Guest : คุณพัทธมน นิศาบดี (โบว์) นักออกแบบ และเจ้าของพื้นที่ศิลปะ Saratta Space
ปกติคุณใช้เวลาพักผ่อนไปกับอะไรบ้างคะ ?
หลายคนใช้เวลาไปกับการเดินทางท่องเที่ยว บ้างก็ใช้ไปกับการอยู่กับครอบครัว บ้างก็ใช้เวลาไปกับการพักเงียบๆ อยู่คนเดียว สำหรับบทสัมภาษณ์นี้ DIYINSPIRENOW จะขอชวนผู้อ่านมาลองมาใช้เวลาพักผ่อนไปกับโลกแห่งศิลปะ กับผู้หญิงคนหนึ่งที่ใช้เวลาเก็บบันทึกเรื่องราวชีวิต ความประทับใจต่างๆ ผ่านเครื่องมือที่ชื่อว่า “ศิลปะ”
เปิดโลก “ศิลปะกับชีวิต” ของศิลปิน นักออกแบบ และเจ้าของ Saratta Space
ที่ซอยเกษมสันต์ 1 เป็นซอยเล็กๆ แต่ว่าคึกคักไปด้วยร้านค้า และผู้คน และในซอยนั้นมีแกลเลอรีชื่อว่า Saratta Space เป็นพื้นที่ศิลปะเล็กๆ แต่อัดแน่นไปด้วยงานศิลปะมากมายหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนมาให้คนรักงานศิลปะได้แวะเวียนไปชมอยู่ค่ะ และในที่แห่งเองเราได้โอกาสคุยกับคุณโบว์ พัทธมน ผู้ที่บอกกับเราว่า “ศิลปะคือวิถีชีวิต” เราไปท่องโลกศิลปะผ่านประสบการณ์ในชีวิตจริงของคุณโบว์กันเลยดีกว่าค่ะ
1. ช่วยแนะนำตัวเองสั้นๆ ให้ผู้อ่านได้รู้จัก คุณโบว์ ในปัจจุบันค่ะ
“สวัสดีค่ะ โบว์ พัทธมน นิศาบดี ปัจจุบันเปิดธุรกิจเป็น Gallery ชื่อว่า Saratta Space ประกอบด้วย Art Shop ขายงานปริ้นท์ที่เป็น traditional silk screen และที่เป็น hand wood cut ด้วย ควบคู่กันกับพื้นที่ศิลปะ เป็น Art Space ที่เอาไว้จัดนิทรรศการ และในบทบาทที่ดำเนินมาตลอดก็คือเป็นนักออกแบบ เปิด Studio ออกแบบก่อนมาเปิดแกลเลอรี”
2. ค้นพบว่าชอบศิลปะตั้งแต่เมื่อไหร่ ?
คุณโบว์เล่าให้เราฟังว่าเมื่อตอนที่ยังเป็นเด็กคุณพ่อคุณแม่ชอบพาไปทำกิจกรรมให้คุณโบว์ได้เรียนรู้ เป็นการเปิดประสบการณ์นอกห้องเรียน ทำให้รู้สึกชอบธรรมชาติ จึงเลือกเครื่องมือที่ชื่อว่า “ศิลปะ” ในการเก็บความประทับใจมาไว้กับตัว “พ่อกับแม่ชอบพาเราไปอยู่ในธรรมชาติ และในขณะเดียวกันก็ชอบให้ทํากิจกรรมเปิดประสบการณ์นอกห้องเรียนให้กับเรา ไปทําที่มันไม่ได้เกี่ยวกับวิชาการก็เปิดโอกาสให้เราได้ไปลอง เช่น ไปลองวาดรูป ปั้นดิน ปั้นขนมลูกชุบวันเด็ก คือกิจกรรมง่ายๆ ที่พ่อกับแม่ให้เวลา มันก็เลยค่อยๆ ซึมซับมาในแนวทางนี้เหมือนอยู่คลุกคลีกันมาตั้งแต่เด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นดนตรี ศิลปะ เหมือนพอเราได้ลอง เราก็ได้รู้ว่าอะไรเราทําได้ดีหรืออะไรทําแล้วชอบไม่ชอบ”
3. การสื่อสารทั่วไป กับ การสื่อสารทางศิลปะแตกต่างกันมั้ย ยังไงบ้าง ?
