swot analysis ตัวอย่าง, swot analysis คืออะไร

ชวนรู้จัก SWOT Analysis ตัวอย่าง ที่ใช้พัฒนาตัวเองได้จริง !

ชวนรู้จัก SWOT Analysis ตัวอย่าง ที่ใช้พัฒนาตัวเองได้จริง !

ถ้าคุณอยู่ในแวดวงธุรกิจ หรือเคยเรียนวิชาเกี่ยวกับการบริการจัดการธุรกิจกันมาบ้าง ต้องเคยได้ยิน SWOT Analysis กันอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดรูปแบบหนึ่งที่นิยมใช้กันแทบจะทุกๆ องค์กร แนวคิดนี้ถูกคิดค้นและพัฒนาขึ้นในปี 1960 – 1970 โดย Albert Humphrey นักวิจัยและผู้ให้คำปรึกษาทางธุรกิจชาวอเมริกัน หลังจากนั้นก็มีการใช้กลยุทธ์วิเคราะห์ธุรกิจโดยวิธี SWOT กันอย่างแพร่หลาย เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และมีการใช้ SWOT Analysis ตัวอย่าง ในการวิเคราะห์ธุรกิจกันมากมาย

แต่ถ้าใครไม่เคยได้ยินหรือรู้จัก SWOT Analysis กันมาก่อน และกำลังสงสัยว่า SWOT analysis คืออะไร? ก็ไม่เป็นไรค่ะ วันนี้เรามีข้อมูลเกี่ยวกับ SWOT Analysis มาฝากกัน แถมยังมี SWOT analysis ตัวอย่าง มาให้ด้วย ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์ตัวเอง เพื่อที่จะพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น หรือถ้าใครเป็นเจ้าของธุรกิจ หรือทำงานอยู่ในฝ่ายการตลาด ก็ยิ่งเหมาะที่จะนำกลยุทธ์ SWOT Analysis ไปใช้เพื่อที่จะให้ธุรกิจประสบความสำเร็จและมีกำไรมากยิ่งขึ้น รอช้าอยู่ทำไม ไปดูกันเลย !

ทำความรู้จักกับ SWOT Analysis คืออะไร ? รับรองไม่งง เห็นภาพชัดขึ้น เอาไปใช้จริงได้!

swot analysis ตัวอย่าง, swot analysis คืออะไร
Image Credit : freepik.com

SWOT Analysis ย่อมาจากตัวอักษร 4 ตัวคือ S/W/O/T ซึ่งในแต่ละตัวก็จะมีความหมายแตกต่างกัน มาดูกันว่า ตัวอักษรแต่ละตัวนั้นหมายถึงประเด็นอะไรบ้าง พร้อมบอกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยจะแบ่งง่ายๆ เป็น ปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอก ดังนี้ค่ะ

[affegg id=4271]

ปัจจัยภายใน หรือสิ่งที่เราสามารถควบคุมได้

S – Strengths

เป็นจุดเด่น ข้อดี หรือจุดแข็งของเรา เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นคุณสมบัติของตัวเอง ถ้าเป็นในตัวบุคคลก็เช่น ความสามารถ ความรู้ ทักษะ ลักษณะนิสัย บุคลิกภาพ ถ้าเป็นในเชิงขององค์กรก็คือ ทรัพยากรที่มี อาจจะเป็นทรัพยากรมนุษย์ กลยุทธ์การบริหารงาน สินค้าที่ดึงดูดผู้บริโภคหรือสร้างยอดขายได้ดี มีทำเลที่ตั้งดี เป็นต้น

