สามเหลี่ยมการเงิน ตัวช่วยวางแผนการเงิน ให้เรามั่นคง และมั่งคั่งได้มากขึ้น !

ถ้าพูดถึงการวางแผนด้านการเงิน นอกจากการทำบัญชีรายรับรายจ่ายในแต่ละวัน แต่เดือน และการเตรียมตัวยื่นภาษีในแต่ละปีแล้ว ก็ยังมีในเรื่องของการเตรียมเงินสำรองต่างๆ ไว้สำหรับยามฉุกเฉิน และการออมเงินทั้งระยะสั้นและระยะยาวเพื่อเป้าหมายทางการเงินของเราด้วย ซึ่งถ้าหากคนไหนมีความสนใจในเรื่องการเงินการลงทุนมาก่อน ก็จะรู้จักการบริหารความเสี่ยงในเรื่องของการเงินอยู่พอสมควร แต่ถ้าเป็นมือใหม่ที่เริ่มสนใจในเรื่องของการเงิน และอยากจะบริหารจัดการเรื่องเงินๆ ทองๆ ในชีวิตได้อย่างเป็นสัดส่วนมากขึ้น แต่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มตรงไหนดี ในบทความนี้ DIYINSPIRENOW เรามีวิธีการวางแผนในด้านการเงินโดยใช้โมเดล สามเหลี่ยมการเงิน มาฝากกันค่ะ ซึ่งจะทำให้เข้าใจในเรื่องของการเตรียมเงินไว้สำหรับในส่วนต่างๆ ในชีวิตได้มากขึ้น และมีวิธีบริหารจัดการเงินของตัวเองได้ดีขึ้นด้วย จะทำได้อย่างไรนั้น ไปดูกันเลยค่ะ

รู้จัก สามเหลี่ยมการเงิน แล้วปรับใช้เพื่อวางแผนการเงินกัน !

สามเหลี่ยมการเงิน, วางแผนการเงิน
Image Credit : freepik.com

สามเหลี่ยมการเงินเป็นแนวคิดที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างการออม การลงทุน และการสร้างรายได้หลายทาง โดยเปรียบเสมือนฐานของความมั่นคงทางการเงิน ซึ่งเริ่มต้นจากการวางแผนการออมที่ดีเพื่อสร้างเงินก้อนแรก จากนั้นจึงนำเงินออมไปต่อยอดผ่านการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เพื่อสร้างผลตอบแทน และพัฒนาไปสู่การมีแหล่งรายได้ที่หลากหลายเพื่อความมั่นคงในระยะยาว เรามาทำความเข้าใจ เพื่อปรับใช้กันค่ะ

หนังสือ MONEY SUMMARY สรุปเรื่องเงินให้เข้าใจง่ายใน 1 เล่ม

สามเหลี่ยมทางการเงิน คืออะไร ?

สามเหลี่ยมการเงิน, วางแผนการเงิน
Image Credit : momsmakecents.com

สามเหลี่ยมการเงิน หรือพีระมิดทางการเงิน เป็นเครื่องมือวางแผนทางการเงินตามหลักสากล ที่นักวางแผนทางการเงิน หรือที่ปรึกษาทางการเงินใช้สำหรับการจัดการบริหารความเสี่ยงด้านการเงินและการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนในเรื่องของการเงินการลงทุนให้กับลูกค้าหรือกับตัวเอง ทั้งนี้ บุคคลทั่วไปก็สามารถนำเอาโมเดลสามเหลี่ยมทางการเงินมาปรับใช้กับการบริหารจัดการความเสี่ยงในเรื่องการเงินของตัวเองได้ เพื่อที่จะได้วางแผนการเงินให้กับตัวเองอย่างเหมาะสม และมีเงินพร้อมสำหรับการใช้จ่ายในส่วนต่างๆ ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เรามาดูกันเลยดีกว่าว่า สามเหลี่ยมนี้ จะประกอบไปด้วยส่วนใดบ้าง

