gaslighting คือ, รู้สึกผิด

Gaslighting คือ อะไร ? ชวนรู้จักความสัมพันธ์ Toxic เมื่อแฟนทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองเป็นฝ่ายผิดอยู่บ่อยๆ !

Gaslighting คือ อะไร ? ชวนรู้จักความสัมพันธ์ Toxic เมื่อแฟนทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองเป็นฝ่ายผิดอยู่บ่อยๆ !

ในความสัมพันธ์เชิงคนรักนั้น กว่าจะตกลงปลงใจกันได้ก็อาจจะต้องใช้เวลาและความพยายามอยู่มาก แต่การที่จะอยู่ด้วยกันได้อย่างราบรื่นนั้น อาจจะต้องใช้ความพยายามที่มากยิ่งกว่า เพราะความสัมพันธ์ของแต่ละคู่ ก็มีรายละเอียดหยิบย่อยหรือมีสิ่งที่ต้องปรับตัวเข้าหากันไม่มากก็น้อย ทั้งนี้ ก็ใช่ว่าความรักความสัมพันธ์นั้นจะมีแต่เรื่องดีๆ อยู่ด้านเดียว เพราะบางความสัมพันธ์ก็ทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจ ทำให้เกิดความสงสัยในตัวเอง และอยู่ในความสัมพันธ์ด้วยความรู้สึกสับสนเคลือบแคลง อย่างเช่นความสัมพันธ์ที่มีการ Gaslighting กัน ซึ่งได้มีการพูดถึงกันมากขึ้นในปัจจุบัน แล้ว Gaslighting คือ อะไร ? เป็นความสัมพันธ์แบบไหน ? ส่งผลต่อจิตใจของเรายังไงบ้าง ? ไปอ่านกันได้เลยค่ะ

Gaslighting คือ อะไร ? ชวนรู้จักพฤติกรรมของอีกฝ่าย ที่ทำให้เราเป็นคนผิดอยู่เสมอ

gaslighting คือ, รู้สึกผิด
Image Credit : freepik.com

ในความสัมพันธ์แบบคนรัก เคยหรือไม่ที่บางครั้งก็เฝ้าถามตัวเองว่า เราคิดมากไปเองหรือเปล่า ? เราคิดไปเองใช่หรือไม่ ? แฟนของเราบอกว่าเป็นความผิดของเราเองที่ทำให้เขาต้องนอกใจ ต้องไปคุยกับคนอื่น หรือบังคับเราและบอกว่าทำแบบนี้ก็เพราะว่าเป็นห่วง เป็นเพราะว่าเขารักเรา หรือเมื่อเราเกิดสงสัยอะไรบางอย่าง ก็มักจะถูกถามว่า ไม่เชื่อใจกันเลยใช่ไหม ? ทำให้เรารู้สึกสับสน ไม่มั่นใจในตัวเอง และรู้สึกว่าตัวเองเป็นฝ่ายผิดจริงๆ ซึ่งถ้าใครเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ เป็นไปได้ว่ากำลังถูกแฟนหรือคนรักมีพฤติกรรมแบบ Gaslighting กับเราอยู่ก็เป็นได้

Gaslighting คือ การควบคุมทางจิตใจ (Psychological Manipulation) รูปแบบหนึ่งในความสัมพันธ์ ที่อีกฝ่ายมักจะทำให้เราเกิดความรู้สึกคลางแคลงใจ และเกิดความสงสัยในตัวเองว่า สิ่งที่คิดและกำลังรู้สึกอยู่นั้น เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องและไม่เป็นความจริง พาให้เกิดความสับสนในใจ และพลอยทำให้เกิดความไม่มั่นใจในตัวเองทั้งยังสูญเสียความภาคภูมิใจในตัวเองตามไปด้วย เรียกได้ว่าเป็นความสัมพันธ์แบบ Toxic หรือเป็นความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ ก่อให้เกิดความไม่สบายใจ ซึ่งพบได้ในทุกรูปแบบความสัมพันธ์ ไม่ใช่เพียงแค่ความสัมพันธ์เชิงโรแมนติกเท่านั้น แต่รวมไปถึงครอบครัว เพื่อน เพื่อนในสถานศึกษา และคนในสถานที่ทำงานอีกด้วย

