ปัจจุบันมีรูปแบบการเรียนรู้ใหม่ๆ มากมายที่มีความแตกต่างไปจากการเรียนรู้แบบเดิมๆ เนื่องจากการเรียนรู้ในยุคก่อนไม่สอดรับกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป และการเรียนรู้แบบท่องจำก็ไม่สามารถใช้ได้กับในยุคนี้ จึงต้องมีรูปแบบการเรียนรู้ที่มีความหลายหลายมากขึ้น เช่น การเรียนรู้แบบ Authentic Learning คือการเรียนรู้ตามสภาพจริง ที่เน้นการเรียนรู้จากประสบการณ์เป็นหลัก หรือจะเป็นการเรียนรู้แบบ 4 MAT คือ การเรียนรู้ที่เน้นตัวผู้เรียนเป็นหลัก ดังนั้นในบทความนี้ DIYINSPIRENOW จะชวนมารู้จักกับโมเดลการเรียนรู้แบบนี้กันให้มากขึ้น เพื่อที่จะได้นำไปปรับใช้ในการเรียนการสอน ทั้งในฐานะผู้สอนและผู้เรียน เพื่อให้กระบวนการเรียนรู้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นค่ะ
รู้จัก 4 MAT คือ การเรียนรู้โดยผู้เรียนเป็นหลัก ตอบโจทย์ทั้งผู้สอน และผู้เรียน
Image Credit : aboutlearning.com
ปัจจุบันมีโมเดลการเรียนรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย เนื่องจากรูปแบบวัตถุประสงค์ด้านการศึกษาได้เปลี่ยนแปลงไปให้สอดรับกับยุคสมัย ซึ่ง 4 MAT คือรูปแบบการเรียนรู้ที่โฟกัสไปที่ความแตกต่างระหว่างบุคคล โดยแบ่งผู้เรียนออกเป็น 4 แบบด้วยกันคือ ผู้เรียนที่มีจินตนาการ ผู้เรียนที่ชอบวิเคราะห์ ผู้เรียนที่เน้นการปฏิบัติ และผู้เรียนที่มองหาความเป็นไปได้ ซึ่งการออกแบบการเรียนการสอนให้ตรงกับลักษณะของผู้เรียนจะทำให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมมากขึ้น และเกิดความเข้าใจในสิ่งที่เรียนอย่างถ่องแท้ ซึ่งผู้เรียนจะต้องมีการตีความ มีการรับรู้ข้อมูล การฝึกปฏิบัติ เพื่อให้เกิดการบูรณาการสิ่งที่ได้เรียนรู้มาเป็นองค์ความรู้ใหม่
หนังสือ วิธีฝึกใจให้แกร่ง รับมือได้ทุกปัญหา
ทั้งนี้ แนวคิด 4 MAT ถูกพัฒนาขึ้นในปี 1980 โดย Bernice McCarthy ที่สนใจว่า ผู้เรียนสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้อย่างไร ก่อให้เกิดการวิจัยค้นคว้า และนำไปสู่แนวคิดที่ว่า การทำงานของสมองซีกซ้ายและขวามีการทำงานต่างกันในกระบวนการเรียนรู้ ดังนั้น จึงมีวิธีการเรียนรู้ต่างกันด้วย และจะทำอย่างไรให้มีการใช้สมองทั้งซีกซ้ายและซีกขวาอย่างสมดุล เพื่อให้ผู้เรียนมีการพัฒนาตนเองและเกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโมเดล 4 MAT นั่นเอง
เจาะลึก ! รูปแบบการเรียนรู้ของผู้เรียนทั้ง 4 แบบ
Image Credit : freepik.com
อย่างที่กล่าวไปว่า ลักษณะการเรียนรู้ของผู้เรียนตามแนวคิด 4 MAT มีอยู่ 4 ประเภทด้วยกัน โดยผู้เรียนแต่ละแบบก็จะมีรูปแบบการเรียนรู้ที่แตกต่างกันไป ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ค่ะ
1. The imaginative learner หรือผู้เรียนที่มีจินตนาการ (WHY)
