abusive relationship, ความรุนแรง มีกี่ประเภท

ชวนเช็กสัญญาณของ Abusive Relationship เราอยู่ในความสัมพันธ์แบบนี้หรือเปล่า ! ถ้าใช่ ต้องทำยังไงดี ?!

หากเราได้ตกลงปลงใจกับใครสักคนแล้ว เชื่อว่าทุกคนคงคาดหวังให้ความสัมพันธ์นี้เป็นไปอย่างราบรื่น มีความสุข มีความรักความปราถนาดีต่อกัน แม้ว่าจะเกิดความขัดแย้งบ้างแต่ก็มีการพูดคุยทำความเข้าใจกัน พร้อมจับมือกันแก้ไขปัญหาไปได้ แต่ก็ใช่ว่าทุกความสัมพันธ์จะมีแต่สิ่งดีงามไปเสียทีเดียว บางคนตกอยู่ในความสัมพันธ์ที่มีความรุนแรงต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ความรุนแรงในเชิงของการทำร้ายร่างกายหรือการทำร้ายจิตใจก็ตาม นอกจากนี้ ยังมีความรุนแรงในรูปแบบอื่นๆ ในความสัมพันธ์ด้วย ความรุนแรง มีกี่ประเภท เป็นในรูปแบบไหนบ้าง แล้วเราควรทำอย่างไรดี ? DIYINSPIRENOW จะชวนทุกคนมาเช็กกันในบทความนี้ค่ะ

Abusive Relationship คืออะไร ? มารู้จักความรุนแรงในความสัมพันธ์กันเถอะ !

abusive relationship, ความรุนแรง มีกี่ประเภท
Image Credit : freepik.com

เชื่อว่าหลายๆ คนคงจะเคยเห็นข่าวการใช้ความรุนแรงในความสัมพันธ์กันมาบ้าง ทั้งการทำร้ายร่างกายคนรักหรือการใช้ความรุนแรงภายในครอบครัว แม้ว่าการใช้ความรุนแรงจะไม่ใช่สิ่งที่คนในสังคมยอมรับได้ ทั้งยังเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายอีกด้วย แต่ก็มีคนอีกจำนวนไม่น้อยเลยที่ยังตกอยู่ในความสัมพันธ์ที่มีความรุนแรงเกิดขึ้น แถมบางคนอาจจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่านี่คือความรุนแรงแบบหนึ่ง เพราะไม่ได้มีการทำร้ายร่างกายกัน แต่ถึงอย่างนั้น ก็เป็นความสัมพันธ์ที่ Toxic อยู่ดี มาเข้าใจเรื่องความรุนแรงในความสัมพันธ์ให้มากขึ้นกันเลยค่ะ

หนังสือ เธอคู่ควรกับความรักที่ดีเสมอ

รู้จัก Abusive Relationship กัน !

abusive relationship, ความรุนแรง มีกี่ประเภท
Image Credit : freepik.com

“Abusive Relationship” หรือ “ความสัมพันธ์ที่มีการทำร้าย” คือรูปแบบความสัมพันธ์ที่มีการใช้อำนาจและการควบคุมโดยฝ่ายหนึ่งต่ออีกฝ่าย ซึ่งอาจเกิดขึ้นในความสัมพันธ์แบบคู่รัก ครอบครัว หรือความสัมพันธ์ใกล้ชิดอื่นๆ ลักษณะสำคัญของความสัมพันธ์ประเภทนี้ ได้แก่

1. Physical Abuse หรือการทำร้ายร่างกาย

หนึ่งในพฤติกรรมที่เห็นได้ชัดเจนในความสัมพันธ์ที่รุนแรงนั่นคือการทำร้ายร่างกายนั่นเอง เป็นการทำให้คนรักหรือสมาชิกในครอบครัวได้รับบาดเจ็บทางกาย มีความเจ็บปวดเกิดขึ้นในทางกายภาพ ผ่านวิธีการทำร้ายร่างกายในรูปแบบต่างๆ เช่น การทุบตี เตะต่อย การตบ ผลัก บีบคอ การใช้อาวุธที่ทำให้บาดเจ็บ ไปจนถึงการกักขังหน่วงเหนี่ยว การห้ามไม่ให้กินอาหาร ห้ามไม่ให้นอนหลับ ห้ามไม่ให้เข้าบ้าน ขังอยู่ในห้อง ล็อคกุญแจมือ การล่ามโซ่กักขัง และอื่นๆ การกระทำใดๆ ก็ตามที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บทางกาย นับว่าเป็น Physical Abuse ทั้งสิ้น

