บัตรทองคืออะไร, สิทธิ์บัตรทอง

บัตรทองคืออะไร ? ชวนรู้จัก “บัตรทอง” และสิทธิประโยชน์ที่ประชาชนควรได้รับ (อัปเดต ปี 2022)

ในเรื่องของสิทธิค่ารักษาพยาบาล อันเป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีวิต นอกจากประกันค่ารักษาพยาบาลที่ได้ทำไว้กับบริษัทประกันต่างๆ หรือประกันสังคม หรือสิทธิการรักษาในกรณีที่เป็นข้าราชการแล้ว ก็ยังมีอีกหนึ่งสวัสดิการจากทางรัฐที่มีไว้สำหรับประชาชนคนไทยทุกคน นั่นก็คือ สิทธิ์บัตรทอง บางคนอาจจะเคยได้ยินเกี่ยวกับการใช้บัตรทองสำหรับเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลรัฐกันมาบ้าง แต่ยังไม่ได้รู้ลึกแน่ชัดว่า บัตรทองคืออะไร ? สามารถใช้ได้ทุกคนไหม ? และถ้าอยากทำบัตรทอง ต้องทำอย่างไร ? ในบทความนี้ เรามีข้อมูลเกี่ยวกับบัตรทองมาฝากกันค่ะ

บัตรทองคืออะไร ? ใครสามารถใช้บัตรทองได้บ้าง

บัตรทองคืออะไร, สิทธิ์บัตรทอง
Image Credit : www.prachachat.net

บัตรทอง คือสิทธิรักษาพยาบาลให้กับผู้ที่มีสัญชาติไทย ที่มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก และไม่มีสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลอื่นใดที่รัฐจัดให้ โดยมีสิทธิลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการประจำเพื่อใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ และสามารถเข้ารับบริการทางสาธารณสุขได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตามประกาศของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

สิทธิ์บัตรทอง เรียกอีกอย่างว่า สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรี ทำหน้าที่บริหารกองทุนให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนด เพื่อส่งเสริมให้คนไทยเข้าถึงบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การตรวจวินิจฉัยโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต รวมถึงบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกตามกฎหมาย

ปัจจุบันในประเทศไทย มีสิทธิสำหรับการใช้บริการทางการแพทย์จากรัฐอยู่ 5 ประเภทคือ สิทธิข้าราชการ สิทธิพนักงานส่วนท้องถิ่น สิทธิพนักงานรัฐวิสาหกิจ ผู้ประกันตนของกองทุนประกันสังคม และสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทองนั่นเอง ซึ่งเป็นสวัสดิการที่จัดบริการให้กับผู้ที่ไม่มีสวัสดิการอื่นๆ คุ้มครอง หรือไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน ทั้งนี้ ปัจจุบัน สปสช. ได้ขยายขอบเขตบริการ หากมีความเจ็บป่วยเกิดขึ้น สามารถไปรับบริการในหน่วยบริการปฐมภูมิได้ทุกที่ โดยไม่จำเป็นจะต้องเป็นหน่วยบริการที่ขึ้นสิทธิไว้

[affegg id=4548]

บริการที่คุ้มครองค่าใช้จ่าย หากใช้บริการบัตรทองคืออะไรบ้าง ?

บัตรทองคืออะไร, สิทธิ์บัตรทอง
Image Credit : freepik.com

การใช้บัตรทอง สามารถใช้บริการทางด้านสุขถาพได้อย่างครอบคุลมหลากหลาย ซึ่งในปี 2565 ได้มีการอัปเดตสิทธประโยชน์ในการใช้บัตรทอง ดังนี้

  • บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 
  • การตรวจวินิจฉัยโรค ตั้งแต่โรคทั่วไป เช่น ไข้หวัด ไปจนถึงโรคเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเอดส์ วัณโรค ฯลฯ
  • บริการทันตกรรม เช่น อุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปุน การรักษาโพรงประสาทฟันน้ำนม การเคลือบหลุมร่องฟัน การผ่าฟันคุด เป็นต้น 
  • การตรวจและรับฝากครรภ์ (อ่านเพิ่มเติม คุณแม่ตั้งครรภ์มือใหม่)
  • การบำบัดทางการแพทย์และบริการทางการแพทย์ 
  • การรับยา เวชภัณฑ์ อวัยวะเทียม และอุปกรณ์ทางการแพทย์ 
  • การทำคลอด โดยสามารถใช้สิทธิได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง
  • การกินอยู่ในหน่วยบริการ
  • การบริบาลทารกแรกเกิด
  • บริการรถพยาบาล หรือบริการพาหนะรับส่งผู้ป่วย
  • บริการพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพ
  • การฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายและจิตใจ
  • บริการสาธารณสุขด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกตามกฎหมาย
  • บริการสาธารณสุขอื่นๆ ที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนดเพิ่มเติม 
  • เมื่อเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ได้มีการประกาศเพิ่มบริการสำหรับผู้ถือบัตรทอง ให้สามารถรับยารักษาอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการ โดยสามารถรับยาได้ที่ร้านยาชุมชนอบอุ่นใกล้บ้านที่เข้าร่วมมากกว่า 500 แห่งทั่วประเทศ โดยสังเกตที่สติกเกอร์ด้านหน้าร้านยา “ร้านยาคุณภาพของฉัน” ซึ่งอาการเจ็บป่วย 16 อาการ ได้แก่ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ปวดข้อ เจ็บกล้ามเนื้อ ไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องผูก ถ่ายปัสสาวะขัด ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะเจ็บ ตกขาวผิดปกติ มีผื่นคันทางผิวหนัง มีบาดแผล มีความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตา และมีความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับหู

ทั้งนี้ เมื่อเกิดเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตขึ้น หมายถึง เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตที่หากไม่รักษาทันทีจะมีโอกาสเสียชีวิตสูง ประชาชนทุกคนสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุดได้ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐ หรือโรงพยาบาลเอกชน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจนพ้นวิกฤตและสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย แต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง ตามสิทธิที่เรียกว่า UCEP โดยมี 6 กลุ่มอาการคือ 1)หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ 2) หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง 3) ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น 4) เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง 5) แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วยหรือชักต่อเนื่องไม่หยุด 6) อาการอื่นๆ ที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่เป็นอันตรายต่อชีวิต

บริการที่ไม่อยู่ในความคุ้มครองของบัตรทองคืออะไรบ้าง ?

แม้บัตรทอง จะสามารถให้บริการการตรวจวินิจฉัย และรักษาทางสุขภาพโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ก็มีการรักษาบางประการที่ไม่อยู่ในความคุ้มครองของการใช้บัตรทอง ซึ่งมีดังนี้

  • การรักษาภาวะมีบุตรยาก การผสมเทียม
  • การแปลงเพศ หรือการกระทำใดๆ เพื่อความสวยงามโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
  • การตรวจวินิจฉัยและรักษาใดๆ ที่เกินความจำเป็นจากข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
  • การรักษาที่อยู่ระหว่างการค้นคว้าทดลอง วิจัย
  • การบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาและสารเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยสารเสพติด ยกเว้น บางกรณีตามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 
  • โรคเดียวกันที่ต้องใช้ระยะเวลารักษาตัวในโรงพยาบาลประเภทผู้ป่วยในเกินกว่า 180 วัน ยกเว้นกรณีมีความจำเป็นต้องรักษาต่อเนื่องจากภาวะแทรกซ้อนหรือข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
  • การปลูกถ่ายอวัยวะ (Organ Transplantation) ยกเว้นบางกรณีตามหลักประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เช่น การปลูกถ่ายไตเพื่อรักษาโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย การปลูกถ่ายตับในเด็ก (อายุไม่เกิน 18 ปี) ที่เป็นโรคท่อน้ำดีตีบตีนแต่กำเนิด เป็นต้น

[affegg id=4549]

วิธีใช้บัตรทองเมื่อมีความเจ็บป่วย สามารถทำได้อย่างไร ?

บัตรทองคืออะไร, สิทธิ์บัตรทอง
Image Credit : freepik.com

เมื่อเกิดความเจ็บป่วยขึ้น และต้องการไปโรงพยาบาล สามารถเข้ารับการรักษา ณ สถานพยาบาล/โรงพยาบาลที่ระบุไว้ในบัตรทอง หรือหน่วยปฐมภูมิสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งโดยไม่ต้องมีใบส่งตัว และเมื่อไปถึงโรงพยาบาล ให้แสดงความจำนงเพื่อขอใช้สิทธิบัตรทองทุกครั้ง จากนั้น แสดงบัตรทองพร้อมกับบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวที่มีรูปถ่าย ซึ่งทางราชการออกให้ (ในกรณีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ให้ใช้สำเนาสูติบัตร หรือใบเกิด) และควรไปรักษาในเวลาทำการ หรือเวลาที่สถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลกำหนด

ผู้ที่สามารถใช้สิทธิ์บัตรทองได้ คือใครบ้าง ?

บัตรทองคืออะไร, สิทธิ์บัตรทอง
Image Credit : freepik.com

ตามที่ได้กล่าวไปว่า บัตรทอง เป็นสวัสดิการทางสุขภาพที่มีให้กับคนไทย ที่ไม่ได้มีสิทธิสวัสดิการทางสังคมอื่นๆ ซึ่งสามารถแบ่งประเภทได้ดังนี้

  • เด็กแรกเกิดที่ไม่มีสิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลข้าราชการจากบิดามารดา
  • บุตรของข้าราชการที่บรรลุนิติภาวะ (อายุ 20 ปีขึ้นไปหรือสมรส) และไม่มีสิทธิประกันสุขภาพจากหน่วยงานรัฐ
  • บุตรข้าราชการคนที่ 4 ขึ้นไป และไม่มีสิทธิประกันสุขภาพจากหน่วยงานรัฐ เนื่องจากสิทธิข้าราชการคุ้มครองบุตรเพียง 3 คน 
  • ผู้ประกันตนที่เคยมีสิทธิประกันสังคมแต่ขาดการส่งเงินส่งทบกองทุนประกันสังคม 
  • ผู้สูงอายุ และข้าราชการที่เกษียณอายุหรืออกจากราชการโดยไม่ได้รับบำนาญ
  • ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น ค้าขาย รับจ้างทั่วไป และไม่มีสิทธิประกันสังคม มาตราต่างๆ

จะตรวจสอบสิทธิการใช้บัตรทองได้อย่างไร ?

