บริจาคเกร็ดเลือดผู้หญิง, การบริจาคเกร็ดเลือด

บริจาคเกร็ดเลือดผู้หญิง ทำได้มั้ย ? มีขั้นตอนยังไงบ้าง ?!

เรารู้จักการบริจาคเลือดดีอยู่แล้วแต่ การบริจาคเกร็ดเลือด ล่ะสาวๆ รู้จักกันหรือเปล่าคะ ? รู้ไหมว่าหากต้องการจะบริจาคเกร็ดเลือดผู้หญิงสามารถทำได้หรือไม่ และคนที่อยากบริจาคเกร็ดเลือดต้องมีคุณสมบัติอย่างไร พร้อมข้อควรระวังที่เราควรรู้มีอะไรบ้าง DIY INSPIRE NOW มีคำตอบมาฝากแล้วค่ะ

การบริจาคเกร็ดเลือดคืออะไร

บริจาคเกร็ดเลือดผู้หญิง, การบริจาคเกร็ดเลือด

เกร็ดเลือด (Platelets) เป็นองค์ประกอบภายในเลือดที่ช่วยทำให้เลือดแข็งตัว ส่วนใหญ่ร่างกายของเราจะมีเกร็ดเลือดประมาณ 1 – 5 แสนตัวต่อเลือดลูกบาศก์มิลลิลิตร นอกจากนี้เกร็ดเลือดมีส่วนช่วยอุดรอยฉีกขาดของเส้นเลือด แต่เกร็ดเลือดนั้นมีอายุสั้น หากนำออกมาจากร่างกายแล้วจะเก็บรักษาไว้ได้เพียง 5 – 7 วันเท่านั้น

ปกติแล้วผู้ป่วย 1 รายจะต้องการเลือดจากผู้บริจาค 6 คนเพื่อให้ได้เกร็ดเลือดเพียงพอ แต่ปัจจุบันมีกระบวนการคัดเกร็ดเลือดโดยเฉพาะที่ทำให้ได้เกร็ดเลือดเข้มข้นโดยผู้บริจาคจะสูญเสียเลือดปริมาณน้อยแต่ได้เกร็ดเลือดสำหรับผู้ป่วย 1 – 2 ราย อีกทั้ง การบริจาคเกร็ดเลือด โดยตรงยังมีข้อดีคือลดความเสี่ยงในการติดเชื้อและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่รับบริจาคเกร็ดเลือดด้วย

ส่วนผู้ที่ต้องการเกร็ดเลือดส่วนใหญ่จะเป็นคนที่ไขกระดูกสร้างเกร็ดเลือดได้น้อย เช่น ผู้ป่วยโรคไขกระดูกฝ่อ โรคลูคีเมีย หรือผู้ที่สูญเสียเกร็ดเลือดจำนวนมากจากการเสียเลือด เช่น ผู้ป่วยไข้เลือดออก ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดใหญ่ หญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการตกเลือดในการคลอดลูกหรือผู้ที่ประสบอุบัติเหตุ เป็นต้น

  • บริจาคเกร็ดเลือดผู้หญิงทำได้ไหม ? คุณสมบัติผู้บริจาคเกร็ดเลือดมีอะไรบ้าง

บริจาคเกร็ดเลือดผู้หญิง, การบริจาคเกร็ดเลือด

ความจริงแล้วผู้หญิงเองก็สามารถบริจาคเกร็ดเลือดได้เช่นเดียวกับผู้ชาย ขอแค่เป็นคนที่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงติดเชื้อ HIV และต้องไม่เป็นผู้ที่กำลังกินยาต้านเกร็ดเลือด รวมถึงไม่อยู่ในช่วงมีประจำเดือน ใครกินยาเลื่อนประจำเดือนผลข้างเคียงอาจส่งผลต่อร่างกายหลายอย่าง ดังนั้นจึงไม่ควรอยู่ในช่วงกินยาเลื่อนประจำเดือนด้วย ส่วนคุณสมบัติอื่นๆ สำหรับสาวๆ ที่ต้องการบริจาคเกร็ดเลือดผู้หญิง มีดังนี้ 

  • มีอายุ 17 – 60 ปี
  • หากบริจาคครั้งแรก อายุต้องไม่เกิน 55 ปี
  • น้ำหนักมากกว่า 55 กิโลกรัม
  • มีค่าเกร็ดเลือดมากกว่า 2 แสนตัวต่อเลือด 1 ลูกบาศก์มิลลิลิตร (หากบริจาคครั้งแรกต้องมีเกร็ดเลือดอย่างน้อย 2.5 แสนตัวต่อเลือด 1 ลูกบาศก์มิลลิลิตร)
  • เส้นเลือดที่ข้อพับแขนต้องสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน
  • งดกินยาแอสไพรินหรือยาแก้ปวดอื่นๆ ก่อนบริจาค 5 วัน

หากต้องการบริจาคเกร็ดเลือดผู้หญิง ต้องไม่อยู่ในช่วงมีประจำเดือน

  • สถานที่บริจาคเลือดและเกร็ดเลือด ไปที่ไหนได้บ้าง?