ชวนดูพฤติกรรมของคนรัก แบบไหนที่เรียกว่า Gastlighting

ในบทความนี้ เราจะมาพูดถึงพฤติกรรม Gastlighting ในด้านความสัมพันธ์แบบคนรัก เพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น มาดูกันว่า พฤกรรมแบบไหนบ้างที่เรียกว่า Gastlighting เคยสังเกตบ้างไหมว่า เรากำลังถูกทำให้สับสนและรู้สึกผิดอยู่เป็นประจำ ซึ่งการกระทำแบบนี้ อาจนำมาสู่รูปแบบความสัมพันธ์ที่เป็นพิษได้นะคะ

1. เขาโกหกเป็นประจำ

คนที่มีพฤติกรรม Gaslighting คือ คนที่มักจะโกหกเราอยู่เป็นประจำ และมักจะโกหกจนเป็นนิสัย บางครั้งก็โกหกหน้าตายหรือปฏิเสธแบบดื้อๆ ว่าไม่ได้ทำแบบนั้น และหันมาตำหนิเราแทน รวมทั้งพยายามพูดให้เราเป็นฝ่ายผิด เช่น ในสถานการณ์ที่เรารู้ว่าแฟนของเรากำลังคุยกับคนอื่นอยู่ เมื่อเราไปถามแฟน แฟนก็จะบอกว่า ไม่ได้ทำแบบนั้น และบอกกับเราว่า “เราคิดมากไปเอง” “เราขี้หึงเกินกว่าเหตุ” “เราระแวงเขามากไป ทำให้เขาไม่พอใจ” แต่ในความเป็นจริงก็คือ แฟนของเราคุยกับคนอื่นอยู่จริงๆ แต่ปฏิเสธและโกหกจนทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองเป็นฝ่ายผิดและคิดมากไปจริงๆ

2. พูดถึงเราในทางที่ไม่ดี

gaslighting คือ, รู้สึกผิด
Image Credit : freepik.com

พฤติกรรมที่บ่งบอกได้ว่ากำลังถูกแฟน Gaslighting คือ มีการพูดถึงเรากับบุคคลที่ 3 ในทางที่ไม่ดี เมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้น เช่น เมื่อมีความขัดแย้งกัน ก็จะบอกกับคนอื่นว่าเป็นความผิดของเรา เพราะเราเป็นคนนิสัยไม่ดี อารมณ์ร้อน หรือชอบชวนทะเลาะ เป็นคนขี้หึง (ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วปัญหาเกิดจากตัวของเขาเอง) ทำให้คนอื่นๆ มองเราในทางที่ไม่ดีและคิดว่าเราเป็นแบบนั้นจริงๆ ส่งผลทำให้เราดูไม่น่าเชื่อถือและเป็นฝ่ายผิดอยู่เสมอ และที่ยิ่งกว่าคือ แฟนเราบอกกับเราว่า คนอื่นก็คิดแบบนี้เหมือนกัน เช่น “เพื่อนเราบอกว่าเธอน่ะขี้หึงเกินไป” “พี่ชายเราบอกว่าเธอเป็นคนอารมณ์ร้อน ทำให้เราทะเลาะกันบ่อยๆ” ทำให้เรารู้สึกสงสัยในตัวเองและสับสนว่า เราเป็นแบบนั้นจริงๆ หรือไม่

[affegg id=4391]

3. ชอบเบี่ยงเบนความสนใจ

เมื่อเราถามเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ เช่น “เมื่อคืนทำไมกลับดึก” หรือ “เมื่อคืนทำไมไม่กลับบ้าน” แทนที่จะตอบคำถามเหล่านั้น แฟนเรากลับชวนเราคุยเรื่องอื่นแทน และไม่ตอบคำถามนั้น ในกรณีที่รุนแรงก็คือ ชวนทะเลาะเรื่องอื่นๆ หรือจงใจทำให้เราอารมณ์เสียและลืมคำถามก่อนหน้านั้นไป