“ก็น่าจะแตกต่างนะ จริงๆ ศิลปะมันเป็นวิถีชีวิตทั้งหมดเลย ต่อให้เราไปเป็นอาชีพอื่นต่อให้เราเป็นบาริสต้า หรือทํากับข้าวเป็นเชฟ หรือเป็นอะไรก็ตาม เรารู้สึกว่ามันก็ เป็นวิถีชีวิต เป็นวิถีของแนวทางศิลปะที่มันเอาไปทําได้ทั้งหมด ไม่ใช่แค่สิ่งที่ตามองเห็น เหมือนมันเป็นแบบกระบวนการ ความคิด และก็ความเข้าใจมากกว่า ส่วนการสื่อสารทั่วไป ก็อาจจะมีสองแบบ อาจจะมีทั้งแบบสิ่งที่ผู้พูดหรือผู้ต้องการสื่อพูดออกไปกับอีกแบบหนึ่งก็คือเรานึกถึงทางผู้ฟังก่อนว่าเขาอยากได้รับสารแบบไหนหรือเค้ากําลังอยู่ในภาวะไหนต้องการอะไร แล้วเราค่อยคิดว่าเราจะสื่อสารยังไง มันอาจจะขึ้นอยู่กับว่าวัตถุประสงค์ของเราคืออะไร จะเลือกสื่อสารแบบไหน โดยทั้งคู่สื่อสารได้หมดผ่านศิลปะ หมายถึงว่าศิลปะการสื่อสาร ก็คือบางทีมันก็ถูกใช้ในการสื่อสารที่ตรงๆ แบบไม่คิดเลยว่าคนฟังจะยังไง กับบางทีก็จะเป็นการสื่อแนวว่าคิดถึงผู้ฟังก่อน ก็คือมีทั้งมีทั้งสองแบบ แต่ว่าการที่มีศิลปะการสื่อสารเข้าไปด้วยมันก็อาจจะทําให้มันมีมิติมากขึ้น หรือทิ้งนัยสําคัญบางอย่างให้ผู้ฟัง ผู้อ่านได้”
4. คุณโบว์ในช่วงวัยเด็กเป็นยังไง ? โตมาในครอบครัวแบบไหน ?
คุณโบว์เป็นลูกสาวคนโตห่างกับน้องสาว 6 ปี เธอเล่าว่าด้วยความที่เป็นลูกคนแรกของครอบครัว คุณพ่อคุณแม่ก็จะให้ความสนใจ พาไปเที่ยว ไปทะเล ด้วยการเดินทางที่หลากหลายพาไปเปิดโลกกว้างทำให้คุณโบว์ชอบเดินทาง และวางแผนการเดินทางด้วยเส้นทางใหม่ๆ เสมอ “การเที่ยวของที่บ้านจะเป็นการนําเราออกไปสู่โลกใบกว้าง แล้วก็ชอบเลือกการเดินทาง เช่น ขับรถไป โตขึ้นมาหน่อยก็จะพานั่งรถไฟ แล้วก็ค่อยพาไปขี่จักรยานใกล้ๆ บ้าน พอเริ่มปั่นจักรยานได้หรือถ้าปั่นไม่ได้ก็ให้นั่งซ้อนข้างหน้า มันเลยติดมาจนถึงทุกวันนี้ ว่าเราชอบการเดินทาง ชอบวางแผนการเดินทางไปเรื่อยๆ สมมุติไปหนึ่งภูมิภาคเนี่ยคือเก็บให้หมดแล้วค่อยวนลูปกลับมา หมายถึงว่าไม่ชอบไปทางเดิมจะชอบไปทางกลับอีกทางเพื่อให้รู้สึกว่าทั้งหมดมันเป็นวงกลม ไม่ชอบดูของซ้ำๆ” นอกจากนี้คุณแม่คุณโบว์ยังสอนให้เธอเรียนรู้ผ่านเรื่องราวในกิจวัตรประจำวัน ให้ได้รู้เรื่องรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ทำอาหาร ต้นไม้ และได้ลองเรียน ลองทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่วิชาการ เช่น ศิลปะ หรือนาฏศิลป์
ความฝันวัยเด็ก คืออะไร ?
