งานที่ใช่ หายังไง ! 5 วิธีหางาน ที่เหมาะกับตัวเอง ให้ได้เจองานสุดแฮปปี้ !
ปฏิเสธไม่ได้ว่างานเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเรา การทำงานนอกจากจะทำให้เรามีรายได้เพื่อนำมาเลี้ยงชีพ มีความมั่นคงทางการเงินแล้ว งานยังเป็นสิ่งที่สร้างคุณค่าให้กับตัวเอง เป็นสิ่งที่ทำให้เราได้พัฒนาศักยภาพ ได้ใช้ทักษะและประสบการณ์ที่มี แต่ก็ไม่ใช่กับทุกคนที่จะมองงานในด้านบวก สำหรับบางคนแล้ว การทำงานอาจหมายถึงความทรมาน ความน่าเบื่อหน่าย หรืออาจถึงขั้นเป็นความทุกข์ แต่นั่นอาจเป็นเพราะคุณยังไม่เจอกับงานที่ใช่ หรือยังไม่รู้ วิธีหางาน ที่เหมาะกับตัวเองหรือเปล่า ?
Image Credit : freepik.com
จริงๆ แล้ว เราทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเลือกงานให้เหมาะกับตัวเอง และสามารถมีความสุขกับการทำงานได้ แต่ก็ใช่ว่าเราจะเจองานที่ใช่ได้ง่ายๆ การหางานที่ใช่ก็เหมือนกับการหาคนที่ใช่ ซึ่งจะต้องใช้เวลาและลองผิดลองถูกกันอยู่พักใหญ่ ในการเริ่มงานใหม่นั้นก็ดูเหมือนทุกอย่างจะเป็นไปได้ด้วยดี แต่ทำงานไปสักพักก็ค้นพบว่า นี่ไม่ใช่งานที่เหมาะกับเราเลย ปัจจุบันมีวิธีหางานหลากหลายช่องทาง ทั้งวิธีหางานออนไลน์และออฟไลน์ การใช้คอนเนคชั่น ฯลฯ นอกจากช่องทางแล้ว วิธีการก็สำคัญ เราขอแนะนำ 5 วิธีหางานที่ใช่ ให้เจองานที่แฮปปี้ จะต้องทำยังไงบ้างนั้น ไปดูกันเลยค่ะ
[affegg id=4243]
5 วิธีหางาน ที่ใช่ ที่เหมาะกับตัวเอง ให้เราได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ ทำงานอย่างแฮปปี้ มีความสุข
1. วิเคราะห์ตัวเองให้ดี
สเต็ปแรกของวิธีหางานที่เหมาะกับเรานั้น คือการวิเคราะห์ตัวเองค่ะ ก่อนที่จะมองหาตำแหน่งงานที่มีอยู่ในตลาดแรงงาน ลองสำรวจตัวเองดูก่อนว่า เรามีทักษะ มีความสามารถ และมีความสนใจในด้านใด คณะที่เราเรียนมาสามารถทำงานในสายงานใดได้บ้าง ถ้ายังไม่รู้จริงๆ ว่าตัวเองเก่งด้านไหน หรือบุคลิกภาพ – ไลฟ์สไตล์ของเราเหมาะกับงานประเภทไหน จะลองทำแบบทดสอบทางจิตวิทยาจำพวก ‘งานแบบไหนที่เหมาะกับเรา’ หรือทำแบบทดสอบบุคลิกภาพ เช่น แบบทดสอบความหมายของ introvert extrovert คืออะไร / แบบทดสอบ MBTI ก็จะทำให้เรารู้ว่าเราเป็นคนแบบไหน และเหมาะกับการทำงานในด้านใดบ้าง สำรวจตัวเองให้ดี ก่อนยื่นเรซูเม่โดยวิธีหางานออนไลน์ ก็จะทำให้เรามีโอกาสได้งานที่เหมาะกับตัวเอง
