สำหรับพุทธศาสนิกชน การมีหิ้งพระในบ้านถือเป็นหนึ่งในธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดกันมาช้านาน ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือคอนโดฯ ก็นิยมตั้งหิ้งพระไว้เพื่อความเป็นสิริมงคล และยังเป็นศูนย์รวมจิตใจที่ทำให้สมาชิกในบ้านรู้สึกปลอดภัย เสมือนมีองค์พระคอยคุ้มครองปกปักรักษา นอกจากนี้ ห้องพระหรือบริเวณหน้าหิ้งพระยังเป็นมุมที่ให้ความรู้สึกสงบ สบายใจ สามารถมานั่งสมาธิให้จิตนิ่งหรือสวดมนต์ได้ ทั้งนี้ สำหรับคนที่ย้ายออกมาอยู่คนเดียว หรือกำลังมีบ้านใหม่และอยากตั้งหิ้งพระไว้ในบ้าน อาจจะเกิดความสงสัยว่า ไหว้หิ้งพระในบ้าน ใช้ธูปกี่ดอก ? มีวิธีไหว้อย่างไร ควรจัดหิ้งพระในบ้านอย่างไรให้ถูกต้องตามหลัก ในบทความนี้ DIYINSPIRENOW เรามีข้อมูลดีๆ มาฝากกันค่ะ
ไหว้หิ้งพระในบ้าน ใช้ธูปกี่ดอก ? ตั้งหิ้งพระในบ้านต้องตั้งยังไง ถึงจะเสริมสิริมงคล ?
หากพูดกันตามหลักในการทำพิธีกรรมแล้ว การไหว้พระหรือสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จะต้องใช้ธูปในการประกอบพิธี และจำนวนธูปที่ใช้ไหว้ในพิธีกรรมต่างๆ ก็ใช้จำนวนไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการไหว้สิ่งใด สำหรับคนไทยจะนิยมจุดธูปเป็นเลขคี่ เพราะเชื่อว่าจะเป็นสิริมงคล แล้วไหว้หิ้งพระในบ้าน ใช้ธูปกี่ดอก ? เรามาดูจำนวนธูปที่ใช้ไหว้พระในบ้าน รวมถึงใช้ในการทำพิธีกรรมต่างๆ กันค่ะ
ธูปไหว้พระ ถุงจัมโบ้ 2 kg (เลือกไซส์เลือกกลิ่นได้)
- จำนวนธูป 1 ดอก : ใช้สำหรับการไหว้ผีบ้านผีเรือน วิญญาณภาคพื้นดิน หรือไหว้เจ้าที่เจ้าทาง
- จำนวนธูป 2 ดอก : ใช้ปักบนอาหาร เป็นการไหว้วิญญาณ
- จำนวนธูป 3 ดอก : ใช้เพื่อบูชาพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์
- จำนวนธูป 4 ดอก : ใช้ในพิธีที่เกี่ยวข้องกับธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ จุดในการสวดเสริมดวงชะตา
- จำนวนธูป 5 ดอก : สามารถใช้รูป 5 ดอกได้เช่นกัน เพื่อเป็นการบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คุณบิดา คุณมารดา และครูบาอาจารย์
- จำนวนธูป 7 ดอก : เป็นการจุดธูปเพื่อไหว้ครูบาอาจารย์ที่เสียชีวิตแล้วหรือไหว้ศาลเจ้าพ่อ เจ้าแม่
- จำนวนธูป 9 ดอก : เป็นการจุดธูปเพื่อไหว้บูชาและสักการะเทพ เทวดา ศาลพระภูมิ เจ้าป่า เจ้าเขา และศาลเทพต่างๆ