“เปลี่ยนมาเรื่อยๆ เลย ตอนแรกอยากเป็นนักบินอวกาศ เป็นเพราะเรียนภาษาอังกฤษแล้วคําว่า “astronaut” แล้วรู้สึกว่าเท่อ่ะ สักพักก็รู้สึกมันน่ากลัวเหมือนกันนะ ออกไปนอกโลกมันกลับได้มั้ย อะไรอย่างนี้ แล้วสักพักก็อยากเป็นหมอฟันเพราะช่วงไปทําฟันแล้วเจอหมอฟันสวย ใจดี ให้ลูกโป่งอะไร ก็อยากเป็น” คุณโบว์เล่าต่อว่า นอกจากนี้ยังอยากเป็นกระเป๋ารถเมล์ และอีกหลายอย่าง “ตอนนั้นความฝันมันเป็นภาพรวม เรารู้สึกว่าไม่ใช่เด็กที่แบบโตขึ้นมารู้สึกว่า อ๋อ เดี๋ยวพรุ่งนี้ฉันจะเป็นศิลปิน หรือจะเป็นแบบนักออกแบบ เหมือนเรามองมาเป็นวิถีชีวิตมากกว่าความรู้สึก ตอนโตเราเพิ่งเข้าใจว่า เราอาจจะมองสิ่งนั้นเป็นแบบเป็น element บูรณาการ ไม่ใช่แบบศิลปะที่ต้องเป็นโปรดักส์ เป็นอาชีพ หรือเป็นอะไร มันก็เลยไม่ชัด มันเป็นจินตนาการมากกว่าว่าอาชีพของเราคือแบบ อาชีพที่เราจินตนาการไปเรื่อยๆ ว่าเราทําอะไร”
5. ช่วงวัยรุ่นของคุณโบว์ เป็นยังไงบ้างคะ ?
“ช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงที่รู้สึกได้รับความกดดันสูงในชีวิต คงเป็นเพราะพอวัยเด็กเราทําได้เกือบทุกอย่างเลย เราได้ทํา และทําได้มาเกือบทุกอย่าง แต่พอวัยรุ่นเนี่ย มันเป็นวัยแห่งการเริ่มมีความคาดหวังมาจากคนรอบตัว หรือจากบริบทที่เราอยู่ในโรงเรียนหรืออยู่ในแบบอะไรก็ตามที่รู้สึกว่าเหมือนเราต้องทําอะไรหลายๆ อย่าง เหมือนมีคนให้เราทําอะไรหลายๆ อย่างเยอะขึ้น แล้วช่วงเด็กๆ ก็น่าจะปฏิเสธไม่ค่อยเป็น ก็จะแบบโอเคเราก็ยังไม่เคยทําก็ลองทํา แต่ว่ามันก็เป็นช่วงที่ได้รับการสนับสนุนจากคนรอบข้างมาอย่างต่อเนื่องนะไม่ว่าจะเป็นเพื่อน อาจารย์ ครอบครัว”
คุณโบว์เล่าต่อว่า พอต้องเลือกว่าจะต้องเรียนต่อเฉพาะทางอะไรดี ก็เริ่มตั้งคำถามกับตัวเอง เพราะยังไม่แน่ใจว่าอยากทำอะไร แต่ด้วยความที่ตอนเด็กที่บ้านให้ได้เรียนรู้ ให้ลอง ให้เปิดประสบการณ์เยอะมากจึงทำให้พอจะมีแคตาล็อกให้กับชีวิตได้ว่าชอบอะไร หรือไม่ชอบอะไร