Image Credit : pexels.com
2. โฟกัสไปที่ทักษะที่จำเป็นในงานนั้นๆ
นอกจากจะวิเคราะห์ตัวเองแล้ว ก็ต้องวิเคราะห์เนื้องานนั้นๆ ด้วยค่ะว่าเหมาะกับเราไหม วิธีหางานที่ได้ประสิทธิภาพคือ เปรียบเทียบระหว่างความสามารถของเรากับทักษะที่ทางบริษัทต้องการ แทนที่จะค้นหาว่า ‘อาชีพไหนที่เหมาะกับเรา’ ให้ลองเปลี่ยนเป็น ‘งานลักษณะไหนที่จะเหมาะกับเราแทน’
ปัจจุบันมีอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะมาก และก็จำเป็นที่จะต้องใช้ทักษะหลายๆ ด้านประกอบกัน สมมติว่า เราสนใจงานด้านการเขียน ก็ให้ดูว่า สายงานนี้จำเป็นจะต้องใช้ทักษะใดบ้าง อาทิ ทักษะในการเรียบเรียงข้อมูลและสื่อสารออกมาให้เข้าใจ ทักษะในการหาข้อมูล ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ หากเป็นงานเขียนนวนิยายก็จะต้องมีจินตนาการสูง เชื่อมโยงเรื่องราวได้ดี อะไรแบบนี้ จากนั้นก็เทียบกับตัวเองว่า เรามีทักษะเหล่านี้ไหม ปัจจุบันวิธีหางานทางออนไลน์ มักกำหนดคุณสมบัติที่ต้องการเอาไว้อย่างชัดเจน ซึ่งเราสามารถเทียบทักษะที่ทางบริษัทต้องการ กับความสามารถของเราได้ว่าแมชท์กันหรือไม่ ก็จะทำให้เรามีโอกาสได้ทำงานที่ใช่มากขึ้นค่ะ
3. หาข้อมูลเสริมจากผู้ที่มีประสบการณ์
การสอบถามผู้ที่มีประสบการณ์ เช่น รุ่นพี่ในคณะ อาจารย์ที่ปรึกษา หรือผู้ใหญ่ที่เราเคารพ ก็อาจเป็นวิธีหางานอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้เราพบงานที่ใช่ได้ เพราในมุมมองของคนนอกอาจ มองออกว่า เราเหมาะกับงานประเภทไหน ประกอบกับความรู้และประสบกาณ์ในการทำงานที่มากกว่าเรา ก็อาจจะไกด์ทางให้เราได้ไอเดียในการหางานที่เหมาะกับตัวเองมากขึ้น
ในอีกกรณีหนึ่งคือ หากเรามีคนที่รู้จักกำลังทำงานในสายงานที่เราสนใจ หรืออยู่ในบริษัทที่เรากำลังเล็งๆ อยู่พอดี ก็เป็นโอกาสดีในการหาข้อมูลเพิ่มเติมค่ะ เช่น สไตล์การทำงานในบริษัท ลักษณะเนื้องาน เงินเดือน สวัสดิการ โอกาสในการเติบโต ฯลฯ เพื่อที่จะได้เอามาพิจารณาว่า หากเราทำงานในสายงานนี้ / ในองค์กรนี้ มีแววว่าจะไปได้ดีหรือไม่ เป็นตัวช่วยสำหรับการหางานอีกวิธีหนึ่ง
Image Credit : pexels.com
4. สำรวจ วัฒนธรรมบริษัท ด้วยว่า เหมาะกับเราหรือไม่
