอดก็ไม่ได้ เพราะหัวหน้าก็รองานจากเราอยู่ ลูกค้าก็ตามงานรัวๆ ทีมอื่นๆ ก็เริ่มมองแรงและเร่งงานเราด่วนขึ้นเรื่อยๆ แต่ทำไมเราถึงยังไม่ เลิกขี้เกียจ สักที! ถ้าใครกำลังตกอยู่ในสถานการณ์นี้ เรามีวิธีเลิกขึ้เกียจมาฝากค่ะ รับรองว่าทำแล้ว หายขี้เกียจและมีไฟในการทำงานแน่นอน
7 วิธี เลิกขี้เกียจ ! ไม่อยากขี้เกียจแล้ว ต้องทำยังไง ?
Image Credit : Freepik
ไม่ว่าจะเป็นคนขยันแค่ไหน หรือทำงานเก่งมากขนาดไหน ก็ต้องมีช่วงเวลาที่ขี้เกียจกันบ้าง แต่ถ้าทำงานไม่เสร็จเพราะขี้เกียจนั้น ก็ไม่อาจเป็นเหตุผลที่หัวหน้างานหรือเพื่อนร่วมงานจะสามารถยอมรับได้ หากกำลังรู้สึกว่า เราเริ่มเฉื่อยชามากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มให้ความสำคัญกับงานน้อยลง รู้สึกไม่มีแรงจูงใจในการทำงาน และเอาเวลาทำงานไปทำอะไรเรื่อยเปื่อยไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ถ้าเรากำลังเป็นแบบนั้น อาจจะต้องรีบดึงตัวเองกลับมาก่อน และรับผิดชอบงานที่อยู่ตรงหน้าให้สำเร็จลุล่วงตามหน้าที่ ก่อนที่จะกลายเป็นคนขี้เกียจอย่างสมบูรณ์แบบ แล้วจะทำยังไงให้เอาชนะความขี้เกียจของตัวเองได้สักที เรามี 7 วิธีเลิกขี้เกียจมาฝากค่ะ
[affegg id=4349]
1. ตั้งเป้าหมายที่เป็นไปได้
บางครั้งความขี้เกียจอาจเกิดจากการตั้งเป้าหมายที่ใหญ่เกินไป และไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ เช่น จะทำงานทั้งหมดของสัปดาห์นี้ให้เสร็จภายในวันเดียว หรือจะเคลียร์เอกสารกองโตตรงหน้าให้เสร็จภายใน 1 ชั่วโมง ซึ่งมีเอกสารอยู่เป็นร้อยชุด ถ้าตั้งเป้าแบบนี้ แค่คิดจะลงมือทำก็หมดแรงแล้วใช่มั้ยคะ ทำให้เราเริ่มขี้เกียจ และไม่ทำเอาดื้อๆ เพราะฉะนั้น ลองมาตั้งเป้าหมายเล็กๆ ที่เป็นไปได้ดูก่อน เอาที่เราประเมินตัวเองว่าทำได้แน่นอน วิธีตั้งเป้าหมายยังไงให้สำเร็จ คือตั้งเป้าหมายที่เป็นไปได้ และไม่เกินความสามารถเราค่ะ ถ้ามั่นใจว่าทำสำเร็จแน่ๆ เราก็จะเลิกขี้เกียจและมีไฟขึ้นมาทันที เพราะอยากทำให้เสร็จไวๆ
2. ย่อยงานใหญ่ๆ ให้กลายเป็นงานเล็กๆ