- จำนวนธูป 10 ดอก : เป็นจำนวนธูปสำหรับไหว้ขอพรพระ เสริมดวงชะตา
- จำนวนธูป 12 ดอก : เป็นจำนวนธูปสำหรับการบูชาพระราหู ใช้ในการสวดมนต์เสริมดวง
- จำนวนธูป 16 ดอก : เป็นจำนวนธูปสำหรับการบูชาเทพชั้นสูง เช่น บูชาพรหม นิยมจุดกลางแจ้ง
- จำนวนธูป 19 ดอก : เป็นจำนวนธูปสำหรับการจุดบูชาครูและใช้ในการเสริมดวงชะตา
- จำนวนธูป 56 ดอก : ใช้ในพิธีบูชาคุณพระพุทธเจ้า
- จำนวนธูป 108 ดอก : เป็นจำนวนธูปสำหรับการประกอบพิธีกรรมสวดเสริมดวงชะตาและบูชาสิ่งสูงสุดทั่วโลกทุกชั้นฟ้า นิยมใช้ในพิธีกรรมใหญ่ๆ
อย่างไรก็ตาม หากถามว่าจะไหว้หิ้งพระในบ้าน ใช้ธูปกี่ดอกนั้น ส่วนใหญ่แล้ว จะใช้เพียง 3 ดอก กล่าวคือ การบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พร้อมด้วยการจุดเทียน 2 เล่ม อันหมายถึงพระธรรมวินัยหรือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า นอกจากนี้ สามารถถวายดอกไม้หรือพวงมาลัย เพื่อเป็นการสักการะพระสงฆ์ และควรถวายน้ำเปล่า เพื่อเป็นการระลึกถึงน้ำพระทัยของพระพุทธเจ้า ร่วมกับการถวายผลไม้หรือขนมหวาน ซึ่งจะถวายหรือไม่ก็ได้ สำหรับบทสวดบูชาพระในบ้านเพื่อใช้สำหรับการไหว้หิ้งพระในบ้าน ให้ตั้งนโม 3 จบ ตามด้วยบทกราบพระรัตนตรัย ดังนี้
อะระหัง สัมมา สัมพุทโธ ภะคะวา พุทธัง ภะคะวันตัง อภิวาเทมิ (กราบ)
สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม ธัมมัง นะมัสสามิฯ (กราบ)
สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สังฆัง นะมามิ ฯ (กราบ)
ไหว้หิ้งพระในบ้าน กี่โมงดี ?
การไหว้หิ้งพระในบ้าน นอกจากจะต้องเตรียมของไหว้และจุดธูปเทียนตามจำนวนแล้ว เวลาไหว้ก็มีความสำคัญเช่นกัน ซึ่งเวลาที่เหมาะสมกับการไหว้พระและเปลี่ยนน้ำถวายพระ คือช่วงเวลาดังนี้
- เวลา 06.00 น. จะช่วยเสริมเรื่องการมีโชคลาภที่ดี
- เวลา 06.30 น. จะช่วยเสริมเรื่องการเงินที่ดี
- เวลา 07.00 น. จะเสริมเรื่องการงานที่ดี
อย่างไรก็ตาม หากไม่สะดวกในช่วงเวลาดังกล่าว ก็สามารถไหว้หิ้งพระในบ้านและถวายน้ำพระในช่วงเวลาอื่นได้ แล้วหากหลังจากช่วงเวลาที่กำหนดควรไหว้หิ้งพระในบ้าน กี่โมง ? แนะนำว่าควรเป็นช่วงเช้า และไม่เกิน 10.00 น. เพื่อเป็นการเริ่มต้นวันใหม่อย่างเป็นมงคล จะได้ดึงดูดสิ่งดีๆ เข้ามาค่ะ
FASTTECT Buddha Altar – Thin Series W20 x L30 cm.