1. ขั้นรากฐานของพีระมิด : การป้องกันความเสี่ยง

สามเหลี่ยมการเงิน, วางแผนการเงิน
Image Credit : freepik.com

มาเริ่มที่ขั้นแรกกันก่อน ซึ่งขั้นรากฐานของพีระมิดนั้น เป็นการป้องกันความเสี่ยงให้กับชีวิตและทรัพย์สินของตัวเอง กล่าวคือ การเตรียมเงินสำรองไว้ให้พร้อมสำหรับความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เช่น การเจ็บป่วย การได้รับอุบัติเหตุ ทุพพลภาพ ป่วยไข้ไม่สบายจนต้องเข้าโรงพยาบาล หรือเกิดโชคร้ายป่วยเป็นโรคร้ายแรง ซึ่งในส่วนนี้จะต้องมีเงินทุนสำรองเพื่อซับพอร์ตในเรื่องค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล หรือใช้เพื่อดำรงชีวิตต่อไปในขณะที่ไม่สามารถหารายได้เข้ามาซับพอร์ตตัวเองได้ เราคงทราบกันดีว่า ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลนั้น มีตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักล้านบาท ถ้าไม่ได้เตรียมเงินในส่วนนี้เอาไว้ก่อน ก็อาจจะทำให้ชีวิตลำบากได้

ซึ่งถ้าจะให้เก็บเงินก้อนเพื่อเตรียมพร้อมในส่วนนี้ เราก็ไม่อาจทราบได้ว่า เราจะต้องใช้เงินเมื่อไหร่ แล้วเราจะมีเงินเพียงพอหรือไม่ ในส่วนนี้ สิ่งที่จะมาช่วยป้องกันความเสี่ยงได้ก็คือ การทำประกันชีวิตในรูปแบบต่างๆ ซึ่งประเภทของประกันชีวิต นั้นก็มีอยู่หลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นประกันอุบัติเหตุ ประกันสุขภาพ ประกันโรคร้ายแรง หรือประกันชีวิตในกรณีที่เราเป็นหัวหน้าครอบครัวแล้วต้องการเตรียมเงินก้อนสำรองเอาไว้ให้ลูกๆ ซึ่งการซื้อประกันนั้น ตามหลักแล้ว เป็นการใช้เงินจำนวนน้อยปกป้องเงินจำนวนมาก อธิบายให้เข้าใจได้ง่ายก็คือ ในแต่ละปีเราอาจจะเสียเงินซื้อประกันสุขภาพปีละหลักหมื่น แต่เมื่อเกิดเหตุจำเป็นจะต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลขึ้นมา เราก็ไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลที่อาจถึงขั้นหลักแสนหลักล้านบาท เพราะเราสามารถเบิกค่าใช้จ่ายจากประกันได้ตามเงื่อนไข ทั้งนี้ ก็ยังมีการป้องกันความเสี่ยงในรูปแบบอื่นๆ เช่น การทำประกันสังคม การใช้สิทธิบัตรทอง หรือใช้สิทธิราชการอื่นๆ ตามแต่ละบุคคล เพื่อที่เราจะสามารถมั่นใจได้ว่า เรามีเงินที่จะมาซับพอร์ตในขั้นรากฐานของพีระมิดอย่างเพียงพอนั่นเองค่ะ

นอกจากความเสี่ยงในด้านความเจ็บป่วย หรือการเกิดอุบัติเหตุแล้ว ตามหลักสามเหลี่ยมการเงิน เราก็ควรเตรียมเงินก้อนสำรองไว้สำหรับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน อย่างน้อย 3 – 6 เดือน ในกรณีที่ไม่สามารถหารายได้มาซับพอร์ตตัวเองได้ เช่น ถูกไล่ออกจากงาน ธุรกิจเกิดติดขัด หรือเจ็บป่วยไม่สามารถทำงานได้ชั่วขณะ ซึ่งเรายังคงมีค่าใช้จ่ายรายวันอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นค่ากิน ค่าบ้าน ค่าน้ำค่าไฟ เป็นต้น และสำหรับจำนวนเงินที่ควรสำรองไว้นั้น ก็คิดจากค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน เช่น ใน 1 เดือน เรามีค่าใช้จ่ายประมาณ 20,000 บาท ก็ควรจะเก็บเงินในส่วนนี้ไว้ใช้ยามฉุกเฉินประมาณ 60,000 – 120,000 บาท และควรเก็บในบัญชีเงินฝากประจำที่มีสภาพคล่องสูง สามารถนำเงินมาใช้ได้ในยามฉุกเฉิน หากฝากเงินในรูปแบบสลากออมสินก็จะไม่สามารถถอนเงินมาใช้ได้ในทันที หรือเอาไปซื้อกองทุนรวม ก็อาจจะขาดทุนได้เช่นกัน ดังนั้น ควรเก็บเงินสำรองในส่วนนี้ไว้ในรูปแบบที่มีสภาพคล่องสูงอย่างการฝากประจำหรือฝากบัญชีออมทรัพย์ก็จะสะดวกที่สุดค่ะ

