kintsugi คือ, wabi sabi คือ

Kintsugi คือ ? ต่างกับ Wabi Sabi ตรงไหน ? ปรับใช้กับชีวิตเรายังไงได้บ้าง ?

ประเทศญี่ปุ่น นอกจากจะโดดเด่นในเรื่องความงดงามของสถานที่ท่องเที่ยวและขึ้นชื่อลือชาในเรื่องรสชาติและความพิถีพิถันในการปรุงอาหาร รวมถึงการใส่ใจในรายละเอียดในแง่ของการผลิตสินค้าและการให้บริการแล้ว ยังรุ่มรวยไปด้วยวัฒนธรรมอันงดงามที่แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ของชาวดินแดนอาทิตย์อุทัย และที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือปรัชญาชีวิตหรือแนวคิดในการใช้ชีวิตตามแบบฉบับวิถีญี่ปุ่นที่อยู่เบื้องหลังความเป็นญี่ปุ่นต่างๆ นาๆ ถ้าใครที่ชื่นชอบเกี่ยวกับปรัชญาญี่ปุ่นคงเคยศึกษาหรืออ่านหนังสือเกี่ยวกับปรัชญาญี่ปุ่นกันมาบ้าง เช่น หนังสืออิคิไก หนังสือวะบิ ซะบิ ที่หลายๆ คนน่าจะคุ้นเคยกันดี ทั้งนี้ ยังมีปรัชญาญี่ปุ่นที่เรียกว่า “Kintsugi (คินสึงิ)” ที่กำลังได้รับความนิยมในตอนนี้เช่นกัน ในบทความนี้ จะพาทุกคนไปรู้จักกับแนวคิดแบบคินสึงิกันให้มากขึ้น Kintsugi คือ อะไร ? มีความเหมือนหรือต่างจากปรัชญาญี่ปุ่นแนวคิดอื่นๆ อย่างไร ? และสามารถประยุกต์ใช้กับชีวิตของเราได้อย่างไรบ้าง ไปหาคำตอบกันได้เลยค่ะ

Kintsugi คือ อะไร ? ชวนรู้จักที่มาของปรัชญาชีวิตอันเก่าแก่ตามแบบฉบับญี่ปุ่น

kintsugi คือ, wabi sabi คือ
Image Credit : freepik.com

ถ้าพูดถึงปรัชญาในแบบญี่ปุ่น ก็มีปรัญชาในการใช้ชีวิตที่เรารู้จักกันอย่าง ปรัชญาอิคิไก ที่ว่าด้วยเรื่องการค้นหาความหมายของการมีชีวิตอยู่ ปรัชญาอิจิโกะ อิจิเอะ ซึ่งมีความหมายสื่อถึงการได้พบกันครั้งเดียว ที่มีต้นกำเนิดมาจากพิธีชงชา หรือ “ซาโด” ในนิกายเซนที่มีแนวคิดว่า ช่วงเวลาที่ได้พบกันนั้น เป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุด นอกจากนี้ ยังมีปรัชญาที่เรียกว่า คินสึงิ หรือ Kintsugi (金継ぎ) ที่ว่าด้วยเรื่องการโอบรับความงามของความบกพร่องในชีวิต และยอมรับในความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเอง โดยปรัชญา Kintsugi เป็นการต่อยอดแนวคิดมาจากศิลปะการซ่อมแซมเครื่องปั้นดินเผาของชาวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการซ่อมแซมเครื่องเรือนดินเผาที่แตกหักให้กลับมาใช้งานได้ตามเดิม คำว่า Kin แปลว่าทองคำ และคำว่า Tsugi แปลว่าการผนึกรวมกัน จึงหมายถึงการซ่อมแซมเครื่องปั้นดินเผาด้วยครั่ง เรซิน และผงทอง รวมถึงกาวที่มาจากยางรัก (Rhus) ซึ่งปลอดภัยสำหรับการนำมาใช้กับภาชนะใส่อาหารอย่างถ้วย จาน ชาม และถ้วยชา เป็นต้น

