วันป่าไม้โลก, ป่าไม้ผลัดใบ คือ

วันป่าไม้โลก สำคัญยังไง ? ป่ามีกี่แบบ ชวนรักป่าให้มากขึ้นกัน !

ทรัพยากรป่าไม้ เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อมนุษย์เราเป็นอย่างมาก และไม่ใช่แค่มีความสำคัญต่อมนุษย์เท่านั้น ป่าไม้ยังมีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ทั้งสัตว์น้อยใหญ่ รวมถึงมีความสำคัญต่อระบบนิเวศในธรรมชาติด้วย ป่าไม้เปรียบเสมือนปอดของโลก เราจึงควรรักษาป่าไม้ให้มีความอุดมสมบูรณ์ต่อไปเป็นอย่างยิ่ง แต่ในบางพื้นที่ยังคงมีการตัดไม้ทำลายป่า มีการเผาป่า ทำให้ป่าทรุดโทรมและมีต้นไม้ลดลงเป็นอย่างมาก จึงต้องมีการกำหนด “วันป่าไม้โลก” เพื่อให้มนุษย์ได้ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างป่าไม้ให้มากขึ้น มารู้จักวันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมอีกวันหนึ่งให้มากขึ้นกันค่ะ

วันป่าไม้โลก วันสำคัญทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของโลก

วันป่าไม้โลก, ป่าไม้ผลัดใบ คือ
Image Credit : freepik.com

วันป่าไม้โลก หรือ International Day of Forests ตรงกับวันที่ 21 มีนาคมของทุกปี จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ผู้คนได้ตระหนักถึงคุณค่าของป่าไม้ ซึ่งเป็นทรัพยากรทางธรรมชาติที่สำคัญต่อมนุษย์โลกเป็นอย่างยิ่ง ป่าเป็นระบบนิเวศขนาดใหญ่ที่ช่วยรักษาสมดุลทางธรรมชาติ เป็นแหล่งกำเนิดของต้นน้ำลำธาร และยังเป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์ป่านานาชนิด แต่ในทุกวันนี้ ป่าไม้ได้ลดลงไปมาก ปัจจุบันโลกของเรามีพื้นที่ป่าทั้งหมดคิดเป็น 31% ของพื้นที่ทั่วโลก และได้มีการบุกรุกทำลายป่าไม้กันมากขึ้น เนื่องจากมีการขยายตัวของประชากรอย่างรวดเร็ว ทำให้มีการขยายตัวของชุมชนที่อยู่อาศัย มีการบุกรุกป่าไม้เพื่อทำเป็นพื้นที่เพาะปลูก ทั้งยังมีการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าเป็นจำนวนมาก ทำให้จำนวนป่าไม้ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเกิดภัยพิบัติเกิดขึ้นมากมาย

สำหรับแนวคิดในการกำหนดวันป่าไม้โลก มีจุดเริ่มต้นมาจากการประชุมสมัชชนทั่วไปของสันนิบาตยุโรปด้านการเกษตร (European Confederation of Agriculture) ครั้งที่ 23 ในปี พ.ศ.2541 และในปีเดียวกัน องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAQ) ก็ได้สนับสนุนแนวคิดดังกล่าว โดยมีการคาดหวังว่า การกำหนดวันป่าไม้โลกขึ้น จะสามารถกระตุ้นให้ประชาชนได้เห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 ณ เมืองกลาสโลว์ ประเทศสกอตแลนด์ ซึ่งหลากหลายประเทศมีความตกลงและเห็นชอบร่วมกันว่า จะยุติการทำลายป่าในปี ค.ศ. 2030

ทั้งนี้ ประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศภาคีที่เข้าร่วมประชุมและได้มีการประกาศเจตนารมณ์ยุติการตัดไม้ในปี พ.ศ. 2573 และมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภท ให้ได้ร้อยละ 55 ในปี พ.ศ. 2580 และสำหรับประเทศไทย กิจกรรมวันป่าไม้โลกอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการจัดกิจกรรมให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องความสำคัญของป่าไม้ รวมถึงมีการรณรงค์ให้ปลูกป่าเพื่อรักษาต้นน้ำ และร่วมกันช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติ เพราะป่ายังคงเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอน (Carbon sink) ชั้นเยี่ยมของโลก หากป่ามีจำนวนลดลง ก็ส่งผลทำให้มีแหล่งกักเก็บคาร์บอนลดลง ในขณะที่โลกของเรามีการปล่อยคาร์บอนออกมามากยิ่งขึ้น และในที่สุดอาจจะมีวันที่เกินขีดความสามารถในการฟื้นฟูป่าไม้ จึงเป็นเหตุให้กำหนดวันป่าไม้โลกขึ้น รวมทั้งข้อตกลงและความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ เพื่อป้องกัน สนับสนุน ส่งเสริมให้เกิดการรักษ์โลก รักสิ่งแวดล้อม และตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรป่าไม้ให้มากขึ้นก่อนที่จะสายเกินไป