เป็นคนที่เรียนรู้ด้วยการตั้งคำถาม เป็นคนช่างสงสัย มีความอยากรู้อยากเห็น และมักจะมีส่วนร่วมในการเรียนโดยใช้ความรู้สึก ใช้เวลาไปกับการขบคิดไตร่ตรอง ต้องการหาความหมายในสิ่งที่เรียนและยึดถือในคุณค่าส่วนบุคคล โดยคำถามประจำตัวของผู้เรียนกลุ่มนี้คือ “ทำไมฉันจึงควรเรียนรู้สิ่งนี้” ซึ่งการอภิปราย หรือการอธิบาย การให้ความหมายต่อสิ่งต่างๆ จะกระตุ้นให้ผู้เรียนกลุ่มนี้เกิดการเรียนรู้มากขึ้น
2. The Analytical learner หรือ ผู้เรียนที่มุ่งเน้นการวิเคราะห์ (WHAT)
ผู้เรียนกลุ่มนี้ตามแนวคิด 4 MAT คือคนที่สนใจในข้อเท็จจริง เรียนรู้ได้จากการเปิดรับข้อมูลข่าวสารที่เป็น Data และ Fact เพื่อนำมาคิดวิเคราะห์และแสวงหาข้อเท็จจริง สนุกไปกับการค้นคว้าหาข้อมูลได้อย่างอิสระ โดยคำถามประจำตัวของผู้เรียนกลุ่มนี้คือ “ฉันจะเรียนรู้อะไรดี” และการค้นคว้าหาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ จะส่งเสริมการเรียนรู้คนกลุ่มนี้มากขึ้น
3. The Common sense learner หรือ ผู้เรียนที่เน้นการปฏิบัติ (HOW)
ผู้เรียนแบบเน้นปฏิบัติ เป็นคนที่ชอบลงมือทำ ลงสนามจริง สนใจในวิธีการต่างๆ สนุกเมื่อได้ทำการทดลอง สร้างและออกแบบสิ่งต่างๆ ชอบคิดหรือลงมือซ่อมแซมแก้ไขให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ โดยคำถามประจำตัวของผู้เรียนกลุ่มนี้คือ “ฉันจะเรียนรู้ได้อย่างไร” ซึ่งการลงมือปฏิบัติและการแก้ปัญหาสถานการณ์ต่างๆ จะทำให้เกิดการเรียนรู้มากขึ้น
4. The Dynamic learner หรือ ผู้เรียนที่มองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ (IF)
ผู้เรียนในกลุ่มนี้ เป็นคนที่ชอบค้นคว้าหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ และชอบตั้งคำถามว่า สิ่งนี้เป็นไปได้หรือไม่ และค้นคว้าข้อมูลเพื่อนำมาปรับใช้กับสิ่งที่มีอยู่เรียนรู้การลองผิดลองถูกและค้นพบคำตอบใหม่ๆ โดยคำถามยอดยิยมคือ “จะเป็นอย่างไรถ้าฉันได้เรียนรู้สิ่งนี้ ” โดยวิธีการส่งเสริมการเรียนรู้ของคนกลุ่มนี้คือ การปล่อยให้ทดลองทำ หรือค้นคว้าหาความรู้ด้วยตัวเอง
หนังสือ วันไหนที่ใจแข็งแรง ดอกไม้จะผลิบาน THE ENCHANTED GARDEN
ขั้นตอนการเรียนรู้แบบ 4 MAT คือ อะไรบ้าง
Image Credit : freepik.com
โมเดลการเรียนรู้แบบ 4 MAT เป็นการบูรณาการการเรียนรู้รูปแบบต่างๆ ให้มีการทำงานร่วมกันของสมองซีกซ้ายและซีกขวา เพื่อก่อให้เกิดการใช้ความคิดที่ซับซ้อนมากขึ้น และเกิดเป็นความเข้าใจอย่างลงลึกและถ่องแท้ เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ อย่างสร้างสรรค์ โดยโมเดลการเรียนรู้แบบ 4 MAT จะประกอบไปด้วยองค์ประกอบ 4 ส่วนคือ การสร้างความหมาย (Meaning) การระบุคอนเซ็ปต์ (Concept) การฝึกฝนทักษะ (Skills) และการนำไปปรับใช้ (Adaptations) ซึ่งสามารถแยกเป็น 8 ขั้นตอนได้ดังนี้
1. กระบวนการสร้างความหมาย (Meaning) ประกอบไปด้วย
• Connect หรือ การเชื่อมโยง