ส่วนใหญ่เรามักจะหลีกเลี่ยงการทำงานใหญ่ๆ และผลัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อยๆ เพราะคิดว่าเป็นงานที่ยาก ซับซ้อน ไม่อยากทำ หรือกลัวว่าจะทำไม่สำเร็จ และขี้เกียจทำไปโดยอัตโนมัติ ลองมาย่อยงานชิ้นใหญ่ของเราให้เป็นชิ้นเล็กๆ ดูก่อน ถ้ามองภาพใหญ่แล้วมันชวนให้หมดกำลังใจ ลองเขียน Mind Map แตกออกมาว่า งานชิ้นใหญ่ของเรามันประกอบไปด้วยอะไรบ้าง มีกี่ส่วน ส่วนไหนสำคัญที่สุด จะได้รีบทำก่อน เป็นการจัดลำดับความสำคัญของงานไปในตัวด้วย การทำงานทีละส่วนจะทำให้เราไม่ขี้เกียจ จนกระทั่งทำสำเร็จครบทุกส่วนและประกอบออกมาเป็นงานใหญ่ในที่สุด ถ้าเจองานใหญ่แล้วทำให้เราขี้เกียจและหมดกำลังใจ ลองย่อยงานออกมาเป็นส่วนเล็กๆ แล้วค่อยๆ ทำไปนะคะ
3. ค้นหาต้นตอของความขี้เกียจ
Image Credit : Freepik
เมื่อความขี้เกียจเริ่มคลืบคลานมาเยือน ลองนั่งนิ่งๆ แล้ววิเคราะห์ตัวเองดูค่ะ เราขี้เกียจเพราะอะไร เราขี้เกยจทำงานนี้เพราะคิดว่ามันยาก รู้สึกกลัวว่าจะทำได้ออกมาไม่ดี หรือรู้สึกไม่อยากทำงานนี้เพราะไม่ถนัดเลย หรือเราอาจจะรู้สึกเหนื่อยล้า ไร้เรี่ยวแรง ไม่มีสมาธิเพราะพักผ่อนน้อย หรือรู้สึกว่างานมันเยอะเกินไปจนทำไม่ไหวแล้ว เป็นต้น เมื่อรู้สาเหตุของความขี้เกียจ จะได้แก้ไขปัญหาได้อย่างถูกจุด เช่น ถ้าไม่ถนัดงานนี้ก็อาจจะขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้างาน พูดคุยตามตรงว่าเราไม่ถนัดงานแบบนี้จริงๆ หรือมีใครที่จะช่วยซัพพอร์ตเราได้บ้างหรือเปล่า หรือถ้ารู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง กลัวทำออกมาได้ไม่ดี ก็ลองทำดูก่อน บางทีเราอาจจะเก่งกว่าที่เราคิดก็ได้ ลองค้นหาสาเหตุของความขี้เกียจดู และแก้ไขอย่างตรงจุด เพื่อที่จะได้เลิกขี้เกียจ และมีแรงทำงานมากขึ้นนะคะ
[affegg id=4350]
4. หาความสนุกในงาน
บางครั้งเราก็ขี้เกียจทำงานเพราะรู้สึกว่างานนี้ช่างแสนน่าเบื่อ รู้สึกจำเจ ทำอะไรเดิมๆ เป็นรูทีนอยู่ทุกๆ วัน ทำให้เกิดความรู้สึกขี้เกียจขึ้นมา ถ้าอยากเลิกขี้เกียจและมีแรงทำงานต่อได้ อาจจะต้องลองมองหาความสนุกในงานนั้นๆ ดู เช่น ถ้าต้องทำงานคนเดียว ก็ลองท้าทายตัวเองดูว่า จะทำงานนี้ให้เสร็จไวที่สุดโดยใช้เวลากี่นาที หรือถ้าเป็นงานรีเสิร์ชหาข้อมูล ก็คิดซะว่าเราได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ในระหว่างการทำงาน หรืออาจจะเปิดเพลงฟังตอนทำงาน (ที่ไม่รบกวนสมาธิ) จะได้ทำงานเพลินมากขึ้น เพราะไม่ว่าเราจะพยายามผลัดผ่อนหรือหลีกเลี่ยงยังไง สุดท้ายเราก็ต้องทำมันอยู่ดี ดังนั้น เปลี่ยนให้การทำงานเป็นเรื่องที่สนุก และลงมือทำเลยค่ะ !