ประวัติของเทคนิคการซ่อมแซมเครื่องปั้นดินเผานี้ มาจากเรื่องราวในยุคศตวรรษที่ 15 ว่าด้วยเรื่องของโชกุนคนที่ 8 แห่งโชกุนตระกูลอาชิกางะ ได้ส่งถ้วยชาที่เสียหายไปซ่อมที่ประเทศจีน แต่กลับถูกซ่อมแซมด้วยการใช้ตัวเย็บเหล็กปะตามรอยแตกของถ้วยชา มองดูแล้วก็ไม่สวยงามเสียยิ่งกว่าเดิม ด้วยเหตุนี้ ช่างซ่อมชาวญี่ปุ่นจึงนำเอาไปซ่อมใหม่ด้วยการใช้เทคนิคแบบ “คินสึงิ” และก่อให้เกิดเป็นลวดลายสีทองบนถ้วยชาที่มีความสวยงามในรูปแบบใหม่ อันมาจากรอยแตกร้าวของถ้วยชาใบเก่านั้นเอง ซึ่งเทคนิคนี้ ได้ถูกนำเอาไปต่อยอดเป็นปรัชญาในการใช้ชีวิตของชาวญี่ปุ่นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

[affegg id=4536]

ข้อคิดที่ได้จากปรัชญา Kintsugi คือ อะไร ? สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตของคนเราได้อย่างไรบ้าง

จะเห็นว่าปรัชญาแบบ Kintsugi เป็นแนวคิดที่มีจุดเริ่มต้นจากเทคนิคการซ่อมแซมเครื่องปั้นดินเผาญี่ปุ่น ที่แม้จะมีการแตกร้าวไปก็สามารถนำกลับมาใช้งานได้ใหม่ด้วยการใช้ศิลปะการซ่อมแซมแบบ Kintsugi ก่อให้เกิดเป็นเครื่องเรือนเซรามิกที่มีลวดลายเป็นยางรักสีทองไล้เรียงไปตามแนวร้าวของจานชามและเครื่องแก้ว ซึ่งชาวญี่ปุ่นนั้น ได้นำเอาปรัชญานี้มาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ดังนี้

1. ชีวิตทุกคนล้วนต้องเจอความผิดพลาด

ใครที่เป็นพวกนิยมความสมบูรณ์แบบหรือเป็นพวก Perfectionism จะรู้ตัวว่าตัวเองเป็นคนที่ไม่อยากให้ความผิดพลาดเกิดขึ้นและยอมรับความผิดพลาดได้ยากที่สุด และเมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้นก็จะเคร่งเครียดกับชีวิตเกินเหตุอยู่เสมอ แต่ต้องอย่าลืมว่า ชีวิตของคนเรานั้น ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป และทางเดินของชีวิตก็ไม่ได้ปูด้วยพรมหนานุ่มที่จะสามารถรองรับการกระแทกได้อย่างนุ่มนวล คนเราย่อมต้องเคยผิดพลาดหรือล้มเหลวด้วยกันมาทั้งนั้น เช่นเดียวกับเครื่องปั้นดินเผาที่อาจจะมีตกแตกบ้างในสักวันหนึ่ง แต่ใจความสำคัญอยู่ที่ว่า เราจะซ่อมแซมทั้งใจและเครื่องปั้นดินเผาเหล่านั้นได้อย่างไร เราจะมีวิธีรับมือกับความผิดหวังอย่างไรเพื่อให้ใจกลับมาแข็งแรงได้ดังเดิม เหมือนกับเครื่องปั้นดินเผาที่ถูกซ่อมแซมด้วยทองและยางรัก และกลับมาใช้งานได้เหมือนอย่างเคย

2. ชีวิตไม่มีคำว่าสมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง

kintsugi คือ, wabi sabi คือ
Image Credit : unsplash.com

หนึ่งในความหมายของ Kintsugi คือการซ่อมแซม และการซ่อมแซมนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีบางอย่างเสียหายหรือผุพังไป ดังนั้น ปรัชญาคินสึงิจึงเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า ไม่มีสิ่งใดที่มีความสมบูรณ์แบบหรือยังคงเป็นเช่นนั้นได้อยู่เสมอ ถ้วยชา จานชามเซรามิกที่มีโอกาสแตกหักได้มากเท่าไหร่ ชีวิตของมนุษย์เราก็สามารถแตกหักหรือผุพังได้เช่นกัน แต่ทั้งนี้ ก็ยังมีวิธีการซ่อมแซมที่จะทำให้กลับมาใช้งานได้ดังเดิม ด้วยการประกอบเศษชิ้นส่วนและเชื่อมต่อตามแนวรอยร้าว ใช้วัสดุเรซิ่น ทอง หรือยางรักเป็นตัวสมาน เปรียบกับชีวิตของคนเราเองเมื่อมีความผิดพลาดหรือเมื่อถึงคราวพัง ก็ย่อมต้องได้กาวใจในการสมานแผลเช่นกัน