“ต้องขอบคุณที่บ้านมากๆ ที่ให้เราได้ประสบการณ์ที่กว้างให้เราเลือกแคตตาล็อกในชีวิตเราได้ว่าเราชอบอะไร คือถ้าเราไม่ลองเราจะไม่รู้เลยว่าชอบอะไร ช่วงวัยรุ่นเราก็เลยสามารถตอบตัวเองได้ระดับหนึ่งว่าชอบอะไรและไม่ชอบอะไร ก็มาสรุปว่าจริงๆ เราชอบสองอย่าง หนึ่ง ก็ภาษาต่างประเทศ กับอีกเรื่องก็ชอบศิลปะ รู้สึกว่ามันผ่อนคลายแล้วก็ชอบ ชอบสองอย่าง โอเคเราจะเรียนต่อด้านไหนดีนะ มันเหมือนเป็นจุดสําคัญของเด็กคนนึงเหมือนกัน เพราะว่าสิ่งที่เราจะได้ไปเรียนมันจะไม่ใช่วิชาพื้นฐาน มันจะเป็นวิชาที่มีความเฉพาะทางมากขึ้น สุดท้ายก็ตัดสินใจเรียนศิลปะ เพราะรู้สึกว่าเราชอบภาษาแต่เราไม่ได้อยากเรียนวรรณกรรมหรืออะไรขนาดนั้น เราอยากพูด เราอยากสื่อสารได้ และเราฝึกได้ตลอดชีวิตเลย เราไม่ได้อยากเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ภาษาก็ไม่ต้องเรียนในมหาลัยก็ได้ก็เลยตัดสินใจเรียนศิลปะ”
ตอนที่เลือกที่ศิลปะ มีคิดไว้มั้ยว่าอนาคตเราจะมาทำอาชีพออกแบบ มาเปิดแกลเลอรี
“จริงๆ ไม่เลยนะ เราไม่ได้เข้ามาสู่เส้นทางนี้ด้วยความคาดหวังว่าจะต้องจบไปเป็นศิลปินหรือทํางานเกี่ยวกับศิลปะ แต่พอหลังจากทํางานมาแล้ว เราก็รู้ว่าชุดความรู้การเรียน กับทํางานมันคนละชุดกัน มันก็ต้องเรียนรู้ใหม่อยู่ดี”
6. คุณโบว์ในช่วงวัย 30 เป็นยังไงบ้าง หน้าที่การงานตรงกับที่ฝันไว้หรือไม่ ?
คุณโบว์พาเราย้อนกลับไปช่วงวัยรุ่นอีกครั้ง ในขณะที่เราถามคำถามนี้ เธอบอกว่าช่วงวัยรุ่นที่เรียนศิลปะนั้นได้ทำกิจกรรมทางภาษาเยอะมาก ได้ทุนไปแลกเปลี่ยนต่างประเทศ การได้ประสบการณ์จากโลกที่กว้างขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีชุดประสบการณ์ที่กว้างขึ้นและเป็นประโยชน์กับอาชีพที่ทำอยู่ในช่วงวัย 30
“ต่อให้เราเรียนศิลปะแต่เราไปแลกเปลี่ยนค่อนข้างเยอะ เวลามีทุนมีไร แม่ก็จะตัดข่าวจากหนังสือพิมพ์แล้วให้ลองส่งไปสมัคร ตอนส่งก็ไม่ค่อยเชื่อเพราะรู้สึกว่าเราเรียนศิลปะจะเอาอะไรไปสู้กับเขานะ คนไปแลกเปลี่ยนต่างประเทศมันต้องเก่งภาษามั้ย แต่ปรากฏว่าจริงๆ แล้วการสื่อสารความคิดเราผ่านความสนใจด้านศิลปะมันก็ทําให้เราแตกต่าง ทำให้คิดว่าถ้าในรุ่นมีสักคนนึงที่เป็นคนที่มีความครีเอทีฟหรือการแก้ปัญหาหรืออะไรก็ตาม