วิธีสอนลูก, ประเภทของครอบครัว

ชวนพ่อแม่ รู้จักตัวเอง ปรับวิธีสอนลูก ผ่าน Parenting Styles 4 แบบ ฉันเป็นแบบนี้ ต้องพัฒนาตัวเองยังไงดี ?!

ในบทบาทการเป็นพ่อแม่หรือการเป็นผู้ปกครองแล้ว นอกจากความกังวลว่าจะเลี้ยงดูบุตรหลานอย่างไรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งเรื่องการดูแลสุขภาพร่างกาย เรื่องอาหารการกิน การมีพัฒนาการให้เหมาะสมตามวัย และแม้เด็กๆ จะถึงวัยไปโรงเรียนและได้รับการสอนสั่งจากโรงเรียนมาแล้ว เรื่อง “วิธีสอนลูก” ก็ยังเป็นเรื่องที่พ่อแม่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ค่ะ เพราะครอบครัวและพ่อแม่ผู้ปกครอง ถือเป็นคุณครูคนแรกของเด็กๆ ในการอบรมสั่งสอนเลี้ยงดู ฟูมฟักเด็กๆ ให้เติบโตมาอย่างดีอีกด้วย ในบทความนี้ DIYINSPIRENOW จึงอยากนำเสนอเรื่อง Parenting Styles ทั้ง 4 แบบ เพื่อให้พ่อๆ แม่ๆ ได้รู้จักตัวเองมากขึ้น และพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นกว่าเดิมค่ะ

ชวนรู้จัก วิธีสอนลูก จากสไตล์การเลี้ยงดูของพ่อแม่ เราเป็นพ่อแม่ที่สอนลูกแบบไหนกันนะ ?

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า พ่อแม่ ก็เป็นมนุษย์เหมือนๆ กัน มีทั้งนิสัยที่ติดตัวมาตั้งแต่เด็ก มีทั้งนิสัยที่ดี นิสัยที่ต้องได้รับการขัดเกลาพัฒนาไม่ต่างกัน และ Parenting Styles ที่เรานำเสนอในครั้งนี้นั้นอาจทำให้พ่อแม่หลายๆ คน ได้รู้จักตัวเองมากขึ้น พัฒนาตัวเองได้ดีขึ้น และมีวิธีสอนลูก เลี้ยงลูกได้อย่างมีความสุขมากขึ้นนั่นเอง ซึ่งนักจิตวิทยาได้แบ่งสไตล์การเลี้ยงดูลูกของพ่อแม่โดยแบ่งออกเป็น 4 แบบ แล้วเราล่ะเป็นพ่อแม่แบบไหน ? มีมาดูรายละเอียดของแต่ละแบบกันได้เลยค่ะ

หนังสือ เลี้ยงลูกอย่างไรให้ได้ EF

Parenting Styles คืออะไร ? 4 แบบ มีอะไรบ้าง ?

Parenting Styles คือแนวทางหรือวิธีการที่พ่อแม่ใช้ในการอบรมเลี้ยงดูและมีปฏิสัมพันธ์กับลูก รวมถึงวิธีการที่พ่อแม่ตอบสนองต่อความต้องการและพฤติกรรมของลูก แนวทางเหล่านี้สะท้อนถึงทัศนคติ ค่านิยม และความเชื่อของพ่อแม่เกี่ยวกับการเลี้ยงดูเด็ก ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อพัฒนาการทางอารมณ์ สังคม และสติปัญญาของเด็ก ตลอดจนส่งผลต่อพฤติกรรมและบุคลิกภาพของเด็กในระยะยาว ทั้ง 4 แบบ มีอะไรบ้าง มาดูกันเลยค่ะ

1. แบบบงการ (Authoritarian)