W- Weaknesses

คือจุดอ่อน ข้อด้อย หรือสิ่งที่เป็นข้อเสีย เป็นข้อเสียเปรียบของเรา ถ้าเป็นในตัวบุคคลก็คือ ลักษณะนิสัยบางอย่างที่ไม่ดี หรือต้องการจะปรับปรุง ความรู้ทักษะที่ขาด หรือยังไม่มีประสบการณ์ หรือไม่สามารถทำได้ – ทำได้ไม่ดี เป็นต้น ถ้าเป็นในเชิงองค์กรคือ ข้อจำกัดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่อง การขาดกำลังคน การบริหารงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ สินค้าไม่มีคุณภาพ ไม่มีเป้าหมายในองค์กร ทำเลร้านไม่ดี รวมไปถึงสิ่งที่คู่แข่งสามารถทำได้ดีกว่าเรา ก็ถือเป็นจุดอ่อนของเราเช่นกัน

swot analysis ตัวอย่าง, swot analysis คืออะไร
Image Credit : pexels.com

ปัจจัยภายนอก หรือสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้

O – Opportunities

คือโอกาส หรือสิ่งที่เอื้อประโยชน์ต่อเรา เป็นสภาพแวดล้อมภายนอกที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับเรา ถ้าเป็นตัวบุคคลก็คือ การมีคอนเนคชั่น การได้รับความเอ็นดูจากผู้ใหญ่ ได้รับการสนับสนุนจากคนรอบข้าง หรือมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อตัวเอง เช่น ได้ไปดูงานต่างประเทศ ได้ศึกษาเพิ่มเติม เป็นต้น ถ้าเป็นในส่วนขององค์กรก็คือ ธุรกิจนี้มีคู่แข่งน้อย สามารถตีตลาดได้กว้าง หรือกำลังเป็นเทรนด์ – เป็นกระแส ทางรัฐมีนโยบายผลักดันหรือสนับสนุนกลุ่มธุรกิจนี้ หรือองค์กรได้รับเงินทุนเพิ่มเติมจากภายนอก เป็นต้น

T – Threats

คืออุปสรรค หรือสิ่งที่ขัดขวางเรา เป็นสภาพแวดล้อมภายนอกที่เกิดขึ้น ถ้าเป็นในตัวบุคคลก็คือ ความเปลี่ยนแปลงในเชิงลบ หรือสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่ขัดขวางเป้าหมายนั้นๆ เช่น ไม่มีเวลาไปเรียนรู้เพิ่มเติม มีปัญหาด้านการเงินอย่างกระทันหัน กำลังจะไปเรียนต่อต่างประเทศแต่มีโรคระบาดเกิดขึ้น หรือทำงานแล้วถูกเลิกจ้าง เป็นต้น ถ้าเป็นในส่วนขององค์กรก็คือ ธุรกิจนี้มีคู่แข่งมาก หรือกำลังจะเป็นธุรกิจที่ล้าหลังเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคม กระแสการบริโภคกำลังจะเปลี่ยนไป หรือมีข่าวลบๆ ในกลุ่มสินค้า – ธุรกิจประเภทเดียวกัน ทำให้บริษัทได้รับผลกระทบไปด้วย หรือสถานการณ์ทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของเรา เป็นต้น 

มาถึงตอนนี้ หลายๆ คนก็คงจะเข้าใจมากขึ้นแล้วว่า SWOT คืออะไร และมองเห็นภาพของการวิเคราะห์ในประเด็นต่างๆ มากขึ้น ถ้าใครยังไม่เข้าใจหรือยังสับสนอยู่ ไม่เป็นไรค่ะ มาดู SWOT Analysis ตัวอย่างกันดีกว่าว่า สามารถนำเอาไปใช้อย่างไรได้บ้าง

[affegg id=4272]

การใช้ SWOT Analysis ตัวอย่าง สำหรับการวิเคราะห์ตัวเอง

swot analysis ตัวอย่าง, swot analysis คืออะไร
Image Credit : pexels.com

ลองนึกถึงข้อดี ข้อเสียของตัวเองกันค่ะ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการทำงาน หรือการใช้ชีวิตประจำวันก็ได้ รวมถึงโอกาส และอุปสรรคของคุณด้วย ลองนึกแล้วเขียนมันออกมาก็จะได้เห็นภาพชัดเจน หรือถ้านึกไม่ออกจริงๆ อาจจะลองถามเพื่อนร่วมงาน หรือเพื่อนสนิท หรือคนใกล้ชิดของคุณดูก็ได้ค่ะ บางทีเค้าอาจจะมองเห็นคุณในมุมมองที่คุณนึกไม่ถึงก็ได้ ทีนี้ มาดูตัวอย่างกันนะคะ