มันก็อาจจะทําให้โครงการได้ผลลัพธ์อีกแบบ การแลกเปลี่ยนมันทำให้เราก้าวเข้าสู่โลกที่กว้างขึ้นเรื่อยๆ ต่างประเทศเป็นยังไง หรือว่าต่างประเทศที่เป็นเอเชีย ยุโรป มันมีความแตกต่างของความคิดที่มัน shape คนต่างกันยังไงบ้าง แล้วพอเรามีประสบการณ์ที่กว้าง เราได้รับโอกาสให้ทําอะไรมากมายมันก็เลยทําให้เรามีชุดประสบการณ์ที่กว้างมากขึ้น ทำให้เราเป็นคนที่มีความคิด open minded มากๆ กับการทําเรื่องใหม่ๆ การเรียนรู้อะไรใหม่ๆ เพราะฉะนั้นแนวทางของอาชีพที่ทํามาก็เพราะว่าเราทำได้ดี เราได้รับโอกาสใหม่ๆ แล้วโอกาสพวกนี้มันก็เลยเป็นตัวต่อยอดไปเรื่อยๆ คือเราไม่ได้ตั้งเป้าว่าวันนี้เราจะต้องเปิดบริษัท เราจะต้องทําสตูออกแบบ เปิดแกลเลอรี แต่มันเหมือนจุดต่อจุด และตอนนี้เรารู้สึกว่าอยู่ในจุดที่เป็นเราโดยที่เราอาจจะไม่รู้ตั้งแต่ต้น คือบางคนเค้าอาจจะรู้เลยว่ายังไงก็ต้องมาจุดนี้ แต่เรารู้ว่าทําดีที่สุดแล้วมันก็พามาเรื่อยๆ”
7. ความท้าทายในบทบาทของศิลปินที่สร้างผลงาน กับการบริหารงาน gallery ต่างกันยังไงบ้าง ?
เริ่มที่บทบาทการเป็นเจ้าของกิจการก่อน
“ธุรกิจคืองานศิลปะของเรา”
“เอาจริงๆ เลยก็คือต้องเรียนรู้อะไรใหม่เยอะมากโดยตลอดตั้งแต่เริ่มมาทํางานที่เป็นธุรกิจส่วนตัว เหมือนในด้านของความเป็นนักธุรกิจก็กลับมาที่พื้นฐานมันเหมือน drawing เลย การทํางานศิลปะพื้นฐานสําคัญมาก ปีแรกเนี่ยเขาก็ให้เรียนแต่ drawing เรียนสี เรียนเพื่อเข้าใจความเป็นพื้นฐาน พอเข้าใจปุ๊บ เราจะตัดทอน ทําอะไรมันก็ได้ การทําธุรกิจก็เหมือนกัน เหมือนบางอย่างเราไม่รู้เลย เช่น หัก ณ ที่จ่าย ตัวเลข หรืออะไร แต่โชคดีที่เราเป็นคนชอบเรียนรู้ เพราะฉะนั้นเราก็จะถามเขา หาในอินเตอร์เน็ต เรามักจะหาความรู้มากกว่าหนึ่งทางเสมอ แล้วเอามาชนกันทั้งหมดว่าใจความหลักมันคืออะไร แล้วพอเราเข้าใจปุ๊บ เราก็จะเข้าใจว่าโลกเอกสารมันเดินแบบนี้นะ โลกของธุรกิจเนี่ยมันก็ต้องมีความเข้าใจด้านตัวเลขเข้ามาเป็นหลัก มันจะคือทั้งสองสิ่ง มันเกี่ยวเนื่องกัน”
แล้วในด้านของนักออกแบบหล่ะคะ ?
