วันเทคโนโลยีของไทย มีความหมายยังไงบ้างนะ ? มาดูเทคโนโลยีเจ๋งๆ ที่คนไทยคิดค้นกัน !
ในเดือนตุลาคม มีวันสำคัญต่างๆ มากมาย เช่น วันไปรษณีย์โลก ซึ่งเป็นต้นกำเนิดประวัติไปรษณีย์ไทย รู้หรือเปล่าว่า ประเทศไทยของเรา มี “วันเทคโนโลยีของไทย” ด้วยเหมือนกัน ซึ่งจัดขึ้นวันที่ 19 ตุลาคมของทุกปี ความจริงแล้วประเทศไทยนั้น ได้มีการส่งเสริมการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ ผ่านในส่วนงานวิชาการเป็นหลัก เช่น โครงงานวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน งานวิจัยหรือวิทยานิพนธ์ในระดับมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งนี้ สิ่งที่อยู่นอกเหนือรั้วโรงเรียนหรืออยู่นอกรั้วมหาวิทยาลัย หากเป็นสิ่งคิดค้นหรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ก็ถือว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้เช่นกัน คำว่า เทคโนโลยี แปลว่า การนำความรู้ ทักษะ และทรัพยากรมาสร้างสิ่งของเครื่องใช้ หรือวิธีการโดยผ่านกระบวนการ เพื่อแก้ปัญหา สนองความต้องการ หรือเพิ่มความสามารถในการทำงานของมนุษย์ (พจนานุกรมศัพท์ สสวท.) มาดูกันว่า วันเทคโนโลยีของไทย มีประวัติความเป็นมายังไง มีความสำคัญยังไง และมีเทคโนโลยีเจ๋งๆ อันไหนบ้างที่เป็นของไทยและผลิตคิดค้นโดยคนไทย ไปดูกันเลย !
วันเทคโนโลยีของไทย มีความเป็นมายังไงนะ ?
Image Credit : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
วันที่ 19 ตุลาคม ได้ถูกกำหนดให้เป็นวันเทคโนโลยีของไทย ซึ่งได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หรือในหลวงรัชกาลที่ 9 ในฐานะที่ทรงเป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 เป็นต้นมา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ชื่อเดิม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักในการจัดงานและจัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติพระบิดาแห่งเทคโนโลยีไทย
[affegg id=4448]
จุดเริ่มต้นการก่อตั้งวันเทคโนโลยีของไทยคือ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2515 เป็นวันประวัติศาสตร์สำคัญเนื่องจากมีการศึกษาและค้นพบวิธีการทำฝนเทียมสูตรใหม่ของประเทศไทย เพื่อบรรเทาปัญหาความแห้งแล้ง และการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรให้กับประชาชนคนไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงควบคุมบัญชาการและอำนวยการสาทิตฝนเทียมสูตรใหม่เป็นครั้งแรกของโลก ณ เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยใช้สนามบินบ่อฝ้าย อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นฐานปฏิบัติงาน และประสบความสำเร็จ ฝนตกตามเป้าหมายอย่างแม่นยำ สร้างความประทับใจและความยินดีแก่คณะผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศ รวมถึงผู้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ วันนั้นเป็นอย่างยิ่ง
Image Credit : huahin.royalrain
การสาธิตฝนเทียมในครั้งนั้น ถือเป็นต้นกำเนิดเทคโนโลยีฝนหลวงที่พัฒนาเป็นการทำฝนเทียมจนถึงปัจจุบัน และเพื่อเป็นการจารึกไว้เป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ชาติไทย ในวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2543 คณะรัฐบาลจึงมีมติให้เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และกำหนดให้วันที่ 19 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันเทคโนโลยีของไทยนั่นเอง เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดีและรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์
Image Credit : มูลนิธิชัยพัฒนา
นอกจากโครงการฝนเทียมแล้ว ตลอดระยะเวลาที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงงานและทรงศึกษาค้นคว่าวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง กำเนิดเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่เป็นประโยชน์แก่พสกนิกรและประเทศชาติมากมาย อาทิ โครงการแกล้งดิน เพื่อแก้ปัญหาดินเปรี้ยว, โครงการหญ้าแฝก เพื่อแก้ปัญหาป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน, โครงการแหลมผักเบี้ย โครงการกังหันน้ำชัยพัฒนา ซึ่งเป็นเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสีย, โครงการคลองลัดโพธิ์ เทคโนโลยีการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม เป็นต้น