ตัวอย่างที่ 1 : อาชีพ – พนักงานตรวจสอบบัญชี

  • S – Strengths / จุดแข็ง : ละเอียดรอบครอบ มีความรับผิดชอบ ตรวจบัญชีเสร็จก่อนส่งรอบบัญชีประจำเดือนทุกครั้ง แม่นตัวเลข คำนวนยอดไม่เคยพลาด 
  • W- Weaknesses / จุดอ่อน : ไม่เก่งภาษาอังกฤษ ใจร้อน เวลาหายอดไม่เจอในบัญชีบริษัทมักจะไปโวยวายกับฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายขาย หรือพนักงานคนอื่นๆ อยู่เป็นประจำ 
  • O – Opportunities / โอกาส : มีลูกค้าชาวต่างชาติสนใจอยากให้ทำบัญชีให้กับบริษัท ด้วยค่าจ้างที่มากถึง 3 เท่า เนื่องจากได้รับการแนะนำมาจากลูกค้าที่ทำบัญชีให้อยู่แล้วเป็นประจำ
  • T – Threats / อุปสรรค : ไม่มีเวลาไปเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติม มีคู่แข่งอีกคนหนึ่งที่ทำงานดีไม่แพ้กัน และสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้

การวิเคราะห์และแนวทางพัฒนาตัวเอง : SWOT Analysis ตัวอย่างในกรณีนี้ จะเห็นว่า จุดแข็งของพนักงานตรวจสอบบัญชีคนนี้คือ มีความรับผิดชอบ ทำงานละเอียดรอบคอบ ซึ่งเป็นข้อดีในตัวเอง แต่มีจุดอ่อนคือ ไม่ถนัดการใช้ภาษาอังกฤษ แม้จะมีโอกาสเข้ามาจากคอนเนคชั่นที่มีอยู่ ก็อาจจะพลาดโอกาสนี้ไป เนื่องจากมีคู่แข่งที่สามารถทำได้ อีกทั้งตัวเองก็ไม่มีเวลาไปเรียนรู้หรือฝึกฝนภาษาอังกฤษ ประกอบกับมีนิสัยส่วนตัวคือ ใจร้อนและมักจะไปตำหนิเพื่อนร่วมงานหรือพนักงานคนอื่นๆ ในอนาคตอาจจะทำให้คนอื่นไม่ชอบและส่งผลกลายอุปสสรคที่ทำให้มีปัญหาในการทำงานได้

วิธีแก้ไขหรือปรับปรุงตัวเองในตัวอย่างที่ 1 ก็คือ หาเวลาไปฝึกฝนภาษาอังกฤษเพิ่มเติมอาจเป็น คอร์สเรียนพูดภาษาอังกฤษออนไลน์ ก็ได้ เผื่อมีโอกาสเข้ามาในวันข้างหน้าอีกจะได้ไม่พลาดและปรับปรุงนิสัยใจร้อนของตัวเอง เพื่อที่จะได้ไม่มีปัญหากับเพื่อนร่วมงานค่ะ

ตัวอย่างที่ 2 : อาชีพ – ครีเอทีฟ

  • S – Strengths / จุดแข็ง : มีความคิดสร้างสรรค์ ไอเดียดี พูดเก่ง นำเสนอดี ชอบหาความรู้เพิ่มเติม เก่งภาษาอังกฤษ 
  • W- Weaknesses / จุดอ่อน : ไม่ตรงต่อเวลา ทั้งยังมาทำงานสาย และส่งงานเกิน Deadline ที่กำหนด 
  • O – Opportunities / โอกาส : ได้ทำงานในองค์กรที่มีชื่อเสียง มีคอนเนคชั่นดีๆ มีผู้ให้การสนับสนุน
  • T – Threats / อุปสรรค : ถนนบริเวณหน้าบ้านมักมีการปรับปรุงขุดเจาะอยู่เป็นประจำ ทำให้การจราจรติดขัด และส่งงานช้าเนื่องจากอุปกรณ์ทำงานที่ใช้อยู่มีปัญหาเสื่อมสภาพ ส่งผลให้ทำงานไม่ราบรื่น