วิธีตรวจสอบว่าสามารถใช้บัตรทองได้หรือไม่ สามารถทำได้ด้วยตัวเอง ดังนี้

  1. ติดต่อสายด่วน สปสช. ทางโทรศัพท์เบอร์ 1330 กด 2
  2. ตรวจสอบสิทธิได้ที่เว็บไซต์ สปสช. eservices.nhso.go.th
  3. ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น สปสช. เลือกเมนู ตรวจสอบสิทธิตนเอง
  4. แอดไลน์ สปสช. ที่ @nhso เลือกเมนู ตรวจสอบสิทธิ

จะสมัครบัตรทองได้อย่างไร ?

ผู้ที่มีความประสงค์อยากจะสมัครใช้สิทธิ์บัตรทอง สามารถขึ้นทะเบียนได้ที่สถานีอนามัย หรือโรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร สามารถขึ้นทะเบียนได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานครที่อยู่ใกล้บ้านหรือสถานที่พำนักอาศัย หรือสถานที่ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนด โดยสามารถตรวจสอบสถานพยาบาลบัตรทองใกล้บ้านได้ที่ report.nhso.go.th ซึ่งเอกสารที่ต้องเตรียมสำหรับการสมัครขอบัตรทอง มีดังนี้

  1. สำเนาบัตรประชาชน ในกรณีที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ให้ใช้สูติบัตร
  2. สำเนาทะเบียนบ้าน และในกรณีที่ที่อยู่ปัจจุบันไม่ตรงกับทะเบียนบ้าน ให้ใช้สำเนาทะเบียนบ้านที่ไปพักอาศัย และหนังสือรับรองของเจ้าบ้าน หรือหนังสือรับรองของผู้นำชุมชนว่าได้ไปพักอยู่อาศัยจริง

ทั้งนี้ สามารถสมัครบัตรทองทางออนไลน์ได้ โดยสมัครผ่านทางแอปพลิเคชั่น สปสช. ซึ่งทางผู้สมัครจะต้องเตรียมบัตรประชาชน และดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น จากนั้นกดปุ่มลงทะเบียน กรอกเลขบัตรประชาชน และทำตามขั้นตอน แนบหลักฐานแสดงที่อยู่ ณ ปัจจุบัน และเอกสารอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น เลือกเครือข่ายหน่วยบริการ และตรวจสอบสถานะลงทะเบียนในภายหลัง โดยสามารถสอบถามข้อมูลการลงทะเบียนแบบออนไลน์ได้ที่เบอร์ 1330

[affegg id=4550]

Inspire Now ! : บัตรทองคืออะไรที่เป็นสิทธิพื้นฐานทางด้านสุขภาพและสาธารณสุขของคนไทย โดยอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. เมื่อเกิดความเจ็บป่วยขึ้น ก็สามารถเข้ารับการตรวจรักษาได้จากสถานพยาบาลที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ และผู้ที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไข ก็สามารถสมัครใช้สิทธิบัตรทองได้ตามช่องทางต่างๆ ซึ่งบัตรทองเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการควบคุมค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลเบื้องต้น สำหรับคนที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพอื่นๆ ทั้งจากทางรัฐและเอกชน และเป็นสวัสดิการพื้นฐานจากทางรัฐสำหรับประชาชนคนไทย เพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการทางด้านสุขภาพและสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น

DIY INSPIRE NOW คือแรงบันดาลใจของฉันใช่ไหม? ได้รู้ว่าบัตรทองคืออะไรแล้ว ใครที่ไม่มีสิทธิการรักษาสุขภาพอื่นๆ ก็สามารถสมัครบัตรทองได้นะ เพราะเป็นสวัสดิการจากทางรัฐบาล เพื่อให้ประชาชนคนไทยได้มีสิทธิในรักษาพยาบาล เผื่อกรณีเจ็บป่วยในอนาคต จะได้ควบคุมค่าใช้จ่ายได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งดีต่อตัวเราเองค่ะ ♡

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : thairath.co.th, samroiyodhospital.go.th, set.or.th, ebook.dreamnolimit.com, nhso.go.th

Featured Image Credit : freepik.com/jcomp

Facebook Comments

หาข้อมูล-ลงมือเขียนและเรียบเรียงโดยทีมกองบรรณาธิการเว็บไซต์ DIY INSPIRE NOW