นอกเหนือจากโครงการสิ่งประดิษฐ์แล้ว ยังมีโครงการตามพระราชดำริในเรื่องพลังงานทดแทนอื่นๆ อีก เช่น การผลิตดีโซฮอล์ล ซึ่งใช้เป็นเชื่อเพลิงให้กับเครื่องยนต์ดีเซลได้ และลดควันดำได้ถึง 5% หรือในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ทรงได้ทดลองผลิตแก๊สชีวภาพจากมูลโคนม และได้ก๊าซมีเทนที่เป็นก๊าซติดไฟกว่า 50% และก๊าชอื่นๆ ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ ทั้งนี้ เทคโนโลยีดังกล่าวข้างต้นเป็นเพียงบางส่วน ยังมีวิทยาการและเทคโนโลยีอื่นๆ ที่ทรงพัฒนาอีกจำนวนมาก เช่น ในด้านการคมนาคมและการสื่อสาร ด้านสาธารณสุขและการแพทย์ ตลอดจนด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรแห่งชาติ เป็นต้น
เพื่อเป็นการะลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในด้านการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีของไทย และเพื่อการสืบสานพระราชปณิธานฯ ให้นวัตกรรมความรู้เทคโนโลยีของไทยได้แผ่ขยายไปในวงกว้างและเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนสืบไป จึงได้มีการจัดวันเทคโนโลยีของไทยขึ้น ซึ่งกิจกรรมส่วนใหญ่จะเป็นการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ โดยแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถของพระองค์ในฐานะ “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และยังมีนิทรรศการเทคโนโลยี เพื่อแสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์ เครื่องมือ เครื่องจักร ผลิตภัณฑ์ที่คิดค้นโดยคนไทย และยังมีการมอบรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น รวมทั้งมีการสัมนาทางวิชาการ อภิปรายในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย เพื่อเป็นการสนับสนุนและพัฒนาให้วงการเทคโนโลยีไทย ให้ก้าวไกลพัฒนามากขึ้นในระดับสากล
[affegg id=4449]
ชวนดูเทคโนโลยีเจ๋งๆ ฝีมือคนไทย เทคโนโลยีสุดปังอะไรบ้างที่คนไทยคิดค้น !
Image Credit : freepik.com
ในตอนนี้เราก็ได้รู้ประวัติที่มาวันเทคโนโลยีของไทยเรียบร้อยแล้ว มาดูกันว่า เทคโนโลยีไทยอะไรบ้างที่คิดค้นพัฒนาโดยคนไทย เป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยฝีมือคนไทย ที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก !
1. AI FOR THAI แพลตฟอร์มเอไอสัญชาติไทย
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนอกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) ได้พัฒนา “AI FOR THAI: Thai AI Service Platform” หรือ “แพลตฟอร์มเอไอสัญชาติไทย” เพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงเทคโนโลยี AI ที่ช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมและการบริการ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพของภาคเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ
AI FOR THAI เป็นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และ Machine Learning ที่เน้นตอบโจทย์ผู้ใช้งานทั้งในภาคอุตสาหกรรมและการบริการต่างๆ เช่น ภาคธุรกิจกลุ่มค้าปลีก สามารถใช้ Chatbot โต้ตอบเพื่อตอบคำถามให้บริการลูกค้าแทนพนักงาน กลุ่มโลจิสติกส์ใช้ระบบรู้จำใบหน้าเพื่อตรวจจับใบหน้าของพนักงานขับรถว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุหรือไม่ ด้านการแพทย์มีการเริ่มใช้ AI วิเคราะห์แนวโน้มความเสี่ยงของโรคส่วนบุคคล หรืออ่านฟิล์ม X – rays แทนมนุษย์ ขณะที่การท่องเที่ยวสามารถใช้ AI แปลภาษาและวิเคราะห์รูปอาหารและสถานที่ท่องเที่ยวจากภาพถ่าย เป็นต้น
2. ระบบบริการถ่ายทอดการสื่อสารสำหรับคนพิการทางการได้ยิน และคนพิการทางการพูด
ศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย (TTRS) ได้ร่วมมือกับมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ พัฒนาระบบบริการถ่ายทอดการสื่อสารสำหรับคนพิการทางการได้ยิน และคนพิการทางการพูด ซึ่งประกอบไปด้วยบริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบข้อความสั้น, บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบรับ – ส่งข้อความผ่าน TTRS Message, บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบสนทนาข้อความผ่าน TTRS Live Chat, การถ่ายทอดการสื่อสารแบบสนทนาวิดีโอผ่านตู้ TTRS, บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบแปลงเสียงเป็นข้อความผ่าน TTRS Caption และบริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบปรับปรุงเสียงพูดสำหรับคนไร้กล่องเสียงและคนที่เป็นโรคปากแหกว่งเพดานโหว่ ทั้งนี้ ศูนย์ TTRS เป็นกลไกหนึ่งภายใต้การจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานอย่างทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม สนับสนุนให้คนพิการและผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ให้สามารถเข้าถึงบริการโทรคมนาคมพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ
3. Space Walker
Image Credit : thaiinnovation.center
Space Walker หรือ สเปซ วอล์กเกอร์ เป็นอุปกรณ์ฝึกเดินสำหรับผู้ป่วยหลังกายภาพบำบัด รวมถึงผู้สูงอายุ ถูกคิดค้นโดยคุณวรัตถ์ สิทธิ์เหล่าถาวร ซึ่งนำเอางานวิจัยวิทยานิพนธ์ หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง การออกแบบโครงช่วยฝึกเดินที่มีระบบพยุงน้ำหนักบางส่วนสำหรับผู้ที่มีปัญหาการเคลื่อนไหวด้านการเดิน มาพัฒนาขึ้น ซึ่งเป็นอุปกรณ์ช่วยฝึกเดินสำหรับผู้ป่วยที่ผ่านการกายภาพบำบัดที่มีระบบพยุงน้ำหนักแบบไดนามิกส์ตัวแรกของประเทศไทย ซึ่งสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการฝึกเดิน ลดภาระบาดเจ็บของผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ด้วยอุปกรณ์ 3 ส่วนสำคัญสำหรับการทำกายภาพบำบัด ได้แก่
ระบบกลไกพยุงน้ำหนักบางส่วนแบบไดนามิกส์ซัพพอร์ตตัวแรกของประเทศไทย เพื่อลดแรงของกล้ามเนื้อที่ใช้ในขณะฝึกเดิน ระบบป้องกันการหกล้ม 100% เพื่อเพิ่มความมั่นใจ ให้ผู้ป่วยไม่กลัวล้ม ระบบช่วยยกขาด้านที่อ่อนแรงในผู้ป่วยบางเคสที่ไม่สามารถยกขาก้าวในขณะฝึกเดิน
ทั้งนี้ ยังได้รับทุนจาก กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Technology and Innovation – Based Enterprise Development Fund หรือ TED Fund) มาพัฒนาต่อจนประสบความสำเร็จ และได้รับรางวัลชนะเลิศ Young – D Startup by SCB 2562 และได้ขยายผลการใช้งานเพื่อยกระดับการให้บริการและการดูแลผู้สูงอายุเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ณ ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ สังกัดกรมกิจการผู้สูงอายุทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา และ Space Walker ได้รับการพิจารณาจากสำนักงานงบประมาณในการขึ้นทะเบียนนวัตกรรมไทย สาขาการแพทย์และสุขภาพ เมื่อเดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยจะได้รับการส่งเสริมในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเพื่อให้คนไทยได้ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมเทคโนโลยีไทยและได้คุณภาพมาตรฐาน เพื่อลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศต่อไป
[affegg id=4450]
Inspire Now ! : วันเทคโนโลยีของไทย จัดตั้งขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในฐานะที่เป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และเพื่อเป็นการสนับสนุนและพัฒนาวงการเทคโนโลยีไทย ให้ก้าวไกลพัฒนามากขึ้นในระดับสากล จะเห็นว่าเทคโนโลยีของไทยที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับผู้คน เช่น เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับผู้พิการ เพื่อดูแลผู้สูงอายุ หรือเพื่อช่วยพัฒนาสิ่งที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้น ยังมีเทคโนโลยีของไทยที่น่าสนใจอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นในวงการอุตสาหกรรม วงการการสื่อสารและการคมนาคม วงการทางการแพทย์ เป็นต้น ซึ่งเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นนั้น ก็ล้วนเกิดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหา เพื่อพัฒนา หรือเพื่อตอบสนองต่อความต้องการให้กับกลุ่มเป้าหมาย ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นนั่นเอง
DIY INSPIRE NOW คือแรงบันดาลใจของฉันใช่ไหม ? ได้รู้ประวัติวันเทคโนโลยีไทย และเห็นเทคโนโลยีเจ๋งๆ ที่คนไทยประดิษฐ์คิดค้นขึ้นเพื่อพัฒนาและช่วยเหลือผู้คนแล้ว อยากลองเป็นนักประดิษฐ์มือใหม่ หรืออยากจะเป็นนักคิดค้นไอเดียใหม่ๆ ไฟแรงกันบ้างไหมคะ ? ใครคิดว่าเทคโนโลยีไทยอันไหนมีความน่าสนใจบ้าง ? มาคอมเมนต์กันได้นะ ♡
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : mhesi.go.th, matichon.co.th, springnews.co.th, ttc.ops.go.th
Featured Image Credit : unsplash.com/ThisisEngineering RAEng