2. ขั้นกลางของพีระมิด : เงินออม

สามเหลี่ยมการเงิน, วางแผนการเงิน
Image Credit : freepik.com

เมื่อเรามีการวางแผนการเงินเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการจัดการบริหารความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในชีวิตแล้ว ขั้นต่อมาก็คือ การออมเงิน ซึ่งการออมเงินนั้น สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ เงินออมระยะสั้น และเงินออมระยะยาว โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • เงินออมระยะสั้น ได้แก่ เงินออมที่จะต้องใช้ในเวลา 1 ปี 3 ปี 5 ปี เช่น เก็บเงินไปเที่ยว เก็บเงินไว้เพื่อสำหรับการดาวน์รถ ดาวน์บ้าน หากมีการคำนวณสินเชื่อบ้านมาแล้วแต่ต้องการจะเก็บเงินดาวน์บ้าน รวมถึงการเตรียมเงินเอาไว้สำหรับการลงทุนทำธุรกิจส่วนตัวในอนาคต หรือเก็บเงินเพื่อสำหรับจัดงานแต่งงานในอนาคต เป็นต้น ซึ่งหากฝากในบัญชีออมทรัพย์ธรรมดาก็อาจจะเสี่ยงในการถอนเงินมาใช้ ทำให้เราไม่สามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินได้อย่างที่หวัง วิธีออมเงินในส่วนนี้คือ การเอาไปซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินประเภทต่างๆ ที่มีความเสี่ยงต่ำ มีสภาพคล่องปานกลาง และมีโอกาสได้ผลตอบแทน เช่น การเอาไปซื้อฉลากออมสินประเภทมีอายุ 2 ปีขึ้นไป ซื้อกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงต่ำ ลงทุนในตราสารหนี้ประเภทต่างๆ เป็นต้น หรือถ้าใครมีวินัยทางการเงินดี จะฝากในบัญชีเงินฝากประจำที่มีดอกเบี้ยสูงก็ได้ค่ะ (อ่านเพิ่มเติม ธนาคารไหน ดอกเบี้ยเงินฝากสูง) ทั้งนี้ การลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ นั้น จำเป็นที่จะต้องศึกษาอย่างลงลึกและเข้าใจผลิตภัณฑ์นั้นๆ เป็นอย่างดี เพราะการลงทุนมีความเสี่ยง หาดไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ อาจจะทำให้เราสูญเสียเงินต้นได้ 
  • การออมเงินระยะยาว เป็นการออมเงินเพื่อการเกษียณ หรือการออมเงินเพื่อเป็นทุนการศึกษาสำหรับลูกๆ ในอนาคต ซึ่งเรามีเป้าหมายว่าจะออมเงินในระยะยาวมากกว่า 10 ปี 20 ปี ขึ้นไป ซึ่งถ้าหากเอาไปฝากในบัญชีเงินฝากประจำก็อาจจะเสี่ยงในเรื่องของเงินเฟ้อและทำให้มูลค่าของเงินลดลงได้ ที่นิยมกันคือ การลงทุนในกองทุนรวมที่มีผลตอบแทนดี เป็นหุ้นพื้นฐานดี มีความเสี่ยงต่ำ และมีเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ หรือการซื้อกองทุนรวมประเภท RMF หรือ SSF เป็นต้น หากเป็นราชการก็จะมีในส่วนของกองทุนบำเน็จบำนาญข้าราชการ หากเป็นพนักงานเอกชนก็อาจจะเป็นกองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น หรือการซื้อประกันชีวิตในรูปแบบประกันสะสมทรัพย์ หรือประกันบำนาญก็ได้เช่นกันค่ะ
หนังสือ รู้อย่างนี้ มีเงิน 1,000,000 ตั้งนานแล้ว : การบริหารเงิน การออมเงิน การเงินการลงทุน การวางแผนทางการเงิน