การวิเคราะห์และแนวทางพัฒนาตัวเอง : SWOT Analysis ตัวอย่างในกรณีที่ 2 จะเห็นว่า จุดแข็งคือ มีความสามารถในการทำงาน และนำเสนองานได้ดี ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบมากกว่าคนที่พูดไม่เก่ง แต่มีข้อเสียคือ เป็นคนที่ไม่ตรงต่อเวลา ทั้งมาทำงานสาย และส่งงานไม่ตรงตามเวลาที่กำหนด ซึ่งสิ่งนี้ทำให้เกิดผลเสียต่อทั้งตัวเองและบริษัทได้ ลองนึกดูว่า ถ้าวันไหนต้องนำเสนองานสำคัญๆ ให้กับลูกค้า แต่ดันมาประชุมสาย ทั้งตัวเองและบริษัทต้องเสียเครดิตอย่างแน่นอน แม้จะอยู่ในองค์กรที่มีชื่อเสียงหรือมีคอนเนคชั่นที่ดี ก็อาจยิ่งทำให้ขาดความน่าเชื่อถือได้ แต่ในทางกลับกัน หากตรงต่อเวลา และนำเสนองานได้ดี ก็ยิ่งจะเป็นโอกาสให้มีความก้าวหน้าในที่ทำงานมากขึ้น ทำให้บริษัทดูน่าเชื่อถือมากขึ้น และต่อยอดไปยังงานอื่นๆ ในอนาคต เนื่องจากอยู่ในองค์กรที่มีชื่อเสียงอยู่แล้วเป็นทุนเดิม

ดังนั้น วิธีแก้ปัญหาคือ ฝึกนิสัยให้ตัวเองเป็นคนตรงต่อเวลา หากเป็นในส่วนของการมาสายก็ต้องตื่นเช้ากว่าปกติเพราะต้องเผื่อเวลารถติด หรือเปลี่ยนวิธีการเดินทาง เช่น ใช้รถไฟฟ้าแทน เป็นต้น และถ้าเป็นในเรื่องการส่งงาน ก็ต้องบริหารจัดการเวลาตัวเองให้ดี และแก้ไขในส่วนของอุปกรณ์ หากไม่มีกำลังซื้อด้วยตัวเองหรือเป็นอุปรณ์ของบริษัทก็ต้องพูดคุยกับหัวหน้างานตามตรง เพื่อที่จะได้ช่วยกันแก้ไขค่ะ

การใช้ SWOT Analysis ตัวอย่าง สำหรับการวิเคราะห์ธุรกิจ

swot analysis ตัวอย่าง, swot analysis คืออะไร
Image Credit : pexels.com

ตัวอย่างธุรกิจที่ 1 : ธุรกิจประกันชีวิต

  • S – Strengths / จุดแข็ง : มีสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า เบี้ยประกันอยู่ในระดับที่ลูกค้าส่วนใหญ่พึงพอใจ ตัวแทนประกันชีวิตมีทักษะด้านการสื่อสาร มีจิตบริการ ดูแลลูกค้าเป็นอย่างดี 
  • W- Weaknesses / จุดอ่อน : ฝ่ายเคลมมีปัญหาด้านการจัดการเอกสาร และมีความล่าช้าในการทำงาน ทำให้ลูกค้ามักเบิกเงินสำหรับค่าเคลมประกันช้าเสมอ 
  • O – Opportunities / โอกาส : ปัจจุบันคนให้ความสนใจกับการทำประกันชีวิต หรือประกันสุขภาพมากขึ้น มีสื่อมากมายที่ทำคอนเทนต์เกี่ยวกับประกันชีวิต ทำให้มีกลุ่มลูกค้าให้ความสนใจเรื่องของการทำประกันชีวิตและประกันสุขภาพมากขึ้น
  • T – Threats / อุปสรรค :  บริษัทคู่แข่งออกผลิตภัณฑ์คล้ายๆ กับของบริษัทในราคาเบี้ยประกันที่ถูกกว่า บริษัทคู่แข่งมีการจัดการในเรื่องการเคลมที่ดีกว่า