“ในด้านความท้าทายของการเป็นนักออกแบบหรือว่าอยู่ในฐานะศิลปิน เราก็รู้สึกว่ามันก็เป็นอีกตลาดนึงที่เอาจริงๆ มีความมีการแข่งขันสูงมากๆ เรารู้สึกว่า ความชาเลนจ์ก็คือเราจะต้องหาจุดยืนของเรา ความ unique ของเรา เราเชื่อว่าหนึ่งชิ้นงานมันมีเจ้าของเสมอ เพราะฉะนั้นถ้าเราเชื่อมั่นในจุดนี้แล้ว เราก็ตั้งใจทํามันอย่างดีมันก็จะเป็น unique point ทําให้ดึงดูดคนที่ชอบงานประเภทนี้มาหาเราโดยที่ไม่ต้องแข่งกับใคร พอเป้าหมายเราไม่ได้อยู่ที่การแข่งขัน มันอยู่ที่ว่าเราทําสิ่งที่เป็นเราให้ดีที่สุดแล้วมันก็จะดูดสิ่งที่ใช่เข้าหากันเอง”
8. เวลาเจอปัญหา อุปสรรคในชีวิต มีวิธีจัดการยังไงบ้าง ?
คุณโบว์เล่าว่าด้วยความเป็นนักออกแบบก็มักจะใช้กระบวนการที่เรียกว่า design process มาใช้เมื่อเกิดปัญหา จากนั้นก็จำลองสถานการณ์ แล้วหาวิธีแก้ปัญหา
“เวลามีปัญหาเราจะกลับมาสู่กระบวนการ design process ตั้งสมมติฐานก่อนเหมือนจําลอง scenario ว่าปัญหาอันนี้เกิดจากอะไร หาต้นตอก่อนแล้วก็ค่อยหาแบบจําลองว่ามีวิธีการแก้ หา solution A B C D อะไรบ้าง แต่ละ solution มีข้อดี ข้อเสียยังไง แล้วเราก็วิเคราะห์ในกระดาษว่าโอเคงั้นตัดสินใจเป็น option B นะดีที่สุด แต่ถ้า B ไม่ได้เรามีแผน C แต่สุดท้ายแล้ว ถ้ามันไม่ได้ตามความคาดหวังหรืออะไรยังไง อันเนี้ยเราก็ต้องแบบ leave space ไว้นิดๆ”
ใช้แนวคิดนี้มาแก้ปัญหาในเรื่องชีวิตส่วนตัวด้วยมั้ย ?
“ก็ใช่นะ แต่ถ้าเป็นในชีวิตของตัวเองมันจะมีปุ่มแบบดึงปลั๊กได้ แบบว่า นี่เราทําอะไรอยู่นะ เราคิดอะไรมากไปรึเปล่า เพราะจริงๆ งานออกแบบมันสอนให้คิดแต่ว่าคิดๆๆๆ อยู่นั่น คิดแล้วก็ทํา แต่มันต้องเป็นอย่างงั้นเพราะว่ามันมีคนรอบข้างหรือแบบปัจจัยหลายๆ อย่างที่มันจะต้องจบ จบแบบไหน ต้องปิดเคส แต่ถ้าเรื่องส่วนตัวปุ๊บมันก็จะมีจุดว่า เอ๊ะ เราต้องการอะไร ก็จะมีจุดแบบถอยกลับมาหนึ่งสเต็ปก่อน สุดท้ายแล้วก็รู้สึกเหมือนเราเป็นลูกค้าตัวเราเอง”
9. อยากเป็นศิลปิน แค่วาดรูปเป็นพอมั้ย ?
“มันต้องขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนน่ะให้ความคําจํากัดความของศิลปินคืออะไร ถ้าให้นิยามศิลปินเป็นคนทํางานศิลปะแล้วขายได้ มันก็มีอีกเยอะที่ต้องเรียนรู้ เพราะมันก็คือธุรกิจย่อมๆ หนึ่งก็คือตีความว่าทําศิลปะ กับอีกแบบนึงคือการได้รับการยอมรับ อันนี้จะเป็นสิ่งที่ศิลปินมักจะถามตัวเองว่า งานเราเป็นที่รู้จักพอหรือยัง หรือกระจายไปถึงคนหมู่มากพอหรือยัง บางคนทํางานชิ้นเดียวมีคนชอบชิ้นนึงคือที่สุดอ่ะพอแล้ว กับอีกแบบหนึ่งคือ อยากทําแบบร้อยชิ้นแต่ก็ไม่รู้ว่ามีคนชอบ match กับเราไหมแต่ทําไว้ก่อนเยอะๆ”
ในวงการนี้เค้ามี KPI วัดผลมั้ย ?