3. ขั้นปลายของพีระมิด : การลงทุนเพื่อสะสมความมั่งคั่ง

สามเหลี่ยมการเงิน, วางแผนการเงิน
Image Credit : freepik.com

สำหรับคนที่มีการวางแผนการเงินในขั้นรากฐานและขั้นที่ 2 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขั้นที่ 3 ของสามเหลี่ยมการเงินหรือขั้นยอดของพีระมิดก็คือ การลงทุนเพื่อสะสมความมั่งคั่งนั่นเอง เช่น การลงทุนซื้อหุ้นที่ได้ผลแทนสูงจากการเทรดขาย การลงทุนในกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงสูงแต่ได้ผลตอบแทนสูง การลงทุนในทองคำ น้ำมัน การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือการซื้อ NFT ของสะสมต่างๆ เพื่อเก็งกำไรขาย เป็นต้น

ซึ่งในขั้นตอนของการลงทุนเพื่อต่อยอดด้านความมั่งคั่งนั้น จะต้องมีการเตรียมพร้อมในเรื่องของการเงินสำหรับขั้นแรกและขั้นที่สองอย่างสมบูรณ์ครบถ้วนแล้วเท่านั้น เพราะการลงทุนนั้นมีความเสี่ยงสูง และมีโอกาสที่จะไม่ได้ผลตอบแทนหรือสูญเสียเงินต้นได้ เรียกง่ายๆ ว่าต้องเป็นเงินเย็นที่ไม่ได้มีความจำเป็นสำหรับการสำรองค่าใช้จ่ายในเรื่องพื้นฐานต่างๆ แต่อย่างใด จึงจะสามารถนำเอาเงินก้อนนั้นมาต่อยอดลงทุนเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับชีวิตมากขึ้น หากคนที่ไม่ได้มีการวางแผนการเงินอย่างรอบคอบและไม่ได้ศึกษาเรื่องสามเหลี่ยมการเงิน ก็อาจจะนำเงินที่มีอยู่ไปลงทุนก่อนอันดับแรกเพราะหวังว่าจะได้ผลตอบแทนจำนวนมาก ซึ่งก็อาจผิดคาดและทำให้มีปัญหาทางการเงินได้ ลองนึกภาพสามเหลี่ยมกลับหัวดูก็ได้ค่ะ จะเห็นว่ามันดูไม่มั่นคงและพร้อมจะล้มอยู่ตลอดเวลา ซึ่งถ้าเราบริหารการเงินในชีวิตประจำวันอย่างผิดวิธี ก็อาจจะทำให้เราขาดความความมั่นคงทางการเงินได้

และนี่ก็เป็นรายละเอียดของสามเหลี่ยมการเงินหรือพีระมิดทางการเงิน หนึ่งในเครื่องมือการวางแผนทางการเงินที่สามารถช่วยให้เราบริหารจัดการเงินในชีวิตของเราได้อย่างเป็นสัดส่วนมากยิ่งขึ้น และสามารถเรียงลำดับความสำคัญในเรื่องของการใช้เงินได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการในชีวิตของเรา ซึ่งถ้าเราไม่มีการวางแผนในเรื่องการเงินนั้น ก็อาจจะทำให้เราประสบกับปัญหาในเรื่องความมั่นคงทางการเงินได้ในอนาคต และทำให้เราใช้ชีวิตได้อย่างติดขัดขัดสน แต่ถ้าหากมีการบริหารจัดการในเรื่องของการเงินไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ก็จะทำให้เรามีการเตรียมความพร้อมที่ดี แต่ไม่ลำบากในเรื่องของค่าใช้จ่ายในอนาคตนะคะ

ตัวอย่างการปรับใช้ สามเหลี่ยมทางการเงิน กับชีวิตจริง

เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจกันมากขึ้น เราขอยกตัวอย่างเคสมาให้ดูกันค่ะว่า เราจะใช้สามเหลี่ยมการเงินกับตัวอย่างเหล่านี้ยังไงได้บ้างนะ