[affegg id=4636]

ชวนรู้จักประเภทของป่า ป่าไม้ทั่วโลก มีป่าแบบไหนกันบ้างนะ ?

วันป่าไม้โลก, ป่าไม้ผลัดใบ คือ
Image Credit : freepik.com

ในตอนนี้เราก็ได้รู้ถึงที่มาของการกำหนดวันป่าไม้โลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และป่าไม้นั้นก็นับเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกมากมาย “ป่าไม้” หมายถึงบริเวณที่มีต้นไม้หลายชนิด หลายขนาด ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น และกว้างใหญ่พอที่จะมีอิธิพลต่อส่งแวดล้อมในบริเวณนั้น เนื่องจากป่าไม้เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของทั้งมนุษย์และสัตว์ รวมถึงมีความสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตทุกชนิด และป่าไม้บนผืนโลกก็มีอยู่หลายประเภทด้วยกัน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ จะมีประเภทไหนบ้าง ไปดูกันเลยค่ะ

  1. ป่าศูนย์สูตร หรือ Equatorial Rainforest เป็นป่าที่มีต้นไม้สูงขึ้นเบียดกันหนาแน่น แสงแดดไม่สามารถส่องลงมาถึงพื้นดินได้ เป็นป่าไม้ที่มีใบกว้างไม่ผลัดใบ และจะพบไม้เลื้อย หรือไม้เถาพันหรือเกาะตามกิ่งก้านของต้นไม้เป็นจำนวนมาก 
  2. ป่าร้อนชื้น หรือ Tropical Rainforest จะมีลักษณะคล้ายป่าศูนย์สูตร และมักปรากฎอยู่ด้านหน้าของภูเขาที่ตั้งรับลมประจำซึ่งพัดจากทะเลเข้าสู่ฝั่ง ทำให้มีลักษณะเป้นป่าดงดิบ และมีจำนวนต้นไม้น้อยกว่าป่าศูนย์สูตร 
  3. ป่ามรสุม หรือ Monsoon Forest เป็นป่าไม้ที่มีต้นไม้ขึ้นอยู่ห่างๆ บริเวณพื้นดินจะมีไม้เล็กๆ ขึ้น แสงแดดสามารถส่องทะลุผ่านป่าไปถึงพื้นดินได้ ซึ่งมักจะเป็นไม้ที่ผลัดใบ
  4. ป่าไม้อบอุ่นไม่ผลัดใบ หรือ Temperate Rainforest เป็นป่าไม้ในเขตอบอุ่นที่มีใบเขียวตลอดปี มีพรรณไม้น้อยชนิด แต่ละชนิดจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ซึ่งมีขนาดและความสูงของต้นไม้เท่ากับป่าศูนย์สูตร
  5. ป่าไม้อบอุ่นผลัดใบ หรือ Temperate Deciduous Forest เป็นป่าไม้ผลัดใบ คือ ป่าไม้ที่มีใบเขียวชอุ่มในฤดูร้อน แต่จะผลัดใบในฤดูหนาว ต้นไม้ในป่าประเภทนี้จะมีลำต้นสูงและมีใบขนาดใหญ่
  6. ป่าสน หรือ Needle Leaf Forest เป็นป่าที่มีต้นไม้ลักษณะลำต้นตรง กิ่งสั้น ใบมีขนาดเล็กกลมคล้ายกับเข็มเย็บผ้า มีต้นไม้เบียดเสียดกันอย่างหนาแน่น และมีใบเขียวชอุ่มตลอดปี โดยส่วนใหญ่แล้ว จะเป็นต้นไม้ตระกูลสนทั้งสิ้น