วิธีตั้งหิ้งพระในบ้าน ตั้งอย่างไร ? ให้ถูกต้องเหมาะสม
ในตอนนี้ก็ได้ทราบแล้วว่า ไหว้หิ้งพระในบ้าน ใช้ธูปกี่ดอก และควรไหว้ในช่วงเวลาใด ทั้งนี้การตั้งหิ้งพระเองก็มีข้อควรแนะนำเช่นเดียวกัน เพราะสำหรับบางคน หิ้งพระก็ไม่ได้มีเพียงองค์พระพุทธรูปเท่านั้น ยังมีวัตถุมงคลและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ที่เคารพบูชาด้วยเช่นกัน แล้วเราควรตั้งหิ้งพระอย่างไรดี ไปดูวิธีกันเลยค่ะ
1. เลือกบริเวณที่เหมาะสม
ก่อนอื่นเราต้องเลือกทำเลที่เหมาะสมในการตั้งหิ้งพระก่อน โดยบริเวณที่เหมาะสมนั้นควรโล่ง โปร่งสบาย อากาศถ่ายเทได้ดี และมีความเงียบสงบ ไม่ควรตั้งอยู่บริเวณเสา คาน ใกล้ประตูหน้าต่างหรือทางเข้าออก นอกจากนี้อย่าลืมว่าไม่ควรวางสิ่งของอื่นๆ บนหิ้งพระนะคะ เพราะเวลาเราเอื้อมมือหยิบของเหล่านั้นอาจเผลอไปโดนพระพุทธรูปจนทำให้ตกลงมาแตกหักเสียหายได้
2. เลือกทิศทางที่เหมาะสำหรับการตั้งหิ้งพระ
การไหว้หิ้งพระในบ้านนอกจากจะเลือกทำเลตั้งหิ้งพระให้เหมาะสมแล้ว ชาวไทยพุทธยังมีความเชื่อเรื่องทิศทางการจัดวางหิ้งพระและพระพุทธรูปด้วย โดยทิศที่นิยมก็คือการหันหิ้งพระไปด้านทิศเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนื่อ หรือตะวันออกซึ่งเป็นทิศที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ และยังเป็นทิศรับแสงแดดทำให้บรรยากาศสงบ สบาย ไม่ร้อน เหมาะสำหรับการสวดมนต์ไหว้พระและนั่งสมาธิ
3. จัดวางองค์พระ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ให้เหมาะสม
การจัดวางโต๊ะหมู่บูชานั้นส่วนใหญ่จะจัดวางเป็นจำนวนคี่ ส่วนลำดับขั้นที่เหมาะสมของการวางองค์พระ สามารถจัดเรียงได้ดังนี้
- พระพุทธรูป : พระประธาน คือองค์พระที่เราต้องวางไว้ในตำแหน่งสูงสุดเพราะถือเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า
- พระอรหันต์ : หากบ้านของเราบูชาพระอรหันต์ ก็สามารถนำองค์พระมาตั้งในตำแหน่งที่รองลงมาจากพระประธานได้ โดยพระอรหันต์ที่นิยมบูชา ได้แก่ พระสารีบุตร พระอานนท์ พระราหุล พระสิวลี พระสังกัจจายน์ พระอุปคุต เป็นต้น
- พระอริยสงฆ์ : ลำดับถัดมาคือพระอริยสงฆ์ที่ได้รับความเคารพนับถือโดยทั่วไป เช่น หลวงปู่ทวดหรือหลวงปู่โต หากมีหลายองค์ให้วางไล่ลำดับความอาวุโสโดยเรียงจากฝั่งซ้ายของพระประธานมายังฝั่งขวาตามลำดับ
- รูปเกจิอาจารย์ : บางคนอาจเคารพหรือนับถือพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงในประเทศ เช่น หลวงตามหาบัว หลวงพ่อคูณ เราสามารถวางรูปเหมือนของพระสงฆ์แต่ละรูปได้ในลำดับรองลงมาจากอริยสงฆ์โดยเรียงตามความอาวุโสและจัดเรียงจากซ้ายมาขวาเช่นกัน