“คือเรื่องของ KPI จะอยู่ที่ว่าใครมองจาก point of view ไหน สมมุติจากศิลปินด้วยกันเองก็อาจจะรู้สึกว่ามี Happening เรื่อยๆ อาจจะทําให้เกิดการประชาสัมพันธ์ที่ต่อเนื่อง เช่น มี collection ใหม่ มีงาน Solo ใหม่ มีงาน collaboration ใหม่ ที่รู้สึกถึงความเคลื่อนไหวหรือมีโอกาสได้ทํางาน แต่ถ้ามาจาก point of view ของ collector เค้าน่าจะมองถึงเรื่อง content ด้วย และการเติบโตของแนวทางงานของศิลปินคนนั้นชอบศิลปินคนนี้เพราะความคิดแบบนี้ เพราะวิถีชีวิตของเค้าก็อยากสนับสนุนงานอยากมีงานมาอยู่ในพื้นที่ มันเหมือนเป็นศาสนาเลย เหมือนเราเอาภาพชิ้นนึงมาอยู่ในบ้านมันก็เป็นของที่รัก มันไม่ใช่เป็นของที่แบบ Functional หรือแบบตู้เย็นหรืออะไร”
แล้วถ้าเป็น KPI ในแง่ของธุรกิจศิลปะหล่ะ
“เราคิดว่า KPI อยู่ที่ความยั่งยืนในระบบนิเวศศิลปะ คือสมัยก่อนวงการศิลปะไทยมันก็อาจจะมีความเข้าใจอยู่แค่เบื้องต้นว่ามีแค่คนซื้อคนขาย หรือว่าศิลปินกับคนซื้ออะไรอย่างนี้ จริงๆ ในนิเวศศิลปะมันก็มีความหลากหลายมากพอกับวงการบันเทิงหรืออะไรอย่างงี้เลยนะ การทําประชาสัมพันธ์ Curator ที่สร้างงาน คนผลิตงาน คนเซ็ตอัพงาน นักสะสม หรือนักเก็งกําไร เรารู้สึกว่าในมุมมองแกลเลอรี ตัววัดผลน่าจะเป็นความยั่งยืนมากกว่าที่จะสร้าง value บางอย่างให้ทุกคนยังอยู่ในนิเวศนี้ ในหน้าที่ของตัวเอง”
10. career path ของศิลปินคืออะไร ?
“เรารู้สึกว่าการเป็นศิลปินน่าจะต้องมีตอบโจทย์สองอย่างในชีวิต หนึ่ง คือการทํางานที่เอาตัวเองออกมา เพราะฉะนั้นสิ่งที่ศิลปินคิดจะมีอยู่สองพาร์ท บางทีมันก็เลยมีความ bitter sweet ตรงที่ว่างานพาไปเยอะขนาดนี้แล้ว แต่ตัวเองรู้สึกว่างเปล่า เพราะว่าสิ่งที่ขายมันเป็น product มันคือตัวเราเอง เพราะฉะนั้นศิลปินก็จะต้องมีสองขา ขานึงก็ career path ของตัวเองว่าเรามีความสนใจอะไร เคลื่อนไปจุดไหน เป็น self growth ว่าตัวเค้าสนใจอะไร เช่น ตอนนี้เค้าสนใจดนตรีเค้าก็อาจจะอยากไป collab กับหน้าปกอัลบั้ม ตอนนี้เค้าสนใจธรรมชาติ เค้าอาจจะอยากไปสร้างงานกับธรรมชาติ กับอีกฝั่งนึงคือสิ่งที่ทําออกมาเป็นงานจะขยายขอบข่าย message เค้าออกไปได้มากขึ้น เช่น ตอนนี้ทํางานโชว์เล็กๆ 10 ชิ้น เป้าหมายหน้าอาจจะอยาก go online หรืออยากมี engagement กับคนมากขึ้น ศิลปะสมัยก่อนอาจจะไม่ให้จับ งานนี้อยากให้จับ อยากให้แบบคนมาเล่น มาลอง แล้วคอมเม้นต์ว่ารู้สึกยังไง อะไร เราว่าอันนี้มันเป็นทางของ career path ที่พาไปสู่ development ควบคู่กันไปกับ self growth ว่าเค้าสนใจอะไร”
11. ศิลปะสอนอะไรให้กับชีวิตของคุณโบว์บ้าง ?