2. Emotional Abuse หรือการทำร้ายจิตใจ

แม้ไม่ได้มีการทำร้ายร่างกาย แต่ถ้าหากมีการใช้คำพูดหรือแสดงพฤติกรรมที่ทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวดทุกข์ใจ ก็นับว่าเป็นความรุนแรงอย่างหนึ่งเช่นกัน เช่น การแสดงพฤติกรรมที่ลดทอนคุณค่าของอีกฝ่าย ทำให้อีกฝ่ายสูญเสียความมั่นใจในตัวเองหรือรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า รวมถึงแสดงอาการหึงหวงเกินเหตุ ใช้คำพูดทำให้อีกฝ่ายรู้สึกผิดอยู่เสมอ มีการ Gaslighting กัน ควบคุมให้อีกฝ่ายทำตามความต้องการของตัวเองแม้ว่าจะไม่เต็มใจก็ตาม เป็นต้น

3. Verbal Abuse หรือการทำร้ายทางคำพูด

ความรุนแรง มีกี่ประเภท ? การใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสมก็เป็นความรุนแรงอีกประเภทหนึ่งเช่นกัน อาทิ พูดจาหยาบคายกับอีกฝ่าย พูดจาลบหลู่ ดูหมิ่น ลดทอนความน่าเชื่อถือให้กับอีกฝ่าย ตะโกนด่าทอ หรือพูดประจานในที่สาธารณะทำให้อีกฝ่ายเสียหาย พูดจาเหยียดหยาม ดูถูก ใช้อารมณ์ฉุนเฉียวกับอีกฝ่าย เป็นต้น แม้ไม่ได้ทำให้เกิดความเจ็บปวดทางกาย แต่ก็ทำให้เกิดความทุกข์ใจได้เช่นกัน เป็น Red Flag Relationship หรือสัญญาณเตือนในความสัมพันธ์อย่างหนึ่งที่ต้องระวังเลยค่ะ

4. Sexual Abuse หรือการทำร้ายทางเพศ

หนึ่งใน Abusive Relationship คือ การมีพฤติกรรมที่ทำให้อีกฝ่ายทุกข์ใจหรือบาดเจ็บจากกิจกรรมทางเพศ เช่น บังคับให้มีเพศสัมพันธ์ด้วย ขืนใจอีกฝ่ายโดยปราศจากการยินยอม มีเพศสัมพันธ์แบบรุนแรงจนทำให้เกิดการบาดเจ็บ บังคับให้แต่งตัวยั่วยวนออกไปในที่สาธารณะเพื่อสร้างความอับอาย ถ่ายรูปหรือถ่ายคลิปวิดิโอโป๊เปลือยของอีกฝ่ายโดยไม่ได้รับความยินยอม หรือมีการนำไปเผยแพร่ต่อ ล่อลวงให้ใช้สารเสพติดหรือแอลกอฮอล์จนมึนเมาเพื่อให้มีเพศสัมพันธ์ด้วย บังคับให้มีเพศสัมพันธ์แบบหมู่หรือมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่นโดยไม่เต็มใจ รวมถึงการไม่ยอมสวมถุงยางอนามัย จงใจถอดถุงยางหรือเจาะถุงยาง ก็ถือว่าเป็น Sexual Abuse หรือการทำร้ายทางเพศค่ะ

5. Financial Abuse หรือการทำร้ายทางการเงิน

การทำร้ายทางการเงินก็คือเป็นความสัมพันธ์ที่รุนแรงด้วยเช่นกัน อาทิ การทำให้อีกฝ่ายเกิดปัญหาทางการเงิน ไม่ยอมให้อีกฝ่ายเข้าถึงข้อมูลทางการเงินของตัวเอง ขโมยทรัพย์สินของคนรักหรือขโมยของในบ้านของคนรัก ห้ามไม่ให้มีรายได้เป็นของตัวเองเพื่อไม่ให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ทำให้สามารถบังคับหรือควบคุมได้อย่างเต็มที่ หรือแอบใช้ชื่อของอีกฝ่ายไปสร้างหนี้สิน เป็นต้น

หนังสือ I Decided to Live as Myself ฉันจะมีชีวิตในแบบของตัวเอง

วงจรความรุนแรงในความสัมพันธ์ มีอะไรบ้าง ?

abusive relationship, ความรุนแรง มีกี่ประเภท
Image Credit : freepik.com

ปัญหาอย่างหนึ่งของ Abusive Relationship คือการติดอยู่ในวงจรของความรุนแรงในความสัมพันธ์ ทำให้ไม่สามารถก้าวออกจากความสัมพันธ์นี้ได้ เราลองมาดูรายละเอียดของวงจรความสัมพันธ์นี้กันค่ะ