“Put the right man on the right job, in the right organization ” เคยได้ยินไหมคะว่า นอกจากจะหางานที่ใช่แล้ว ต้องหาองค์กรที่ใช่สำหรับเราด้วย หากใช้วิธีหางานออนไลน์อาจจะยังไม่รู้ถึงวัฒนธรรมขององค์กรได้อย่างแน่ชัด เทคนิคสัมภาษณ์งาน จะช่วยให้เราพิจารณาได้ค่ะว่าบริษัทนั้นๆ มีวัฒนธรรมองค์กรเป็นอย่างไร มีการบริหารงานเป็นแบบไหน
พูดง่ายๆ ก็คือ บริษัทมีวิธีการทำงาน มีค่านิยม มีเป้าหมายที่เป็นไปในทางเดียวกันกับเราไหม พนักงานส่วนใหญ่ในบริษัทมีช่วงอายุเดียวกับเราหรือเปล่า มีทัศนคติเป็นยังไง จะต้องปรับตัวมากไหม วิธีการทรีตพนักงานของบริษัทเป็นยังไง มีความยืดหยุ่นมากขนาดไหน อย่าคิดว่าเป็นเรื่องไม่สำคัญนะคะ เพราะหลายต่อหลายครั้ง เรานึกอยากลาออกก็เพราะวิถีของบริษัทหรือคนที่ทำงานไม่แมชท์กับเราจริงๆ แม้ว่าเราจะรักเนื้องานมากขนาดไหนก็ตาม อีกหนึ่งวิธีหางานที่เหมาะกับเราคือ ต้องให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมองค์กรด้วยค่ะ
5. หรือจะลองออกมาทำธุรกิจดี ?
ถ้าลองควานหาตำแหน่งงานในตลาดแรงงานมาสักระยะแล้ว ทั้งใช้วิธีหางานแบบออนไลน์ และออฟไลน์ ใช้ทุกกระบวนท่าในวิธีหางานก็ยังไม่เจองานที่ใช่สำหรับเราสักที เปลี่ยนงานมาก็หลายสาย หลายบริษัท ก็ยังไม่รู้สึกว่างานนั้นเหมาะกับเรา เหนื่อยล้ากับการเป็นพนักงานหรือทำงานเป็นรูทีน หรือจริงๆ แล้ว เราเหมาะที่จะทำอะไรเป็นของตัวเอง อย่างเช่น การทำธุรกิจส่วนตัว ขายสินค้า เปิดร้านอาหาร เปิดร้านกาแฟ ขายขนม ไลฟ์ขายของออนไลน์ ฯลฯ ใครจะไปรู้ว่า นั่นอาจจะเป็นงานที่ใช่ของคุณก็ได้นะคะ ถ้าพอมีเงินทุนที่สามารถซัพพอร์ตได้ และอยากจะทำจริงๆ รู้แน่ชัดแล้วว่า นี่คือสิ่งที่เราอยากทำจริงๆ ก็ลุยเลยค่ะ! และถ้าพบว่ามันยังไม่ใช่ ก็ค่อยมาว่ากันใหม่ อย่างน้อยที่สุด ก็ถือว่าได้ลองลงมือทำแล้ว
[affegg id=4244]
เคล็ดลับเพิ่มเติมสำหรับการหางานที่ใช่
Image Credit : pexels.com
• โฟกัสไปยังสิ่งที่คุณรักที่จะทำมัน
สิ่งที่คุณไม่เคยเบื่อเลยที่จะต้องทำ หรืออาจเป็นสิ่งที่คุณเคยใฝ่ฝันอยากจะทำในอดีต สิ่งที่คุณสามารถอยู่กับมันได้ทั้งวัน หรือเป็นสิ่งที่คุณมักทำได้โดยธรรมชาติและไม่เคยรู้สึกฝืนเลย ลองนึกดูนะคะว่าในวัยเด็กคุณเคยชอบทำอะไร หรือฝันอยากเป็นอะไร มีงานอดิเรกอะไร ชอบเล่นบทบาทสมมติเป็นอาชีพอะไร สิ่งๆ นั้นอาจกลายมาเป็นงานที่ใช่ของเราก็ได้
• มองหาเบาะแสรอบตัว