- พระบรมรูปพระมหากษัตริย์ไทย : หลังจากจัดเรียงองค์พระแล้ว ลำดับถัดมาจึงเป็นรูปปั้น รูปหล่อ หรือรูปเหมือนของพระมหากษัตริย์ไทย หากบ้านใครนับถือหรือต้องการกราบไหว้ก็สามารถนำมาจัดวางได้เช่นกัน
- องค์เทพฮินดู : ศาสนาพุทธสำหรับคนไทยมีความเชื่อมโยงกับศาสนาพราหมณ์ฮินดูในหลายมิติ ทำให้หลายคนนับถือองค์เทพฮินดูไปด้วย เราสามารถจัดวางโดยเรียงลำดับดังนี้ พระศิวะ เจ้าแม่อุมา เจ้าแม่กาลี พระนารายณ์ เทพแห่งโชคลาภอย่างพระแม่ลักษมี พระพรหม พระสุรัสวดี พระพิฆเนศ พระอินทร์ ท้าวเวสสุวรรณ และฤาษี
4. การจัดวางวัตถุมงคล และสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ
- พระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุ : หากบ้านใครมีองค์พระธาตุก็ให้พิจารณาว่าเป็นพระธาตุของพระองค์ใด หากเป็นของพระพุทธเจ้าก็วางรองลงจากพระประธาน หากเป็นของอริยสงฆ์ก็วางรองลงมาจากอริยสงฆ์ เป็นต้น
- อัฐิหรือรูปของบรรพบุรุษ : สามารถจัดวางได้สองวิธีคือวางต่ำกว่าองค์พระหรือจะจัดหิ้งบูชาแยกต่างหากไปเลยก็ได้ค่ะ
- เครื่องรางของขลัง : แม้ว่าเครื่องรางของขลังจะไม่อยู่ในความเชื่อของศาสนาพุทธแต่ก็เป็นความเชื่อส่วนบุคคลที่ผูกพันกับคนไทยมายาวนาน การจัดวางของเหล่านี้ควรวางต่ำกว่าองค์พระ หรือถ้าให้ดีก็ควรจัดวางในหิ้งแยกจะเหมาะสมที่สุด
เทียนไหว้พระ เทียนเหลือง เทียนไข
Inspire Now ! : สำหรับชาวพุทธแล้ว การมีพระในบ้านก็ช่วยเพิ่มความอุ่นใจ เสมือนมีองค์พระช่วยคุ้มครองปกปักษ์รักษาให้บ้านและสมาชิกในบ้านปลอดภัย แคล้วคลาดจากอันตรายต่างๆ ซึ่งการไหว้หิ้งพระในบ้านไม่ได้มีขั้นตอนยุ่งยากซับซ้อนแต่อย่างใด เพียงแต่ว่าต้องตั้งหิ้งพระอย่างถูกต้อง เหมาะสม ควรตั้งหิ้งพระในบริเวณที่โล่ง โปร่งสบาย เหมาะสำหรับการทำสมาธิ สวดมนต์ จากนั้นจึงเริ่มสวดมนต์ไหว้พระตามปกติและจุดธูป 3 ดอกก็เพียงพอแล้ว แต่หากต้องการไหว้ขอพร เสริมดวง หรือไหว้เจ้าที่เจ้าทางเทวดาอารักษ์ ก็สามารถจุดธูปตามจำนวนที่ระบุไว้ได้ สิ่งสำคัญคือต้องหมั่นรักษาความสะอาดและจัดพื้นที่หิ้งพระให้เป็นระเบียบอยู่เสมอ หมั่นสรงน้ำพระให้กับองค์พระ ทำความสะอาดทุกๆ ปี และที่ต้องหมั่นตรวจสอบเลยก็คือ พื้นที่จุดธูปเทียนมีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่จุดใกล้สิ่งที่สามารถติดไฟได้ เพราะอาจทำให้เกิดเพลิงไหม้ เป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ค่ะ |
---|
DIYINSPIRENOW ทำให้ฉันเป็นคนใหม่ที่มีความสุขกว่าเดิมใช่หรือเปล่า ? มีใครไหว้พระเป็นประจำทุกวันกันบ้างหรือเปล่า มีคำแนะนำเพิ่มเติมยังไง มาคอมเมนต์บอกกันบ้างนะคะ ♡
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : pernnueng.com, scgbuildingmaterials.com, thairath.co.th, komchadluek.net