  7. ป่าไม้เนื้อแข็งไม่ผลัดใบ หรือ Evergreen Hardwood Forest เป็นป่าที่มีต้นไม้เตี้ยๆ มีลำต้นขนาดเล็ก ใบแข็ง และต้นมีกิ่งก้านตั้งแต่ลำต้นจนถึงปลายยอด ลักษณะคล้ายกับป่าไม้ผสมกับป่าละเมาะ 
  8. ป่าสะวันนา หรือ Savanna Woodland จะเป็นป่าไม้ที่มีไม้ขึ้นอยู่ห่างๆ บริเวณช่องว่างระหว่างต้นไม้ใหญ่ๆ จะมีไม้พุ่มขึ้นอย่างหนาแน่น ซึ่งเป็นป่าที่อยู่ในสภาพอากาศค่อนข้างแห้งแล้ง จึงทำให้ต้นไม้ใหญ่ขึ้นไม่หนาแน่น
  9. ป่าหนามและป่าพุ่มเขตร้อน หรือ Thornbush and Tropical Scrubs เป็นป่าที่มีต้นไม้ทนต่อความแห้งแล้ง มีลักษณะเป็นไม้พุ่ม ซึ่งพืชพรรณเหล่านี้ทนต่อสภาพความแห้งแล้งที่ยาวนานและมีฤดูฝนสั้นๆ ได้ดี ส่วนป่าหนามนั้น จะเป็นพุ่มที่มีหนาม และจะผลัดใบในช่วงที่ขาดแคลนน้ำ
  10. ป่ากึ่งทะเลทราย หรือ Semidesert Woodland เป็นพืชพรรณที่ทนต่อความแห้งแล้ง ส่วนใหญ่เป็นไม้พุ่ม และตามพื้นดินของป่าชนิดนี้จะมีวัชพืชหรือพืชต้นเล็กๆ ขึ้นอยู่น้อยมาก
  11. พืชพรรณในทะเลทราย หรือ Desert Vegetation มักจะพบพืชที่มีใบเล็กๆ เป็นพืชที่มีหนาม และลำต้นสามารถเก็บกักน้ำไว้ได้ เช่น ตะบองเพชร รวมทั้งมีพืชจำพวกหญ้าแข็งๆ ขึ้นปะปนอยู่เป็นหย่อมๆ
  12. ป่าในเขตอากาศหนาว หรือ Cold Woodland เป็นพืชพรรณที่พบได้ในอากาศแถบขั้วโลกหรือเขตอากาศแบบทุนดรา ซึ่งต้นไม้ในป่าประเภทนี้จะมีขนาดเล็กมาก มีลำต้นเตี้ยและขึ้นอยู่ห่างๆ กัน ส่วนใหญ่จะเป็นไม้พุ่มเตี้ยๆ และพื้นดินถูกปกคลุมด้วยมอส

ชวนรู้จักป่าในประเทศไทย เป็นป่าแบบไหนกัน ?!

วันป่าไม้โลก, ป่าไม้ผลัดใบ คือ
Image Credit : freepik.com

ป่าในประเทศไทย สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ป่าไม่ผลัดใบ ( Evergreen Forest) และ (Deciduous Forest) โดยแต่ละประเภทแบ่งได้ดังนี้

  1. ป่าไม่ผลัดใบ คือ ป่าที่มีเรือนยอดเขียวชอุ่มตลอดปี เนื่องจากต้นไม้เกือบทั้งหมดที่ขึ้นอยู่เป็นไม้ไม่ผลัดใบ เมื่อใบเก่าร่วงหล่นไป ใบใหม่ก็ผลิออกมาทันที แบ่งได้ออกเป็นอีก 4 ชนิดคือ ป่าดิบเขตร้อน ป่าสน ป่าพรุหรือป่าบึง และป่าหายหาด
  2. ป่าไม้ผลัดใบ คือ ป่าที่มีองค์ประกอบพืชพรรณเป็นไม้ผลัดใบ และมักจะผลัดใบหมดในฤดูแล้ง และเริ่มผลิใบใหม่ในต้นฤดูฝน พบได้ทั่วทุกภาคในประเทศไทย ยกเว้นภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงใต้ แบ่งออกเป็น 3 ชนิดตามองค์ประกอบพืชพรรณ ได้แก่ ป่าเบญจพรรณหรือป่าผลัดใบผสม ป่าเต็งรัง และป่าหญ้า