3. ความล้มเหลวคือครูของชีวิต

ถ้วยชาที่แตกร้าวทำให้เราได้เรียนรู้วิธีซ่อมแซมมันให้กลับมาสวยงามและยังใช้งานได้ดังเดิม เป็นการเสริมสร้างทักษะการแก้ไขปัญหาและใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการบรรจงซ่อมแซมถ้วยชาที่มีคุณค่าในสายตาของผู้เป็นเจ้าของ สิ่งนี้สะท้อนแนวคิดของ Kintsugi คือ ความล้มเหลวหรือปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตก็จะทำให้เราได้เรียนรู้ ทั้งเรียนรู้ถึงสาเหตุและต้นตอของสิ่งที่เกิดขึ้น และเรียนรู้ที่จะแก้ไขให้มันดีขึ้นไปพร้อมๆ กัน เราจะมีวิธีซ่อมแซมชีวิตของเรายังไงให้กลับมายืนขึ้นได้ดังเดิม และแม้มันอาจจะไม่เหมือนเดิม แต่ก็ยังคงงดงามด้วยรอยสมานจากการซ่อมแซม และร่องรอยการแตกหักของถ้วยชาก็หมายถึงการใช้งานมาอย่างโชกโชน ถ้าเปรียบกับชีวิตของคนเรา ผู้ที่มีร่องรอยบาดแผลมากเท่าไหร่ ก็คือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บมามากเท่านั้น แต่ก็ยังสามารถฟื้นฟูเยียวยาทั้งร่างกายและจิตใจของตัวเองได้ดีเช่นเดียวกัน

4. ความไม่สมบูรณ์แบบ คือความงดงามในอีกรูปแบบหนึ่ง

หัวใจของ Kintsugi คือการโอบรับความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเอง สังเกตได้จากวิธีการซ่อมเครื่องปั้นดินเผาด้วยเทคนิคแบบคินสึงิ คือการใช้วัสดุยาแนวรอยแตกร้าวซึ่งจะเป็นการสร้างลวดลายใหม่ให้กับภาชนะชิ้นนั้น เทคนิคแบบคินสึงิไม่ใช่การปกปิดรอยแตกร้าวแต่อย่างใด แต่เป็นการสร้างความงดงามในรูปแบบใหม่ตามเส้นสายของรอยแตกนั้น หากจะมองว่ารอยแตกร้าวที่เกิดขึ้นทำให้ถ้วยชาไร้ซึ่งความงดงามสมบูรณ์แบบตามเดิมก็คงจะไม่ผิดนัก แต่ลวดลายที่เกิดขึ้นนี้ ก็เป็นความไม่สมบูรณ์แบบที่งดงามในตัวของมันเอง และไม่ได้ทำให้คุณค่าของถ้วยชาหรือภาชนะอื่นๆ ลดน้อยลงไปเลย ชีวิตของคนเราก็เช่นเดียวกัน ความไม่สมบูรณ์แบบในชีวิต ก็เป็นสิ่งที่แต่งแต้มให้ชีวิตมีสีสันได้เหมือนกัน และก็ไม่ได้ทำให้คุณค่าในตัวเราลดน้อยลงไป และการเรียนรู้จากความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเอง ก็ยังทำให้เกิดความงอกงามภายในจิตใจ ซึ่งเป็นความงดงามจากการเติบโตทางความคิดและจิตวิญญาณไปอีกขั้น

[affegg id=4537]

5. ชีวิตของคนเราประกอบสร้างและเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ

kintsugi คือ, wabi sabi คือ
Image Credit : unsplash.com

อีกหนึ่งแนวคิดสำคัญที่สะท้อนผ่านปรัชญาการใช้ชีวิตแบบ Kintsugi คือ ชีวิตของคนเราสามารถซ่อมแซมและประกอบสร้างขึ้นได้ใหม่เสมอ แม้จะเคยแตกร้าวไปแล้วก็ตาม เช่นเดียวกับเครื่องปั้นดินเผาที่แตกหักจนไม่สามารถใช้งานได้ แต่เมื่อนำมาซ่อมแซมใหม่ด้วยเทคนิคแบบคินสึงิที่นอกจากจะทำให้ดูสวยงามแปลกตามากขึ้นแล้ว ยังสามารถนำกลับมาใช้งานได้เหมือนเดิม แม้ชีวิตคนเราจะต้องเจอกับความล้มเหลว จะต้องเจอกับความผิดพลาด บางคนอาจผิดหวังในเรื่องความรักและรู้สึกว่าหัวใจของตัวเองกำลังแตกสลาย แนวคิดแบบ Kintsugi คือสิ่งที่ทำให้เราเห็นว่า แม้แต่เครื่องเรือนเซรามิกที่บอบบางแตกหักง่ายก็ยังสามารถนำมาซ่อมแซมได้ ผ่านความตั้งใจและความพิถีพิถันในฝีมือ ถ้าตัวเราเองมีความตั้งใจที่จะซ่อมแซมเยียวยาทั้งชีวิตและจิตใจของตัวเองแล้ว แม้มันจะแตกสลายมากขนาดไหน วันนึงมันก็จะกลับมาเป็นชีวิตที่ประกอบขึ้นเป็นรูปเป็นร่างได้ แม้จะมีร่องรอยของการซ่อมแซมให้เห็น แต่นั่นก็คือความงามในอีกรูปแบบหนึ่ง ที่แนวคิดแบบคินสึงิสอนให้เราโอบรับมันด้วยความรักและความเข้าใจในความไม่สมบูรณ์แบบอันงดงามของตัวเอง

ความแตกต่างระหว่าง Wabi Sabi และ Kintsugi คืออะไร ?

kintsugi คือ, wabi sabi คือ
Image Credit : unsplash.com

ในตอนนี้ เราก็รู้จักปรัชญาชีวิตแบบคินสึงิกันมากขึ้นแล้ว และในบางคนที่เคยศึกษาหรือได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับ Wabi Sabi มาก่อน ก็อาจจะเกิดความสงสัยว่า ความแตกต่างของ Kintsugi และ Wabi Sabi คืออะไร ? เพราะก็มีใจความคล้ายๆ กันว่า ให้โอบรับในความไม่สมบูรณ์แบบของสรรพสิ่งต่างๆ ซึ่งถ้าแปลโดยความหมายแล้ว วะบิ ซะบิ เกิดขึ้นจากคำสองคำ คือ 侘 (วะบิ) และ 寂 (ซะบิ) ซึ่งคำว่า วะบิ หมายถึงการมองหาความงามในความเรียบง่าย เป็นความรุ่มรวยทางจิตวิญญาณ และเป็นความสงบทางใจที่เกิดขึ้นจากการไม่ยึดติดในโลกของวัตถุ และ ซะบิ มีความหมายเกี่ยวกับกาลเวลาที่ล่วงเลยไป ทำให้สรรพสิ่งต่างๆ เติบโตขึ้นและเสื่อมสลายลงตามธรรมชาติ  ถ้านำสองคำนี้มารวมกัน ก็อาจแปลความหมายได้ว่า เป็นการมองหาความงามที่เรียบง่ายอันเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติที่สิ่งต่างๆ ล้วนไม่จีรังยั่งยืนและเสื่อมสลายไป ในขณะเดียวกันก็มีการเติบโตขึ้นใหม่ด้วยเช่นกัน

ถ้าให้กล่าวถึงความแตกต่างระหว่าง Wabi Sabi และ Kintsugi ก็คงจะอธิบายได้ว่า วะบิ ซะบิ คือการยอมรับและชื่นชมในความงามที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ แม้การเปลี่ยนแปลงนั้นก่อให้เกิดความไม่สมบูรณ์แบบขึ้น เช่น การชื่นชมในความงดงามของฤดูใบไม้ร่วงที่ใบไม้กำลังแห้งกรอบและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล แม้ดูไม่สดชื่นสบายตาเหมือนกับฤดูใบไม้ผลิ แต่ก็เป็นความงดงามในอีกรูปแบบหนึ่ง และใบไม้สีทองสีน้ำตาลที่กำลังร่วงหล่นอยู่บนพื้นนั้น หากมองให้สวยงาม ก็อาจเป็นความงดงามในสายตาของคนมองได้เช่นกัน อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ ถ้วยชาญี่ปุ่นบางใบที่ปั้นมาแล้วมีความบิดเบี้ยวเป็นรูปทรงที่ดูไม่สมบูรณ์และอาจไม่ได้มาตรฐาน ไม่สมมาตร แต่นั่นก็เป็นอีกหนึ่งความงดงามในความไม่สมบูรณ์แบบตามแนวคิดของวะบิ ซาบิ รวมถึงร่องรอยของการซ่อมแซมถ้วยชาด้วยเช่นกัน