4. ทำให้สูญเสียความมั่นใจ

gaslighting คือ, รู้สึกผิด
Image Credit : freepik.com

อีกหนึ่งวิธีการ Gaslighting คือ การทำอะไรที่ลดทอนความมั่นใจของเรา และทำให้เราสับสน สงสัยในตัวเอง โดยใช้คำพูดประมาณว่า “คิดไปเองหรือเปล่า” “มั่วหรือเปล่า” “เอาที่ไหนมาพูด” “คุณรู้ไม่จริงหรอก อย่าพูดดีกว่า” อะไรแบบนี้เป็นต้น รวมถึงใช้คำพูดที่ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองคิดมากไปเอง เช่น “เรื่องแค่นี้เอง ทำไมต้องทำให้เป็นเรื่องใหญ่” (แต่เป็นการกระทำที่ทำร้ายความรู้สึกของเรา) “ทำไมเราถึงอารมณ์อ่อนไหวจัง” ซึ่งการที่อีกฝ่ายบั่นทอนความมั่นใจและไม่ยอมรับความรู้สึกของเรา ทำให้เราตั้งคำถามกับตัวเอง และก่อให้เกิดความคิดว่า หรือเราจะคิดมากไปเองจริงๆ ซึ่งอาจนำพาไปสู่ความรู้สึกโดดเดี่ยว แปลกแยก รู้สึกว่าตัวเองแตกต่างจากคนอื่น ทำให้เกิดความเครียดและวิตกกังวลได้

5. การโยนความผิดให้กับเรา

สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นในพฤติกรรม Gaslighting ก็คือ การโยนความผิดให้กับอีกฝ่าย และมีการบิดเบือนคำพูดหรือพลิกแพลงคำพูดจนทำให้เรารู้สึกผิดได้ แม้เราจะพยายามอธิบายว่าการกระทำของเขาทำให้เรารู้สึกแย่หรือทำร้ายความรู้สึกของเราอย่างไร เช่น มีพฤติกรรมทำร้ายร่างกาย และบอกว่าที่เขาต้องทำแบบนี้เพราะเราทำให้เขารู้สึกหึงหวงและโมโหจนทำร้ายร่างกายเรา ทั้งๆ ที่การทำร้ายร่างกายกัน ไม่ว่าด้วยกรณีใดก็ตามและเป็นเพศใดก็ตาม ก็ไม่สมควรทำอย่างยิ่ง หรือบอกว่าที่ไปคุยกับคนอื่นและนอกใจเป็นเพราะเราไม่มีเวลาให้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วสามารถคุยกันเรื่องการแบ่งเวลาให้กันได้ อะไรแบบนี้เป็นต้น ทำให้เรารู้สึกว่าเราเป็นต้นเหตุของการเกิดพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่างๆ และเป็นฝ่ายผิดเสียเอง

6. ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองไม่ปกติ

เมื่อไหร่ก็ตามที่เราอยู่กับแฟน เราจะรู้สึกว่าตัวเองกำลังมีปัญหาทางสุขภาพจิตบางอย่าง ซึ่งพฤติกรรมนี้จะเหมือนกับในภาพยนตร์เรื่อง “Gaslight” ที่เคยฉายในปี ค.ศ. 1944 ซึ่งเป็นที่มาของชื่อพฤติกรรมนี้ เนื้อหาในภาพยนตร์เป็นเรื่องราวของสามีที่ต้องการครอบครองสมบัติของภรรยาโดยการหลอกลวงให้ภรรยาเชื่อว่าตัวเองมีอาการทางจิตด้วยกลวิธีที่แยบยล ทั้งนี้ คนรักของเราอาจจะใช้วิธีโกหกหน้าตายหรือปฏิเสธความจริง รวมถึงมีการร่วมมือกับคนอื่นด้วย เช่น เมื่อเราบังเอิญเห็นแฟนอยู่กับคนอื่นและมีพฤติกรรมที่ชวนให้แปลกใจ และพอกลับถึงบ้าน เราก็ถามแฟนว่าคนๆ นั้นคือใคร แฟนกลับบอกว่า ไม่ได้ไปไหน อยู่แต่ที่ทำงานทั้งวัน และแฟนของเราก็นัดแนะให้คนในที่ทำงานบอกแบบนี้เหมือนกัน เมื่อเราไปถามคนอื่นๆ ก็ได้คำตอบเดียวกันว่า แฟนของเราอยู่ที่แต่ทำงานทั้งวัน ซึ่งการกระทำแบบนี้ จะทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองผิดปกติหรือมีอาการหลอนไปเอง คิดมากไปเอง ซึ่งนำมาสู่ความสับสนและความเคลือบแคลงสงสัยในตัวเองได้