วิธีสอนลูก, ประเภทของครอบครัว
Image Credit : pexels.com

ประเภทของครอบครัวที่มีการสอนลูกแบบบงการ หรือแบบเผด็จการ เป็นการเลี้ยงลูกที่ผู้ปกครองพยายามจะควบคุมกำหนดพฤติกรรม ความคิดของลูกๆ ตามมาตรฐานที่ตนได้วางไว้ ซึ่งมักจะเป็นมาตรฐานที่มีความสมบูรณ์แบบ เข้มงวด เป็นสิ่งที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองเชื่อว่าถูกต้องและดีสำหรับเด็กๆ หากลูกๆ ไม่ทำตาม ก็จะถูกลงโทษหรือถูกตำหนิ ทั้งยังจำกัดความเป็นอิสระของเด็กๆ โดยการควบคุมดูแลไม่ให้คลาดสายตา และปลูกฝังว่าลูกๆ ต้องเชื่อฟังพ่อแม่ทุกอย่าง ห้ามโต้แย้ง และเชื่อว่าเด็กๆ ควรอยู่ในกรอบที่พ่อแม่กำหนดไว้ให้ ซึ่งวิธีสอนลูกแบบนี้ ในวัยเด็กอาจจะยังไม่ค่อยมีปัญหามากนัก แต่เมื่อลูกโตขึ้นและเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น อาจจะเกิดความขัดแย้งกันได้

ข้อดี

  • ลูกมีระเบียบวินัยดี
  • เชื่อฟังและทำตามกฎได้ง่าย
  • ดูแลความปลอดภัยได้ดีขึ้น เพราะลูกมักทำตามที่พ่อแม่บอก
  • ลูกมีความรับผิดชอบสูง
  • เรียนรู้ที่จะเคารพผู้ใหญ่

ข้อเสีย

  • ลูกอาจขาดความมั่นใจในตัวเอง
  • ไม่กล้าแสดงออกหรือแสดงความคิดเห็น
  • อาจเก็บกดความโกรธหรือความไม่พอใจ
  • ขาดความคิดสร้างสรรค์และการคิดอย่างอิสระ
  • อาจเริ่มโกหกเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษ
  • ทักษะทางสังคมและการสื่อสารอาจไม่ดีเท่าที่ควร
  • ความสัมพันธ์กับพ่อแม่อาจแย่ลงในระยะยาว

ข้อแนวทางการพัฒนาตัวเองสำหรับ พ่อแม่ที่เป็นแบบ Authoritarian

  1. ฝึกรับฟังลูกมากขึ้น ให้โอกาสลูกแสดงความคิดเห็น
  2. อธิบายเหตุผลของกฎหรือคำสั่งต่างๆ แทนการบังคับโดยไม่มีคำอธิบาย
  3. ลดการใช้การลงโทษ หันมาใช้การพูดคุยและให้ผลลัพธ์ตามธรรมชาติแทน
  4. ฝึกควบคุมอารมณ์ตัวเอง ลดการตะคอกหรือใช้อำนาจ
  5. ให้คำชมเชยเมื่อลูกทำดี ไม่ใช่แค่ตำหนิเมื่อทำผิด
  6. สร้างความสมดุลระหว่างความเข้มงวดกับความอบอุ่น
  7. เปิดโอกาสให้ลูกตัดสินใจในเรื่องที่เหมาะสมกับวัย
  8. ฝึกยืดหยุ่นมากขึ้น ไม่ยึดติดกับกฎตายตัวจนเกินไป
  9. พยายามเข้าใจความรู้สึกและมุมมองของลูก
  10. หาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับพัฒนาการเด็กและวิธีการเลี้ยงดูแบบอื่นๆ

2. แบบละเลย (Uninvolved)

