การศึกษาในประเทศไทย, ระดับชั้นการศึกษา

ระบบ การศึกษาในประเทศไทย มีรูปแบบใดบ้าง ? ชวนรู้จักและเลือกให้เหมาะกับตนเอง

สำหรับคนที่ผ่านการเรียนระดับชั้นการศึกษาต่างๆ มาแล้วนั้น ก็คงจะไม่ได้สนใจหรือรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของระบบการศึกษาของไทยในปัจจุบันสักเท่าไหร่ แต่สำหรับคนที่อยู่ในวัยกำลังศึกษา รวมไปถึงผู้ปกครองที่มีบุตรหลานอยู่ในวัยเรียน การรู้ถึงระบบการศึกษาของไทยเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะจะทำให้เรารู้ถึงทิศทางและแนวทางการศึกษาของเด็กไทยในอนาคต ว่าควรจะเลือกการเรียนแบบไหนที่จะเหมาะกับผู้เรียนมากที่สุด และเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับระบบการศึกษาในไทย เราจะมาแนะนำ การศึกษาในประเทศไทย กันค่ะว่ามีอะไรบ้าง และแบบไหนที่ใช่สำหรับบุตรหลานของคุณ หรือใครที่กำลังอยู่ในช่วงวัยเรียนอยู่แล้วอยากรู้ข้อมูลเกี่ยวกับระบบการศึกษาไทยเพิ่มเติม เพื่อเป็นแนวทางวางแผนการศึกษาในอนาคต ก็สามารถอ่านได้เลย !

รูปแบบ การศึกษาในประเทศไทย มีอะไรบ้าง ? เลือกแบบไหนดี ?

การศึกษาในประเทศไทย, ระดับชั้นการศึกษา
Image Credit : freepik.com

การศึกษาในประเทศไทย ได้มีการกำหนดรูปแบบของการศึกษา และระดับชั้นการศึกษาไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 รวมถึงที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 โดยมี 3 รูปแบบ ดังต่อไปนี้

[affegg id=4494]

1. การศึกษาในระบบ (Formal Education)

การศึกษาในระบบ คือการศึกษาที่มีการกำหนดจุดมุ่งหมาย ซึ่งจัดว่าเป็นการศึกษาในประเทศไทยที่มีหลักสูตรชัดเจน โดยมีกรอบระยะเวลาของการศึกษา และมีการประเมินผลด้วยการสอบวัดระดับต่างๆ การศึกษาในลักษณะนี้ได้แก่ การศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษาภาคบังคับ การศึกษาในสถานศึกษาสังกัดกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ เป็นต้น โดยมีการจัดระดับชั้นการศึกษาเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาระดับอุดมศึกษา ดังนี้

การศึกษาขั้นพื้นฐาน

  • การศึกษาก่อนระดับประถมศึกษา สำหรับเด็กที่มีอายุ 3 – 6 ปี
  • การศึกษาขั้นประถมศึกษา 6 ปี (6 ระดับชั้น)
  • การศึกษาขั้นมัธยมศึกษาตอนต้น 3 ปี (3 ระดับชั้น)
  • การศึกษาขั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย 3 ปี (3 ระดับชั้น) โดยปกติใช้เวลาเรียน 3 ปี และแบ่งเป็นสองประเภท คือ
    • ประเภทสามัญศึกษา เป็นการจัดการศึกษาเพื่อเป็นพื้นฐานในการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา
    • ประเภทอาชีวศึกษา เป็นการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพ หรือศึกษาต่อในระดับอาชีพชั้นสูงต่อไป

การศึกษาระดับอุดมศึกษา

  • ระดับต่ำกว่าปริญญา
  • ระดับปริญญา

ทั้งนี้ การศึกษาในประเทศไทยภาคบังคับจะมีจำนวน 9 ปี โดยให้เด็กซึ่งมีอายุย่างเข้าปีที่ 7 เข้าเรียนในระดับชั้นการศึกษาขั้นพื้นฐาน จนอายุย่างเข้าปีที่ 16 (จบมัธยมศึกษาตอนต้น) เว้นแต่สอบได้ชั้นปีที่เก้าของการศึกษาภาคบังคับ โดยหลักเกณฑ์และวิธีการนับอายุให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

2. การศึกษานอกระบบ (Non – formal Education)

การศึกษาในประเทศไทย, ระดับชั้นการศึกษา
Image Credit : freepik.com

การศึกษานอกระบบ คือการศึกษาที่มีการยืดหยุ่นในการกำหนดจุดมุ่งหมาย รูปแบบ และวิธีการจัดการศึกษา ไปจนถึงระยะเวลาของการศึกษา การวัดและประเมินผล ซึ่งจะแตกต่างกับการศึกษาในระบบที่มีกรอบระยะเวลาและหลักสูตรที่ชัดเจน โดยรูปแบบของการศึกษานอกระบบนั้น เนื้อหาและหลักสูตรจะต้องเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของบุคคลแต่ละกลุ่ม โดยที่ผู้เรียนสามารถบริหารจัดการวิชาที่ต้องการศึกษาด้วยตนเอง ตลอดจนเวลาเรียนก็สามารถเลือกเองได้ และการศึกษารูปแบบนี้ก็มีการรับรองมาตรฐานเช่นเดียวกันกับการศึกษาในระบบ การศึกษาในลักษณะนี้ได้แก่ การศึกษานอกระบบโรงเรียน การศึกษาผู้ใหญ่ การศึกษาทางไกล การศึกษาแบบโฮมสคูล มหาวิทยาลัยเปิด และศูนย์การศึกษาท้องถิ่นที่มีการจัดมาตรฐานการศึกษาของตนเอง เป็นต้น

[affegg id=4495]

3. การศึกษาตามอัธยาศัย (Informal Education)