เป็นการสร้างความสนใจในการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน โดยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้นั้นๆ เพื่อเกิดการเชื่อมโยงกันระหว่างผู้เรียนและสิ่งที่เรียน เช่น ให้ผู้เรียนแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวที่มีความเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียน หรือผู้สอนมีการตั้งคำถามขึ้น เพื่อให้ผู้เรียนหาคำตอบด้วยตนเอง
• Attend หรือ การมีส่วนร่วม
เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันในห้องเรียน โดยให้ผู้เรียนได้รับฟังข้อมูลอื่นๆ รอบด้านมากขึ้นจากผู้ร่วมชั้นคนอื่นๆ เพื่อเกิดการแยกประเด็น จัดกลุ่ม เรียงลำดับ และจดจ่ออยู่กับเรื่องราวของคนอื่นๆ
2. กระบวนการระบุคอนเซ็ปต์ (Concept) ประกอบไปด้วย
• Image หรือ การทำให้เกิดภาพ
เป็นการทำให้ผู้เรียนได้เห็นภาพชัดเจนว่า “จะได้เรียนรู้อะไร” โดยการผสมผสานระหว่างประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรมเข้ากับเนื้อหาสาระที่เรียนที่อาจมีความเป็นนามธรรม เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น
• Inform หรือ การให้ข้อมูลอย่างตรงตัว
เมื่อผู้เรียนเริ่มเห็นภาพชัดเจนในสิ่งที่จะเรียนแล้ว เช่น เรียนเกี่ยวกับ “Growth Mindset แปลว่าอะไร” ขั้นตอนนี้ จะเป็นการให้ข้อมูลอย่างชัดเจนในเชิงเนื้อหาทฤษฎีเกี่ยวกับ Growth Mindset ว่าคืออะไร เพื่อให้ผู้เรียนได้รับข้อมูลที่เป็นแนวคิดหลัก ที่สามารถเกิดความเชื่อมโยงระหว่างเนื้อหาสาระกับตัวผู้เรียน และนำไปสู่การศึกษาเพิ่มเติมได้
3. กระบวนการฝึกฝนทักษะ (Skills) ประกอบไปด้วย
• Practice หรือ การฝึกปฏิบัติ
เมื่อได้เรียนรู้เชิงทฤษฏีไปแล้ว ก็จะนำไปสู่การฝึกปฏิบัติ เพื่อเป็นการตอบคำถามที่ว่า “สามารถนำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้ได้อย่างไร” โดยการใช้ Worksheets เขียนจำลองสถานการณ์ หรือทำการทดลอง ทำแบบฝึกหัด เพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น
• Extend หรือ การขยายขอบเขตความเข้าใจ
ขั้นตอนนี้ ตามแนวคิด 4 MAT คือ ขั้นตอนที่ให้ผู้เรียนทำการสำรวจค้นคว้า หาข้อมูลเพิ่มเติม รวมไปถึงการตั้งคำถาม มองหาความเป็นไปได้ ทดลองใช้ ปรับแต่ง เพื่อก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างกระตือรือร้น เพื่อให้เกิดการกลั่นกรอง ตกตะกอนออกมาเป็นความรู้ของตนเอง
4. กระบวนการนำไปปรับใช้ (Adaptations) ประกอบไปด้วย
• Refine หรือการปรับแต่งความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้น
หลังจากที่ได้ทำความเข้าใจข้อมูลความรู้ต่างๆ ที่ได้เรียนแล้ว ก็จะมีการผสมผสานความรู้ที่ได้กับความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่อยู่นอกเหนือจากขั้นตอนก่อนหน้า โดยผู้เรียนมีการตั้งคำถามว่า “จะเกิดอะไรขึ้น ถ้า…” เพื่อก่อให้เกิดการประยุกต์ใช้ความรู้ที่ได้กับสถานการณ์ใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้น