การวิเคราะห์และแนวทางพัฒนาธุรกิจ : ในกรณีนี้จะเห็นว่า SWOT Analysis ตัวอย่าง จุดแข็งของธุรกิจคือ ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ลูกค้า กับทีมฝ่ายขายที่มีประสิทธิภาพ แต่มีจุดอ่อนเรื่องการบริหารจัดการภายใน และมีโอกาสทางด้านการขยายกลุ่มตลาดและเพิ่มยอดขายให้กับธุรกิจ แต่อุปสรรคที่เกิดขึ้นคือ มีคู่แข่ง และคู่แข่งกลับมีจุดแข็งที่เป็นจุดอ่อนของเรา ซึ่งอาจจะทำให้เราเสียเปรียบและเสียส่วนแบ่งตลาดไปได้

ดังนั้น วิธีแก้ไขปัญหาคือ ปรับปรุงพัฒนาการบริหารภายในองค์กร ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถควบคุมได้และเปลี่ยนแปลงได้ด้วยตัวบริษัทเอง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรบุคคล ทำการส่งเสริมการขายด้วยโปรโมชั่นต่างๆ เพื่อที่จะสามารถต่อสู้กับคู่แข่งได้ และอย่าลดมาตรฐานที่เป็นจุดเด่นของตัวเอง เพราะจะทำให้เสียเปรียบคู่แข่งได้ทันที

ตัวอย่างธุรกิจที่ 2 : ร้านอาหารไทยโบราณสูตรชาววัง

  • S – Strengths / จุดแข็ง : เชฟประจำร้านคือคุณพ่อที่มีประสบการณ์ด้านการทำอาหารมามากกว่า 30 ปี มีสูตรอาหารที่เป็นสูตรเฉพาะของครอบครัว ตกทอดกันมาตั้งแต่รุ่นทวด อาหารรสชาติดี
  • W- Weaknesses / จุดอ่อน : เมนูของร้านไม่เอื้อต่อการส่งแบบเดลิเวอรี่ ซึ่งในปัจจุบันนี้การสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก 
  • O – Opportunities / โอกาส : ใกล้ๆ กับร้านมีบริษัทต่างชาติกำลังเปิดกิจการใหม่ มีพนักงานในองค์กรประมาณ 30 คน ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มลูกค้าในอนาคตได้ 
  • T – Threats / อุปสรรค : ร้านอาหารไทยมีอยู่มากมายในตลาด มีคู่แข่งจำนวนมาก และหากเกิดสถานการณ์โรคระบาดขึ้นอีกจะต้องปิดร้าน ทำให้สูญเสียรายได้

การวิเคราะห์และแนวทางพัฒนาธุรกิจ : จากตัวอย่างที่ 2 จะเห็นว่า จุดแข็งของร้านอาหารคือ มีสูตรอาหารเฉพาะของร้าน ซึ่งไม่สามารถรับประทานที่ไหนได้ และเป็นจุดขายของร้าน ประกอบกับเป็นธุรกิจครอบครัว ดังนั้นไม่มีปัญหาเรื่องลูกค้าหนีไปกินร้านอื่นตามเชฟที่ลาออกไปแน่นอน แต่มีจุดอ่อนคือ เมนูของร้านไม่สามารถส่งแบบเดลิเวอรี่ได้ ซึ่งสวนทางกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่มักจะสั่งอาหารผ่านทางแอปพลิเคชั่นและจัดส่งถึงบ้าน โอกาสของธุรกิจคือ มีกลุ่มฐานลูกค้าในอนาคตซึ่งไม่ใช่แค่พนักงานองค์กรเท่านั้น แต่เป็นการบอกปากต่อปากและชวนเพื่อนๆ ญาติๆ มารับประทานอาหารที่ร้านได้ ขยายฐานลูกค้าได้มากกว่าเดิม และอุปสรรคคือ มีคู่แข่งมากมายในตลาด อีกทั้งยังไม่มีวิธีการรองรับหากเกิดกรณีโรคระบาดอีกครั้ง