สำหรับในประเทศไทย จังหวัดที่ดูแลผืนป่าไม้ดี และมีสัดส่วนพื้นที่ป่ามากที่สุด 5 อันดับคือ 1) จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีพื้นที่ป่าคิดเป็น 84.65% 2) จังหวัดตาก คิดเป็น 71.8% 3) จังหวัดลำปาง คิดเป็น 69.89% 4) จังหวัดเชียงใหม่ คิดเป็น 69.07% และ 5) จังหวัดแพร่ คิดเป็น 64.77% (สถิติจากกรมป่าไม้ อัพเดตล่าสุดปี พ.ศ. 2564)

[affegg id=4637]

ป่าไม้สำคัญอย่างไร ? ทำไมเราถึงต้องอนุรักษ์ป่ากัน

วันป่าไม้โลก, ป่าไม้ผลัดใบ คือ
Image Credit : freepik.com

ป่าไม้มีองค์ประกอบที่สลับซับซ้อนเป็นอย่างมาก ทำหน้าที่ในการแลกเปลี่ยน กักเก็บ และปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งในทุกส่วนของพืชมีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบ และแม้กระทั่งเศษไม้หริอซากพืชที่ตายแล้วก็ยังมีความสำคัญ เพราะกลายเป็นแหล่งธาตุอาหารสำคัญของสิ่งมีชีวิต ซึ่งจะถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์และมีการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ จากนั้นจะถูกจัดเก็บไว้ในดิน จึงกล่าวได้ว่า ป่าไม้เป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนที่สำคัญของโลก ทั้งยังเป็นแหล่งต้นน้ำทางธรรมชาติอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม กิจกรรมของมนุษย์ในปัจจุบันส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการทำเกษตรกรรมที่มีการถางป่าเพื่อทำเป็นพื้นที่เพาะปลูก ทำให้เกิดภูเขาหัวโล้นขึ้น หรือการเผาป่า การตัดไม้ทำลายป่าเพื่อนำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ทำให้ป่ามีความเสื่อมโทรม อีกทั้งสัตว์ป่าหลายชนิดก็มีจำนวนลดน้อยลงเพราะถูกบุกรุกที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ การทำอุตสาหกรรมชนิดต่างๆ รวมถึงมลพิษที่เกิดขึ้นทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนขึ้น ทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศอื่นๆ อีกมากมาย ป่าไม้ ไม่ว่าจะเป็นป่าประเภทใดก็ตาม ทั้งป่าไม่ผลัดใบและป่าไม้ผลัดใบ คือหนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะทำให้สภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมของโลกมีความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น การเพิ่มพื้นที่ป่าและพื้นที่สีเขียวเพื่อสร้างแหล่งดูดซับคาร์บอนให้มากขึ้น จะช่วยให้โลกของเราเกิดความแปรปรวนทางธรรมชาติน้อยลงได้

ชวนดู 3 ประเทศที่มีป่าไม้มากที่สุดในโลก

วันป่าไม้โลก, ป่าไม้ผลัดใบ คือ
Image Credit : freepik.com

1. ประเทศรัสเซีย

นอกจากจะเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว ยังมีพื้นที่ป่ามากที่สุดในโลกด้วยเช่นกัน โดยมีพื้นที่ป่ามากกว่า 8 ล้านตารางกิโลเมตร เทียบเป็นสัดส่วนประมาณ 49% ของพื้นที่ภายในประเทศ มีทั้งป่าสน ป่าผลัดใบ และในประเทศรัสเซียมีพื้นที่คุ้มครองเป็นจำนวนมาก เช่น ซาโปเวดนิด เป็นเขตรักษาสัตว์ป่าและพรรณพืชที่บริหารจัดการโดยรัฐบาลกลาง และสวนธรรมชาติอื่นๆ ในป่ารัสเซียเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลากหลายสายพันธ์ุ ทั้งหมีสีน้ำตาล ลิงซ์ยูเรเชีย กวางแดง เสือโคร่งอามูร์ เสือดาวอามูร์ และหมีดำเอเชีย ทั้งยังมีนกมากกว่า 300 สายพันธ์ุ