ลองกลับมามองตัวเอง และสังเกตให้ดีว่า อะไรที่ทำให้เรารู้สึกมีความสุข อะไรที่ทำให้เรากระตือรือร้นหรือมีพลัง กิจกรรมอะไรที่เราทำได้ดีและอยากทำมัน อาจไม่ต้องคิดไปถึงขั้น “ชื่ออาชีพ” “ชื่อตำแหน่งงาน” แต่ให้สำรวจทักษะ ความสามารถ ความสนใจของเราก่อนว่า เรามีสกิลและมีความสนใจด้านไหนบ้าง เช่น ชอบพบปะผู้คน ชอบเข้าสังคม เป็นคนคุยเก่ง มีทักษะการ ทำงานเป็นทีม ก็อาจจะเหมาะกับงานที่ต้องมีการพบปะสื่อสารอยู่เป็นประจำ เช่น ตำแหน่ง AE หรือฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ ฝ่ายประสานงาน อะไรแบบนี้ค่ะ
Image Credit : freepik.com
• อดทน ไม่ยอมแพ้
การค้นหางานที่เหมาะกับเราจริงๆ นั้น มันจะต้องใช้เวลาค่ะ ก็จริงอยู่ที่ว่า บางคนอาจโชคดีเจอกับงานที่เหมาะกับตัวเองได้เร็ว แต่บางคนก็ต้องลองใหม่ไปเรื่อยๆ ซึ่งก็ไม่เป็นไร เราอาจจะต้องลองทำในหลายๆ สายงานดูก่อนถึงจะได้คำตอบว่า จริงๆ แล้วเราเหมาะกับงานแบบไหน อะไรคือสิ่งที่เราทำแล้วมีความสุข และอยากจะทำมันต่อไป เวลาและประสบการณ์จะช่วยให้เรารู้วิธีหางานที่ แมชท์กับตัวเองได้ ขอแค่คุณมีความอดทน และมุ่งมั่นต่อไปค่ะ
[affegg id=4245]
Inspire Now ! : งานที่ใช่ของแต่ละคนอาจมีความหมายไม่เหมือนกัน สำหรับบางคนแล้ว อาจหมายถึงงานที่ทำให้มีความสุข ทำแล้วไม่เครียด และอยากจะตื่นขึ้นมาทำในทุกๆ วัน บางคนอาจหมายถึงงานที่ยาก มีความกดดันและท้าทาย เพราะอยากจะพัฒนาศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ และสำหรับบางคน อาจหมายถึงความมั่นคงในชีวิตและสวัสดิการที่ได้รับ ซึ่งไม่มีอะไรผิดถูกเลยค่ะ สิ่งสำคัญก็คือ เป็นงานที่คุณอยากทำ เต็มใจที่จะทำมัน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม และเป็นสิ่งที่สร้างคุณค่าให้กับทั้งตัวเองและผู้อื่น ปฏิเสธไม่ได้ว่างานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา เพราะฉะนั้นแล้ว ก็อยากให้ทุกคนทำงานอย่างแฮปปี้ แล้วชีวิตจะได้มีความสุขนะคะ
DIY INSPIRE NOW ทำให้ฉันเป็นคนใหม่ที่ดีกว่าใช่ไหม ? หวังว่าวิธีหางานที่ใช่ จะทำให้คุณได้พบกับงานที่เป็นเส้นทางของคุณจริงๆ และทำให้คุณมีความสุขกับการทำงานมากขึ้นกว่าเดิม ได้พัฒนาศักยภาพของตัวเองมากขึ้นกว่าเดิมนะคะ แล้วมาคอมเมนต์บอกเราด้วยว่า ตอนนี้คุณเจอกับงานที่ใช่แล้วหรือยัง ♡
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : theguardian.com, thebalancecareers.com, helpguide.org
Featured Image Credit : pexels.com/Andrea Piacquadio