  1. การก่อตัวของความเครียด หรือ Tension Building : โดยอาจเริ่มจากปัญหาที่ก่อตัวสะสมมานาน ทำให้เกิดความเครียดความกังวลขึ้น 
  2. ช่วงที่เกิดความรุนแรง หรือ Incident : เป็นช่วงที่มีการใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ความรุนแรงทำร้ายร่างกายจิตใจ หรือในรูปแบบใดก็ตาม
  3. ช่วงคืนดี หรือ Honeymoon Period : ผู้ที่ใช้ความรุนแรงหรือเป็นฝ่ายกระทำจะพยายามขอโทษในสิ่งที่ได้ทำลงไป บางครั้งอาจะเป็นการกล่าวโทษผู้ถูกกระทำว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องใช้ความรุนแรง หรือทำไปเพราะความรัก เป็นต้น พร้อมมีการให้สัญญาว่า สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก เป็นการขอโอกาสครั้งสุดท้าย เพื่อทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นปัญหาร้ายแรงขนาดนั้น และผู้ถูกกระทำได้เปลี่ยนไปแล้ว มีการสำนึกผิดแล้ว หรืออาจใช้วิธีหว่านล้อม ชักจูง (Manipulation) ให้อีกฝ่ายอยู่ภายใต้การควบคุมอีกครั้ง
  4. ช่วงสงบสุข หรือ Calm : เป็นช่วงที่ผู้กระทำปฏิบัติตนดีเป็นพิเศษ มีความรักให้กันปกติราวกับว่าไม่เคยเกิดความรุนแรงขึ้น ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นชื่นมื่น มีความสุข ก่อนจะเข้าสู่การก่อตัวของความตึงเครียดและตามมาด้วยการใช้ความรุนแรงอีกครั้ง เป็นวงจรแบบนี้ที่ทำให้ผู้ถูกกระทำไม่สามารถก้าวออกจากความสัมพันธ์ได้ ด้วยหวังว่าทุกอย่างจะดีขึ้น เชื่อว่าเขาจะไม่ทำร้ายเราอีกตามที่สัญญาเอาไว้ เป็นต้น

ทำไม ? บางคนถึงยังเลือกที่จะอยู่ในความสัมพันธ์ที่รุนแรง

abusive relationship, ความรุนแรง มีกี่ประเภท
Image Credit : freepik.com

เชื่อว่าหลายๆ คนคงเคยเห็นว่า มีผู้ตกอยู่ในความสัมพันธ์ที่มีความรุนแรงไม่น้อยเลย แต่ก็ยังไม่ก้าวออกมาจากความสัมพันธ์นั้นๆ เช่น บางคนถูกคนรักทำร้ายร่างกายเป็นประจำแต่ก็ยังไม่เลิกกัน หรือถูกทำร้ายจิตใจอยู่บ่อยๆ ถูกบังคับขู่เข็ญ แต่ก็ยังไม่ออกมาจากความสัมพันธ์นั้น โดยทั่วไปแล้ว มีสาเหตุดังนี้

  • เพราะความรักความผูกพัน หวังว่าอีกฝ่ายจะยอมปรับปรุงตัว จึงยอมอดทน
  • อดทนเพื่อลูก โดยเฉพาะหากผู้ถูกกระทำเป็นฝ่ายหญิง ฝ่ายหญิงมักจะคิดว่าถ้าลูกไม่มีพ่อ ลูกอาจจะมีปม ขาดความอบอุ่น จึงยังไม่เลิกกับฝ่ายชาย 
  • พยายามรักษาความเป็นครอบครัว โดยเฉพาะในผู้ที่ถูกปลูกฝังมาว่า ครอบครัวต้องมีความสมบูรณ์แบบ ประกอบไปด้วยพ่อ แม่ ลูก ห้ามมีการหย่าร้างกันหรือเลิกรากัน ต้องมีสามีเพียงคนเดียวเท่านั้น ทำให้ฝ่ายหญิงยอมอดทนต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น  
  • คิดว่าความรุนแรงเป็นเรื่องภายในครอบครัว จึงไม่ขอความช่วยเหลือจากคนอื่น หรือบางคนอาจคิดว่า ความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องปกติในสังคม เป็นต้น
  • ปัญหาด้านการเงิน โดยเฉพาะฝ่ายหญิงที่เมื่อแต่งงานมีครอบครัว มีลูกแล้ว บางคนก็ลาออกจากงานเพื่อมาดูแลครอบครัวโดยเฉพาะ ทำให้ไม่มีรายได้เป็นของตัวเอง ไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ กลัวว่าหากเลิกรากับสามีไปจะลำบาก ไม่มีเงินมาดูแลตัวเองและลูก จึงยอมอยู่ในความสัมพันธ์ที่มีการใช้ความรุนแรง 
  • โทษตัวเองในสิ่งที่เกิดขึ้น ในบางคนที่มีความเคารพในตัวเองต่ำ หรือมีภาวะ Low Self Esteem ก็มักจะโทษตัวเองว่า เป็นความผิดของตัวเอง เช่น ทำให้คนรักไม่พอใจเองจึงถูกทำร้ายร่างกาย หรือไม่พยายามให้มากกว่านี้ในความสัมพันธ์ ยังดีไม่พอ เพราะตัวเองงี่เง่าเอง เป็นต้น บางคนร้ายแรงถึงขั้นที่ว่า คิดว่านี่เป็นสิ่งที่ตัวเองสมควรได้รับแล้ว ซึ่งอันตรายมากๆ ค่ะ