2. ประเทศบราซิล

ป่า Amazon ในบราซิล เป็นป่าฝนเขตร้อนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ในบราซิลมีพื้นที่ป่าประมาณ 4.7 ล้านตารางกิโลเมตร คิดเป็น 56% ของพื้นที่ทั้งหมดในประเทศ ป่าแอมะซอนเป็นแหล่งผลิตออกซิเจนให้กับโลกประมาณ 20% เรียกได้ว่าเป็นปอดของโลกเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม พื้นที่ป่าส่วนใหญ่อยู่ในประเทศบราซิลประมาณ 60% รองลงมาคือ เปรู โคลอมเบีย ครอบคลุมไปถึงประเทศอื่นๆ ในทวีปอเมริกาใต้อีกหลายประเทศ ป่าเอมะซอนเป็นป่าดิบชื้นเขตร้อนขนาดใหญ่ที่สุดและมีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในโลก มีพืชมากกว่า 3 หมื่นชนิด และสัตว์อีกหลายพันชนิดเลยทีเดียว

3. แคนาดา

แคนาดามีป่าประมาณ 3.4 ล้านตารางกิโลเมตร เป็นประเทศที่มีพื้นที่ป่ามากเป็นอันดับ 3 ของโลก ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีภูมิประเทศอุดมสมบูรณ์ มีป่าบอเรียลที่เป็นป่าที่ใหญ่ที่สุดและอุดมสมบูรณ์มากที่สุด อยู่ทางตอนเหนือของประเทศ มีต้นไม้เขียวชอุ่มตลอดทั้งปี ทั้งยังมีอุทยานแห่งชาติอีกหลายแห่ง ป่าของแคนาดามีระบบนิเวศที่หลากหลาย ทำให้พบสัตว์ป่านานาชนิด อาทิ หมีกริซลี่ หมีขั้วโลกแคนาดา หมีดำ หมาป่า กวางมูส วัวกระทิง แพะภูเขา เสือภูเขา เป็นต้น ทั้งยังมีนกมากกว่า 150 สายพันธ์ุ และมีระบบนิเวศที่หลากหลายในผืนป่าแห่งนี้

[affegg id=4638]

Inspire Now ! : ป่าไม้ขึ้นชื่อได้ว่าเป็นปอดของโลก ไม่ว่าจะเป็นป่าที่ใดก็ตาม เพราะต่างก็ช่วยดูดซับคาร์บอนและแปรเปลี่ยนเป็นออกซิเจนให้กับเรา การที่จำนวนป่าไม้ลดลงนั้นส่งผลต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ประกอบกับพฤติกรรมของมนุษย์เองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้จำนวนป่าลดลงไปด้วย ทั้งการเผาป่า ตัดไม้ทำลายป่า บุกรุกป่าและอื่นๆ หากในอนาคตพื้นที่สีเขียวลดลง ก็คงจะทำให้เกิดความแปรปรวนทางสภาพอากาศยิ่งกว่าในปัจจุบัน จึงต้องมีการอนุรักษ์ป่าไม้และต้นไม้ให้มากขึ้น ซึ่งเราเองก็สามารถทำได้เช่นกัน เพียงแค่ปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นในบ้าน หรือมีการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ไม่ไปบุกรุกป่าและทำลายป่า ร่วมกับมีวิธีการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่ไม่ใช่เฉพาะแค่ผืนป่าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผืนน้ำ อากาศ หากทุกคนบนโลกช่วยกันรักษาดูแลสิ่งแวดล้อม แม้เพียงเล็กน้อย เชื่อว่าจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้แน่นอนค่ะ

DIY INSPIRE NOW คือแรงบันดาลใจของฉันใช่ไหม ? เพียงแค่ช่วยกันดูแลรักษาต้นไม้ ปลูกต้นไม้ให้มากขึ้น เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น ก็จะช่วยให้โลกของเรามีสีเขียวมากขึ้น และทำให้สิ่งแวดล้อมของโลกดีขึ้นได้ ถ้าใครชอบเรื่องราวเกี่ยวกับสัตว์ป่า ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปอ่านเรื่องราวของ ประเภทของช้าง เพิ่มเติมได้นะคะ ♡

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : chm-thai.onep.go.th, arit.kpru.ac.th, seub.or.th, forest.go.th, prd.go.th, un.org

Featured Image Credit : vecteezy.com/Doidam 10

Facebook Comments

หาข้อมูล-ลงมือเขียนและเรียบเรียงโดยทีมกองบรรณาธิการเว็บไซต์ DIY INSPIRE NOW