Image Credit : canva.com-pro

การเลี้ยงดูลูกแบบละเลย มักเกิดขึ้นในครอบครัวที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองมักไม่ค่อยมีเวลาให้เด็กๆ ไม่ค่อยดูแลใส่ใจเด็กๆ ในบ้าน หรืออาจมีท่าทีปฏิเสธลูก เช่น ลูกชวนเล่นด้วยก็บอกว่ายุ่ง ทำงานอยู่ ลูกชวนไปเที่ยวก็อาจจะขอให้พี่เลี้ยงหรือคนอื่นพาไปแทน เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการปฏิเสธลูกแล้ว ยังไม่แสดงถึงความใกล้ชิดสนิทสนมอีกด้วย เด็กที่เติบโตมากับการเลี้ยงดูแบบนี้มักมีความภาคภูมิใจในตนเองต่ำ (Low Self – Esteem) และเป็นคนที่ไม่ค่อยมีความมั่นใจ (Low Self – Confidence) ไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง  เป็นคนเก็บตัว ไม่ค่อยกล้าเข้าหาคนอื่น ซึ่งอาจเกิดขึ้นเพราะเด็กรู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับการยอมรับและไม่มีค่า จากการเข้าหาพ่อแม่และถูกปฏิเสธอยู่บ่อยครั้ง เมื่อโตขึ้นอาจไม่มีความผูกพันกับพ่อแม่หรือผู้ปกครองในบ้าน และแสวงหาความรักความอบอุ่นจากบุคคลอื่นเพื่อทดแทนในสิ่งที่พ่อแม่ละเลย การเลี้ยงลูกแบบปล่อยปะละเลยและไม่ให้ซึ่งความรักความอบอุ่น เมื่อเด็กๆ โตขึ้น ในบางคนอาจเลือกคบคนหรือคบเพื่อนที่ไม่เหมาะสมได้ เช่น เข้ากลุ่มเพื่อนที่เสพยาเพื่อแสวงหาการยอมรับ หรืออยู่ในความสัมพันธ์ที่ Toxic เป็นต้น

ข้อดี

  • เด็กอาจพัฒนาความเป็นอิสระและพึ่งพาตนเองได้เร็ว
  • เด็กอาจเรียนรู้ทักษะการแก้ปัญหาด้วยตนเอง
  • พ่อแม่มีเวลาส่วนตัวมากขึ้น

ข้อเสีย

  • เด็กอาจรู้สึกถูกทอดทิ้งหรือไม่ได้รับความรัก
  • ขาดการชี้แนะและสนับสนุนที่จำเป็นสำหรับพัฒนาการ
  • เสี่ยงต่อปัญหาพฤติกรรมและอารมณ์ในอนาคต
  • อาจส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูก
  • เด็กอาจมีปัญหาในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผลการเรียนและความสำเร็จในชีวิต

ข้อแนวทางการพัฒนาตัวเองสำหรับ พ่อแม่ที่เป็นแบบ Uninvolved

  1. ตระหนักรู้ : ยอมรับว่าต้องปรับปรุงการเลี้ยงดู
  2. เพิ่มการให้เวลากับลูก : ใช้เวลากับลูกมากขึ้น ทำกิจกรรมร่วมกัน
  3. ปรับการสื่อสาร : ฟังลูกอย่างตั้งใจ พูดคุยอย่างเปิดใจ
  4. แสดงความรัก : ทั้งคำพูดและการกระทำ
  5. สร้างขอบเขต : ตั้งกฎที่ชัดเจน ใช้วินัยเชิงบวก
  6. เรียนรู้ : ศึกษาเรื่องพัฒนาการเด็กและทักษะการเลี้ยงดู
  7. ดูแลตัวเอง : จัดการความเครียด หาคนปรึกษาเมื่อหาทางออกไม่ได้
  8. ตั้งเป้าหมาย : กำหนดเป้าหมาย พัฒนาตัวเอง และติดตามความก้าวหน้า

3. แบบตามใจ (Permissive)