 

สถานที่บริจาคเลือดทั่วไปที่เราสามารถไปบริจาคเลือดและเกร็ดเลือดได้ก็คือสภากาชาดไทย นอกจากนี้ยังสามารถเดินทางไปบริจาคเกร็ดเลือดได้ที่ห้องรับบริจาคเลือด ตึก 72 ปี ชั้น 3 รพ.ศิริราช นอกจากนี้ยังมีหน่วยรับบริจาคเลือดเคลื่อนที่ที่เดินทางไปยังหน่วยงานและห้างสรรพสินค้าต่างๆ และสามารถบริจาคเลือดและเกร็ดเลือดได้ที่โรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง

 

  • ข้อควรรู้และควรระวังในการไปบริจาคเกร็ดเลือด

บริจาคเกร็ดเลือดผู้หญิง, การบริจาคเกร็ดเลือด

Q : ก่อนบริจาคเกร็ดเลือดต้องเตรียมตัวอย่างไร 

A : ไม่กินยาต้านเกร็ดเลือด ยาแอสไพริน และไม่เป็นประจำเดือน นอกจากนี้ต้องพักผ่อนให้เพียงพอและงดการกินอาหารมันรวมถึงอาหารรสจัดด้วย

Q : การบริจาคเกร็ดเลือดเหมือนการบริจาคเลือดหรือไม่

A : ต้องมีการเจาะเลือดเหมือนการบริจาคเลือดทั่วไป แต่สายรองเลือดจะถูกนำไปปั่นเพื่อแยกเซลล์

Q : บริจาคเกร็ดเลือดใช้เวลานานเท่าไร บริจาคได้บ่อยแค่ไหน

A : ใช้เวลาประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง สามารถบริจาคได้ทุก 2 – 4 สัปดาห์ แต่ไม่ควรเกิด 24 ครั้งต่อปีเพื่อป้องกันค่าเกร็ดเลือดต่ำกว่ากำหนด

Q : หลังบริจาคเกร็ดเลือดต้องดูแลตัวเองอย่างไร

A : หลังบริจาคเกร็ดเลือดอาจลดลงเล็กน้อยแล้วจะค่อยๆ กลับมาอยู่ในเกณฑ์ปกติภายใน 72 ชั่วโมง ระหว่างนี้ผู้บริจาคต้องเลี่ยงการยกของหนัก หรือการใช้แขนข้างที่เจาะเลือดมาออกแรง นอกจากนี้ควรดื่มน้ำให้มากๆ อาจดื่มน้ำตาม สูตรน้ำผักผลไม้แยกกากเพื่อเพิ่มความสดชื่นให้ร่างกายก็ได้ นอกจากนี้ต้องเลี่ยงการตากแดดจัดหรืออยู่ในที่ๆ อากาศร้อนด้วย

Q : หากรู้สึกหน้ามืดคล้ายจะเป็นลมควรทำอย่างไร

A : หลังบริจาคหากรู้สึกหน้ามืด วิงเวียน หรือมีอาการคล้ายจะเป็นลม ให้รีบนอนราบหรือนั่งทันทีเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ จากนั้นควรสูดอากาศบริสุทธิ์และดื่มน้ำหวานเพื่อให้ร่างกายสดชื่นขึ้น

Inspire Now ! : การบริจาคเกร็ดเลือดผู้หญิงไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอย่างที่คิดเพราะมีคุณสมบัติผู้บริจาคและแนวทางการเตรียมตัวคล้ายการบริจาคเลือด เพียงแต่เราต้องเข้ารับการตรวจวัดปริมาณเกร็ดเลือดก่อนว่ามีเกร็ดเลือดเพียงพอหรือไม่ ส่วนขั้นตอนการบริจาคและการดูแลตัวเองหลังบริจาคก็ไม่แตกต่างกัน นอกจากนี้การบริจาคเกร็ดเลือดสามารถทำได้ถี่กว่าการบริจาคเลือดด้วย สาวๆ รู้ไหมคะว่าประเทศไทยของเราขาดแคลนเลือดและเกร็ดเลือดจำนวนมาก โรงพยาบาลทั่วประเทศยังต้องการผู้บริจาคจำนวนมากเพื่อให้สามารถรักษาผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงทีในแต่ละวัน เพราะฉะนั้นลองก้าวออกมาบริจาคเลือดและเกร็ดเลือดเป็นประจำ เพื่อส่งต่อโอกาสในการมีสุขภาพที่ดีและเพิ่มโอกาสในการรักษาให้กับผู้ที่ต้องการกันดู เท่านี้ก็เป็นการให้แบบง่ายๆ ที่ได้รับประโยชน์ดีๆ ทั้งฝ่ายผู้ป่วยและฝ่ายผู้บริจาคอย่างตัวเราเองด้วย ส่วนใครอยากบริจาคบ่อยๆ หรือบริจาคให้ครบ 24 ครั้งต่อปี ก็ต้องดูแลตัวเองทั้งเรื่องการกิน การนอนหลับ การออกกำลังกาย อาจใช้คำแนะนำแอพออกกำลังกายดีๆ เพื่อเป็นตัวช่วยดูแลสุขภาพให้แข็งแรง จะได้สามารถบริจาคเกร็ดเลือดตามเป้าที่วางเอาไว้ได้นะคะ

DIY INSPIRE NOW ทำให้ฉันเป็นคนใหม่ที่ดีกว่าใช่หรือไม่? ใครเคยมีประสบการณ์ไปบริจาคเลือดหรือเกร็ดเลือดที่สถานที่บริจาคเลือดที่ไหนบ้าง สาวๆ บริจาคกับทางสภากาชาดโดยตรงหรือบริจาคที่โรงพยาบาลทั่วไป ลองมาเล่าประสบการณ์ดีๆ กันได้เลยนะคะ

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก: blooddonationthai.com, kkh.go.th, si.mahidol.ac.th

Facebook Comments

หาข้อมูล-ลงมือเขียนและเรียบเรียงโดยทีมกองบรรณาธิการเว็บไซต์ DIY INSPIRE NOW