การศึกษาในประเทศไทย, ระดับชั้นการศึกษา
Image Credit : freepik.com

การศึกษาตามอัธยาศัย เป็นอีกหนึ่งการศึกษาในประเทศไทยที่ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนรู้ได้ตามความสนใจของตัวเอง เพื่อพัฒนาศักยภาพในด้านต่างๆ หรือเพิ่มพูนความรู้ในเรื่องที่ตนเองสนใจเป็นพิเศษ อย่างเช่น เรียน SEO Content ที่ไหนดี หรือเรียนเสริมในด้านคอมพิวเตอร์ เรียนคอร์สภาษาออนไลน์ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นการศึกษาที่มีความยืดหยุ่น ทั้งในเรื่องของความพร้อม โอกาส และเวลา เพราะไม่มีข้อจำกัดใดๆ โดยจะมีหรือไม่มีการรับรองมาตรฐานการศึกษาก็ได้ เป็นการศึกษาที่เรียนรู้ได้ตลอดเวลา และเรียนได้ทุกเพศทุกวัย

การจัดระบบการศึกษาในประเทศไทยตามแนวพระราชบัญญัติฉบับนี้ จะไม่พิจารณาแบ่งแยกการศึกษาในระบบโรงเรียนออกจากการศึกษานอกระบบโรงเรียน แต่จะถือว่าการศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เป็นเพียงวิธีการเรียนการสอน หรือรูปแบบของการเรียนการสอนเท่านั้น (Modes of Learning) ดังนั้น แนวทางใหม่สำหรับการศึกษาคือ สถานศึกษาสามารถจัดการเรียนการสอนได้ทั้ง 3 รูปแบบ และให้มีระบบเทียบโอนการเรียนรู้ทั้ง 3 รูปแบบด้วยค่ะ

รูปแบบการเรียนรู้อื่นๆ

การศึกษาในประเทศไทย, ระดับชั้นการศึกษา
Image Credit : freepik.com

นอกจากระบบการศึกษาในประเทศไทยที่มีการกำหนดรูปแบบและระดับชั้นการศึกษาเอาไว้อย่างชัดเจนแล้วนั้น ยังมีการเรียนรู้ในรูปแบบอื่นๆ ที่เด็กไทยสามารถเรียนรู้และศึกษาได้ รวมถึงสามารถฝึกอบรมได้อีกด้วย ซึ่งการเรียนรู้นั้นคือการเพิ่มเติมองค์ความรู้ และสั่งสมประสบการณ์ต่างๆ ไปจนถึงการพัฒนาทักษะจากประสบการณ์ชีวิต เพราะการเรียนรู้ตลอดชีวิต คือสิ่งที่จะเกิดประโยชน์แก่ตัวเรา ทั้งในแง่ของความรู้ และการใช้ชีวิตต่างๆ ที่มักเกิดจากความสนใจส่วนตัวของแต่ละคนที่จะเรียนรู้ในสิ่งนั้นๆ ในขณะที่การฝึกอบรม เป็นการปฏิบัติการในเชิงฝึกทักษะที่จะช่วยพัฒนาความสามารถของผู้เข้ารับการฝึกอบรมให้ดีขึ้น มีเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง สามารถฝึกเพื่อไปเอื้อประโยชน์ต่ออาชีพในอนาคตได้ ซึ่งทั้งสองรูปแบบของการเรียนรู้นี้ จะช่วยเสริมทักษะในด้านต่างๆ ให้กับเด็กๆ มากขึ้นได้

เมื่อรู้ความชอบที่ชัดเจนของตนเองแล้ว บางคนอาจจะเลือกเรียนรู้เฉพาะทางเพื่อต่อยอดสู่อาชีพที่ตนอยากเป็น หลังจากที่จบการศึกษาจากการศึกษาภาคบังคับ 9 ปีแล้วก็ได้เช่นกัน ซึ่งการศึกษาภาคบังคับนั้น เป็นการบังคับให้เข้าเรียน และถือเป็นหน้าที่ของพลเมืองตามมาตรา 69 ของรัฐธรรมนูญอีกด้วย

[affegg id=4496]

Inspire Now ! : สำหรับการเลือกเรียนให้เหมาะกับตนเองนั้น นอกจากการศึกษาในประเทศไทยภาคบังคับแล้ว เราสามารถเลือกทิศทางในการเรียนต่อของเราได้ในอนาคต หากต้องการเรียนเพื่อนำความรู้ไปสอบเข้าระดับอุดมศึกษา ก็ต้องเลือกเรียนตามการศึกษาในระบบ แต่หากว่ามีความสนใจในอาชีพเฉพาะทางที่ไม่จำเป็นต้องเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ก็สามารถเลือกเรียนแบบการศึกษานอกระบบ หรือการศึกษาตามอัธยาศัยได้ค่ะ ส่วนใครที่อยากเรียนเก่งนั้น เราก็มีเคล็ดลับดีๆ มาบอก สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บไซต์ของเราได้เลย

DIY INSPIRE NOW คือแรงบันดาลใจของฉันใช่ไหม ? ได้รู้จักถึงระบบการศึกษาของไทยกันไปแล้ว ลองสำรวจตนเองว่าเราต้องการเรียนแบบไหน อะไรคือความชอบและความสนใจของเรา และขอคำแนะนำปรึกษาจากผู้ปกครองหรือคุณครูอาจารย์ เพื่อให้ได้แนวทางการศึกษาที่เหมาะกับเราที่สุดนะคะ ♡

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : sobkroo.com, bic.moe.go.th

Featured Image Credit : freepik.com/jcomp

Facebook Comments

หาข้อมูล-ลงมือเขียนและเรียบเรียงโดยทีมกองบรรณาธิการเว็บไซต์ DIY INSPIRE NOW