วิธีสอนลูก, ประเภทของครอบครัว
Image Credit : pexels.com

วิธีสอนลูกแบบตามใจ จะเป็นการเลี้ยงดูลูกๆ แบบให้ความรักความอบอุ่น ใจดี แต่หละหลวมในกฎระเบียบหรือความเข้มงวดที่ควรมี พ่อแม่จะให้อิสระลูกอย่างเต็มที่ และไม่กล่าวตักเตือนหรือบอกลูกว่าสิ่งใดควรทำหรือไม่ควรทำ ซึ่งในวัยเด็กควรจะได้รับการบอกกล่าวชี้แนะในสิ่งที่ถูกที่ควร เพื่อการเติบโตมาเป็นคนที่ดีของสังคม พ่อแม่หรือผู้ปกครองคนไหนที่มีวิธีสอนลูกแบบตามใจ จะทำให้เด็กเติบโตมาเป็นคนที่หุนหันพลันเล่น เอาแต่ใจตัวเอง อยากได้อะไรก็ต้องได้ อาจมีพฤติกรรมก้าวร้าว ไม่อยู่ในกฏระเบียบของสังคม ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ หรือมีบุคลิกภาพแบบพึ่งพาหรือมีพฤติกรรมต่อต้านสังคมได้

ข้อดี

  • เด็กมีความมั่นใจในตนเองสูง
  • มีความคิดสร้างสรรค์ และกล้าแสดงออก เพราะได้รับการส่งเสริม
  • มีความใกล้ชิดกันในความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูก
  • เด็กจะรู้สึกได้รับความรักและการยอมรับ
  • ทักษะการสื่อสารของเด็กอาจพัฒนาได้ดี

ข้อเสีย

  • เด็กอาจขาดวินัยและการควบคุมตนเอง
  • อาจมีปัญหาในการปฏิบัติตามกฎระเบียบในสังคม
  • อาจไม่ได้รับการพัฒนาทักษะการจัดการอารมณ์ได้อย่างเหมาะสม
  • มักคาดหวังว่าทุกคนจะใจดีกับตนเสมอ
  • อาจเกิดปัญหาพฤติกรรมในโรงเรียนหรือสังคม
  • พัฒนาการด้านทักษะการรับผิดชอบอาจพัฒนาได้ช้า และไม่ดีเท่าที่ควร
  • อาจมีปัญหาในการจัดการกับความผิดหวังหรือความท้าทาย

ข้อแนวทางการพัฒนาตัวเองสำหรับ พ่อแม่ที่เป็นแบบ Permissive

  1. สร้างกฎที่ชัดเจน : ตั้งกฎพื้นฐานและบังคับใช้อย่างสม่ำเสมอ
  2. ฝึกการตั้งขอบเขต : เรียนรู้ที่จะปฏิเสธคำขอของลูกที่ไม่เหมาะสม
  3. ใช้วินัยเชิงบวก : แก้ไขพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์อย่างสร้างสรรค์
  4. สอนความรับผิดชอบ : มอบหมายงานบ้านและความรับผิดชอบตามวัย
  5. ฝึกการจัดการอารมณ์ : สอนวิธีจัดการกับความผิดหวังและความโกรธ
  6. ฝึกให้ลูกได้รู้จักการแก้ปัญหา : ให้ลูกคิดหาทางแก้ปัญหาด้วยตัวเอง
  7. รักษาสมดุล : ให้ความอบอุ่นเหมือนเดิมแต่เพิ่มความเด็ดขาดตามความเหมาะสม
  8. เรียนรู้เทคนิคใหม่ : ศึกษาวิธีการเลี้ยงดูที่มีประสิทธิภาพ
  9. ให้ผลลัพธ์ตามการกระทำ : สอนให้ลูกเข้าใจผลของการกระทำของตน
  10. ฝึกความอดทน : ฝึกความอดทนให้ลูกในการรักษากฎ และขอบเขต
หนังสือ ชมลูกให้ถูก ติลูกให้เป็น

4. แบบใส่ใจดูแล (Authoritative)