ดังนั้น วิธีแก้ไขปัญหาคือ ดัดแปลงหรือคิดเมนูที่สามารถส่งแบบเดลิเวอรี่ได้ อาจจะเป็นอาหารจานเดียว หรือแบบฟิวชั่นฟู้ดที่รับประทานได้ง่ายมากขึ้น เพื่อเป็นการขยายโอกาสในการขายสินค้า (เมนูกับข้าว) และยังเป็นกลยุทธ์ที่สามารถรองรับสถานการณ์ในกรณีเกิดโรคระบาดขึ้นอีกด้วย

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ ? พอได้เห็น  SWOT Analysis ตัวอย่าง ในรูปแบบต่างๆ แล้วพอจะเข้าใจมากขึ้นหรือเห็นภาพชัดเจนมากขึ้นกันไหม ? ถ้าใครที่กำลังทำธุรกิจอยู่หรืออยู่ในสายงานคิดค้นกลยุทธ์ทางการตลาดก็สามารถนำเอา SWOT Analysis ไปใช้กับองค์กรหรือบริษัทของคุณได้เป็นแนวคิดการวิเคราะห์ธุรกิจที่เรียบง่าย แต่เห็นภาพอย่างชัดเจน และสามารถนำผลที่ได้ไปพัฒนาต่อยอดธุรกิจให้ดีเยี่ยมขึ้นกว่าเดิม หรือจะอ่าน หนังสือบริหารธุรกิจ เพิ่มเติม ก็จะได้ไอเดียเพิ่มขึ้นเยอะแยะเลยค่ะ นอกจากนี้ เราก็ยังสามารถเอาวิธี SWOT Analysis มาวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อนของตัวเอง วิเคราะห์ปัญหาอุปสสรค รวมถึงโอกาสในการทำงาน หรือในการใช้ชีวิต เพื่อที่จะได้ปรับปรุงแก้ไขจุดด้อย พัฒนาจุดเด่น และเป็นตัวเองที่ดีกว่าเดิมค่ะ !

[affegg id=4273]

Inspire Now ! : อย่างที่กล่าวไปว่า SWOT Analysis ประกอบไปด้วยปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ปัจจัยภายในอย่างจุดแข็ง และจุดอ่อน เป็นสิ่งที่เราสามารถปรับปรุงแก้ไข และพัฒนามันได้ และในส่วนของปัจจัยภายนอกอย่างโอกาสและอุปสรรคนั้น แม้เราจะควบคุมไม่ได้ แต่เราก็ได้เรียนรู้และเห็นถึงลู่ทาง เพื่อที่จะพัฒนาตัวเองให้พร้อมกับการคว้าโอกาสที่เข้ามา และเตรียมรับมือกับอุปสรรคที่เกิดขึ้น

DIY INSPIRE NOW ทำให้ฉันเป็นคนใหม่ที่ดีกว่าเดิมใช่ไหม ? มาลองวิเคราะห์ SWOT ของตัวเองสนุกๆ กันดูค่ะ ไม่แน่ว่าเราอาจจะเห็นจุดแข็งหรือข้อดีของตัวเองมากกว่าที่คิดก็ได้ ส่วนที่เป็นจุดอ่อน ก็ค่อยๆ ปรับปรุงแก้ไขต่อไป อย่างน้อยก็ทำให้เราได้รู้จักตัวเองมากขึ้น ส่วนโอกาสและอุปสรรคเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ แต่เราสามารถใช้ประโยชน์จากมันได้นะคะ แล้วมาเล่าให้เราฟังด้วยว่า วิเคราะห์ตัวเองได้ยังไงบ้าง คอมเมนต์กันมาเลยค่ะ ♡

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : businessnewsdaily.com, corporatefinanceinstitute.com, techtarget.com

Featured Image Credit : freepik.com/storyset

Facebook Comments

หาข้อมูล-ลงมือเขียนและเรียบเรียงโดยทีมกองบรรณาธิการเว็บไซต์ DIY INSPIRE NOW