เราจะก้าวออกจากความสัมพันธ์ที่รุนแรงได้อย่างไร ?

abusive relationship, ความรุนแรง มีกี่ประเภท
Image Credit : freepik.com

สำหรับคนที่ตกอยู่ในความสัมพันธ์ที่มีความรุนแรงเกิดขึ้น อันดับแรก เราต้องเข้าใจก่อนว่า การใช้ความรุนแรงนั้น ไม่ใช่เรื่องปกติในความสัมพันธ์ และไม่มีใครสมควรถูกทำร้ายจากคนรักหรือคนในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกายหรือจิตใจก็ตาม ทุกๆ คนสมควรที่จะได้รับความรักที่ดีและมีความสุข และตัวเราเองก็สมควรที่จะมีคนรักที่ดูแลเรา ทะนุถนอมเรา ไม่ตบตีเรา เคารพและให้เกียรติเราอย่างไม่มีเงื่อนไข แม้ว่าเราจะมีลูก ลูกของเราก็คงไม่อยากเห็นการทำร้ายร่างกายกันในบ้าน หรือรับรู้ว่าแม่ต้องทนให้พ่อใช้ความรุนแรงก็เพราะตัวเอง และที่สำคัญคือ มีผู้คนที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือเราอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนสนิท คุณพ่อคุณแม่ของเรา ญาติๆ ของเรา หรือคนอื่นๆ ที่สามารถไว้ใจได้ หรือแม้แต่ตำรวจ ทนาย นักสังคมสงเคราะห์ หรือกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่สามารถให้ความส่วยเหลือเรื่องการใช้ความรุนแรงได้ค่ะ

หนังสือ แค่โอบกอดตัวเองให้เป็น
Inspire Now ! : Abusive Relationship คือสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นในความสัมพันธ์โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับคนรักหรือความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ทุกๆ คนสมควรที่จะได้รับการปฏิบัติที่ดี เคารพและให้เกียรติกัน ไม่ทำร้ายกัน หากมีความรุนแรงเกิดขึ้น แล้วเราต้องการที่จะออกจากความสัมพันธ์นี้ แต่อาจถูกบังคับหรือถูกติดตามไม่ให้ออกจากความสัมพันธ์นี้ได้ เราสามารถขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ หรือปรึกษากับคนใกล้ชิด บันทึกหรือจดเบอร์โทรฉุกเฉินไว้ในกรณีที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน หรืออาจปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญอย่างนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เพื่อหาทางออกร่วมกันก็ได้นะคะ เพื่อความปลอดภัยทั้งทางร่างกายและทางจิตใจของตัวเองค่ะ

DIYINSPIRENOW ทำให้ฉันสบายใจ และอยากมีความรักดีๆ ใช่ไหม ? ทุกคนสมควรมีความรักที่ดี และไม่ควรมีความรุนแรงเกิดขึ้นในความรักความสัมพันธ์นะคะ เราจะก้าวออกจาก Abusive Relationship ได้อย่างไร มาแลกเปลี่ยนความเห็นกันได้นะ ♡

Facebook Comments

ฝันอยากเดินทางท่องโลกให้ได้มากที่สุด สนใจเรียนรู้เกี่ยวกับจิตวิทยา รักการอ่านหนังสือ ชอบถ่ายรูป หลงใหลแมวและกาแฟ