วิธีสอนลูก, ประเภทของครอบครัว
Image Credit : pexels.com

ประเภทสุดท้ายของ Parenting Styles คือการเลี้ยงดูลูกแบบใส่ใจดูแล พ่อแม่หรือผู้ปกครองแบบนี้จะคอยให้การสนับสุนช่วยเหลือลูก และมีความยืดหยุ่น รับฟังลูกๆ พูดคุยกับลูก มีวิธีสอนลูกด้วยเหตุผล และในขณะเดียวกันก็มีการกำหนดกฎระเบียบไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้เด็กๆ มีวินัยในตัวเอง นอกจากนี้ ยังแสดงถึงความรัก ความอบอุ่น ใกล้ชิดกับลูกๆ อย่างเต็มที่ ให้ลูกมีอิสระตามความเหมาะสม เด็กที่โตมาด้วยวิธีการเลี้ยงดูแบบนี้ มักเป็นเด็กที่ร่าเริงแจ่มใส มีความมั่นใจในตัวเอง มีความฉลาดทางอารมณ์ เข้ากับคนอื่นได้ดี และมีระเบียบวินัยในตนเองค่ะ

ข้อดี

  • เด็กมักมีความมั่นใจและความนับถือตนเองสูง
  • พัฒนาทักษะการควบคุมตนเองได้ดี
  • มีความสามารถในการตัดสินใจและแก้ปัญหา
  • มีความสัมพันธ์ที่ดีกับพ่อแม่และผู้อื่น
  • มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จทางการศึกษา
  • พัฒนาความรับผิดชอบและวินัยในตนเอง
  • มีทักษะทางสังคมและอารมณ์ที่ดี

ข้อเสีย

  • อาจต้องใช้เวลา และความพยายามมากในการเลี้ยงดู
  • บางครั้งอาจยากในการรักษาสมดุลระหว่างความเข้มงวดและความยืดหยุ่น
  • อาจไม่เหมาะกับทุกสถานการณ์หรือทุกวัฒนธรรม
  • เด็กอาจรู้สึกกดดันจากความคาดหวังสูง
  • ลูกอาจมีอาการขัดแย้งในช่วงวัยรุ่นเมื่อต้องการอิสระมากขึ้น

ข้อแนวทางการพัฒนาตัวเองสำหรับ พ่อแม่ที่เป็นแบบ Authoritative

  1. พัฒนาทักษะการสื่อสารเชิงบวก : ใช้ภาษาที่สร้างสรรค์ เน้นการแก้ปัญหา ไม่ตำหนิหรือวิจารณ์
  2. ฝึกรับฟังอย่างตั้งใจ : ให้ความสนใจเต็มที่เมื่อลูกพูด ไม่ขัดจังหวะ และพยายามเข้าใจความรู้สึกของลูก
  3. ตั้งขอบเขตที่ชัดเจนแต่ยืดหยุ่น : กำหนดกฎที่เหมาะสมกับวัย แต่พร้อมปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์
  4. ให้เหตุผลประกอบกฎระเบียบ : อธิบายว่าทำไมกฎนั้นๆ จึงสำคัญ ช่วยให้ลูกเข้าใจและยอมรับง่ายขึ้น
  5. สนับสนุนความเป็นอิสระของลูก : ให้โอกาสลูกตัดสินใจด้วยตนเอง ภายใต้การแนะนำที่เหมาะสม
  6. แสดงความรักอย่างสม่ำเสมอ : ทั้งทางวาจาและการกระทำ ให้ลูกรู้สึกมั่นคงและปลอดภัย
  7. ยอมรับความผิดพลาดของตนเอง : กล้าขอโทษเมื่อทำผิด เป็นแบบอย่างของความรับผิดชอบ
  8. ส่งเสริมการแก้ปัญหาด้วยตนเอง : ช่วยแนะนำวิธีคิด แต่ให้ลูกลงมือแก้ปัญหาเอง เพื่อสร้างทักษะชีวิต
  9. ให้คำชมเชยอย่างเฉพาะเจาะจง : ชมในสิ่งที่ลูกทำได้ดี บอกเหตุผลว่าทำไมจึงดี ไม่ชมแบบกว้างๆ
  10. พัฒนาความอดทนและการควบคุมอารมณ์ : ฝึกจัดการความเครียด ไม่ใช้อารมณ์ตัดสินใจหรือลงโทษลูก