“สอนทุกอย่างเลย เรารู้สึกว่าพอเราไม่ได้มองศิลปะเป็นแค่ผลงาน painting จิตรกรรม พอเรามองว่ามันเป็นวิถีชีวิต มันเลยสอนทุกอย่าง เราแทบจะไม่รู้เลยว่าเราจะทําอะไรบางอย่างได้มั้ย ถ้าเราไม่มีศิลปะอยู่ในนั้น เราจะมีความสุขมั้ย เราจะทํามันออกมาได้อย่างมีความสุขไหม”
12. จากวัยเด็กเดินทางจนมาถึงตอนนี้แล้ว คุณโบว์ มีอะไรอยากจะบอกตัวเอง หรือขอบคุณตัวเองบ้างมั้ยคะ ?
“ขอบคุณตัวเองที่อยู่ด้วยกันกับตัวเองมาตลอด ขอบคุณที่อยู่เป็นเพื่อน ต้องขอบคุณตัวเองในทุกๆ ธาตุ ของตัวเอง ในที่นี้ก็คือกายภาพที่เรามีพลานามัยที่แข็งแรง ขอบคุณร่างกายที่ทําให้เราสามารถ deliver สิ่งต่างๆ ที่เราคิดออกมาเป็นการกระทําได้ สอง ขอบคุณสภาพจิตใจที่เหมือนพอมันมี mindset ที่ดี mentality ที่ดี มันจะมองโลกในแง่ดี พอมองโลกในแง่ดีทุกอย่างก็จะซอฟต์ลง เราจะเห็นทุกโอกาสในปัญหาแล้วมันก็จะไม่มีปัญหาไหนที่รู้สึกว่าข้ามไปไม่ได้ หรือถ้าข้ามไม่ได้เราก็แค่ดึงปลั๊กขอบคุณครอบครัว คนรอบกาย ขอบคุณงานศิลปะที่เข้ามาในชีวิต และทําให้เราถ่ายทอดทุกอย่างในชีวิตออกมาผ่านฟิลเตอร์ศิลปะ”
Inspire Now ! : คุยกับคุณโบว์มาชั่วโมงกว่าๆ รับรู้ได้เลยว่า การเลี้ยงดูของครอบครัวเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คุณโบว์เติบโตมาได้แบบเป็นตัวของตัวเอง การที่คุณพ่อคุณแม่ให้ความรัก ความอบอุ่น ความใส่ใจ ให้ได้เปิดโลก ให้ได้ลองทำหลายๆ อย่าง เป็นส่วนสำคัญมากที่ทำให้เด็กคนนึงได้มีข้อมูลมากพอที่จะเลือก จะตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง และเราคิดว่าเป็นส่วนสำคัญมากๆ ที่ทำให้คุณโบว์กลายมาเป็นโบว์ พัทธมน นิศาสบดี ในวันนี้ค่ะ
ใครสนใจใช้เวลาพักผ่อนไปกับการเปิดโลกศิลปะ ลองแวะไปกันที่ Saratta Space นะคะ
DIYINSPIRENOW ทำให้ฉันอยากเป็นคนใหม่ที่ดีกว่าเดิมหรือเปล่า ? คุณคิดว่าศิลปะกับชีวิตคุณเกี่ยวข้องในแง่มุมไหนบ้าง คอมเมนต์มาคุยกันนะคะ ♡