[affegg id=4392]

7. ใช้คำพูดเชิงบวกที่ทำให้เราตายใจ

บางครั้งการทำให้เราสับสนหรือชักจูงความคิดของเราก็เป็นการใช้คำพูดดีๆ หว่านล้อม เช่น เมื่อเรากำลังสงสัยว่าแฟนกำลังมีคนอื่นหรือกำลังจะถูกนอกใจ เมื่อไปถามความจริง ก็ได้คำตอบว่า “คุณก็รู้ว่าผมรักคุณมากแค่ไหน ผมไม่ทำแบบนั้นหรอก” แต่ความจริงแล้วคือมีพฤติกรรมที่นอกใจจริง การ Gaslighting คือการใช้คำพูดที่จะทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกสบายใจ แต่เป็นการปัดความผิดหรือพยายามโน้มน้าวใจคนฟัง และผู้ฟังก็อาจจะนำเอาถ้อยคำเหล่านั้นมาเน้นย้ำตัวเองอีกรอบหนึ่ง เมื่อไหร่ที่เราเกิดความคิดความสงสัยขึ้นมา เราก็จะบอกกับตัวเองว่า “เขารักเรา เขาไม่ทำแบบนั้นหรอก” ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วเขาอาจจะกำลังทำสิ่งที่ทำร้ายจิตใจเราอยู่ก็ได้ และก็อาจถึงขั้นทำให้เรารู้สึกผิดกับตัวเองไปอีกว่าทำไมถึงไม่ไว้ใจเขา ทำให้เกิดการโทษตัวเองและมีความเครียดตามมาได้

8. บิดเบือนความจริง

gaslighting คือ, รู้สึกผิด
Image Credit : freepik.com

อีกหนึ่งพฤติกรรมการ Gaslighting คือ การบิดเบือนความจริง และทำให้เราสงสัยเกี่ยวกับการับรู้ของตัวเอง เช่น เมื่อมีการทะเลาะกันแล้วเกิดการใช้กำลัง แล้วแฟนของเราบีบแขนเราแรงมากและเขย่าตัวเรา เมื่อปรับความเข้าใจกัน แฟนของเราก็อาจจะบอกว่า เขาไม่ได้บีบแขนเราแต่พยายามจะกอดเราไว้เพราะเราดิ้นจะหนี ซึ่งในความจริงแล้วเราไม่ได้จะหนีแต่อย่างใด แต่เราถูกแฟนใช้กำลังด้วยจริงๆ ซึ่งการบอกเราแบบนั้นอาจจะทำให้เราสับสน และเข้าใจไปว่าเขาอาจจะต้องการกอดเราจริงๆ ก็ได้ หากมีการกระทำแบบนี้อยู่บ่อยครั้ง ก็อาจจะทำให้เราสงสัยเกี่ยวกับการรับรู้ของตัวเองและสับสนว่าตัวเองผิดปกติหรือเห็นภาพหลอนว่าเขาเป็นคนทำร้ายเราหรือเปล่า ในบางรายอาจส่งผลทำให้รู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง รวมถึงตั้งคำถามเกี่ยวกับความคิดและการตัดสินใจของตัวเองอยู่ตลอดเวลา และอาจนำมาซึ่งปัญหาทางสุขภาพจิตได้