5. ให้กำลังใจตัวเอง
Image Credit : Freepik
การบ่นกับตัวเองว่า ขี้เกียจ ขี้เกียจ ขี้เกียจ ก็ไม่ได้ทำให้เราขี้เกียจน้อยลงและลุกขึ้นมาทำงานได้ หรือการพูดว่า “งานนี้ทำไม่ได้แน่ๆ” “ไม่มีทางที่เราจะทำให้มันสำเร็จได้” ถ้าพูดแบบนี้กับตัวเอง หรือชอบคิดลบกับตัวเอง ก็เกรงว่าจะยิ่งทำให้จิตใจห่อเหี่ยวขี้เกียจไปกันใหญ่ ลองเปลี่ยนมาพูดให้กำลังใจตัวเองดูค่ะ แล้วก็รู้วิธีเลิกคิดลบกับตัวเอง เช่น “เราทำได้อยู่แล้ว” “งานแค่นี้เอง ไม่เกินความสามารถของเราหรอก” “ทำงานให้เสร็จ จะได้มีเวลาพักผ่อนเสียที” ลองพูดให้กำลังใจตัวเอง เพื่อเติมไฟในการทำงานให้ตัวเองดูค่ะ
6. คิดถึงผลกระทบที่ตามมา
ถ้าเลิกขี้เกียจไม่ได้ ลองคิดถึงผลกระทบที่กำลังจะตามมาดูค่ะ ถ้าเราทำงานนี้ไม่เสร็จ จะส่งผลยังไงบ้าง เช่น โดนหัวหน้าตำหนิ อาจถึงขั้นหักเงินเดือน คนอื่นทำงานต่อไม่ได้เพราะรองานจากเราอยู่ หรือลูกค้าจะหมดความเชื่อใจจากเราเพราะเราส่งงานไม่ตรงเวลา และอาจจะไม่จ้างเราต่อแล้วก็ได้ พอคิดมาถึงตรงนี้ เริ่มจะมีไฟทำงานขึ้นมาบ้างแล้วใช่มั้ยคะ ถ้าคิดถึงผลกระทบในเชิงลบแล้วยังไม่หายขี้เกียจ ก็ลองคิดผลเชิงบวกดู เช่น ถ้างานของเราสำเร็จ จะสร้างประโยชน์ให้กับใครได้บ้าง หรือทำให้เรารู้สึกภูมิใจในตัวเองมากขึ้นมั้ย ? บางที สิ่งนี้อาจจะเป็นแรงจูงใจในการทำงานของเรา และทำให้เราอยากลุกขึ้นมาทำงานก็ได้ค่ะ
7. ให้รางวัลตัวเองบ้าง
Image Credit : Freepik
การให้รางวัลเล็กๆ น้อยๆ กับตัวเอง เป็นการกระตุ้นตัวเราให้อยากทำงานให้สำเร็จ และเลิกขี้เกียจได้ เพราะทำให้เรามีแรงจูงใจที่จะทำงาน และรอคอยที่จะได้รับรางวัลนั้นๆ โดยที่รางวัลนั้นอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นของแพงหรือของมีค่าก็ได้ค่ะ อาจจะเป็นเค้กหนึ่งชิ้น การดูหนังที่ชอบหนึ่งเรื่อง มื้อเย็นอร่อยๆ หลังเลิกงาน หรือถ้าเป็นงานสำคัญหรือเป็นโปรเจคใหญ่ ก็อาจจะซื้อของที่อยากได้เป็นรางวัลให้กับตัวเอง ก็จะเป็นของที่มีคุณค่าทางใจ ทำให้เราอยากทำงานนั้นๆ ให้สำเร็จไวๆ และสลัดความขี้เกียจออกไปได้ทันที
และนี่ก็เป็น 7 วิธีเลิกขี้เกียจที่ทำแล้วจะทำให้เราเอาชนะความขี้เกียจของตัวเองได้ และสามารถลุกขึ้นมาทำงานได้อย่างมีไฟ มีพลัง ใครที่รู้ตัวว่าตัวเองชอบขี้เกียจบ่อยๆ หรือมีนิสัยผลัดวันประกันพรุ่ง ชอบดองงาน ทำงานไม่เสร็จสักที หรือส่งงานเกิน Deadline เป็นประจำเพราะความขี้เกียจของตัวเอง ก็ลองเอาวิธีเหล่านี้ไปปรับใช้ดูนะคะ
[affegg id=4351]
Inspire Now ! : ความจริงแล้ว ความขี้เกียจก็ไม่ใช่เรื่องที่ร้ายแรงอะไร ถ้าวันไหนเรารู้สึกเหนื่อยจริงๆ และอยากพักบ้าง ก็อาจจะมีวันขี้เกียจของตัวเองให้ร่างกายกับสมองได้หยุดพักจากงานในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์อย่างเต็มที่ หรืออาจจะหยุดพักทำงาน 10 -15 นาที ระหว่างวัน เพื่อให้ร่างกายได้ผ่อนคลายบ้าง แต่ถ้าขี้เกียจจนเป็นนิสัย ขี้เกียจทำงานอยู่เป็นประจำ และโดนหัวหน้าหรือลูกค้าตำหนิอยู่บ่อยๆ ก็อาจจะต้องปรับปรุงตัวเองใหม่ เพราะส่งผลต่อการทำงาน แต่ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือในตัวเราได้นะคะ |
---|
DIY INSPIRE NOW ทำให้ฉันเป็นคนใหม่ที่ดีกว่าเดิมใช่ไหม? ใครมีวิธีเอาชนะความขี้เกียจของตัวเองยังไงบ้าง ? คอมเมนต์บอกเราด้วยนะคะ ♡
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : verywellmind.com, wikihow.com, healthline.com
Featured Image Credit : freepik.com/diana.grytsku