โรคกระเพาะอาหารอาจดูเหมือนเป็นโรคฮิตที่ใครหลายคนก็เป็นกัน แต่สาวๆ รู้หรือเปล่าคะว่าอาการ เจ็บท้องกระเพาะ อาจมีอันตรายแฝงมากกว่าที่คิดหากเราไม่ระวัง ไม่ป้องกัน และใช้ชีวิตแบบไม่ปรับพฤติกรรมให้เหมาะสม เพราะหากปล่อยจนอาการรุนแรงหล่ะก็ อาการปวดท้องกระเพาะอาจรุนแรงขึ้นและส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของเราได้ เพราะฉะนั้นตาม DIY INSPIRE NOW มาเช็กอาการปวดท้องที่เกิดขึ้นสักนิด ว่าผู้หญิง ปวดท้องแบบไหนคือโรคกระเพาะ อาการปวดแบบไหนที่ต้องระวัง และเราจะมีวิธีป้องกันหรือรักษาอย่างไรบ้าง มาดูกันเลยค่ะ
เจ็บท้องกระเพาะ อาการเป็นอย่างไร ?
อาการปวดท้องกระเพาะอาหารไม่เหมือนเวลาที่เราปวดท้องจากประจำเดือนหรืออาการแทรกซ้อนของโรคจากยุงนะคะ แต่เราจะมีอาการปวดบริเวณใต้ลิ้นปีเหนือสะดือ รวมถึงรู้สึกแสบร้อน แน่นท้องหลังกินอาหาร บางคนอาจรู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน และมีอาการเรอร่วมด้วย อาการจะเป็นๆ หายๆ บางช่วงอาจหายไปแล้วก็กลับมาเป็นอีกเมื่อมีปัจจัยเสี่ยงไปกระตุ้น เช่น การกินของเผ็ด กินอาหารไม่ตรงเวลา เป็นต้น ส่วนใหญ่อาการเจ็บท้องกระเพาะนั้นจะไม่รุนแรง แต่ถ้าเราปล่อยเอาไว้จนกลายเป็นภาวะเรื้อรังแล้วหล่ะก็ แผลในกระเพาะอาหารอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น มีเลือดออกที่กระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารอุดตัน หรือแม้แต่มะเร้งกระเพาะอาหาร เป็นต้น
อาการปวดท้องกระเพาะแบบไหน บ่งบอกว่าเราเสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร
ก่อนจะไปดูสาเหตุของอาการเจ็บท้องกระเพาะอาหาร เรามาเช็กก่อนว่าอาการปวดแบบไหนเสี่ยงเป็นมะเร็ง ถ้าเกิดอาการเหล่านี้ควรไปพบแพทย์ทันทีค่ะ
- ปวดท้องร่วมกับอาการอื่น เช่น อาเจียนมีเลือดปน หรือถ่ายอุจจาระสีดำ
- น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
- กินยาลดกรดแล้วอาการไม่ดีขึ้น
- ครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
หากพบว่าตัวเองมีอาการและมีความเสี่ยงตามที่กล่าวมา ไม่ค่อยชะล่าใจว่าเราแค่ปวดท้องเพราะโรคกระเพาะนะคะ แต่ให้ไปตรวจอย่างละเอียดอีกครั้งจะดีที่สุด
เจ็บท้องกระเพาะ เกิดจากอะไร
- กินอาหารไม่ตรงเวลา กินอาหารไม่ครบทุกมื้อ
- การกินยาแก้ปวดกลุ่มแอสไพรินและยาแก้อักเสบบางชนิด
- การสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- มีความเครียดหรือความวิตกกังวล
- อาการปวดที่เกิดจากก้อนเนื้องอกในกระเพาะอาหาร
จะเห็นว่าสาเหตุของการเจ็บท้องกระเพาะนั้นมีหลากหลายแต่ส่วนใหญ่จะเกิดจากพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ของเราทั้งนั้นค่ะ โดยเมื่อเป็นแผลในกระเพาอาหารขึ้นมาแล้ว จะเกิดอาการปวดแบบเป็นๆ หายๆ คาดเดาช่วงเวลาที่จะเกิดขึ้นไม่ได้ ต่างจากโรคบางชนิดที่สามารถติดตามอาการระยะต่อไปได้ว่าจะมีอาการแบบไหน เช่น ไข้เลือดออก เพราะเรารู้ชัดเจนว่าไข้เลือดออกมีกี่ระยะทำให้ประเมินระดับความรุนแรงได้ แต่อาการปวดท้องกระเพาะนั้นอาจรุนแรงขึ้นมาได้ทุกเมื่อหากเราปล่อยไว้จนเป็นภาวะเรื้อรังค่ะ