เห็นได้ว่าพฤติกรรมต่างๆ หรือคำพูดบางคำพูดนั้น อาจสร้างผลกระทบทางจิตใจที่มีความรุนแรงได้ ทั้งยังส่งผลต่อการตระหนักรู้ในคุณค่าของตัวเอง (Self – Esteem) อีกด้วย เมื่อลองพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว เราอาจจะกำลังพบว่าตัวเองถูกโน้มน้าวทางความความคิดหรือถูกชังจูงอยู่ก็ได้ และถ้าปล่อยให้ความสัมพันธ์เป็นแบบนี้ต่อไป ก็จะทำให้เกิดความทุกข์ ความไม่สบายใจ และเป็นความสัมพันธ์แบบ Toxic คืออะไรที่บั่นทอนจิตใจตัวเองอยู่เสมอ

จะทำอย่างไรดี ? หากกำลังเจอความสัมพันธ์ที่มีการ Gaslighting กัน

สำหรับใครที่รู้สึกว่าตัวเองกำลังเจอกับความสัมพันธ์ที่มีการ Gaslighting กันอยู่ ทั้งยังรู้สึกว่าตัวเองอยู่ในความสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสม เป็นความสัมพันธ์ที่ Toxic และสร้างความทุกข์ใจให้ตัวเอง หากต้องการจะหลีกหนีจากความสัมพันธ์แบบนี้ หรือป้องกันตัวเองไม่ให้โดนอีกฝ่าย Gaslighting มีวิธีการดังนี้ค่ะ

  • ขอเวลาสักพัก เราอาจจะต้องเว้นระยะห่างกับคนรักและถอยออกมาอยู่กับตัวเองสักพัก เพื่อให้ได้มีเวลาคิดทบทวนถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจทำให้เราตระหนักได้ว่าเรากำลังอยู่ในความสัมพันธ์แบบนี้ และเกิดการชั่งน้ำหนักว่าความสัมพันธ์แบบนี้ทำให้เรามีความสุขหรือมีความทุกข์มากกว่ากัน และเราอยากที่จะอยู่ในความสัมพันธ์แบบนี้ต่อไปหรือไม่ 
  • รวบรวมหลักฐานความจริง จะเห็นว่าหลายๆ พฤติกรรมของการ Gaslighting นั้น นำมาซึ่งความรู้สึกสับสนและเคลือบแคลงสงสัยในตัวเอง และทำให้เกิดความคิดว่า เราเองหรือเปล่าที่เป็นฝ่ายผิดและไม่ปกติ การเก็บหลักฐานต่างๆ จะช่วยให้เราสามารถยืนยันกับตัวเองได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความจริง เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่เราไม่ได้คิดหรือรู้สึกไปเอง และยืนยันสถานการณ์ตรงหน้าได้ว่าความคิดความรู้สึกของเราไม่ได้เป็นสิ่งที่เราคิดหรือรู้สึกไปเอง เช่น ถ่ายภาพเก็บไว้เป็นหลักฐาน หาพยานยืนยันความจริงฝ่ายตัวเอง สอบถามบุคคลที่ 3 ที่ไม่ใช่คนใกล้ชิดของอีกฝ่าย เป็นต้น 
  • ใช้มุมมองของคนนอก บางครั้งการอยู่ในสถานการณ์ก็ทำให้เรามองภาพรวมไม่ออก การมองในมุมของคนภายนอกหรือมองในมุมบุคคลที่ 3 อาจจะทำให้เรามองสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างกระจ่างชัดเจนมากขึ้น การอยู่ในเหตุการณ์ที่เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก อย่างในเวลาที่ทะเลาะกันหรือมีปัญหากัน ก็อาจจะทำให้เรามองอะไรตกหล่นไป และไม่สามารถประมวลผลสถานการณ์ได้อย่างครอบคลุมหรือมองในหลายๆ ด้านมากขึ้น 
  • พูดคุยอย่างตรงไปตรงมา การพูดคุยกันอย่างชัดเจนถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น บอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลต่อความรู้สึกของเราอย่างไร ทำให้เราไม่สบายใจและรู้สึกเป็นทุกข์ในความสัมพันธ์ เพื่อที่จะหาทางแก้ไขร่วมกันหรือมีการปรับความเข้าใจกัน ซึ่งก็อาจจะทำให้ความสัมพันธ์มีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้ แต่ถ้ารู้สึกว่าการถูก Gaslighting เป็นประจำทำให้เราเห็นคุณค่าในตัวเองน้อยลง รู้สึกมั่นใจในตัวเองน้อยลง มีความวิตกกังวลและรู้สึกไม่ปลอดภัยในความสัมพันธ์นี้ ก็อาจจะต้องพิจารณาว่า เราควรอยู่ในความสัมพันธ์นี้ต่อไปหรือไม่ หรือจะตัดสินใจเดินออกมาจากความสัมพันธ์ที่ Toxic และหันกลับมารักตัวเองให้มากขึ้นกว่าเดิม