หากให้เปรียบกันแล้ว Wabi Sabi คือแนวคิดที่มีหัวใจอยู่ที่การโอบรับความงดงามของสรรพสิ่งอย่างไม่มีเงื่อนไข ทั้งสิ่งที่ดีและสิ่งที่ไม่ดี ทั้งความสมบูรณ์งดงามและความไม่สมบูรณ์แบบ แต่หัวใจของ Kintsugi คือการฟื้นฟู ซ่อมแซม เยียวยา และนำเสนอร่องรอยของความไม่สมบูรณ์แบบที่เกิดขึ้นด้วยความภาคภูมิใจ เหมือนกับการเผยให้เห็นลวดลายสีทองอันเป็นผลมาจากการซ่อมแซมถ้วยชาและภาชนะที่แตกร้าวอย่างไม่ต้องการจะปกปิดมันแต่อย่างใด คินสึงิมีแนวคิดที่เชื่อมโยงกับ Mindset แบบ Resilience คือการฟื้นฟูเยียวยา และทำให้คนเราตระหนักได้ว่าเมื่อล้มแล้วก็ลุกขึ้นใหม่ได้เสมอ ทั้งวะบิ ซะบิ และ คินสึงิ ต่างก็ต้องการให้คนเรายอมรับความจริงที่ว่า สรรพสิ่งทุกอย่างไม่มีความสมบูรณ์แบบในตัวมันเอง และไม่มีสิ่งใดจีรังยั่งยืน ทุกสิ่งล้วนมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และความเปลี่ยนแปลงหรือความไม่สมบูรณ์แบบที่เกิดขึ้นนั้น ก็ก่อให้เกิดความงดงามได้เช่นกัน

[affegg id=4538]

Inspire Now ! : แนวคิดแบบ Kintsugi ช่วยให้คนเราสามารถยอมรับความผิดพลาดของตัวเองได้และมีมุมมองต่อความล้มเหลวหรือความผิดพลาดในชีวิตที่ดีกว่าเดิม เป็นวิธีฟื้นฟูเยียวยาจิตใจของตัวเองและเป็นการให้กำลังใจตัวเองว่า คนเราสามารถลุกขึ้นได้ใหม่หรือเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ โดยเฉพาะคนที่มีบุคลิกแบบนิยมความสมบูรณ์แบบที่มักจะเคี่ยวเข็ญตัวเองและเคร่งเครียดกับตัวเองอยู่บ่อยๆ ซึ่งวิธีคิดแบบคินสึงิก็จะช่วยให้เราได้ผ่อนคลายตัวเองและไม่ตึงจนเกินไป ทั้งนี้ ความผิดพลาดนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้อยู่เสมอแม้จะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม หัวใจสำคัญของคินสึงิคือ การบอกกับเราว่า เราสามารถแก้ไขมันได้ และแม้จะร้ายแรงถึงขั้นชีวิตล้มเหลว ในที่สุดแล้วเราก็จะสามารถกอบกู้และประกอบสร้างมันกลับขึ้นมาได้ใหม่ พร้อมกับร่องรอยความงดงามที่เกิดจากการซ่อมแซมฟื้นฟูเยียวยาตัวเอง และแนวคิดแบบWabi Sabi คือสิ่งที่ทำให้เราสามารถโอบรับความงดงามที่ไม่สมบูรณ์แบบเช่นนี้ของตัวเองได้ และอยู่กับมันด้วยความเข้าใจในบทเรียนที่ได้จากประสบการณ์ของชีวิตที่เพิ่มขึ้น

DIY INSPIRE NOW ทำให้ฉันเป็นคนใหม่ที่ดีกว่าเดิมใช่ไหม ? ปรัชญาชีวิตแบบ Kintsugi อาจช่วยให้เรามองโลกได้อย่างเข้าใจมากขึ้น และมีความเข้มแข็งมากขึ้นสำหรับการเริ่มต้นใหม่ ไม่ยึดติดกับความล้มเหลวที่ผ่านไป และทำให้เราสามารถโอบรับความผิดพลาดได้อย่างเข้าใจ และพร้อมที่จะแก้ไขมัน ♡

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : onmanorama.com, หนังสือ วะบิ ซะบิ แด่ความไม่สมบูรณ์แบบของชีวิต, bbc.com, nbcnews.com

Featured Image Credit : unsplash.com/Motoki Tonn

Facebook Comments

ฝันอยากเดินทางท่องโลกให้ได้มากที่สุด สนใจเรียนรู้เกี่ยวกับจิตวิทยา รักการอ่านหนังสือ ชอบถ่ายรูป หลงใหลแมวและกาแฟ