ทำความรู้จักวิธีรักษาและการดูแลตัวเองเมื่อเจ็บท้องกระเพาะกันดีกว่า
การรักษาอาการเจ็บท้องกระเพาะที่ดีที่สุดก็คือ “ป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น” ด้วยการปรับพฤติกรรม ไลฟ์สไตล์ต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการกินอาหาร เริ่มจากการกินอาหารให้ตรงเวลาและกินให้ครบทุกมื้อ ลดการกินของรสจัดโดยเฉพาะของเผ็ดและของหมักดอง ทำจิตใจให้ร่าเริง ไม่เครียด รวมถึงเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยนะคะ
ส่วนวิธีการดูแลตัวเองเมื่ออาการปวดท้องกำเริบ สามารถทำได้ ดังนี้
- กินอาหารอ่อนหรือของเหลว เช่น ข้าวต้ม ซุป เป็นต้น
- แบ่งกินอาหารเป็นมื้อเล็กๆ เพื่อลดภาระของกระเพาะอาหาร
- กินยาลดกรด โดยยาลดกรดจะช่วยให้กรดในกระเพาะอาหารมีความสมดุลจึงช่วยบรรเทาอาการปวดท้องของเราได้ แต่อย่างไรก็ตามควรระวังเวลากินยาลดกรดร่วมกับยากลุ่มอื่น เพราะยาลดกรดจะส่งผลต่อการดูดซึมยาบางชนิด ดังนั้นหากสาวๆ กินยาประเภทอื่นๆ อยู่แล้ว ก็ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนซื้อยาลดกรดมากินเองนะคะ
- กินยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะ เพราะยาในกลุ่มนี้จะช่วยฆ่าเชื้อโรคในระบบย่อยอาหาร โดยเฉพาะเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไรที่ทำให้เราปวดท้อง แต่ก่อนกินยาก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเช่นกันค่ะ
- กินยาเคลือบกระเพาะอาหาร เพราะยาเคลือบกระเพาะจะทำหน้าที่เคลือบแผลที่เกิดขึ้นในกระเพาะอาหาร โดยเฉพาะเมื่อเรากินอาหารรสจัดหรืออาหารที่มีกรดเข้าไป แถมคุณสมบัติพิเศษอีกอย่างของยาเคลือบกระเพาะก็คือ สามารถกินเพื่อป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารสำหรับคนที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้ป่วยที่ต้องกินยาแก้อักเสบเป็นประจำ เป็นต้น
Inspire Now ! : อาการปวดท้องสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนั้นอย่าลืมสังเกตให้ดีว่าที่เราปวดท้องนั้นเป็นเพราะอะไร ส่วนอาการปวดท้องกระเพาะนั้นอาจไม่ได้รุนแรงหรือดูร้ายแรงในความคิดของเรา แต่หากปล่อยเอาไว้และยังไม่ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต จากอาการปวดธรรมดาก็เสี่ยงเป็นโรคร้ายได้ เพราะฉะนั้นอย่าลืมหันมาป้องกันตัวเองไว้ก่อน และเมื่อเกิดอาการปวดขึ้นมาก็ควรดูแลตัวเองให้ถูกวิธี เพื่อไม่ให้อาการเจ็บท้องกระเพาะกลายเป็นโรคร้ายแรงที่เราคิดไม่ถึงในภายหลังค่ะ |
DIY INSPIRE NOW ทำให้ฉันได้คำตอบใช่ไหม ? ใครรู้ตัวว่าต้องปรับไลฟ์สไตล์ใหม่เพื่อให้ห่างไกลจากอาการปวดท้องกระเพาะ ลองมาแชร์ประสบการณ์ของคุณกับเราได้เลยค่ะ ♡
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : webmd.com, healthline.com