[affegg id=4393]

Inspire Now ! : ในทางจิตวิทยาแล้ว การ Gaslighting คือรูปแบบของ Emotional Abuse หรือการล่วงละเมิดทางความรู้สึก เป็นพฤติกรรมที่พยายามควบคุม สร้างความหวดระแวงให้กับอีกฝ่ายจนส่งผลกับสุขภาพใจของอีกฝ่ายโดยตรง ทำให้สูญเสียความมั่นใจในตัวเอง สับสนในคุณค่าหรือตัวตนของตัวเอง และอาจพัฒนาไปเป็นความรู้สึกไม่ชอบตัวเองได้ ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพจิตในระยะยาว ทำให้อยู่ในภาวะวิตกกังวล มีอาการนอนไม่หลับเรื้อรัง และปลีกตัวออกจากสังคมได้ ในการมีความสัมพันธ์นั้น เชื่อว่าหลายๆ คนก็อยากจะมีความสัมพันธ์ที่ดีและมีความสุข และทำให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้นหรือกลายเป็นคนที่ดีกว่าเดิมกันทั้งนั้น แต่ถ้าความสัมพันธ์ที่เป็นอยู่มันบั่นทอนจิตใจของเรา ทำให้เรารู้สึกสงสัยในคุณค่าของตัวเอง และชีวิตคู่ไม่มีความสุข ก็อาจจะต้องหันกลับมามองว่า เราสมควรได้รับการปฏิบัติแบบนี้หรือไม่ ความสัมพันธ์ที่เป็นอยู่นี้มันดีสำหรับเราจริงๆ หรือเปล่า หรือเราควรที่จะได้รับสิ่งที่ดีกว่านี้ เพราะไม่ว่าใครก็สมควรที่จะมีความรักดีๆ กันทั้งนั้น

DIY INSPIRE NOW ช่วยให้ฉันได้เข้าใจและมองความรักตามความเป็นจริงใช่ไหม ? ถ้าเจอกับความสัมพันธ์ที่มีการ Gaslighting กัน เราควรทำยังไง ? ควรไปต่อหรือพอแค่นี้ ซึ่งคำตอบนั้นไม่มีถูกผิด อยู่ที่ว่าเราจะเลือกแบบไหน แต่ขอให้เลือกในทางที่ทำให้เรามีความรักความสัมพันธ์ที่ทำให้ตัวเองมีความสุขนะคะ ♡

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : psy.chula.ac.th, psychologytoday.com, webmd.com, verywellmind.com

Featured Image Credit : freepik.com/rawpixel.com

Facebook Comments

ฝันอยากเดินทางท่องโลกให้ได้มากที่สุด สนใจเรียนรู้เกี่ยวกับจิตวิทยา รักการอ่านหนังสือ ชอบถ่ายรูป หลงใหลแมวและกาแฟ