1. คนทำงานประจำเงินเดือน 25,000 บาท

เริ่มจากมุมแรกคือการออม โดยทุกเดือนเก็บเงิน 20% ของเงินเดือน (5,000 บาท) เข้าบัญชีออมทรัพย์อัตโนมัติทันทีที่เงินเดือนเข้า พอเงินออมก้อนแรกครบ 50,000 บาท ก็เริ่มมุมที่สองคือการลงทุน โดยแบ่งเงิน 30,000 บาทไปซื้อกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เพื่อลดหย่อนภาษี และอีก 20,000 บาทไปฝากประจำที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าออมทรัพย์ สุดท้ายคือมุมที่สามการสร้างรายได้เพิ่ม โดยใช้ความรู้จากงานประจำไปรับงานฟรีแลนซ์ทำเว็บไซต์ในวันหยุด สร้างรายได้เพิ่มเดือนละ 10,000 บาท ซึ่งนำไปเพิ่มทั้งในส่วนการออมและการลงทุน ทำให้เงินงอกเงยเร็วขึ้น สามเหลี่ยมนี้จะค่อยๆ ทำให้ฐานะการเงินมั่นคงขึ้น มีเงินสำรองฉุกเฉิน มีเงินลงทุนที่งอกเงย และมีรายได้หลายทางที่ช่วยเสริมความมั่นคง

2. กราฟิกฟรีแลนซ์ที่มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 35,000 บาท แต่รายได้ไม่แน่นอน

เริ่มจากการออม เพราะรายได้ไม่สม่ำเสมอ จึงต้องเก็บให้มากกว่าคนทำงานประจำ คือเก็บ 30% ของรายได้ทุกครั้งที่มีเงินเข้า แบ่งเป็นเงินออมฉุกเฉิน 20% (ประมาณ 7,000 บาท) และเงินเก็บสำหรับจ่ายภาษีปลายปีอีก 10% (ประมาณ 3,500 บาท)

ส่วนการลงทุน เน้นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำและถอนเงินได้ง่าย เช่น แบ่งเงิน 40% ของเงินออมไปลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น เพราะสภาพคล่องสูง และอีก 60% ลงทุนในกองทุนผสมที่มีความเสี่ยงปานกลางเพื่อผลตอบแทนที่ดีขึ้น

สุดท้ายคือการสร้างรายได้เพิ่ม นอกจากรับงานกราฟิกแล้ว อาจสร้างรายได้ประจำด้วยการสอนทำกราฟิกออนไลน์เดือนละ 2-3 คลาส หรือขาย Template design บนแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้มีรายได้ที่แน่นอนมากขึ้น และไม่ต้องพึ่งพาการรับงานฟรีแลนซ์อย่างเดียว วิธีนี้จะช่วยให้ฟรีแลนซ์มีความมั่นคงทางการเงินมากขึ้น มีเงินสำรองยามฉุกเฉิน มีเงินจ่ายภาษี และมีรายได้หลายช่องทางที่ช่วยกระจายความเสี่ยงเวลางานน้อย

หนังสือ สู่จุดสูงสุดของชีวิตด้วย “พีระมิดสามสุข”

Inspire Now ! : หากไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นวางแผนในเรื่องการเงินอย่างไร ก็สามารถนำเอาโมเดลสามเหลี่ยมการเงินไปปรับใช้ให้เข้ากับชีวิตของตัวเองได้ โดยการประเมินว่า ในตอนนี้เรายังขาดเงินในส่วนของเรื่องอะไรบ้าง หากจะอ้างอิงตามแต่ละขั้นสองพีระมิด เช่น ยังขาดในเรื่องของการป้องกันความเสี่ยง ขาดในเรื่องการออมเงินระยะยาว เป็นต้น เราก็จะได้รู้ตัวและเริ่มวางแผนในเรื่องการเงินตั้งแต่เนิ่นๆ และนอกจากจะต้องวางแผนในเรื่องการเงินแล้ว การมีวินัยทางการเงินก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน การออมเงินเป็นประจำหรือการเก็บเงินเพื่อใช้สำหรับฉุกเฉินอย่างต่อเนื่องในแต่ละเดือนโดยที่ไม่ขาดการออม รวมถึงการไม่ขาดจ่ายเบี้ยประกันต่างๆ ก็จะทำให้เรามีความมั่นคงทางการเงินมากขึ้น และบรรลุเป้าหมายทางการเงินของเราได้โดยเร็วค่ะ

DIYINSPIRENOW ทำให้ฉันเป็นคนใหม่ที่ดีกว่าเดิมใช่ไหม ? ได้รู้จักวิธีการวางแผนการเงินด้วยโมเดลพีระมิดทางการเงินแล้ว ลองนำไปปรับใช้กับตัวเองดูนะคะ ได้ความยังไง มาคอมเมนต์แบ่งปันกันบ้างนะคะ ♡

Facebook Comments

หาข้อมูล-ลงมือเขียนและเรียบเรียงโดยทีมกองบรรณาธิการเว็บไซต์ DIY INSPIRE NOW