วิธีการสอนลูก หรือวิธีการเลี้ยงลูก ของพ่อแม่เป็นอีกหนึ่งหลักฐานสำคัญที่ทำให้คาดการณ์ได้ว่าเด็กๆ จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่แบบใด เนื่องจากครอบครัวถือเป็นพื้นฐานชีวิตที่สำคัญที่สุดสำหรับคนๆ หนึ่ง อย่างไรก็ตาม ในฐานะการเป็นผู้ปกครองหรือการเป็นพ่อแม่นั้น การเลี้ยงดูเด็กๆ ให้เติบโตมาอย่างดีและเป็นผู้ใหญ่ที่ดี ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน โดยเฉพาะการเลี้ยงลูกคนแรกหรือท้องแรก ที่พ่อแม่อาจมีกังวลเป็นอย่างมาก และเผลอใช้วิธีสอนลูกที่ไม่เหมาะสมได้

ทั้งนี้พ่อแม่ที่เป็นแบบ Authoritative นั้น เรียกว่าเป็นสไตล์ และใช้วิธีเลี้ยงลูกที่เหมาะสมและได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด เนื่องจากทำให้เด็กๆ ได้รับความรักความอบอุ่นอย่างเต็มที่ เด็กๆ จะมีความมั่นคงทางจิตใจ รู้สึกว่าตนเองปลอดภัย แต่ในขณะเดียวกันก็อยู่ในกฎระเบียบ รู้ว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ และมีระเบียบวินัยในตนเอง เคารพกฎเกณฑ์ของสังคม ในขณะเดียวกันก็ยังมีอิสระและมีความมั่นใจในตัวเอง ยังคงเป็นตัวของตัวเอง และเติบโตมาเป็นผู้ใหญที่ดีได้ค่ะ

ถ้าเราใช้วิธีสอนลูกที่ไม่เหมาะสมอยู่ ควรทำอย่างไรดี ?

วิธีสอนลูก, ประเภทของครอบครัว
Image Credit : pexels.com

ถ้าผู้ปกครองหรือพ่อแม่คนไหนกำลังคิดว่า วิธีที่สอนลูกหรือการเลี้ยงที่ตัวเองใช้อยู่นั้น เป็นวิธีที่ไม่เหมาะสมและอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อเด็กๆ ก็สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงลูกของตนเองได้ โดยไม่ต้องรู้สึกผิดไป ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้ค่ะ

  1. ยอมรับในความผิดพลาดของตัวเอง และให้อภัยตัวเองถ้าเคยทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับลูก เช่น ใช้กำลัง หรือตำหนิด้วยถ้อยคำรุนแรง
  1. พูดคุยกับลูกเยอะๆ ให้ลูกได้แสดงความคิดเห็น และรับฟังลูกอย่างเปิดใจ ไม่เอามาตรฐาน หรืออุดมคติของตัวเองมาเป็นกรอบกั้น สื่อสารแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน และพูดคุยกันด้วยเหตุผล 
  1. แสดงความรักกับลูกเยอะๆ ในบางคนอาจเขินอายหรือไม่กล้าบอกรักลูก ก็สามารถแสดงออกด้วยการกระทำได้ เช่น กอด หอม หรือดูแลเอาใจใส่โดยการทำกับข้าวให้กิน รับฟังเด็กๆ เวลาเด็กพูดคุยหรือเล่าเรื่องต่างๆ ให้ฟัง ใช้เวลาอยู่กับเด็กๆ ให้มากขึ้น ที่สำคัญคือ ต้องเป็นความรักแบบไม่มีเงื่อนไข ไม่ควรตั้งเงื่อนไขว่า ต้องทำแบบนั้นแบบนี้พ่อแม่ถึงจะรัก เพราะอาจสร้างปมในจิตใจให้เด็กและส่งผลต่อพฤติกรรม หรือบุคลิกภาพในตอนโตได้ 
  1. หาโอกาสทำความเข้าใจกับลูก หากเป็นคนที่มีวิธีเลี้ยงลูกแบบละเลย ก็อาจจะพูดคุยกับลูกให้เข้าใจว่าเพราะตนเองทำงานเพื่อที่จะได้มีเงินมาเลี้ยงดูลูกๆ และหาโอกาสใกล้ชิดกับลูกให้มากขึ้น ไม่ทำงานในวันหยุดและใช้เวลากับครอบครัว ถ้ามีวิธีสอนลูกแบบบงการก็อาจจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดของตนเอง และตระหนักว่าการบังคับลูกอาจไม่ส่งผลดีกับเด็ก และถ้าเลี้ยงลูกแบบตามใจ ก็อาจจะต้องค่อยๆ พูดคุยกับลูกๆ ว่า ต้องมีวินัยในตัวเองและทำตามกฎระเบียบ เพื่อที่จะได้ทำอะไรสำเร็จ และอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ 
  1. ขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ การพูดคุยกับนักจิตวิทยาครอบครัว หรือนักจิตวิทยาเด็ก ก็จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจลูกมากขึ้น และมีวิธีการเลี้ยงลูกที่ดีขึ้นและเหมาะกับเด็กๆ มากขึ้นค่ะ