• Perform หรือการนำไปใช้จริง
ขั้นตอนสุดท้ายของขั้นตอนการเรียนรู้แบบ 4 MAT คือ การนำไปใช้จริง โดยการแลกเปลี่ยนสิ่งที่ได้เรียนรู้สิ่งที่ได้เรียนกับผู้ร่วมคลาสคนอื่นๆ ได้แก่ การทบทวนสิ่งที่ได้เรียน ข้อจำกัด การสรุปผล และประเมินผล เป็นต้น และนำความรู้ที่ได้ ไปปรับใช้กับตนเองได้ในอนาคต
ข้อดีของการจัดการเรียนการสอนแบบ 4 MAT คือ อะไร ?
Image Credit : freepik.com
- ผู้เรียนมีทักษะประสบการณ์ในการสืบค้นข้อมูลความรู้ด้วยตัวเอง และได้เรียนรู้จากประสบการณ์คนอื่นๆ ซึ่งฝึกทักษะการฟัง การอยู่ร่วมกับผู้อื่น
- ผู้เรียนได้ทำกิจกรรมต่างๆ ในห้องเรียน ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ และมีวิธีการเรียนรู้ตามลักษณะการเรียนรู้ของตัวเอง
- ผู้เรียนมีความสุขจากการได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง
- ผู้เรียนสามารถนำสิ่งที่เรียนรู้ไปประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตจริง
- สำหรับผู้สอนแล้ว 4 MAT คือเครื่องมือออกแบบการเรียการสอนที่ช่วยให้ผู้สอนมีส่วนร่วมกับผู้เรียน และสร้างความน่าสนใจในการเรียนรู้ ให้ผู้เรียนได้ลงมือทำผ่านการทดลองด้วยตนเอง ซึ่งทั้งระบบการศึกษาในประเทศไทย และต่างประเทศ ก็มีการประยุกต์ใช้รูปแบบการเรียนรู้นี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนสูงสุด
หนังสือ สู่จุดสูงสุดของชีวิตด้วย “พีระมิดสามสุข”
Inspire Now ! : โมเดลการเรียนรู้แบบ 4 MAT เป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่ให้ความสำคัญกับผู้เรียนที่มีวิธีการเรียนรู้แตกต่างกันไป รวมถึงการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ออกเป็น 4 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่ การสร้างความหมาย (Meaning) การระบุคอนเซ็ปต์ (Concept) การฝึกฝนทักษะ (Skills) และการนำไปปรับใช้ (Adaptations) เพื่อให้ผู้เรียนได้ประโยชน์จากการเรียนรู้อย่างแท้จริง ทั้งยังสนุกไปกับการเรียน และมีความสุขกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ผ่านการคิดนอกกรอบ การวิเคราะห์ การหาข้อมูล และลงมือปฏิบัติ อันจะทำให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพมากขึ้น |
---|
DIYINSPIRENOW ทำให้ฉันเป็นคนใหม่ที่ดีกว่าเดิมใช่ไหม ? การเรียนรู้แบบใหม่ โดยการมีส่วนร่วมกับการเรียนรู้อย่างแท้จริง จะทำให้เราสนุกและมีความสุขไปกับการเรียนมากขึ้น และได้ประโยชน์จากการเรียนมากกว่าเดิมมั้ย มาคอมเมนต์คุยกันนะคะ ♡
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : 4mat4learning.com.au, 4mat4business.com, aboutlearning.com, toolshero.com
Featured Image Credit : freepik.com