และนี่ก็เป็น Parenting Styles ทั้ง 4 แบบ ที่ทำให้พ่อๆ แม่ๆ ได้ตระหนักว่า เราใช้วิธีสอนลูก วิธีเลี้ยงลูกแบบไหนกันอยู่ หากอ่านแล้วรู้แล้วว่าเราเป็นสไตล์ไหน ก็ไม่ต้องเสียใจไปนะคะ เราสามารถพัฒนาตัวเรา เพื่อปรับตัวเอง ให้เป็นคนที่ดีขึ้น เพื่อให้เลี้ยงลูกได้อย่างดีขึ้น เพราะเราเชื่อว่า ไม่ว่าพ่อแม่คนไหน ก็อยากให้ลูกเป็นเด็กดี แข็งแรงทั้งกายใจทั้งนั้น ใช่มั้ยหล่ะคะ

วิธีพาตัวเองออกจากกล่องใบเล็ก

Inspire Now ! : สถาบันครอบครัวและพ่อแม่ ผู้ปกครองเป็นปัจจัยที่สำคัญสุดในการฟูมฟักเลี้ยงดูคนๆ หนึ่งให้เติบโตมาอย่างดีได้ ถ้าเด็กๆ ถูกเลี้ยงดูมาอย่างดี ได้รับความรักความอบอุ่นอย่างเต็มที่ ได้รับการดูแลเอาใจใส่ มีวิธีการเลี้ยงเหมาะสมและมีความสมดุล ไม่ตึงเกินไป ไปหย่อนเกินไป มีอิสระ เปิดกว้าง รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง ในขณะเดียวกันก็อยู่ในกฏระเบียบที่สังคมกำหนดขึ้น เด็กๆ ก็จะมีความมั่นใจในตนเอง เห็นคุณค่าในตนเอง เคารพในตนเองและเคารพในผู้อื่น และเป็นผู้ใหญ่ที่ดีของสังคมได้

DIYINSPIRENOW ทำให้ฉันเลี้ยงลูกได้ดีขึ้นใช่ไหม ? การเป็นพ่อแม่นั้นไม่ง่าย และลูกจะเป็นแบบไหนก็เป็นผลจากการเลี้ยงดูของเรา ใครมีวิธีสอนลูกยังไง เป็นพ่อแม่สไตล์ไหน มาคอมเมนต์แชร์กันได้นะคะ ♡

Facebook Comments

หาข้อมูล-ลงมือเขียนและเรียบเรียงโดยทีมกองบรรณาธิการเว็บไซต์ DIY INSPIRE NOW